iRobot Roomba 980

iRobot Roomba 980 Share
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980
iRobot Roomba 980
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

บทความรีวิวฉบับนี้ เป็น บทความรีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ที่จัดเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวท็อปสุด (ขณะที่กำลังรีวิวอยู่) จากค่าย iRobot (อ่านว่า “ไอโรบอท” ตรงๆ ตัวได้เลย) ซึ่งตัวซีรีย์ 900 นี้ก็ จัดเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เกรดที่ดีที่สุดของทาง (ณ เวลาที่รีวิว) ยี่ห้อนี้ เลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้วก็ยัง เป็น หุ่นยนต์ทำความสะอาด ตัวที่ 3 แล้ว ที่ผมได้มีโอกาสรีวิว สินค้าจากเมืองลุงแซม ประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) แล้ว โดย ก่อนหน้านี้ เคยมี หุ่นยนต์ถูพื้น iRobot Scooba 390 และ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ก็ได้มีโอกาสผ่านมือรีวิวจากผมมาแล้วเช่นกัน

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ตัวนี้ ออกสู่ตลาด และ วางจำหน่าย ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2015 ก็เป็นตัวที่ถูกพัฒนาต่อยอด แก้ไขปัญหา ข้อผิดพลาด จุดบกพร่องต่างๆ จาก iRobot Roomba รุ่น 880 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ สักระยะแล้ว เสริมประสิทธิภาพ เสริมความสามารถ ด้วยการสั่งงานผ่าน แอพพลิเคชั่น iRobot HOME ที่ฉลาด เกินกว่าที่คิดเอาไว้ มากๆ

แต่เริ่มแรกเดิมที iRobot Roomba 880 นี้ ก็จัดว่าเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ดี และ มีประสิทธิภาพมาก อยู่แล้ว แต่ตัวนี้ก็ได้มีการ เสริม ความฉลาด ง่าย และ ฉลาด ด้วยคอนเซป “Smart Simple and Clean” เข้าไปให้มากขึ้นไปอีก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป เพื่อลูกค้าผู้ใช้งานจริงๆ

เนื่องจากบทความรีวิวนี้ยาวมากๆ (พอดีผมเขียนมันส์ไปหน่อย) หากจะอ่านจากบนลงล่างทั้งหมด อาจจะเสียเวลา เป็นชั่วโมง ผมเลยได้ทำ คลิปวีดีโอรีวิว สรุปเนื้อหา แนะนำส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง พร้อมวิธีติดตั้งใช้งาน แอพฯ เอาไว้ ลองรับชมดูได้นะครับ ความยาวคลิป ประมาณ 25 นาที หากไม่เข้าใจตรงไหน อยากหาข้อมูลเพิ่มเติม ดูบทความรีวิวฉบับนี้ต่อได้เลย

ด้านล่างนี้เป็นเมนูลัด ที่ผมได้ตระเตรียมเอาไว้ ให้สามารถเข้าถึงเนื้อหา ในส่วนต่างๆ ได้อย่างสะดวก และ รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  1. iRobot Roomba 980 พัฒนาต่อยอดจาก 880
  2. ตารางเปรียบเทียบ ความแตกต่างระหว่าง iRobot Roomba 880 และ 980
  3. แกะกล่องผลิตภัณฑ์
  4. ข้อมูลจำเพาะของทางเทคนิคของตัวเครื่อง
  5. คุณสมบัติ และ ความสามารถที่โดดเด่น
  6. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
  7. เปิดใช้งานหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980
  8. เชื่อมต่อ แอพพลิเคชั่น iRobot HOME กับ iRobot Roomba 980
  9. คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับมัน (FAQs)
  10. บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ข้อดี ข้อเสีย

รู้จักกับ หุ่นยนต์ทำความสะอาด iRobot ให้มากขึ้นกว่านี้

iRobot Logo
โลโก้ผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ทำความสะอาด iRobot

คุณสามารถทำความรู้จักกับ ที่มาที่ไปของแบรนด์ หุ่นยนต์ทำความสะอาด iRobot ให้มากกว่านี้ ว่าเป็นใครมาจากไหน น่าเชื่อถือได้แค่ไหน ได้โดยการกดที่ลิงค์เชื่อมต่อด้านล่างนี้ได้เลย

⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ทำความสะอาด iRobot ได้ที่นี่

iRobot Roomba 980 ต่อยอดจาก 880

ในส่วนของ iRobot Roomba นั้นก็มีหลากหลายซีรีย์ ให้เลือกใช้ด้วยกัน ซึ่งขณะที่กำลังรีวิว (ค.ศ. 2016) iRobot Roomba 980 ที่เป็นรุ่นท็อป อยู่นั้น ก็มีสมุนของมันอีก 4 รุ่น ได้แก่รุ่น 620 776p 870 880 ซึ่งความสามารถ และ ราคา ก็จะลดหลั่น กันลงไป ตามลำดับ (ซึ่งจริงๆ แล้ว ขณะที่รีวิวอยู่นี้ ทาง iRobot ก็หยุดการผลิต และ จัดจำหน่าย ไปหลายรุ่นแล้วเหมือนกัน จากการที่เข้าไปดูจากหน้าเว็บไซต์ ของผู้ผลิต)

และ หากพูดถึง ความสามารถ ที่เพิ่มเข้ามาแบบเด่นชัด ระหว่างตัว Roomba 880 และ Roomba 980 นั้น ก็เห็นจะเป็น ฟังก์ชั่น การสั่งงานด้วย แอพพลิเคชั่น ผ่านทางมือถือสมาร์ทโฟน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ส่วนใดในโลก ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ได้ละก็ สามารถสั่งงานมันได้ผ่าน ชุดแอพพลิเคชั่น iRobot HOME App นี้ได้เลย

นอกจากนี้ iRobot เขายังมี การปรับเปลี่ยนระบบ การวิ่งนำทางการดูดฝุ่น ให้มีความแม่นยำ มากขึ้นไปอีก จากรุ่นก่อนๆ โดยมีการติดตั้งกล้องสร้างแผนที่เสริม เข้าไปที่ด้านบนของตัวเครื่อง และใส่ระบบการ เพิ่มแรงดูดให้มากขึ้นอัตโนมัติ ขณะอยู่บนพรม เพราะปกติ การทำความสะอาดบนพรม จะมีแรงเสียดทาน มากกว่าบนพื้นกระเบื้อง พื้นไม้ ปกติ อยู่แล้ว และอื่นๆ อีกมากมาย เดี๋ยวจะกล่าวในด้านล่าง และหากคุณมีเวลาเหลือพอ ลองกดดูคลิปวีดีโอ ความสามารถของมันด้านล่างนี้ได้เลย

คิดว่าหลายคน (รวมถึงผม) เมื่อเห็นสินค้า แบบนี้แล้ว คงจะแอบงงว่า ระหว่างตัว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 880 ซึ่งก็จัดเป็นตัวท็อป ของมันอยู่แล้ว กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 (ตัวที่คุณกำลังอ่านอยู่นี่) ซึ่งระยะเวลาในการ ผลิตและปล่อยออกสู่ตลาด ห่างกันประมาณปีนึง นั้นมีความแตกต่าง กัน อย่างไร กันบ้าง

ตารางเปรียบเทียบ ความแตกต่างระหว่าง iRobot Roomba 880 และ 980

ด้านล่างนี้ ผมได้ทำตารางสรุป เท่าที่ผมพอจะจำแนกได้ มาให้ดูกันแบบเคลียร์ๆ ก่อนเลยว่า 2 รุ่น ต่างกันตรงไหนบ้าง

รายละเอียด
(Specification)
Roomba 880 Roomba 980
ขนาดมิติ
(Dimension)
353 x 353 x 92 มม. 353 x 353 x 91 มม.
น้ำหนัก
(Weight)
3.8 กิโลกรัม 3.9 กิโลกรัม
ความจุแบตเตอรี่
(Battery Capacity)
3,000 mAh 3,300 mAh
หูหิ้ว บนตัวเครื่อง
(Carrying Handle)
 ✔  ✔
ระบบดูดฝุ่น 3 ขั้นตอน
AeroForce™
แปรงข้าง
(Side Brush)
1 ฝั่ง (ขวา) 1 ฝั่ง (ขวา)
กันชนหน้า
(Front Bumper)
เซ็นเซอร์พื้นที่ต่างระดับ
(Cliff Sensor)
ตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ
(Auto Scheduling)
ชุดกำแพงจำลอง 2 โหมด
(Dual Mode Virtual Mall® Barrier)
แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง
(HEPA Filter)
รีโมทคอนโทรล สั่งงานระยะไกล
(Remote Control)
 ✕
กล้องสร้างแผนที่จำลอง
(Built-in Camera)
ระบบเชื่อมต่อ ผ่านแอพพลิเคชั่น
(iRobot HOME App)
เซ็นเซอร์จำแนกพื้นผิว
(Floor Tracking Sensor)
ระบบเพิ่มกำลังดูดตอนอยู่บนพรม
(Carpet Boost)
ชาร์จไฟเสร็จ แล้วไปทำงานต่อ
(Recharge & Resume)

แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

iRobot Roomba 980 Box
กล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการ แกะกล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 เพื่อให้ดูกันแบบเรียลๆ เลย ว่าถ้าคุณซื้อมาแล้ว เมื่อแรกเริ่มแกะกล่องนั้น จะเจอ กับอุปกรณ์อะไรด้านในกันบ้าง เจ้าของผลิตภัณฑ์มีความพิถีพิถัน ใส่ใจตั้งแต่กล่องผลิตภัณฑ์มากน้อยเพียงใด แต่ก่อนที่จะแกะกล่องขอมาให้ดูรูปลักษณ์ของกล่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นด้านนอกกันก่อนดีกว่า

ด้านนอกกล่อง

iRobot Roomba 980 Box
กล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 นั้นมากับกล่องในโทนสีเทา สีดำ และก็ยัง ผสมกับสีเขียว (สีเขียวเป็นสีโลโก้ของแบรนด์) ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์เฉพาะของยี่ห้อไอโรบอท อยู่แล้ว เน้นความหรูหรา ไฮโซ แต่แฝงไปด้วยความโมเดิร์น ทันสมัยเฉกเช่นเคย

โดยข้างกล่องนี้ นอกจาก ภาษาอังกฤษ ที่มีการ อธิบายข้อมูล เป็นอยู่หลัก แล้ว เขายังมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ อีกมากมาย อีก 5 ภาษา เลยทีเดียว ได้แก่

  1. ภาษาฝรั่งเศส (French)
  2. ภาษาสเปน (Spanish)
  3. ภาษาอิตาลี (Italian)
  4. ภาษาเยอรมัน (German)
  5. ภาษารัสเซีย (Russian)
iRobot Roomba 980 Box Front
ด้านหน้ากล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ด้านหน้ากล่อง : ไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ อะไรมากมาย หลักๆ ก็คือมีโลโก้สินค้า อยู่ทางด้านมุมขวาบน เขียนว่า “iRobot Roomba – Vacuum Cleaning Robot” พร้อมด้วยรูปสินค้า iRobot Roomba 980 ใหญ่ๆ อยู่ตรงกลาง ที่วางอยู่โดดเด่นเป็นสง่า

ในขณะที่ส่วนด้านล่างขวาคือชื่อรุ่น “Roomba 980” นั่นเอง

และนอกจากนี้แล้ว ที่ด้านมุมซ้ายล่างมีรูปสัญลักษณ์มือถือ ด้วย ให้รู้ว่ามันสามารถเชื่อมต่อกับ แอพพลิเคชั่นบนมือถือ ผ่านระบบ Wi-Fi ได้อีกด้วยเช่นกัน

iRobot Roomba 980 Box Left
ด้านซ้ายกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ด้านซ้ายกล่อง : มีโลโก้ผลิตภัณฑ์สินค้า อยู่ด้านบน และประโยคภาษาอังกฤษถ้าแปลกันตรงๆ ก็จะเขียนว่า

“We have a passion for helping you get more done every day. Just press CLEAN. –
เรามีความหลงใหล ที่จะช่วยคุณให้คุณได้ทำงานมากขึ้นทุกวัน เพียงแค่กด ปุ่ม CLEAN เท่านั้น”

และถ้าหากลอง แปลความหมาย ของมัน ให้ลึกซึ้ง ลงไปอีก ก็จะได้ใจความประมาณว่า

“อยากให้คุณเอาเวลาอันมีค่าไปทำงาน ทำหน้าที่ ของคุณเถอะ อย่ามีเสียเวลากับการมาทำความสะอาดบ้านเลย ปล่อยให้หน้าที่เหล่านี้ เป็นหน้าที่ของเราดีกว่า แค่กด ปุ่ม CLEAN”

ซึ่งเจ้า “ปุ่ม CLEAN” นี้ก็ถือเป็นไฮไลท์ สำคัญ ของเครื่องนี้เลย เพราะปุ่มนี้ปุ่มเดียว นอกจากความหมายโดยตรงของมันก็คือ สั่งไปทำความสะอาดแล้ว แต่ มันยังสามารถใช้สื่อความหมาย และ แทนอะไรได้หลายๆ อย่างเลยทีเดียว เช่น เวลาอันมีค่า เวลาไปทำงาน เวลาให้กับครอบครัว คนที่เรารัก และอื่นๆ อีกมากมาย

และที่สำคัญเจ้า “ปุ่ม CLEAN” นี้ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะบนตัวเครื่อง iRobot Roomba 980 อย่างเดียว มันยังมีอยู่บน แอพพลิเคชั่น iRobot Home App ให้กดได้ ผ่านหน้าจอมือถือของคุณได้อีกด้วยเช่นกัน

iRobot Roomba 980 Box Right
ด้านขวากล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ด้านขวากล่อง : มีรูปประกอบ 3 รูป แสดงถึงความสามารถที่เจ้าเครื่องนี้สามารถทำได้ รายละเอียดก็ประมาณนี้

  1. ไม่วิ่งตกบันได หรือ พื้นที่ต่างระดับสูงๆ
  2. หลบหลีกสิ่งอีกขวางได้อย่างฉลาด
  3. มีขนาดเล็ก ลอดใต้เฟอร์นิเจอร์ ได้หลายตัว สะอาดได้แม้อยู่ในที่แคบ

ด้านหลังกล่อง : ข้อมูลส่วนที่อยู่ด้านหลังกล่องนี้ ให้มาค่อนข้างที่จะจัดเต็มสักนิดนึง ซึ่งหลักๆ ก็มีทั้ง ความสามารถหลัก 3 ประการ (พร้อมรูปอธิบายประกอบ กำกับอยู่ด้านบน) และ ด้านล่าง ก็อุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่อง พร้อมกับสัญลักษณ์ 3 อัน ยอดฮิต เพื่อให้ทราบว่า มันเชื่อมต่อไวไฟ ต่อเน็ตได้แล้วนะ (กดดูรายละเอียดความสามารถหลัก ทั้งหมด ของ iRobot Roomba 980 ได้ที่นี่)

ด้านล่างกล่อง : ทาง iRobot ก็มีข้อมูล มาให้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของตัวเครื่อง รายละเอียดด้าน การผลิต สิทธิบัตร ข้อจำกัด ข้อห้าม ต่างๆ อีกมากมาย โดยมีภาษาทั้ง 6 ภาษาอธิบายกำกับเอาไว้ทั้งหมดเลย

iRobot Roomba 980 Box Rear
ด้านหลังกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

โดย จุดที่น่าสนใจ ของ สินค้าตัวนี้คือ เขาบอกว่า สินค้าตัวนี้ถูกออกแบบในประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) แต่ประกอบในประเทศจีน (China)

และอีกอย่างนึงที่เขาบอกเอาไว้คือ ทางทีมผู้พัฒนา เขาได้มีการพัฒนาตัวสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการพัฒนานี้ อาจทำให้ สินค้าในกล่อง กับสินค้าในรูป มีการแตกต่างกันเล็กน้อย

นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึง หมายเลขจำเพาะ หรือ ซีเรียลนัมเบอร์ (Serial Number) ของตัวเครื่อง ก็อยู่ตรงส่วนนี้อีกด้วยเช่นกัน

iRobot Roomba 980 Box Underside
ด้านล่างกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ด้านในกล่อง

และก็ได้เวลาเปิดกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 กันแล้วว่าข้างในมี รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง

iRobot Roomba 980 Box Unpacked
ครั้งแรก เมื่อเปิด ฝากล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ออกมา

เปิดมาแล้วพบว่า การห่อหุ้มอุปกรณ์ภายในกล่อง ใช้กระดาษแข็ง ทั้งหมด แทนการใช้โฟม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม (ช่วยลดการสร้างสภาวะ โลกร้อน ไปในตัว) แถม อุปกรณ์เสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นกรองอากาศ HEPA สำรอง สายไฟ กำแพงจำลอง ถ่านแบตเตอรี่ และอื่นๆ ก็ถูกแยก เก็บไว้ใน กล่องกระดาษแข็ง เป็นสัดส่วนอย่างดี พูดง่ายๆ คือ ด้านนอก ก็จะมีแต่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นกับคู่มือการใช้งาน

และถ้าหาก สังเกตดีๆ ด้านบนของฝากล่อง (ที่ผมใส่ลายน้ำว่า Thanop.com) จะมีกระดาษแข็งเสริม อีกที เพราะว่าหากพับปิดลงมาแล้ว มันจะโดนกับตัวเครื่องพอดี เพื่อป้องกันการเกิดรอย และ ดูดซับแรงกระแทก ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง (ถือว่าใส่ใจในรายละเอียด เป็นอย่างดี)

iRobot Roomba 980 Components
อุปกรณ์ ทั้งหมด ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ที่ให้มาในกล่อง

คราวนี้มาดูส่วนประกอบด้านใน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 กันดูบ้าง ว่ามีอุปกรณ์หลัก อุปกรณ์เสริม อะไรมาให้เราได้ใช้งานกันบ้าง มาดูกันเลย (รายละเอียดหมายเลข ตามรูปเลยนะ)

  1. iRobot Roomba 980 (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น – 1 เครื่อง) : หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง อยู่ที่ 35.05 เซนติเมตร โดยสรุปมิติ มันคือ 353 x 353 x 91.4 มม. และ น้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 3.94 กิโลกรัม(ขนาดเครื่อง ของ Roomba 980 นั้น เล็กกว่าตัว Roomba 880 อยู่ 0.25 เซนติเมตร แทบจะไม่แตกต่างกันเลย แต่น้ำหนักตัว Roomba 980 หนักกว่า 0.13 กิโลกรัม)
  2. Home Base® Charging Station (แท่นชาร์จ – 1 ชุด) : แท่นชาร์จ หรือ ฐานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่เปรียบเสมือนบ้านของมัน ทุกครั้งเมื่อมันทำงานเสร็จ หรือ แบตเตอรี่ใกล้หมด มันจะกลับมาจอดชาร์จที่นี่ทันที
  3. Line Cord (สายไฟ – 1 เส้น) : ชุดสายไฟ ความยาวประมาณ 1.4 เมตร ที่เอาไว้ต่อระหว่าง แท่นชาร์จ กับ ปลั๊กไฟบ้าน ซึ่งเป็นสายไฟคุณภาพดี ซึ่งทาง iRobot เขาแยกมาให้ ไม่ยึดติดรวมไปกับแท่นชาร์จ (บางยี่ห้อจะยึดไปกับแท่นชาร์จเลย)
  4. Dual Mode Virtual Mall® Barrier (ชุดกำแพงจำลอง – 2 ชุด) : อุปกรณ์สร้างกำแพงจำลอง แบบ 2 โหมด (Dual Mode) ในกรณีที่ ไม่ต้องการให้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 เข้าไปทำความสะอาดข้างในห้อง หรือ ในบริเวณที่ไม่ต้องการให้เข้าไปใกล้ๆ ก็สามารถใช้บริการตัวนี้ได้ (แต่ถ้าหากว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้อง กั้นบริเวณ ทำความสะอาด ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตลอด หรือ ใช้ทุกครั้งก็ได้นะ)
  5. AA Battery (ถ่านแบตเตอรี่ ขนาด AA – 4 ก้อน) : ถ่านแบตเตอรี่ (เรารู้จักกันในนาม “ถ่านไฟฉาย”) เพื่อเอาไว้ใช้กับ รีโมทคอนโทรล และ ชุดอุปกรณ์สร้างกำแพงจำลอง ถือเป็นสิ่งดีงาม ที่ให้ถ่านแบตเตอรี่ นี้ติดกล่องมาด้วย ไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มให้เสียเวลา และ เสียเงินเพิ่ม และที่สำคัญ ถ่านแบตเตอรี่ ที่เขาให้มานั้น เป็นถ่ายอัลคาไลน์ ยี่ห้อ “DURACELL” เลยทีเดียว ไม่ใช่ยี่ห้อกระโหลกกะลา ที่ไหน
  6. Extra AeroForce™ High-Efficiency Filter (แผ่นกรองอากาศ HEPA สำรอง – 1 ชุด) : แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่จริงๆ แล้ว เขาให้มาอยู่แล้ว 1 ชุด ซึ่งติดอยู่ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นี่เขาให้สำรองมาใช้กันอีก 1 ชุด เผื่อเกิดความเสียหาย
  7. Extra Side Brush (แปรงข้างสำรอง – 1 แปรง) : ถึงแม้ว่า ตัวเครื่อง iRobot Roomba 980 จะมีแปรงข้าง ติดที่เครื่องอยู่ แปรงเดียว ทางขวามือของเครื่อง (ติดมากับเครื่องอยู่แล้ว 1 แปรง) แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะให้ แปรงข้างสำรอง ติดไม้ติดมือมาให้อีก 1 แปรง (เบ็ดเสร็จ รวมทั้งสิ้น 2 แปรง)
  8. Owner’s Manual and Quick Star Guide (คู่มือการใช้งาน 1 ชุด) : คู่มือการใช้งานหลายภาษา ที่มีทั้ง ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เยอรมัน รัสเซีย และสุดท้ายคือ ภาษาไทย ที่แยกออกมาอีกชุดนึงเลย ให้คำอธิบายที่ค่อนข้างกระจ่าง ชัดเจน พร้อมรูปภาพ อธิบายประกอบ อย่างดี

ข้อมูลจำเพาะ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ถึงคราว มาดูสเปคหรือข้อมูลจำเพาะ (Specification) ของตัวเครื่องกันเลยดีกว่า ว่ามี ข้อมูลเป็นอย่างไรกันบ้าง

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
353 x 353 x 91 มม.
น้ำหนัก
(Weight)
3.9 กิโลกรัม
ไฟเข้า
(Input)
AC 100-240V 50/60 Hz
ไฟออก
(Output)
DC 22V 1.25A
ประเภทของแบตเตอรี่
(Battery Type)
Li-Ion
ปริมาณความจุแบตเตอรี่
(Battery Capacity)
3,300 mAh
ระดับเสียง
(Noise Level)
68 dB. (เดซิเบล)
(วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร)
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร)
Dirtbin Capacity (Litre)
0.70 ลิตร (700 mL)

คุณสมบัติ และ ความสามารถ iRobot Roomba 980

ในส่วนนี้จะกล่าวถึง คุณสมบัติ และ ความสามารถหลักทั้งหมด 16 ข้อ ภายใต้คอนเซป SMART SIMPLE และ CLEAN ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมได้สรุปข้อมูลมาจาก 3 แหล่งด้วยกันคือ 1. ข้อมูลจากข้างกล่อผลิตภัณฑ์ 2. เว็บไซต์ของเจ้าของผลิตภัณฑ์ และ 3. จากการทดสอบใช้งานเองจริงๆ มาเริ่มกันเลยดีกว่า

  1. Supported all Floor Surfaces : รองรับการทำงานบนทุกสภาพพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็น พื้นกระเบื้อง พื้นไม้ลามิเนต พื้นปาเก้ หรือแม้แต่บน พื้นพรม ก็รองรับ และ สามารถทำได้หมด (ยกเว้นพื้นถนนอย่าง พื้นซีเมนต์ และ พื้นลาดยางมะตอย นะครับ)
  2. Li-Ion Battery : แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Lithium-ion battery) ขนาดความจุ 3,300 mAh ที่คุณสมบัติ ของแบตเตอรี่ประเภทนี้คือ มีอายุการใช้งาน ที่ยาวนาน มีการจ่ายไฟที่คงที่ มีความเสถียร มากกว่าแบตเตอรี่ประเภทอื่น เพราะขณะที่แบตเตอรี่มีไฟเต็ม กับ ขณะที่แบตเตอรี่ใกล้หมด แบตเตอรี่ประเภท Li-Ion จะมีระดับการจ่ายไฟ ที่เท่ากัน
  3. Slim Body : ด้วยความสูง เพียง 9.1 เซนติเมตร ทำให้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 สามารถวิ่งลอด มุดทำความสะอาดใต้โซฟา เก้าอี้นั่งเล่น เก้าอี้ทานข้าว เก้าอี้สำนักงาน หรือ เฟอร์นิเจอร์ อื่นๆ ได้อย่างทั่วถึง และ คล่องแคล่ว มากๆ
  4. iAdapt® Built-in Camera : รุ่นนี้มีการฝังกล้อง iAdapt® ฝังไว้กับตัวเครื่อง ประโยชน์ของมันคือ เอาไว้ใช้ ประเมินพื้นที่ สร้างแผนที่จำลอง ในการทำความสะอาด ให้ตัวเครื่องรู้ว่า ตรงไหนดูดเสร็จแล้ว หรือ ยังไม่ได้ดูดแล้วบ้าง พูดง่ายๆ คือ ฉลาดขึ้นไปอีกระดับ ไม่วิ่งทำความสะอาดมั่วไปมั่วมา ให้เสียเวลา และ สิ้นเปลืองแบตเตอรี่ โดยเปล่าประโยชน์
  5. Self-Charging : ระบบการวิ่งเข้าชาร์จไฟอัตโนมัติ เมื่อทำงานเสร็จ หรือ แบตเตอรี่ใกล้หมด จัดเป็นระบบเบสิคพื้นฐาน ที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เกือบทุกตัวในโลกนี้จะต้องมี แต่จะเชือดเฉือน กันที่ความแม่นยำ และ ความรวดเร็วในการวิ่งกลับแท่นชาร์จ ซึ่ง แน่นอนว่า iRobot Roomba 980 ก็มีมาให้เช่นกัน แถมแม่นยำ และ รวดเร็ว เช่นกัน
  6. Multi-Room Navigation : สำหรับตัว iRobot Roomba 980 ได้มีการปรับปรุงให้มีความสามารถในการ วิ่งทำงานข้ามห้องได้เป็นอย่างดี ไม่หลงทาง และ ดูดได้ครบทั่วทั้งบริเวณ คราวนี้ไม่ว่าห้องของคุณจะมากมายซับซ้อนเพียงใด แต่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้จะรับมือกับมันไหวอย่างแน่นอน
  7. iRobot HOME App Weekly Schedule
    ตัวอย่าง การตั้งเวลา ทำความสะอาด ภายใน 7 วัน (1 สัปดาห์)

    Entire Level Cleaning : สามารถวิ่งทำความสะอาดได้ต่อเนื่อง ได้ 2 ชั่วโมง (ประมาณ 120 นาที) ติดต่อกัน และ รองรับพื้นที่ห้องสูงสุด 185 ตารางเมตร (เท่ากับห้องคอนโดมิเนียมผม เกือบ 3 ห้องเลยทีเดียวครับ)

  8. Recharge & Resume : ระบบใหม่ ที่เพิ่มเข้ามาในรุ่นนี้คือ ระบบการเข้าไปชาร์จไฟ แล้วออกมาดูดฝุ่นต่อเองโดยอัตโนมัติ จนกว่าจะทั่วครบทั้งบริเวณ แล้วถึงกลับเข้าไปจอดจริงๆ โดย ระบบนี้จะมีประโยชน์มากๆ ที่หากเราสั่งเปิดให้เครื่องทำงาน ในขณะที่แบตเตอรี่เหลือไม่มากแล้วหากเป็นในอดีต ถ้าแบตเตอรี่หมด ถ้าเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ฉลาดๆ หน่อย ก็จะวิ่งกลับไปชาร์จเองอัตโนมัติ (แต่ไม่กลับออกไปดูดอีก) แต่ถ้าเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นต่ำๆ หน่อย ก็จะจอดตาย จอดดับ อยู่ตรงจุดที่แบตเตอรี่หมดเลย แต่ตัวนี้ไม่ใช่แล้ว เมื่อมันรู้ว่า แบตเตอรี่ใกล้หมด มันจะพาตัวเองกลับไปที่แท่นชาร์จ และ เมื่อชาร์จไฟเต็มแล้ว ก็จะกลับมาดูดฝุ่นต่อให้ครบทั่วทั้งบริเวณ ถือว่าดีงามมากๆ
  9. Auto Scheduling : สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดรายวันได้ อย่างยืดหยุ่นมากๆ โดยตั้งวันเวลาทั้ง 7 วัน ใน 1 สัปดาห์ ได้ว่า วันไหนจะทำความสะอาดเวลาไหน หรือ วันไหนไม่ทำ ก็ สามารถตั้งเวลานั้น ได้อย่างยืดหยุ่นเช่นกัน
  10. ภาพอธิบายการทำงาน ระบบวิ่งทำความสะอาดบนพรม Carpet Boost (ภาพจาก iRobot.com)

    Carpet Boost : ระบบเพิ่มแรง เพิ่มกำลังการดูดให้มากขึ้น ขณะที่วิ่งขึ้นไปทำความสะอาดบนพรม เพราะการทำความสะอาดบนพรมนั้น จะทำให้เกิดแรงเสียดทาน (Friction) มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเครื่องทำงานช้าลง แถม พลังการดูดก็ลดลงไปตามลำดับด้วย แต่ด้วยระบบ Carpet Boost ที่มีมาใหม่นั้น เมื่อเครื่องตรวจจับ ทราบว่ากำลัง วิ่งทำงานอยู่บนพรมนั้น มันจะเพิ่มพลังแรงดูด (Suction Force) ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ยังคงประสิทธิภาพ ของการดูด ที่แข็งแกร่ง เอาไว้เช่นเดิม

  11. iRobot HOME App : ตัวเครื่องสามารถ เพิ่มการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ ได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย Wi-Fi ซึ่งต้องติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือสมาร์ทโฟน (ได้ทั้ง Android และ iOS) เพื่อใช้ตั้งค่าวันเวลา และ การใช้งานต่างๆ ควบคุมสั่งงานเครื่องได้จากจุดนี้
  12. AeroForce™ Cleaning System : ระบบ AeroForce™ ที่มีอยู่ในหลายรุ่นก่อนหน้านี้แล้ว ก็ยังคงประสิทธิภาพเอาไว้ ใน iRobot Boomba 980 นี้เอาไว้เช่นเดิม ซึ่งหากพูดถึงมัน ก็จะมีระบบ
    1. แปรงกวาดหลักแบบคู่ (Dual Main Brush) : แปรงกวาดยาง แบบ 2 แปรงคู่ ความกว้าง 26.7 เซนติเมตร (267 mm) ถือว่าขนาดพอเหมาะ แถมยัง มีความเหนียว ในการดูดฝุ่น สิ่งสกปรก สูง ทำงานด้วยการ หมุนเข้าหากัน ข้อดีของมันคือ เวลาดูดเส้นผมยาวๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นผมของสุภาพสตรี ที่มีขนาดยาว หรือแม้แต่ ขนสัตว์ เข้าไปแล้ว จะไม่ไปพัน หรือ ติดอยู่ที่แปรง ต้องมาแงะ มาแคะ ออกอีกทีหนึ่งแต่ตัวนี้จะไม่เป็นแบบนั้น แปรงทั้ง 2 ตัว จะปั่นเข้าไปเก็บด้านในทั้งหมดทันทีปกติส่วนมากแล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่นยี่ห้ออื่น จะมีแค่ แปรงเดี่ยวๆ (Single Brush) แต่ว่า ตัวนี้มีเป็นคู่ มาเป็นคู่ เลย ซึ่งเป็น แปรงยาง ที่มีความเหนียว และ ยืดหยุ่นสูงมาก จึงทำให้การดูดฝุ่นนั้น มีความแรง และ โหด ขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
    2. พัดลมดูดอากาศ (Vacuum Fan) : อีกหนึ่งขุมกำลังหลัก ที่ iRobot Roomba 980 ตระเตรียม มาให้ผู้ใช้งาน คือ พัดลมช่วยดูดอากาศ ที่จะช่วยเสริมแรงดูดฝุ่น ให้แรง และ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ฝุ่นขนาดเล็กๆ จะสามารถถูกดูดขึ้นมาด้วย แรงลม ที่มาจากพัดลมตัวนี้ นั่นเอง

  13. Longer Side Brush : แปรงกวาดข้าง ขนาดยาว สามารถซอกซอน เข้าลึก ถึงขอบมุม ของห้อง รวมไปถึง ขอบกำแพง ขอบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้อย่าง ไร้ปัญหา
  14. Dual Mode Virtual Mall® Barrier : อุปกรณ์สร้าง กำแพงจำลอง แบบ 2 โหมด (Dual Mode) ที่พกความสามารถมาให้ถึง 2 โหมดการทำงาน ด้วยกัน ได้แก่
    1. Virtual Wall Mode : ใช้ป้องกันการทำงาน ไม่ให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เข้าไปทำความสะอาดในห้อง หรือพื้นที่ ที่ไม่ต้องการ
    2. Halo Mode Mode : ใช้ป้องกันการทำงาน ไม่ให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เข้ามาใกล้กับสิ่งของที่ต้องการให้มันหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ อาทิ ชุดแก้ว รูปปั้น โคมไฟราคาแพงๆ เอาวางไว้ข้างหน้าสิ่งของเหล่านี้ แล้วเจ้า iRobot Roomba 980 ก็จะไม่กล้าย่างกราย เข้าไปใกล้สิ่งของเหล่านี้อีกเลยแม้แต่น้อย
  15. iRobot Roomba 980 HEPA Filter
    แผ่นกรองอากาศ HEPA ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 (สีเหลืองคือ ที่ดึงแผ่นกรองอากาศ ออกจาก กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง)

    HEPA Filter : มีระบบกรองฝุ่น ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยใช้ แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง หรือ แผ่นกรองอากาศ HEPA (ย่อมาจากคำว่า “High Efficiency Particulate Arrestance”) ที่จะกรองอากาศสกปรก ก่อนถูกปล่อยออกมาจากตัวเครื่องกลับสู่ห้องให้บริสุทธิ์ ด้วยความสามารถกรองฝุ่น ที่มีขนาดอนุภาคเล็กถึง 10 ไมครอน ด้วยกัน ซึ่งจัดได้ว่าเล็กมากๆ

  16. Easy Troubleshooting : สามารถแก้ไขปัญหา การทำงานของเครื่อง ด้วยตัวเองง่ายๆ ด้วยรหัสแสดงข้อผิดพลาด (Error Code) ทั้งหมด 18 กรณี โดย ตัวเครื่องจะเปล่งเสียงพูด ออกมา ให้เราได้ยินว่าเป็น Error Code อะไร และ สามารถนำไปเปิด ดูใน หนังสือคู่มือการใช้งาน (เล่มสีขาว) ที่เขาให้มาได้เลย

สำรวจหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

และเมื่อได้ ศึกษา และ ทำความเข้าใจ พร้อมทั้ง เห็นอุปกรณ์ ที่ทางผู้ผลิตเขาได้ ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ลองมาสำรวจ แบบเจาะลึก ลงไปที่ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ ของสินค้า กันดูบ้าง ว่าแต่ละด้าน มีจุดอะไร จุดไหน ที่น่าสนใจกันบ้าง

ด้านบน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

iRobot Roomba 980 Top
ส่วนประกอบ ด้านบน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ส่วนแรกนี้คือ มุมมองที่อยู่ด้านบนของ เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot รุ่น Roomba 980 มากับตัวเครื่องสีดำมืด สลับเทาเข้มรอบๆ ให้ความรู้สึกดุดัน และ ทันสมัย ลองมาดูบ้างว่ามีอะไร ส่วนประกอบตรงไหน ที่น่าสนใจกันบ้าง

  1. RCON (Room Confinement Sensor) : ที่เห็นเป็นวงกลม จุดสีดำๆ อยู่ด้านบน หน้าสุดของเครื่อง นั้นคือส่วนที่เรียกว่า “RCON” มันคือ เซ็นเซอร์จำกัดบริเวณห้อง ที่เอาไว้ทำงาน สื่อสาร ส่งข้อมูล ทำงาน ร่วมกับ กำแพงจำลอง (Dual Mode Virtual Mall® Barrier) และ แท่นชาร์จ (Home Base® Charging Station) ที่ผู้ใช้งานสามารถวางไว้ตามปากประตูของห้อง ที่ไม่ต้องการให้มันวิ่งเข้าไป
  2. Bumper (กันชน) : ใช้ ดูดซับแรงกระแทก ระหว่างตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba กับ วัสดุ สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ ที่อยู่ในห้อง ให้ไม่เกิดความเสียหาย เป็นรอย ขีดข่วนได้เป็นอย่างดี
  3. Carrying Handle (หูหิ้ว) : ตรงโลโก้ผลิตภัณฑ์ด้านบน ที่เขียนว่า “iRobot Roomba” นั้น ไม่ใช่แค่บอกยี่ห้ออย่างเดียว แต่มันมีอีกสิ่งนึง ที่ซ่อนอยู่ เรียกว่า “หูหิ้ว” ให้คุณได้สามารถ จับยกเครื่อง ขึ้นมาจากพื้น ได้ง่ายๆ สะดวกสบาย ซึ่งเจ้าหูหิ้วนี้ จัด เป็นอุปกรณ์ที่ติดมาให้ เหมือนรุ่นอื่นๆ ของ iRobot ที่ผ่านมา แต่ว่าใน รุ่นใหม่นี้ เขาได้มีการปรับให้หูหิ้วมีขนาดสั้นลง กระชับมากขึ้น และ ก็แทบจะดูไม่ออกเลยว่าเป็นหูหิ้ว (ถ้าไม่ได้อ่านคู่มือการใช้งานมาก่อน)ส่วนใหญ่แล้วตัวอื่นๆ จะไม่ค่อยมี หูหิ้ว พกติดมาให้ด้วย ถึงแม้ว่า จะดูเหมือนเป็นส่วนประกอบที่พื้นๆ ธรรมดา แต่ขอบอก มีประโยชน์มากๆ เลยทีเดียว เวลาถือไปไหนมาไหน
  4. Status Indicator (ไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง) : ตัวเครื่องนี้จะไม่มีหน้าจอ LCD แสดงผลสวยหรู เหมือนหลายๆ เครื่องที่ผมเคยรีวิวมา แต่จะมีแค่ไฟแสดงสถานะ แจ้งว่า ขณะนี้ตัวเครื่องเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งมีทั้งหมด 5 ดวง ด้วยกัน โดยขอเรียง ไฟสถานะ จากซ้ายสุด ไปขวาสุด
    1. Wi-Fi Indicator (ไฟสถานะ การเชื่อมต่อไวไฟ)
    2. Troubleshooting Indicator (ไฟสถานะ การแก้ปัญหา ของเครื่อง)
    3. Battery Indicator (ไฟสถานะ แบตเตอรี่)
    4. Full Bin Indicator (ไฟสถานะ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เต็ม)
    5. Dirt Detect Indicator (ไฟสถานะ ตรวจจับความสกปรก)
  5. Control Button (หน้าจอแสดงสถานะ และ ปุ่มควบคุม) : ส่วนตรงนี้จะเป็น ปุ่มควบคุมการทำงานของเครื่องทั้งหมด 3 ปุ่มหลักๆ ด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะดูน้อย แต่ไม่ต้องกังวล เพราะ คุณสามารถสั่งงานในรายละเอียด อื่นๆ ได้ผ่านทาง ช่องทาง แอพพลิเคชั่น บนมือถือสมาร์ทโฟน ได้เลยโดยตรง โดย รายการปุ่มต่างๆ ก็มีอยู่ ดังต่อไปนี้
    1. DOCK Button (ปุ่มสั่งเครื่องกลับบ้าน หรือ กลับแท่นชาร์จ)
    2. CLEAN Button (ปุ่มสั่งเปิดเครื่อง และ ปุ่มสั่งเริ่มทำความสะอาด ในโหมดอัตโนมัติ)
    3. SPOT Button (ปุ่มทำความสะอาด เฉพาะจุด รัศมี 1 เมตร)
  6. iAdapt® Built-in Camera (กล้องสร้างแผนที่จำลอง) : กล้องสร้างแผนที่จำลอง อีกส่วนสำคัญ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพ การทำงาน ของเครื่อง ถูกฝังไว้ ด้านบนของตัวเครื่อง ถูกปิดด้วยกระจกพลาสติกใส ป้องกันฝุ่นเข้าไปอย่างดี โดย กล้อง iAdapt® นั้น ถูกวางในตำแหน่งลักษณะ ทแยงมุม ขึ้นไปบนเพดานห้อง
  7. Bin Release Button (ปุ่มปลดล็อค กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : ปุ่มกด เพื่อเอา กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือ ถังเก็บฝุ่น ออกมาทำความสะอาด โดยสามารถกด เพื่อ ปลดล็อคจากด้านบนได้เลย ไม่ต้องยกตัวเครื่องขึ้นมา ให้เมื่อย

ด้านล่าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

iRobot Roomba 980 Underside
ส่วนประกอบ ด้านล่าง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

ย้ายมาดู ส่วนประกอบด้านล่าง ของตัวเครื่องกันดูบ้าง เพราะว่า ด้านล่างนี้จะเป็น จุดสำคัญ ที่ได้รวมเอาไว้ทั้ง ชุดอุปกรณ์ดูดฝุ่น อุปกรณ์ขับเคลื่อนต่างๆ อยู่ที่นี่ทั้งหมด ใต้ท้องเครื่องนี้ จัดเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ มาดูอุปกรณ์ที่ให้มาตามหมายเลขที่ระบุกำกับอยู่ด้านล่างนี้ กันเลย

  1. Cliff Sensor (เซ็นเซอร์พื้นที่ต่างระดับ) : ใช้ตรวจสอบดูว่า มันวิ่งไปถึงพื้นที่ต่างระดับ แล้วหรือยัง แล้วเมื่อใดควรหยุดวิ่ง หรือ วิ่งทำงานต่อ พูดง่ายๆ แท้จริงมันก็คือ เซ็นเซอร์ เอาไว้ป้องกันหุ่นยนต์ดูดฝุ่นวิ่งตกบันได โดยมันอาจนำมาสิ่งความเสียหายที่ใหญ่หลวงก็ได้ ซึ่งเจ้าเซ็นเซอร์พื้นที่ต่างระดับ นี้มีอยู่ทั้งหมด 6 จุด รอบตัวเครื่อง (ดูจากหมายเลข (1) ที่กำกับ ใต้ตัวเครื่องได้เลย) ดังนั้น จึงมั่นใจได้แน่นอน ว่าไม่มีทาง วิ่งตกบันได อย่างแน่นอน เพราะนี่คือความสามารถพื้นฐาน ที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทุกตัว ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ควรจะต้องมี
  1. Removable Caster Wheel (ล้อเลื่อนแบบถอดออกได้) : ล้อเลื่อน หรือบางยี่ห้อเรียกว่า ล้อรับน้ำหนักด้านหน้าของเครื่อง โดยล้อนี้จะไม่มีส่วนในการใช้ขับเคลื่อน เป็นแค่ล้อหมุนฟรี เพื่อใช้รับน้ำหนักด้านหน้าของตัวเครื่อง คุณสมบัติคือ สามารถหมุน ได้ 360 องศา ตามทิศทางที่ ล้อขับเคลื่อนหลัก นำพาไป และ ที่สำคัญ มันสามารถที่จะดึง ถอดออกมาทำความสะอาดได้ด้วย เผื่อเส้นผมสุภาพสตรี เข้าไปติด เข้าไปพัน อยู่ข้างใน
iRobot Roomba 980 Side Brush
แปรงข้าง (Side Brush) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 แบบใกล้ๆ
  1. Side Brush (แปรงกวาดข้าง) : แปรงข้าง มีทั้งหมด 3 แฉก ขนาดความยาวต่อแฉกอยู่ที่ 6.5 เซนติเมตร มีหน้าที่เอาไว้ใช้ปัดกวาดฝุ่นที่อยู่นอกรัศมีทำการของเครื่อง ที่อาจจะอยู่ขอบกำแพง มุมเฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ในรัศมีดูดของ แปรงกวาดหลัก ที่พร้อมจะส่งพลังดูดฝุ่นออกมาอย่างมหาศาล เพื่อเข้าไปเก็บในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ในลำดับต่อไป โดยจะมีแค่ฝั่งขวา ฝั่งเดียวเท่านั้น สาเหตุเพราะตัวเครื่องจะวิ่งเลาะกำแพงฝั่งขวาเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีฝั่งซ้าย
  2. Charging Contact (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : จุดที่เป็นโลหะ สีเงินๆ ตรงนี้จะเป็น จุดที่เอาไว้ให้ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น วิ่งไปสัมผัส กับ แถบโลหะสีเงิน ที่จะมีทั้ง 2 ฝั่ง (ฝั่นแท่นชาร์จ และ ตัวเครื่อง) เพื่อชาร์จไฟ จากแท่นชาร์จ เข้าสู่ ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ซึ่งตรงจุดนี้ ควรจะต้องหมั่น ใช้ผ้าเช็ด ทำความสะอาดเช่นกัน เพราะ จากที่เคยรีวิว มันเคยมีบางตัว ที่มีฝุ่นมาจับเยอะๆ ทำให้ชาร์จไฟไม่เข้า หรือ ขึ้นโค้ดแสดงข้อผิดพลาด ก็มีได้
iRobot Roomba 980 Floor Tracking Sensor
เซ็นเซอร์จำแนกพื้นผิว (Floor Tracking Sensor) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980
  1. Floor Tracking Sensor (เซ็นเซอร์จำแนกพื้นผิว) : อุปกรณ์ใหม่ ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาในรุ่นนี้ (รุ่นก่อนหน้านี้ ที่ผมเคยรีวิว Roomba 880 ยังไม่มี) มันมีเอาไว้ จำแนกประเภทของพื้นผิว ในห้อง ที่ตัวเครื่องมันกำลังวิ่งทำความสะอาดอยู่ หากเป็นพื้นพรม หรือ พื้นที่มีความหนืด แรงเสียดทานสูงๆ ก็จะส่งข้อมูลเพื่อเข้าไป ประมวลผล ให้เครื่องเพิ่มพลังการทำงาน ให้แรงขึ้นไปอีก
  2. Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่) : ฝาครอบแบตเตอรี่พลาสติก ที่คอยช่วยปกป้องแบตเตอรี่ 3,300 mAh ที่อยู่ด้านใน การถอดออกก็ง่ายๆ เพียงแค่ ใช้ไขควงแบบ 4 แฉก ขันน็อต 2 ตัว แล้วดึงฝาครอบขึ้นมา ก็สามารถดึงก้อนแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ออกมาแล้ว
iRobot Roomba 980 Main Wheel
ล้อขับเคลื่อนหลัก (Main Wheel) ดอกยางเพียบ ยึดเกาะดี ไม่มีลื่นไถล ของ iRobot Roomba 980
  1. Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ล้อขับเครื่องหลัก 2 ล้อ เป็นล้อยางขนาดใหญ่ มีความเสียดทานสูง (ป้องกันการลื่นไถล) มาพร้อมกับสปริง ที่มีความสามารถ ยืดหยุ่น และ ให้ตัว ได้ ในกรณีที่วิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ หรือ ธรณีประตู โดยระบบขับเคลื่อนของทั้ง 2 ล้อ จะถูกแยกเป็นอิสระ ออกจากกัน เพื่อความอิสระ ในการบริหารจัดการ
  2. Cleaning Head and Components (ชุดอุปกรณ์ทำความสะอาด) : ชุดแปรงกวาดประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็น แปรงกวาดหลัก (Main Brush) แบบยาง ที่มีคุณสมบัติคือ มีความเหนียว และ คงทนสูง โดยตัวนี้เขาให้มา จำนวน ทั้งสิ้น 2 แปรง (แปรงคู่ – Combo Brush) ทำการหมุนเข้าหากัน เพื่อดูดเศษฝุ่น เศษเส้นผม ขนสัตว์ ต่างๆ เข้าไปเก็บไว้ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ที่อยู่ด้านในตัวเครื่อง
iRobot Roomba 980 Cleaning Head and Components
ชุดอุปกรณ์ทำความสะอาด ของ iRobot Roomba 980 ประกอบด้วย แปรงกวาดหลัก 2 ตัว หมุนเข้าหากัน
  1. Dirtbin (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือ ถังเก็บฝุ่น สำหรับยี่ห้อ iRobot ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Dirtbin” ส่วนยี่ห้ออื่น เรียกว่า “Dustbin” (ก็สุดแท้แต่จะเรียก)โดยเจ้า กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ตัวนี้ ได้ถูกติดตั้ง อยู่ท้ายเครื่อง และถ้าหากสังเกตดูดีๆ ใต้หมายเลข (9) ในรูป จะมี สิ่งที่เป็นลักษณะเหมือน ขีดเล็กๆ อันนึง ซึ่งอันนั้นคือ ล้อเลื่อน ท้ายเครื่องเหมือนกัน เอาไว้กันกระแทก ระหว่างตัว กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง กับ พื้นบ้าน ของเรานั่นเอง

ด้านข้าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

iRobot Roomba 980 Side
ด้านข้าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980

นอกจากนี้แล้ว ด้านหลัง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก็จะสังเกตเห็นเป็น รูระบายอากาศซี่ๆ ตรงจุดนั้นเรียกว่า Ventilator (ช่องระบายอากาศ) ซึ่งเป็น ช่องที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ปล่อยพ่นลมออกมา จากที่ดูดอากาศเข้าไป จะปล่อยออกมาทางนี้ ซึ่งอากาศก่อนปล่อยนั้น ผ่านการกรองโดย แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่มีคุณภาพการกรองฝุ่นสูง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รู้จักกับแท่นชาร์จ Home Base® Charging Station

แท่นชาร์จของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 จัดได้ว่ามีขนาดเล็ก (เมื่อเทียบกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ยี่ห้ออื่นๆ) ไม่กินพื้นที่สักเท่าไหร่ โดยสายไฟของแท่นชาร์จ แยกกับแท่นชาร์จชัดเจน มีที่เสียบอยู่ที่ด้านขวา ของตัวแท่นชาร์จ

นอกจากนี้ด้านบน สังเกตเห็นว่าจะมี วงกลมเล็กๆ อยู่ข้างบน ที่ยื่นออกมา ตัวนั้นก็เป็นจุดที่เอาไว้สื่อสาร ระหว่าง แท่นชาร์จ กับ เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น และยังมี มีไฟแสดงสถานะของการชาร์จไฟ อยู่ ด้านบนเช่นกัน

ในส่วนของด้านล่าง รายละเอียดผู้ผลิต และ รายละเอียดมาตรฐานการผลิต มาตรฐานอุตสาหกรรม ต่างๆ และก็มีแถบยาง ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดยึดเกาะ ระหว่างแท่นชาร์จ กับ พื้นห้อง ให้ดีขึ้น อีกด้วย

รู้จักกับ Dual Mode Virtual Wall® Barrier

iRobot Roomba 980 Virtual Wall
ชุด Dual Mode Virtual Wall® Barrier หรือ กำแพงจำลอง 2 ชุด พร้อม ถ่านอัลคาไลน์ อย่างดี

ในส่วนนี้จะพามารู้จักกับ กล่องสีดำๆ รูปทรงเพรียว ที่เรียกว่า กำแพงจำลอง ที่เห็นจากรูปด้านบนตัวนี้ โดยมัน มีชื่อว่า “Dual Mode Virtual Wall® Barrier” (รุ่นเก่า Roomba 880 ที่ผมเคยรีวิว ทาง iRobot เรียกอุปกรณ์สิ่งนี้ว่า “Virtual Wall Lighthouse” แถมยังมีขนาดที่ใหญ่กว่า Roomba 980 ตัวนี้อีกด้วยละ) หลายคนอาจจะสงสัยว่า ประโยชน์ของมันคืออะไรกันแน่ ? อ่านต่อด้านล่างเลยครับ

ความจริงชื่อที่ยาวๆ ของมันนี้ก็ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อความเท่ห์ หรือ ความเก๋ แต่อย่างใด แต่เจ้ากล่องรูปทรงผอมๆ ตัวนี้ มันมี คุณสมบัติ และ ความสามารถ ที่โดดเด่นไม่เหมือนเจ้าอื่นคือ มันจะมีโหมดการทำงานหลักๆ อยู่ 2 โหมด ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ตามใจชอบ เพียงแค่ ใส่ถ่านแบตเตอรี่ แล้ว ปรับเลื่อนได้ที่สวิตซ์ บนกล่องของ Dual Mode Virtual Wall® Barrier ได้เลย โดยเจ้า 2 โหมด ที่ว่านี้ได้แก่

iRobot Roomba 980 Virtual Wall Mode Selection
ปุ่มเลือก โหมดการทำงาน 2 โหมด ของ iRobot Roomba 980 คือ (1) โหมด Virtual Wall และ (2) โหมด Halo
  1. Virtual Wall Mode (โหมดกำแพงจำลอง) : ในกรณีที่คุณไม่ต้องการให้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 วิ่งเข้าไปทำความสะอาดด้านในห้อง หรือ พื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เข้าไป ให้เอาอุปกรณ์ชิ้นนี้ ไปวางเอาไว้ ที่ปากประตู หรือ หน้าห้อง (มุมใดมุมหนึ่ง) แล้วมันก็จะไม่เข้าไปทำความสะอาดด้านในอีกเลยรัศมีทำการ : ระยะ 3 เมตร (10 ฟุต) จากฝั่งขอบประตูนึง ไปอีกฝั่งนึง ซึ่งก็คงหาได้น้อย ที่จะมีประตู ที่มีปากประตูเกิน 3 เมตรนะ
  2. Halo Mode (โหมดล้อมรอบป้องกันด้วยรัศมี) : โหมดนี้จะเป็นโหมดที่ใช้ในกรณีที่คุณอาจจะมี สิ่งของ ข้าวของเครื่องใช้ ภายในบ้าน ที่มีค่า ควรคู่แก่การรักษา อาทิ ชุดเครื่องแก้ว ชุดเฟอร์นิเจอร์หินอ่อน แจกัน ที่เมื่อไหร่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทำงานไปชน อาจทำให้ สิ่งของเหล่านั้นชำรุดเสียหาย แตก หักพัง ได้ หรือแม้แต่ ชามอาหารสุนัข ที่หากไปชนละก็ อาจจะหกหล่น กระจัดกระจาย เต็มพื้นบ้านเลยก็ว่าได้ “โหมด Halo” นี้จะช่วยคุณป้องกันตรงจุดนี้ได้หรือคุณอาจจะใช้ใน พื้นที่บริเวณที่ไม่ต้องการ อาทิ มุมห้อง ใต้โต๊ะทำงาน ที่อาจจะมี สายไฟรกรุงรัง ระเกะระกะ อยู่ หากเข้าไป อาจสร้างความเสียหาย ทั้งกับชุดสายไฟ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่ตัวเครื่องดูดฝุ่นเอง ก็ได้รัศมีทำการ : ระยะ 1.2 เมตร (จากตัวมันออกไป ทางซ้าย 0.6 เมตร และ ทางขวา อีก 0.6 เมตร)

ข้อมูลเพิ่มเติม

สงสัยเหมือนกันว่าตัว อุปกรณ์สร้างกำแพงจำลอง นี้ได้ มีการปรับเปลี่ยนชื่อ โหมดการทำงาน ไปเกือบทั้งหมดเลย ทั้งๆ ที่รูปแบบ การทำงาน ก็ยังคงเหมือนกัน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะสาเหตุใด เดี๋ยวขอจำแนกให้ดูกัน ด้านล่างนี้เลย

ชื่ออุปกรณ์

  • Roomba 980 : Dual Mode Virtual Wall® Barrier
  • Roomba 880 : Virtual Wall Lighthouse (VWLH)

โหมดป้องกันเครื่องเข้าไปทำความสะอาดในห้อง

  • Roomba 980 : Virtual Wall Mode
  • Roomba 880 : Virtual Wall Mode

โหมดป้องกันเครื่องทำความสะอาดในรัศมี

  • Roomba 980 : Halo Mode
  • Roomba 880 : Lighthouse Mode

การใช้ถ่านแบตเตอรี่

  • Roomba 980 : ถ่านขนาด AA (ขนาดเล็กกว่า)
  • Roomba 880 : ถ่านขนาด C (ขนาดใหญ่กว่า)

อ่านต่อหน้า 2 (Next Page) →

9 ความคิดเห็น

  1. ตอนนี้ผมใช้ รุ่นนี้มาประมาณ 2 ปี เครื่องเริ่มไม่ค่อยกลับฐาน ใช้เวลานานมาก บ้างครั้ง ดูดฝุ่น ซ้ำที่เดิม แล้วกลับฐาน และ ออกมาดูดใหม่ เกิดจากอะไรครับ หรือ ระบบมีปัญหา ต้อง รีเซต ใหม่มั๊ย
    ขอบคุณครับ

  2. รบกวนนะคะ
    คือเวลาเครื่องทำงานเสร็จจะกลับมาที่แท่นชาร์ต ตัวแท่นชาร์ตขยับ เพราะน่าจะไม่มีน้ำหนักมากพอ ทำให้เครื่องเข้าแท่นชาร์ตไม่สนิท. ทำยังงัยดีคะ

  3. ปัจจุบันแอปส์ฯ มีการพัฒนาขึ้นบ้าง สั่งให้ทำงาน/หยุดชั่วคราว/กลับฐานผ่านเครือข่ายการสื่อสารเดียวกันและต่างเครือข่าย ดาวน์โหลดภาษาไทยให้หุ่นพูดได้ครับ

  4. ขอทราบข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ ดังนี้
    1. iRobot รุ่นนี้เ ปรียบเทียบกับ Neato ตัว top ยี่ห้อใดเอาชนะการติดพันของเส้นผมสตรียาวประบ่า ได้ดีกว่ากัน
    2. เปรียบเทียบหุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบบที่ใช้กล้องถ่ายภาพ เช่น iRobot กับที่ใช้อินฟาเรต (หากเรียกผิดต้องขออภัย) Neato ในการตรวจจับพื้นที่ทำความสะอาดในเวลากลางคืน (ปิดไฟ) หรือในห้องที่มืดมาก ยี่ห้อใดมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน
    ขอขอบคุณครับ

    • เรียนคุณ Setharath นะครับ

      1. ผมว่าพอกันครับ แต่ถ้าเป็น รุ่นก่อนถ้าเทียบระหว่าง (iRobot Roomba 880 กับ Neato Botvac Series 70e) ผมให้ Neato เหนือกว่าอยู่หน่อยๆ แต่ถ้าเป็นรุ่นใหม่ (iRobot Roomba 980 กับ Neato Botvac Connected) ผมให้สูสีพอกันทั้งคู่ครับ

      2. ผมไม่รู้สึกว่าทั้ง 2 เครื่องจะทำงานแย่ลง หรือ ด้อยลง ในเวลากลางคืน (ตอนปิดไฟ) ทั้งคู่นะครับ แต่ในทางเทคนิค เชิงลึกจริงๆ ผมไม่ทราบนะครับ เพราะคงเป็นความลับทางธุรกิจครับ ต้องขออภัยครับ

      มีอะไรสอบถามมาเพิ่มเติม แจ้งมาได้เลยนะครับ

  5. สวัสดีค่ะ คุณ thanop ขอบคุณมากนะคะ สำหรับการ review robot vacuum cleaner ได้ติดตามอ่านหลายๆ รุ่นค่ะ และมีเรื่องรบกวนขอสอบถามค่ะ ว่าซื้อ irobot roomba จะมีวิธีป้องกันรอยขีดข่วนหรือไม่ อย่างไรคะ ขอบคุณมากค่ะ

    • โดยปกติแล้ว การป้องกันรอยขีดข่วน ของเครื่อง จะป้องกันโดยตัวเซ็นเซอร์ ที่มีอยู่รอบๆ ตัว ของตัวเครื่องเอง ที่มีความฉลาดมากอยู่แล้วครับ ปกติแล้วมันไม่ค่อยชนอะไรเท่าไหร่ ถึงจะชนก็เบาๆ และ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ตัวนี้ ก็ยังมี ตัวกันชนหน้า (Front Bumper) ที่สามารถให้ตัวได้มากพอสมควร อีกด้วยเช่นกัน ลดแรงกระแทกลงไปอีก ครับ

      อีกวิธี ที่ผมแก้เลย แบบง่ายๆ ซิมเปิ้ลๆ เลยคือ ไม่เอาพลาสติก ที่เขาติดมาตรง กันชนหน้า ตอนซื้อเครื่องออกครับ ช่วยได้อีก ดูตามรูปด้านล่างได้เลยครับ

      http://www.thanop.com/wp-content/uploads/2016/05/irobot-roomba-980-side-after-used.jpg

  6. ขอรบกวนถามดังนี้ค่ะ
    – เรื่อง Input ของเครื่องนี้แจ้งไว้ว่า AC 100-240 V นี่แสดงว่าใช้ไฟได้ทั้งที่เมกาและไทยใช่มั๊ยคะ เพราะที่เมกา 110V คือถ้าใช้ได้ก้อแสดงว่าซื้อที่เมกามาใช้ที่ไทยได้
    – ถ้าบ้านที่เครื่องนี้ไปอยู่ไม่มี wifi แต่ดิฉันไปเมืองนอกและมี wifi จะสามารถสั่งงานได้มั๊ยคะ หรือว่าต้องมี wifi ทั้งสองที่

    รบกวนตอบทาง email นะคะ เพราะจะ check email ทุกวันค่ะ

    • ขอตอบคุณ Fai เป็นข้อๆ ไปเลยนะครับ

      1. เรื่องไฟสามารถใช้ได้ครับ ทั้ง 2 ประเทศครับ รองรับทั้ง 110V และ 220V ครับ

      2. ต้องมีการเชื่อมต่อ Wi-Fi ทั้ง 2 ที่เลยครับผม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้