ระบบบ้านหายใจได้ ระบบบ้านเย็น
SCG Active AIRflow™
ระบบหมุนเวียนถ่ายเทอากาศในบ้าน SCG Active AIRflow™ System หรือที่เรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ระบบบ้านหายใจได้” เป็นระบบที่เหมาะสำหรับ คนที่กำลังประสบกับปัญหาบ้านร้อน เป็นการร้อนแบบอบอ้าว ชนิดที่เรียกว่า อยู่อาศัยกันภายใน แม้ว่าจะเปิดพัดลมแล้วก็ยังเหงื่อจะไหลไคลจะย้อยกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน อากาศภายในบ้านก็ยังคงร้อนอบอ้าวอยู่ดี
อากาศร้อนในลักษณะนี้จะร้อนยาวไปจนถึงช่วงเวลากลางคืนพอแดดร่มลมตก เพราะถึงแม้ว่าอากาศภายนอกบ้านจะเย็นลง (อุณหภูมิต่ำลง ↓) แต่อุณหภูมิภายในบ้านก็ยังคงสูงอยู่ดี แบบนี้หมายความว่าอากาศภายในบ้านเรานั้น อยู่ในสภาวะที่ไม่ถ่ายเท ไม่มีการหมุนเวียนถ่ายเทอากาศในบ้าน แถมอุณหภูมิที่สะสมอยู่ตามผนังบ้าน หรือใต้หลังคา (เหนือฝ้าเพดานใต้หลังคา ชั้นบนสุด) ก็จะคลายความร้อนที่สะสมเอาไว้ตั้งแต่ตอนกลางวัน ออกมาตอนกลางคืนนั่นเอง
เนื่องจากรีวิวฉบับนี้ค่อนข้างยาว จึงมีเมนูลัด (Shortcut) ที่ให้คุณได้สามารถเข้าถึงเนื้อหาส่วนต่างๆ ของรีวิวนี้ได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- รู้จักกับปัญหาบ้านร้อน ปัญหาที่ไม่มีวันรู้ ถ้าไม่ได้เจอกับตัวเอง
- ระบบบ้านหายใจได้ SCG Active AIRflow™ ถ่ายเทอากาศจากล่างสู่บน
- ขั้นตอนการติดตั้งระบบ
- การใช้งานระบบ รุ่น Premium
- หลังติดตั้ง และใช้งานระบบ รุ่น Premium
- บทสรุปการใช้งานระบบ (ข้อดี และ ข้อเสีย)
อ่านตรงนี้ก่อนที่จะไปกันต่อ
“บทความรีวิวการติดตั้ง ผลลัพธ์ระหว่างก่อนและหลังติดตั้ง ระบบบ้านหายใจได้ SCG Active AIRflow™ เป็นการติดตั้งโดยความต้องการส่วนตัวของผมเอง และเสียเงินติดตั้งเอง เนื่องจากบ้านร้อนจริงๆ”
รู้จักกับปัญหาบ้านร้อน ปัญหาที่ไม่มีวันรู้ ถ้าไม่ได้เจอกับตัวเอง
สืบเนื่องมาจากได้ย้ายเข้ามาอยู่บ้านเดี่ยว 2 ชั้นได้ไม่นาน ก็รู้สึกว่าบ้านค่อนข้างที่จะร้อนมากๆ จากเดิมที่เคยพักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมมาก่อน ถ้าเทียบในเวลาเดียวกัน ในห้องคอมพิวเตอร์ อย่างเช่นตอน 2 ทุ่ม อุณหภูมิที่คอนโดมิเนียม ในห้องโถง (วางคอมพิวเตอร์ในห้องโถง) อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 30-31 องศาเซลเซียส* แต่ถ้าอยู่ในห้องทำงาน (ชั้น 2) อุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 34-35 องศาเซลเซียส* จะสังเกตเห็นว่าแตกต่างค่อนข้างมาก
ส่งผลให้จำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาบ้านร้อนโดยด่วน เพราะถ้าปล่อยเอาไว้นานๆ จะส่งผลไม่ดีแก่ร่างกาย และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านของเราเป็นแน่
หมายเหตุ* : ปัจจัยทั้ง 2 กรณีนี้พูดถึง เป็นการทดสอบในหน้าร้อน ไม่ได้เปิดแอร์ แต่เปิดพัดลมและปิดหน้าต่างทั้งคู่
ข้อเสียของบ้านร้อนคืออะไร ?
นอกจากที่ผู้อยู่อาศัยในบ้านเองจะรู้สึกร้อนอบอ้าว ไม่สบายเนื้อสบายตัวแล้ว ความร้อนและความชื้น ยังส่งผลกระทบอีกมากมายต่อข้างของเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมไปถึงอาหารการกินของคุณ จากที่ประสบพบเจอมาด้วยตัวเอง ก็มีประมาณนี้คือ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หุ้มด้วยวัสดุยางบางชิ้น จะเริ่มเหนียว เวลาใช้มือจับบางครั้งจะเหนียวติดมือ และสุดท้ายจะหลุดร่อนออกมา (บางชิ้นถือว่าเสียของกันไปเลย)
- สายไฟ หรือสายนำสัญญาณต่างๆ ก็จะมีความเหนียวเช่นเดียวกัน
- เครื่องสำอาง ยา หรือวิตามินต่างๆ จะเสื่อมอายุเร็วขึ้น (หมดอายุก่อนเวลาอันควร)
- ผลไม้ต่าง ที่วางข้างนอก ก็จะสุกเร็วขึ้น
- กาวที่สันหนังสือเสื่อมสภาพ ส่งผลให้หนังสือตำรา (Textbook) ต่างๆ หลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ
- กาวงานไม้ และเฟอร์นิเจอร์อย่างเช่น งานปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ด้วยแผ่นลามิเนต เริ่มเสื่อมสภาพ ร่อนออกมา
- เฟอร์นิเจอร์ขึ้นรา อันเนื่องมาจากความชื้นสัมพัทธ์ที่สูง (มีปริมาณน้ำในอากาศมาก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระหว่างและหลังฝนตก ถูกสะสมอยู่ในบ้านหรือในห้องเป็นเวลานานๆ และไม่ได้รับการถ่ายเท
- เสื้อผ้ามีโอกาสขึ้นราได้เช่นกัน (จะเห็นชัดมากๆ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสีอ่อนๆ)
- และปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างสั้นๆ ของผลกระทบที่เกิดจากบ้านร้อน และไม่มีอากาศถ่ายเท จะเห็นได้ว่ามีข้อเสียอยู่มากมายจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขสิ่งของอย่างอื่น (ที่ไม่ได้กล่าวมาข้างต้น) ก็จะมีปัญหาตามมาอีกแน่นอน
ทำไมบ้านถึงร้อน และมีการแก้ปัญหาบ้านร้อนอะไรไปแล้วบ้าง ?
เมื่อเห็นปัญหามากมายขนาดนี้ จึงเริ่มหาสาเหตุของบ้านตัวเองที่ร้อนอบอ้าวเหลือเกิน โดยมีสรุปมาได้ 3 ข้อหลักๆ ด้วยกันก็คือ
- ไม่มีต้นไม้ใหญ่รอบๆ บ้านเลย เนื่องจากพื้นที่รอบๆ บ้านค่อนข้างแคบ มีพื้นที่จำกัด ขณะที่ต้นไม้ใหญ่จากบ้านหลังอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ก็อยู่นอกรัศมีการบดบังแสงแดดในบ้าน
- โถงบันไดมีขนาดเล็กมากและไม่มีช่องทางระบายอากาศออกไป โดยตามหลักธรรมชาติคือ อากาศร้อนจากข้างล่าง (ชั้นหนึ่ง) จะลอยขึ้นข้างบน (ชั้นสอง) ผ่านทางโถงบันได (เวลาเดินขึ้นบันไดจากชั้นหนึ่งมายังชั้นสอง สามารถรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน)
- ใช้อิฐมอญ (อิฐแดง) ในการในการก่อผนังบ้าน ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่าอิฐมอญเป็นอิฐที่สะสมความร้อนไว้ค่อนข้างมาก แถมก่อผนังอิฐมอญไว้ 2 ชั้นอีกต่างหาก (ซึ่งนอกจากมันจะกันความร้อนเข้ามาภายในตัวบ้านได้แล้ว ยังกันความร้อนออกนอกตัวบ้านได้อีกด้วยเช่นกัน)
ในขณะที่การป้องกันปัญหาบ้านร้อน ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้
- แผ่นสะท้อนความร้อน Ultra Cool ของ SCG ที่ติดตั้งใต้แผ่นกระเบื้องหลังคาบ้าน
- แผ่นฝ้าชายคาระบายอากาศ ของ SCG ถูกติดตั้งใต้หลังคาส่วนที่ยื่นออกมานอกบ้าน ลักษณะจะเป็นรูเล็กๆ ให้อากาศระบายได้ (แต่ป้องกันแมลง ไม่ให้เข้าไปภายใน)
- ไม้ระแนง Conwood ปิดตรงหลังคาระเบียงบนชั้น 2 (แต่ลงมาหน่อยเดียว ถ้าปิดทึบเลยก็ไม่สวย)
- ติดฟิล์มกันร้อนบ้านแบบมืด 80% (ติดตั้งเอง)
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อุณหภูมิภายในบ้านก็ยังคงสูงอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืน เพราะความร้อนถูกสะสมอยู่เหนือฝ้าเพดานใต้หลังคา และผนังบ้าน (ที่ก่อด้วยอิฐมอญ) กันมาตั้งแต่ช่วงเวลากลางวัน และความร้อนก็ถูกคลายออกมาตอนกลางคืนใน ส่งผลให้ร้อนทั้งกลางวัน และกลางคืน
ทำไมไม่เปิดแอร์ให้ห้องเย็น หรือเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ?
อาจจะมีหลายๆ คนที่ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่เปิดแอร์ หรือเปิดประตูหน้าต่างบ้านให้อากาศถ่ายเท เรื่องนี้จริงๆ คิดอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ส่วนตัวก็มีเหตุผลดังต่อไปนี้
- การเปิดแอร์ : จริงอยู่ว่าการเปิดแอร์ จะทำให้ห้องเย็นสบายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ข้อเสียมันคือพื้นที่มันก็จำกัดบริเวณได้แค่ห้องๆ เดียว และความเย็นก็ไม่ได้ถูกแผ่กระจายไปทั้งหลัง คนที่อยู่นอกห้องที่เปิดแอร์ ก็ร้อนเหมือนเดิม มิหนำซ้ำถ้าเราอาศัยอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ถ้าเดินออกมาข้างนอกและกลับเข้าไปใหม่บ่อยๆ ก็เสี่ยงต่อการปวดหัวหรือเป็นไข้อีก เพราะเจอทั้งอากาศร้อน และอากาศเย็น ในเวลาใกล้เคียงกัน หรือถ้าใครคิดว่าก็เปิดแอร์ทุกห้อง หรือติดแอร์เครื่องใหญ่ให้ครอบคลุมบ้านทั้งหลังสิ ค่าไฟก็แพงกระฉูด กระเป๋าสตางค์ฉีกอย่างแน่นอน
- การเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท : เรื่องนี้จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในยุคสมัยนี้การเปิดประตูหน้าต่างทิ้งเอาไว้ ในเวลาที่ไม่อยู่บ้านก็ถือเป็นเรื่องอันตราย เดี๋ยวโจรขโมยอาจจะเข้าบ้านได้ง่าย เพราะโจทย์คือ ต้องการให้อากาศในบ้านถ่ายเทตลอดเวลา (แม้ขณะที่อยู่หรือไม่อยู่บ้าน) แถมบ้านยังอยู่ใจกลางเมืองอีกด้วย และไหนจะเรื่องของฝุ่นละอองจากมลพิษที่อยู่ภายนอกบ้าน ที่จะเข้ามาเป็นจำนวนมากอีกด้วย
สุดท้ายพยายามหาวิธีแก้ปัญหาบ้านร้อนที่ยั่งยืน
จากการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจากหลายๆ แหล่ง และหลายๆ ความคิดเห็น ก็เห็นพ้องตรงกันว่า การแก้ปัญหาบ้านร้อนที่ได้ผลควรจะต้องให้ตัวบ้านมีอากาศถ่ายเท ถ้าอากาศไม่ถ่ายเท ก็ไม่มีประโยชน์เลย
ด้วยเหตุนี้เอง ตอนแรกจึงมีแนวคิดที่จะเจาะกำแพงหรือหน้าต่าง เพื่อติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ให้อากาศจากภายในออกสู่ภายนอก แต่สุดท้ายก็มาทราบอีกว่า การระบายอากาศร้อนควรจะเป็นการระบายในแนวตั้ง (จากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน) มากกว่าที่จะเป็นแนวนอน เพราะอากาศร้อนจะลอยขึ้นข้างบน เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
หลังจากนั้นจึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับพัดลมดูดระบายอากาศติดเพดาน เพื่อสนับสนุนข้อมูลที่อ้างอิงจากหลักธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็พบปัญหาต่อว่า แม้ว่าเราจะติดตั้งพัดลมระบายอากาศติดเพดานไปแล้วก็จริง แต่เมื่ออากาศถูกดูดขึ้นไปแล้ว ก็ยังหาที่ระบายออกไปไม่ได้อยู่ดี แม้ว่าจะใช้แผ่นฝ้าชายคาระบายอากาศแล้วก็ตาม และสุดท้ายมันก็จะวนเวียนอยู่ใต้หลังคาอยู่นั่นแหละ กลายเป็นความร้อนสะสมแผ่กลับลงทางฝ้าเพดานใต้หลังคา เข้ามาในบ้านอีกครั้ง
รู้จักกับ ระบบบ้านหายใจได้ SCG Active AIRflow™ ถ่ายเทอากาศจากล่างสู่บน
สุดท้ายก็มาเจอกับระบบบ้านหายใจได้ SCG Active AIRflow™ ของ SCG ซึ่งมาจากการค้นหาใน Google นี่แหละ ก็ได้นั่งศึกษาคลิปวีดีโอของเขาหลายๆ ตัว ก็ทำให้เข้าใจระบบมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เข้าใจแบบถ่องแท้อยู่ดี จนกระทั่งตัดสินใจเข้าไปคุยและดูบ้านจำลองที่ SCG Experience เป็นตึกสร้างโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ประตูทางเข้าออกที่ 2 ของ CDC (Crystal Design Center) เลียบทางด่วนรามอินทรา
หลักการการทำงานของระบบ SCG Active AIRflow™
ระบบนี้เป็นระบบที่ทำมาส่งเสริม และสนับสนุนหลักธรรมชาติที่ได้กล่าวไปข้างต้นไว้ว่า “อากาศร้อนจะลอยจากข้างล่าง (ชั้นหนึ่ง) ขึ้นสู่ข้างบน (ชั้นสอง)” โดยระบบนี้จะมีอุปกรณ์ประมาณมาช่วยดูดอากาศจากชั้นล่างผ่านทางช่องเติมอากาศขึ้นมาทางโถงบันได ทะลุขึ้นไปเหนือฝ้าเพดานใต้หลังคา (ผ่าน พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได) และจากเพดานออกทางหลังคา (ผ่าน พัดลมระบายอากาศบนหลังคา) เพื่อนำอากาศจากนอกบ้านให้ไหลเวียนจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ที่มีอากาศร้อนอยู่แล้วให้ลอยออกไปนอกบ้านด้วยความรวดเร็ว
ใครที่จะสามารถติดระบบ SCG Active AIRflow™ ได้ ?
การติดตั้งระบบบ้านหายใจได้ SCG Active AIRflow นั้นไม่ใช่มีเงินอย่างเดียวแล้วจะติดตั้งได้ (อาจจะพูดเว่อร์ไปหน่อย แต่ก็มีส่วนที่จริงอยู่เหมือนกัน) สาเหตุเพราะว่าตัวบ้านที่จะติดตั้งระบบนี้ จะต้องใช้แผ่นกระเบื้องหลังคาของทาง SCG ในรุ่นที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งรุ่นที่สามารถติดตั้งระบบนี้ได้ก็จะมี …
- หลังคาคอนกรีต SCG รุ่น Prestige
- หลังคาคอนกรีต SCG รุ่น Neustile แบบ Modern
- หลังคาเซรามิค SCG รุ่น Excella แบบ Classic/ Grace/ Modern
- หลังคาเซรามิค SCG รุ่น Celica แบบ Curve
- หลังคาคอนกรีต CPAC รุ่น Elabana
- หลังคาคอนกรีต CPAC รุ่น Centurion
หมายเหตุ : ข้อมูลดังกล่าวนำมาจากเว็บไซต์ aaf.scgbuildingmaterials.com (อนาคตอาจมีการอัพเดทเรื่อยๆ)
ระบบ SCG Active AIRflow™ มีทั้งหมดกี่รุ่น และมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ?
ด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบของรุ่นของระบบบ้านหายใจได้ SCG Active AIRflow™ ว่ามีแบบไหน และแต่ละแบบต่างกันอย่างไรบ้าง
ชื่ออุปกรณ์ (Equipment Name) |
รุ่น Smart |
รุ่น Premium |
รุ่น Premium + แผงโซล่าเซลล์ |
ช่องเติมอากาศ* (Intake Air Grille) |
✔ | ||
พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได* (Ceiling Ventilator – CV) |
✔ | ||
พัดลมระบายอากาศบนหลังคา* (Solar Roof Tile Ventilator – SRTV) |
✔ | ||
วัสดุของปล่องระบายอากาศบนหลังคา (Ventilation Chimney Material) |
เหล็กชุบกันสนิม | สเตนเลส | |
แผงโซล่าเซลล์บนหลังคา (Solar Panel on the Roof) |
✕ | ✕ | ✔ |
กล่องควบคุมอัจฉริยะ ควบคุมผ่านแอปฯ (Smart Control Box – Control via Mobile App) |
✕ | ✔ | ✔ |
หน้าจอแสดงผลอัจฉริยะ (Smart Display) |
✔ | ✕ | ✕ |
เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายนอกบ้าน (Ambient Temperature Sensor) |
✕ | ✔ | ✔ |
เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิใต้หลังคา (Attic Temperature Sensor) |
✔ | ✔ | ✔ |
เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายในบ้าน (Indoor Temperature Sensor) |
✔ | ✔ | ✔ |
ระดับราคา (Price Level) |
ถูกสุด | ปานกลาง | แพงสุด |
หมายเหตุ : ถ้าติดตั้งรุ่น Premium (รุ่นราคาระดับปานกลาง) เราจะสามารถอัพเกรดไปติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ทีหลังได้ แต่ถ้าติดตั้งรุ่น Smart (รุ่นราคาถูกสุด) ไปแล้วจะมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ทีหลังไม่ได้แล้ว
1. Intake Air Grille (ช่องเติมอากาศ)
ช่องเติมอากาศ เป็นช่องที่ให้อากาศไหลเข้ามาภายในตัวบ้าน จะถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณชั้นล่าง ในตำแหน่งพื้นที่มีลม ไม่ถูกบดบังด้วยอาคารอื่นๆ ที่อยู่รอบนอก โดยส่วนมากจะอยู่ในฝั่งที่ไม่โดนแดด (หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อาจจะอยู่ในฝั่งที่โดนแดด แต่มีอะไรบังเช่น กันสาด ไม้ระแนง ฯลฯ)
ช่องเติมอากาศนี้วัสดุทำมาจากพลาสติก จะแบ่งออกเป็น 2 ชิ้น (ภายนอกชิ้นนึง และภายในอีกชิ้นนึง) โดยส่วนของภายนอกจะมีตะแกรงกันแมลง (ลักษณะคล้ายๆ กับมุ้งลวด) ขณะที่ส่วนของภายในจะมีแผ่นกรองอากาศ (คล้ายกับแผ่นกรองอากาศเครื่องแอร์) (ไม่ใช่ แผ่นกรองอากาศ HEPA นะ)
2. Ceiling Ventilator – CV (พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได)
อุปกรณ์ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันอากาศให้ออกไปจากบ้านในเวลาอันรวดเร็ว นั่นก็คือพัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือ พัดลมดูดระบายอากาศติดเพดาน (Ceiling Type Ventilation Fan) ชนิด ไม่ต่อท่อระบายอากาศ ดีๆ นี่เอง โดยระบบที่เขานำมาติดตั้งคือ พัดลมดูดระบายอากาศติดเพดาน MITSUBISHI รุ่น EX-25SC5T (ขนาด 10 นิ้ว) ที่จำหน่ายตามท้องตลาดดีๆ นี่เอง โดยจากการคำนวณพื้นที่บ้านและปัจจัยอื่นๆ เขาให้มา 2 ตัว (รายละเอียดการประเมินราคาเบื้องต้นของ ระบบ SCG Active AIRflow™)
สาเหตุที่ต้องใช้พัดลมชนิดไม่ต่อท่อระบายอากาศนั้น เพราะว่าระบบนี้ต้องการให้อากาศเย็นขึ้นไปกระจายตัวบนฝ้าเพดานใต้หลังคา ก่อนที่จะถูกดูดออกไปข้างนอกบ้านด้วยพัดลมระบายอากาศบนหลังคา (SRTV) เพื่อไม่ให้พื้นที่ใต้หลังคาร้อนอบอ้าวจนเกินไป
กล่าวคือจุดประสงค์หลักๆ ของระบบนี้ต้องการให้มีอากาศถ่ายเท ไม่ใช่การระบายกลิ่น หรือระบายความชื้นต่างๆ (จริงๆ ก็ช่วยระบายเพราะเป็นผลพลอยได้ ที่เกิดขึ้นหลังการติดตั้ง)
แต่ถ้าเราต้องการที่จะติดพัดลมระบายอากาศ เพื่อดูดความชื้นจริงๆ (ตามห้องน้ำ) จะต้องต่อท่อระบายอากาศตรงออกไปข้างนอกอาคารเลย มิเช่นนั้นความชื้นที่ถูกดูดขึ้นไป อาจสร้างความเสียหายให้กับวัสดุต่างๆ ที่อยู่ภายในพื้นที่ใต้หลังคาได้
3. Solar Roof Tile Ventilator – SRTV (พัดลมระบายอากาศบนหลังคา)
ตัวนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบบ้านหายใจได้ เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่ออากาศถูกดูดขึ้นไปบนพื้นที่ใต้หลังคาแล้ว ตัวพัดลมระบายอากาศบนหลังคา จะมีหน้าที่ดูดลมต่อให้ออกไปนอกบ้านโดยทันที ไม่ให้อากาศร้อนหมุนเวียนอยู่ภายในบ้านอีก
ทาง SCG เขาให้พัดลมยี่ห้อ SANYODENKI (ซันโยเดนกิ) รุ่น San Ace 172* จากประญี่ปุ่นมาให้ โดยจะถูกสวมอยู่ในปล่องระบายอากาศ (Ventilation Chimney) และวางครอบอยู่บน แผ่นกระเบื้องหลังคาที่ถูกผลิตขึ้นมาเฉพาะระบบ SCG Active AIRflow™ นี้เท่านั้น โดยจะเป็นแผ่นกระเบื้องของหลังคาเฉพาะรุ่น ที่ถูกเจาะเป็นปล่องระบายอากาศเพื่อให้พัดลมระบายอากาศบนหลังคาพร้อมปล่อง มาสวมครอบไปได้พอดิบพอดี
ดังนั้นจึงหายห่วงเรื่องน้ำรั่วซึมจากบนหลังคา เพราะกระเบื้องที่นำมาใช้ เป็นแผ่นกระเบื้องใหม่ตรงรุ่น และถูกผลิตขึ้นมาเฉพาะกับระบบนี้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการนำเอา แผ่นกระเบื้องเก่ามาเจาะเพื่อทำปล่องระบายอากาศ แบบนั้นจะเสี่ยงต่อการรั่วซึมเป็นอย่างมาก
และสำหรับวัสดุของปล่องระบายอากาศบนหลังคาระหว่างรุ่น Smart และ Premium จะแตกต่างกันคือ
- รุ่น Smart : เหล็กชุบกันสนิม จะมีรอยต่อของการเชื่อมต่อ
- รุ่น Premium : สเตนเลส วัสดุจะเนียนเป็นเนื้อเดียวกันและปราศจากสนิม ทนแดดและทนฝน
หมายเหตุ* : อัตรากินไฟสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 27 วัตต์ (ประมาณ 0.14 แอมป์) โดยชุดที่ติดตั้งที่บ้านเขาให้มาทั้งสิ้น 4 ชุดด้วยกัน (จำนวนขึ้นอยู่กับการประเมินราคา)
4. Solar Panel on the Roof (แผงโซล่าเซลล์บนหลังคา)
จะถูกติดตั้งบนหลังคาฝั่งทิศตะวันตก หรือทิศใต้ ยึดติดด้วยอุปกรณ์ยึดแผงโซล่าเซลล์กับแผ่นกระเบื้องของ SCG เท่านั้น (เรียกว่า Solar Fix) เพื่อจ่ายไฟโดยตรงไปยัง พัดลมระบายอากาศบนหลังคา (SRTV) เท่านั้น (แต่พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได ยังคงใช้ไฟบ้านเหมือนเดิม) (ไม่มีรูปประกอบ เพราะไม่ได้ติดตั้ง)
5. Smart Control Box (กล่องควบคุมอัจฉริยะ)
กล่องควบคุมอัจฉริยะขนาดมิติ กว้าง (W) 233 x ยาว (L) 77 x สูง (H) 290 มิลลิเมตร ถูกติดตั้งอยู่ด้านบนของผนังบ้านชั้น 2 ที่มุมขวาบนของกล่องเขียนข้อความว่า “SCG Living Tech” และด้านล่างเขียนว่า “Active AIRflow™ System” พร้อมเบรกเกอร์ฝังอยู่ในตัว เพื่อให้สับเพื่อปิดหรือเปิดระบบได้
ขณะที่ด้านข้างฝั่งซ้ายของกล่องจะมีเสาอากาศ Wi-Fi ยื่นออกมาข้างนอก เพื่อเอาไว้ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ให้สั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้ (โดยไม่ต้องเดินสาย LAN มาที่ตู้) (ทีมช่างจะเป็นฝ่ายดำเนินการเชื่อมต่อ และติดตั้งแอปฯ ให้เรา)
6. Smart Display (หน้าจอแสดงผลอัจฉริยะ)
หน้าจอแสดงผอัจฉริยะ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับระบบ SCG Active AIRflow™ ในรุ่น Smart เท่านั้น โดยจะถูกติดยึดกับกำแพง เป็นเครื่องสีขาว มีแถบไฟ LED สีขาวล้อมรอบ สีสันสวยงาม
ผู้ใช้งาน สามารถที่จะดูค่าสถานะของระบบ ค่าอุณหภูมิภายในบ้าน (Indoor Temperature) ที่วัดจากเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายในบ้าน และค่าอุณหภูมิใต้หลังคา (Attic Temperature)
โดยมันไม่สามารถดูและวัดค่าของอุณหภูมิภายนอกบ้านได้ และก็ไม่สามารถเชื่อมต่อ และ สั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน บนโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วยเช่นกัน
7. Ambient Temperature Sensor (เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายนอกบ้าน)
การติดตั้งเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายนอกบ้าน (เฉพาะรุ่น Premium) จะต้องหาช่องออกไปจ่อเพื่อวัดอุณหภูมิภายนอกตัวบ้านพร้อมเดินสายไฟจาก กล่องควบคุมอัจฉริยะ มาที่ตัวเซ็นเซอร์
โดยทีมช่างจะเป็นผู้หาและแนะนำเราเองว่าตรงไหนได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเซ็นเซอร์ฯ จะลักษณะคล้ายๆ กับแท่งเหล็กยื่นออกไปนอกอาคาร (อาจจะต้องเจาะเป็นรูเล็กๆ) โดยส่วนมากจะเจาะออกทางแผ่นฝ้าชายคาระบายอากาศ
8. Attic Temperature Sensor (เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิใต้หลังคา)
เซ็นเซอร์ที่จะต้องถูกติดตั้งอยู่ใต้หลังคาหรือห้องเพดาน (Attic) เพื่อวัดค่าอุณหภูมิภายในพื้นที่ใต้หลังคาแล้วส่งค่ากลับมาประมวลผลเช่นกัน
9. Indoor Temperature Sensor (เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายในบ้าน)
เซ็นเซอร์ที่จะถูกติดตั้งอยู่บริเวณใต้ฝ้าเพดาน ของโถงบันไดชั้นบนสุด (ถ้าบ้านมี 2 ชั้นก็จะติดที่เพดานชั้น 2) เพื่อวัดอุณหภูมิภายในตัวบ้าน ว่าอยู่ที่ระดับใด เพื่อให้กล่องควบคุม นำไปประมวลผลต่อไปว่าระบบนี้จะต้องเปิดทำงานหรือไม่ โดยเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิตัวนี้ จะมีอยู่ใน ทุกรุ่นของระบบ SCG Active AIRflow™
ขั้นตอนการติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™
ระบบนี้ไม่ได้เป็นระบบที่เราจะสามารถเดินไปหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า แล้วนำกลับมาติดตั้งได้ง่ายๆ เองที่บ้าน เพราะระบบค่อนข้างมีความซับซ้อนมากมาย ดังนั้นจึงมีขั้นตอนอยู่พอสมควร เช่นเจ้าหน้าที่จาก SCG จะต้องมาทำการสำรวจพื้นที่ เพื่อที่จะใช้ตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่หน้างาน ฯลฯ เป็นต้น มาดูกันเลย
1. ประเมินราคาการติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™
เราสามารถเข้าไปประเมินราคาค่าติดตั้งระบบก่อน จากระบบคำนวณราคาเบื้องต้นที่เว็บไซต์ aaf.scgbuildingmaterials.com เพื่อประเมินราคาค่าติดตั้งระบบได้คร่าวๆ ก่อนที่จะขอใบเสนอราคาจริงๆ จากเจ้าหน้าที่ เพื่อสำรวจเงินในกระเป๋าตัวเองก่อนว่าพอหรือไม่ โดยราคาและจำนวนของนั้นจะขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยหลักๆ ที่เราจะต้องกรอกข้อมูลให้เขาไปในระบบ ดังต่อไปนี้
- Number of Floors (จำนวนชั้นของบ้าน) : ปัจจัยแรกที่จะต้องเลือกคือจำนวนชั้นของบ้านมีให้เลือกตั้งแต่ 1 ชั้น ไปจนถึง 3 ชั้น พร้อมระบุจำนวนชั้นเอง
- Usable Area (ขนาดพื้นที่ใช้สอย) : ขนาดพื้นที่ภายในบริเวณบ้านและหลังคา (พื้นที่มากเท่าไหร่ ยิ่งแพงเท่านั้น) : พื้นที่ใช้สอยในบ้านทั้งหลังทุกชั้น หน่วยเป็นตารางเมตร รวมพื้นที่ของโรงรถด้วย (ถ้าอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน) แต่ไม่รวมพื้นที่สวนนอกบ้าน
- Roof Shape (ทรงของหลังคา) : รูปแบบของทรงหลังบ้าน มีตัวเลือกให้เลือกทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกันคือ ทรงจั่ว ทรงปั้นหยา ทรงเพิงหมาแหงน และ ทรงผสม
- Wall Material (วัสดุของผนัง) : วัสดุของผนังที่ใช้ก่อบ้าน มีให้เลือกคำนวณทั้งหมด 3 ชนิด คืออิฐมอญ อิฐมวลเบา และ คอนกรีตสำเร็จรูป (Precast)
ข้อมูลในตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างการคำนวณราคา ที่เข้าไปประเมินจากเว็บไซต์ของเขาในเบื้องต้นว่าแบบไหนแพงแบบไหนถูก โดยข้อมูลที่กรอกไปเพื่อเป็นตัวอย่าง จะใช้เป็นบ้านแบบ 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 250 ตารางเมตร (สมมุติเอานะ)
ราคาในตาราง คำนวณจากบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 250 ตารางเมตร (รุ่น Premium แบบไม่มีแผงโซล่าเซลล์) |
|||
ทรงของหลังคา / วัสดุผนัง (Roof Shape / Wall Material) |
อิฐมอญ (Brick Wall) |
อิฐมวลเบา (Lightweight Brick Wall) |
ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) |
ทรงจั่ว (Gable Roof) |
211,000 บาท | 176,400 บาท | 211,000 บาท |
ทรงปั้นหยา (Hip Roof) |
130,500 บาท | 148,500 บาท | 130,500 บาท |
ทรงเพิงหมาแหงน (Lean to Roof) |
134,100 บาท | 134,100 บาท | 134,100 บาท |
ทรงผสม (Mixed Roof) |
199,000 บาท | 162,000 บาท | 199,000 บาท |
หมายเหตุ : ราคาด้านบนนี้อัพเดทล่าสุดวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) โดยคำนวณมาจากเว็บไซต์ http://aaf.scgbuildingmaterials.com/ อย่างไรก็ตามควรจะต้องส่งแบบบ้านให้ทางเจ้าหน้าที่ประเมินราคาอีกครั้งเพื่อความแม่นยำ
ข้อมูลเพิ่มเติม
“โดยส่วนตัวได้เลือกติดตั้งเป็นรุ่น Premium แบบไม่มีแผงโซล่าเซลล์ หลังจากที่ศึกษาดูแล้วว่าการสั่งงาน และตั้งค่าต่างๆ ผ่าน App จะสะดวกกว่า การสั่งงานผ่านที่หน้างาน เพราะสามารถสั่งงาน และดูค่าต่างๆ จากนอกบ้านได้ด้วย ซึ่งอุปกรณ์ก็จะมีประมาณนี้”
2. ติดต่อขอใบเสนอราคา การติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™ ?
การขอใบเสนอราคาติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™ จริงๆ มีได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น
- ทางเพจ SCG Experience บนเฟสบุ๊ค (ช่องทางออนไลน์)
- ทางเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของ SCG Experience : 0-2101-9922
- ช่องทางอื่นๆ (ที่อาจจะไม่ทราบ)
ซึ่งแต่ละช่องทาง โปรโมชั่นก็จะเป็นคนละตัวกันผลประโยชน์ต่างกัน เพราะบางโปรโมชั่นมีส่วนลด 10% บ้าง 15% บ้าง 20% บ้าง บางโปรโมชั่นมีส่วนลด พร้อมบัตรกำนัล (Gift Voucher) ของห้างสรรพสินค้า หรืออุปกรณ์เสริมฟรีต่างๆ ยังไงลองตรวจสอบให้ดีๆ ก่อนตกลงติดตั้งระบบ และ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ราคาจะแพงเวอร์ เกินแสนก็จริง แต่ทาง SCG ก็มักจะมีโปรโมชั่นออกมาอย่างสม่ำเสมอ จากการติดตามโปรโมชั่นมาได้ 4-5 เดือนละ
หมายเหตุ : เรื่องการต่อรองราคาค่าระบบกับทาง SCG คงจะยาก เพราะราคาโปรโมชั่นต่างๆ เหล่านี้ถูกกำหนดตายตัวเอาไว้หมดแล้ว และไม่สามารถเลือกที่จะไม่เอาภาษี (Vat) ได้
3. นัดหมายสำรวจหน้างาน เพื่อสำรวจพื้นที่ติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™
หลังจากที่ได้ตกลงราคา และข้อเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ที่ทาง SCG นำเสนอแล้ว ก็จะเป็นการนัดหมายวันสำรวจหน้างาน (Site Survey) ก่อนทำการติดตั้ง แต่ก่อนที่จะมาสำรวจหน้างานจะมีการ จ่ายค่าสำรวจหน้างาน 2,000 บาท เสียก่อน (เซลล์จะแจ้งวิธีการจ่ายเงินให้เราอีกที) แล้วจะมีทีมช่างโทรมานัดวันและเวลาเข้าสำรวจหน้างานกับเราอีกที
โดยการสำรวจหน้างาน จะมีทีมช่างจาก SCG มาที่บ้านประมาณ 2 คน มาสำรวจจุดติดตั้งของอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ ช่องเติมอากาศติดผนัง (Intake Air Grille) พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได (CV) พัดลมระบายอากาศบนหลังคา (SRTV) และ กล่องควบคุมอัจฉริยะ (Smart Control Box) รวมไปถึงตำแหน่งของเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิต่างๆ โดยมีการปีนขึ้นไปดูบนหลังคา และขึ้นไปดูในพื้นที่ใต้หลังคาผ่านทางช่องเซอร์วิส
4. จ่ายเงินค่ามัดจำ และนัดหมายวันติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™
เมื่อสำรวจพื้นที่ติดตั้งระบบเสร็จแล้ว เซลล์จะแจ้งสรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดอีกครั้ง* โดยเมื่อทราบราคาสรุปที่แน่ชัดแล้ว จะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำก่อน 70% ทันทีและจ่ายส่วนที่เหลืออีก 30% ก่อนการติดตั้งจริง 1 สัปดาห์
วิธีการจ่ายเงินก็ ถ้าสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ก็จะสามารถตัดบัตรเครดิตผ่านระบบออนไลน์ได้เลย โดยทางเซลล์จะส่งที่อยู่เว็บไซต์การจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ (Online Payment Web Address) มาให้เรา แล้วเราก็เข้าไปกรอกรายละเอียดการจ่ายเงิน (เหมือนสั่งซื้อของออนไลน์ทั่วไป) แต่ถ้าผ่านทางช่องทางหน้าร้านก็โอนเงินเข้าบัญชีที่กำหนด หรือไปจ่ายที่หน้าเค้าเตอร์ (รูดบัตรเครดิตได้)
เมื่อจ่ายเงินเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมและผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้ง โดยเฉพาอย่างยิ่งแผ่นกระเบื้องหลังคา ที่ถูกเจาะเป็นปล่องระบายอากาศ อันนี้จะต้องมีการสั่งผลิตพิเศษ และหลังจากนั้น เซลล์ผู้ดูแลเราจะโทรมานัดหมายวันติดตั้งระบบ (ล่วงหน้าประมาณ 2 อาทิตย์)
หมายเหตุ* : ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก หลังวันเข้าสำรวจพื้นที่ติดตั้งระบบ เนื่องจากอาจจะมีการเพิ่มหรือลดจำนวนอุปกรณ์ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ใช้สอยของบ้าน
5. การดำเนินการ วันติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™
ในส่วนของวันติดตั้งระบบนั้น ทีมช่างจะนัดหมายเข้าปฏิบัติงานกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า ซึ่งตามกำหนดการทุกอย่างจะเสร็จภายในวันเดียว โดยจะมีทีมช่างเข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบหลักๆ อยู่ 2 ทีมดังต่อไปนี้ (แต่ละทีมจะมีเจ้าหน้าที่ของ SCG เป็นผู้คุมงาน – เท่ากับว่ามี 2 คนรับผิดชอบคนละทีม)
- ทีมช่างงานปูนและงานกระเบื้อง : ทีมนี้จะรับผิดชอบส่วนของการเจาะผนัง เพื่อติดตั้งช่องเติมอากาศชั้นล่างทั้งหมด พร้อมกับ รับผิดชอบในส่วนของการเปลี่ยนแผ่นกระเบื้องหลังคาเดิม ไปเป็น แผ่นกระเบื้องหลังคาแบบปล่องที่สั่งผลิตพิเศษ พร้อมกับชุดของพัดลมระบายอากาศบนหลังคา (ปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านผ่านบันไดยาว หรือนั่งร้าน) โดยทีมนี้จะใช้เวลาไม่นาน (ประมาณครึ่งวันเช้าก็น่าจะเสร็จแล้ว) เพราะงานหลักๆ มีอยู่แค่ 2 อย่าง
- ทีมช่างติดตั้งงานระบบ : ทีมชุดนี้จะเป็นผู้รับเหมาช่วง (พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของ SCG) ที่เข้ามาพร้อมๆ กันกับทีมงานปูนและงานกระเบื้อง ตั้งแต่ช่วงเช้า แต่กว่าจะเสร็จก็น่าจะยาวไปถึงบ่ายแก่ๆ หรือเย็นๆ ค่ำๆ โน้นเลย (ขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้า) โดยพวกเขามีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- งานเจาะฝ้าเพดาน และติดตั้งพัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได
- งานติดตั้งหน้าจอแสดงผล (สำหรับรุ่น Smart) หรือ กล่องควบคุมอัจฉริยะ (สำหรับรุ่น Premium) พร้อมสวิตซ์ควบคุมระบบต่างๆ
- งานติดตั้งเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิในตำแหน่งต่างๆ (สำหรับรุ่น Smart ติดตั้งทั้งหมด 2 จุด แต่รุ่น Premium ติดตั้งทั้งหมด 3 จุด)
- งานเดินระบบไฟ เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทั้งหมด (สายไฟทั้งหมดจะถูกร้อยอยู่ในท่ออ่อนแบบ uPVC ทั้งหมด)
- งานสอนการใช้งานระบบ (และแอปพลิเคชันสำหรับรุ่น Premium) ให้กับลูกค้า
สรุปอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™ รุ่น Premium
- ช่องเติมอากาศ x 2 ชุด
- พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได x 2 ตัว
- พัดลมระบายอากาศบนหลังคา x 4 ตัว
- กล่องควบคุมอัจฉริยะ ควบคุมผ่านมือถือ x 1 ชุด
- เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายนอกบ้าน x 1 ชุด
- เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิใต้หลังคา x 1 ชุด
- เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายในบ้าน x ชุด
6. หลังการติดตั้งระบบ SCG Active AIRflow™ เสร็จสิ้น
หลังจากติดตั้งระบบเสร็จเรียบร้อย เราก็จะเซ็นเอกสารรับงาน พร้อมรับมอบหนังสือคู่มือการใช้งานภาษาไทย (Thai User Manual) และใบรับประกันระบบ (Warranty Card) ของ Active AIRflow™ System ที่พิมพ์เป็นชื่อเรา พร้อมระบุระยะเวลาการรับประกันอย่างชัดเจน
หมายเหตุ : โดยระยะเวลารับประกันอยู่ที่ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ติดตั้ง
การใช้งานระบบ SCG Active AIRflow™ รุ่น Premium
เนื่องจากที่บ้านติดตั้งเป็นรุ่น Premium แบบไม่มีแผงโซล่าเซลล์ ดังนั้นการควบคุมสั่งงานระบบนี้จะ สั่งผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือชื่อว่า “SCG SmartLiving” ทั้งหมด (สามารถใช้ได้ทั้งบน iPhone และ iPad แล้ว) โดยทีมงานจะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการติดตั้งและใช้งาน เมื่อการติดตั้งระบบเสร็จสิ้น และสำหรับการใช้งานของระบบก็มีข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- ค่าตั้งต้นของระบบใน “โหมด ECO” คือระบบจะเปิดตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไปจนถึง 2 ทุ่ม (รวมวันละ 13 ชั่วโมง) โดยเมื่อหมดเวลา ระบบจะหยุดการทำงานโดยทันที
- สามารถปรับเปลี่ยนค่าตั้งต้นของระบบใน “โหมด ECO” ให้เปิดปิดได้ตามต้องการ เช่นกัน เช่น ระบบเปิด 7 โมงเช้า ถึง 5 ทุ่ม อะไรแบบนี้ (แต่ว่าต้องบอกทีมช่างให้เปลี่ยนให้ เราจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เอง)
- ถ้าต้องการเปิดระบบนอกเวลาทำการก็สามารถสั่งได้ผ่านแอปพลิเคชันไปที่ “โหมด ON” ก็จะเปิดปิดระบบได้ตามต้องการ
- สามารถปิดระบบได้ตามต้องการจากสวิตซ์ไป ที่ทา
- ระบบจะหยุดทำงานเองอัตโนมัติ ในกรณีที่อุณหภูมิภายในลดลงต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส (แต่อยู่เมืองไทย ยากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้)
หลังติดตั้ง และใช้งานระบบ SCG Active AIRflow™ รุ่น Premium
ในส่วนนี้น่าเป็นส่วนไฮไลท์ที่หลายๆ คนสนใจ ว่าติดตั้งไปแล้วได้ผลลัพธ์ เป็นที่น่าพอใจ และคุ้มค่ากับราคาหรือไม่ โดยจะแยกออกเป็นหัวข้อๆ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ
ความรู้สึกส่วนตัวหลังติดตั้งระบบ
ส่วนนี้จะเป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ อาจจะมีมาจากการอุปทานหรือคิดมโนไปเองว่ามันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะในเมื่อเราเสียเงินไปแล้ว ก็ต้องคิดว่ามันดี (เพื่อให้รู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ฮาๆ)
- รู้สึกว่าภายในตัวบ้านมีอากาศถ่ายเท มีลมผ่านเบาๆ จริงๆ (ในกรณีถ้าเปิดระบบ SCG Active AIRflow™ และปิดแอร์ ปิดพัดลมในบ้าน)
- ช่องเติมอากาศชั้นล่าง รู้สึกว่ามีลมเข้าจริงๆ แต่ถ้าเปิดหน้าต่างส่วนอื่นๆ ลมจะเข้าทางหน้าต่างมากกว่า (เพราะช่องเติมอากาศมีขนาดเล็กกว่า) (ผลการทดสอบความเร็วลมจากช่องเติมอากาศชั้นล่าง)
- อุณหภูมิภายในบ้านจะเย็นลงประมาณ 1-2 องศา (ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ หรือ ช่วงเวลาว่าเป็นกลางวัน หรือกลางคืน เป็นต้น) ไม่ใช่เปิดระบบปุ๊บแล้วอุณหภูมิจะลงทันทีภายใน 5-10 นาที แต่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยเกือบชั่วโมง (อย่าลืมว่าระบบนี้ ไม่ใช่เครื่องแอร์ ที่จะเปิดปุ๊บแล้วจะเย็นปั๊บ)
- ห้องทำงานจากที่เคยร้อนอบอ้าวมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหัวค่ำ (ประมาณ 1-2 ทุ่ม) จนต้องเปิดแอร์ในช่วงเวลาดังกล่าวก็สามารถนั่งทำงานได้สบายๆ โดยไม่ต้องเปิดแอร์อีกเลย
- ช่วงแรกๆ หลังการติดตั้ง รู้สึกว่าเสียง พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได (CV) ค่อนข้างดัง แต่พอใช้ไปเรื่อยๆ ก็ชินไปเอง
- มีฝุ่นเข้ามาเกาะในบ้านมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องควรเช็คปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (ฝุ่น PM 2.5) หรือซื้อเครื่องวัดมาไว้วัดค่า ก่อนเปิดระบบ
ค่าทดสอบวัดอุณหภูมิ (Temperature) และ ความเร็วลม (Wind Speed) จากเครื่องวัด
ส่วนนี้จะเป็นการวัดค่าจริงๆ โดยใช้เครื่องวัดค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอล (Digital Thermometer) และเครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอล (Digital Anemometer) เพื่อดูว่ามีลมวิ่งผ่านในตำแหน่งต่างๆ ของบ้านหรือไม่ เป็นการเทียบกันระหว่างเปิดและปิดระบบ SCG Active AIRflow™
การวัดค่าอุณหภูมิ (Temperature Test)
ในการวัดค่าอุณหภูมิ ได้แบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ช่วงคือ
-
- ทดสอบเวลากลางวัน : อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าภายในบ้าน
- ทดสอบเวลากลางคืน : อุณหภูมิภายนอกต่ำภายในบ้าน
☼ กลางวัน : ทดสอบเวลา 10:30 ถึง 11:30 น. อุณหภูมิภายนอก ≈ 33 องศา | ความชื้นสัมพัทธ์ ≈ 60% |
||||
ตำแหน่งที่ทดสอบ (Test Location) |
ปิดระบบ (Sys Off) |
เปิด 15 นาที (After 15 Min.) |
เปิด 30 นาที (After 30 Min.) |
เปิด 1 ชั่วโมง (After 1 Hr.) |
หลังช่องเติมอากาศ (ภายในบ้าน) | 31.9 °C | 32.0 °C | 32.2 °C | 32.2 °C |
โถงบันไดบริเวณชานพักบันได | 31.3 °C | 31.5 °C | 31.6 °C | 31.6 °C |
ห้องชั้นบนที่ไม่มีพัดลมระบายอากาศ | 31.6 °C | 31.9 °C | 32.1 °C | 31.9 °C |
หน้าพัดลมระบายอากาศ | 31.8 °C | 31.6 °C | 31.8 °C | 31.5 °C |
พื้นที่ใต้หลังคา (ค่าจากแอปฯ)* | 38 °C | 37 °C | 36 °C | 34 °C |
☾ กลางคืน : ทดสอบเวลา 20:30 ถึง 21:30 น. อุณหภูมิภายนอก ≈ 28 องศา | ความชื้นสัมพัทธ์ ≈ 75% |
||||
ตำแหน่งที่ทดสอบ (Test Location) |
ปิดระบบ (Sys Off) |
เปิด 15 นาที (After 15 Min.) |
เปิด 30 นาที (After 30 Min.) |
เปิด 1 ชั่วโมง (After 1 Hr.) |
หลังช่องเติมอากาศ (ภายในบ้าน) | 31.4 °C | 28.3 °C | 28.4 °C | 28.4 °C |
โถงบันไดบริเวณชานพักบันได | 31.7 °C | 31.3 °C | 31.1 °C | 30.7 °C |
ห้องชั้นบนที่ไม่มีพัดลมระบายอากาศ | 31.9 °C | 31.9 °C | 31.6 °C | 31.1 °C |
หน้าพัดลมระบายอากาศ | 32.0 °C | 31.5 °C | 31.3 °C | 30.1 °C |
พื้นที่ใต้หลังคา (ค่าจากแอปฯ)* | ≈ 32 °C | ≈ 32 °C | ≈ 31 °C | ≈ 31 °C |
หมายเหตุ* : ค่าอุณหภูมิของพื้นที่ใต้หลังคา ไม่มีจุดทศนิยม เนื่องจากในข้อมูลจากแอปพลิเคชันก็ไม่แสดงเช่นกัน
ความคิดเห็นส่วนตัว
“จากตารางผลการทดสอบในเวลากลางวัน (อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าภายในบ้าน) พบว่าก่อนและหลังเปิดระบบไปได้ 1 ชั่วโมง อุณหภูมิไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญอะไรเลย มิหนำซ้ำจะทำให้อุณหภูมิภายในบ้านสูงขึ้น (นิดนึง) ด้วย สาเหตก็เพราะว่าอุณหภูมิภายนอกสูงกว่าภายในนั่นเอง ดังนั้นการเปิดระบบ SCG Active AIRflow™ จึงเป็นการไปดูดอากาศร้อนเข้ามาภายในบ้านด้วย
แต่ครับแต่ !! แต่ในขณะเดียวกัน เราจะรู้สึกสบายตัวขึ้น เพราะรู้สึกว่ามีลมหมุนเวียนเข้ามาภายในบ้านจริงๆ (แต่อาจจะไม่ได้มากถึงขนาดที่เครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอลจะวัดค่าออกมาได้) สรุปง่ายๆ คือ บ้านยังร้อนอยู่ แต่ไม่ได้ร้อนอบอ้าว ซึ่งความรู้สึกของการร้อน กับร้อนอบอ้าว 2 อย่างนี้มันต่างกันนะ
ในขณะที่การทดสอบในเวลากลางคืน (อุณหภูมิภายนอกต่ำกว่าภายในบ้าน) ก็พบว่ามันสามารถช่วยให้บ้านเย็นลงจริงๆ ประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส แต่กว่าจะเย็นลงได้ก็ต้องใช้เวลาร่วมชั่วโมงอยู่เหมือนกันนะครับ
ถ้ามีคำถามว่าทำไมอุณหภูมิภายในบ้านยังคงสูงอยู่ในเวลากลางคืน ก็มีสาเหตุมาจากความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นจากแสงแดดที่ส่องเข้ามาที่ตัวบ้าน และความร้อนจากแสงแดดก็ถูกสะสมเอาไว้ในผนัง หรือบริเวณ ความร้อนที่สะสมเหล่านั้นจะคลายออกมาในเวลากลางวันนั่นเอง“
การทดสอบความเร็วลม (Wind Speed Test)
ตำแหน่งที่ทดสอบ (Test Location) |
ความเร็วลมขณะปิดระบบ (System Off Wind Speed) |
ความเร็วลมขณะเปิดระบบ (System On Wind Speed) |
ด้านหลังช่องเติมอากาศ (ภายในบ้าน) | 0.00 km/h | 2.88 km/h (ของทั้ง 2 ช่อง) |
ด้านหน้าพัดลมระบายอากาศ (ภายในบ้าน) | 0.00 km/h | 11.66 km/h (ของทั้ง 2 เครื่อง) |
ค่าไฟต่อเดือนแพงขึ้นหรือไม่ ? (การบริโภคไฟเป็นอย่างไร ?)
เนื่องจากระบบนี้เป็นระบบที่ต่อไฟตรงกับไฟบ้านเลย ไม่ได้ใช้การเสียบปลั๊กเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆ ไป ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) เหมือนที่เคยๆ รีวิวมาได้เนื่องจากอันนั้นเป็นการวัดไฟจากหัวปลั๊กไฟบ้าน ด้วยเหตุนี้เองจึงขอใช้การคำนวณค่าไฟจากสเปคของอุปกรณ์แต่ละชิ้น ที่ใช้ในการติดตั้งมาคำนวณ ลองดูผลการคำนวณคร่าวๆ จากตารางด้านนี้ได้เลย
การใช้อุปกรณ์ในตาราง คำนวณจากบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 250 ตารางเมตร (รุ่น Premium แบบไม่มีแผงโซล่าเซลล์) |
|||
อุปกรณ์และจำนวน (Equipment and Quantity) |
การกินไฟ (Power Consumption) |
การคำนวณค่าไฟ (Power Consumption Calculation) |
ค่าไฟ / เดือน (Electricity Charge / Month) |
1. พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได x 2 ตัว
(Ceiling Ventilator – CV) |
ตัวละ 23 วัตต์* x 2 ตัว ≈ 46 วัตต์ | (46 วัตต์ x 13 ชั่วโมง** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | ≈ 90 บาท |
2. พัดลมระบายอากาศบนหลังคา x 4 ตัว
(Solar Roof Tile Ventilator – SRTV) |
ตัวละ 20 วัตต์* x 4 ตัว ≈ 80 วัตต์ | (80 วัตต์ x 13 ชั่วโมง** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | ≈ 156 บาท |
3. กล่องควบคุมอัจฉริยะ และเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ x 1 ชุด (Smart Control Box and Temperature Sensors) |
คาดว่าทั้งหมดประมาณ ≈ 20 วัตต์ | (20 วัตต์ x 13 ชั่วโมง** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | ≈ 39 บาท |
รวมทั้งสิ้นค่าไฟของเครื่องนี้ประมาณเดือนละ ≈ 285 บาท ต่อเดือน
หมายเหตุ* : ความแรงของ พัดลมระบายอากาศบริเวณโถงบันได สามารถปรับหรี่ลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามต้องการ แต่ต้องให้ทีมช่างของ SCG เป็นผู้ปรับ และจากที่สังเกตดูเขาก็ไม่ได้ปรับให้แรงสูงสุด ดังนั้นอัตราการกินไฟจึงต่ำกว่า 23 วัตต์ นั่นหมายความว่าค่าไฟจะถูกกว่าที่คำนวณเอาไว้ในตารางด้านบนนี้อย่างแน่นอน
หมายเหตุ** : ประเมินจากสถานการณ์ ว่าเราใช้งานระบบ จากตั้งต้นของระบบใน “โหมด ECO” (ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไปจนถึง 2 ทุ่ม) (รวมวันละ 13 ชั่วโมง)
หมายเหตุ*** : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน
บทสรุปการใช้งานระบบ SCG Active AIRflow™
ข้อดี 🙂
- อากาศมีการถ่ายเทที่ดีขึ้นภายในบริเวณบ้าน รู้สึกว่ามีลมถูกดูดเข้ามาภายในตัวบ้านจริงๆ
- ลดการใช้งาน เครื่องแอร์ ไปได้มากพอสมควร ในขณะที่อากาศร้อน สามารถเปิดแอร์ได้ดึกขึ้น (ช่วยประหยัดไฟไปในตัว)
- ลดโอกาสการเกิดเชื้อราบนเฟอร์นิเจอร์ อาหารบูดเสียเร็ว เครื่องสำอางเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร
- สามารถ สั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้ (เฉพาะรุ่น Premium) อยู่นอกบ้านก็สั่งเปิดปิดระบบได้ตามต้องการได้
- หายห่วงเรื่องน้ำรั่วซึมจากบนหลังคา เพื่อแผ่นกระเบื้องที่เป็นปล่องระบายอากาศถูกผลิตขึ้นมาเฉพาะรุ่น และใช้เฉพาะระบบนี้เท่านั้น
ข้อเสีย หรือ จุดสังเกต 🙁
- ราคาค่อนข้างสูงมากๆ (แต่ทาง SCG ก็พยายามออกโปรโมชั่นมากระตุ้นลูกค้ามากขึ้น)
- ระบบสามารถติดตั้งได้กับบ้าน ที่ใช้แผ่นกระเบื้องของทาง SCG ในรุ่นที่กำหนดเท่านั้น
- ระยะเวลาดำเนินการก่อนติดตั้งค่อนข้างนานมาก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ติดตั้งหน้าร้อนได้ใช้ตอนหน้าฝน ถ้าใครอยากใช้ทันหน้าร้อน แนะนำให้ดำเนินเรื่องติดตั้งช่วงหน้าหนาว จะได้ทันใช้หน้าร้อนพอดี (แต่เขาอาจจะปรับปรุงการให้บริการแล้วก็ได้นะครับ ลองตรวจสอบดูอีกที)
- ไม่เหมาะกับการเปิดใช้ระบบในขณะที่อากาศภายนอกมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (ฝุ่นจิ๋ว) เป็นจำนวนมาก (ควรมีเครื่องวัดฝุ่น เพื่อตรวจสอบก่อนเปิดใช้งานด้วย) เพราะมันจะเป็นการดูดเอาฝุ่นเข้ามาในบ้านเราด้วย เพราะแม้ว่าที่ช่องเติมอากาศจะมีแผ่นกรองฝุ่น อยู่แล้ว แต่อากาศก็ไม่ได้ถูกดูดเข้าทางนี้ทางเดียวอยู่ดี มันสามารถดูดเข้าได้ผ่านทางซอกประตู หน้าต่าง บานเกล็ด และช่องทางอื่นๆ ได้มากมาย
เป็นบริษัทใหญ่โต แต่ออกแบบกระเบื้องแผ่นหลังคาไม่ได้เรื่องกี่สิบปีมาแล้ว เมืองไทยเป็นเมืองร้อนกระเบื้องทุกแผ่นแน่นอนต้องมีความสวยงามด้านนอก แต่การระบายความร้อนล่ะ? ขอบชายล่างของกระเบื้องแผ่นบนที่จะวางทับกระเบื้องแผ่นล่างควรเซาะร่องเป็นแนวยาวลงมาหลายๆร่องตามความกว้างของกระเบื้องเพื่อให้อากาศสามารถไหลเข้า/ออกจากห้องใต้หลังคาเมื่องมีกระแสลมมาปะทะด้านใดด้านหนึ่ง ในขณะที่ฝ้าเพดานหลังคาภายนอกอาคารควรติดช่องลมแบบเกล็ดกว้างไม่ต่ำกว่า10ซม.ให้ชิดรอบผนังตัวอาคาร เมื่อกระแสลมมาปะทะกับผนังอาคารจะทำให้ประสิทธิภาพการไหลเข้าของอากาศเพิ่มขึ้นมาก แต่การออกแบบแนวหลังคารูปแบบที่ลดความร้อนได้ดีที่สุดที่ผมเคยทำและได้ผลดีมากคือ การทำแนวสันบนของหลังคาเป็นสองชั้นโดยเปิดช่องหลังคาปกติไม่ครอบแผ่นสันหลังคาซึ่งจะเป็นช่องกว้างประมาณ10-15ซม. หลังจากนั้นทำคานรับหลังคาชั้นสองให้ซ้อนกันประมาณ2แผ่นและให้สูงกว่าหลังคาเดิม10-15ซม.เพื่อให้อากาศร้อนระบายขึ้นมาเองพร้อมมุงตระแกรงกันนก/แมลง
ผมว่า scg ของไม่ได้หวือหว๋ามาก สินค้าแค่ละอย่างดูธรรมดาโดยหลักการพื้นฐาน แต่มาคิดราคาแพงอย่างกัยนวัตกรรมใหม่ๆ
เทียบอุปกรณ์และราคารวมติดตั้ง ถือว่าแพงแบบไร้สาระและเหตุผลมากเกินไป
ซื้ออุปกรณ์มาทำเอง หรือจ้างช่างมาทำเองถูกกว่าเยอะเลย ผลลัพธ์ก็ไม่ผ่าน เอาเงินไปจ่ายค่าแอร์เพิ่มทุกเดือนยังดีกว่าครับ
ขอบคุณสำหรับรีวิวที่ดีและละเอียดมากครับ
บ้านอบอ่าว
เห็นราคาแล้วถึงกับจุกเลยครับ 😅 คนงบน้อยอย่างผมขอเปิดหน้าต่างเอาดีกว่าครับ 😝