บริการ VPS คืออะไร
ในบทความนี้จะมานำเสนอเรื่องของ พื้นที่ที่จะใช้เก็บเว็บไซต์ หรือที่เรียกกันว่า บ้านของเว็บไซต์ นั้นที่แท้จริงแล้ว มันมีกี่รูปแบบ กันแน่ เชื่อว่าหลายๆ คนที่อยู่ในวงการไอที หรือ คลุกเคล้าในวงการนี้คงจะรู้จักคำว่า “VPS” กันมาบ้าง อย่างน้อยก็ต้องเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้างละ แต่อาจจะยังไม่รู้แบบแน่แท้ว่าที่จริงแล้วบริการ VPS คืออะไร กันแน่ คนที่เคยได้ยิน ได้เคยเห็น อย่างเช่น ฝ่ายไอที ผู้ดูแลเว็บไซต์ หรือแม้แต่ ผู้ประกอบการที่กำลังหาข้อมูลมาเพื่อจะเปิดเว็บไซต์สักเว็บนึง คงจะต้องคุ้นหูกับคำ 4 คำต่อไปนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น
- เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting)
- เดดิเคทเซิร์ฟเวอร์ (Dedicated Server)
- โคโลเคชั่น (Co-Location)
- วีพีเอส (VPS – Virtual Private Server)
แน่นอนเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า หากคุณต้องการแค่เฉพาะเช่าพื้นที่เซิร์ฟเวอร์มาเพื่อเปิดเว็บไซต์เว็บนึงละก็จะต้องเลือก เว็บโฮสติ้ง ข้อแรก เป็นแน่แท้ เพราะมีระบบบริหารจัดการหลังบ้าน (Back Office) ที่ค่อนข้างสะดวกมาก เพราะปัจจุบันนี้พัฒนาไปไกลแล้ว แล้วบริการอีก 3 อย่างที่เหลือละ มันคืออะไรกันแน่ แล้วประโยชน์ของมันมีดียังไงกันบ้าง มาดูกันได้เลย
Web Hosting คืออะไร ?
คำว่าเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) คือการที่เราไปเช่าพื้นที่เก็บข้อมูลต่างๆ จากผู้ให้บริการ เพื่อฝากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ (Image) ไฟล์เว็บเพจ (HTML Web Page) ระบบอีเมล์ (E-Mail Systems) หรือแม้แต่ ฐานข้อมูล (Database) ของเว็บไซต์ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้นั้น คุณจะสามารถควบคุมได้โดยตรงจากแผงควบคุม (Admin Panel) ของทางผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง ได้เลยทันที
แต่ว่าการเช่าบริการ เว็บโฮสติ้ง นั้นมันมีข้อจำกัดตรงที่ว่า ข้อมูลเว็บไซต์คุณ จะต้องไปอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเว็บอื่นๆ อีกด้วยเช่นกัน หากเว็บอื่นคนเข้าเยอะ และ เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการมีประสิทธิภาพที่ต่ำหรือไม่เพียงพอ มันก็จะไปดึงโหลดของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ฝากเว็บไซต์ของคุณเช่นกัน (ก็มันเครื่องเดียวกันนิ) สุดท้ายก็ส่งผลให้เว็บไซต์ของคุณช้าลงไปด้วย อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อารมณ์เหมือนประมาณคุณไป “เช่าหอพัก” อยู่นั่นเอง สมมุติถ้าทุกห้องเปิดก๊อกน้ำไว้พร้อมกันทั้งหมด น้ำห้องคุณก็จะไม่แรง เพราะว่าใช้ท่อหลักเดียวกัน ใช้ปั้มน้ำจากเครื่องเดียวกัน นั่นเอง
เมื่อคุณเสียเงินซื้อบริการ เว็บโฮสติ้ง จากผู้ให้บริการแล้ว คุณจะได้รับที่อยู่ของเว็บเพจหน้านึง อย่างเช่น ประมาณนี้
http://www.yourdomain.com:2222/
หน้านี้เป็นหน้าที่เอาไว้ให้คุณสามารถที่จะ เข้าไปอัพโหลดไฟล์ (อัพโหลดไฟล์ คือ นำไฟล์จากเครื่องคุณขึ้นไปเก็บไว้บนเว็บเซิร์ฟเวอร์ นั่นเอง) คุณสามารถเข้าไปจัดการบัญชีผู้ใช้ต่างๆ จัดการไฟล์ โฟลเดอร์ ต่างๆ ที่อยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์คุณ ได้ง่ายๆ โดยส่วนมาก ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง ก็จะมีแพ็กเกจต่างๆ ให้เลือกอยู่มากมาย ส่วนมาก มีเริ่มตั้งแต่หลักร้อยต้นๆ อย่างเช่น 199 บาท ยาวไปจนถึงหลักพันต้นๆ เท่าที่สังเกตเห็นก็ประมาณ 2 พันบาทปลายๆ อะไรประมาณนี้
แพ็กเกจราคาที่ต่างกัน ส่วนมากก็จะให้ออปชั่นที่แตกต่างกันในปัจจัยหรือเงื่อนไขที่คล้ายๆ กันดังต่อไปนี้คือ
- พื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Storage Space) : ส่วนมากจะมีให้เลือกตั้งแต่หลักร้อยเม็ก (MB.) ยาวไปจนถึงหลักกิกะไบต์ (GB.) แล้วแต่ความต้องการ
- อัตราการส่งข้อมูล (Data Transfer) : อัตราการส่งข้อมูลต่อเดือน คือเวลาคนเข้ามาเยี่ยมชมเว็บเรา รูปภาพที่เราส่งออกไป หน้าเว็บที่เราส่งออกไป หรือแม้แต่ คลิปวีดีโอที่เราส่งออกไป จะนำมาคิดคำนวณอยู่ในนี้ทั้งหมด ส่วนมากจะเป็นหลักกิก (GB.) ยาวไปจนถึง ไม่จำกัด (Unlimited) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่ราคาแพ็กเกจที่คุณได้จ่ายไปนั่นเอง
- จำนวนฐานข้อมูล (No. of Database) : มีตั้งแต่แบบไม่มีฐานข้อมูลเลย หากเว็บคุณเป็นแค่หน้าเว็บแบบคงที่ (Static Web) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเก็บฐานข้อมูลอะไรใดๆ แต่ถ้าหากเว็บคุณเป็นแบบต้องมีการอัพเดทข่าวสาร สินค้าใหม่ กระดานถามตอบปัญหากับลูกค้า จำเป็นที่จะต้องมีฐานข้อมูลเอาไว้เก็บด้วย ทางเว็บโฮสติ้งก็จะมีบริการให้ตั้งแต่จำนวนน้อย ไปถึงมาก หากต้องการใช้ไม่มาก ส่วนมาเว็บโฮสติ้งก็จะมีให้อันเดียว และเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามแพ็คเกจ และ ราคาที่สูงขึ้น บางแพ็กเกจ ที่ราคาสูง ก็มีแบบไม่จำกัดจำนวนฐานข้อมูลเลยก็ยังมี
- จำนวนบัญชีอีเมล์ (No. of E-Mail Account)
- จำนวนโดเมนหลัก (No. of Domain Name)
- จำนวนโดเมนรอง (No. of Sub Domain Name)
ข้อดีของ Web Hosting 🙂
- มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ค่อนข้างจะถูกมาก ในปัจจุบัน ราคาแพ็คเกจ สามารถหาได้ต่ำกว่า 500 บาท ต่อเดือน ก็หาได้ (ถูกกว่าค่าน้ำมันรถอีก) แต่อย่าลืมว่าจำนวนขนาดพื้นที่เก็บข้อมูล รวมไปถึง ฐานข้อมูล ก็ต้องลดตามลงไปด้วยเช่นกัน
- ไม่ต้องบริหารจัดการเอง เวลาเครื่องมีปัญหา ก็แค่ยกหูโทรศัพท์ไปหาบริษัทผู้ดูแลโฮสติ้ง ให้เขารีบดำเนินการแก้ไขให้ หน้าที่ของเราคือรอ ทีมแก้ปัญหา
- มีระบบบริหารจัดการหลังบ้านที่ง่าย สามารถเข้าไปเปลี่ยนรหัสการใช้งาน เพิ่มผู้ใช้ อัพโหลดไฟล์ขึ้นเซิร์ฟเวอร์ ที่ง่ายมากๆ
- ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องเซิร์ฟเวอร์ หรือ ความรู้ด้านเทคนิค อะไรมากมาย
ข้อเสียของ Web Hosting 🙁
- สามารถทำได้แค่เก็บพื้นที่เว็บไซต์ อย่างเดียว ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ เช่นเมล์เซิร์ฟเวอร์ ไฟล์เซิร์ฟเวอร์ และอื่นๆ ดังนั้นไม่ค่อยมีความหลากหลาย
- ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น ปรับแต่งสิ่งต่างๆ ได้น้อย
- ไม่เหมาะสำหรับเว็บไซต์ ที่มีปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมที่มาก
- ส่วนมากไอพีแอดเดรส ที่ใช้จะเป็นไอพีแบบแชร์ ร่วมกับคนอื่น ดังนั้นจะไม่สามารถทำ SSL แบบ https:// ที่ใช้กับพวกเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ได้
- เว็บโฮสติ้ง จะมีเว็บไซต์อยู่ด้วยกันหลายเว็บ
Dedicated Server คืออะไร ?
หากเปิดดิกชันนารีแปลคำว่า “Dedicated” ดูมันจะแปลว่า “อุทิศ” แต่หากแปลเป็นศัพท์เทคโนโลยี ศัพท์ไอที นั้นมันจะแปลว่า “เฉพาะงาน เฉพาะทาง” นั่นหมายความว่าหากนำมารวมกับคำว่า “Dedicated Server” แล้วจะแปลว่า “เซิร์ฟเวอร์เฉพาะงาน” นั้นเอง บางท่านอาจจะยังรู้สึกงงๆ ไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีว่ามันคืออะไรกันแน่ ดูกันด้านล่างนี้เลย
บริการแบบ เดดิเคทเซิร์ฟเวอร์ (Dedicated Server) นั้นคือบริการเช่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ย้ำว่าเช่านะ ไม่ใช่ซื้อ นั่นหมายความว่า คุณเช่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์ จากผู้ให้บริการทั้งเครื่องเลย โดยที่คนอื่น ไม่สามารถที่จะมาแชร์หรือแบ่งปันทรัพยากรเครื่อง อย่างแรม พื้นที่เก็บไฟล์ฮาร์ดดิสก์ หน่วยประมวลผลซีพียู จากคุณไปได้เลย เรียกได้ว่ามีความเป็นส่วนตัวสูงเลยทีเดียว
โดยค่าเช่าต่อเดือนจะสูงกว่าการเช่าเว็บโฮสติ้งแน่นอน เพราะทั้งเครื่องเป็นของคุณ คุณสามารถใช้ทรัพยากรเครื่องได้แบบเต็มๆ แต่สิทธิ์ของความเป็นเจ้าของนั้นยังเป็นของผู้ให้บริการอยู่ การเช่ารูปแบบนี้เปรียบเสมือนเราไปเช่าบ้านเดี่ยวอยู่ แน่นอนว่าน้ำไฟเป็นของคุณ ไม่มีใครมาแย่งใช้ แค่คุณก็ต้องรับภาระมากขึ้นเช่นกัน เช่นค่าเช่า การดูแลระบบเอง
นอกจากนี้แล้วคุณยังสามารถนำ เดดิเคทเซิร์ฟเวอร์ ที่เช่านี้ ไปทำอะไรอย่างอื่นได้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่เฉพาะเว็บเซิร์ฟเวอร์ (Web Server) อย่างเดียว คุณสามารถใช้ทำ เซิร์ฟเวอร์เก็บไฟล์ (FTP Server) เซิร์ฟเวอร์รับส่งอีเมล์ (Mail Server) โดเมนเนมเซิร์ฟเวอร์ (DNS Server) โดยราคาค่าเช่านั้นก็หลักพันกลางๆ เลยทีเดียว เท่าที่ดูค่าเช่ามีตั้งแต่พันกลางๆ ประมาณสี่พันบาทต่อเดือน สูงไปจนถึง หลักหมื่นต่อเดือนเลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสเปคเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ด้วยว่ามีสเปคที่สูงแค่ไหน
ข้อดี Dedicated Server 🙂
- ใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ทั้งเครื่องคนเดียว ไม่มีใครมาร่วมใช้ด้วย
- มีความเป็นส่วนตัวสูง ข้อมูลปลอดภัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้ดูแลระบบด้วย ถ้าบริหารระบบไม่ดี ก็เสี่ยงต่อการโดนเจาะระบบสูง
- มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเปิดได้หลายบริการ ทั้ง เว็บเซิร์ฟเวอร์ เซิร์ฟเวอร์รับส่งเมล์ เซิร์ฟเวอร์ไฟล์ เซิร์ฟเวอร์เกมส์ เซิร์ฟเวอร์ DNS และอื่นๆ อีกมากมาย ในขณะที่เว็บโฮสติ้ง ทำได้แค่หลักๆ เว็บเซิร์ฟเวอร์ อย่างเดียวเท่านั้น
ข้อเสีย Dedicated Server 🙁
- ชำระต่อเดือนในราคาแพง ขณะสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ยังไม่ใช่ของเรา
- การขยายสเปคเซิร์ฟเวอร์ ยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะถ้าจะเพิ่มหน่วยความจำ (RAM) เพิ่มฮาร์ดดิสก์ (HDD) ก็ต้องซื้อไปติดตั้งที่ตัวเครื่องเองจริงๆ
- ต้องมีความรู้ด้านเทคนิค ในการดูแล และบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์ อยู่พอสมควร
- ค่าใช้จ่ายจุกจิกมีอีกมากมาย อาทิ เพิ่มแรม เพิ่มพอร์ตการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค เพิ่มฮาร์ดดิสก์ ฯลฯ เหล่านี้ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เพิ่มมากขึ้น
Co-Location คืออะไร ?
บริการโคโลเคชั่น (Co-Location) เป็นอีกหนึ่งบริการรับ ฝากวางเครื่องเซิร์ฟเวอร์ โดยส่วนมากจะเป็นการวางเซิร์ฟเวอร์ อยู่ในพื้นที่ของบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP – Internet Service Provider) ซึ่งเขาจะมีห้องที่เรียกว่าดาต้าเซ็นเตอร์ (DC – Data Center) ที่ให้คุณเอา เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ของคุณที่ซื้อมาเอง เข้าไปวางใส่ในตู้แร็ค (Rack) ที่มีอยู่มากมายภายในห้อง
ซึ่งในห้องของดาต้าเซ็นเตอร์ นี้ก็จะมี ระบบดับเพลิง ระบบปรับอากาศ ระบบควบคุมความชื้น ระบบสำรองไฟ เพื่อรักษาอุณหภูมิ ความชื้น และ จ่ายไฟนิ่ง ให้กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ที่วางอยู่ในห้องได้สามารถทำงานได้อย่างปกติ และ มีสเถียรภาพมากที่สุด นั่นเอง เพราะห้องนี้จะเป็นห้องที่ไม่มีวันปิด จะต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม้เว้นวันหยุดใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นระบบทั้งหลายที่กล่าวมานี้ต้องเป็นของดี และ มีประสิทธิภาพจริงๆ
ด้านบนคือเรื่องความปลอดภัยของระบบ แผนการเตรียมการหากมีเหตุฉุกเฉิน ในส่วนของความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security) นั้นก็ปลอดภัยมากๆ ไม่แพ้กันเช่นกัน ซึ่งการที่ใครสักคนที่ไม่ใช่ลูกค้า หรือ ผู้มีอำนาจ (Authorized Person) การที่จะเดินดุ่ยๆ เข้าไปในห้องเซิร์ฟเวอร์ (Server Room) นี้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ เป็นไปไม่ได้เลย การที่จะเข้าห้องเซิร์ฟเวอร์ ได้นั้นส่วนมากแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- เป็นผู้มีอำนาจ หรือ ได้รับการอนุญาต ให้เข้าห้องได้
- ผู้ติดตาม ที่มาด้วยกันกับผู้มีอำนาจ
- ลูกค้าคนอื่นๆ ที่ไม่มีอำนาจ แต่ ได้รับการแจ้งยืนยันและยินยอม ให้บุคคลเหล่านั้น สามารถเข้าไปในห้องเซิร์ฟเวอร์ที่ตู้ได้
ภาพด้านบนเป็นตัวอย่างของห้องดาต้าเซ็นเตอร์ ของผู้ให้บริการอย่าง บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า มีตู้แร็ควางอยู่มากมาย บนพื้นก็เป็น พื้นยกสูง (Raise Floor) พร้อมรูระบายอากาศอยู่บนพื้น สาเหตเพราะ เขาจะปล่อยแอร์ จากใต้พื้นห้อง เพื่อให้มันระบายอากาศจากด้านล่าง (พื้นห้อง) วิ่งขึ้นสู่ด้านบน (เพดาน) เพื่อที่จะระบายอากาศเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ที่วางอยู่ในตู้แร็ค ภายในห้องไปในตัวด้วยเช่นกัน
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่า เราจะเอาเครื่องเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้เข้าไปวางได้อย่างไร (ไม่ได้หมายถึงเดินถือเครื่องเข้าไปนะ) การเช่าพื้นที่โคโลเคชั่น ของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ กับดาต้าเซ็นเตอร์ เหล่านี้นั้น สามารถทำได้อยู่ 2 วิธีหลักๆ ด้วยกันคือ
1. เช่าตู้เซิร์ฟเวอร์
คำว่า “ตู้เซิร์ฟเวอร์” หรือบางคนเรียกว่า “ตู้แร็ค – ตู้ Rack” นั้นขนาดของ ตู้แร็คขนาดมาตรฐานนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 42u นั้นหมายความว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ตู้แร็ค 1 ตู้ จะสามารถใส่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ที่มีขนาด 1u ได้สูงสุด 42 เครื่อง ด้วยกัน แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ นั้นเป็นไปได้ยากมากๆ เพราะในตู้จะต้องเผื่อพื้นที่สำหรับลากสายไฟ ติดรางปลั๊ก ติดตั้งสวิตซ์เพื่อกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากภายนอก เข้ามาในตู้ และ กระจายสู่เครื่องต่างๆ ภายในตู้อีก หรือแม้กระทั่งเผื่อพื้นที่ให้ระบายอากาศของ เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ที่วางอยู่ภายในตู้ด้วยเช่นกัน
ในตู้แร็คที่วางอยู่ในห้องนั้น ส่วนมากจะมีขนาดทั้งหมด 3 ขนาดหลักๆ ด้วยกันคือ
- ขนาด 1/4 แร็ค (1/4 Rack) : ประมาณ 11u (ราคาประมาณ 11-20k ต่อเดือน)
- ขนาด 1/2 แร็ค (Half Rack) : ประมาณ 21u (ราคาประมาณ 22-30k ต่อเดือน)
- ขนาด เต็มตู้ (Full Rack) : ประมาณ 42u (ราคาประมาณ 35k-50k ต่อเดือน)
2. เช่าช่วงจากผู้เช่าตู้เซิร์ฟเวอร์
หากคุณมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ แค่ประมาณ 1-3 เครื่อง การที่เช่าตู้แร็คแบบทั้งตู้ (Full Rack) นั้น คงจะไม่คุ้มแน่ๆ อีกทางเลือกหนึ่งของคนที่มีเครื่องเซิร์ฟเวอร์น้อยคือ เราอาจจะไปเช่าบริการ ที่เรียกว่า ผู้ให้บริการแบบ เช่าช่วงโคโลเคชั่น อีกทีหนึ่งยกอย่างเช่น เว็บไซต์ไทยแวร์ดอทคอม (Thaiware.com) ของผมเช่าตู้แบบทั้งตู้ (Full Rack) มา 1 ตู้ เต็มๆ แต่ดันใช้พื้นที่วางเซิร์ฟเวอร์ไปเพียงแค่ 3/4 ของตู้ และยังไม่มีแผนที่จะขยายซื้อเซิร์ฟเวอร์ใหม่ในเร็ววันนี้ (ซึ่งจากที่กล่าวมาด้านบนคือ มันไม่มีบริการเช่าตู้ขนาด 3/4 แร็ค)
ซึ่งแบบที่กล่าวมาด้านบนนี้ จะเท่ากับว่าเขาก็จะเสียเงินค่าเช่าส่วนที่เหลือไปแบบเปล่าประโยชน์ดังนั้นเขาจึงเปิดพื้นที่ที่เหลืออีก 1/4 แร็ค นั้นมาให้ลูกค้ารายย่อย ที่มีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ไม่มาก แค่ 1-3 เครื่องได้เช่าช่วงต่ออีกทีได้ แบบนี้ก็ต้องไปทำสัญญาและข้อตกลงกันเอง ถือว่าได้ผลประโยชน์กันทั้งผู้เช่าและผู้ให้บริการ วินวิน (Win-Win) กันทั้งสองฝ่าย
ข้อดี Co-Location 🙂
- ดูแลบริหารจัดการเอง ไม่ต้องมีใครมายุ่ง หมดห่วงเรื่องของความปลอดภัย จะดีหรือจะร้าย ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารจัดการของตัวเราเอง
- มีความเป็นส่วนตัว และ ปลอดภัยสูง ไม่ต้องมาระแวงว่า คนดูแลระบบ คนอื่นๆ ที่ไม่รู้จัก หรือ ไม่ใช่คนของเรา จะแอบมาขโมยข้อมูลส่วนตัวของเราหรือไม่
- ใช้ทรัพยากรเครื่องคนเดียวจริงๆ เพราะเครื่องเซิร์ฟเวอร์ทั้งเครื่องเป็นของเรา ใช้คนเดียว ไม่ต้องไปแบ่งใช้กับใคร เหมือนการพักอาศัยอยู่บ้านเดี่ยว
- ปรับแต่งสเปคเครื่องได้ตามใจชอบ อยากเพิ่มแรม อยากเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ให้เก็บข้อมูลได้มากขึ้น อยากเปลี่ยนซีพียู ให้ประมวลผลได้เร็วมากขึ้น ก็สามารถซื้อเข้าไปเปลี่ยนได้เลย (ถ้ามีงบประมาณที่พอ) และยังไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่น อีกด้วยว่าเขาจะทำให้เราได้หรือไม่
ข้อเสีย Co-Location 🙁
- เหนื่อยหน่อย เพราะต้องดูแลตั้งแต่การติดต่อซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เอง การติดตั้งซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการเอง ในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ พร้อมการต่อรองราคา หรือ หาผู้ให้บริการโคโลเคชั่น ดีๆ สักที่ ทั้งหมดต้องทำเอง หาเอง ติดต่อเอง ต่อรองเอง ฯลฯ
- ราคาแพงที่สุด ถ้าเทียบกับบริการทั้ง 4 อย่างที่ได้กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้
- ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคสูงที่สุด เพราะต้องทำอะไรทุกอย่างเองหมดเลย
- เวลาเครื่องเซิร์ฟเวอร์เสียมีปัญหา เช่นบูตไม่ติด ฮาร์ดดิสก์พัง อุปกรณ์จ่ายไฟพัง ผู้ดูแลอย่างเรา มีหน้าที่ ที่จะต้องเข้าไปที่ตู้แร็คเอง หากบ้านไกลจากผู้ให้บริการก็จะลำบากหน่อย โดยเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถเข้าไปจัดการอะไรในเครื่องเราได้เลย (ส่วนใหญ่เป็นนโยบายของผู้ให้บริการโคโลเคชั่น จะเป็นแบบนี้ทุกราย)
- การช่วยเหลือ ซัพพอร์ต จากผู้ให้บริการโคโลเคชั่น นั้นถือว่าน้อยมากๆ เขาจะแค่เตรียมสายแลน เข้ามารอเอาไว้ในตู้ ระบบจ่ายไฟต่างๆ เช่น ปลั๊กไฟ เข้ามาในตู้แร็ค และที่เหลือคือหน้าที่ของคุณทั้งหมด ตั้งแต่การติดรางเครื่องเซิร์ฟเวอร์ การติดอุปกรณ์กระจายสัญญาณเน็ตเวิร์ค อย่าง Switch ภายในตู้ การจัดวางเซิร์ฟเวอร์ภายในตู้ การจัดสายไฟภายในตู้ เรียกได้ว่าพื้นที่ในตู้ทั้งหมดที่คุณเช่า เป็นของคุณ คุณต้องบริหารจัดการเองทั้งหมด
VPS คืออะไร ?
สำหรับบริการ VPS เป็นบริการ ที่ย่อมาจากคำว่า Virtual Private Server มันเป็นอีกทางเลือก หนึ่งบริการเช่าเซิร์ฟเวอร์ ที่เพิ่งเข้ามามีบทบาท มากยิ่งขึ้น ในยุคหลังปี ค.ศ.2010 ที่ผ่านมา โดยลักษณะรูปแบบการเช่าเซิร์ฟเวอร์นั้นจะเหมือนกับการเช่า เดดิเคทเซิร์ฟเวอร์ ที่ได้กล่าวมาด้านบน แต่ว่า บริการ VPS นั้นจะมีความยืดหยุ่น และ หลากหลายกว่า บริการอื่นๆ ทั้ง 3 บริการ ที่ได้กล่าวมาอยู่ข้างต้น พอสมควรเลยทีเดียว
หากแปลกันตรงๆ Virtual Private Server หรือตัวย่อ VPS นั้นเป็น การสร้างเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวจำลอง หรือ เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวเสมือน (แล้วแต่จะเรียก) ขึ้นมาด้วยซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบและพัฒนามาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ขอยกตัวอย่างชื่อ XenServer หรือ VMWare อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งมันเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการ VPS ของมันโดยเฉพาะ ซึ่งซอฟต์แวร์เหล่านี้ จะต้องติดตั้งเป็นอันดับแรกก่อนที่จะสร้างเครื่องจำลองขึ้นมา (Virtual Server) ถ้าถามว่าจำลองอย่างไร จำลองยังไง ลองดูเลย
ทางผู้ให้บริการ VPS เขาจะลงทุนซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ที่มีประสิทธิภาพสูง อาจจะเครื่องเดียว หรือ หลายๆ เครื่องก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงินทุนของผู้ให้บริการ VPS ซึ่งเป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่กล่าวมานี้ จะเป็นสามารถจับต้องได้จริงๆ (Physical Server) ยกตัวอย่างว่า มีสเปคดังต่อไปนี้ (ขออนุญาตระบุแบบคร่าวๆ ไม่ได้ลงรายละเอียดสเปคเจาะลึกมาก)
- CPU (หน่วยประมวลผลกลาง) : 12 Cores
- RAM (หน่วยความจำหลัก) : 64 GB.
- Harddisk (พื้นที่จัดเก็บข้อมูล : 2TB (หรือ 2,048 GB)
คุณสามารถที่จะนำเอาสเปคเต็มๆ ที่มีมากับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ เหล่านี้มาแตกย่อย ให้กลายเป็น เครื่องเซิร์ฟเวอร์จำลอง เล็กๆ ที่มีสเปคน้อยลง ได้หลายเครื่องเลย อาทิเช่น
เครื่อง VPS / สเปค | CPU (Core) | RAM (GB.) | Hard Disk (GB.) |
1. (เครื่อง 1) | 1 | 4 | 100 |
2. (เครื่อง 2) | 1 | 16 | 200 |
3. (เครื่อง 3) | 4 | 8 | 500 |
4. (เครื่อง 4) | 2 | 8 | 500 |
5. (เครื่อง 5) | 4 | 16 | 500 |
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าใน 1 เครื่องหลัก จะสามารถแบ่งสเปคย่อยๆ ออกไปได้เป็น เซิร์ฟเวอร์ย่อย (เซิร์ฟเวอร์จำลอง) หลายเครื่องเลยที่เดียว โดยทั้งหมดควบคุมโดยซอฟต์แวร์
โดยผู้ใช้บริการหรือลูกค้า VPS ก็จะได้ใช้เซิร์ฟเวอร์ ได้ตามในสเปคที่ตัวเองต้องการ และ อยู่ในงบประมาณที่มี เรียกได้ว่าควบคุมงบประมาณได้เช่นกัน เช่น สมมุติว่าเราเพิ่งเปิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ขึ้นมาใหม่ 1 เว็บ เว็บนี้เรายังไม่มั่นใจว่าจะมีคนเข้าเยี่ยมชม มีลูกค้าเข้ามาเลือกชมสินค้ามากน้อยเพียงใด
ประโยชน์ของมันคือ อย่างในระยะแรก สมมุติว่าคุณเพิ่งจะเปิดกิจการใหม่ หรือ เปิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ มาใหม่ เราก็สามารถที่จะเลือกซื้อในแพ็คเกจ ในระดับที่ต่ำที่สุด อย่าง CPU 1 Core + RAM 4 GB. + Hard Disk 100 GB. ไปก่อนได้ และถ้าหากวันนึงเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของเราเติบโตมากขึ้น มีลูกค้ามากขึ้น มีการสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น เราก็สามารถที่จะแจ้งทางผู้ให้บริการ VPS นั้นสามารถเพิ่มสเปคได้เช่นกัน อย่างเช่น เพิ่ม ฮาร์ดดิสก์ เป็น 200 GB. เพิ่มซีพียู เป็น 2 Core ได้เลยเดี๋ยวนั้นทันที โดยที่คุณไม่ต้องไปเดินห้างไอที อย่าง พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ฟอร์จูนฯ เพื่อไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ อย่าง ฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่มาเพิ่ม ซื้อแรมมาติดตั้ง หรือ ซื้อซีพียูมาเปลี่ยน เพื่ออัพเกรดสเปค ความสามารถเลย
ด้านการใช้งานทั่วไป แน่นอนว่าความสามารถของมัน เหนือกว่า เว็บโฮสติ้งแน่นอน ความสามารถมันเทียบเท่า บริการอย่างโคโลเคชั่น (Co-Location) ที่คุณเอาเครื่องไปฝากวาง และดูแลเครื่องเซิร์ฟเวอร์ เครื่องนั้นแบบ 100% เลยทีเดียว
คุณสามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ VPS ที่เช่ามานี้ทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ใช้ทำเว็บไซต์ (Web Server) ใช้ทำเซิร์ฟเวอร์รับส่งอีเมล์ (Mail Server) ทำเว็บบอร์ดกระดานสนทนาสำเร็จรูป (Webboard) ทำเซิร์ฟเวอร์ใช้สำรองข้อมูล (Backup Server) หรือผู้เช่า VPS จะไปเปิดบริการ เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) อีกช่วงหนึ่งต่อ ก็ยังสามารถทำได้เลยเช่นกัน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องซื้อแพ็คเกจ VPS ที่มีสเปคเครื่องที่เพียงพอ
นอกจากนี้แล้วอีกหนึ่งปัจจัยที่ยังมีผลให้ราคาสูงขึ้นหรือต่ำลงของการเช่า VPS นั่นก็คือเรื่องของระบบปฏิบัติการ (Operating Systems) นั่นเอง แน่นอนว่า ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux OS) นั้นจะมีราคาที่ถูกกว่า เพราะตัวมันเองนั้นเป็นโปรเจคโอเพ่นซอร์ส ที่ถูกพัฒนาโดยกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่ใจรัก และต้องการที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคม และที่สำคัญ แจกฟรี นำไปใช้ฟรีอีกด้วย แต่มันก็มีข้อเสียคือ ระบบการช่วยเหลือสนับสนุนต่างๆ อาจจะไม่ดีเท่าวินโดวส์ ที่มีทีมพัฒนา และ ดูแล เฉพาะ
ถ้าหากเป็น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows OS) จะค่าบริการรายเดือน จะมีราคาที่สูงกว่าพอสมควร เพราะวินโดวส์ ถูกพัฒนาโดยบริษัทเอกชน อย่าง ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ไม่ได้พัฒนาขึ้นโดยทีมผู้พัฒนาโปรแกรมอิสระ ดังนั้นเขาก็ต้องมีค่าใช้จ่าย หลายๆ อย่าง แต่สิ่งที่ผู้ใช้งานได้รับก็คือ มีทีมเซอร์วิส ทีมซัพพอร์ต ที่ดี คอยให้คำแนะนำปรึกษาในการใช้งาน
ตัวอย่างรูปแบบ ของ แพ็คเกจ ผู้ให้บริการ VPS
จากรูปด้านบนคือตัวอย่าง แพ็คเกจ VPS ของทาง บริษัท คลาวด์บิสซิเนส จำกัด (Cloud Business Co.,Ltd.) เว็บไซต์ http://www.cloudbusiness.co.th/ บริษัทที่เปิดขึ้นมาเพื่อให้บริการและดำเนินธุรกิจด้าน VPS โดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 บริษัทนี้ที่มีรูปแบบแพ็คเกจ มานำเสนอลูกค้าให้ดูมากถึง 4 แพ็คเกจด้วยกัน ตามความเหมาะสมของลูกค้า
จากที่ดูราคาพร้อมสเปคแล้วนั้น จะสังเกตุเห็นว่าราคาค่าบริการต่อเดือนของมันนั้น จะราคาพันต้นๆ ไปถึงหลัก พันกลางๆ โดยมีสเปคให้เลือกแต่แตกต่างกัน แน่นอนว่าราคาก็แตกต่างกันไปด้วย
ข้อดี VPS 🙂
- ประหยัด ในเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่าบริหารจัดการ สามารถเริ่มใช้บริการ VPS ได้ขณะที่คุณมีงบประมาณจำกัด แต่ได้ความสามารถเหมือนมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ จริงๆ เครื่องนึงเลย
- ในอนาคตสามารถขยับขยายได้ เติบโตได้ เช่นเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็สามารถเพิ่มฮาร์ดดิสก์ เพิ่มแรม เพิ่มซีพียู (Core) ได้ตามงบประมาณ หรือ เงินที่มีเลย
- การขยับขยาย ไม่จำเป็นจะต้องย้ายเครื่อง สามารถติดต่อผู้ให้บริการ VPS ชำระเงินเพิ่ม ก็สามารถขยายสเปคได้เลย โดยไม่ต้องเดินทางซื้ออุปกรณ์เข้าไปเปลี่ยน หรือ ติดตั้งเพิ่มเติมแต่อย่างใดเลย
- มีระบบความปลอดภัยของการจัดเก็บข้อมูลที่สูง ระบบการสำรองข้อมูลชั้นเยี่ยม ของผู้ให้บริการ เพราะส่วนมากจะให้บริการเป็นแบบ RAID คือมีการสำรองข้อมูลลงฮาร์ดดิสก์อีกอย่างน้อยหนึ่งลูกเสมอ ถ้าเกิดตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหา ยังมีอีกตัวหนึ่งสำรองเอาไว้
- ระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าเครื่องจากพาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply) ของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ที่ให้บริการ ส่วนมากผู้ให้บริการ VPS จะเลือกให้มี 2 ตัวเป็นอย่างน้อย เพื่อสำรองเอาไว้ซึ่งกันและกัน
- ระบบเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค (Network Interface Card) ที่มีหลายท่อ หลายช่องทางในการรับส่งสัญญาณ ไม่เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ที่ใช้ตามบ้าน ส่วนมากแล้วจะมี เน็ตเวิร์คการ์ด แค่อันเดียวเท่านั้น
- ไม่ต้องไปร่วมแชร์ทรัพยากรเครื่องกับใคร เพราะเซิร์ฟเวอร์จำลองนั้นเปรียบเสมือนเซิร์ฟเวอร์จริงๆ เครื่องนึงเลย
- มีหมายเลขไอพีแอดเดรส (IP Address) ที่แยกเป็นอิสระของตัวเอง ไม่ต้องไปแชร์ร่วมกับใคร ดังนั้นจะสามารถเปิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อทำ โปรโตคอล https:// ซึ่งมีประโยชน์ในด้านความปลอดภัย เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้านการเงินได้
- ราคาถูกกว่าการเช่าเดดิเคทเซิร์ฟเวอร์ หรือ การซื้อเซิร์ฟเวอร์ใหม่ 1 เครื่อง เป็นอย่างมาก ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ตัดปัญหาเรื่องการล่มของระบบไปได้เลย เพราะทางผู้ให้บริการ VPS จะมีหน้าที่ดูแลตรงจุดนี้
- ผู้ให้บริการ VPS ส่วนใหญ่ จะมีระบบให้ทดลองให้ใช้บริการชั่วคราวฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ก่อนตามช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาทิ 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ขณะที่การทดลองใช้ฟรีนี้ หาได้ยากใน เว็บโฮสติ้ง เดดิเคทเซิร์ฟเวอร์ หรือแม้แต่ บริการโคโลเคชั่น
- ทางผู้ให้บริการ VPS สามารถติดตั้งโปรแกรมลูกค้าแบบสำเร็จรูปได้ก่อน อาทิ ลงระบบปฏิบัติการให้ ลงแอพพลิเคชั่นสำเร็จรูปบางตัวเอาไว้รอให้ลูกค้าได้เลย ช่วยประหยัดเวลาได้ส่วนนึง แต่ในขณะที่ โคโลเคชั่น ไม่สามารถทำแบบนี้ได้
ข้อเสีย VPS 🙁
- ต้องมีความรู้ด้านการบริหารจัดการเครื่องอยู่พอสมควร เพราะเปรียบเสมือนคุณเป็นคนดูแล ติดตั้งโปรแกรม ซอฟต์แวร์ ต่างๆ บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ คนหนึ่งเลยทีเดียว
หลังจากที่ทุกท่านอ่านบทความนี้เสร็จแล้ว ก็หวังว่าจะได้รับความรู้ถึงบริการออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อดี และ ข้อเสีย ของบริการ VPS ถ้าหากว่าคุณ มีโปรเจค ที่ทำเว็บไซต์ใหญ่ๆ รองรับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมต่อวันจำนวนมากๆ ขึ้นมาสักเว็บนึง แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงแรกก็ยังไม่มั่นใจว่าโปรเจคนี้จะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค จะรุ่งหรือจะร่วง การลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ต่างๆ อย่างการซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เครื่องใหม่ดีๆ สักเครื่องนึง ถ้าหากมีสเปคดีๆ สเปคสูงๆ ราคาก็เหยียบๆ แสน แถมยังต้องเสียค่าเช่าของ บริการโคโลเคชั่น รายเดือน เพื่อวางเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ที่เราซื้อมาอีก เพื่อให้มันได้ติดต่อกับโลกภายนอกอย่างอินเทอร์เน็ตได้ อีกเดือนละหลายพัน ดังนั้นการเลือกใช้บริการ VPS ก็ถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว
หวังว่าหากใครที่อ่านบทความนี้จบ ก็คงจะได้รับประโยชน์จากมันไม่มากก็น้อยอยู่ ดังนั้นการเลือกใช้บริการใดบริการหนึ่งจาก 4 บริการที่ได้กล่าวมานี้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ หรือ จุดประสงค์หลัก ที่ทางคุณจะเลือกใช้
ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ นะครับ
ขอบคุณครับ
ok
ขอสอบถามก่อนตึดสินใจครับ ปัจจุบันผมขายออนไลน์ในอเมซอนซึ่งทางอัมซอนมีกฏที่เคร่งมากเลยคือ 1 คนสามารถมีได้แค่ 1 ไอดีเท่านั่นแต่ หากเข่า vps ทางระบบของอเาซอนไม่สามารถจับได้ว่าเครื่องนี้ IP address นี้มีการใช้งานเกินกว่า 1 user
หากใช้ระบบ vps ก็ไม่จำเป็นต้องแยกคอมพิวเตอร์ใช่ไม้ครับ ตือใช้คิทพิวเตอร์ตัวเดียวเลยครับ
อีกข้อที่ขอสอบถามคือหากไม่มึความรู้ด้านไอที จะใช้งานยากไม้ครับ คือมี่ต้องการเช้าก็แต่จุดประสงค์หลักในการเปิด account seller 3 Account และลงสินค้า รับอีเมล์ ส่งอีเมล รวมไปถึงมีเว็บไซ้ค์ 2 เว็บครับ
รบกวนขอคำชี้แนะด้วยครับ
บทความที่ยอดเยี่ยมมากครับ เข้าใจง่าย ผมสามารถนำไปถ่ายทอดต่อได้อย่างเข้าใจชัดเจน ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ ที่เขียนบทความดีๆ สำหรับ End Users ทุกคน
ต้องการทำเว็บไซต์เกี่ยสกับโชว์สินค้าเหมือน Gallery ความละเอียดสูง โหลดไว ต้องใช้ web hosting หรือ vps ดีครับ
ลองติดต่อไปที่บริษัท https://www.cloudbusiness.co.th/ ดูได้นะครับ จะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยให้คำแนะนำอยู่ครับผม
ขอสอบถามครับ สนใจ VPS มาก
ถ้าจะทำ web service เป็น api กับ mobile app
ต้องมี request เท่าไหร่ต่อวัน ถึงจะไม่เหมาะกับ share host ครับ
ขอสอบถามนะคะ เราจะสามารถติดต่อเช่าได้ที่ไหนอะคะ
ที่บริษัท Cloud Business ของเพื่อนผมก็ได้นะครับ
http://www.cloudbusiness.co.th
ติดต่อทางลิ้งนี้ได้เลยใช่มั้ย ขอบคุนนะคะ เด่วลองติดต่อก่อนคะ ขอบคุนมากๆเลยคะ
รบกวนส่งเบอร์ติดต่อมาที่ team@cloudbusiness.co.th ครับ เดี๋ยวจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับผม 🙂
มีคำถามอ่ะครับ คือขอบอกก่อนนะครับว่าผมไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลย แต่ค่อนข้างจะสนใจอยู่เหมือนกัน อยากถามว่าถ้าเราเช่า vps มา ตัวเครื่องจะอยู่ที่ใครครับ เราหรือบริษัทที่เปิดให้เช่า
เครื่องก็อยู่ที่ให้บริการครับ ของเราก็จะไม่พบอะไร ไม่เห็นตัวจริงของเครื่องว่าเครื่องหน้าตาเป็นยังไง เพราะอย่างที่บอกครับมันคือ VPS หรือ “Virtual Private Server” หรือ “เครื่องเซิร์ฟเวอร์เสมือนส่วนตัว” มันจะไม่มีตัวตนจริงๆ ที่สเปคนี้ แรมเท่านี้ ซีพียูเท่านี้ ฮาร์ดดิสก์เท่านี้ จะไม่เห็นครับ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ข้อมูลเราทั้งหมด ก็อยู่บนเครื่อง SERVER จริงๆ นี่แหละครับ เพียงแต่ว่าไม่ใช่สเปคตามที่เราซื้อแค่นั้นเอง ครับ 🙂
ขอบคุณครับ ได้ความรู้เพิ่มจริงๆ เป็นบทความที่อ่านเข้าใจง่ายดีครับ
ยินดีครับผม 🙂