Mister Robot Duo Wi-Fi
มาพบกับการรีวิว หุ่นยนต์ดูดจากแบรนด์ Mister Robot กันอีกครั้ง หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ทาง Thanop.com ทำรีวิวมาหลายตัวแล้วพอสมควร สำหรับครั้งนี้ก็ได้รุ่นใหม่ ประสิทธิภาพดี มารีวิวกันอีกครั้ง นั่นก็คือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi เห็นชื่อรุ่น แล้วอย่าเพิ่งงงว่ามันต่อ Wi-Fi ได้ 2 ชุด 2 ตัวหรืออะไร เพราะความหมายชื่อรุ่นมันแยกกันคือ “คำว่า Duo” หมายถึง มันมี 2 ระบบหัวดูดฝุ่น นั่นก็คือ ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก และ ระบบดูดโดยตรง (ดูดด้วยลมอย่างเดียว) ก็ได้เช่นกัน
และในส่วนของ “คำว่า Wi-Fi” หมายถึง สามารถสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่น และ เชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ได้นั่นเอง แถมยังมี “ความสามารถ Mapping” เป็นการวิ่งทำงานที่มีรูปแบบ และ เป็นระบบ มีการวิ่งเป็นเส้นตรง สลับไปมา (ไม่ได้วิ่งมั่วไปมั่วมา) ส่งผลให้ฉลาดขึ้น และ วิ่งทำความสะอาดได้ครบทั่วทุกพื้นที่ในห้องอีกด้วย และยังเป็นทั้ง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum Cleaner) และ หุ่นยนต์ถูพื้น (Floor Mopping Robot) แบบเปียก ได้ในตัวเดียวกันอีกด้วย
หลายคนที่ได้อ่านรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นบนเว็บ Thanop.com มาหลายๆ ตัวแล้ว ก็คงคิดว่า ความสามารถที่ได้กล่าวมาด้านบนทั้งหมดนั้น เป็นความสามารถที่ธรรมดาเอามากๆ เพราะยี่ห้ออื่น เขาก็มีกันเยอะแยะ แต่ขอบอกเอาไว้ก่อนว่า แม้จะเหมือนจริง แต่สิ่งที่แตกต่าง และ ไม่เหมือนกับตัวอื่นๆ คือ “ราคาแค่ หมื่นเดียว !” เพราะด้วยความสามารถในระดับที่สามารถต่อ Wi-Fi ได้ด้วยแบบนี้ ส่วนใหญ่ราคาจะอยู่ที่ หมื่นปลายๆ หรือ 2 หมื่นบาท ขึ้นไปทั้งนั้น เห็นแบบนี้เริ่มสนใจแล้วใช่ไหมละครับ มาเริ่มกันเลย (เมนูลัดด้านล่างสามารถกดข้ามไปยังหัวข้อที่ต้องการดูได้)
- รู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แบรนด์ Mister Robot
- แกะกล่องผลิตภัณฑ์
- อุปกรณ์ภายในกล่องผลิตภัณฑ์
- ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
- คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของตัวเครื่อง
- สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง และ อุปกรณ์เสริม
- เตรียมเครื่องเพื่อเปิดใช้งานจริง
- คำถามที่ต้องอยากรู้ (FAQs)
- บทสรุปการใช้งานเครื่อง
คลิปวีดีโอรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi แบบละเอียดยิบ รวมถึงการใช้งาน แอพพลิเคชั่น Mister Robot
รู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แบรนด์ Mister Robot
คุณสามารถทำความรู้จักกับ ประวัติที่มาที่ไปของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot ให้มากกว่านี้ พร้อมรายละเอียดติดต่อ สถานที่สั่งซื้อ ฯลฯ ได้ที่ลิงค์เชื่อมต่อไปยังหน้ารายละเอียดด้านล่างนี้เลย
⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot
แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
ในส่วนนี้ก็จะพามาชมภาพรอบๆ กล่องผลิตภัณฑ์ด้านนอก ว่ามีการออกแบบเป็นอย่างไร และมีข้อมูลรายละเอียดเด่นๆ ที่ผู้ผลิตอยากจะบอกกับเราบ้าง มาดูกันเลย
ด้านหน้ากล่อง : เป็นรูปตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi สีดำ ตั้งเด่นเป็นสง่าทางซ้าย พร้อมชื่อยี่ห้อ “Mister Robot” และชื่อรุ่น “Duo Wi-Fi” พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษเขียนว่า “Robot Vacuum Cleaner with Water Tank” คือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มาพร้อมกับถังน้ำ พูดง่ายๆ คือ มันสามารถถูพื้น ได้ด้วยนั่นเอง
ด้านหลังกล่อง : ด้านหลังเป็นภาพใต้ตัวเครื่อง 2 ภาพ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง ระบบหัวดูดฝุ่นให้ดูกันระหว่าง อุปกรณ์ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก (Roller Brush Component) (ภาพเครื่องฝั่งซ้าย) และ อุปกรณ์ระบบดูดโดยตรง (Suction Component) (ภาพเครื่องฝั่งขวา)
ด้านซ้ายกล่อง : มีความสามารถเด่นอีก 4 ข้อ โชว์ให้ดูเล็กน้อย ได้แก่ ระบบการชาร์จไฟอัตโนมัติ (Auto-Charging) แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-Ion Battery) การตั้งเวลาทำความสะอาด (Time Scheduling) และ เซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวาง (Barrier Sensor) ด้านล่างมี QR Code ที่เมื่อลองสแกนดูแล้ว จะเข้าไปเป็นเว็บไซต์ของผู้พัฒนา (http://www.misterrobotcleaner.com)
ด้านขวากล่อง : ภาพด้านบนเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่มีระบบ Mapping (รูปซ้าย ที่เป็นเส้นตรงขึ้นลง) (ตัว Mister Robot Duo Wi-Fi เป็นแบบนี้) และแบบ ไม่มีระบบ Mapping (รูปขวา ที่เป็นเส้นทแยงมุม ไปมา) ว่าแตกต่างกันอย่างไร ขณะที่ด้านล่าง จะเป็นอุปกรณ์ภายภายในกล่อง บางส่วน
อุปกรณ์ภายในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
เมื่อเปิดฝากล่องผลิตภัณฑ์ Mister Robot Duo Wi-Fi ออกมาแล้ว ก็จะพบกับ แผ่นโฟมขึ้นรูปสีขาว ถูกปิดห่อหุ้มตัวเครื่องอยู่ด้านบน พร้อมคู่มือการใช้งานเป็นภาษาอังกฤษวางอยู่ และเมื่อยกแผ่นโฟมออก ก็จะพบกับตัวเครื่อง และ อุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ให้มาทั้งหมด โดยรายละเอียดมีดังต่อไปนี้ (ดูตามหมายเลข จากรูปประกอบด้านล่างได้เลย)
1 .Mister Robot Duo Wi-Fi (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น x 1 เครื่อง)
ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi เป็นแบบทรงกลม (Round Shape) มีขนาดมิติ อยู่ที่ 350 x 350 x 99 มิลลิเมตร ถือว่าค่อนข้างใหญ่ ขณะที่น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 3.7 กิโลกรัม ถือว่ากลางๆ ไม่เบา และก็ไม่หนักมากจนเกินไป สำหรับวัสดุบนตัวเครื่องเป็นพลาสติกสีดำด้าน ไม่เป็นเงาสะท้อนและเป็นรอยนิ้วมือได้ง่ายๆ
2. Charging or Docking Station (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)
อุปกรณ์ชิ้นนี้เรียกว่า “แท่นชาร์จ” (ภาษาอังกฤษมีเรียกหลายชื่อมากๆ) อีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญ ที่เอาไว้ใช้ชาร์จไฟ เข้าไปยังตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น โดยมันจะชาร์จผ่านขั้วโลหะที่อยู่ด้านหน้าของแท่นชาร์จ เข้าไปยัง ขั้วโลหะที่อยู่ด้านล่างของของตัวเครื่อง
นอกจากนี้แล้ว เวลาหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เสร็จสิ้นภารกิจ การทำงานในแต่ละครั้ง มันก็จะวิ่งเข้ามาจอดที่ แท่นชาร์จ แห่งนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อชาร์จไฟให้เต็ม และ รอการปฏิบัติงาน ในครั้งต่อไป
3. Water Tank (ถังน้ำ x 1 ถัง)
ถังน้ำพลาสติกแบบใส มีขนาดความจุ 0.18 ลิตร บางยี่ห้ออาจจะเห็นเขาเรียกถังน้ำแบบนี้ว่า “ที่ติดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์พร้อมถังน้ำ” จริงๆ มันเหมือนกัน สาเหตุเพราะมันสามารถเป็นถังน้ำได้ด้วย แถมด้านล่างก็มีเทปตีนตุ๊กแก (Velcro Tape) ทั้งหมด 8 จุด เพื่อใช้ยึดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ให้ติดกับถังน้ำ
ขณะที่ด้านล่างจะมีช่องน้ำออก (Wick Cap) เพื่อให้น้ำที่อยู่ในถังน้ำซึมผ่านลงไปสู่ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ติดอยู่ด้านล่างทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน เพื่อให้ผ้าม็อบฯ เปียกชุ่มไปทั่วทั้งผืน
4. Side Brush (แปรงกวาดข้าง x 2 แปรง)
แปรงกวาดข้าง แบบ 3 แฉก ขนาดความยาวแปรง 7 ซม. (ต่อแฉก) มีให้มา 2 ชุด (ชุดละ 2 แปรง ซ้าย-ขวา เบ็ดเสร็จ รวมทั้งสิ้น 4 แปรง) ถือว่าให้เป็นอะไหล่ พร้อมพลาสติกหุ้มที่โคนแปรง ป้องกันไม่ให้ขนแปรงหลุด ออกมา แถมมันสามารถ ถอดเข้าออกได้ตามต้องการ (แต่แนะนำให้ใส่เอาไว้ ตลอดการใช้งาน เพื่อประสิทธิภาพ การดูดฝุ่น ที่ดีกว่า)
5. Adapter (อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ x 1 ชุด)
ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ มีหน้าที่ แปลงไฟจาก ไฟบ้าน (ไฟฟ้ากระแสสลับ – AC Power) ไปเป็น ไฟที่ใช้ชาร์จเข้าไปภายในตัวเครื่อง (ไฟฟ้ากระแสตรง – DC Power)
มันสามารถชาร์จไฟ ผ่านแท่นชาร์จ หรือจะ ชาร์จเข้าที่ตัวเครื่องโดยตรงก็ได้ ทางผู้ผลิตเขาได้ให้ สายไฟขนาดความยาวประมาณ 1.5 เมตร (วัดด้วยตลับเมตรเอง) มาให้ ซึ่งก็ถือว่ากำลังพอดี ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป
6. Mopping Cloth (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ x 1 ผืน)
เป็นผ้าที่มีความเหนียว ทนทาน และ ขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่สัมผัสระหว่างตัวผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ กับ พื้นห้อง มาก ทำให้ทำความสะอาดได้เยอะ พื้นสะอาดมากกว่าผ้าขนาดหน้าสัมผัสน้อยๆ โดยตัวผ้านี้สามารถนำไปซักด้วยน้ำได้ปกติ เหมือนผ้าทั่วๆ ไป
7. Suction Component (อุปกรณ์ระบบดูดโดยตรง x 1 ชุด)
อีกหนึ่งทางเลือกเสริมของเครื่องนี้คือ สามารถใช้ ระบบดูดโดยตรงด้วยลมได้ ด้วยการเปลี่ยนเอา แผ่นพลาสติกที่มีช่องลมเข้าอย่างเดียว โดยมันจะใช้พลังดูดจากพัดลมดูดฝุ่นที่อยู่ด้านในตัวเครื่อง
โดยแผ่นพลาสติกนี้ จะมีช่องโหว่ตรงกลางมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า พร้อมกับแถบยางคอยกวาดฝุ่นรอบๆ ให้เข้ามาในรัศมีดูดฝุ่นของตัวเครื่อง โดยระบบดูดโดยตรงแบบนี้จะเหมาะกับการดูดฝุ่นบนพื้นพรม หรือ พื้นห้องที่มีเส้นผม หรือ ขนสัตว์ จำนวนมากๆ ใช้ตัวนี้จะเหมาะ เพราะถ้าใช้ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก อาจทำให้เส้นผม ขนสัตว์ ดังกล่าว เข้าไปพันกับตัวแปรงได้
8. Remote Control (รีโมทคอนโทรล x 1 ชุด)
แม้ว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi ตัวนี้จะสามารถสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นได้ แต่ทางผู้ผลิตก็ยังใจดีให้ รีโมทคอนโทรล หรือ อุปกรณ์สั่งงานระยะไกล มาให้ด้วย เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน (หรือใช้ไม่เป็น) เพราะโดยปกติแล้ว จากที่เห็นส่วนมากคือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวไหน สั่งผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือได้ จะไม่ให้รีโมทคอนโทรลมาแล้ว
ขณะที่รายละเอียดของ รีโมทคอนโทรล ก็จะใช้ ถ่านแบตเตอรี่แบบ AAA จำนวน 2 ก้อน (ไม่ได้มีให้ภายในกล่อง ต้องหาซื้อเอง) โดยปุ่มบนรีโมทคอนโทรล ก็มีไม่มาก และก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร มีอยู่ดังต่อไปนี้
- ON/OFF Button : ปุ่มสั่งเปิดปิดเครื่อง
- DIRECTION CONTROL Button : ปุ่มลูกศร ขึ้น ↑ ลง ↓ ซ้าย ← ขวา → ใช้ควบคุมทิศทางเครื่องได้เอง
- HOME Button : สั่งให้ Mister Robot Duo Wi-Fi วิ่งกลับแท่นชาร์จอัตโนมัติทันที (Auto Charging)
- MODE Button : สั่งเปลี่ยนโหมดการทำความสะอาดของเครื่อง
- WALL Button : ทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง (Along Wall Cleaning)
9. Spare HEPA Filter (แผ่นกรองอากาศ HEPA สำรอง x 1 แผ่น)
ภายในกล่องยังมี แผ่นกรองอากาศ HEPA สีขาวขนาด 40.5 ตารางเซนติเมตร (cm2) มีให้มาสำรองอีก 1 แผ่น (อีกแผ่น ติดตั้งอยู่ภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว) เผื่อในกรณีเสื่อมสภาพ
10. User Manual (คู่มือการใช้งาน x 2 เล่ม – ภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย)
หนังสือคู่มือการใช้งาน อย่างละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย (แยกกันคนละเล่ม) ภายในมีทั้งรายละเอียดที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น รายละเอียดผลิตภัณฑ์ พร้อม คำแนะนำด้านการปลอดภัย การการใช้งาน การดูแลรักษา การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนถึงมือช่าง และอื่นๆ อีกมากมาย
โดยคู่มือ มีหน้ารวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นประมาณ 30 หน้า สำหรับ เล่มคู่มือภาษาอังกฤษ (ข้อมูลละเอียด แต่ไม่มีสอนวิธีการติดตั้งแอพพลิเคชั่น) ขณะที่ เล่มคู่มือภาษาไทย มีเพียงแค่ 10 หน้า (ข้อมูลแบบรวบรัด และมีสอนวิธีการติดตั้งแอพพลิเคชั่น)
ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
มาดูสเปคหรือข้อมูลจำเพาะ (Specification) ของเครื่องกันเลยดีกว่า ว่ามีอะไรกันบ้าง
รายละเอียด (Specification) |
|
ขนาดมิติ (Dimension) |
350 x 350 x 99 มม. |
น้ำหนัก (Weight) |
3.7 กิโลกรัม |
ไฟเข้า (Input) |
AC 100-240V 50/60 Hz |
ไฟออก (Output) |
DC 24V 1A |
ประเภทของแบตเตอรี่ (Battery Type) |
14.6V Li-Ion |
ปริมาณความจุแบตเตอรี่ (Battery Capacity) |
2,150 mAh |
ระดับเสียง (Noise Level) |
60 dB. (เดซิเบล) (วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร) |
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร) Dustbin Capacity (Litre) |
0.50 ลิตร (500 mL) |
ขนาดความจุถังน้ำ (ลิตร) Water Tank Capacity (Litre) |
0.18 ลิตร (180 mL) |
คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เจาะลึก ถึงความสามารถของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi กันแบบละเอียดยิบ ว่าแท้จริงแล้ว มันมีความสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยคุณสมบัติ และ ความสามารถ ที่เห็นอยู่ด้านล่างทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากหนังสือคู่มือ อีกส่วนหนึ่งมาจากสังเกต และ เขียนด้วยตัวเอง
1. Intelligent Suction Adjustment (ปรับเปลี่ยนพลังการดูดตามพื้นที่) 😆
ภายในตัวเครื่องมีพัดลมดูดอากาศ ที่ใช้มอเตอร์แบบไร้แปรงถ่าน (BLDC Motor) ฝังอยู่ด้านในตัวเครื่อง มันมีหน้าที่ช่วยเสริมพลังการดูดฝุ่นที่มีขนาดอนุภาคเล็กๆ ให้ถูกดูดเข้าไปในเครื่องด้วย มันจะเข้ามาช่วยเสริมการทำงานร่วมกับ แปรงกวาดหลักที่ตีฝุ่นจากบนพื้น สาเหตุเพราะแปรงกวาดหลักอาจจะช่วยฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ได้ก็จริง แต่ฝุ่นขนาดเล็กๆ ถึงเล็กมากๆ อาจจะดูดไม่ได้ ดังนั้นมันจึงจำเป็นจะต้องมี พัดลมดูดอากาศ ช่วยอีกแรง โดยมันจะช่วยเสริมการดูดฝุ่นกับทั้ง 2 ระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก และ ระบบดูดโดยตรง
มีระบบปรับพลังการดูดฝุ่นให้เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวของห้อง เช่น ถ้าเป็นพื้นพรมก็จะดูดแรงขึ้น แต่ถ้าเป็นพื้นกระเบื้องปกติ ก็จะดูดเบาลง เพื่อให้การดูดฝุ่นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังช่วยประหยัดพลังงาน (ประหยัดแบตเตอรี่) ได้สูงสุดถึง 30%
2. User Friendly Design (การออกแบบเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน)
ตัวเครื่องถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนอะไรมากมาย ด้านบนมีปุ่มกดพร้อมคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ซึ่งก็พอคาดเดาได้ว่า คือปุ่มอะไร แต่หากไม่เข้าใจ ก็ยังมีคู่มือภาษาไทย ให้อ่านและศึกษาทำความเข้าใจอีกด้วย
เริ่มต้นใช้งาน เพียงแค่เปิดกด “ปุ่ม POWER หรือ สวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก” หลังจากนั้นก็ “ปุ่ม CLEAN OK” ที่อยู่ด้านบนของตัวเครื่อง ก็สามารถเริ่มต้นใช้งานได้เลยทันที
3. Gyro Mapping Navigation (การนำทางแบบมีแบบแผน) 😆
มีความสามารถที่เรียกว่า “Mapping” เป็นการวิ่งทำงาน และ นำทาง ที่เป็นระบบระเบียบ มีแบบแผน (Pattern) มากขึ้น ด้วยเซ็นเซอร์ไจโรสโคป (Gyroscope Sensor) ที่มักถูกใช้กันในสมาร์ทโฟนดังๆ แต่ถูกนำมาใช้ในหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ด้วย ส่งผลให้การทำงานเป็นแบบ วิ่งไปสุดเส้น และ เลี้ยวกลับได้อย่างแม่นยำ สามารถดูดได้ครบทุกพื้นที่ ละเอียดมากขึ้น ครบถ้วนทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้ว ไม่วิ่งมั่วไปมาแบบไร้แบบแผน เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในสมัยก่อน
4. Alternative Vacuum Components (ระบบการดูดฝุ่นเข้าเครื่องหลากหลาย)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Duo Wi-Fi เป็นอีกหนึ่งในไม่กี่รุ่นที่จำหน่ายอยู่ในตลาด ที่สามารถปรับเปลี่ยนหัวดูด ได้ 2 รูปแบบ (นี่คือที่มาขอชื่อรุ่นว่า “Duo – ดูโอ้” ที่แปลว่า “คู่” นั่นเอง)
โดย 2 รูปแบบ ที่ว่านี้ได้แก่ ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก (Main Brush Component) และ ระบบดูดโดยตรง (Suction Component) ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสีย ที่แตกต่างกันออกไปคือ
- Main Brush Component (ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก) : ระบบนี้จะคล้ายกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทั่วๆ ไป คือการใช้ แปรงกวาดหลัก (Main Brush) ขนาดความยาว 15.5 ซม. ในการหมุน เพื่อตีฝุ่นจากบนพื้น ให้เข้าไปอยู่ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ข้อดีคือ ดูดฝุ่นได้ละเอียด เพราะมีทั้งลมดูดและแปรงตีฝุ่น แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับการดูดเส้นผม หรือ ขนสัตว์ ขนาดยาวๆ
- Suction Component (ระบบดูดโดยตรง) : ส่วนนี้จะเป็น ช่องโหว่ๆ โล่งๆ เอาไว้ให้ฝุ่นถูกดูดผ่านเข้าไป ด้วยลม ที่มาจากมอเตอร์ของพัดลมดูดอากาศ อย่างเดียว ข้อดีคือ เหมาะสำหรับการดูดเส้นผม หรือ ขนสัตว์ ที่มีขนาดยาว ป้องกันการติดพันของเส้นผม
5. Smartphone Control via Wi-Fi (ควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่น) 😆
ความสามารถการสั่งงานด้วยแอพพลิเคชั่น ชื่อว่า “Mister Robot” บนโทรศัพท์มือถือ อย่าง สมาร์ทโฟน ทั้งบนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ผ่านเครือข่าย Wi-Fi ให้คุณสามารถควบคุม หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Duo Wi-Fi ได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้จากทุกที่ทั่วโลก
6. Intelligent Scheduling (ระบบการตั้งเวลาทำความสะอาด)
สามารถตั้งเวลาทำความสะอาด ให้เป็นกิจวัตรประจำวันได้ เช่น ทำทุกวันเวลา 5 โมงเย็น (17.00 น.) ก่อนเรากลับบ้านจากที่ทำงาน เมื่อถึงเวลาทำความสะอาด ที่เราตั้งเอาไว้ มันจะออกมาจากแท่นชาร์จ โดยอัตโนมัติ พร้อมดูดฝุ่นทำความสะอาดห้องโดยทันที และเมื่อเสร็จ ดูดทั่วทั้งบริเวณแล้ว มันก็จะวิ่งกลับแท่นชาร์จโดยอัตโนมัติ เพื่อเตรียมพร้อมออกมาทำความสะอาด ในวันถัดไป
7. Auto Recharge (ระบบวิ่งกลับแท่นชาร์จเองโดยอัตโนมัติ)
วิ่งกลับแท่นชาร์จเอง ถือเป็นระบบพื้นฐาน ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่พึงจะต้องมีในยุคปัจจุบันนี้ และ ตัวก็มีความสามารถนี้เช่นกัน เมื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ประมวลผลแล้วว่า ทำงานดูดฝุ่นครบทั่วทั้งบริเวณแล้ว ก็จะวิ่งกลับแท่นชาร์จ เพื่อไปชาร์จแบตเตอรี่ ให้กลับมาใหม่อีกครั้ง ทันที
8. Intelligent Voice Demonstration (ระบบเสียงแจ้งเตือนสถานะของเครื่อง)
มีความสามารถในการรายงานสถานะการทำงานของเครื่อง หรือ ส่งแจ้งเตือน ได้ทั้งในรูปแบบเสียงแจ้งเตือน และ เสียงคนพูด โดยการทำงานต่างๆ ของเครื่อง เป็นภาษาอังกฤษ โดยตลอด เสียงดังฟังชัด เสียงคนพูดเป็นเสียงภาษาอังกฤษ ขณะที่เสียงเตือนคล้ายเสียงบนห้างสรรพสินค้า (ฟังแรกๆ ตกใจเหมือนกัน แต่ก็คุ้นหูดี)
9. Water Tank with Mop Function (ถังน้ำ พร้อม ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์)
มีออปชั่นติดตั้งถังน้ำ (Water Tank) และ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Mopping Cloth) อยู่ข้างหลังเครื่อง ให้คุณสามารถเลือกได้ว่าจะถูพื้นแบบเปียก หรือ แบบแห้ง ติดตั้งง่ายมาก ขณะที่ตัวผ้าม็อบฯ เองก็สามารถถอดไปซักทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วยเช่นกัน
10. Li-Ion Battery (แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน)
จริงๆ การใช้ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ถือไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเท่าไหร่ แต่ที่นำมาเขียนเป็นหนึ่งในคุณสมบัติเด่นของเครื่องนี้เพราะว่า มันแบตเตอรี่ชนิดนี้ ได้ถูกนำมาใช้อยู่ใน หุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาถูก อย่าง Mister Robot Duo Wi-Fi ด้วย ซึ่งคุณสมบัติของแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ตัวนี้คือ มีการจ่ายไฟที่นิ่งคงที่แม้แบตเตอรี่ใกล้จะหมด ส่งผลให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอยู่ตลอดการใช้งานจริงๆ โดยตัวนี้มีระยะเวลาการชาร์จไฟให้เต็มอยู่ที่ ประมาณ 4-6 ชั่วโมง
หมายเหตุ : ความสามารถที่มีสัญลักษณ์รูป 😆 คือ จุดที่รู้สึกประทับใจมากๆ
สำรวจรอบๆ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi และ อุปกรณ์เสริม
มาถึงการสำรวจส่วนประกอบของตัวเครื่อง ในแต่ละมุมมอง ทั้งด้านบน ด้านล่าง ด้านข้าง กันดูบ้าง ว่ามีจุดไหน ที่น่าสนใจอย่างไรกันบ้าง เริ่มกันเลย
ด้านบนของตัวเครื่อง (Top View)
ถือว่ารูปทรงก็ไม่ได้ผิดแปลก ผิดเพี้ยนอะไรไปจาก หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ ที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด แต่ข้อดีของมันอย่างนึงที่ประทับใจคือ มันยังคงมีปุ่มกดควบคุมบนตัวเครื่อง ให้ควบคุมได้ด้วย แม้ว่ารุ่นนี้จะมีรีโมทคอนโทรลมาให้ แถมยังสามารถสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่น ได้แล้วก็ตาม พูดง่ายๆ คือ ใครที่รีโมทหาย รีโมทเสีย ใช้สมาร์ทโฟน ติดตั้งแอพพลิเคชั่นไม่เป็น ก็ยังมีวิธีแบบดั้งเดิมมาให้เป็นทางเลือกอยู่ เพราะบางรุ่นบางยี่ห้อ ถ้าหากสั่งผ่านแอพฯ ได้แล้ว จะสั่งงาน ตั้งค่าอะไรบนตัวเครื่องไม่ได้เลย
- Front Bumper (กันชนหน้า) : อุปกรณ์พื้นฐาน ที่อุปกรณ์อื่นๆ พึงจะมี ดูดซับแรงกระแทก ระหว่างตัวเครื่อง กับ เฟอร์นิเจอร์ ลดโอกาส การเกิดความเสียหายลงไปได้มากเลยทีเดียว
- LED Display (หน้าจอแสดงผล LED) : หน้าจอแสดงสถานะ การทำงานของเครื่อง มีทั้งแบบตัวเลข แถบสถานะ รวมไปถึงไอคอน ต่างๆ ข้อมูลที่นำมาแสดงมีทั้ง โหมดการทำความสะอาดปัจจุบัน การตั้งเวลาทำความสะอาดเครื่อง รวมไปถึง เวลาต่างๆ ฯลฯ
- Touch Key (ปุ่มกดสั่งงานเครื่อง) : ปุ่มกดแบบสัมผัส สามารถกดลงบนตัวหน้าจอแสดงผล LED ได้เลย ขณะกดมีเสียงแจ้งเตือน ตี๊ดๆ ดังขึ้นมาด้วย
- Dustbin Cover (ฝาปิดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : ฝาปิด กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เวลาจะกดเปิด ก็กดไปเบาๆ สักทีนึง แล้ว ฝาปิด มันก็จะกระเด้งขึ้นมาเอง เพื่อให้คุณได้หยิบเอา กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ที่วางอยู่ด้านใน (มีหูหิ้ว) ออกไปเททิ้ง หรือ ล้างทำความสะอาด ได้ง่ายๆ
ด้านล่างของตัวเครื่อง (Underside View)
ส่วนประกอบด้านล่างของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi ถือเป็นส่วนสำคัญมากๆ เพราะว่าทั้งระบบขับเคลื่อน ระบบการดูดฝุ่น ถูพื้นต่างๆ รวมอยู่ที่นี่ทั้งหมด มาดูกันเลย
- Drop Sensors (เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น) : ใช้ป้องกันการวิ่งตกบันได หรือ ตกจากที่สูง โดยหลักการทำงานคือ เซ็นเซอร์ดังกล่าว มันจะปล่อยแสงอินฟราเรด (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ลงไปบนพื้นห้อง ถ้าเกิดว่าระยะของแสงยิงออกไปไกลเกินกว่าที่กำหนดไว้ (หมายความว่าพื้นที่ระยะห่างสูงเกิน) เครื่องจะตัดสินใจไม่วิ่งไปต่อ แต่จะหาทางอื่นไปแทน
- ด้านหน้าสุด – 1 ตัว
- ซ้ายขวา เยื้องกับแปรงกวาดข้าง ด้านหน้า – 2 ตัว
- ซ้ายขวา ด้านหลัง หลังล้อขับเคลื่อนหลัก – 2 ตัว
- Front Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : บางยี่ห้อเรียกล้อนี้ว่า “Caster Wheel” เป็นล้อพลาสติก ที่ไม่มีระบบขับเคลื่อน ที่สามารถหมุนรอบตัว ได้ 360 องศา ใช้รับน้ำหนักตัวเครื่องด้านหน้า ไม่ให้ไปครูดกับพื้น สร้างความเสียหายกับตัวเครื่อง
- Auto Charging Pole (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : แผ่นโลหะสี่เหลี่ยมสีเงิน 2 ตัว ขนาบ กับ ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า เป็นตัวที่เอาไว้ใช้ในการ ถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้า จาก แท่นชาร์จ เข้ามาที่ตัวเครื่อง และ ส่งต่อพลังงาน เข้าไปเก็บยังแบตเตอรี่ ที่อยู่ภายในตัวเครื่อง
- Side Brush (แปรงกวาดข้าง) : ใช้กวาดฝุ่น ที่อยู่รอบๆ ข้าง ตามมุมเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในรัศมีทำการของ ระบบการดูดฝุ่นเข้าเครื่อง โดยเราสามารถถอดเข้าออกได้เอง โดยใช้มือ (ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ) แต่อาจจะดึงยากสักนิดนึง เพราะเขาต้องทำให้ยึดดีๆ เอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันการหลุดขณะที่เครื่องกำลังทำงาน
- Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่) : ฝาพลาสติกที่ ห่อหุ้ม แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-Ion) ขนาดความจุ 2,150 มิลลิแอมป์ (mAh) ที่อยู่ด้านใน การถอดฝาออกก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ ไขน๊อต 2 ตัว ที่อยู่ด้านหน้า ขณะที่ด้านหลังเป็นที่เกี่ยวยึดธรรมดา
- Main Brush Component (อุปกรณ์ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก) : ด้านนอก จะเป็นฝาครอบ แปรงกวาดหลัก ที่ถูกออกแบบให้ สามารถถอดออกได้ง่ายๆ ด้วยการบีบที่สลักด้านซ้ายมือ (มีอยู่ฝั่งเดียว) เพื่อปลดล็อค และ ดึงออกมาได้เลย โดยเมื่อออกแล้วมันจะออกมาทั้งชุด คือมีทั้งตัวฝาครอบด้านนอก และ แปรงกวาดหลัก แบบเกลียวผสม (มีทั้งแปรงยาง และ แปรงขน ในแปรงเดียวกัน) อยู่ด้านในอีกที แต่ก็สามารถถอด แปรงกวาดหลัก ดังกล่าว ออกมา ทำความสะอาดได้เช่นกัน
- Main Wheels (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ล้อขับเคลื่อนหลักอุปกรณ์ที่ใช้นำพาเครื่องไปดูดฝุ่นในพื้นที่ต่างๆ ของห้องเรา มีทั้งหมด 2 ล้อ พร้อมสปริงโช๊คอัพที่ให้ตัวได้ พร้อมกับ ดอกยาง เพื่อช่วยยึดเกาะพื้นผิวในรูปแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ละฝั่งจะมีมอเตอร์ แบบแยกอิสระ 2 ฝั่ง ซ้ายขวา ระหว่างกัน (ไม่ได้ใช้ระบบเพลา) นั่นหมายความว่า หาก หุ่นยนต์ต้องการจะเลี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง จะมีล้อขับเคลื่อนหลัก ข้างนึงที่หยุดหมุน และ อีกข้างนึงที่มุน เพราะบังคับทิศทางของเครื่อง ไปตามที่มันต้องการ
- Water Tank Installation Area (พื้นที่ติดตั้งถังน้ำ) : พื้นที่เอาไว้สำหรับติดตั้งถังน้ำ โดยจะอยู่ด้านล่าง ส่วนท้ายของตัวเครื่อง โดยจะมีช่องที่เป็นรูกลมๆ 2 รู เอาไว้สำหรับยึดมัน การติดตั้ง และ ถอดออกก็ไม่ยาก ดึงออกมาได้เลย
ด้านข้างของตัวเครื่อง (Side View)
ในขณะที่ด้านข้าง รอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi ในทั้ง 4 ด้าน ก็ยังมีจุดที่น่าสนในอีกหลายๆ จุดได้แก่
- Front Bumper Strip (แถบยางกันชนหน้า) (ด้านหน้า) : เป็นแถบยางที่ถูกติดตั้งอยู่ด้านหน้าของกันชนหน้าอีกทีหนึ่ง เพื่อใช้ในการดูดซับแรงกระแทกอีกชั้น และ ลดรอยขีดขวน ระหว่างตัวเครื่อง กับ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ให้ได้น้อยที่สุด
- Charging Socket (ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์) (ฝั่งซ้าย) : ช่องนี้อาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษอีกชื่อหนึ่งว่า “Power Adapter Jack” ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในการชาร์จไฟ คุณสามารถต่อไฟตรงจากอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน (AC Adapter) มาเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC Power) ที่ใช้กับเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เผื่อเอาไว้ในกรณีที่คุณลืมเอาแท่นชาร์จมา หรือ แท่นชาร์จเสีย ก็สามารถต่อชาร์จไฟตรง เข้าไปที่เครื่องได้เลยเช่นกัน
- Power Switch (ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก) (ฝั่งขวา) : ปุ่มสีแดง ที่ถูกห่อหุ้มอยู่ในนี้เป็นปุ่มที่ตัดการจ่ายไฟระหว่าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น กับ แบตเตอรี่ เหมาะสำหรับในกรณีที่เราจะไม่ใช้มันเป็นเวลานานๆ ก็ควรปิดสวิตซ์นี้เสียก่อน
- Ventilator (ช่องระบายอากาศ) (ด้านหลัง) : ด้านหลังตัวเครื่อง ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามีช่องมีลักษณะเป็นซี่ๆ อยู่ นั่นคือช่องระบายอากาศออกจากเครื่อง โดยลมที่ถูกปล่อยออกมานั้น จะเป็นลมที่ถูกดูดเข้ามาพร้อมกับฝุ่นละอองทั้งหลาย และเมื่อผ่านแผ่นกรองอากาศทั้ง 2 ชั้นแล้ว ก็จะถูกปล่อยออกจากตัวเครื่อง ตรงช่องนี้
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin)
เครื่องนี้มาพร้อมกับ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ขนาดความจุครึ่งลิตร หรือ 0.5 ลิตร ถือว่าไม่มาก ไม่น้อย จนเกินไป ภายในมี แผ่นกรองอากาศชั้นแรก (Primary Filter) เพื่อใช้กรองฝุ่นละอองขนาดใหญ่ รวมถึงเส้นผม ขนสัตว์เลี้ยงต่างๆ ไม่ให้เข้าไปติดในร่องของ แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่จะช่วยกรองอากาศแบบละเอียดเป็นชั้นสุดท้าย ก่อนปล่อยกลับออกไปข้างนอก
นอกจากนี้แล้ว ด้านบนของตัวกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง จะมี แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ (Cleaning Brush) ที่ปลายของมันทั้ง 2 ฝั่ง จะเป็นแปรงขนขนาดใหญ่-เล็ก คนละฝั่ง ให้คุณได้ใช้ทำความสะอาดตามซอกมุมของตัวเครื่อง
เตรียมเครื่อง และ เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการแนะนำการติดตั้ง และ ใช้งานตัวเครื่อง กันดู โดยจะขอพูดถึง การเตรียมพื้นที่ติดตั้งแท่นชาร์จ เพื่อชาร์จไฟลงเครื่อง การใช้งานในโหมดถูพื้นแบบเปียก รวมไปถึงไฮไลท์ของมันอย่าง การใช้ แอพพลิเคชั่น Mister Robot ว่ายากง่ายเพียงใด และ สามารถทำอะไรได้บ้าง
1. การติดตั้งแท่นชาร์จ (Charging Station Installation)
วางแท่นชาร์จ ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยควรจะต้องวางแท่นชาร์จให้แนบชิดติดกับกำแพงบ้าน หรือ เฟอร์นิเจอร์ เพราะว่าถ้าวางตรงกลางห้องเลย อาจจะทำให้ตัวเครื่องวิ่งชนแท่นชาร์จ ขณะทำงาน เสียตำแหน่งเดิมไปได้ หรือไม่ก็คุณอาจจะเดินเตะมันเสียเอง นอกจากนี้แล้ว ด้านหลังของแท่นชาร์จ ไม่มีที่เก็บสายไฟ ต้องม้วนเก็บให้ดีๆ อย่าให้บังทางเข้าออกของตัวเครื่อง
ในส่วนของ การวางตำแหน่งแท่นชาร์จ ควรจะต้องเว้นระยะ รอบๆ ของ แท่นชาร์จอยู่ที่ ด้านหน้า 2 เมตร และ ด้านซ้าย-ขวา ฝั่งละ 1 เมตร เพื่อให้ Mister Robot Duo Wi-Fi สามารถวิ่งเข้าออกได้อย่างสะดวก
2. การชาร์จไฟลงแบตเตอรี่ (Battery Charging)
เมื่อติดตั้งแท่นชาร์จเสร็จเรียบร้อย ก็สามารถกดที่ “ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก (Power Switch)” ที่อยู่ด้านข้างของตัวเครื่อง Mister Robot Duo Wi-Fi แล้วปล่อยทิ้งเอาไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง พูดง่ายๆ คือ ปล่อยทิ้งค้างคืนเอาไว้เลย เพราะเมื่อชาร์จเต็ม ระบบจะตัดกาชาร์จไฟเข้าเครื่องเอง
ในส่วนของการชาร์จไฟนั้น เครื่องนี้มีทางเลือกให้ชาร์จได้ 2 ทางคือ ชาร์จไฟผ่านแท่นชาร์จ และ ชาร์จไฟผ่านช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ โดยมันมีระบบเซฟตี้ ที่ดีอย่างนึงคือ หากชาร์จไฟตรงกับอะแดปเตอร์ อยู่แล้วกดปุ่มสั่งให้เครื่องทำงาน มันจะไม่ยอมทำ จนกว่าจะดึงสายชาร์จออกจากเครื่อง
3. การติดตั้งถังน้ำเพื่อถูพื้นแบบเปียก
ถ้าหากต้องการฟังก์ชั่นการถูพื้นทั้งแบบเปียก หรือ แบบแห้ง ไปด้วย อันดับแรกเราก็ต้องนำถังน้ำ พร้อมกับ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ มาเตรียม หลังจากนั้นก็ติดมันเข้าไว้ด้วยกัน ถ้าหากต้องการถูพื้นแบบเปียกก็เติมน้ำลงไปในถังน้ำ (ถ้าต้องการแค่ถูแห้ง ก็ไม่ต้องเติมน้ำ) และขั้นตอนสุดท้ายคือ นำไปติดไว้ที่พื้นที่ติดตั้งถังน้ำ (อยู่ด้านล่าง ส่วนท้ายของตัวเครื่อง) ก็เป็นอันเสร็จพิธี
4. การเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่น ผ่าน Wi-Fi
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi ตัวนี้ สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi เพื่อสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นได้ด้วย ถ้าใครมีสมาร์ทโฟน ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android ควรต้องลองใช้ เพราะมันสะดวกมากจริงๆ โดยอันดับแรก ต้องดาวน์โหลด “แอพ Mister Robot” กันก่อน (ของใครของมันเลย)
- ดาวน์โหลดแอพ Mister Robot สำหรับ iOS ผ่าน App Store
- ดาวน์โหลดแอพ Mister Robot สำหรับ Android ผ่าน Play Store
เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ให้เริ่มทำการเชื่อมต่อแอพฯ เข้ากับตัวเครื่องหุ่นยนต์ โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนดังนี้
- เปิด แอพพลิเคชั่น Mister Robot ที่ดาวน์โหลดมา บนสมาร์ทโฟน หลังจากนั้น
- For Non-Member (สำหรับผู้ยังไม่ได้ลงทะเบียน) : กด “ปุ่ม REGISTER” เพื่อทำการลงทะเบียนตามขั้นตอน (กรอกข้อมูลแค่ ชื่อผู้ใช้ อีเมล รหัสผ่าน และ ยืนยันรหัสผ่านอีกครั้ง) เท่านั้นเอง
- For Member (สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไว้แล้ว) : สามารถกด “ปุ่ม LOGIN” เพื่อใส่ ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน เพื่อเข้าสู่ระบบได้ทันที
- กด “ปุ่ม +” เพื่อทำการเพิ่มอุปกรณ์ (Add Device) เข้าระบบ
- กด “ปุ่ม HOME” บนตัวเครื่องค้างเอาไว้ ประมาณ 3-4 วินาที จนกว่าจะมีคำว่า “CONN” ปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอแสดงผล LED
- ใส่รหัสผ่านของ Wi-Fi ที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ปัจจุบัน หลังจากนั้นกด “ปุ่ม SEARCH ROBOT” หลังจากนั้น หน้าจอมันจะแสดงคำว่า “Searching Device” แล้วรอสักครู่
- เมื่อเจอแล้วจะแสดงว่า “Device Found” ด้านล่าง พร้อมขึ้นชื่อของหุ่นยนต์ขึ้นมา่า “Mister Robot” มา พร้อม “ปุ่ม Rename” ให้เปลี่ยนชื่อเรียกของหุ่นยนต์ไปเป็นชื่อที่เราต้องการ (จะเปลี่ยนก็ได้หรือไม่เปลี่ยนก็ได้) ถ้าหากไม่ต้องการเปลี่ยนชื่อ และ ดำเนินการต่อให้กด “ปุ่ม +” ด้านขวาสุด ระบบจะแสดงคำว่า “Registering ..” บนหน้าจอ แล้วรอสัครู่
- หน้าจอจะแสดงรายการ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่อยู่ในการควบคุม หลังจากนั้นก็เริ่มต้นใช้งานได้เลย
หมายเหตุ : ขั้นตอนการเชื่อมต่อ หรือ หน้าตาแอพพลิเคชั่น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ตามการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ของผู้พัฒนา ดังนั้นอาจจะไม่เหมือนขั้นตอนในที่นี้ทั้งหมด 100%
รูปภาพประกอบการเชื่อมต่อ Wi-Fi ระหว่าง แอพ Mister Robot กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของแอพพลิเคชั่น Mister Robot กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
- ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Robot Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
- กำลังทำงาน (Working)
- กำลังกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
- ชาร์จแบตเตอรี่เสร็จสิ้น (Finish Charge)
- ดูสถานะปริมาณไฟในแบตเตอรี่ (Battery Status) ได้ว่าเหลืออยู่เท่าไหร่แล้ว (ในแถบสถานะจะมีสามขีด)
- สามารถควบคุมเครื่องให้สามารถกระทำการได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- สั่งเริ่มต้นทำงาน (Start)
- สั่งกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
- สั่งหยุดการทำงานชั่วคราว (Pause)
- สามารถสั่งปรับเปลี่ยนโหมดการดูดฝุ่น (Change Cleaning Mode) ได้ทั้งหมด 4 แบบคือ
- โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ (Auto Mode)
- โหมดทำความสะอาดแบบเฉพาะจุด (Spot Mode)
- โหมดทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง (Edge Mode)
- โหมดทำความสะอาดแบบซิกแซก (Zig-Zag Mode)
- สามารถสั่งควบคุมบังคับทิศทางเครื่องได้เอง (Manual Mode)
- เดินหน้า (Forward / Front)
- ถอยหลัง (Back)
- เลี้ยวซ้าย (Left)
- เลี้ยวขวา (Right)
- สามารถตั้งเวลาทำความสะอาด (Schedule Cleaning) ได้แบบยืดหยุ่น เช่น วันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ หรือ วันนี้ทำเวลานี้ พรุ่งนี้ทำอีกเวลานึง ก็สามารถตั้งค่าได้
- ดูรายละเอียดของตัวเครื่อง และ แอพพลิเคชั่น (Machine Info and Application Info)
ข้อเสียของการใช้แอพพลิเคชั่น Mister Robot 🙁
- ในบางครั้งขณะใช้แอพพลิเคชั่นอยู่ เครื่องจะขึ้นสถานะว่า “Offline” ทั้งๆ ที่เครื่องเปิดอยู่ การแก้ไขคือ อาจจะต้องออกจากแอพฯ แล้วเข้ามาใหม่ ถึงจะสามารถใช้งานได้ตามปกติ
- หากใช้งานในโหมดควบคุมทิศทางเครื่องเอง อาจมีการตอบสนองช้าไปนิดนึง ไม่รวดเร็วทันใจเหมือนสั่งงานผ่านรีโมทคอนโทรล
รูปประกอบความสามารถของ การใช้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi ผ่านแอพพลิเคชั่น Mister Robot
คำถามที่อยากรู้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
ช่วงบอกเล่าประสบการณ์การใช้งานเครื่อง หรือที่เรียกว่าช่วง ถามเองตอบเอง ก็ขอนำเสนอ 10 คำถาม ที่ผม (เดา) ว่าคุณต้องอยากรู้มานำเสนอกัน
1. ความรู้สึกหลังการใช้งานแอพพลิเคชั่น เป็นอย่างไรบ้าง ?
ยอมรับว่าตอนแรกไม่ค่อยเชื่อมั่น และ ไว้ใจ กับการใช้ แอพพลิเคชั่น Mister Robot เท่าไหร่ เพราะด้วยความที่เห็นว่ามันราคาถูก แถมยังเล่นแอพฯ ได้อีกด้วย มันจะดีจริงๆ เหรอ ?
หลังจากใช้งานจริงๆ ก็พบว่ามันใช้งานได้ดี ไม่แพ้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาแพงๆ ที่ใช้แอพพลิเคชั่นได้เลยตอบสนองได้ไว แต่มีดีเลย์บ้าง ค้างบ้างนิดหน่อย (โดยรวมแล้วถือว่า “รับได้”)
2. อัตราการกินไฟ ของเครื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
ผมได้ทดลองใช้อุปกรณ์ ทดสอบอัตราการกินไฟ (Power Consumption Meter) ที่มีอยู่ในการคำนวณค่าไฟของเครื่องนี้ โดยถ้าประเมินคร่าวๆ ว่าถ้าตัวเครื่องทำงานจนแบตเตอรี่เกือบหมด ระยะเวลาการใช้ไฟสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อครั้ง (ต่อวัน) และ ระยะเวลาที่เหลืออีก 19 ชั่วโมง (ต่อวัน) เอาไว้ให้สำหรับขณะเสียบชาร์จเอาไว้ และ อีก 1 ชั่วโมงที่เหลือ (ต่อวัน) เผื่อเอาไว้ขณะที่เครื่องออกจากแท่นชาร์จไปวิ่งทำความสะอาด ค่าไฟต่อเดือนจะอยู่ที่
สถานการณ์ (Situation) |
การกินไฟ (Power Consumption) |
การคำนวณค่าไฟ (Power Consumption Calculation) |
ค่าไฟ / เดือน (Electricity Charge / Month) |
1. ขณะไฟยังไม่เต็มแบตเตอรี่ (When Charging) |
≈ 4.4 วัตต์ | (4.4 วัตต์* x 4 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต**) / 1,000 | 2.70 บาท |
2. ขณะไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว (Fully Charged) |
≈ 1.2 วัตต์ | (1.2 วัตต์ x 19 ชั่วโมง* x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต**) / 1,000 | 3.60 บาท |
รวมทั้งสิ้นค่าไฟของเครื่องนี้ประมาณ 6.30 บาท ต่อเดือน
หมายเหตุ* : ตัวเลข 4.4 วัตต์ (Watts) นี้ เป็นค่าเฉลี่ยที่เพราะตอนแรกจำนวนวัตต์อาจจะขึ้นไปสูงกว่านี้ และพอเมื่อชาร์จไฟไปสักพักก็อาจจะลดต่ำกว่านี้ แต่เรายังคงใช้ค่านี้ (4.4 วัตต์) ในการคำนวณค่าไฟตลอดการชาร์จ 4 ชั่วโมง เพื่อเป็นการคำนวณค่าสูงสุด ดังนั้นค่าไฟที่แท้จริงจะถูกกว่านี้อีกแน่นอน
หมายเหตุ** : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน
3. สามารถวิ่งดูดได้ทั่วทุกบริเวณห้อง หรือไม่ ?
สามารถเข้าตามตรอก ออกตามประตู เอ้ย สามารถวิ่งเข้าออก ห้องโถง ห้องนอน ได้สบายๆ ทั้งนี้รวมไปถึง ห้องนอนใหญ่ ห้องนอนเล็ก รวม 3 ห้องย่อยได้อย่างสบาย และถ้าหากเผลอลืมเปิดประตู้ห้องน้ำเอาไว้ด้วย มันก็วิ่งเข้าไปกับเขาด้วยนะ แถมยังออกมาได้อีกด้วย (ถ้าไม่ติดแหง็กกับอะไรเสียก่อน)
4. สามารถเอาตัวรอดจากอุปสรรค สิ่งกีดขวางต่างๆ ได้ดีแค่ไหน ?
มันมีทักษะในการเอาตัวรอดจากสิ่งกีดขวางได้ดี โดยมันจะไม่เอาตัวเองเข้าไปติดแหง็กอยู่ในพรมเช็ดเท้า ได้ง่ายๆ หากมันติดขัด มันจะพยายามพลิกซ้าย พลิกขวา เพื่อเอาตัวรอดออกมา และถ้าพื้นที่ไหนเข้าไปไม่ได้ก็จะไม่ฝืนวิ่งเข้าไป
แต่ในกรณีที่ ถ้าเข้าไปแล้ว ดันติดแหง็กไม่ไหวจริงๆ ก็จะส่งสัญญาณ ออกมาเป็นรหัสข้อผิดพลาด (Error Code) ที่จะแสดงออกมาบนหน้าจอแสดงผล LED บนตัวเครื่อง (สามารถดูความหมายรหัสได้จากส่วนของ “Troubleshooting” ในคู่มือภาษาอังกฤษได้เลย)
5. ขณะที่ Mister Robot Duo Wi-Fi กำลังปฏิบัติงานอยู่ มีเสียงดังหรือไม่ ?
ใช้แอพ LINE Tools ในการวัดระดับเสียง ขณะที่เครื่องนี้กำลังทำงาน (ขณะวัด ระยะห่างจากเครื่องประมาณ 1 เมตร) จะอยู่ที่ประมาณ 60 เดซิเบล (dB) ถือว่าค่อนข้างเงียบพอสมควรเลย
6. ปริมาณฝุ่นหลังการดูดฝุ่นได้ 3 วัน เป็นอย่างไร ?
จากภาพด้านบน สังเกตเห็นว่า เศษฝุ่นละอองขนาดเล็ก-ใหญ่ ส่วนมากจะไปเกาะอยู่ที่ แผ่นกรองอากาศชั้นแรก มากกว่า นอนกองอยู่ภายใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง สาเหตุเพราะว่าแรงลมดูดจาก พัดลมช่วยดูดฝุ่น ที่อยู่ท้ายเครื่อง ช่วยดูดให้เศษฝุ่น เส้นผม ขนสัตว์ ต่างๆ มาติดอยู่ที่แผ่นกรองอากาศมากกว่า นั่นเอง
7. ระยะเวลาการรับประกันเครื่องกี่ปี ?
ภายในกล่องผลิตภัณฑ์จะมี บัตรรับประกันสินค้า (Warranty Card) มาให้ด้วย กรุณาอย่าทิ้งหรืออย่าทำหาย เพราะในบัตรเขามีรายละเอียดว่า ต้องแสดงบัตรรับประกันสินค้าทุกครั้ง เมื่อเข้ารับบริการ มิเช่นนั้นจะคิดค่าใช้จ่ายในการซ่อม
โดยเงื่อนไขการรับประกันเครื่อง รับประกันตัวเครื่อง 1 ปี และ แบตเตอรี่ 6 เดือน โดย บริษัท เอ็ม เอ็ม โกลบอลเทรด จำกัด ผู้จัดจำหน่าย
หมายเหตุ : ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ แปรงกวาดข้าง และ แผ่นกรองอากาศ จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน เพราะเป็นอะไหล่ชนิดสิ้นเปลือง
8. ติดต่อสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi ได้ที่ไหน ?
คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi นี้ได้ผ่านทางหลายช่องทาง ถ้าไปซื้อหน้าร้านก็ เช่นที่ ห้างโฮมโปร (HomePro) ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล (Central Department Store) ที่ร่วมรายการ
แต่ถ้าจะเอาให้มั่นใจจริงๆ ขอแนะนำว่าให้ โทรศัพท์ หรือส่งข้อความ (Inbox Message) ไปติดต่อสอบถามก่อน ได้ที่รายละเอียดที่อยู่ ด้านล่างนี้เลย
- Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 08-7087-5352
- Website (เว็บไซต์) : http://www.misterrobotcleaner.com
- Line ID (ไลน์ไอดี) : mister_robot
- Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : misterrobotcleaner (มิสเตอร์โรบอทคลีนเนอร์) ตามกรอบด้านล่าง
บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Duo Wi-Fi
มาถึงช่วยสุดท้ายของการรีวิวแล้ว เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ของผมทุกครั้ง ที่จะต้องมาเขียนบทสรุป ข้อดีข้อเสีย ให้ผู้อ่านได้ทราบแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้เป็นข้อมูล และ ส่วนช่วยในการประกอบการตัดสินใจว่าจะซื้อดีหรือไม่ ลองมาดูข้อดีข้อเสีย ที่ผมพบกันเลยดีกว่าครับ
ข้อดี 🙂
- เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาถูก (หมื่นต้นๆ) ที่สามารถสั่งงานด้วยแอพพลิเคชั่นผ่าน Wi-Fi ได้
- เป็นทั้ง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และ หุ่นยนต์ถูพื้น แบบเปียก ได้ในตัวเดียวกัน คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
- มีพัดลมช่วยดูดอากาศ ด้านหลังเครื่อง ช่วยเสริมแรงดูดด้วยพลังลม ให้ฝุ่นขนาดเล็กๆ เข้าไปในเครื่องได้เป็นอย่างดี (หลักการเหมือน เครื่องดูดฝุ่น)
- สามารถเลือกระบบการดูดฝุ่นเข้าเครื่อง ได้ 2 รูปแบบคือ ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก และ ระบบดูดโดยตรง ให้เหมาะกับสถานการณ์
- สามารถควบคุมเครื่องได้ 3 ช่องทางหลักๆ คือ
- ผ่านปุ่มกดสั่งงานเครื่องบนตัวเครื่อง
- ผ่านรีโมทคอนโทรล
- ผ่านแอพพลิเคชั่น
- การวิ่งกลับแท่นชาร์จค่อนข้างแม่นยำ แม้จะไม่ได้ตรงดิ่งกลับมาเลย แต่ก็กลับถูกอยู่ดี 100% แต่อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย
- มีออปชั่นชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ที่อยู่ในเครื่องได้ 2 ทางคือ
- ชาร์จผ่านแท่นชาร์จปกติ
- ชาร์จผ่านช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ (เผื่อในกรณีแท่นชาร์จเสีย หรือ ลืมเอาแท่นชาร์จมา)
- สวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก มีพลาสติกใส ห่อหุ้มที่ตัวปุ่ม เพื่อป้องกันฝุ่นละออง เข้าไปด้านในของ แผงวงจรภายในตัวเครื่อง (เห็นน้อยมาก ที่มีพลาสติกใส คลุมแบบนี้)
- ใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนใช้เวลาชาร์จไฟไม่นาน แถมมีการจ่ายไฟแรงคงที่สม่ำเสมอ
- การแจ้งเตือนด้วยเสียงแจ้งเตือน และ เสียงคนพูด เสียงดังฟังชัด
- คู่มือการใช้งานให้ทั้งภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย มาด้วย
ข้อเสีย 🙁
- ระยะเวลาการทำความสะอาดโดยเฉลี่ย ถ้าเทียบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ ถือว่านานไปนิดนึง
- ไม่มีถ่านแบตเตอรี่ที่ใช้กับรีโมทคอนโทรลมาให้ต้องไปหาซื้อเอง
- การใช้งานแอพพลิเคชั่นในบางครั้ง ยังมีหลุดบ้าง สั่งงานแล้วเงียบบ้าง (รออัพเดทแอพพลิเคชั่น จากผู้พัฒนา)
- ไม่มีอุปกรณ์สร้างกำแพงจำลองมาให้
สอบถามค่ะ หุ่นดูดฝุ่นรุ่นไหนที่ได้ลองมาแล้วเดินกลับบ้านเร็ว ตรงดิ่ง และแม่นยำที่สุดคะ เวลาแบตใกล้จะหมดอ่ะค่ะ
ตัวนี้ (Mister Robot Duo Wi-Fi) ก็ได้อยู่นะครับในราคาหมื่นต้นๆ คุ้มค่าครับ ถ้าไม่งั้นก็ต้องเป็นตัวแพงๆ (ราคา 2 หมื่น+) ไปเลยครับ อย่างเช่นพวก Neato Botvac ทุกรุ่นครับ หรือไม่ก็ Samsung VR9300 หรือ VR7000 ก็ได้ครับ
ข้อมูลดีมากครับ
สำหรับการใช้งานแอพพลิเคชั่น สามารถล๊อกอิน2แอคเคาท์ ต่อโรบอทอันเดียวได้ไหมคะ
มีคลิปตอนที่เครื่องสามารถปรับระดับความแรงในการดูดอัตโนมัติไหมคะ?
พอดีว่าไม่ได้อัดไว้ครับผม
ช่วยเลือก ระหว่าง
Mister robot mapping กับ duo wifi
หน่อครับ
ที่ต้องการ
1 ความสะอาด และความเร็ว (ลักษณการเดิน)
2 ความสะดวก
ถ้าในแง่ของ ความสะอาดผมว่า มันสามารถดูดฝุ่นได้พอๆ กันนะครับ ส่วนลักษณะการเดินผมชอบ Mister Robot Duo Wi-Fi ตัวนี้มากกว่า ขณะที่ความสะดวการใช้งานผมก็ชอบ Duo Wi-Fi มากกว่า เพราะสั่งงานผ่าน App บนมือถือได้ด้วย
แต่ถ้าพูดถึงความคล่องแคล่วว่องไวตัว Hybrid Mapping จะเหนือกว่า เพราะมีขนาดเล็กกว่าอยู่พอสมควรเลยครับ เรื่องการถูบ้าน Hybrid Mapping ก็ดีกว่า เพราะมีขนาดถังน้ำท้ายเครื่องที่ใหญ่กว่า (0.30 ลิตร) แต่ Duo Wi-Fi มีแค่ 0.18 ลิตร เท่านั้นครับ