เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

Dyson Supersonic Share
เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

รีวิวฉบับนี้พามาพบกับ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic พลัง 1,600 วัตต์ (Watts) ของแบรนด์ Dyson (อ่านว่า “ไดสัน“) จากประเทศอังกฤษ กันดูบ้าง เชื่อว่าใครหลายๆ คนถ้าเห็นชื่อแบรนด์ (ยี่ห้อ) Dyson นี้คงจะรู้จักกันดีอยู่แล้วว่าแบรนด์นี้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา ที่มักจะทำให้คนร้องว้าว ! กันอยู่เสมอ แถมยังยังมีการออกแบบดีไซน์ที่สวยงาม ทันสมัยกว่าใครเพื่อน

อย่าเพิ่งตกใจว่าทำไมทาง Thanop.com จู่ๆ ก็มารีวิวสินค้าเครื่องเป่าผม ที่เป็นอาวุธประจำกายของคุณผู้หญิงได้ ทั้งๆ ที่ผู้รีวิวก็เป็นผู้ชาย (แท้ๆ) และผมก็ไม่ได้ยาวสักเท่าไหร่ แต่ว่าสิ่งที่จะให้ในรีวิวฉบับนี้ จะเป็นการเน้นนำเสนอข้อมูลด้านเทคโนโลยีของตัวเครื่องพร้อมกับแนะนำฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ เสียส่วนใหญ่ สำหรับวิธีการใช้งานการไดร์ผมต่างๆ สามารถหาดูรีวิวได้จากบิวตี้บล็อกเกอร์ทั้งชาวไทย และต่างชาติหลายๆ ท่านที่ได้ทำคลิปลงเอาไว้บน YouTube ได้เลย

เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ที่โชว์รูม Dyson Demo Store กรุงเทพ

พูดถึงเทคโนโลยีที่ทาง Dyson พกติดตัวมากับ เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ก็มีอยู่มากมายเช่น เทคโนโลยีพัดลมไร้ใบพัด (Bladeless Fan Technology) ปลอดภัยกับทุกคน เสียงเงียบ น้ำหนักเบา พร้อมระบบควบคุมความร้อนอัจฉริยะ ถนอมเส้นผม ผมไม่เสียง่ายๆ บทความนี้จะทำให้คุณรู้ว่า เครื่องเป่าผมราคาหลักหมื่น ต่างกับเครื่องเป่าผมราคาหลักร้อย หรือพันต้นๆ อย่างไรบ้าง

เนื่องจากรีวิวฉบับนี้ค่อนข้าวยาว ดังนั้นจึงมีเมนูลัดที่ปรากฏอยู่ด้านล่างนี้ เพื่อที่จะให้คุณได้สามารถกดข้ามไปดูยังหัวข้อต่างๆ ที่สนใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  1. รู้จักกับผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า Dyson
  2. แกะกล่องผลิตภัณฑ์
  3. อุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องผลิตภัณฑ์
  4. ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของตัวเครื่อง
  5. คุณสมบัติ และ ความสามารถของตัวเครื่อง
  6. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
  7. เริ่มต้นใช้งานเครื่อง
  8. ความรู้สึกหลังการใช้งาน
  9. คำถามที่ต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน
  10. บทสรุปการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย

วีดีโอคลิปรีวิวเครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic ที่เน้นไปทางการโชว์เทคโนโลยี และนวัตกรรมของเครื่องอย่างละเอียด มากกว่าการสาธิตการไดร์ผมให้ดู หากต้องการศึกษาว่าเครื่องเป่าผมเครื่องนี้ มีเทคโนโลยีอะไรที่น่าสนใจบ้าง กดเข้าไปดูได้เลย …

แกะกล่องผลิตภัณฑ์ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

กล่องผลิตภัณฑ์ของเครื่องนี้ ให้มา 2 กล่อง คือ กล่องใส่เครื่องเป่าผม (Hair Dryer Box) และ กล่องใส่หัวต่อกระจายลม (Diffuser Box) โดยดีไซน์ทั้ง 2 กล่องนี้ จัดว่ามาแปลกแหวกแนวพอสมควร เพราะกล่องเป็นกระดาษสีดำล้วนทั้งหมด เนื้อหาข้อมูลมีแค่ข้อความชื่อยี่ห้อ และชื่อรุ่น (ที่แสนจะอ่านยาก)

นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับภาพกราฟิกแนวเวกเตอร์ ที่เป็นรูปอุปกรณ์ที่อยู่ในกล่อง โดยที่ตัวกล่อง จะไม่มีการบรรยาย คุณสมบัติ และความสามารถ ของตัวเครื่องเอาไว้แต่อย่างใด (อารมณ์เหมือนกล่อง iPhone เลย)

1. Hair Dryer Box (กล่องใส่เครื่องเป่าผม)

กล่องผลิตภัณฑ์ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic มีขนาดมิติ ยาว (L) 355 x กว้าง (W) 105 x สูง (H) 165 มิลลิเมตร (วัดเองด้วยตลับเมตร) และมี น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) อยู่ที่ 1.71 กิโลกรัม (ข้างกล่องระบุเอาไว้ชัดเจน)

Dyson Supersonic Box Front and Rear
ด้านหน้าของกล่อง เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

ด้านหน้าและด้านหลังกล่อง : มุมมองด้านหน้า และด้านหลังของกล่อง จะเหมือนกันเลยคือเป็นสีดำล้วน และมีชื่อยี่ห้อ และรุ่นเป็นสีม่วงเข้มว่า “dyson supersonic

ด้านซ้ายและด้านขวา : ด้านซ้ายของกล่องจะมีบอกข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่พอสมควร แต่สาระสำคัญ (ที่ควรจะรู้เอาไว้) จะอยู่ตรงที่ เครื่องนี้ถูกนำเข้าและจัดหน่ายโดย บริษัท เซ็นทรัลเทรดดิ้ง จำกัด (Central Trading Company Limited) และ ตัวเครื่องถูกผลิตในประเทศมาเลเซีย (Made in Malaysia) ขณะที่ด้านขวาของกล่อง ก็จะเป็นแค่ชื่อยี่ห้ออย่างเดียว เขียนอยู่ที่มุมขวาบนเช่นกันคือ “dyson

Dyson Supersonic Box Top
ด้านบนของกล่อง เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

ด้านบนและด้านล่าง : รูปวาดตัวเครื่องแบบกราฟฟิกเวกเตอร์ โดยทั้งด้านบนและด้านล่างของกล่องจะเหมือนกันเลย และด้วยความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว เลยลองเอาเครื่องของจริงมาวางเทียบกับภาพนี้ดู พบว่าขนาดเท่ากันเป๊ะเลยทีเดียว

2. Diffuser and Smoothing Nozzle Box (กล่องใส่หัวต่อกระจายลม และหัวต่อเป่าผมเรียบ)

Dyson Supersonic Diffuser and Smoothing Nozzle Box
กล่องใส่อุปกรณ์ หัวต่อกระจายลม และ หัวต่อเป่าผมเรียบ (Diffuser and Smoothing Nozzle Box)

กล่องใส่อุปกรณ์เสริมของ หัวต่อกระจายลม (Diffuser) และ หัวต่อเป่าผมเรียบ (Smoothing Nozzle) 2 สิ่งนี้จะ ถูกแยกเก็บออกมาต่างหาก อยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก การออกแบบดีไซน์ของกล่องจะ เหมือนกับกล่องใส่เครื่องเป่าผมเลย คือเป็นสีดำล้วน พร้อมกราฟฟิกเวกเตอร์รูปสินค้าที่อยู่ด้านใน

ตัวกล่องมีขนาดมิติ ยาว (L) 110 x กว้าง (W) 110 x สูง (H) 165 มิลลิเมตร (วัดเองด้วยตลับเมตร) และมี น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) อยู่ที่ 0.25 กิโลกรัม (ข้างกล่องระบุเอาไว้ชัดเจน)

อุปกรณ์ที่ให้มาภายใน กล่องเครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

Dyson Supersonic Box Leather Opened
เมื่อเปิดฝากล่องหนัง PU ใส่อุปกรณ์ออกมา

หลังจากที่เราเปิดกล่องผลิตภัณฑ์ออกมาแล้ว เราจะยังไม่พบเครื่องทันที เพราะสิ่งที่เห็นต่อไปคือ มีกล่องหนังสุดหรูสีดำ ด้ายม่วง ที่ปิดล็อคฝากล่องเป็นแม่เหล็ก เมื่อเปิดขึ้นมาถึงจะพบกับตัวเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic นอนเงียบๆ อยู่ด้านใน เมื่อหยิบตัวเครื่องขึ้นมา ก็พบกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ให้มาอีกเล็กน้อย มาดูรายละเอียดกันเลยทีกว่า

1. Dyson Supersonic Hair Dryer (เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic)

Dyson Supersonic Featured Image
เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

ตัวเครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic มีขนาดมิติอยู่ที่ กว้าง (W) 78 x ลึก (D) 97 x สูง (H) 245 มิลลิเมตร ตัวเครื่องมีน้ำหนักตัวอยู่ประมาณ 0.62 กิโลกรัม ถือว่าเบามากๆ ให้ความรู้สึกเหมือนถือขวดน้ำดื่ม 1 ขนาดกลาง (ขนาด 600 มิลลิลิตร) ให้คุณสามารถหยิบยกใช้งานได้สบายๆ โดยไม่ปวดแขน แถมการออกแบบเขายังคำนึงถึงกระจายน้ำหนักที่ดี และสมดุลอีกด้วย

2. Smoothing Nozzle (หัวต่อเป่าผมเรียบ)

Dyson Supersonic Smoothing Nozzle
หัวต่อเป่าเรียบ (Smoothing Nozzle)

หัวต่อไดร์เป่าผมชนิดปากแบน สามารถถูกดูดยึดกับตัวเครื่องแม่เหล็กได้ง่ายๆ มีเอาไว้ให้ผู้ใช้งานได้ เป่าผมให้แห้งและเรียบในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้แล้วลมที่ปล่อยออกมามีความแรงอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้เน้นเฉพาะจุดจนเกินไป ภายใต้คอนเซปเป่าแห้ง และจัดทรงในเวลาเดียวกัน (Dry and Style at the same time) คุณผู้ชายใช้ได้ คุณก็ผู้หญิงก็ดี ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย

3. Styling Concentrator (หัวต่อจัดแต่งทรงผมเฉพาะจุด)

Dyson Supersonic Styling Concentrator
หัวต่อจัดแต่งทรงผมเฉพาะจุด (Styling Concentrator)

หัวต่อไดร์เป่าผมชนิดปากแบน มีลักษณะคล้ายกับหัวต่อเป่าผมเรียบ (แต่ที่ปากของหัวจะแบน และเล็กกว่า) เพื่อทำการบีบอัดลมให้ปล่อยออกมาแรงขึ้น และยังให้ลมที่ถูกปล่อยออกมาโดนกับเส้นผมแบบเฉพาะจุดมากกว่า เพื่อช่วยเน้นการแต่งทรงผม ให้เป็นไปตามต้องการทีละส่วนอย่างแม่นยำ

Dyson Supersonic Smoothing Nozzle and Styling Concentrator
เปรียบเทียบระหว่าง (ซ้าย) หัวต่อเป่าผมเรียบ (Smoothing Nozzle) และ (ขวา) หัวต่อจัดแต่งทรงผมเฉพาะจุด (Styling Concentrator) สังเกตความแบนของหัว

4. Diffuser (หัวต่อกระจายลม)

หัวต่อกระจายลมทรงกลม ที่ถูกแยกกล่องเก็บนี้ เป็นออปชั่นเสริมเหมาะสำหรับคุณสุภาพสตรีที่ชอบดัดผม (ผมเป็นลอน) ใช้เพื่อเน้นกระจายลมให้ทั่วบริเวณศรีษะมากกว่าเน้นย้ำไปที่จุดใดจุดหนึ่ง เพื่อป้องกันเส้นผมที่ถูกดัดเอาไว้คลายตัว และยังเป็นการถนอมเส้นผม ไม่ให้โดนความร้อนมากจนเกินไปอีกด้วย

5. Storage Hanger (สายแขวนเก็บเครื่อง)

สายแขวนเก็บเครื่อง ลักษณะเหมือนสายคล้องของโทรศัพท์มือถือ มีหน้าที่เอาไว้ยึดกับตัวเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic โดยคล้องกับส่วนปลายสุดของด้ามจับ (ที่เป็นซี่ๆ) เพื่อใช้แขวนกับขอเกี่ยวต่างๆ ที่ผนังบ้าน เช่นผนังกำแพง ผนังโต๊ะเครื่องแป้ง ต่างๆ ได้ตามต้องการ แล้วแต่จะไปประยุกต์ใช้เลย

6. Non-Slip Mat (แผ่นรองกันลื่น)

แผ่นรองกันลื่นถูกม้วนเก็บด้วยคลิปล็อคอย่างดี มันเป็นแผ่นยางที่มีคุณสมบัติเหนียวมากๆ เพื่อให้คุณได้สามารถวางเครื่องเป่าผม ไว้บนโต๊ะเครื่องแป้ง โดยป้องกันการลื่นไถล

7. User Manual and Other Documents (คู่มือการใช้งาน และเอกสารประกอบเครื่องอื่นๆ)

Dyson Supersonic User Manual and Other Documents
คู่มือการใช้งาน และเอกสารประกอบอื่นๆ

หนังสือคู่มือการใช้งานฉบับกระเป๋า มีขนาดความกว้าง (W) 77 x ยาว (L) 185 มิลลิเมตร และพอๆ กับมือถือ iPhone X ที่ใช้อยู่ แต่มีความยาวมากกว่าหน่อยนึง ภายในมีเนื้อหาพร้อมภาพประกอบทั้งหมด 6 ภาษา (เรียงลำดับหน้าจาก อังกฤษ/ จีน/ จีน/ เกาหลี/ ไทย/ อินโดนิเซีย) 139 หน้า (รวมทุกภาษาแล้ว)

นอกจากนี้ก็ยังมีเอกสารประกอบเครื่องอื่นๆ ที่ให้แนบคู่กันมานั่นก็คือ แผ่นพับสอนวิธีการใช้งานหัวต่อไดร์เป่าผมชนิดต่างๆ และก็รายละเอียดการรับประกันเครื่อง

8. PU Leather Box (กล่องหนัง PU ใส่อุปกรณ์)

กล่องหนังใส่อุปกรณ์มาด้วยสีดำด้ายม่วง ผลิตจากหนังสังเคราะห์อย่าง หนังพียู (PU Leather) หรือที่เรียกว่า “โพลิยูริเทน (Polyurethane)” เป็นหนังเทียมเกรดดี มีความนุ่ม และทนทานสูง ให้ความรู้สึกเหมือนหนังแท้

ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
กว้าง (W) 78 x ลึก (D) 97 x สูง (H) 245 มิลลิเมตร
น้ำหนักเครื่อง
(Net Weight)
ประมาณ 0.62 กิโลกรัม (618 กรัม)
ไฟเข้า
(Input)
AC 220-240V 50/60 Hz
อัตราการกินไฟ
(Power Consumption)
กระแสไฟฟ้า
(Electric Current)
ประมาณ 7.4 แอมป์ (Amps)
ความเร็วลม
(Wind Speed)
ทดสอบได้จริง : 9.83 เมตร/วินาที (m/s)
(ทดสองจากระยะห่าง 30 เซนติเมตร โดยไม่ใส่หัวต่อไดร์เป่าผมใดๆ)
(ดูค่าความเร็วลม จากการทดสอบจริง)
ระดับเสียงขณะนำงาน
(Noise Level)
ประมาณ 50 dB.
ความยาวของสายไฟ
(Power Cord Length)
2.7 เมตร

คุณสมบัติ และความสามารถของ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

ถ้าดูจากภายนอกแล้ว Dyson Supersonic ก็ดูเป็นแค่เครื่องเป่าผม เครื่องเล็กๆ เครื่องนึง ถ้าใครไม่รู้จักชื่อชั้นของมันก็อาจจะพลันคิดไปถึง เครื่องเป่าผมติดผนังที่อยู่ในห้องน้ำตามโรงแรม ที่ราคาไม่เกิน 2-3 พันบาท แต่สำหรับตัวนี้ขอบอกว่าคุณสมบัติ และความสามารถ ของมันนี่จัดเต็มเอามากๆ มาดูกันเลยดีกว่า

1. Bladeless Fan Technology (เทคโนโลยีพัดลมไร้ใบพัด)

Dyson Supersonic Front
ด้านหน้าเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic

เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ตัวนี้ ใช้เทคโนโลยีเดียวกับ พัดลมไร้ใบพัด (Bladeless Fan) ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Dyson มาอย่างช้านาน นอกจากที่มันจะดูสวยงาม แปลกใหม่ และทันสมัยแล้ว ด้วยความที่มันไม่มีใบพัด (เพราะว่าใบพัดถูกซ่อนเอาไว้อยู่ภายในตัวเครื่อง) มันจึงปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ต่อการเอานิ้วมือ หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายแหย่เข้าไปในใบพัด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

2. Dyson Digital Motor V9 (มอเตอร์ดิจิตอลเวอร์ชั่น 9)

Dyson Supersonic Digital Motor V9
มอเตอร์ดิจิตอลเวอร์ชั่น 9 (Dyson Supersonic Digital Motor V9) ขนาดเล็กหมุน 110,000 รอบ/นาที พร้อม ครีบใบพัด 13 ครีบ

แรงลมถูกขับเคลื่อนด้วย มอเตอร์ดิจิตอลเวอร์ชั่น 9 (V9 Motor) เป็นมอเตอร์ขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 3 ของฝ่ามือ ขนาดความกว้างของใบพัดอยู่ที่ 27 มิลลิเมตร (mm) และมีครีบใบพัดทั้งหมด 13 ครีบด้วยกัน

โดยมอเตอร์ดิจิตอลเวอร์ชั่น 9 ตัวนี้คุณสมบัติพิเศษคือเสียงเงียบ และสามารถอัดอากาศผ่านได้สูงสุดกว่า 13 ลิตรอากาศต่อวินาที (L/sec) ด้วยการหมุนกว่า 110,000 รอบต่อนาที (rpm) อ่านไม่ผิดแน่นอน “หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นรอบต่อนาที” จัดว่าเร็วกว่าเครื่องเป่าผมรุ่นอื่นๆ ถึง 6 เท่า และเร็วกว่ารอบสูงสุดเครื่องยนต์รถแข่งสูตร 1 (Formula 1) เกือบ 5 เท่าเลยทีเดียว

3. Intelligent Heat Control (ระบบควบคุมความร้อนอัจฉริยะ)

ภายในตัวเครื่องจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนฝังอยู่ภายใน มันจะทำการวัดอุณหภูมิ 20 ครั้งต่อวินาที แล้วนำค่าไปประมวลผลที่ไมโครโปรเซสเซอร์ ว่าให้อุณหภูมิที่ปล่อยออกมาไม่ให้ร้อนจนเกินไป ไม่ให้ความร้อนถูกปล่อยออกมาเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน ช่วยถนอมป้องกันเส้นผมไม่ให้แห้งเสีย หรือไหม้จากการโดนความร้อนสูง นอกจากนี้แล้วยังช่วยควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 150 องศาเซลเซียส (°C) อีกด้วย (การทดสอบอุณหภูมิในแต่ละระดับความร้อน)

4. Negative Ion Technology (เทคโนโลยีปล่อยประจุลบ)

ที่ช่องอากาศออก มีตัวปล่อยประจุลบ (Negative Ion Generator หรือ Anion Generator) เพื่อปล่อยประจุไฟฟ้าลบออกมาควบคู่กับอากาศที่ปล่อยออกมาจากเครื่องเป่าผม สืบเนื่องจากถ้าเราอยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นๆ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งมากๆ (ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำๆ) ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดไฟฟ้าสถิต (Static Electricity) กับเส้นผมของเราได้ ผมที่จัดทรงมาสวยๆ ถ้าเจอไฟฟ้าสถิตเข้าไป ก็อาจจะฟูตั้งขึ้นมาได้ และผมก็จะเสียทรงในที่สุด แถมต้องมาเสียเวลาจัดทรงกันใหม่อีก

5. Magic Magnetic Holding (เกาะยึดหัวต่อไดร์เป่าผมด้วยแม่เหล็ก)

Dyson Supersonic Diffuser and Nozzle Underside
ด้านล่าง (ด้านใน) ของ หัวต่อไดร์เป่าผม ทั้ง 3 หัว จะมีแม่เหล็กเพื่อยึดกับตัวเครื่อง และหมุนรอบตัวได้อย่างอิสระ

อุปกรณ์เสริมที่เป็นหัวต่อไดร์เป่าผมต่างๆ สามารถยึดติดกับตัวเครื่องเป่าผมได้ด้วยแม่เหล็ก ที่มีคุณสมบัติเกาะติดหนึบกับตัวเครื่อง ชนิดที่เขย่าเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหลุด เว้นเสียแต่จะใช้มือดึงหัวต่อไดร์เป่าผมออกมา (อาจจะต้องออกแรงดึงนิดนึง) โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยล็อคใดๆ อย่างเกลียวล็อคซึ่งมีโอกาสชำรุดมากกว่าการใช้แม่เหล็ก สะดวก ประหยัดเวลาในการใช้งานไปได้มากเลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้วเรายังสามารถปรับองศาของหัวต่อไดร์เป่าผมทั้ง 3 หัวของ เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ให้ปล่อยลมออกมาในทิศทางที่เราต้องการได้ง่ายๆ อีกด้วย

6. Heat Shield Technology (เทคโนโลยีเกราะป้องกันความร้อน)

วัสดุที่ผิวของตัวเครื่องทำมาจากวัสดุพิเศษ ที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อน แต่สัมผัสที่ตัวเครื่องจากภายนอกจะไม่รู้สึกว่าเครื่องร้อนมาก สามารถสัมผัสได้ไม่ต้องกลัวมือพอง และนอกจากนี้แล้วเมื่อใช้ไปนานๆ ก็ยังจะไม่ทำให้วัสดุปิดผิวแตกได้ง่ายๆ เหมือนเครื่องเป่าผมบางยี่ห้อ บางรุ่นอีกด้วย

Dyson Supersonic Surface Temperature
อุณหภูมิบนพื้นผิวของ เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ในขณะที่เปิดความแรงลมระดับเร็วสุด (ระดับ 3) และ ความร้อนระดับสูงสุด แม้ภายในจะร้อนมากแต่บนผิวภายนอก ไม่รู้สึกร้อนเลย แค่ 35 องศาเซลเซียส เท่านั้น

7. Engineered for Balance (วิศวกรรมที่คำนึงถึงความสมดุล)

เครื่องเป่าผมทั่วๆ ไปที่อยู่ในท้องตลาด จะติดตั้งมอเตอร์อยู่ที่ด้านหลังของตัวเครื่อง (ท้ายเครื่อง) เพื่อใช้ดูดลมมาปล่อยที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง แบบนี้จะส่งผลให้ ขณะที่ผู้ใช้กำลังถือเครื่องใช้งาน เวลาจะปรับตำแหน่งเครื่อง เพื่อย้ายไปส่วนใดส่วนหนึ่งของศรีษะ เครื่องจะเกิดแรงต้านทำให้ผู้ใช้งานจะต้องออกแรงมากขึ้น ยิ่งถ้าเปิดความแรงลมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องออกแรงมากขึ้นเท่านั้น

แต่สำหรับ เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic จากการคิดค้น ทดสอบ ทดลอง ในห้องปฏิบัติการมาอย่างยาวนาน จะติดตั้งมอเตอร์ดิจิตอลเวอร์ชั่น 9 เอาไว้ที่ ส่วนปลายด้ามจับ เพื่อดูดอากาศจากด้ามจับขึ้นมาปล่อยที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของเครื่อง ไม่ให้เกิดแรงต้านขณะกำลังถือเครื่องเพื่อใช้งานนั่นเอง (ลองดูคลิปประกอบด้านล่าง)

สำรวจรอบๆ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

มาดูส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic กันดูบ้าง ว่ามีอะไรน่าสนใจกันบ้าง โดยจะขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนประกอบด้านหน้า ส่วนประกอบด้านหลัง และ ส่วนประกอบที่ด้ามจับ

Front Component (ส่วนประกอบด้านหน้าเครื่อง)

Dyson Supersonic Component Front
ส่วนประกอบด้านหน้าของ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic
  1. Magnetic Strip (แถบแม่เหล็ก) : ใช้ยึดตัวเครื่อกับอุปกรณ์เสริม ที่เป็นหัวต่อไดร์เป่าผมต่างๆ ทั้ง 3 หัว เข้าไว้ด้วยกัน
  2. Air Outlet (ช่องอากาศออก) : หลังจากที่อากาศถูกบีบอัดภายในเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะถูกปล่อยออกมาทางช่องเล็กๆ ที่อยู่รอบๆ วงกลม ด้านบนของตัวเครื่อง
  3. Negative Ion Generator (ตัวปล่อยประจุลบ) : มีหน้าที่ปล่อยประจุไฟฟ้าลบ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิต (Static Electricity) ที่เส้นผมของเรา จึงไม่ทำให้ผมฟู หรือผมเสีย

Rear Component (ส่วนประกอบด้านหลังเครื่อง)

Dyson Supersonic Component Rear
ส่วนประกอบด้านหลังของ เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic
  1. LED Indicator (ไฟแสดงสถานะ) : เป็นไฟแบบ LED โดยถ้าปิดเครื่องจะมองไม่เห็นหลอดไฟเลย มันมีเอาไว้เพื่อใช้แสดงสถานะของเครื่อง มีอยู่ทั้งหมด 2 ชุด ได้แก่
    1. Airflow Level Indicator (ไฟแสดงระดับความแรงลม – สีขาว)
    2. Heat Level Indicator (ไฟแสดงระดับความร้อน – สีแดง)
  2. Airflow Control Button (ปุ่มควบคุมความแรงลม) : สามารถปรับความแรงของลมได้ 3 ระดับคือ เร็ว (Fast) ปานกลาง (Medium) และอ่อนโยน (Gentle)
  3. Temperature Control Button (ปุ่มควบคุมอุณหภูมิ) : มีระดับความร้อน ให้เลือกทั้งหมด 4 ระดับหลักๆ ด้วยกันคือ
    1. High (สูง) (100 °C) : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้ผมแห้งเร็ว และต้องการจัดทรงผม
    2. Medium (ปานกลาง) (80 °C) : เหมาะสำหรับการเป่าผมให้แห้งธรรมดา
    3. Low/ Scalp Mode (ต่ำ/หนังศรีษะ) (60 °C) : เหมาะสำหรับใครที่ผมเสียง่าย ควรใช้โหมดนี้
    4. Constant Cold (เป่าลมเย็นคงที่) (28 °C) : สำหรับผู้ที่ต้องการเป่าผมด้วยลมเย็นอย่างเดียว หรือผู้ที่กด “ปุ่มเป่าลมเย็น (Cold Shot Button)”
  4. Slide Power ON/OFF Button (ปุ่มเปิดปิดเครื่องแบบสไลด์) : ปุ่มที่สามารถเลื่อนขึ้น (เพื่อเปิดเครื่อง) และเลื่อนลง (เพื่อปิดเครื่อง) ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย
  5. Cold Shot Button (ปุ่มเป่าลมเย็น) : ขณะที่เครื่องเปิดอยู่ ถ้าเรากดปุ่มนี้ เครื่องจะปล่อยลมเย็น (อากาศที่เป็นอุณหภูมิห้อง) ออกมาโดยทันที โดยจะหยุดการทำความร้อนเอาไว้ชั่วคราว จนกว่าเราจะปล่อยปุ่มนี้
Dyson Supersonic Label
ฉลากที่ติดเครื่อง (Label) ถูกพิมพ์ประทับอยู่ที่ ด้านล่างส่วนหน้าของตัวเครื่อง สังเกตดูว่าได้รับ เครื่องหมายมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แล้ว พร้อมจำหน่ายในประเทศไทย อย่างถูกต้อง

Handle Component (ส่วนประกอบที่ด้ามจับ)

Dyson Supersonic Handle
ส่วนของด้ามจับ (Handle) ที่มีช่องอากาศเข้า (Air Inlet) พร้อมโครงแผ่นกรองอากาศที่ถอดได้ อยู่ที่ส่วนปลาย
  1. Removable Filter Cage (โครงแผ่นกรองอากาศที่ถอดได้) : พลาสติกทรงกระบอก ที่อยู่ตรงส่วนปลายของด้ามจับ ที่สามารถหมุนออกมาได้ง่ายๆ เพื่อทำความสะอาดช่องอากาศเข้า (การทำความสะอาดครื่องเป่าผม Dyson Supersonic)
  2. Air Inlet (ช่องอากาศเข้า) : เมื่อถอดโครงแผ่นกรองอากาศออกมาแล้วก็จะเจอ ตาข่ายกรอง (Filter Mesh) แบบละเอียดที่อยู่ด้านใน เพื่อกรองฝุ่นก่อนเข้าไปภายในมอเตอร์ดิจิตอล V9 พร้อมใบพัดต่างๆ ที่ใช้ในการดูดอากาศเข้าไปภายในตัวเครื่องก่อนถูกอัด และปล่อยกลับออกมาด้านบนทางช่องอากาศออก

ในขณะที่สายไฟของเครื่องเป่าผม Dyson ที่ให้มามีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความแข็งแรง เหนียว และทนความร้อนได้เป็นอย่างดี หายห่วงเรื่องไฟรั่ว ส่วนหัวปลั๊กก็เป็นแบบมาตรฐานทั่วไป

เริ่มต้นใช้งานเครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

การใช้งานเครื่องนี้ไม่มีความยุ่งยากอะไรเลย เพียงแค่นำเครื่องออกจากกล่องผลิตภัณฑ์ และนำเอาอุปกรณ์ป้องกันเครื่อง ที่เป็นแผ่นพลาสติกใสออกจากตัวเครื่อง ตามจุดที่ดึงแผ่นพลาสติก ซึ่งทาง Dyson เขาทำสัญลักษณ์เป็นสีขาว 2 จุดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่การต่อกับหัวต่อไดร์เป่าผมต่างๆ ที่เป็นอุปกรณ์เสริม (จะต่อก็ได้ หรือไม่ต่อก็ได้) ทั้ง 3 หัวก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่นำหัวต่อต่างๆ มาแนบกับช่องลมออก ก็จะถูกแม่เหล็กดูดเข้าไปติดกับตัวเครื่องอย่างเหนียวหนึบโดยทันที

วิธีใช้งานเครื่อง (Usage Instructions)

  1. เสียบปลั๊ก แล้วเปิดเครื่องด้วยการเลื่อนที่ “ปุ่มเปิดปิดเครื่อง” ขึ้นข้างบน โดยระบบจะตั้งให้ความแรงลมจะเริ่มจาก “ระดับ 1 อ่อนโยน (Gentle)” และระดับความร้อนเริ่มจาก “ระดับต่ำ (Low)” ก่อนเป็นค่าตั้งต้น (Default)
  2. แต่เวลาเปิดเครื่องใหม่อีกครั้ง เครื่องจะจดจำระดับความแรงลม และความร้อนล่าสุดเอาไว้ (แม้ว่าจะถอดปลั๊กออกก็ตาม)
  3. เมื่อกด “ปุ่มควบคุมอุณหภูมิ” จำนวน 1 ครั้ง ระดับความร้อนก็จะสูงขึ้นทีละ 1 ระดับ จนไปถึง “ระดับสูง (High)” และเมื่อถึงระดับสูงสุดแล้วยังกดต่อไปอีก ก็จะลดลงทีละ 1 ระดับ แต่คราวนี้จะลงไปจนถึง “ระดับเป่าลมเย็นคงที่ (Constant Cold)” วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ
  4. เมื่อกด “ปุ่มควบคุมความแรงลม” จำนวน 1 ครั้ง ระดับความแรงลมจะขึ้นไปทีละ 1 ระดับ จนถึง “ระดับ 3 เร็ว (Fast)” (ระดับสูงสุด) และเมื่อถึงระดับสูงสุดแล้วยังกดต่อไปอีก ก็จะลดลงทีละ 1 ระดับจนถึง “ระดับ 1 อ่อนโยน (Gentle)” (ระดับต่ำสุด) วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ
  5. ระหว่างการใช้งาน สามารถกดที่ “ปุ่มเป่าลมเย็น” เพื่อหยุดการทำความร้อนชั่วคราว และถ้าปล่อยปุ่มนี้ ระบบจะกลับมาทำความร้อนอีกครั้งในระดับเดิมก่อนที่กดปุ่ม (แต่ความแรงลมยังเหมือนเดิม ทั้งก่อนกดและหลังกดปุ่มนี้)

ความรู้สึกหลังการใช้งาน เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

มาดูความรู้สึกส่วนตัวหลังจากได้ใช้งานเครื่องเป่าผมไปได้สักระยะหนึ่งว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง (ในส่วนของ นางแบบในภาพด้านล่าง ขอยืมตัวมาถ่ายรีวิวนี้เฉพาะกิจ นะฮะ :))

  1. ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้ หัวต่อไดร์เป่าผมใดๆ เลยก็ได้
  2. การติดตั้งหัวต่อไดร์เป่าผมทั้ง 3 ไม่ต้องกลัวมันหลุดออกจากตัวเครื่อง ยึดเกาะค่อนข้างเหนียวมากๆ
  3. เสียงเงียบ ชนิดที่เรียกว่าคนที่นอนในห้องเดียวกัน ไม่ตื่น แต่ลมที่เป่าออกมามีพลังมาก
  4. รู้สึกว่าผมแห้งเร็วขึ้น (ไม่รู้ว่ามโนไปเองหรือเปล่า)
  5. การปรับระดับความร้อนให้สูงขึ้น หรือต่ำลง มีการตอบสนองที่เร็วมากๆ
  6. ตัวเครื่องไม่ร้อนเลย สามารถจับที่ตัวเครื่องได้เลยขณะใช้งาน โดยไม่รู้สึกว่าร้อน แค่อุ่นๆ เท่านั้นเอง
Dyson Supersonic Diffuser and Nozzle Top
หัวต่อทั้ง 3 หัว (ซ้าย) หัวต่อจัดแต่งทรงผมเฉพาะจุด (กลาง) หัวต่อกระจายลม และ (ขวา) หัวต่อเป่าผมเรียบ สามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ ในต่างสถานการณ์

คำถามที่ต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

ด้านล่างนี้จะเป็นคำถามที่เน้นเกี่ยวกับข้อมูลทางเทคนิคเสียเป็นส่วนใหญ่ (ตามคอนเซปของรีวิวฉบับนี้) ดึงอุปกรณ์ป้องกันเครื่องออก

1. อัตราการกินไฟของเครื่องนี้เป็นอย่างไร ?

ตารางด้านล่างนี้เป็นเป็นข้อมูลที่ได้จากการทดสอบอัตราการกินไฟด้วย เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) ค่าที่ได้จะเป็นกำลังไฟฟ้า หน่วยเป็นวัตต์ (Watts) โดยเป็นการเปิดทดสอบในความแรงลม และอุณหภูมิ ที่แตกต่างกัน

ตารางทดสอบอัตราการกินไฟเฉลี่ย ของ เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic
ระดับความแรงลม / ระดับความร้อน
(Airflow Level / Heat Level)
เป่าลมเย็นคงที่
(Constant Cold)

ต่ำ
(Low)

ปานกลาง
(Medium)
••
สูง
(High)
•••
ระดับ 1 : อ่อนโยน
(Level 1 : Gentle)
50 วัตต์ 470 วัตต์ 890 วัตต์ 1,080 วัตต์
ระดับ 2 : ปานกลาง
(Level 2 : Medium)
••
90 วัตต์ 570 วัตต์ 960 วัตต์ 1,260 วัตต์
ระดับ 3 : เร็ว
(Level 3 : Fast)
•••
120 วัตต์ 660 วัตต์ 1,010 วัตต์ 1,400 วัตต์

 

Dyson Supersonic Power Consumption when using Highest Heat and Airflow Level
อัตราการกินไฟของ เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ในขณะที่เปิดความแรงลมระดับเร็วสุด (ระดับ 3) และ ความร้อนระดับสูงสุด ขึ้นไปสูงเกือบ 1,750 วัตต์ เลยทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม

“จากการทดสอบด้วยเครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล พบว่าถ้าเปิดแบบเป่าลมเย็นคงที่ (เป็นลมอย่างเดียว ไม่มีความร้อนออกมา) กำลังไฟฟ้าจะคงที่ (ต่างกันแค่หลักจุดทศนิยมเท่านั้น)

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเปิดไปในความร้อนระดับต่ำ ปานกลาง หรือสูง จะพบว่ากำลังไฟฟ้า จะไม่คงที่เอาเสียเลย (ในทุกๆ ระดับความร้อน) ค่อนข้างจะสวิงมากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเปิด อุณหภูมิระดับสูง และความแรงลมระดับ 3 จะพบว่าช่วงแรกๆ กำลังไฟฟ้าจะขึ้นไปสูงสุดเกือบๆ 1,750 วัตต์เลยทีเดียว (แต่เป็นแค่ในเวลาอันสั้น) และสุดท้ายค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 1,200 วัตต์ แล้วก็ตีกลับขึ้นไปที่ 1,400 วัตต์ วนกลับลงมา 1,200 วัตต์ ตีกลับขึ้นไปที่ 1,400 วัตต์อีกแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ที่เห็นกำลังไฟฟ้าสวิงไปสวิงมา ขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ นั่นคือความสามารถของ ระบบควบคุมความร้อนอัจฉริยะ หรือ “Intelligent Heat Control” ของเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ที่จะคอยช่วยปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่คงที่ตลอดเวลา เพราะถ้ากำลังไฟฟ้าคงที่ หมายความว่ามีการปล่อยความร้อนออกมาอยู่ตลอดเวลา ความร้อนจะส่งผลทำให้ผมเสียเอาง่ายๆ”

2. ทดสอบวัดระดับความแรงลม กับหัวต่อไดร์เป่าผมต่างๆ ทั้ง 3 หัว ?

Dyson Supersonic Airflow Test Length
เว้นระยะห่างระหว่าง เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic กับ เครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอล 20 เซนติเมตร

ส่วนนี้จะเป็นการทดสอบวัดระดับความแรงของลม ที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวต่อไดร์เป่าผมชนิดต่างๆ ทั้ง 3 หัวที่เขาให้มาเป็นอุปกรณ์เสริมอยู่ในกล่อง จะได้รู้ว่าแบบไหนเป่าแรง แบบไหนเป่าเบา ด้วยเครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอล (Digital Anemometer)

โดยหน่วยวัดความเร็วลมในที่นี้ จะแสดงให้เห็น 2 หน่วยเลยคือ คือ หน่วยเมตรต่อวินาที (m/s – Meter per Second) และ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h – Kilometer per Hour) นั่นเอง โดยปัจจัยแวดล้อมของการทดสอบครั้งนี้คือ

  1. ทดสอบขณะเปิดเครื่องที่ความแรงลมระดับ 1 (อ่อนโยน) เท่านั้น โดยจะสลับเป็นหัวต่อไดร์เป่าผมแทน
  2. ระยะห่างในการทดสอบระหว่างเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic กับ เครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอล อยู่ที่ 20 เซนติเมตร
ตารางทดสอบแรงลมเฉลี่ย กับหัวต่อไดร์เป่าผม ชนิดต่างๆ ทั้ง 3
หัวต่อไดร์เป่าผม
(Diffuser or Nozzle Used)
เมตรต่อวินาที (m/s) กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h)
ไม่ใส่หัวต่อไดร์เป่าผม
(No Diffuser or Nozzle Used)
9.83 35.39
หัวต่อจัดแต่งทรงผมเฉพาะจุด
(Styling Concentrator)
9.31 33.52
หัวต่อเป่าผมเรียบ
(Smoothing Nozzle)
5.18 18.65
หัวต่อกระจายลม
(Diffuser)
1.86 6.69

 

3. อุณหภูมิที่ถูกปล่อยออกมาในความร้อนแต่ละระดับเป็นอย่างไร ?

Dyson Supersonic Air Outlet Temperature
อุณหภูมิของ เครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ในขณะที่เปิดความแรงลมระดับเร็วสุด (ระดับ 3) และ ความร้อนระดับสูงสุด ขึ้นไปสูงสุดเฉลี่ยถึงประมาณ 110 องศาเซลเซียส

จากข้อมูลอุณหภูมิในแต่ละระดับ ที่บอกมาทางหน้าเว็บไซต์ Dyson.co.th มีข้อมูลที่ทางผู้ผลิตบอกมาอยู่เหมือนกัน แต่เพื่อให้การรีวิวนี้สมจริงมากขึ้น เราจึงใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอล วัดว่าค่าของอุณหภูมิที่ได้ในแต่ละระดับ ตรงกับที่เขาแจ้งไว้จริงหรือไม่

ตารางทดสอบวัดอุณหภูมิ ของเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ในแต่ละระดับ
ระดับความร้อน
(Heat Level)
ค่าจากเว็บไซต์ Dyson
(Test Results from Dyson)
ค่าจากการทดสอบเอง
(Test Results from Air Inlet)
เป่าลมเย็นคงที่
(Constant Cold)
24 °C อุณหภูมิห้อง
ต่ำ
(Low – Gentle Drying)
60 °C 50 ถึง 70 °C
ปานกลาง
(Medium – Regular Drying)
••
80 °C 70 ถึง 90 °C
สูง
(High – Fast Drying and Styling)
•••
100 °C 90 ถึง 110 °C

ข้อมูลเพิ่มเติม

“ได้เห็นค่าอุณหภูมิอ้างอิงในความร้อนแต่ละระดับ จากเว็บไซต์ของ Dyson แล้วเกิดความอยากทดสอบดูว่า มันจริงเท็จแค่ไหน มันจะเป๊ะตรงตามนั้นหรือไม่

แต่ปรากฏว่าพอมาทดสอบจริงๆ พบว่าค่าอุณหภูมิที่ได้จริงๆ นั้นค่อนข้างที่จะแกว่งสวิงมาก เช่นการทดสอบวัดอุณหภูมิของความร้อนระดับต่ำ บนเว็บไซต์แจ้งว่าอยู่ที่ 60 องศาเซลเซียส แต่ของจริงคือ ค่าจะขึ้นสูงไปประมาณ 70 องศาเซลเซียส แล้วก็ลงมาเรื่อยๆ จนถึงเกือบๆ 50 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว สักพักก็จะกลับขึ้นไป 70 องศาเซลเซียสอีกครั้ง กล่าวคือ มันจะเป็น 70 °C → 50 °C → 70 °C → 50 °C …. ไปเรื่อยๆ”

4. ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน มีเสียงดังมากน้อยแค่ไหน ?

การทดสอบเสียง ได้ใช้ แอพพลิเคชั่น Sound Meter ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ iOS มาใช้ทดสอบวัดระดับเสียงขณะที่เครื่องกำลังทำงานในความแรงต่ำสุด (ระดับ 1) และสูงสุด (ระดับ 3) ว่าเป็นอย่างไร

ผลลัพธ์คือ วัดระดับเสียงได้อยู่ประมาณ 50 เดซิเบล (dB) ในระดับสูงสุด และประมาณ 45 เดซิเบล ในระดับต่ำสุด ซึ่งก็ไม่ถือว่าดังมาก ซึ่งทางแอพฯ เขาบอกว่าเสียงระดับนี้เทียบเท่า บทสนทนาทั่วไป (Conversation) เท่านั้นเอง

5. ตัวเครื่องมีระบบป้องกันความปลอดภัยอะไรบ้าง ?

ถ้าพูดถึงเรื่องของความปลอดภัยกับเครื่องเป่าผม หลักๆ เลยก็จะเป็นเรื่องของความร้อน เพราะความร้อนนอกจากจะทำให้เรารู้สึกสะดุ้งเมื่อสัมผัสโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในเรื่องของไฟฟ้าลัดวงจร อัดเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ได้อีกด้วย โดยเครื่องนี้จะมีระบบตัดไฟอัตโนมัติ ในกรณีถ้าที่ตัวเซ็นเซอร์วัดค่าอุณหภูมิได้ 145 องศาเซลเซียส

6. การทำความสะอาดเครื่อง ต้องทำอย่างไรบ้าง ?

Dyson Supersonic Filter Cage Removed
หลังจากถอดโครงแผ่นกรองอากาศออกมาแล้ว ก็จะเห็น ตาข่ายกรอง ที่อยู่ด้านใน

เครื่องนี้จริงๆ แล้วไม่มีการดูแลรักษาอะไรมากนัก หลักๆ คือการถอดเอาโครงแผ่นกรองอากาศ ที่อยู่ส่วนปลายของด้ามจับออก ด้วยการหมุนทวนเข็มนาฬิกาแล้วดึงออกมา หลังจากนั้นใช้ผ้านุ่มไร้ขนเช็ดเบาๆ ที่ส่วนของโครงฯ และ ช่องอากาศเข้า ห้ามใช้น้ำทำความสะอาดแผ่นกรอง (ในคู่มือการใช้งานบอกมาแบบนี้)

7. ตัวเครื่องมีการรับประกันกี่ปี ?

การรับประกันอุปกรณ์อยู่ที่ 2 ปี (เฉพาะลูกค้าที่ซื้อจาก Dyson ประเทศไทยเท่านั้น*) ไม่นับรวมการใช้งานที่ผลิตประเภท หรือดัดแปลง ทั้งนี้ทั้งนั้น การซ่อมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ Dyson

หมายเหตุ : ทาง Dyson เขาสามารถตรวจสอบได้จากหมายเลขเครื่อง (Serial Number) ซึ่งเป็นหมายเลขเฉพาะ ว่าเครื่องนี้ถูกจำหน่ายในประเทศอะไร ถ้าประเทศที่จำหน่ายกับประเทศที่นำเครื่องมาซ่อมไม่ตรงกัน ก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน

8. สามารถติดต่อสั่งซื้อเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ได้ที่ไหน ?

คุณสามารถซื้อเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic ตัวนี้ได้ผ่านทางหลายช่องทางที่สามารถสั่งซื้อได้ โดยคุณสามารถติดต่อสอบถามได้ ผ่านทางรายละเอียดติดต่อ หรือ เบอร์โทรศัพท์ ด้านล่างนี้ก่อนเลย

  • Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 0-2229-7190
  • Website (เว็บไซต์) : https://www.dyson.co.th/
  • Line ID (ไลน์ไอดี) : ไม่มี
  • Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : DysonTH (ไดสันทีเฮช) ตามกรอบด้านล่าง

บทสรุปการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย เครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic

ข้อดี 🙂

  • มีดีไซน์ที่สวยงาม ดูทันสมัย
  • มีน้ำหนักเบามาก พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก แถมมีการรักษาสมดุลเครื่อง ขณะใช้งานได้ดีกมากอีกด้วย
  • การทำความร้อนไม่ต้องรอนาน กดปุ๊บมาปั๊บ
  • มีการปล่อยไอออนประจุลบ เพื่อลดโอกาศการเกิดไฟฟ้าสถิตที่เส้นผม ช่วยให้ไฟไม่ช็อตที่มือดังเปรี๊ย และยังไม่ทำให้ผมฟู หรือไม่เสียทรงอย่างไม่มีเหตุผล
  • การติดหัวต่อไดร์เป่าผมต่างๆ ด้วยแม่เหล็ก โดยไม่ต้องใช้เกลียวล็อค ลืมเรื่องเกลียวหัก ที่ล็อคหักไปได้เลย แถมยังปรับองศาของหัวต่อไดร์เป่าผม ได้ตามต้องการอีกด้วย
  • เครื่องสามารถจดจำระดับความแรงลม และความร้อน ในครั้งที่เปิดล่าสุดได้ ทำให้ไม่ต้องมาตั้งใหม่ให้ยุ่งยาก และเสียเวลาตอนเปิดเครื่องใหม่
  • เสียงเงียบมากๆ ถ้าเทียบกับ เครื่องเป่าผมทั่วๆ ไป

ข้อเสีย 🙁

  • มีราคาที่สูงโดดกว่ายี่ห้ออื่นๆ พอสมควร (แต่ขอบอกว่าคุ้ม)
  • ปุ่มกดต่างๆ ควรจะอยู่ที่ด้ามจับฝั่งหน้าเครื่องมากกว่าหลังเครื่อง เพื่อการใช้งานที่ถนัดกว่า (เพราะเครื่องเป่าผมอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น)
Dyson Supersonic Rear
ด้านหลังเครื่องเป่าผม Dyson Supersonic
ทบทวนภาพรวม
ความแรงของพัดลม
10
การปล่อยความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม
10
การดูแลรักษา ทำความสะอาด
10
ความหลากหลายของลูกเล่นและฟังก์ชั่น
9
การออกแบบ และ ความสวยงาม
10
คุณภาพของวัสดุที่ใช้
10
ความสะดวก และ ง่ายต่อการใช้งาน
8
ความคุ้มค่าเทียบกับราคา
8
ความพึงพอใจโดยรวม
9
บทความก่อนหน้านี้CONOCO S1 เครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ ไส้กรอง 3M แท้ กรองฝุ่น กำจัดกลิ่น ฆ่าเชื้อโรค ดูดซับก๊าซ TVOC
บทความถัดไปHome Dishwasher เครื่องล้างจาน อบจาน พร้อมฆ่าเชื้อโรค แถมล้างผักผลไม้ก็ได้ ไม่ต้องติดตั้ง
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
dyson-supersonic-reviewเครื่องเป่าผมไร้ใบพัด Dyson Supersonic เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น Dyson แน่นอนว่าจะต้องมีความล้ำสมัย ทั้งการออกแบบดีไซน์ และเทคโนโลยี แต่ก็ตามมาด้วยราคาที่สูงลิ่วเช่นกัน <br /><br /> โดย Dyson Supersonic ก็จัดว่าเป็นเครื่องเป่าผม ที่นำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงในหลายๆ อย่างเข้ามาประยุกต์ใช้รวมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน ในหลายๆ ด้าน ทั้งการใช้งาน และความปลอดภัย ต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีของพัดลมไร้ใบพัด ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และยังใช้ มอเตอร์ดิจิตอลเวอร์ชั่น 9 เป็นมอเตอร์ที่มีขนาดเล็ก แต่หมุนเร็วมากๆ ให้ลมแรงต่อเนื่อง แถมเสียงเงียบอีกด้วย <br /><br /> นอกจากนี้ยังมี เทคโนโลยีปล่อยประจุลบ ออกมาคู่กับลมที่ปล่อยออกมาจากตัวเครื่อง เพื่อป้องกันไฟฟ้าสถิต ที่อาจส่งผลให้ผมฟู และเสียทรง รวมไปถึง ระบบควบคุมความร้อนอัจฉริยะ ควบคุมอุณหภูมิที่ปล่อยออกมา ไม่ให้ร้อนจนแช่เกินไป อาจส่งผลทำให้ผมเสีย ผมไหม้ ได้เช่นกัน <br /><br /> ขณะที่ด้านความปลอดภัยก็จะมี เทคโนโลยีเกราะป้องกันความร้อน ที่จะทำให้บนพื้นผิวของตัวเครื่อง ไม่ร้อนจนเกินไป ขณะกำลังทำงาน ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนมือ โดนตัวเราขณะกำลังใช้งานหรือไม่ (เพราะถึงโดนก็แค่รู้สึกอุ่นๆ เท่านั้น ไม่ถึงกับสะดุ้ง !) รวมไปถึงมีระบบตัดไฟอัตโนมัติ ในกรณีถ้าที่ตัวเซ็นเซอร์วัดค่าอุณหภูมิได้ 145 องศาเซลเซียส <br /><br /> สุดท้ายนี้ถ้าจะให้พูดถึงข้อเสียของมันหลักๆ ก็เห็นจะมีอยู่อย่างเดียวเลยคือ "โคตรแพง !" แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ห่วงเส้นผมตัวเอง ผมไม่ค่อยแข็งแรง บวกกับชอบเทคโนโลยีอะไรล้ำๆ แนะนำว่า "ซื้อเถอะครับ" ตัวเดียวเอาอยู่จริงๆ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้