ปั๊มอัตโนมัติ แบบ ถังกลม กับ ถังเหลี่ยม

Water Pump Featured Image

บทความนี้ จะพูดถึง ความแตกต่างระหว่าง ปั๊มน้ำ 2 รูปทรง ได้แก่ ปั๊มน้ำถังกลม และ ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม ว่าแม้ว่ามันจะ แตกต่างกัน ในลักษณะของกายภาพแล้ว ในทางด้านของ ประสิทธิภาพ ความสามารถ รวมไปถึง วัตถุประสงค์ ของการใช้งานก็ยังต่างกันอีกด้วยเช่นกัน โดยในบทความนี้ จะมานำเสนอให้ทุกท่านได้ทราบ

โดย ปั๊มน้ำถังกลม นั้นชื่อทางการคือ “ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน (Automatic Water Pump with Pressure Tank)” และ ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม ชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ปั๊มน้ําแรงดันคงที่ (Constant Pressure Water Pump)

ปัญหาของปั๊มน้ำที่เคยพบเห็น

หากพูดถึงเรื่องของ ปัญหาหลักอย่างนึงของพักอาศัย แบบเดี่ยวๆ ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว (Detached House หรือ Single House) ทาวน์โฮม (Town Home) หรือ ตึกแถวเล็กๆ (Commercial Building) นั้น คงจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องของแรงดันน้ำ (Water Pressure) ของที่พักอาศัย ว่าชั้นล่างน้ำแรง ชั้นบนน้ำอ่อน

หรือว่า ถ้าใครอยู่ใกล้สถานีสูบจ่ายน้ำของการประปาฯ ก็อาจจะโชคดีหน่อยที่ น้ำอาจจะแรง ส่งตรงถึงทุกชั้น แต่ส่วนมาก ก็จะประสบปัญหาเดียวกันคือ ถ้าผู้พักอาศัยเปิดใช้น้ำพร้อมๆ กันเช่น คุณลูกอาบน้ำ คุณแม่เปิดน้ำล้างจาน คุณพ่อล้างรถ ละก็ อาจจะพบกับสถานการณ์ แรงดันน้ำอ่อน ก็ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการนำเอาสิ่งที่เรียกว่า “ปั๊มน้ำ (Water Pump)” ที่ใช้กันตาม ที่พักอาศัย มาใช้กันมายาวนาน แต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะปั๊มน้ำจะเป็น อุปกรณ์ที่จะเข้ามา ช่วยเพิ่มแรงดันน้ำให้สูงขึ้น ส่งตรงถึงทุกก๊อกน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำ อย่าง เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เครื่องกรองน้ำ ต่างๆ ภายในบ้าน อย่างทั่วถึง

ผมเองมีประสบการณ์ การใช้ปั๊มน้ำมา มากกว่า 30 ปี (เริ่มตั้งแต่เด็กๆ ประถมเลย) สมัยที่ยังอาศัย อยู่บ้านเดี่ยว ก็มีประสบการณ์มากมาย กับการใช้ปั๊มน้ำมาอยู่พอสมควร เช่นกัน โดยปั๊มน้ำที่ใช้คือ ปั๊มน้ำถังกลม หรือ ชื่อเป็นทางการคือ ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน (Automatic Water Pump with Pressure Tank) นี่แหละ โดยปัญหาส่วนใหญ่ หลักๆ ที่พบเจอคือ

  1. น้ำเดินแรงบ้างเบาบ้าง : อันนี้ถือเป็นปัญหาปกติทั่วๆ ไป ถึงแม้ว่าจะมีหรือไม่มีปั๊มน้ำ ก็ตาม ถ้าหากว่า สมาชิกในครอบครัว พร้อมหน้าพร้อมตากันใช้น้ำ ละก็ น้ำก็สามารถไหลเบาได้เช่นกัน ซึ่งปั๊มน้ำแบบอัตโนมัตินั้น จะมีช่วงเวลาทีน้ำไหลแรง และ เดินเบา สลับกันไป เป็นปกติ สาเหตุมาจาก เครื่องตัดบ่อย ขึ้นอยู่กับแรงดัน ในถังความดัน
  2. ปั๊มน้ำตัดบ่อย หรือ ทำงานตลอดเวลา : เวลาเจอปัญหาแบบนี้ บอกได้เลยว่า “งานเข้า” เพราะตัวเครื่องจะค่อนข้างร้อน ไปจนถึง ร้อนมากๆ (บางที ปิดน้ำอยู่ เครื่องก็ทำงานเองแบบ เปิดๆ ปิดๆ บ้าง) จำเป็นที่จะต้องมา เปิดไล่น้ำ ออกจากระบบ ผ่าน วาล์วอากาศ (Air Valve) ที่อยู่ บนฝาเครื่องด้านบน ซึ่งจากประสบการณ์ ที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ พอไปเปิด วาล์วอากาศ ด้านบนทันทีนั้น น้ำจะพุ่งจุ๊ดยังกะ บ่อน้ําพุร้อน เลยทีเดียว ทั้งเปียก ทั้งร้อน ทั้งกลัวไฟช็อต ไฟรั่ว อีก เพราะด้านล่างเป็นชุดสายไฟ ของ ระบบไฟปั๊มน้ำ อีก เสี่ยงชีวิตสุดๆ
  3. ปั๊มน้ำรั่ว : เนื่องจากปั๊มน้ำทรงกลม จะมี ถังความดัน (Pressure Tank) อยู่ด้านล่าง โดยถังนี้ ส่วนใหญ่ จะทำมาจากวัสดุสแตนเลส ด้านในเป็น ครึ่งน้ำ ครึ่งอากาศ (อากาศอยู่ส่วนบนของถัง และ น้ำอยู่ด้านล่างของตัวถัง) และแน่นอน ขึ้นชื่อว่าเป็น ถังความดัน ก็ย่อมมี ความดัน (Pressure) (ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว นิหน่า)โดยเมื่อใช้กันไปนานๆ ตรงตะเข็บ ที่ใช้เชื่อมระหว่างสแตนเลส ก็จะมีน้ำซึมออกมา ทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็รั่วออกมาเยอะๆ เสียเวลามาเชื่อม หากเชื่อมไม่ดี ก็ไม่หาย เป็นแล้วเป็นอีก อยู่นั่นแหละ สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน ถังความดัน ไป เสียเงินกันไปอีก และ ถ้าหากถังความดัน ทำมาจากวัสดุเหล็ก ด้วยละก็ อาจจะได้บริโภคสนิม แถมไปเป็นสารอาหาร ได้อีกด้วย

พูดถึงปัญหาของ ปั๊มน้ำมาเสียยืดยาว จึงลองศึกษาหาความรู้ เปรียบเทียบหลักการ การทำงาน ต่างๆ ของตัวเครื่อง ระหว่าง

  1. ปั๊มน้ำถังกลม ชื่อทางการ ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน (Automatic Water Pump with Pressure Tank)
  2. ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม ชื่อทางการ ปั๊มน้ำแรงดันคงที่ (Constant Pressure Water Pump)

ก็สรุปได้ใจความดังนี้ (อ่านด้านล่างต่อได้เลย)

ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน (Automatic Water Pump with Pressure Tank)

Automatic Water Pump with Pressure Tank
ภาพตัวอย่าง ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน (Automatic Water Pump with Pressure Tank) รูปจากเว็บไซต์ Hitachi-th.com

ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน หรือบางคนเรียกว่า ปั๊มน้ำถังกลม จัดว่าเป็นปั๊มน้ำยุคแรกๆ ที่เข้ามามีบทบาทกับพวกเราเลยก็ว่าได้ หน้าที่ของมันคือ จะดูดน้ำเข้ามาพักเก็บเอาไว้ที่ถังเหล็ก (หรืออาจจะทำจากสแตนเลส) ที่อยู่ด้านล่างของตัวเครื่อง ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ เรียกว่า “ถังความดัน” หรือผู้ผลิต บางเจ้าเรียก “ถังแรงดัน” (Pressure Tank) ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป

หลักการ การทำงานของ ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน ประเภทนี้ คือ ปั๊มจะทำการดูดน้ำเข้าไปใน ถังความดัน เพื่อให้น้ำเข้าไปแทนที่อากาศ ที่อยู่ในถังความดัน (โดยเฉลี่ยแล้ว จะได้ประมาณครึ่งนึง ในถังความดัน) เมื่อน้ำและอากาศอัดอยู่ด้วยกัน (เหมือนลูกบอล หรือ ลูกโป่ง ที่สูบลมไปเต็มๆ จนใกล้แตก) เวลาเราเปิดก๊อกน้ำ หรือ กดชักโครก น้ำก็จะถูกปล่อยออกมา ไปยัง จุดใช้น้ำต่างๆ ในบ้านเรา หรือ อาคารต่างๆ ด้วยความแรง สาเหตุเพราะ น้ำที่เข้าไปอยู่ในถังความดัน จะถูกอากาศที่อยู่ด้านบนของถัง บีบอัดต่อลงมา ให้น้ำไหลออกแรงมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของ ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน นี้ คือประเภทที่ผมได้กล่าวมาด้านบน (ปัญหาข้อที่ 3) นั่นก็คือ ตรงถังความดัน นั้นจะมีโอกาสเสี่ยงสูง ที่จะรั่วออกมา เพราะถังความดัน ก็จะมีความดันอยู่ตลอดเวลา (แม้จะปิดปั๊มน้ำ อยู่ก็ตาม) ประกอบกับสภาพแวดล้อม ของบ้านเรา ที่เป็นแบบ ร้อนชื้น แถมมีทั้ง ฝนตก แดดออก ตลอดเวลา และเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ถังความดัน ซึ่งภายในเก็บทั้งน้ำ เก็บทั้งอากาศ นี้ก็ย่อมมีวันผุกร่อน จนในที่สุด ก็จะมีน้ำซึม และ รั่วออกมา ซึ่งหากเป็นถังเหล็ก ก็จะมีความเสี่ยงทั้งสนิม และ น้ำรั่วซึมตามตะเข็บต่างๆ หากเป็นแบบ สแตนเลส ก็จะเสี่ยงในเรื่องของการรั่วซึมตามตะเข็บ ด้วยเช่นกัน (สรุปว่าเสี่ยงทั้งคู่ จะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ก็เท่านั้นเอง)

แต่ทว่า ในปัจจุบัน ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน หรือ ปั๊มน้ำถังกลม ประเภทนี้ ก็มีการปรับปรุงพัฒนา ข้อเสียข้อด้อย จากในอดีตที่ผ่านมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนวัสดุถังจากเหล็ก เป็น สแตนเลส และ ทำให้มันไร้รอยเชื่อมต่อ หรือ รอยตะเข็บ เพื่อป้องกันการ รั่วซึมตามตะเข็บ ดังที่ได้กล่าวมา

ข้อดี ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน 🙂

  • เหมาะสำหรับ บ้าน หรือ อาคาร ที่ต่อปั๊มน้ำตรงจากท่อน้ำประปา เพราะในน้ำจะมีอากาศปะปนกับน้ำเข้ามาอยู่ การที่ได้พักน้ำใน ถังความดัน นั้นจะ
    หมายเหตุ : การต่อปั๊มน้ำตรงจากท่อประปา ถือว่าผิดกฏข้อปฏิบัติ สำหรับการใช้น้ำประปา ข้อ 5 (เอกสารอ้างอิง)
  • ราคาตัวปั๊มถูกกว่าแบบ ปั๊มน้ำแรงดันคงที่
  • ค่าบำรุงรักษาถูก พวกเฉพาะค่าอะไหล่ ต่างๆ
  • ถังความดัน แบบสแตนเลส สามารถหาซื้ออะไหล่ได้ง่ายๆ ในราคาถูก ตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง

ข้อเสีย ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ถังความดัน 🙁

  • แรงดัน หรือ ความแรงน้ำ ไม่ค่อยคงที่เท่าไหร่ เพราะเครื่องจะสูบน้ำเข้ามาไว้ใน ถังความดัน เมื่อมีความดันอยู่ในปั๊ม มากพอในระดับนึง ตัวมอเตอร์จะยังไม่ทำงาน จนกว่าความดันในถัง จะลดลงถึงจุดๆ นึงมอเตอร์ของปั๊มน้ำ ถึงจะเริ่มทำงานสูบน้ำ เข้ามาอีกรอบ จึงส่งผลให้ แรงดันน้ำ จะมีไหลอ่อน ไหลแรง บ้างในชั่วขณะนึง
  • น้ำอาจขาดช่วง ชั่วขณะได้ และ อาจจะมีปัญหากับเครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งส่งผลให้ หากเราปรับระดับความร้อนเท่ากัน เวลา น้ำไหลอ่อน น้ำจะอุ่นมาก (ค่อนข้างร้อน) และอยู่ในช่วงที่ น้ำไหลแรงๆ น้ำก็จะไม่อุ่นเท่าที่ควร เท่าไหร่ เนื่องจากน้ำไหลผ่าน ขดลวดในเครื่องเร็วเกินไป จึงไม่มีเวลาสะสมความร้อนนั่นเอง
  • หากเป็นถังเหล็ก โอกาสที่ถังความดัน จะผุ รั่วซึม นั้นมีสูง เพราะจะมี ความดัน ขึ้นลง อยู่ตลอดเวลา
  • หากเป็นถังสแตนเลส หรือ เหล็กกล้าไร้สนิม แม้จะไม่มีสนิม มาทำให้ผุหรือรั่ว แต่ก็มีโอกาสที่น้ำจะรั่วซึมตามรอยตะเข็บ ของการเชื่อมต่อได้เช่นกัน
  • มีขนาดใหญ่ กินพื้นที่ใช้สอยสูงพอสมควร

ปั๊มน้ําแรงดันคงที่ (Constant Pressure Water Pump)

Constant Pressure Water Pump
ภาพตัวอย่าง ปั๊มน้ำแรงดันคงที่ (Constant Pressure Water Pump) รูปจากเว็บไซต์ Hitachi-th.com

มาถึงปั๊มน้ำ อีกแบบ เป็น ปั๊มน้ำที่เรียกว่า ปั๊มน้ำแรงดันคงที่ ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม โดยจุดเด่นของมันก็ ตามชื่อของมันเลยคือ แรงดันคงที่ (Constant Pressure) เพราะปั๊มน้ำ ชนิดนี้จะไม่มี ถังความดัน ที่จะต้องคอยให้ความดันในถังลดลงจนถึงจุดๆ นึง แล้วปั๊มน้ำ ถึงจะสูบน้ำ เข้าไปใหม่อีกรอบ โดยปริมาณน้ำที่ถูกดูดเข้า และ ปล่อยออก ของ ปั๊มน้ำ ชนิดนี้จะคงที่ นิ่ง หากเราใช้เครื่องทำน้ำอุ่นละก็ จะได้ระดับความอุ่น ที่คงที่ อาบสบาย ไม่ต้องมาเต้นระบำ ขณะ น้ำอุ่นจัด หรือ เย็นจัด นั่นเอง

หลักการ การทำงานจะคล้ายๆ กับ ปั๊มน้ําอัตโนมัติ ถังความดัน (แบบแรกที่อธิบายด้านบน) แต่ว่า ปั๊มน้ำแรงดันคงที่ นี้จะไม่มี ถังความดัน ด้านล่าง แต่ว่า ความดันจะเกิดจาก การใช้ถังโลหะ ขนาดเล็กๆ ที่ข้างในบรรจุ ก๊าซไนโตรเจน (N2) เรียกว่า แท้งค์ไนโตรเจน (Nitrogen Tank) หรือผู้ผลิตปั๊มน้ำ บางเจ้าเรียกว่า เบลดเดอร์แท้งค์ (Bladder Tank) แล้วแต่ยี่ห้อ ที่จะเรียกกันไป ซึ่ง ก๊าซไนโตรเจน นั้นมีคุณสมบัติ ทนต่อความร้อนได้สูง และ แรงดันจะเสถียรกว่า อากาศธรรมดา

Constant Pressure Water Pump Bladder Tank
ภายใน แท้งค์ไนโตรเจน (Nitrogen Tank) หรือเรียกว่า เบลดเดอร์แท้งค์ (Bladder Tank) ที่จะเป็นแหล่งสะสมแรงดัน เพื่อสูบน้ำ ไปยังจุดใช้น้ำ ที่ต้องการภายในบ้าน

โดย ภายใน แท้งค์ไนโตรเจน จะประกอบไปด้วย ก๊าซไนโตรเจน ที่ถูก อัดอยู่ในของถัง อย่างถาวร โดยจะมี ยางไดอะแฟรม (Diaphragm) ที่ปลอดการเกิดสนิม ถูกคั่นกลางเอาไว้ ระหว่าง น้ำ กับ ก๊าซไนโตรเจน ที่อัดเอาไว้อยู่ด้านบนของตัวถังนั่นเอง และ แรงดัน จะถูกควบคุมด้วย อุปกรณ์ควบคุมแรงดัน (Pressure Stabilized Unit) ที่จะคอยสร้างแรงดัน อย่างต่อเนื่อง

ข้อดี ปั๊มน้ำแรงดันคงที่ 🙂

  • มีแรงดันน้ำที่ คงที่ (Constant Pressure) ตามชื่อเรียกของมัน เพราะไม่ต้องรอน้ำเข้า ถังความดัน และ รอแรงดันให้ถึงจุดๆ นึง ปั๊มน้ำถึงจะทำงาน แต่ว่ามันจะมี ชุดอุปกรณ์ควบคุมแรงดัน แทน
  • ไม่ต้องบำรุงรักษาอะไรมากมาย และ ไม่ต้องเติมก๊าซไนโตรเจน ตลอดอายุการใช้งาน
  • ไม่มีถังความดัน ไม่ต้องกลัวถังความดันรั่ว อันเกิดจากสนิม หรือ รั่วตามตะเข็บต่างๆ ที่เชื่อมอยู่รอบๆ ถัง

ข้อเสีย ปั๊มน้ำแรงดันคงที่ 🙁

  • หากน้ำที่ไหลเข้ามา มีอากาศปะปนอยู่มาก จะทำให้ตัวเครื่องทำงานหนักมากขึ้น และ ร้อนขึ้น ด้วยเช่นกัน
  • ราคาอะไหล่ ค่าบำรุงรักษาค่อนข้างจะสูง และ บางยี่ห้อ บางรุ่น ก็หายากมากเช่นกัน

คำแนะนำ การเลือกซื้อปั๊มน้ำ

จะสังเกตเห็นว่า ปั๊มน้ำทั้ง 2 รูปแบบ ที่กล่าวมาหลักๆ ด้านบนนั้น มีข้อดี และ ข้อเสีย ที่แตกต่างกันออกไป อยู่ที่การเลือกใช้งาน งบประมาณ และ วัตถุประสงค์ ของผู้บริโภค นั่นเอง

โดยไม่ว่าจะเป็น ปั๊มน้ำถังกลม หรือ ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม นั้น ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน จะมีคุณสมบัติ ที่ใกล้เคียงกัน อยู่แล้ว แต่ส่วนมากก็อาจจะมีออปชั่น ลูกเล่นเสริมเข้ามา เพื่อแก้ไขจุดผิดพลาด ข้อด้อย ให้เป็นจุดแข็ง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะยี่ห้อ เฉพาะรุ่น อีกสักเล็กน้อย อาทิ

  • Inverter Controller (ชุดควบคุมอินเวอร์เตอร์) : คำว่า “อินเวอร์เตอร์” ขึ้นชื่อในเรื่องของความประหยัด โดยการใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ามาช่วยควบคุม เพื่อ ลดภาระหน้าที่ของการทำงานมอเตอร์ ให้บริโภคไฟฟ้า อย่างประหยัด และ คุ้มค่ามากที่สุด ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ซึ่งจะมี ชุดควบคุมอินเวอร์เตอร์ เข้ามาช่วย เสริมอีกมากมาย โดย ปั๊มน้ำที่มีคุณสมบัติอินเวอร์เตอร์ นี้นั้น นอกจากจะช่วยประหยัดไฟแล้ว เสียงเครื่องขณะที่ทำงาน นั้นยังเงียบ ไม่หนวกหูบ้าน หรือ อาคารรอบๆ อีกด้วย
  • Stainless Steel Tank (ถังความดันสแตนเลส) : จากในอดีตที่ผ่านมา หากใช้ถังความดันชนิดเหล็ก อย่างที่กล่าวไปด้านบนคือ เมื่อใช้ไปสักระยะ มันมักจะมีปัญหาในเรื่องของสนิมรับประทาน การใช้ถังความดันแบบ เหล็กกล้าไร้สนิม หรือ ถังสแตนเลส นั้นจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ อย่างดีเลยทีเดียว
  • Aluminum Motor (มอเตอร์อลูมิเนียม) : การใช้มอเตอร์ปั๊มน้ำที่ ทำจากอลูมิเนียม จะเข้ามาช่วยเรื่องของความอึด ทน แข็งแรง และที่สำคัญระบายความร้อนได้ดี เพราะหากตัวมอเตอร์ของปั๊มน้ำ สะสมความร้อนเอาไว้เยอะๆ ก็อาจจะทำให้วัสดุต่างๆ ในตัวเครื่อง ผิดรูป เสียกระบวนท่า ไปได้ มิหนำซ้ำ ยังอาจทำให้อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ทำตัวเป็นเครื่องทำน้ำอุ่น ไปในตัว ก็เป็นได้
  • High Quality Plastic (พลาสติกคุณภาพสูง) : ใช้พลาสคิก ที่มีคุณภาพสูง มีความเหนียว คงทนต่อความร้อน แดด ฝน ป้องกันสีซีดเร็ว ได้เป็นอย่างดี
  • Water Temperature Relay (ตัดการทำงานเมื่อตัวเครื่องร้อน) : รีเลย์ ที่มีหน้าที่ตัดวงจร หรือ เปิดวงจร การทำงานของเครื่อง เมื่อตัวเครื่องปั๊มน้ำ มีอุณหภูมิ ที่สูงเกินกว่าขีดจำกัด ที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นของตัวเครื่อง
  • Multiple Water Outlet (ทางออกน้ำ หลายทาง) : ปั๊มน้ำบางชนิด มีทางออกน้ำหลายทาง พูดง่ายๆ คือหลายมุม เพื่อการไหลออกของน้ำที่สะดวกกว่า หากนำตัวเครื่องปั๊มน้ำ ไปวางในมุมที่แคบ ซึ่งจะต้องต่อท่อแบบหักมุมออกมาอีกที ซึ่งการที่มีท่อหักมุมจำนวนมากๆ จะทำให้ เสียแรงดันน้ำ ไปโดยใช้เหตุ การที่ปั๊มน้ำ มีออปชั่น ทางออกน้ำหลายทาง นั้น จะทำให้ น้ำตรงออกไปยังทิศทาง ที่ต้องการได้เลย

ข้อควรระวัง ระหว่างการใช้ปั๊มน้ำ

ปัจจุบันนี้ มีปั๊มน้ำจำหน่ายอยู่มากมายในตลาด ทั้งนี้มีข้อควรระวัง ในการเลือกซื้อปั๊มน้ำ และ ระหว่างการใช้ปั๊มน้ำ แบบเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก

  • ควร ✔ เลือกปั๊มน้ำ ให้ถูกวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เพราะมันจะมี ปั๊มน้ำอัตโนมัติสำหรับบ่อน้ำตื้น น้ำประปา และ สำหรับดูดบ่อน้ำลึก (น้ำบาดาล)
  • ควร ✔ : เลือกขนาดของวัตต์ ปั๊มน้ำ ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ควรปรึกษาตัวแทนจำหน่าย หรือ พนักงานขาย ให้ดีเสียก่อน เพราะการเลือกขนาดของปั๊มน้ำผิด จะทำให้
    • หากเลือกวัตต์น้อย : เปลืองค่าไฟ เพราะปั๊มน้ำทำงานหนัก
    • หากเลือกวัตต์มาก : ท่อน้ำภายในบ้าน อาจรั่ว หรือ ชำรุดเสียหาย ได้ เพราะแรงดันน้ำมีมากเกินไป
  • ควร ✔ ที่จะเดินท่อของระบบน้ำในบ้าน แบบตรง (Bypass) เข้าบ้าน โดยไม่ผ่านปั๊มน้ำด้วย เพราะจะได้มีน้ำใช้ ซึ่งอาจจะไหลเบา แต่ก็ยังมีใช้อยู่ ในกรณีทีไฟฟ้าดับ
  • ควร ✔ ติดตั้งแท้งค์น้ำ เก็บพักน้ำก่อนจะสูบเข้าปั๊มน้ำเสียก่อน เพราะนอกจากจะทำให้แรงดันน้ำคงที่แล้ว ยังจะลดโอกาส ที่ให้เครื่องปั๊มน้ำดูดอากาศ หรือ สิ่งสกปรก เข้ามาโดยตรงจากท่อประปา อีกด้วยเช่นกัน
  • ควร ✔ ติดตั้งสวิตซ์ปิดเปิดปั๊มน้ำ ใกล้กับตัวปั๊มน้ำ เผื่อในกรณีฉุกเฉินจะได้ปิดวงจรการทำงานของปั๊มน้ำได้ทันท่วงที
  • ไม่ควร ✕ ใช้ไขควงตั้งไฟ ของเครื่อง ด้วยตัวเอง เพราะนอกจาก อาจจะทำให้เครื่องเสียหายมากกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้หมดการรับประกัน กับทางบริษัทผู้ผลิต ในบางรุ่น บางยี่ห้อ อีกด้วย
  • ไม่ควร ✕ ติดตั้งปั๊มน้ำนอกหลังคา หรือ ชายคา เพราะจะทำให้เครื่องโดนแดด โดนฝน มีโอกาสเสียหายเร็วขึ้นกว่าเดิม

หวังว่า บทความนี้จะทำให้คุณรู้จักกับปั๊มน้ำ ที่ใช้กันภายในครัวเรือน หรือในบ้าน ทาวน์โฮม หรือ สำนักงาน เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และ คุ้มค่า มากยิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ เว็บไซต์ ฮิตาชิประเทศไทย (http://www.hitachi-th.com/) ที่เอื้อเฟื้อ และ อนุญาตให้เว็บไซต์ใช้ รูปถ่าย บนเว็บ Thanop.com เพื่อประกอบบทความนี้

ด้านล่างเป็นรูปตัวอย่างของ ปั๊มน้ำมิตซูบิชิ ในรูปแบบเดียวกัน ทั้งแบบ ถังกลม และ ถังเหลี่ยม พร้อม แท้งค์ไนโตรเจน (รูปผมไปถ่ายมาเองจาก ห้างบุญถาวร – Boonthavorn)

43 ความคิดเห็น

  1. ผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอดมากเลยครับ ขอขอบคุณ
    อยากให้เพิ่มความรู้ปั้มแรงดันคงที่เสียงเงียบด้วยครับ แตกต่างอย่างไร

  2. รบกวนสอบถามใช้ถังแบบเหลี่ยมมิตซูรุ่น ep-255r เปิดใช้ น้ำไม่เข้าระบบค่ะ เนื่องจาก สวิทช์น้ำชั้น 2 เปิดทิ้งแล้วเครื่องดัง แล้วตัดเป็นระยะ เลยสับสวิตซ์น้ำไม่ให้เข้าระบบไม่ได้ ปิดระบบไฟมารู้อีกทีได้ยินเสียงเครื่องทำงานตลอด หลังจากนั้นเลยตัดระบบไฟให้เครื่องเย็นลงแล้วให้น้ำเข้าระบบเหมือนเดิมแต่เครื่องทำงานน้ำไม่ ไม่ไหลเลย ต้องแก้ด้วยวิธีไหนคะ

  3. ขอบคุณมากครับกำลังตัดสินใจซื้อ/ติดตั้งปั๊มน้ำ ได้ความรู้เพิ่ม

  4. ผมใช้ถังกลมมันมีรูเล็กๆและน้ำไหลออกมันรั่วใช่ไหมครับ

  5. ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ ผมกำลังตามหาปั๊มใหม่มาใช้แทน อ่านแล้วได้ความรู้เลยครับ เขียนเข้าใจง่ายมาก ขอบคุณมากๆ จริงๆ นะครับ สุดยอดเลย

  6. ปั๊มทีบ้านมีปัญหา เลยเข้ามาหาข้อมูล ตอนนี้ใช้แบบเหลี่ยยมิตซุค่ะ ใช้มา 10 ปีแล้ว อาการตอนนี้จะตัดถี่ๆ และมีอาการกระตูกๆ ซ่อมได้ไหมค่ะหรือซื้อใหม่เลยเพราะใช้มา 10 ปี แล้ว ไม่มีความรู้เรื่่องปั๊มน้ำเลยค่ะ

  7. ในเเง่การใช้ถังเหลี่ยมให้เเรงดันน้ำ้ที่คงที่ไม่วูบวาบ
    เเต่เรื่องความคงทนน่าจะอยู่ที่รุ่น อะไหล่หาง่าย
    ราคาไม่เเพง ส่วนตัวใช้ปั๊มไอทีซีมา 22ปีเเล้ว ถังกลม
    มอเตอร์ของฮิตาชิ
    เปลี่ยนถังไป 1 ครั้ง(เปลี่ยนเอง )
    ไม่นานนี้เพิ่งเปลี่ยนเเอร์ชาร์เจอร์ไป สำหรับผมรักถังกลมอยู่ใช้ได้ดี อะไหล่หาง่ายดี 😊

  8. ใช้ถังแรงดัยคงที่ของมิตซูบิชิปิดการใช้แล้วเครื่องก็ตัดต่อเร็วอยู่เป็นเพราะอะไรครับ

  9. ปั๊มน้ำที่มีถังแรงดันน้ำ ถ้าเราไม่ใช้ถังแรงดันน้ำ ใช้แต่ตัวปั๊มอย่างเดียวได้มั้ยครับ

  10. สอบถามค่ะ ใช้ปั๊มแบบไหน และกำลังกี่วัตต์ในการติดตั้งสำหรับหอพัก 2 ชั้น 16 ห้อง ท่อน้ำต่อเข้าปั๊มจากถังพักน้ำบนดิน ขอบคุณค่ะ

  11. ช่วยแนะนำหน่อยได้มั้ยค่ะ แบบไหนที่ไม่ต้องใช้แทงค์น้ำเพราะที่บ้านไม่มีที่ตั้งค่ะ

  12. ขอบคุณมากสำหรับบทความดี ๆ ให้ความรู้สำหรับคนที่ไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้ อย่างเรา โลกแห่งการแบ่งปัน ยังมีอยู่จริง ขอบคุณมากนะคะ

    • ด้วยความยินดีครับ ผมเห็นแบบนี้ ได้กำลังใจในการเขียนบทความอื่นๆ ต่อไปเยอะเลยครับ ขอบคุณมากนะครับ 🙂

  13. เพิ่งจะมีโอกาสเข้ามาเจอบทความนี้ …ดีมากๆ…ครับ แต่อยากจะขอความกรุณาช่วยอธิบายหรือขยายความในประเด็นนี้ให้เข้าใจด้วยครับ “ปั๊มน้ำตัดบ่อย หรือ ทำงานตลอดเวลา : เวลาเจอปัญหาแบบนี้ บอกได้เลยว่า “งานเข้า” เพราะตัวเครื่องจะค่อนข้างร้อน ไปจนถึง ร้อนมากๆ (บางที ปิดน้ำอยู่ เครื่องก็ทำงานเองแบบ เปิดๆ ปิดๆ บ้าง) จำเป็นที่จะต้องมา เปิดไล่น้ำ ออกจากระบบ ผ่าน วาล์วอากาศ (Air Valve) ที่อยู่ บนฝาเครื่องด้านบน ซึ่งจากประสบการณ์ ที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ พอไปเปิด วาล์วอากาศ ด้านบนทันทีนั้น น้ำจะพุ่งจุ๊ดยังกะ บ่อน้ําพุร้อน เลยทีเดียว ทั้งเปียก ทั้งร้อน ทั้งกลัวไฟช็อต ไฟรั่ว อีก เพราะด้านล่างเป็นชุดสายไฟ ของ ระบบไฟปั๊มน้ำ อีก เสี่ยงชีวิตสุดๆ” ขอบคุณครับ

    • ถ้าเป็นแบบแรงดันคงที่ ให้ถอดถังความดันไล่น้ำออกจากถังให้หมดแล้วใส่กลับที่เดิม รับรองหายชัวร์ครับ

  14. ผมมีปัญหาครับ คือตอนนี้ผมใช้ปั๊มน้ำฮิตาชิ 350 ติดตั้งได้ประมาณสองเดือน แต่ก่อนเปิดน้ำปุ๊บ ปั๊มทำงานปั๊บ แต่ตอนนี้เปิดน้ำแล้วปั๊มไม่ทำงาน ผมเลยลองปิดวาวล์น้ำเข้าแล้ว เปิดก๊อกน้ำ ปั๊มก้อทำงานปกติ พอเปิดวาวล์น้ำเข้า แล้วลองเปิดก็อกน้ำอีกที ปั๊มก้อไม่ทำงาน แล้วบ้างวันอยู่ดีๆก้อทำงานเวลาเปิดก็อก
    ผมเช็คหน้าคอนแทค ก้อสะอาดไม่มีฝุ่น ตงลงเกิดจาดอะไรครับ จะแก้ไขอย่าไรครับ แนะนำหน่อยนะครับ ขอบคุณมากๆครับ

    • ดูที่ปลั๊กก่อนเข้าเครื่องหรือเบรกเกอร์ก่อนครับ ปลั๊กอาจหลวมหรือเบรกเกอร์อาจเสีย

  15. ถ้ารู้สึกว่าปั๊มที่ติดตั้งทำให้มีแรงดันในท่อมากเกินไปควรแก้ไขยังไงครับ

  16. เป็นข้อมูลตัดสินใจของผมเลยครับ กำลังซื้อปั๊ม 150 วัตต์พอดี

  17. ขอบคุณมากๆค่ะ ที่บ้านเก่าใช้ถังเหลี่ยม พอย้ายมาอีกหลังเป็นถังกลมมาอ่านบทความแล้วไม่น่าเอาถังกลมไปซ่อมเลยเปลี่ยนแท๊งไปตั้ง2340เพิ่มเงินอีกครึ่งนึงได้ถังเหลี่ยมมาใช้เลยนะเนี่ย เสียดายมาอ่านเจอช้าไปหน่อยแต่ก็ขอบคุณค่ะ

  18. ไปซื้อถังเหลี่ยมฮิตาชิมาใช้แล้วครับ อะไหล่ไม่แพงและใช้อย่าต่ำ5ปี

  19. ถ้าไม่มีสถานที่ตั้งถังพักน้ำ ควรจะเลือกตอดตั้งแบบไหนดีครับ ขอบคุณครับ

  20. ปั้มน้ำแบบถังกลมถังผุเลยเปลี่ยนเป็นถังแสตนเลสแต่พอเปลี่ยนแล้วเกิดปัญหาคือ มีอากาศอยู่ในน้ำที่เปิดมาใช้พ่นออกมาด้วย เช็คท่อดูดแล้วไม่รั่ว และมีเสียงดังตรงอุปกณ์ สีดำที่ต่อตรงท่อดูดก่อนเข้าปั้ม ต่อไปถังเก็บแรงดัน ใครมีความรู้ช่วยหน่อยครับ

  21. ใช้ปั๊มน้ำรุ่นถังกลมของฟูจิก้าอยู่ค่ะ กำลังมีปัญหาตามข้างต้นคื่อมันรั่ว แต่เราหารุ่นไม่เจอ ถามคนที่พอรู้เค้าให้เราดูรุ่นบอกว่าอยู่ตรงถังพักน้ำ
    เราไม่รู้ว่าถังพักน้ำของเครื่องปั๊มน้ำอยู่ตรงไหน รบกวนช่วยบอกด้วยค่ะ
    คือของฟูจิก้าถังกลมดูรุ่นที่ถังพักน้ำแต่ถ้ารุ่นสี่เหลี่ยมดูรุ่นที่มอเตอร์ค่ะ

  22. อ่านแล้ว ทะลุปรุโปร่ง เข้าใจง่าย
    ช่วยในการตัดสิ้นใจเลือกซื้อได้เยอะเลยค่ะ
    ขอบคุณมากๆเลยนะค่ะ

  23. มีประโยชน์มากครับ เข้าใจถ่องแท้เลย ทั้งปั๊มกลม ปั๊มเหลี่ยม ตอนนี้ไปซื้อปั๊มเหลี่ยมฮิตาชิ 150 วัตต์ มาใช้แล้ว

  24. ขอบคุณมากค่ะ ตอนนี้สั่งรุ่นถังเหลี่ยมมาใชี

  25. สรุปแล้ว ถังเหลี่ยมดีกว่าถังกลม ใช่มั้ยคะ?

  26. แนะนำถังเหลี่ยมของฮิตาชิอะครับ ตัว XS ประหยัด ทน เสียงเงียบมาก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้