iBOT i900 Hybrid Dibea
รีวิวนี้เป็นรีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea (อ่านว่า “ไฮบริดดีบี“) ซึ่งคำว่า “Hybrid – ไฮบริด” นั้นหมายความว่า เครื่องนี้มันใช้ มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงแบบไร้แปรงถ่าน (BLDC – Brushless DC Motor) ซึ่งเสียงจะเงียบลง แต่สามารถดูดฝุ่นได้แรงขึ้น ในขณะที่คำว่า “Dibea – ดีบี” หมายถึง “เดซิเบล (dB)” นั่นหมายถึงการเน้นย้ำ จุดที่มันมีเสียงขณะทำงานที่เงียบมากๆ นั่นเอง ก็จัดเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iBOT ตัวที่ 2 ที่ถูกนำมารีวิว บนเว็บไซต์ Thanop.com แห่งนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iBOT i800 Hybrid มาแล้วทีหนึ่งเมื่อปีก่อน
โดย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT รุ่น i900 Hybrid Dibea ตัวนี้มีการเพิ่มสิ่งที่น่าสนใจเข้ามาอยู่มากมายพอสมควร อาทิ ระบบการนำทางแบบ i-Map Navigation ที่เครื่องจะมีความสามารถในการจดจำพื้นที่ ที่ได้ทำความสะอาดไปแล้ว ขณะที่ มีที่ขนาดเล็กลงจากตัวก่อน (i800 Hybrid) (จากที่สูง 92 มิลลิเมตร เหลือเพียง 76 มิลลิเมตร) และ หน้าตาตัวเครื่องก็เปลี่ยนแปลงไปอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
แม้ว่าตัวเครื่องจะมีขนาดบางลงไปเยอะ แต่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตัวนี้ก็ยังมีการเสริมจุดเด่น ตรงที่การเพิ่มออปชั่น ติดตั้งถังน้ำขนาดใหญ่ เข้าไปด้วย เพื่อที่จะให้มันสามารถ ถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) ได้ยาวนาน อีกด้วย
ในขณะที่รุ่น i800 Hybrid ก่อนหน้านี้ จะสามารถทำได้แค่ถูพื้นแบบแห้งได้อย่างเดียวเท่านั้น ในขณะที่มันยังมี ความสามารถเด่น อื่นๆ อีกเพียบ อาทิ เซ็นเซอร์ไจโรสโคปโหมดทำความสะอาดที่หลากหลาย เซ็นเซอร์ป้องกันการตกจากที่สูง
เนื่องจากมีเนื้อหารีวิวของผลิตภัณฑ์นี้เป็นจำนวนมาก ด้านล่างนี้จะ เมนูลัด (Shortcut Menu) เพื่อให้คุณได้กระโดดข้าม เข้าไปถึงเนื้อหาต่างๆ ที่ต้องการได้ อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- รู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แบรนด์ iBOT
- อุปกรณ์ที่ให้มาภายใน กล่องผลิตภัณฑ์
- ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของเครื่อง
- คุณสมบัติ และ ความสามารถหลักๆ ของ Mister Robot Hybrid Camera Map
- สำรวจส่วนประกอบรอบๆ ตัวเครื่อง
- เริ่มต้นการใช้งานเครื่องจริง
- คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) เกี่ยวกับการใช้งาน
- บทสรุปการใช้งาน
ด้านล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea แบบละเอียดยิบ ลองสละเวลาไปดูก่อนได้เลย ถ้าอยากหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็อ่านบทความนี้ต่อได้เลย
รู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แบรนด์ iBOT
คุณสามารถทำความรู้จักกับ ประวัติที่มาที่ไปของ ผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ทำความสะอาด จาก iBOT ให้มากกว่านี้ พร้อมรายละเอียดติดต่อ สถานที่สั่งซื้อ ฯลฯ ได้ที่ลิงค์เชื่อมต่อไปยังหน้ารายละเอียดด้านล่างนี้เลย
⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iBOT
อุปกรณ์ที่ให้มาภายใน กล่องผลิตภัณฑ์
มาดูอุปกรณ์ที่ทางผู้ผลิตเขา ติดไม้ติดมือให้มากันดูว่ามีอะไร ที่น่าสนใจกันบ้าง เพราะว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น นั้นจะดูน่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ บางทีก็ขึ้นอยู่กับ อุปกรณ์เสริม ที่ติดมาให้ด้วยเช่นกัน เอาเป็นว่ามาดูกันตามรูปประกอบด้านล่างนี้เลย
อุปกรณ์ที่ทาง iBOT i900 Hybrid Dibea นั้นให้มาในกล่อง ก็จะมีอยู่ทั้งหมด 11 ชนิด ด้วยกัน ถือว่าจัดเต็มกันเลยทีเดียว มาเริ่มกันเลย ตามรูปภาพ
1. iBOT i900 Hybrid Dibea (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น x 1 เครื่อง)
เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea เป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบบทรงกลม (Round Shape Robot Vacuum Cleaner) สีน้ำเงิน มีขนาดมิติ 310 x 310 x 76 มิลลิเมตร (มีความบางเพียง 7.6 เซนติเมตร เท่านั้น) ขณะที่น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 2.4 กิโลกรัม ถือว่าเบาเลยทีเดียว
2. Charge Base (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)
แท่นชาร์จ (Charge Base) เปรียบเสมือนบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มีหน้าที่เอาไว้ใช้ชาร์จไฟ เข้าไปยังตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น โดยมันจะชาร์จผ่านขั้วโลหะที่อยู่ด้านหน้าของแท่นชาร์จ เข้าไปยัง ขั้วโลหะที่อยู่ด้านล่างของของตัวเครื่องนั่นเอง
และนอกจากนี้แล้ว เวลาที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เสร็จสิ้นภารกิจ การทำงานในแต่ละครั้ง มันก็จะวิ่งเข้ามาจอดที่ แท่นชาร์จ โดยอัตโนมัติ เพื่อชาร์จไฟให้เต็มแบตเตอรี่ และ รอการปฏิบัติงาน ในครั้งต่อไปอีกด้วย
3. Adapter Set (ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ x 1 ชุด)
อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ มีหน้าที่ แปลงไฟจาก ไฟบ้าน (ไฟฟ้ากระแสสลับ – AC Power) ไปเป็น ไฟที่ใช้ชาร์จเข้าไปภายในตัวเครื่อง (ไฟฟ้ากระแสตรง – DC Power) มันสามารถชาร์จไฟ ผ่านแท่นชาร์จ หรือจะ ชาร์จเข้าที่ตัวเครื่องโดยตรงก็ได้ ทางผู้ผลิตเขาได้ให้ สายไฟขนาดความยาวประมาณ 1.5 เมตร (วัดด้วยตลับเมตรเอง) มาให้
4. Travel Adapter (หัวปลั๊กแปลงไฟ x 1 หัว)
จัดเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรกตั้งแต่รีวิวมา ที่ได้ให้ หัวปลั๊กแปลงไฟ (Travel Adapter) แถมติดกล่องผลิตภัณ์มาด้วย โดยลักษณะจะเป็น ฝั่งขาเข้า (ฝั่งที่เสียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้า) จะแปลงจากหัวปลั๊กแบบใด ลักษณะใดมาก็ได้ แต่ว่า ฝั่งขาออก (ฝั่งที่เสียบกับปลั๊กไฟบ้าน) ก็จะถูกแปลงออกมาเป็น ปลั๊กหัวกลม ทั้ง 2 ขา
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราใช้งานกับปลั๊กไฟเมืองไทย ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ หัวปลั๊กแปลงไฟ ตัวนี้ก็ได้ เพราะหัวเสียบของชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ เป็น ปลั๊กหัวแบน อยู่ดีแล้ว ซึ่งก็สามารถใช้ได้กับปลั๊กไฟในประเทศไทยอยู่ดี
5. Water Tank (ถังน้ำ x 1 ถัง)
ถังน้ำ หรือ แท๊งค์น้ำ (Water Tank) มีความจุ 300 มิลลิลิตร (0.3 ลิตร) เป็นออปชั่นเสริม ที่สามารถติดตั้ง ในเวลาที่ต้องการจะถูพื้นแบบเปียก โดยจะมีช่องสำหรับเติมน้ำ เป็นจุกยางอยู่ที่บริเวณด้านบนซ้ายมือ (มีสัญลักษณ์ไอคอนรูปก๊อกน้ำสีฟ้ากำกับไว้อยู่) เพื่อที่จะทำให้ผ้าม็อบที่ถูกติดตั้งเข้ากับตัว ถังเก็บน้ำ เพื่อรักษาความเปียกชื้น ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงเวลา ในขณะทำการถูพื้น
6. Microfiber Cloth (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ x 2 ผืน)
ผ้าถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cloth) เป็นผ้าทำความสะอาด ที่มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติในการถูพื้น และ สามารถจับฝุ่นที่อยู่บนพื้นได้ดี เอาไว้ใช้ สำหรับใช้ในการถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) มีให้มา 2 ผืน (ติดตั้งอยู่ใต้ถังน้ำแล้ว 1 ผืน) ด้านการดูแลรักษา ก็สามารถนำผ้าไปซักทำความสะอาดได้เลย
7. Cleaning Brush (แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ x 1 แปรง)
เมื่อเราใช้งานเครื่องไปนานๆ ตัวเครื่องมันเองก็ย่อมจะสกปรกไปด้วยธรรมดา ดังนั้นเราก็ต้องทำความสะอาดเครื่องด้วย เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานเครื่อง ให้อยู่กับเราไปนานๆ ด้วยเหตุนี้เองทางผู้ผลิต เขาจึงให้ แปรงทำความสะอาดอเนกประสงค์ มาเพื่อทำความสะอาดตามขอบ ซอก มุม ต่างๆ ของตัวเครื่องเอง โดยหัวแปรงมี 2 ฝั่ง เป็นแบบขน
8. Side Brush (แปรงกวาดข้าง x 2 ชุด = 4 แปรง)
แปรงกวาดข้าง อุปกรณ์พื้นฐานที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทรงกลม ทุกตัวจะต้องให้มา เนื่องจากมันจะมีจุดบอดอยู่ตรงที่การทำความสะอาดมุมห้องต่างๆ ที่เป็นแบบงอฉาก 90 องศา ด้วยเหตุนี้ แปรงกวาดข้างจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจุดบอดตรงนี้ได้
โดยแปรงกวาดข้างของเครื่องนี้ เป็นแปรงกวาดข้างสีดำ มีทั้งหมด 3 แฉก (3 ก้าน) มีขนแปรงสีดำเงา พร้อมพลาสแถบติกยึดที่ขั้วของแปรง เพื่อป้องกันขนแปรงหลุดออกมาขณะกำลังหมุนทำงาน ขนาดความยาวของขนแปรงในแต่ละแฉก จะอยู่ที่ 5 เซนติเมตร ให้มาทั้งหมด 2 ชุด (ชุดละ 2 แปรง) เผื่อสำรอง รวมทั้งสิ้น 4 แปรง
9. Remote Control and AAA Battery (รีโมทคอนโทรล x 1 อัน และ ถ่านแบตเตอรี่แบบ AAA x 2 ก้อน)
รีโมทคอนโทรล เอาไว้ใช้สำหรับ ตั้งค่าการทำงานต่างๆ ของเครื่อง อาทิ การตั้งเวลาเครื่อง การตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้า รวมไปถึงการปรับเปลี่ยน โหมดการทำความสะอาดต่างๆ ทั้งแบบอัตโนมัติ และ แบบควบคุมทิศทางเครื่องด้วยเอง ใช้ถ่านแบตเตอรี่ขนาดเล็กแบบ AAA จำนวน 2 ก้อน (มีแถมมาให้ในกล่องจำนวน 2 ก้อน) (ดูรายละเอียดรีโมทคอนโทรลเพิ่มเติม)
10. Spare HEPA Filter (แผ่นกรองอากาศ HEPA ชุดสำรอง x 1 แผ่น)
แผ่นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสสีขาว มีลักษณะเป็นซี่ถี่ๆ แบบนี้จะเรียกว่า แผ่นกรองอากาศ HEPA (HEPA Filter) คำว่า HEPA ย่อมาจากคำว่า “High Efficiency Particulate Air Filter” เป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ที่มีความสามารถในการดักจับฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่างๆ ที่มีอนุภาคเล็กๆ (ถึงเล็กมากๆ) ได้ดีมาก หน้าที่ของมันคือ กรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ ที่ถูกดูดเข้ามาภายในเครื่องพร้อมอากาศ ไม่ให้หลุดลอดออกกลับสู่บรรยากาศข้างนอกอีก เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ใช้งาน
11. User Manual (คู่มือการใช้งาน x 1 เล่ม)
หนังสือคู่มือการใช้งานภาษาไทย มีคำบรรยายรายละเอียด พร้อมรูปประกอบ ต่างๆ อย่างละเอียดยิบ เนื้อหาภายในก็จะเป็น การใช้งาน การบำรุงรักษา มีทั้งหมด 15 หน้า
ข้อมูลจำเพาะ ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea
หลังจากที่ได้ดูข้อมูลของอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ลองมาดูข้อมูลจำเพาะ หรือ ข้อมูลเทคนิค (Technical Specifications) ของตัวเครื่องกันดูบ้าง ว่าจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร
รายละเอียด (Specification) |
|
ขนาดมิติ (Dimension) |
310 x 310 x 76 มม. |
น้ำหนัก (Weight) |
2.4 กิโลกรัม |
ไฟเข้า (Input) |
AC 100-240V 50/60 Hz |
ไฟออก (Output) |
DC 19V 0.6A (กินไฟ 18~30W) |
ประเภทของแบตเตอรี่ (Battery Type) |
Li-Ion |
ปริมาณความจุแบตเตอรี่ (Battery Capacity) |
2,600 mAh |
ระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง (Noise Level) |
140 – 160 นาที (ขึ้นอยู่กับโหมดของการใช้งาน) |
ระดับเสียง (Noise Level) |
ประมาณ 46 dB. (เดซิเบล) – โหมดปกติ ประมาณ 55 dB. (เดซิเบล) – โหมด MAX (วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร) |
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร) (Dustbin Capacity – Litre) |
0.45 ลิตร (450 mL) |
ขนาดความจุถังน้ำ (ลิตร) (Water Tank Capacity – Litre) |
0.30 ลิตร (300 mL) |
คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iBOT i900 Hybrid Dibea
มาดูกันที่ คุณสมบัติ และ ความสามารถเด่นของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iBOT i800 Hybrid กันดูบ้างนะ ว่ามีอะไร ส่วนไหน ที่น่าสนใจกันบ้าง
1. BLDC Hybrid Motor (มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่น หมุน 9,000-10,000 รอบ/นาที ดูดแรง แต่เสียงเงียบ)
เครื่องนี้ใช้ เทคโนโลยีมอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นแบบ BLDC หรือที่ย่อมาจาก คำว่า “Brushless DC Mortor (มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงแบบไร้แปรงถ่าน)” จากประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) เป็นเทคโนโลยี ที่มีความสามารถในการ หมุนใบพัดได้แรงในระดับ 9,000 ถึง 10,000 รอบ/นาที (RPM) ถือว่าหมุนแรงมากๆ กว่ามอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถดูดฝุ่นขนาดเล็กใหญ่ ได้สะอาดหมดจด รวมไปถึงยังสามารถที่จะ สกรูน็อต ต่างๆ ในบางตัวได้เช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงเงียบเพียง 40 เดซิเบล (dB.) เท่านั้น
2. i-Map Navigation System (ระบบการนำทางแบบ i-Map Navigation)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea ตัวนี้ได้พกเอาเทคโนโลยีการนำทางต่างๆ เข้ามามากมาย ภายใต้ชื่อ “i-Map Navigation” เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การวิ่งทำความสะอาดนั้นสมบูรณ์แบบ ครอบคลุมครบถ้วนทุกพื้นที่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ระบบนำทางด้วยสมองกลอัจฉริยะ (Smart Processor) ชิปเซ็นเซอร์อินฟราเรด (Infrared Sensor) รวมไปถึง เซ็นเซอร์ไจโรสโคป (Gyroscope Sensor) ที่ช่วยในเรื่องของการเลี้ยวกลับ พลิกตัวทำได้แบบไม่พลาดทุกองศา ทุกตารางนิ้ว นั่นเอง
3. Various Cleaning Modes (มีรูปแบบโหมดทำความสะอาดที่หลากหลาย)
มีโหมดการทำความสะอาดที่หลากหลาย กว่า 4 รูปแบบด้วยกัน เพื่อให้ได้คุณนำไปประยุกต์ใช้ ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม โดยรายละเอียดมีดังต่อไปนี้
- AUTO Mode (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ) : เครื่องจะวิ่งไปทำความสะอาดให้ครบทั่วพื้นที่ ที่มันสามารถเข้าถึงได้ โดยเป็นการวิ่งแบบเป็นเส้นตรง ขึ้นลง ขึ้นลง และ จะกลับมาที่แท่นชาร์จอีกครั้งเมื่อการทำความสะอาดเสร็จสิ้น
- SPOT Mode (โหมดทำความสะอาดเฉพาะจุด) : โหมดพื้นฐาน ที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเกือบทุกรุ่น ทุกยี่ห้อในปัจจุบัน จะต้องมี มันใช้ทำความสะอาดพื้นที่ในวงจำกัด ลักษณะการวิ่งจะเป็นแบบวงกลม ใช้ในกรณีที่ เราอาจจะทำเศษขนมขบเคี้ยวต่างๆ หกเลอะเทอะ รวมไปถึง เศษยางลบ เศษเล็บ ที่เพิ่งตัดเพิ่งโกนเสร็จ ก็ใช้งานโหมดนี้ได้
- RANDOM Mode (โหมดทำความสะอาดแบบสุ่ม) : การทำงานก็ตามชื่อของโหมดเลยคือ การวิ่งทำความสะอาดแบบสุ่ม มีการผสมผสานกันระหว่าง การวิ่งแบบชิดขอบ วิ่งเป็นวงกลม และ วิ่งเป็นเส้นตรง โดยทั้งหมดทั้งมวล จะใช้การประมวลผลของ CPU ในตัวเครื่อง ว่าจะใช้รูปแบบการทำความสะอาดในลักษณะใด
- MAX Mode (โหมดทำความสะอาดแบบเต็มกำลัง) : มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นแบบ BLDC ของตัวเครื่อง จะทำงานแรงขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้เครื่องมีพลังดูดที่แรงขึ้น ใช้ในกรณีที่เวลาเราไม่ได้อยู่บ้านเป็นเวลานานๆ (เช่นไป ต่างจังหวัด ต่างประเทศ) กลับมาบ้าน ก็เปิดใช้โหมดนี้สักครั้ง เพื่อเป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning) สักครั้ง
4. Automatic Energy Saving Mode (ระบบประหยัดพลังงานอัตโนมัติ)
มีระบบประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ ในกรณีที่ถ้าเราเปิดเครื่องแต่ไม่ได้ใช้งานเกิน 1 นาที เครื่องจะปิดการทำงานโดยอัตโนมัติทันที เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานของแบตเตอรี่
5. Slim Shape (มีความบางเพียง 7.6 เซนติเมตร)
เครื่องนี้มีความสูง (ความบาง) อยู่ที่เพียง 76 มิลลิเมตร (หรือ 7.6 เซนติเมตร) เท่านั้น ถือว่าค่อนข้างเตี้ยเลยทีเดียว เพราะยิ่งมีความเตี้ยมากท่าไหร่ ก็จะสามารถลอดมุด เข้าไปข้างใต้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อย่างโซฟา หรือ ขาเก้าอี้สำนักงาน ได้ง่ายๆ
6. Voice Guided System (ระบบเสียงแจ้งเตือนปัญหาของตัวเครื่อง)
เครื่องนี้มี ระบบเสียงแจ้งเตือนปัญหาของตัวเครื่อง ด้วย “เสียงติ๊ด (Beep)” ในจำนวนครั้งที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะทำให้เรารับรู้ถึงปัญหา หรือข้อผิดพลาดที่แท้จริงของตัวเครื่อง ช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด ว่าเกิดขึ้นที่จุดไหนอย่างไร อาทิ ล้อขับเคลื่อน เซ็นเซอร์กันตก แปรงกวาดหลัก ฯลฯ (รายละเอียดเสียงตี๊ดเพิ่มเติม อยู่ในคู่มือการใช้งานหน้า 14)
7. Nano High-Speed Main Brush (แปรงกวาดหลักนาโน ดูดฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ได้ดี)
แปรงกวาดหลัก ความยาวประมาณ 150 มิลลิเมตร (15 เซนติเมตร) มีลักษณะเป็น แปรงขนแบบเกลียว (Spiral Bristle Brush) ทางผู้จัดจำหน่ายเรียกว่า “Nano High-Speed Main Brush” หรือ “แปรงกวาดหลักนาโน”
และด้วยความที่ตัวแปรง มีลักษณะเป็น แปรงขนแบบเกลียว (Spiral Bristle Brush) และหมุนเร็วมาก จึงทำให้สามารถดูดฝุ่นขนาดเล็ก ถึงเล็กมากๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องระวังเรื่องของเส้นผม หรือขนสัตว์เข้าไปพันที่ตัวแปรง ต้องคอยหมั่นดูอยู่บ่อยๆ เพื่อคงประสิทธิภาพการใช้งานเอาไว้ให้สูงอยู่ตลอดเวลา
8. Huge Water Tank & Dustbin (ถังน้ำและกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองขนาดใหญ่)
จัดเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีก 1 รุ่น ที่มีถังน้ำขนาดใหญ่ ความจุ 0.3 ลิตร (300 มิลลิลิตร) ติดไม้ติดมือมาให้เป็นออปชั่นถูพื้นแบบเปียก ด้วย ซึ่งข้อดีของการที่ถังน้ำมีขนาดใหญ่คือ มันจะถูพื้นแบบเปียก ได้นานกว่าตัวอื่นๆ ที่มีขนาดความจุของถังน้ำที่เล็กกว่านี้ มันสามารถถูพื้นได้ครอบคลุมสูงสุดถึง 200 ตารางเมตร (m²) ต่อการเติมน้ำเต็มถัง ถือได้ว่ากว้างมากๆ และ แทบจะไม่ต้องหยุดเติมน้ำ ขณะที่เครื่องกำลังทำงานเลย
9. LED Remote Control (รีโมทคอนโทรลหน้าจอ LED)
มาพร้อมกับรีโมทคอนโทรล (Remote Control) พร้อมหน้าจอ LED แสดงผล ให้คุณได้สามารถสั่งงานเครื่อง ตั้งเวลาเครื่อง หรือ ตั้งค่าการทำงานต่างๆ จากระยะไกลได้ขณะนั่งกินข้าวอยู่ที่โต๊ะอาหาร หรือ นอนเล่นอยู่บนโซฟา ไม่ต้องลุกเดินไปที่เครื่อง ให้เสียเวลา (ดูรายละเอียดรีโมทคอนโทรลเพิ่มเติม)
สำรวจส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่อง iBOT i900 Hybrid Dibea
ในส่วนนี้จะขอแบ่งอุปกรณ์ต่างๆ ของตัวเครื่อง iBOT i900 Hybrid Dibea ออกเป็น 3 ส่วน ด้วยกันได้แก่ ด้านบน ด้านล่าง และ ด้านข้าง โดยจะมีภาพพร้อมหมายเลขในแต่ละจุด พร้อมกับภาพประกอบที่ขยายในแต่ละส่วนให้ดูกันชัดๆ อีกที
ส่วนประกอบด้านบน
ด้านบนของตัวเครื่องเน้นความเรียบง่าย มีแค่ปุ่มเดียวเลยคือ “ปุ่ม CLEAN” ที่มีหน้าที่เอาไว้ใช้ใน กดเพื่อการปลุกเครื่องให้เปิดในการกดครั้งแรก และ สั่งให้เครื่องทำความสะอาดใน โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ (AUTO Mode) ในการกดครั้งที่ 2 เพราะการตั้งค่า ควบคุม สั่งการเครื่องอื่นๆ จะทำผ่านรีโมทคอนโทรลเท่านั้น
ส่วนประกอบด้านล่าง
ด้านล่างของตัวเครื่องมีส่วนประกอบเยอะแยะมากมาย (ต่างจากส่วนประกอบด้านบน ที่แทบจะไม่มีอะไรเลย) เพราะทั้งระบบการขับเคลื่อน ระบบจ่ายไฟ ระบบการดูดฝุ่น ถูพื้น ทุกอย่างอยู่ด้านล่างทั้งหมด มาดูกันทีละส่วนตามรูปภาพด้านล่างนี้ได้เลย
- Floor Sensor (เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น) : ช่วยให้คุณหายห่วงเรื่องการวิ่ง ตกบันได หรือ ตกจากที่สูง ภาษาอังกฤษมีหลายชื่อมากๆ อาทิ “Anti-Fall Sensor / Drop Sensor / Cliff Sensor” เป็นเซ็นเซอร์แบบอินฟราเรดอยู่ข้างใต้เครื่อง มีทั้งหมด 3 จุดด้วยกัน (1. หน้าเครื่อง 2. ข้างแปรงกวาดข้างด้านซ้าย 3. ข้างแปรงกวาดข้างด้านขวา) หากใครพักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม อาจจะไม่ค่อยได้ใช้บริการเซ็นเซอร์ตัวนี้สักเท่าไหร่ (เพราะมีชั้นเดียว) แต่ถ้าอยู่บ้านเดียว ทาวน์โฮม เซ็นเซอร์ตัวนี้ต้องทำงานบ่อยแน่ๆ
- Front Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : ใช้รับน้ำหนักเครื่องด้านหน้า เป็นล้อพลาสติกธรรมดา เป็นสีดำสลับขาว ที่สามารถหมุนรอบตัวได้ 360 องศา
- Charge Pin (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : จะมีลักษณะเป็นแผ่นเหล็กสีเงิน ใช้เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ระหว่างตัวเครื่องกับอุปกรณ์แท่นชาร์จ
- Side Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง) : ใช้ติดตั้งแปรงกวาดข้างแบบ 3 แฉก ที่ความยาวแฉกละ 15 เซนติเมตร (หรือ ประมาณ 2 นิ้ว) ใช้ในการช่วยปัดกวาดฝุ่นรอบๆ ตัวเครื่องหุ่นยนต์ ให้เข้ามาอยู่ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ได้อย่างหมดจด
- Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่) : ฝาพลาสติกที่ปิดคลุม แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ขนาดความจุ 2,600 มิลลิแอมป์ (mAh) ที่ติดตั้งอยู่ภายในเอาไว้ นอกจากนี้แล้ว คุณยังสามารถถอดแบตเตอรี่ที่อยู่ด้านในมาเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ เพียงแค่ ขันน๊อต 2 ตัวที่ปิดอยู่ออก หยิบแบตเตอรี่ขึ้นมา ดึงสายไฟออก เท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ แล้ว
- Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ล้อขนาดใหญ่ 2 ล้อ ที่อยู่ด้านซ้ายและขวาของตัวเครื่อง มีหน้าที่ควบคุมเครื่องในการเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา มันใช้ มอเตอร์ขับเคลื่อนแบบแยกอิสระต่อกัน มีสปริงโช๊คอัพให้ตัวได้ในระดับนึง เพื่อช่วยให้การวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร เป็นไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ก็ยัง มีดอกยางช่วยเสริมเรื่องของการยึดพื้นห้องชนิดต่างๆ ได้อย่างเหนียวหนึบ
- Main Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดหลัก) : ด้านนอกจะเป็นฝาครอบพลาสติกสีเหลือง สามารถถอด แปรงกวาดหลักแบบนาโน ออกมาทำความสะอาดได้ง่ายๆ ด้วยการ บีบสลักล็อคทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมๆ กันแล้วดึงฝาขึ้นมา เพื่อหยิบ แปรงกวาดหลักนาโน ออกมาจากเครื่องได้เลย
- Dustbin or Water Tank Installation Area (พื้นที่ติดตั้งกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือ ถังน้ำ) : เครื่องนี้มี 2 ออปชั่นให้เลือกคือ
- Vacuum Only (ดูดฝุ่นอย่างเดียว) : ติดตั้งกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ขนาด 0.6 ลิตร
- Vacuum and Wet Mopping (ดูดฝุ่นและถูพื้นแบบเปียก) : ติดตั้งถังน้ำ (Water Tank) (แม้จะเป็นถังน้ำ แต่ก็มีส่วนของพื้นที่เก็บกักฝุ่นด้วย แต่จะเล็กกว่า กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง)
ส่วนประกอบด้านข้าง
ด้านข้างของตัวเครื่องฝั่งขวามือ จะมี ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องหลัก (Power Switch Button) หน้าที่ของมันคือ เอาไว้ ตัดการจ่ายไฟ หรือ ปล่อยการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน เข้าสู่วงจรหลักของตัวเครื่อง โดยถ้ามันอยู่ใน “สัญลักษณ์ –” หมายถึงเปิดเครื่อง แต่ถ้าอยู่ใน “สัญลักษณ์ O” ก็คือปิดเครื่องนั่นเอง สรุปคือ ถ้าจะไม่ใช้งานเครื่องเป็นเวลานานๆ แนะนำให้ปิดเครื่อง (กดไปที่ สัญลักษณ์ O) ไปก่อนจะดีกว่า เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานของตัวเครื่อง และ แบตเตอรี่ฯ
ถัดมา ที่อยู่ติดๆ กันก็คือ ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ (DC Jack) ที่เอาไว้ใช้ในการชาร์จไฟ จากไฟบ้าน ลง แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ที่อยู่ในเครื่องโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านแท่นชาร์จ ในกรณีที่ แท่นชาร์จอาจจะชำรุดเสียหาย ก็สามารถชาร์จผ่านช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ ไปก่อนได้ แถมยังเอาไว้ทดสอบได้อีกว่า หากเสียบปลั๊กถูกต้องแล้วไฟไม่เข้า สรุปว่าเป็นที่แท่นชาร์จหรือตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นกันแน่
นอกจากนี้แล้ว ด้านข้างของตัวเครื่องส่วนท้ายเครื่อง ก็จะมี ปุ่มปลดกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองหรือถังน้ำ (Dustbin / Water Tank Eject Button) เพื่อใช้ในการ เปลี่ยนอุปกรณ์ หรือ เอาเศษฝุ่นละอองในกล่องฯ ไปทิ้ง หรือ เติมน้ำลงในถังน้ำ ในขณะที่ ด้านหน้าตัวเครื่องจะมีเซ็นเซอร์อินฟราเรดต่างๆ ที่ฝังซ่อนอยู่ใต้กันชนหน้า นอกจากนี้แล้ว กันชนหน้า ยังสามารถยืดหยุ่นให้ตัวได้เล็กน้อย เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายระหว่างตัวเครื่อง กับ วัตถุต่างๆ ขณะกำลังทำงาน
รีโมทคอนโทรล (Remote Control)
รีโมทคอนโทรล ทรง 4 เหลี่ยมผืนผ้า รูปทรงคล้ายๆ กับ รีโมทคอนโทรลเครื่องปรับอากาศ ซึ่งคุณสามารถ ตั้งค่าเครื่อง ควบคุมทิศทางเครื่องด้วยตัวเอง ปรับเปลี่ยนโหมดการทำงาน ได้ผ่านรีโมทคอนโทรล อันนี้ได้เลย
ในส่วนของการออกแบบดีไซน์ ของตัวรีโมทฯ ก็ตรงขอบรอบๆ เขาจะใช้เป็นสีขาวครีม และ ส่วนของปุ่มกดเป็นสีเขียวอ่อนพาสเทล พร้อมหน้าจอ LED แสดงผลการตั้งค่าเวลาต่างๆ มาดูรายละเอียดจากรูปกันเลย
- Display Screen : หน้าจอแสดงผล ขนาด 1.5 นิ้ว ใช้แสดงผลการตั้งค่าของตัวเครื่องหุ่นยนต์ อยู่ 2 ส่วนคือ
- PLAN Section (ส่วนของตารางเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติรายวัน)
- CLOCK Section (ส่วนของนาฬิกาเครื่องปัจจุบัน)
- Direction Button : ปุ่มลูกศร 4 ปุ่ม ที่เรียงตัวกันเป็นลักษณะวงกลม อยู่ตรงกลางของ รีโมทคอนโทรล มีหน้าที่เอาไว้ใช้เพื่อ ควบคุมทิศทางเครื่องด้วยตัวเอง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- Forward Button (↑ ปุ่มลูกศรชี้ขึ้น – สั่งเครื่องเดินหน้า)
- Left Button (← ปุ่มลูกศรชี้ไปทางซ้าย – สั่งเครื่องเลี้ยวซ้าย)
- Right Button (→ ปุ่มลูกศรชี้ไปทางขวา – สั่งเครื่องเลี้ยวขวา)
- Back Button (↓ ปุ่มกลับหลังหัน) (ใช้ปุ่มเดียวกันกับ “ปุ่ม MAX”)
- CLEAN Button : ใช้สั่งให้หุ่นยนต์เริ่มทำการทำงาน แต่ถ้ากดอีกครั้ง จะเป็นการสั่งให้หยุดการทำงานแบบชั่วคราว (Pause)
- MAX Button : โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติแบบเต็มกำลัง มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นแบบ BLDC จะหมุนด้วยพลังดูดแบบสูงสุด (Maximum Power) ส่งผลให้ดูดแรงขึ้น สะอาด แต่เปลืองแบตเตอรี่ (ระยะเวลาการทำงานต่อรอบจะสั้นลง)
- PLAN Button : ใช้สำหรับ ตั้งค่าเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติรายวัน (Daily Cleaning Schedule) เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานเองโดยอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนด และ กลับ แท่นชาร์จ โดยอัตโนมัติเมื่อเสร็จสิ้น
- CLOCK Button : ใช้สำหรับ ตั้งค่าเวลาปัจจุบัน (Current Time) (ตั้งแค่ค่า ชั่วโมงกับนาทีเท่านั้น) ให้กับตัวเครื่อง เพื่อนำค่านี้ไปตั้งค่าเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติรายวัน อีกที
- SPOT Button : ปุ่มไอคอนรูปวงกลมก้นหอย คือ ไว้ใช้ใการเปิดโหมดทำความแบบเฉพาะจุด (SPOT Mode) เฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ต้องการเน้นให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดเป็นพิเศษ เช่น พื้นที่ที่ทำเศษยางลบ หรือ ขนมขบเคี้ยวหกหล่น
- HOME Button : ปุ่มไอคอนรูปบ้านนี้ ตามความหมายของมันเลยคือ ใช้สั่งให้หุ่นยนต์วิ่งกลับบ้าน หรือ แท่นชาร์จทันที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ส่วนใดในห้อง หากได้รับคำสั่งนี้ต้องกลับแท่นชาร์จ โดยทันที
- RANDOM Button : ปุ่มลูกศรีวิ่งไปข้างหน้า ขึ้นลง สลับไขว้กัน คือเปิด โหมดทำความแบบสุ่ม (RANDOM Mode) หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะประมวลผลการทำงานเอง แล้วเปลี่ยนรูปแบบการทำความสะอาดไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม
รูปแบบไฟสถานะการทำงานที่ปุ่ม AUTO
นอกจากที่เครื่องนี้จะมี ระบบเสียงแจ้งเตือนปัญหาของเครื่อง แล้ว เขาก็ยังมี ไฟสถานะการทำงานที่ปุ่ม AUTO เพื่อให้ผู้ใช้งาน ทราบว่าตอนนี้เครื่องกำลังทำงานอยู่ในสถานะอะไรเสร็จแล้วหรือยัง แบตเตอรี่ฯ ไฟเต็มแล้วหรือยัง
โดยไฟจะแสดงผลออกมาใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ สีของไฟ และ การกระพริบของไฟ นั่นเอง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 รูปแบบด้วยกันคือ
- ไฟสีเขียวกระพริบ : หุ่นยนต์อยู่ในโหมดที่พร้อมใช้งาน
- ไฟสีเขียวค้าง : หุ่นยนต์กำลังทำความสะอาด
- ไฟสีแดงค้าง : หุ่นยนต์มีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เช่น อาจจะมีอะไรติดล้อ หรือ ข้อผิดพลาดอื่นๆ ที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ
- ไฟสีส้มค้าง : พลังงานแบตเตอรี่ของหุ่นยนต์เหลือน้อย และกำลังวิ่งกลับไปชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ที่แท่นชาร์จ
- ไฟกระพริบสีส้ม : กำลังชาร์จพลังงานแบตเตอรี่อยู่
- ไฟสีเขียวค้างขณะที่ชาร์จไฟ : หุ่นยนต์ชาร์จพลังงานแบตเตอรี่เต็มเรียบร้อย
เริ่มต้นใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea
เพื่อให้การใช้งาน เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT 900 Hybrid Dibea นั้นเกิดประโยชน์ และ มีประสิทธิภาพสูงสุด ควรจะต้องมีการเตรียมเครื่องกันก่อนสักเล็กน้อย
1. Charge Base Installation and Remove Protection (การติดตั้งแท่นชาร์จ และ ดึงอุปกรณ์ป้องกันเครื่องออก)
เริ่มแรก เราต้องหาทำเลพื้นที่ วางแท่นชาร์จ ที่จะเป็นบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น โดยพื้นที่นี้ควรจะมีรัศมีด้านหน้า 2 เมตร และ ฝั่งซ้าย กับ ฝั่งขวา อย่างละ 1 เมตร (จริงๆ อาจจะแคบกว่านี้ได้เล็กน้อย) เพื่อให้ตัวเครื่องสามารถวิ่งเข้าออกได้อย่างแม่นยำ ตั้งลำเข้าออกได้อย่างถูกต้อง ไม่ไปติดกับสิ่งของ วัตถุต่างๆ
และอีกสิ่งนึงที่สำคัญคือ ต้องเอาแผ่นโฟมกันกระแทกที่กันชนหน้า ซึ่งเขาติดมาให้จากโรงงานออกเสียก่อน เพื่อให้ตัวกันชนหน้าสามารถให้ตัวได้เวลาชนกับวัตถุต่างๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียหาย ทั้งตัวเครื่อง และ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน
2. First Time Charging (การชาร์จไฟครั้งแรก)
แม้ว่าเครื่องจะมีปริมาณไฟในแบตเตอรี่มาให้จากโรงงานมาให้อยู่แล้วประมาณนึง (แต่ก็ไม่รู้ว่าเหลือเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์) ดังนั้นเราควรที่จะชาร์จไฟให้เต็ม เอาไว้ก่อน เพื่อให้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการ การใช้งานครั้งแรกและครั้งต่อๆ ไป
โดยเครื่องนี้มีออปชั่นให้คุณได้สามารถ ชาร์จไฟของเครื่องรุ่นนี้สามารถทำได้ 2 วิธีคือ
- Charge via Charge Base : ชาร์จไฟผ่าน แท่นชาร์จ
- Charge via DC Jack : ชาร์จไฟตรง ช่องผ่านเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์
3. การตั้งเวลาเครื่อง และ ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน (Time and Daily Scheduled Setting Cleaning)
สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก่อนเริ่มต้นใช้งานคือ การตั้งเวลาเครื่อง (Time Setting) ให้กับเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น สาเหตุก็เพื่อให้มันสามารถตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน (Daily Schedule Setting) ได้ในลำดับต่อไปนั่นเอง วิธีการง่ายๆ ในการตั้งเวลาก็คือ
ขั้นตอนการตั้งเวลาเครื่อง (Time Setting Steps)
- กดที่ “ปุ่ม CLOCK” ที่รีโมทคอนโทรล รอจนกว่า เลขชั่วโมงจะกระพริบ
- กดที่ “ปุ่มลูกศรชี้ขึ้น ↑ (เพื่อปรับเวลาขึ้น)” หรือ “ปุ่ม MAX (เพื่อปรับเวลาลง)” เพื่อปรับชั่วโมงลง จนได้เวลาตามที่ต้องการ
- กดที่ “ปุ่มลูกศรชี้ไปทางขวา →” เพื่อไปตั้งค่านาที
- ทำตามขั้นตอนเหมือนข้อ (2) อีกครั้ง
- กดที่ “ปุ่ม CLOCK” อีกครั้ง เพื่อยืนยันการตั้งเวลา
ขั้นตอนการตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน (Daily Scheduled Cleaning Setting Steps)
- กดที่ “ปุ่ม PLAN” ที่รีโมทคอนโทรล รอจนกว่า เลขชั่วโมงจะกระพริบ
- กดที่ “ปุ่มลูกศรชี้ขึ้น ↑ (เพื่อปรับเวลาขึ้น)” หรือ “ปุ่ม MAX (เพื่อปรับเวลาลง)” เพื่อปรับชั่วโมงลง จนได้เวลาตามที่ต้องการ
- กดที่ “ปุ่มลูกศรชี้ไปทางขวา →” เพื่อไปตั้งค่านาที (การตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน จะสามารถตั้งได้แบบทีละ 15 นาทีเท่านั้น เช่น เช่น 15.00 น. / 15.15 น. / 15.30 น. และ 15.45 น. จะลงละเอียดกว่านี้ไม่ได้)
- ทำตามขั้นตอนเหมือนข้อ (2) อีกครั้ง
- กดที่ “ปุ่ม PLAN” อีกครั้ง เพื่อยืนยันการตั้งเวลา
4. การใช้งานอุปกรณ์สำหรับถูพื้น (Mopping Device and Water Tank Usage)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea ตัวนี้มีออปชั่นติดตั้งถังน้ำ เพื่อการถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) มาให้ด้วย โดยการจะใช้งานออปชั่นนี้นั้น จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์กันสักเล็กน้อย นั่นก็คือจะต้องถอดเอา กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ออก แล้วติดตั้งถังน้ำ (Water Tank)1 (ที่ติดตั้ง ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ เข้าไปข้างใต้แล้ว) เข้าไปแทนที่ เพื่อให้มันได้สามารถดูดฝุ่นและถูพื้น2 ไปได้พร้อมๆ กัน
หมายเหตุ1 : ก่อนที่จะติดตั้งถังน้ำ เข้าไปนั้น เราจะต้องเติมน้ำให้เรียบร้อยก่อน (ให้เติมน้ำสะอาด ที่ไม่มีการผสมของผงซักฟอกหรือน้ำยาอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้ ช่องระบายน้ำอุดตันได้ง่ายๆ) โดยความจุของถังเก็บน้ำจะอยู่ที่ 0.3 ลิตร (300 มิลลิลิตร) เมื่อเติมน้ำพร้อมกับติดตั้งผ้าม็อบทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถกดใช้งานได้ทันที
หมายเหตุ2 : ภายในถังน้ำ ก็มีความสามารถในการเก็บฝุ่นละอองได้เช่นกัน (แต่ขนาดพื้นที่จะเล็กกว่า กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ที่ทำมาเพื่อเก็บฝุ่นอย่างเดียว) โดยพื้นที่เก็บกักฝุ่นจะอยู่ตรงกลาง ขณะที่รอบๆ ของมันคือพื้นที่เก็บน้ำ
คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea
มาถึงช่วงของ 9 คำถาม ที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งานเครื่อง โดยข้อมูลทั้งหมด ได้รวบรวมมาจาก การใช้งานจริงบ้าง และ สอบถามไปทางบริษัทผู้จัดจำหน่ายบ้าง มาดูกันเลย
1. สภาพปริมาณฝุ่นละอองหลังการใช้งาน เป็นอย่างไร ?
ด้วยการผสมผสานระหว่าง มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นแบบ BLDC และ แปรงกวาดหลักแบบนาโน ทำให้การดูดฝุ่นทำความสะอาดของเครื่องนี้มีประสิทธิภาพสูง
โดยจากรูปประกอบด้านข้าง จะสังเกตเห็นว่า ฝุ่นขนาดเล็กถูกดูดเข้ามารวมกันเป็นก้อน ในตัวเครื่องรวมไปถึงเศษกระดาษทิชชู่ ก็ถูกดูดเข้ามาด้วยเช่นกัน นอกจากที่ยังมีเส้นผม ตัวแมลงต่างๆ เล็กน้อยๆ ที่ถูกดูดเข้ามาในเครื่องนี้ด้วยเช่นกัน
2. เครื่องจะวิ่งตกบันไดหรือไม่ ?
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นที่ตัวเครื่องมี เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น ฝังอยู่ข้างใต้เครื่องทั้งหมด 3 จุด และ ที่บ้านเป็น ราวบันไดสแตนเลสแบบโปร่ง ทำให้มีช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่ด้านล่าง (ส่วนที่ติดกับพื้น) ซึ่งเครื่องก็สามารถวิ่งลอดราวบันไดฯ ได้ แต่ก็ไม่ตกลงมาข้างล่าง เพราะเซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น ช่วยชีวิตเอาไว้ 🙂
หมายเหตุ : อย่างไรก็ตาม หากใช้ไปสักระยะหนึ่ง เราก็ควรที่จะทำความสะอาด เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น เอาไว้ด้วย เผื่อสกปรก และ อาจทำให้การทำงานผิดเพี้ยนไปได้
3. สามารถกลับแท่นชาร์จเองได้อย่างแม่นยำหรือไม่ ?
ถ้าเครื่องไม่ได้ไปติดกับ หรือ ติดหล่ม ที่ไหนจนไม่สามารถทำงานต่อได้เสียก่อน มันก็สามารถวิ่งกลับแท่นชาร์จได้เองเกือบ 100%
ในส่วนของ ระยะเวลาการทำความสะอาด ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านของเราว่ามีมากน้อยแค่ไหน บางวัน ห้องเดิม แต่มีของมาวางเพิ่ม เช่นเก้าอี้ ตระกร้าผ้า ก็อาจทำให้ระยะเวลาในการวิ่งทำความสะอาด ไม่เท่ากันในแต่ละวันได้
4. การถูพื้นแบบเปียก มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ?
ด้วยความที่ถังน้ำมีขนาดใหญ่ ทำให้การถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) สามารถทำได้ดีมาก มีการรักษาระดับความชุ่มชื้นให้เปียกได้อย่างสม่ำเสมอ
แนะนำว่าให้ถูกับพื้นเนื้อแข็ง (Hard Floor) อย่างที่เป็น กระเบื้องเซรามิค (Ceramic Tile) พื้นหินอ่อน (Marble Floor) พื้นหิน (Stone Floor) หรือแม้แต่ พื้นไม้เคลือบ (Sealed Hard Wood Floor) แต่ ไม่เหมาะสำหรับพื้นไม้ที่ยังไม่เคลือบ และ พื้นพรม
5. รีโมทคอนโทรล สามารถสั่งงานได้ในระยะนอกสายตาได้หรือไม่ ?
รีโมทคอนโทรล “สามารถกดสั่งงานในระยะนอกสายตาได้” ในกรณีถ้าเรายืนอยู่ด้านนอกของห้อง แม้เครื่องจะไม่ได้อยู่ในระยะที่เราเห็น อาจจะอยู่ในหลืบข้างเตียงนอน แบบนี้ก็สามารถสั่งได้ แต่ว่าจะต้องเปิดประตูห้องเอาไว้ และ หันตัวรีโมทคอนโทรลด้านหน้าเข้าไปในห้องด้วย เนื่องจากรีโมทคอนโทรลใช้การส่งสัญญาณแบบอินฟราเรด (ไม่ใช่คลื่นวิทยุ) ดังนั้นจะมีข้อจำกัดอยู่พอประมาณ
6. ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน มีเสียงดังมากน้อยแค่ไหน ?
เพื่อเป็นการวัดที่เชื่อถือได้ ผมจึงใช้แอพพลิเคชั่น Sound Meter บนระบบปฏิบัติการ iOS มาใช้ทดสอบวัดระดับเสียงขณะที่เครื่องกำลังทำงานทั้ง 2 โหมด (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติธรรมดา และ โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติเต็มกำลัง) ผลลัพธ์คือ
- Normal Mode (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติธรรมดา) : ≈ 44 เดซิเบล (ระดับบทสนทนาทั่วไป)
- MAX Mode (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติแบบเต็มกำลัง) : ≈ 50 เดซิเบล (ระดับบทสนทนาทั่วไป)
ระดับเสียงที่ได้จัดว่าค่อนข้างเงียบมากๆ เป็นไปตามคุณสมบัติของ มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นแบบ BLDC ที่ทางผู้ผลิตได้บอกเอาไว้จริงๆ ว่าหมุนแรงแต่เสียงเงียบ
7. ค่าไฟต่อเดือนหากใช้ทุกวัน จะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ?
อัตราการกินไฟของเครื่องนี้ จัดว่าไม่มากเลย ผมได้ลองใช้ เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) เหมือนเช่นเคย ในการวัดอัตราการกินไฟของเครื่องนี้ (ขณะกำลังชาร์จไฟ และ ชาร์จเสร็จแล้วแต่เสียบปลั๊กไฟค้างเอาไว้)* ก็จะอยู่ที่
สถานการณ์ (Situation) |
การกินไฟ (Power Consumption) |
การคำนวณค่าไฟ (Power Consumption Calculation) |
ค่าไฟ / เดือน (Electricity Charge / Month) |
1. ขณะไฟยังไม่เต็มแบตเตอรี่ (When Charging) |
≈ 13.9 วัตต์ | (13.9 วัตต์** x 2 ชั่วโมง* x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | 4.17 บาท |
2. ขณะไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว (Fully Charged) |
≈ 1.1 วัตต์ | (1.1 วัตต์ x 21 ชั่วโมง* x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | 3.46 บาท |
รวมทั้งสิ้นค่าไฟของเครื่องนี้ประมาณ 7.63 บาท ต่อเดือน
หมายเหตุ* : ประเมินจากสถานการณ์ ถ้าเครื่องทำงานจนแบตเตอรี่เกือบหมดเกลี้ยง จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ระยะเวลาการชาร์จไฟสูงสุดประมาณ์ : 2 ชั่วโมง (ต่อครั้ง ต่อวัน)
- ระยะเวลาที่เหลือขณะจอดที่แท่นชาร์จเฉยๆ : 21 ชั่วโมง (ต่อวัน)
- ระยะเวลาที่เครื่องออกไปทำงาน : 1 ชั่วโมง (ต่อวัน) (ไม่ถูกนำไปคำนวณ เพราะไม่ได้จอดอยู่ที่แท่นชาร์จ)
หมายเหตุ** : ตัวเลข 13.9 วัตต์ (Watts) นี้ เป็นจำนวนวัตต์แรกเริ่ม เมื่อชาร์จไฟ แต่พอเมื่อชาร์จไปได้สักพัก (ประมาณ ครึ่งชั่วโมง) ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ (ไม่ได้อยู่นิ่งคงที่ 13.9 วัตต์ แบบนี้ตลอด 2 ชั่วโมง) แต่เรายังคงใช้ค่านี้คำนวณค่าไฟตลอดการชาร์จ 2 ชั่วโมง เพื่อเป็นการคำนวณค่าสูงสุด ดังนั้น ค่าไฟจะถูกกว่านี้อีกแน่นอน
หมายเหตุ*** : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน
8. ราคาอะไหล่อุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่องนี้ เป็นอย่างไรบ้าง ?
ในส่วนของราคาอะไหล่เครื่องในกรณีถ้าอุปกรณ์ชิ้นนั้นมีการเสื่อมสภาพ หรือ สูญหาย ทางผู้จัดจำหน่ายก็อุปกรณ์สิ้นเปลือง มาจำหน่ายเป็นอะไหล่ รายละเอียดตามด้านล่างนี้เลย
ชื่ออะไหล่ภาษาอังกฤษ (English Part Name) |
ชื่ออะไหล่ภาษาไทย (Thai Part Name) |
ราคาต่อหน่วย (Unit Prices) |
Side Brush (1 Pair = 2 Brushes) | แปรงกวาดข้าง (1 คู่ = 2 แปรง) | 150 บาท |
HEPA Filter (1 PC) | แผ่นกรองอากาศ HEPA (1 แผ่น) | 100 บาท |
Nano High-Speed Main Brush (1 PC) | แปรงกวาดหลักนาโน (1 ชิ้น) | 400 บาท |
Lithium-Ion Battery (1 Pack) | แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (1 ก้อน) | 1,200 บาท |
9. ติดต่อสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea ได้ที่ไหน ?
คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea นี้ได้ผ่านทางหลายช่องทาง เช่น
- Website (เว็บไซต์) : http://www.iroboticc.com
- Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : โรบอทไทยแลนด์ (RobotThailand) ตามกรอบด้านล่าง
บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น iBOT i900 Hybrid Dibea
ข้อดี 🙂
- เครื่องมีขนาดเล็กกระทัดรัด (สูงเพียง 7.6 เซนติเมตร) สามารถมุดตามซอกมุมต่างๆ ของห้องได้เป็นอย่างดี
- เครื่องมีน้ำหนักเบา (2.4 กิโลกรัม) ทำให้สามารถขนย้ายไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก
- เสียงค่อนข้างเงียบขณะเครื่องกำลังทำงาน ตามคำโฆษณา
- การนำทางค่อนข้างฉลาด วิ่งเข้าห้องอื่นๆ และ กลับออกมาได้สบายๆ
- สามารถวิ่งกลับแท่นชาร์จได้ค่อนข้างแม่นยำ โดยอาจจะใช้เวลาการทำความสะอาดนานกว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ กล้องสร้างแผนที่จำลอง หรือ เลเซอร์นำทาง แต่สุดท้ายก็กลับแท่นชาร์จได้อย่างถูกต้องอยู่ดี
- อุปกรณ์เสริมและอะไหล่ ให้มาอย่างครบครัน อาทิ หัวปลั๊กแปลงไฟ (เพิ่งเคยเห็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรก ที่ให้มา) และยังมี แปรงกวาดข้าง ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่ให้ชุดสำรองมากันเหนียวด้วย แถมมี ถ่านแบตเตอรี่แบบ AAA มาให้ใช้กับรีโมทอีก
- สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน ล่วงหน้าได้เลย ว่าต้องการให้ออกมาทุกวันตอนกี่โมง ไม่ต้องมาคอยกดปุ่มสั่งเครื่องเอง เหมาะมากๆ ตอนไม่อยู่บ้าน
- มีเซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น หายห่วงเรื่องการวิ่งตกจากที่สูง (ตกบันได)
- มีถังน้ำขนาดใหญ่ มีความจุกว่า 0.3 ลิตร ไม่ต้องคอยหมั่นเติมน้ำอยู่บ่อยๆ แถม ขนาดพื้นผิวสัมผัสของ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน
- คู่มือภาษาไทย อธิบายค่อนข้างละเอียด พร้อม รูปประกอบชัดเจน
ข้อเสีย 🙁
- ไฟสถานะการทำงานที่ปุ่ม AUTO มีหลายรูปแบบ หลายสี แถมยังมีแบบกระพริบไม่กระพริบ ซึ่งทั้งหมดนี้คงต้องจำเอาเองว่าสีไหนหมายความว่าอะไร ในช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่ชิน
- ไม่สามารถเปลี่ยนโหมด หรือ ตั้งค่าอะไรใดๆ บนตัวเครื่องได้เลย (มีแค่ “ปุ่ม CLEAN” ปุ่มเดียว) ต้องใช้รีโมทคอนโทรลเท่านั้น (ถ้ารีโมทคอนโทรลเกิดเสียหรือหาย ก็จบ)
- ตัวถังเก็บฝุ่นไม่มีฝาปิดด้านนอก ดังนั้นในการถอดหรือการทำความสะอาดถังเก็บฝุ่น หากถือไม่ระมัดระวัง อาจทำให้สิ่งสกปรกต่างๆ หล่นร่วงออกมาจากถังได้
- ถังน้ำ ที่ใช้สำหรับถูพื้นแบบเปียก ไม่ตัวแผ่นกรองฝุ่น