ECOVACS DEEBOT OZMO 930
รีวิวฉบับนี้เป็น รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเกรดพรีเมี่ยมจากประเทศจีน (ECOVACS เป็นแบรนด์แท้ ไม่ใช่แบรนด์ OEM) โดยตัวนี้จัดเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น รุ่นท็อปรุ่นหนึ่งของเขาเลยก็ว่าได้
โดยตัวนี้จัดอยู่ในตระกูล OZMO ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “Osmosis” (อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า “ออสโมซิส“) ที่หมายความว่า “กระบวนการซึมผ่าน” และแน่นอนมันมีความสามารถที่โดดเด่นคือ การหยุดปล่อยน้ำบนพื้นพรม เพื่อป้องกันพรมเปียกชื้น บอกได้เลยว่าเพิ่งพบเห็นในเครื่องนี้เป็นตัวแรกตั้งแต่เคยรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมา และก็ยังมีความสามารถในการสแกนพื้นที่ห้อง เพื่อสร้างแผนที่จำลองได้ดีว่าเดิม เรียกได้ว่าถ้าไฟดับ หรืออินเทอร์เน็ตหลุด แผนที่จำลองของห้อง ก็ยังถูกจดจำเอาไว้ภายในหน่วยความจำของเครื่องเหมือนเดิม ไม่ต้องมาเสียเวลาสแกนกันใหม่
นอกจากนี้แล้วมันยังมีความสามารถเด่นอื่นๆ อีกมากมาย อาทิผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ที่มีขนาดใหญ่ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Li-Ion) การวิ่งทำความสะอาดที่เป็นระบบระเบียบ การสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน ให้คุณได้สามารถควบคุมสั่งงานเครื่องได้จากทั่วโลก และอื่นๆ อีกมากมาย
คุณสามารถเลือกหัวข้อต่างๆ ของบทความรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ฉบับนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- รู้จักกับ หุ่นยนต์ทำความสะอาด ECOVACS
- แกะกล่องผลิตภัณฑ์
- อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์
- ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของเครื่อง
- คุณสมบัติ และ ความสามารถของตัวเครื่อง
- สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
- เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งานจริง
- คุณสมบัติ และความสามารถของตัวแอปพลิเคชัน ECOVACS
- คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) เกี่ยวกับการใช้งาน
- บทสรุปหลังการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย
ด้านล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ที่มีความยาวเกือบๆ ครึ่งชั่วโมง ละเอียดมากๆ ถ้าใครดูคลิปนี้แล้วยังมีข้อสงสัย กลับมาอ่านบทความรีวิวนี้ต่อได้เลย
รู้จักกับ หุ่นยนต์ทำความสะอาด ECOVACS
คุณสามารถทำความรู้จักกับ ที่มาที่ไปของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ECOVACS ให้มากกว่านี้ ว่าเป็นใครมาจากไหน น่าเชื่อถือได้แค่ไหน ได้โดยการกดที่ลิงค์เชื่อมต่อด้านล่างนี้ได้เลย
⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ECOVACS DEEBOT ได้ที่นี่
แกะกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
กล่องผลิตภัณฑ์ ก็มาในโทนสีเดิม คือสีขาว ดำ และเทา เหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ECOVACS รุ่นอื่นๆ แต่มีการจัดเปลี่ยนการวางรูปข้อความอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงธีมเดิมเอาไว้อยู่
ตัวกล่องมีขนาดมิติอยู่ที่ ยาว (L) 507 x กว้าง (W) 143 x สูง (H) 424 มิลลิเมตร ในขณะที่น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) อยู่ที่ประมาณ 6.9 กิโลกรัม (ข้อมูลทั้ง 2 นำมาจากข้างกล่องผลิตภัณฑ์) (แต่ถ้าชั่งเองด้วยเครื่องชั่งน้ําหนักดิจิตอลน้ำหนักได้อยู่ที่ 6.7 กิโลกรัม)
ด้านหน้ากล่อง : ด้านบนเป็นโลโก้ผลิตภัณฑ์ ถัดลงมามีรูปตัวเครื่อง DEEBOT OZMO 930 วางอยู่เด่นเป็นสง่า พร้อมกับคำบรรยายสั้นๆ ว่า “The Floor Cleaning Robot” หรือ “หุ่นยนต์ทำความสะอาดพื้น” ที่อยู่ทางด้านขวามือ และชื่อรุ่นอยู่มุมขวาล่าง
ด้านหลังกล่อง : มีรูป คุณสมบัติ และความสามารถเด่น ของผลิตภัณฑ์ ทั้ง 4 พร้อมคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาจีน ด้านล่างเป็นคอนเซปของเครื่องคือ “Live Smart. Enjoy Life” หรือ “ใช้ชีวิตอย่างสนุก และอยู่อย่างฉลาด”
ด้านซ้ายของกล่อง : บอก คุณสมบัติ และความสามารถเด่น ที่เหลือของผลิตภัณฑ์อีก 5 รายการ มีรูปประกอบพร้อมชื่อความสามารถ
ด้านขวาของกล่อง : มี ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ของตัวเครื่อง และรายละเอียดอื่นๆ อีกเล็กน้อยๆ หลักๆ คือตัวเครื่องผลิตในประเทศจีน (Made in China) โดย บริษัท อีโคแวคส์ โรบอทติคส์ จำกัด (Ecovacs Robotics Company Limited)
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
เมื่อเปิดกล่องผลิตภัณฑ์ออกมา ก็จะพบกับกล่องกระดาษรีไซเคิล วางกันเป็นบล็อกๆ เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยด้านบนของกล่องย่อยแต่ละกล่อง จะมีรูปกราฟฟิกประกอบว่า ภายในกล่องย่อยนั้นมีอุปกรณ์อะไรที่ถูกบรรจุอยู่ภายในบ้าง เข้าใจง่ายดี
ภายในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 มีอุปกรณ์ให้มาทั้งหมด 8 อย่างหลักๆ ดังต่อไปนี้
1. ECOVACS DEEBOT OZMO 930 (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น x 1 เครื่อง)
ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบบทรงกลม (Round Shape Robot Vacuum Cleaner) มีขนาดมิติอยู่ที่ 354 x 354 x 102 มิลลิเมตร (ความสูงของเครื่อง 10.2 เซนติเมตร) และน้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 3.9 กิโลกรัม ถือว่ามีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่สูงอยู่เหมือนกันเพราะมีโดมเลเซอร์ อยู่ด้านบนด้วย แถมยังหนาตัน มีน้ำหนักเยอะ
วัสดุบนตัวเครื่องใช้เป็นพลาสติกผิวด้านเสียส่วนใหญ่ มีส่วนตรงแผงควบคุมที่เป็นพลาสติกผิวมัน โดยด้านบนมีหูหิ้วเอาไว้หยิบยกไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก
2. Docking Station หรือ Charge Base (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)
แท่นชาร์จขนาดเล็ก (รหัสรุ่น : CH1630A) มีขั้วชาร์จไฟ 2 ขั้วอยู่ด้านล่าง โดยแท่นชาร์จของตัวนี้ไม่จำเป็นจะต้องมี อะแดปเตอร์ชาร์จไฟแยกออกมาอีกชิ้น เพราะภายในตัวมันเองสามารถแปลงไฟได้ในตัว มาพร้อมกับสายไฟความยาวประมาณ 2 เมตร และนอกจากนี้แล้วด้านหลังเป็นที่ม้วนเก็บสายไฟได้อีกด้วย เพื่อไม่ให้สายไฟเกะกะรุงรังข้างนอก
แท่นชาร์จตัวนี้ มีมาตรฐานการกันน้ำและฝุ่นแบบ IP20 จากข้อมูลอ้างอิง หมายความว่า มันสามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 12.5 มิลลิเมตรขึ้นไป (ความหมายของเลข 2) แต่ไม่สามารถป้องกันของเหลวใดๆ ได้เลย (พูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ “กันน้ำไม่ได้” นั่นเอง) (ความหมายของเลข 0)
อ้างอิงจาก : http://www.dsmt.com/resources/ip-rating-chart/
3. OZMO Water Tank (ถังน้ำ x 1 ถัง)
ถังน้ำขนาดความจุ 250 มิลลิลิตร (250 ml Water Tank) เป็นถังน้ำพลาสติกใส มีรูปทรงกึ่งครึ่งวงกลม คล้ายกับแว่นตา (เห็นเป็นแบบนั้นนะ) สามารถใส่เข้าไปในร่องที่อยู่ใต้ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องถอดออกมาเติมน้ำบ่อยๆ
โดยถ้ามองจากด้านบนลงมาจะมีฝาเปิดเติมน้ำ (Fill Cap) สีน้ำเงินที่อยู่ด้านซ้ายมือ และด้านขวาจะเป็นส่วนของท่อปล่อยน้ำ ของระบบถูพื้นอัจฉริยะ ที่จะควบคุมการปล่อยน้ำได้แบบอัตโนมัติ
4. Instruction Document (เอกสารประกอบการใช้งาน x 1 ชุด)
เอกสารประกอบการใช้งานทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษรีไซเคิล โดยมีเอกสารทั้งหมดอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ
- Instruction Manual (คู่มือการใช้งาน) : เป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดี มีทั้งหมด 143 หน้า มีภาษาทั้งหมด 6 ภาษา ได้แก่ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามลายู (ใช้กันในประเทศแถบบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนิเซีย) ภาษาอารบิก (ภาษาอาหรับ) เนื้อหามาพร้อมกับคำอธิบาย และรูปภาพประกอบ อย่างละเอียด
- Quick Start Guide (คู่มือเริ่มต้นการใช้งาน) : แผ่นพับแนะนำการเริ่มต้นใช้งาน ที่มีเนื้อหาแค่รูปกราฟฟิกบอกทั้งการติดตั้งแท่นชาร์จ แปรงกวาดข้าง อุปกรณ์ของระบบถูพื้น รวมถึงแอปพลิเคชัน
- ECOVACS Limited Warranty (ขอบเขตการรับประกันสินค้า) : แผ่นกระดาษ 1 แผ่น ที่บอกเงื่อนไขการรับประกันสินค้า ว่าแบบไหนที่อยู่ในเงื่อนไข แบบไหนไม่อยู่ในเงื่อนไข (ควรจะอ่านทำความเข้าใจก่อน จะได้ไม่มีปัญหากับศูนย์บริการในภายหลัง)
5. Spare HEPA Filter and Sponge Filter (แผ่นกรองอากาศ HEPA และ ฟองน้ำกรองฝุ่น ชุดสำรอง x อย่างละ 1 แผ่น)
ทาง ECOVACS เขาได้ให้ แผ่นกรองอากาศ HEPA ชุดสำรอง (อีกแผ่นนึงถูกติดตั้งอยู่กับกล่องใส่ชยะฝุ่นละออง ในตัวเครื่องแล้ว) เป็น แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง (High Efficiency Filter) มีขนาดมิติ (กว้าง) 5.2 x (ยาว) 14.4 เซนติเมตร รวมพื้นที่ประมาณ 75 ตารางเซนติเมตร
ลักษณะเป็นแผ่นกรองอากาศแบบละเอียด ใช้ดักเศษฝุ่นละอองที่ถูกดูดเข้ามาพร้อมลม ไม่ให้กลับออกไปสู่ภายนอกอีกครั้ง โดยจะปล่อยอากาศบริสุทธิ์กลับออกไปเท่านั้น
นอกจากนี้แล้วยังมีฟองน้ำกรองฝุ่น (Sponge Filter) ความหนา 4 มิลลิเมตร (0.4 เซนติเมตร) ให้มาสำรองด้วยเช่นกัน ซึ่งเราก็สามารถนำไปซักล้างได้ตามปกติ
6. Microfiber Cleaning Cloths and Plate (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ x 2 ผืน และแผ่นติด x 1 ชุด)
ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ขนาดใหญ่ ให้มาในกล่องรวมทั้งสิ้น 2 ผืน (เผื่อสำรอง 1 ผืน) ที่สามารถนำไปล้าง และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ภายใต้คอนเซป “Washable and Reusable”
ที่ตัวผ้าม็อบฯ จะยึดกับ แผ่นติดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cleaning Cloth Plate) ด้วยเทปตีนตุ๊กแก (Velcro Tape) โดยที่ตรงกลางมีเจาะรูเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็กเอาไว้ เพื่อเว้นเป็นช่องให้กับล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหลัง (Rear Caster Wheel) ที่มีเอาไว้กันกระแทก กันครูดกับพื้นนั่นเอง
7. Side Brush (แปรงกวาดข้าง x 2 ชุด – ชุดละ 2 แปรง = 4 แปรง)
แปรงกวาดข้าง (Side Brush) อุปกรณ์พื้นฐานของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทรงกลม ที่จะต้องมี โดยทาง ECOVACS เขาให้มาในกล่องทั้งหมด 4 แปรงด้วยกัน ถือเป็น 2 ชุด (ชุดละ 2 แปรง) เผื่อสำรอง
โดยแปรงกวาดข้าง เป็นแปรงแบบ 3 แฉก โดยขนแปรงมีความยาวแฉกละ 5.0 เซนติเมตร (ถ้ารวมก้านและขนแปรงจะอยู่ที่ 6.5 เซนติเมตร) และมีแยกเป็นสี (เพื่อติดให้ถูกฝั่ง) อีกด้วยคือ
- สีเขียว : สำหรับติดตั้งฝั่งซ้าย
- สีแดง : สำหรับติดตั้งฝั่งขวา
8. Direct Suction Attachment (หัวเปลี่ยนระบบดูดแบบโดยตรง x 1 หัว)
อุปกรณ์ชนิดนี้ มีอีกชื่อเรียกว่า “Tangle-Free Suction Inlet” หรือ “หัวดูดไร้การพันกัน”
ลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกที่มีช่องโหว่ตรงกลาง เพื่อให้เศษฝุ่นละอองต่างๆ เส้นผมที่ยาวๆ (เส้นผมคุณสุภาพสตรี) ขนสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่เส้นด้าย ฯลฯ ได้ถูกดูดเข้าไปเก็บยังกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองที่อยู่ภายในตัวเครื่องอย่างสะดวกสบาย ด้วยพลังของพัดลมดูดฝุ่นพลังสูงที่อยู่ด้านในตัวเครื่องนั่นเอง
ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
รายละเอียด (Specification) |
|
ขนาดมิติ (Dimension) |
354 x 354 x 102 มม. |
น้ำหนัก (Weight) |
3.9 กิโลกรัม (ชั่งเองด้วยเครื่องชั่งน้ำหนักดิจิตอล) |
ไฟเข้า (Input) |
AC 100-240V 50/60 Hz |
ไฟออก (Output) |
DC 20V 0.8A (กินไฟ 25W) |
ประเภทของแบตเตอรี่ (Battery Type) |
Li-Ion |
ปริมาณความจุแบตเตอรี่ (Battery Capacity) |
3,200 mAh |
ระดับเสียง (Noise Level) |
65 dB. (เดซิเบล) (ข้อมูลจากสเปคบนเว็บไซต์ผู้ผลิต) |
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร) Dustbin Capacity (Litre) |
0.47 ลิตร (470 mL) |
ขนาดความจุถังน้ำ (ลิตร) Water Tank Capacity (Litre) |
0.25 ลิตร (250 mL) |
คุณสมบัติ และความสามารถของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
1. Smart Navigation 3.0 (ใช้ระบบนำทางด้วยเลเซอร์วัดระยะทาง Smart Navigation รุ่น 3.0)
เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ระบบนำทางด้วยเลเซอร์วัดระยะทาง ภายใต้เทคโนโลยีชื่อ “Smart Navi (สมาร์ทเนวี) รุ่น 3.0” ที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันมีความสามารถในการสแกนพื้นที่ เพื่อนำไปสร้างแผนที่จำลอง (Virtual Map) และวางแผนการทำความสะอาดได้อย่างชาญฉลาด พร้อมบอกตำแหน่งของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าบ้านคุณจะมีพื้นที่ที่ซับซ้อนมากเพียงใด มีห้องเล็กห้องน้อยมากแค่ไหน ระบบก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. Smartphone Control with Virtual Boundary (ควบคุมการทำงานผ่านมือถือ ที่สามารถสร้างกำแพงจำลอง ได้ผ่านแอปพลิเคชัน)
เครื่อง ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ตัวนี้สามารถควบคุม สั่งงาน พร้อมตั้งค่าเครื่อง ได้ด้วยแอปพลิเคชัน ECOVACS บนสมาร์ทโฟน ที่ใช้ระบบปฏิบัติการยอดฮิตอย่าง iOS และ Android ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายอย่าง Wi-Fi คลื่น 2.4 GHz โดยมันมีวิธีการเชื่อมต่อ และใช้งานที่ง่ายมากๆ แถมหน้าตาแอปฯ เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานอีกด้วย (ดูวิธีการเชื่อมต่อแอป ECOVACS กับตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น)
นอกจากนี้แล้ว แอป ECOVACS ก็อีกหนึ่งความสามารถที่โดดเด่นนั่นก็คือ การสร้างกำแพงจำลองผ่านแอปพลิเคชัน (Virtual Boundary) หน้าพื้นที่ ที่ไม่ต้องการให้เครื่องนี้เข้าไปทำความสะอาด อย่างเช่น พื้นที่วางอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นต้น โดยที่เราไม่ต้องไปวางอุปกรณ์กั้นพื้นที่ใดๆ บนพื้นให้เกะกะเลย เพียงแค่ลากเส้นกั้นผ่านแอปฯ เครื่องก็จะไม่เข้าไปย่างกรายอีกเลย
3. Intelligent Cleaning for Various Floor Types (มีระบบตรวจจับประเภทของพื้นอัจฉริยะ)
เครื่องนี้รองรับการทำความสะอาดบนพื้นผิวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบนพื้นเนื้อแข็ง (Hard Floor) อย่างพื้นกระเบื้อง พื้นไม้ปาร์เก้ พื้นไม้ยาง ต่างๆ รวมไปถึง พื้นพรม (Carpet) โดยมันมีเซ็นเซอร์เพื่อแยกแยะพื้นพรมที่อยู่ข้างใต้เครื่อง เพื่อระบุประเภทของพื้น และปรับระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่น หรือพลังการดูด (Suction Power) ให้เหมาะสมกับพื้นผิวที่มันกำลังวิ่งทำความสะอาดอยู่นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่ เมื่อเครื่องจะต้องทำความสะอาดบนพื้นพรม เครื่องจะเพิ่มระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่นให้สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อดูดฝุ่นบนพรมได้อย่างสะอาด และเมื่อเครื่องวิ่งลงจากพรมก็จะปรับไปเป็นระดับปกติโดยอัตโนมัติเช่นกัน
4. OZMO Mopping System (มีระบบถูพื้นอัจฉริยะ OZMO)
ขึ้นชื่อว่าอยู่ในตระกูล “OZMO” (ย่อมาจากคำว่า “Osmosis – ออสโมซิส” แปลว่า “กระบวนการซึมผ่าน“) หมายความว่ามันมีความอัจฉริยะในการถูพื้น มันมีปั๊มน้ำอัตโนมัติขนาดเล็ก (Electronically-Controlled Water Pump) ที่จะคอยควบคุมการปล่อยน้ำจากถังน้ำ (Reservoir หรือ Water Tank) ขนาดความจุ 0.25 ลิตร ก่อนจะซึมผ่านผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ และลงสู่พื้นเป็นลำดับต่อไป
เนื่องจากตัวเครื่องมีเซ็นเซอร์ตรวจจับพรม (Carpet Detection Sensors) ที่อยู่ใต้ตัวเครื่อง ซึ่งจะทำให้มันสามารถรู้ได้ว่าตรงไหนเป็นพื้นเนื้อแข็ง หรือตรงไหนเป็นพื้นพรม ซึ่งประโยชน์ของการมีเซ็นเซอร์ชนิดนี้คือ
- Microfiber Cleaning Cloth Installed (ถ้าติดตั้งผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์) : เครื่องจะไม่วิ่งขึ้นไปพรมเลย
- Microfiber Cleaning Cloth Removed (ถ้าไม่ได้ติดตั้งผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์) : เครื่องจะวิ่งขึ้นพรม แต่จะหยุดการปล่อยน้ำลงพื้นพรม
5. Interchangeable Suction Options (ใช้ระบบหัวแปรงดูด 2 รูปแบบ)
ระบบดูดฝุ่นของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ตัวนี้ ทางผู้ผลิตเขามีออปชั่น ให้เลือกได้ 2 แบบ (เหมือนกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ECOVACS รุ่นก่อนๆ ที่เคยรีวิวมา) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ได้ตามความเหมาะสมของสภาพห้อง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่มีรูปแบบต่างกัน เช่นห้องที่มีขนสัตว์เลี้ยง หรือเส้นผมของสุภาพสตรีร่วงอยู่เยอะ กับผมหรือขนสัตว์น้อย
- Main Brush Suction (ระบบหัวดูดแปรงกวาดหลัก – ใช้แปรงกวาดดูดด้วยลมดูดด้วย) : ระบบดูดหลัก ที่มีการติดตั้งมาพร้อมกับตัวเครื่อง ระบบนี้จะมีหัวแปรงปัดฝุ่นจากพื้นเข้าสู่ตัวเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถดูดฝุ่น และทำความสะอาดพื้นได้อย่างล้ำลึก แต่ระบบหัวดูดนี้จะไม่เหมาะในการดูดกับห้องที่มี เส้นผม หรือ ขนสัตว์ เยอะๆ เพราะแกนของหัวแปรงปัด จะเกิดการติดพันกับเส้นผม และขนสัตว์เหล่านี้ได้ง่าย
- Direct Suction (ระบบหัวดูดแบบโดยตรง – ใช้ลมดูดฝุ่นอย่างเดียว) : หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “Tangle-Free Suction Inlet” เป็นระบบที่เหมาะสำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง หรือสภาพห้องที่มีขนสัตว์ และเส้นผมเยอะเป็นพิเศษ เพราะระบบหัวดูดนี้จะเป็นการใช้พลังลมดูดอย่างเดียว (ไม่มีการใช้แปรงกวาดใดๆ) ทำให้สามารถดูดฝุ่นและ ขนสัตว์ เส้นผม รวมถึงเศษเส้นด้ายจากเสื้อผ้า ได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ และเส้นผมยาวๆ จะไม่พันกับหัวแปรง
6. Cleaning Schedule (ตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ ได้ตามต้องการ)
มันมีความสามารถในการ ตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติได้รายวันแบบยืดหยุ่น นั่นหมายความว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งให้เครื่องออกมาทำความสะอาดในเวลาเดียวกันเป็นประจำทุกวันก็ได้ แต่เราสามารถตั้งให้ในแต่ละวัน ออกมาทำความสะอาดคนละเวลากันได้ แถมทำความสะอาดวันละหลายครั้งก็ได้เช่นกัน เช่น
- วันเสาร์ / วันอาทิตย์ : 13:00 น. (อยู่บ้านทั้งวันแต่ออกไปกินข้าวเที่ยงตอนบ่ายโมง)
- วันจันทร์ / วันอังคาร/ วันพุธ / วันพฤหัสบดี / วันศุกร์ : 9:45 น. (ทำความสะอาดครั้งแรก หลังจากออกไปทำงานนอกบ้าน)
- วันจันทร์ / วันอังคาร/ วันพุธ / วันพฤหัสบดี : 18:00 น. (ทำความสะอาดก่อนกลับบ้านตามปกติ)
- วันศุกร์ : 21:30 น. (ไปกินข้าวสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เลยกลับบ้านดึก หลัง 4 ทุ่ม)
7. Voice Reporting (ระบบรายงานการทำงานด้วยเสียง)
เครื่องนี้มีระบบการรายงานสถานะของเครื่องด้วยเสียงคนพูดแบบสดๆ แบบเรียลไทม์ (Real-time) ตอนนั้นเลย
มีทั้งหมด 12 ภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาอิตาลี ภาษาเยอรมัน รวมถึงภาษาไทยด้วย เป็นเสียงผู้หญิงฟังไพเราะเสนาะหู ซึ่งระบบนี้สามารถเปิดหรือปิด ได้จามต้องการ ผ่านแอปพลิเคชัน ECOVACS
การรายงานการทำงานด้วยเสียง จะทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจสถานะต่างๆ มากกว่าเสียงสัญญาณแจ้งเตือน ที่จะต้องไปตีความ หรือทำความเข้าใจกันอีก
สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
มาดูส่วนประกอบรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 กันดูบ้างว่ามีอะไรบ้าง โดยในที่นี้ขอแยกออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกันได้แก่
- ส่วนประกอบด้านบน
- ส่วนประกอบด้านล่าง
- ส่วนประกอบภายในเครื่อง
- ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง
- ส่วนประกอบของระบบถูพื้นอัจฉริยะ OZMO
Top Components (ส่วนประกอบด้านบน) (29, 35, 118)
- LDS – Laser Distance Sensor (เซ็นเซอร์วัดระยะทางด้วยเลเซอร์) : โดมกลมๆ ที่อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่องคือ ระบบนำทางด้วยระบบเลเซอร์ โดยด้านในจะเป็นวงกลมพลาสติก ที่จะปล่อยแสงเลเซอร์แบบ Class A ที่จัดอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ออกมา เพื่อวัดระยะห่างระหว่างตัวเครื่อง และวัตถุต่างๆ ที่อยู่รอบๆ เพื่อเอาไว้ใช้ในการสร้างแผนที่จำลองของห้อง ก่อนประมวลผล และวิ่งทำความสะอาดในลำดับต่อไป
- Top Cover or Dustbin Door (ฝาปิดด้านบน หรือ ฝาเปิดปิดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : ฝาปิดขนาดใหญ่ ครอบคลุมตัวเครื่องเกือบทั้งหมด สามารถยกเปิดขึ้นมาได้ ภายในมีส่วนประกอบต่างๆ อีกเล็กน้อย เช่น สวิตซ์เปิดปิดเครื่อง เครื่องมือทำความสะอาดอเนกประสงค์ ฯลฯ (รายละเอียดส่วนประกอบภายในตัวเครื่อง)
- Handle (หูหิ้ว) : ด้ามพลาสติกที่ซ่อนอยู่ระหว่างแผงควบคุม กับกันชนหน้า สามารถยกมันขึ้นมาได้ เพื่อเป็นหูหิ้วตัวเครื่อง ให้สามารถหยิบยก ขนย้ายไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องอุ้มตัวเครื่อง
- Control Panel and Indicators (แผงควบคุม และไฟแสดงสถานะ) : บนแผงควบคุมด้านบนของ มีอยู่แค่ปุ่มเดียวคือ “ปุ่มเปิดปิดเครื่องโหมดอัตโนมัติ (Auto Mode Button)” ที่อยู่ด้านบนสุด ขณะส่วนที่เหลือด้านล่าง จะเป็นแค่ “ไฟแสดงสถานะ (Indicator)” เท่านั้น โดยรายละเอียดมีอยู่ดังต่อไปนี้
- AUTO Mode Button (ปุ่มเปิดปิดเครื่อง ในโหมดอัตโนมัติ) : ปุ่มนี้มี 2 ฟังก์ชั่น (หน้าที่) ในปุ่มเดียวกันคือ
- Press Once (กดสั้นๆ 1 ครั้ง) : สั่งให้เครื่องเริ่มต้นหรือหยุดทำงานในโหมดอัตโนมัติ (AUTO Mode)
- Press and Hold for 3 Seconds (กดค้างเอาไว้ 3 วินาที) : สั่งให้เครื่องวิ่งกลับแท่นชาร์จโดยทันที
- Wi-Fi Indicator Light (ไอคอนรูป Wi-Fi) : เพื่อแสดงถึงการเชื่อมต่อ Wi-Fi ระหว่างแอปพลิเคชัน ECOVACS ที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟน กับตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
- Status Indicator (ไอคอนรูปกระดิ่ง) : บอกสถานะการทำงานต่างๆ ของตัวเครื่อง
- AUTO Mode Button (ปุ่มเปิดปิดเครื่อง ในโหมดอัตโนมัติ) : ปุ่มนี้มี 2 ฟังก์ชั่น (หน้าที่) ในปุ่มเดียวกันคือ
- Front Bumper and Anti-Collision Sensor (กันชนหน้า และเซ็นเซอร์ป้องกันการชน) : กันชนหน้าอุปกรณ์ที่ดูดซับแรงกระแทก ระหว่างตัวเครื่อง กับข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน
Underside Component (ส่วนประกอบด้านล่าง)
- Anti-Drop Sensors (เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น) : ป้องกันเครื่องวิ่งตกจากที่สูงเช่น ตกบันได เป็นต้น มีอยู่ทั้งหมด 3 จุดด้วยกันได้แก่ ตรงกลางเครื่อง ฝั่งซ้าย และฝั่งขวา (ระหว่างแปรงกวาดข้าง กับล้อขับเคลื่อนหลัก)
- Carpet Detection Sensors (เซ็นเซอร์ตรวจจับพรม) : แผ่นโลหะทรงกลม 2 แผ่น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.2 เซนติเมตร ใช้ตรวจจับพื้นผิวว่าเป็นลักษณะใด เพื่อส่งข้อมูลให้ตัวเครื่องไปประมวลผลว่าจะปรับระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่นไปในระดับใด หรือจะขึ้นพรมหรือไม่ (ถ้าติดตั้ง แผ่นติดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ อยู่ก็จะไม่ขึ้นไปบนพรม) แถมยังสามารถแสดงลักษณะได้อีกด้วยว่า พื้นที่ตรงไหนเป็นพรม ในแผนที่จำลองของห้อง ผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
- Front Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : หรือเรียกว่า “Universal Caster Wheel” เป็นล้อพลาสติก ที่สามารถหมุนได้ 360 องศา รับน้ำหนักเครื่องด้านหน้าเอาไว้ แต่ไม่มีส่วนในการขับเคลื่อนแต่อย่างใด
- Charging Contacts (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : ลักษณะเป็นขั้วโลหะทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส 2 ขั้ว ที่ใช้สัมผัสเชื่อมต่อกับ แทนชาร์จ เพื่อชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ให้กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่) : ส่วนของแบตเตอรี่ โดยเครื่องนี้เป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-Ion) ความจุ 3,200 มิลลิแอมป์ (mAh) ที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่องถึงประมาณ 110 นาที (1 ชั่วโมง 50 นาที) โดยแบตเตอรี่เครื่องนี้ทำตัวเป็นฝาครอบไปด้วยในตัว การเปิดก็ไม่ยากใช้ หัวน๊อตแบบ 4 แฉก ยึดตัวแบตเตอรี่กับตัวเครื่องเข้าไว้ด้วยกัน
- Side Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง) : แปรงกวาดข้าง ให้มาสำหรับติดตั้ง 2 ฝั่ง (สีแดง – ฝั่งขวา และ สีเขียว – ฝั่งซ้าย) เป็นแปรงกวาดข้างแบบ 3 แฉก ตัวขนแปรงยาวแฉกละ 5 เซนติเมตร (ถ้ารวมก้าน 6.5 เซนติเมตร) มีหน้าที่ปัดฝุ่น ตีฝุ่นที่อยู่รอบๆ เครื่องให้เข้าไปเก็บอยู่ภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง
- Suction Component Slot (พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบดูดฝุ่น) : พื้นที่สำหรับติดตั้งระบบดูดฝุ่น ที่ถูกปิดด้วยฝาครอบ มีให้เลือก 2 ทางเลือกด้วยกัน ตามความต้องการของผู้ใช้งานคือ
- Main Brush Suction Component (หัวดูดแปรงกวาดหลัก)
- Direct Suction Component (หัวเปลี่ยนระบบดูดแบบโดยตรง)
- Drive Wheels (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลัก ด้านข้างของตัวเครื่อง เป็นตัวหลักในการควบคุมความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวเครื่อง ลักษณะของล้อออกแบบให้มีดอกยางขนาดใหญ่ พร้อมสปริงโช๊คอัพ ช่วยให้ตัวได้ดี ขณะวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ หรือ ธรณีประตู (Doorsill) ในระดับที่ไม่เกิน 1.7 เซนติเมตร
- Water Tank Installation Area (พื้นที่ติดตั้งถังน้ำ) : ถังน้ำสามารถติดตั้งขณะที่ไม่ได้ต้องการถูพื้นไปด้วยก็ได้ โดยไม่ต้องถอดออก แต่ถ้าหากว่าต้องการถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) ไปด้วย ก็เพียงแค่ติดตั้งผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cleaning Cloth) พร้อมกับ แผ่นติด (Plate) เข้าไปใต้ถังน้ำ
- Rear Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหลัง) : ล้อรับน้ำหนักที่ไม่สามารถหมุนรอบตัวได้ มีหน้าที่ป้องกันการกระแทกด้านหลังของตัวเครื่อง เพื่อไม่ให้ไปขรูดกับพื้น
Inside Component (ส่วนประกอบภายในเครื่อง)
- USB Upgrade Port (ช่องเสียบพอร์ต USB) : ช่องเสียบสาย USB เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล อัพเกรดซอฟต์แวร์ (เฟิร์มแวร์) ให้กับตัวเครื่อง (สำหรับศูนย์บริการใช้เท่านั้น)
- Power On/Off Switch (สวิตซ์เปิดปิดเครื่อง) : สวิตซ์แบบเลื่อน ที่เอาไว้ใช้ตัดวงจรไฟฟ้าระหว่างตัวเครื่อง กับ แบตเตอรี่ ใช้ในกรณีที่ หากไม่ใช้เครื่องเป็นระยะเวลานานๆ แนะนำให้เลื่อนสวิตซ์มาทางขวา เพื่อปิดเครื่องเอาไว้ ด้วยสาเหตด้านความความปลอดภัย และ เป็นการยืดอายุของแบตเตอรี่ ให้อยู่กับเรานานขึ้นอีกด้วย
-
Cleaning Tool (เครื่องมือทำความสะอาดอเนกประสงค์) : มีลักษณะเป็นแปรงขนาดเล็กๆ ไว้ใช้ปัดฝุ่น ทำความสะอาดอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ ของตัวเครื่อง พร้อมกับส่วนของใบมีดคัตเตอร์ที่เอาไว้ตัดเส้นผม ขนสัตว์ หรือเส้นด้ายต่างๆ ที่อาจติดค้าง หรือพันอยู่ตามตัวเครื่องเช่นกัน
- Reset Button (ปุ่มรีเซ็ตเครื่อง) : ใช้เพื่อล้างการตั้งค่า (Reset) ต่างๆ ของระบบ เช่นการเชื่อมต่อแอปพลิเคชันผ่าน Wi-Fi ฯลฯ ให้กลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง (เหมือนเพิ่งซื้อเครื่องมาตอนแรก) ใช้ในกรณีที่อาจจะมีปัญหาในการเชื่อมต่อ Wi-Fi การตั้งค่าต่างๆ
- Dustbin (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : กล่องพลาสติกใสขนาดความจุ 0.47 ลิตร ที่ด้านบนมีหูหิ้วเอาไว้ยกออกจากตัวเครื่องง่ายๆ เอาไว้เก็บเศษฝุ่น เศษเส้นผม หรือขนสัตว์ ที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นดูดเข้ามา
Dustbin Component (ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง)
กล่องพลาสติกชนิดใส มีขนาดความจุอยู่ที่ 0.47 ลิตร (470 มิลลิลิตร) ภายในโล่งโปร่ง ไม่มีมุมอับ สามารถล้างน้ำได้ง่ายๆ ฝาเปิดกล่องฯ เป็นแบบบานพับ มาพร้อมกับแผ่นกรองอากาศทั้งหมด 3 ชั้นหลักๆ โดยมีลำดับการกรองตั้งแต่ต้น จนปล่อยกลับออกไปข้างนอกอีกครั้งดังต่อไปนี้
- First Layer (แผ่นกรองชั้นแรก) : ตาข่ายกรองฝุ่น มีหน้าที่กรองฝุ่นขนาดใหญ่ อาทิ เส้นผม ขนสัตว์ เศษขนมขบเคี้ยว ต่างๆ เสียก่อน)
- Second Layer Filter (แผ่นกรองชั้นที่สอง) : ฟองน้ำกรองฝุ่น (Sponge Filter) มีหน้าที่กรองฝุ่นขนาดเล็กลงมาหน่อยอีกชั้น ส่วนนี้สามารถนำไปซัก หรือล้างด้วยน้ำตามปกติได้
- Third Layer Filter (แผ่นกรองชั้นที่สาม) : แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่มีความสามารถในการ กรองฝุ่นละอองอนุภาคเล็กมากๆ เพื่อให้อากาศที่ถูกปล่อยออกมาบริสุทธิ์มาก ถึงมากที่สุด
OZMO Mopping System Component (ส่วนประกอบของระบบถูพื้นอัจฉริยะ OZMO)
ระบบถูพื้นอัจฉริยะของเครื่องนี้ จริงๆ แล้วถ้ามองในฐานผู้ใช้งานทั่วไป มันก็ดูปกติ เหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่มีความสามารถในการถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) ทั่วๆ ไปหลักๆ ก็มีแค่ถังน้ำ และผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์มาให้ แต่ถ้าสังเกตดีๆ มันก็ไม่ได้เหมือนเสียทีเดียว ข้อแตกต่างมีอยู่ดังต่อไปนี้
- ถังน้ำฝังอยู่เป็นส่วนเดียวกับตัวเครื่อง โดยไม่มีส่วนใดยื่นเกินออกมานอกเครื่อง เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นบางรุ่น
- ภายในถังน้ำจะสังเกตเห็นท่อดูดน้ำด้วย ซึ่งนี่คือจุดที่แตกต่างระหว่างหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีถังน้ำธรรมดา กับถังน้ำอัจฉริยะ (ควบคุมการปล่อยน้ำได้)
เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
การเตรียมเครื่อง เพื่อเริ่มต้นใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ตัวนี้ ก็จะคล้ายๆ กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ ทั่วไปที่เมื่อต้องการจะเริ่มต้นการใช้งาน ในที่นี้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลักๆ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- การตระเตรียมพื้นที่โล่งสำหรับวางแท่นชาร์จ
- การชาร์จไฟครั้งแรก
- การติดตั้งถังน้ำเพื่อถูพื้นแบบเปียก
- การเชื่อมต่อแอปพลิเคชันผ่าน Wi-Fi เพื่อสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน
1. Charge Base Installation and Protection Removing (การติดตั้งแท่นชาร์จ และ ดึงอุปกรณ์ป้องกันเครื่องออก)
ก่อนอื่นเราจะต้องทำการติดตั้งแท่นชาร์จ ในพื้นที่โล่งเสียก่อน เพื่อให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ได้สามารถวิ่งเข้าออกได้อย่างสะดวก โดยพื้นที่ที่เขาแนะนำคือ ฝั่งซ้าย และขวา ของแท่นชาร์จควรมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร (1.6 ฟุต) และ ด้านหน้าอีกประมาณ 1.5 เมตร (5 ฟุต)
นอกจากนี้แล้ว เราจะต้องนำอุปกรณ์ป้องกันเครื่อง เช่นแผ่นโฟม แผ่นพลาสติก ออกจากส่วนต่างๆ ของเครื่อง และแท่นชาร์จให้เรียบร้อย (ถือว่ามีการป้องกันเครื่องมาในขณะขนส่งดีมาก) อาทิกันชน โดมเซ็นเซอร์วัดระยะด้วยเลเซอร์ ให้เรียบร้อย เพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งานในครั้งแรก
2. First Time Charging (การชาร์จไฟครั้งแรก)
อันดับต่อไปเราต้องเปิดเครื่องชาร์จไฟ (อย่าลืมเลื่อนปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่อง เพื่อเปิดเครื่องเสียก่อน) และแม้ว่าตามสเปคเขาจะบอกว่าเครื่องนี้ใช้เวลาชาร์จไฟจนเต็มความจุของแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 4 ชั่วโมง แต่เพื่อความชัวร์ ก็แนะนำให้ชาร์จข้ามคืนไปเลย เพื่อให้แบตเตอรี่เต็มความจุสำหรับการใช้งานในครั้งแรกจริงๆ โดยเครื่อง และตัวแบตเตอรี่มีระบบตัดการชาร์จไฟอัตโนมัติ เมื่อแบตเตอรี่เต็มอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล
3. Water Tank Installation (การติดตั้งถังน้ำเพื่อถูพื้นแบบเปียก)
ส่วนนี้จริงๆ แล้วเป็นออปชั่นเสริม ที่จะใช้งาน หรือไม่ใช้งานก็ได้ ถ้าหากคุณไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ก็ถอด ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ และแผ่นติด ของมันออกมา (แต่ถังน้ำ ยังคงสามารถติดเอาไว้ที่เครื่องได้อยู่ โดยไม่ต้องถอดออก)
ด้านการติดตั้งก็ง่ายๆ เพียงแค่นำผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์มา แนบติดกับแผ่นติด (ยึดด้วยเทปตีนตุ๊กแก) แล้วนำไปติดเข้ากับถังน้ำ ที่อยู่ท้ายเครื่อง ก็เป็นอันเสร็จพิธี
4. Application Connection via Wi-Fi (การเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ผ่าน Wi-Fi)
ในการควบคุมเครื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า สั่งงานต่างๆ จะต้องทำผ่านแอปพลิเคชัน ECOVACS ที่พัฒนาโดย Ecovacs Robotics Inc. เท่านั้น เนื่องจากบนตัวเครื่อง มีปุ่มควบคุมหลักอยู่เพียงแค่ปุ่มเดียวเท่านั้น จึงให้ทำอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่
โดยเครื่องนี้ มีให้เลือกใช้กันทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการเลยคือ iOS และ Android
เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านล่างนี้คือขั้นตอนการเชื่อมต่อ แอปพลิเคชัน ECOVACS กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ได้เลย
- เปิดแอป ECOVACS เข้ามาแล้ว จะแสดงหน้าจอต้อนรับ โดยมี 2 ปุ่มให้เลือกระหว่าง “ปุ่ม Register” เพื่อลงทะเบียนสำหรับการเข้าใช้งานในครั้งแรก และ “ปุ่ม Log In” สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนด้วยการเลือกประเทศ (Country/ Region) การกรอกที่ช่อง อีเมล (E-Mail) รหัสผ่าน (Password) และยืนยันรหัสผ่านอีกครั้ง (Re-enter Password) และติ๊กถูกที่ ยอมรับข้อตกลง (I accept the User Agreement and Privacy Policy) เมื่อกรอกครบทุกช่องแล้วกด “ปุ่ม Register” เพื่อลงทะเบียน
- หลังจากลงทะเบียนแล้วกด “ปุ่ม Log In” เพื่อเข้าสู่ระบบด้วยการกรอกอีเมล และรหัสผ่าน ที่ได้ตั้งค่าเอาไว้ หลังจากนั้นกด “ปุ่ม Log In” อีกครั้ง
- เมื่อเข้าสู่ระบบมาแล้ว ถ้าเป็นครั้งแรก หน้าจอจะขึ้นว่า “Your robot list is empty.” หมายความว่า ชื่อบัญชีของเรายังไม่มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ECOVACS เอาไว้ในการควบคุม ซึ่งเราจะต้องกด “ปุ่ม Add a robot” เพื่อเพิ่มหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เข้าไปในบัญชีของเรา เพื่อควบคุม และสั่งงาน
- เลือกหุ่นยนต์ดูดฝุ่น “DEEBOT OZMO 930 Series“
- มาที่หน้าจอตั้งค่าเครือข่าย (Network Setup) แล้วกรอกรหัสผ่าน Wi-Fi ของ SSID ปัจจุบัน ที่เราใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ (แต่เราสามารถแตะที่ชื่อ SSID เพื่อเปลี่ยนชื่อ SSID ไปได้ตามต้องการ) แล้วกด “ปุ่ม Next“
- ระบบจะขึ้นคำแนะนำให้ เปิดฝาปิดด้านบนของตัวเครื่อง และเลื่อนสวิตซ์เปิดปิดเครื่อง ไม่ทางขวาเพื่อเปิดเครื่อง และรอจนกว่าจะได้ยินเสียงต้อนรับ (Startup Sound) (ถ้าใครเปิดเครื่องอยู่แล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย) แล้วกด “ปุ่ม Next“
- ระบบจะขึ้นคำแนะนำให้ “ปุ่ม RESET” สั้นๆ 1 ครั้งบนตัวเครื่อง จนกว่าจะได้ยินเสียงตี๊ด เพื่อล้างการตั้งค่าต่างๆ ของระบบ และกด “ปุ่ม Next” บนแอปพลิเคชัน เพื่อดำเนินการต่อ
- ระบบจะขึ้นคำแนะนำในการเปลี่ยนการเชื่อมต่อจาก SSID ของเรา ไปเป็น SSID ของ ECOVACS DEEBOT OZMO 930 เมื่ออ่านแล้วกด “ปุ่ม Wi-Fi Settings” เพื่อออกไปในหน้าตั้งค่า Wi-Fi โดยตรงทันที
- ระบบจะพาออกไปที่เมนูตั้งค่า Wi-Fi ให้เลือก SSID ที่เป็นชื่อของ ECOVACS DEEBOT OZMO 930 โดยชื่อ SSID จะขึ้นต้นประมาณ “ECOVACS-xxxxxx“
- เราจะได้ยินเสียงพูดมาจากตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นประมาณว่า “🔊 Connected .. Please go back to ECOVACS app to continue the setup“
- หน้าจอจะแสดงฟันเฟืองหมุนๆ พร้อมข้อความว่า “Do not run the App in the Background“
- หลังจากนั้นระบบจะขึ้นคำว่า “Setup Completed” พร้อมบอกรุ่นของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเรา (DEEBOT OZMO 930 Series” เพื่อเป็นการยืนยัน หลังจากนั้นกด “ปุ่ม Complete“
- ระบบจะพามาที่หน้าจอแสดงรายการหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ECOVACS ที่อยู่ในการควบคุม พร้อมแสดงสถานะเครื่องว่า “On-line“
คุณสมบัติ และความสามารถ ของแอปพลิเคชัน ECOVACS กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
ความสามารถของแอปพลิเคชัน ECOVACS ที่ใช้กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ตัวนี้จัดว่าเยอะแยะมากมายเหลือเกิน โดยขอสรุปมาให้ตามฟังก์ชั่นการใช้งานดังต่อไปนี้
-
การสั่งงานเครื่อง (Execute Cleaning Command)
- สั่งให้เครื่องเริ่มทำงานในโหมดอัตโนมัติ (Start AUTO Mode Cleaning)
- หยุดทำงานชั่วคราวหรือทำงานต่อ (Pause / Continue Cleaning)
- สั่งให้เครื่องกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
- ความสามารถเสริมพิเศษ (Special Features) (อ่านข้อแตกต่างของทั้ง 3 ความสามารถ เพิ่มเติม)
- โหมดทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่ (Area Clean Mode)
- โหมดทำความสะอาดแบบกำหนดจุดเอง (Custom Mode)
- การสร้างกำแพงจำลอง (Virtual Boundary หรือ Virtual Wall)
- การดูสถานะของตัวเครื่อง (Robot Status)
- ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Robot Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
- กำลังทำงาน (Cleaning)
- หยุดชั่วคราว (Paused)
- กำลังกลับแท่นชาร์จ (Recharge)
- พร้อมใช้งาน (Standby)
- ขนาดพื้นที่ที่ทำความสะอาดไปแล้ว (Area Cleaned) (หน่วยเป็นตารางเมตร – m2)
- ระยะเวลาที่ใช้ในการทำความสะอาด (Duration) (หน่วยเป็นนาที – Min)
- ดูแผนที่จำลองของห้องแบบสดๆ (Real-time Cleaning Map) เพื่อดูว่าเครื่องทำงานครบทั่วทั้งพื้นที่ห้องแล้วหรือยัง และ ตรวจสอบรูปแบบการทำความสะอาดว่าทำงานอยู่ในโหมดใด นอกจากนี้ยังมีการบอก จำนวนตารางเมตร ที่เครื่องทำความสะอาดไปแล้ว
- ปริมาณคงเหลือของแบตเตอรี่ (Battery Status) (บอกเป็นแถบความจุเฉยๆ)
- ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Robot Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
-
การตั้งค่าทำความสะอาด (Cleaning Settings)
- สามารถเลือกปริมาณน้ำที่จะปล่อยลงพื้น (Amount of Water for Mopping) ได้ว่าจะให้พื้นเปียกมาก หรือเปียกน้อย โดยมีให้เลือกทั้งหมด 4 ระดับคือ
- เปียกน้อย (Low)
- เปียกปานกลาง (Medium)
- เปียกมาก (High)
- เปียกชุ่ม (Max)
- การทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง (Continuous Cleaning) โดยปกติเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด เครื่องจะกลับมาชาร์จยังแท่นชาร์จเองโดยอัตโนมัติ และถ้าเปิดส่วนนี้เอาไว้ ระบบจะออกไปอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่เต็มทันที
- ฟังก์ชั่นห้ามรบกวน (Do Not Disturb) โดยเครื่องจะหยุดกิจกรรมทุกอย่าง เพื่อให้คุณได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ เช่นหยุดการทำความสะอาด ดับไฟแสดงสถานะต่างๆ หยุดระบบรายงานการทำงานด้วยเสียง (เสียงเงียบ) ภายในเวลาที่กำหนด (ค่าตั้งต้นคือระหว่างช่วงเวลา 22:00 ถึง 08:00 น. – สามารถเปลี่ยนช่วงเวลาได้เอง)
- สามารถเลือกปริมาณน้ำที่จะปล่อยลงพื้น (Amount of Water for Mopping) ได้ว่าจะให้พื้นเปียกมาก หรือเปียกน้อย โดยมีให้เลือกทั้งหมด 4 ระดับคือ
- การตั้งค่าทั่วไป (General Settings)
- สามารถตั้งเวลาทำความสะอาด (Cleaning Schedule) ได้แบบยืดหยุ่น เช่น วันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ หรือ วันนี้ทำเวลานี้ พรุ่งนี้ทำอีกเวลานึง นอกจากนี้แล้ว มันยังตั้งเวลาทำความสะอาดต่อวันได้วันละหลายครั้ง (วันละกี่ครั้งก็ได้) พร้อมเลือกโหมดทำความสะอาดได้ระหว่าง โหมดอัตโนมัติ หรือ โหมดทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่
- ดูประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง (Cleaning Log) แบบละเอียด
- ดูประวัติการใช้อุปกรณ์สิ้นเปลือง (Accessories Usage) เครื่องนี้จะคอยแจ้งเตือนให้เปลี่ยนอุปกรณ์สิ้นเปลืองตามอายุการใช้งานอย่าง แปรงกวาดข้าง (150 ชั่วโมง) แปรงกวาดหลัก (300 ชั่วโมง) แผ่นกรองอากาศ (120 ชั่วโมง)
- ระบบรายงานการทำงานด้วยเสียง (Voice Report) สามารถเลือกได้ว่าจะเปิดหรือจะปิดระบบ พร้อมเปลี่ยนภาษาตามต้องการ มีเสียงพูดให้เลือกทั้งหมด 12 ภาษา (มีภาษาไทยด้วย)
- สามารถตั้งชื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Name your DEEBOT) ได้ตามต้องการ จะมีประโยชน์มากในกรณีที่เรามีหลายเครื่อง
- สามารถดูเวอร์ชั่นของเฟิร์มแวร์ (Firmware Version) เครื่องได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้วหรือยัง พร้อมดูหมายเลขซีเรียล (Serial Number) ประจำเครื่อง
- สามารถดูคุณภาพของสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi Coverage Map) ในแต่ละพื้นที่ของห้องเราได้
- สามารถแจ้งบอกตำแหน่งปัจจุบันของตัวเครื่องด้วยเสียง ได้ผ่านแอปพลิเคชัน (Find my DEEBOT)
หมายเหตุ : ความสามารถต่างๆ ของแอป ECOVACS อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ตลอดเวลา เนื่องจากแอปพลิเคชัน มีการพัฒนาและอัพเดทอย่างต่อเนื่อง
คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) เกี่ยวกับการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
1. ฝุ่นที่ได้มาจากการดูด 2 วันมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ?
ภาพที่เห็นด้านบน คือปริมาณฝุ่นที่สะสมเอาไว้ในการดูดทั้งหมด 4 ครั้ง (ดูดทั้ง 2 ชั้น เป็นเวลา 2 วันติดกัน) ถ้าดึงเอาแผ่นกรองอากาศ HEPA ออกมา และจะพบฝุ่นถูดอัดติดอยู่กับแผ่นกรองชั้นต้น ด้านใน ทั้งฝุ่นขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ (เส้นผมต่างๆ) ก็ถูกดูดเข้ามาด้วยเช่นกัน
2. ข้อแตกต่างของความสามารถเสริมพิเศษ ในการทำความสะอาดทั้ง 3 อย่างเป็นอย่างไร ?
เครื่องนี้มีความสามารถเสริมพิเศษที่น่าสนใจอีก 3 อย่างด้วยกัน คือ โหมดทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่ โหมดทำความสะอาดแบบกำหนดจุดเอง และการสร้างกำแพงจำลอง ซึ่งทั้ง 3 ความสามารถนี้มีจุดที่เหมือนกันคือ จะต้องปล่อยให้เครื่องวิ่งทำความสามารถในโหมดอัตโนมัติ (AUTO Mode) เพื่อสร้างแผนที่จำลองของห้อง ให้เรียบร้อยเสียก่อน ถึงจะสามารถใช้งานความสามารถทั้ง 3 นี้ได้ โดยรายละเอียดมีอยู่ดังต่อไปนี้
1. Area Clean Mode (โหมดทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่) : เครื่องจะประมวลผลจำแนก แยกพื้นที่ต่างๆ มาให้เราเองโดยอัตโนมัติ ตามความเหมาะสมว่าพื้นที่ส่วนไหนคือ โดยจะตั้งชื่อพื้นที่แบบ ไล่เรียงตามลำดับตัวอักษร A B C D E … ไปเรื่อยๆ พร้อมแยกสี ของแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน
โดย เราสามารถเลือกพื้นที่ได้เองว่าพื้นที่ตรงไหนที่ต้องการจะทำความสะอาดหรือไม่ทำ (สามารถเลือกได้มากกว่า 1 พื้นที่) และเมื่อสั่งเริ่มทำงาน เครื่องจะไปทำเฉพาะพื้นที่ที่เราเลือก และตรงดิ่งกลับแท่นชาร์จทันทีเมื่อเสร็จ โดยไม่สนใจพื้นที่อื่นๆ เลย
2. Custom Clean Mode (โหมดทำความสะอาดแบบกำหนดจุดเอง) : หน้าตาจะคล้ายๆ กับ โหมดทำความสะอาดเฉพาะพื้นที่ โดยแสดงพื้นที่ต่างๆ ขึ้นมาเป็นตัวอักษร
โดยเราสามารถตีกรอบสี่เหลี่ยมภายในแอปฯ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องการให้เครื่องวิ่งเข้าไปทำความสะอาด ได้เอง (ขยายให้กว้างขึ้น หรือเล็กลงก็ได้) พร้อมกับกำหนดได้อีกว่าจะความสะอาดแค่รอบเดียว (Once) หรือสองรอบ (Twice)
3. Virtual Boundary (การสร้างกำแพงจำลอง) : รูปแบบการแสดงแผนที่จำลองของห้องก็ยังคงเหมือนกับ 2 ความสามารถด้านบน
โดยอันนี้จะเป็นการลากเส้นกั้น หรือตีกรอบ (เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม) หน้าพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เครื่องเข้าไปทำความสะอาด โดยสามารถตีได้หลายเส้น และหลายกรอบ
3. ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน มีเสียงดังมากน้อยแค่ไหน ?
เครื่องนี้มีระดับของเสียงขณะที่กำลังทำงานอยู่ที่ ประมาณ 55 เดซิเบล (dB) เท่านั้น ถือว่าเงียบมากๆ ไม่ดังเลย เสียงอยู่ในระดับบทสนทนา (Conversation) ที่พูดคุยกับปกติ เท่านั้นเอง
ค่านี้ ถือว่าต่ำกว่าสเปคที่ทางผู้ผลิตเคลมเอาไว้ที่ 65 เดซิเบลเสียอีก โดยเครื่องนี้มีระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่น เพียงแค่ระดับเดียวเท่านั้น
4. สามารถเก็บ แผนที่จำลองของห้อง ไว้มากกว่า 1 แผนที่ได้หรือไม่ ?
“ไม่ได้” เครื่องสามารถจดจำแผ่นที่จำลองของห้องได้ที่ละชุดเท่านั้น ถ้าเกิดว่าย้ายบ้าน หรือย้ายเครื่องไปดูดชั้นอื่น ก็จะต้องสร้างแผนที่จำลองของห้องใหม่อีกครั้ง
5. สามารถติดต่อสั่งซื้อ หรือดูสินค้าตัวจริง ของ ECOVACS DEEBOT OZMO 930 ได้ที่ไหนบ้าง ?
คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930 นี้ได้ผ่านทางหลายช่องทาง ถ้าเป็นช่องทางหน้าร้าน (เห็นสินค้าตัวจริง) สามารถไปได้ที่ห้างโฮมโปร (HomePro) โดยคุณสามารถสอบถามสาขาที่จัดจำหน่าย และโปรโมชั่นต่างๆ ได้ผ่านทาง Inbox ของทางเฟสบุ๊คเพจ ECOVACS ROBOTICS ตามกรอบด้านล่าง
บทสรุปหลังการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ECOVACS DEEBOT OZMO 930
ข้อดีทั่วไป 🙂
- สามารถวิ่งเข้าออกห้องต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว และกลับแท่นชาร์จได้อย่างแม่นยำ
- เครื่องวิ่งทำความสะอาดค่อนข้างเร็ว ไม่เฉื่อย แต่วิ่งครบทุกตารางนิ้ว
- การวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับอย่างเช่นธรณีประตู หรือแม้แต่ระหว่างพรมกับพื้นกระเบื้อง สามารถทำได้ดี ไม่ติดขัด (แต่ความสูงไม่ควรเกิน 1.6 เซนติเมตร)
- การนำถังน้ำออกจากเครื่อง สามารถบีบสลักล็อคแล้วดึงออกมาได้เลย โดยไม่ต้องยก หรือคว่ำตัวเครื่องให้เมื่อย
- อุปกรณ์เสริม และอะไหล่สำรอง ให้มาเยอะดี อุปกรณ์สิ้นเปลืองอย่างแผ่นกรองอากาศ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ หรือแม้แต่ แปรงกวาดข้าง จะให้มาสำรองด้วยเช่นกัน
- อุปกรณ์ป้องกันตัวเครื่อง ให้มาเยอะมากๆ เพื่อป้องกันตัวเครื่องเกิดความเสียหาย ขณะขนส่ง หรือขนย้ายเครื่อง
- ระบบรายงานการทำงานด้วยเสียงเสียงดังฟังชัด (เสียงภาษาไทยก็ฟังชัดมากเช่นกัน) แต่บางทีก็แอบตกใจนึกว่ามีใครอยู่ในบ้านด้วยอีกคน
ข้อดีในส่วนของแอปพลิเคชัน 🙂
- สามารถแสดงแผนที่จำลองของห้องแบบสดๆ บนแอปพลิเคชัน ขณะกำลังทำความสะอาด จะเห็นเลยว่าห้องต่างๆ เรามีหน้าตาเป็นอย่างไร พร้อมทั้งจำแนกแยกด้วยว่าส่วนไหนเป็นพรม ส่วนไหนเป็นพื้นปกติ
- การตอบสนองของแอปพลิเคชัน ที่ส่งคำสั่ง หรือข้อมูลไปยังตัวเครื่องค่อนข้างรวดเร็วมาก กดปุ๊บก็ตอบสนองทันที
- สามารถอัพเดทซอฟต์แวร์ (เฟิร์มแวร์) จากผู้พัฒนาที่อาจจะออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงให้การทำงานของเครื่องได้ดีขึ้น บนตัวเครื่องได้ผ่านแอปพลิเคชันเลย
- ความสามารถห้ามรบกวน ถือว่าดีงาม เพราะมันจะปิดไฟที่ตัวเครื่อง ปิดเสียง ไม่ให้รบกวนการนอนหลับพักผ่อน
- ต่อให้ไฟฟ้าดับ อินเทอร์เน็ตหลุด หรือแบตเตอรี่หมด แผนที่จำลองของห้องของคุณจะไม่หายไปไหนแน่นอน เพราะมันถูกเก็บในหน่วยความจำถาวร ที่อยู่ในตัวเครื่อง
- การใช้งานแอปพลิเคชันโดยรวมถือว่าไม่ได้ซับซ้อน เมนูดูไม่งง
ข้อเสีย 🙁
- ไม่สามารถปรับระดับความแรงของพัดลมดูดฝุ่นได้เอง (มีความแรงของพัดลมระดับเดียวเท่านั้น)
- ตัวเครื่องรองรับขนาดพื้นที่ได้ 150 ตารางเมตร (ซึ่งก็ถือว่ามากพอสมควรแล้ว) แต่ถ้าคุณมีพื้นที่มากกว่านั้น อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการจดจำแผนที่จำลองของห้องได้