หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7
กลับมาอีกแล้วครับ สำหรับการรีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 เป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจากค่าย Roborock แบรนด์อุปกรณ์ทำความสะอาดสัญชาติจีน ที่มีทาง Xiaomi เข้ามาถือหุ้น มีส่วนร่วมกับแบรนด์นี้ด้วย ที่น่าสนใจคือ แบรนด์นี้จะขยันออกรุ่นใหม่เป็นประจำเกือบทุกปีอยู่แล้ว (ยังกะ iPhone)
และที่สำคัญคือ ในแต่ละรุ่นที่เขาออกมา จะมีการสร้างเอกลักษณ์ ในด้านของความสามารถใหม่ๆ ออกมาอย่างชัดเจน อย่างเช่นตัว Roborock S6 MaxV รุ่นก่อน ที่ผมเคยรีวิวไป จะมี ที่เป็นการนำทางด้วยเลเซอร์แบบ LiDAR พร้อมกล้องคู่ ที่จำแนกวัตถุ ที่อยู่ด้านหน้าได้ แถมประมวลผลร่วมกับ AI พอมาตัวนี้ (S7) ก็มีความสามารถเด่นใหม่มาให้ตื่นตาตื่นใจกันอีก ลองมาดูกันเลย
โดย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 เป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum Cleaner) ที่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้มากมาย เช่น ระบบการถูพื้นแบบสั่นสะเทือนแบบโซนิค ช่วยให้การถูพื้นสะอาดมากยิ่งขึ้น ขจัดคราบได้ดีขึ้น (นี่คือตัวแรก ที่ผมเคยพบ) แถมยังมี ระบบยกผ้าม็อบถูพื้นขึ้นอัจฉริยะ ช่วยหลีกเลี่ยงการถูพื้นเปียกบนพื้นพรม และอีกอันที่จัดว่าเด็ดมากๆ คือออปชัน ระบบทำความสะอาดถังเก็บฝุ่นเอง ซึ่งจะช่วยลดในเรื่องของการดูแลรักษาเครื่องให้น้อยลงไปอีก เราลองมาดูเนื้อหาต่อกันได้เลย
- รู้จักผลิตภัณฑ์ Roborock
- แกะกล่องผลิตภัณฑ์
- อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์
- ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของเครื่อง
- คุณสมบัติ และ ความสามารถของตัวเครื่อง
- สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
- เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งานจริง
- คุณสมบัติ และ ความสามารถของตัวแอปพลิเคชัน Roborock
- สภาพหลังการใช้งาน
- ราคาอะไหล่ที่สามารถเปลี่ยนได้
- การติดต่อสั่งซื้อ และ การรับประกัน
- บทสรุปหลังการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย (ใครที่ไม่อยากอ่านรีวิวยาวๆ ข้ามมาอ่านที่นี่ได้เลย)
ด้านล่างนี้คือคลิปวิดีโอ รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 ที่มีความยาวเกือบๆ 20 นาที มีการแนะนำความสามารถที่เด่นๆ อย่างละเอียด พร้อมพาทัวร์ชม ส่วนประกอบของตัวเครื่อง สาธิตการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Roborock ฯลฯ ใครพอมีเวลา ลองรับชมคลิปนี้ก่อนอ่านรีวิวได้เลยครับ จะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
แกะกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7
กล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 มีขนาดมิติอยู่ที่ ยาว (L) 390 x กว้าง (W) 145 x สูง (H) 470 มิลลิเมตร ในขณะที่น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) อยู่ที่ประมาณ 7.0 กิโลกรัม (มากกว่ารุ่น S6 MaxV อยู่ 1.2 กิโลกรัม) โดยที่ตัวกล่องมาในธีมสีขาว และเทา ผสมผสานกับสีดำ ที่เป็นสีของตัวเครื่อง และสีแดง ตามสไตล์ของแบรนด์ Roborock นั่นเอง เราลองมาดูรายละเอียดในแต่ละด้านของกล่องผลิตภัณฑ์กันเลย
ด้านหน้ากล่อง : มุมขวาบนเป็นชื่อยี่ห้อ พร้อมรุ่น (Roborock S7) ในขณะที่มุมซ้ายบนเป็น คุณสมบัติ และความสามารถเด่น คร่าวๆ 6 อย่าง ถัดลงมาตรงกลางคือรูปตัวเครื่องสีขาวที่วางอยู่เด่นเป็นสง่า พร้อมกับโลโก้ รางวัล reddot winner 2021 ที่เป็นรางวัลด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม มาประดับบารมี ในขณะที่ด้านขวามือคือหน้าจอของ แอปพลิเคชัน Roborock ที่สามารถใช้ควบคุม หรือสั่งงานเครื่องนี้ได้อีกด้วยเช่นกัน
ด้านหลังกล่อง : รูปอธิบาย คุณสมบัติ และความสามารถ ของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบการนำทาง การสร้างแผนที่ การถูพื้น และความสามารถเสริมอื่นๆ รวมไปถึง สเปกเครื่อง หรือข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ที่อธิบายได้อย่างชัดเจน ทั้งข้อความ และรูปภาพประกอบ
ด้านซ้ายกล่อง : บอกข้อมูล อุปกรณ์ทั้งหมดที่ให้มาภายในกล่องผลิตภัณฑ์ จำนวนทั้งหมด 6 ชิ้น ที่นำเสนอในรูปแบบของภาพเวกเตอร์ พร้อมภาษาอังกฤษกำกับอย่างชัดเจน ในขณะที่ด้านล่างสุดคือโลโก้ของแบรนด์ Roborock นั่นเอง
ด้านขวากล่อง : ข้อมูลบอก คุณสมบัติ และความสามารถเด่น ทั้ง 6 ข้อ (เหมือนกับด้านหน้ากล่อง) พร้อมโลโก้ Roborock ที่อยู่ด้านล่าง
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7
อุปกรณ์ที่มีให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์มีอยู่ทั้งหมด 6 ชิ้นหลักๆ ด้วยกันเท่านั้น ก็ถือว่าน้อยกว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทั่วๆ ไป ที่ผมเคยรีวิวมาเหมือนกัน แต่ถ้าดูกันดีๆ จะพบว่า อะไหล่สำรอง ของอุปกรณ์สิ้นเปลืองแต่ละชิ้น ไม่ได้ให้มาด้วย อย่างเช่น ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ และ แผ่นกรองอากาศ HEPA เป็นต้น ทีนี้เราลองมาดูกันดีกว่าว่า มีอะไรมาให้บ้าง
1. Roborock S7 (หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น x 1 เครื่อง)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทรงกลมสีขาว มีความสูงอยู่ที่ 9.65 เซนติเมตร (ถือว่าเป็นความสูงปกติ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ระบบนำทางด้วยเลเซอร์) ในขณะที่น้ำหนักเครื่องเปล่า (ยังไม่รวมการติดตั้งถังน้ำ) อยู่ที่ประมาณ 4.7 กิโลกรัม
จุดที่แตกต่าง จากรุ่น S6 MaxV ที่รู้สึกได้อย่างชัดเจนคือ ตัวเครื่องมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมากกว่ารุ่น อยู่ประมาณ 1 กิโลกรัม แต่ขนาดความจุของแบตเตอรี่เท่ากัน (5,200 มิลลิแอมป์) แถมขนาดมิตินี่แทบจะเท่ากันเลย (ต่างกันในหน่วยมิลลิเมตรเท่านั้น !) โดยจุดที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนเลยคือ ตัวเครื่องดูมีความแข็งแรงกว่ามาก อาทิ ฝาปิดด้านบน ก็แข็งแรงกว่าอย่างชัดเจน (ส่วนประกอบด้านบน และด้านข้างของตัวเครื่อง)
2. Charge Base (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)
แท่นชาร์จ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Charge Base” (ทาง Roborock เรียกว่า “Charging Dock”) เป็นสีขาว เหมือนกับสีของตัวเครื่อง มีน้ำหนัก 0.317 กิโลกรัม ในขณะที่ความสูงอยู่ที่ 9.80 เซนติเมตร และมีรูปทรง ที่ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจาก หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock ในรุ่นก่อนๆ เท่าไหร่นัก โด้านล่างก็มีแถบยางกันลื่นเอาไว้ให้อยู่ เพื่อป้องกันแท่นชาร์จดิ้นไปดิ้นมา แต่ก็ยังมี แถบเทปกาว (ลอกออกก็ได้ หรือไม่ลอกออกก็ได้) เพิ่มมาให้อีก 1 แถบ เพื่อให้ ติดหนึบยึดกับพื้นนั่นเอง
แต่มีจุดที่เพิ่มเข้ามาจุดนึง ที่ผมชอบมากๆ เลยคือ ด้านหน้าของมัน ตรงก่อนที่จะถึงจุดสัมผัสแท่นชาร์จ จะมีขนแปรงแพลม ขึ้นมา 2 หย่อม ซึ่งจริงๆ แล้วมัน ไม่ใช่ข้อผิดพลาดทางการผลิตของเจ้าอุปกรณ์นี้แต่อย่างใด แต่มันมีหน้าที่เอาไว้ปัดเศษฝุ่นละออง ที่อาจจะติดค้างอยู่ตรง จุดสัมผัสแท่นชาร์จ (Charging Contact) ของตัวเครื่องให้สะอาด ก่อน* ที่จะเข้าไปสัมผัสกับขั้วชาร์จไฟ (Charge Pin) ที่อยู่ด้านในของแท่นชาร์จนั่นเอง
หมายเหตุ* : การที่จุดสัมผัสแท่นชาร์จสกปรก เป็นสาเหตหลัก หรืออันดับต้นๆ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ชาร์จไฟไม่เข้า
3. Power Cable (สายไฟ x 1 เส้น)
สายไฟความยาวประมาณ 100 เซนติเมตร (1 เมตร) ถูกบรรจุอยู่ในซองพลาสติกใสอย่างดี โดยที่ไม่มีชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟมาให้ เนื่องจากกระบวนการแปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Power) หรือไฟบ้าน ไปเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC Power) หรือไฟที่ใช้ภายในตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนั้นอยู่ภายในแท่นชาร์จ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งสายไฟทาง Roborock เขาใช้ของยี่ห้อ SUCOFINDO แบรนด์ดังจากประเทศอินโดนิเซีย (Indonesia) ซึ่งเป็นสายไฟที่ผ่านมาตรฐานสากลอย่าง KEMA-KEUR โดยตัวสายไฟถูกพับ และรัดด้วยสายรัดตีนตุ๊กแก พร้อมพิมพ์ชื่อว่า “Roborock” และใช้หัวปลั๊กกลม 2 ขา (Plug Type E)
4. VibraRise Mop Cloth Mount (แผ่นติดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ VibraRise x 1 แผ่น)
โดยปกติแล้ว แผ่นติดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cloth Pad หรือ Mop Cloth Mount) จะไม่ค่อยเป็นพระเอกของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ไม่ว่าจะยี่ห้อๆ หรือรุ่นใดๆ เท่าไหร่นัก เพราะมันก็เป็นแค่ตัวกลาง ที่เอาไว้เชื่อมกันระหว่าง ผ้าม็อบถูพื้นฯ เท่านั้นเอง (ซึ่งตัวนี้ก็ทำหน้าที่นั้นเช่นเดียวกัน)
แต่ว่าสำหรับแผ่นติดผ้าม็อบฯ ของรุ่นนี้ จะมีความพิเศษอย่างนึงตรงที่ ที่ตำแหน่งตรงกลางของมัน จะสังเกตเห็นแผ่นพลาสติกผืนผ้า ที่ถูกแยกเป็นอิสระจากแผ่นผืนใหญ่ (ที่อยู่รอบๆ) แถมแผ่นนี้ มันยังสามารถขยับไปมาได้ในแนวนอนอีกด้วย
การที่มันเป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า มันมีเอาไว้เพื่อทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนแบบโซนิค ที่เป็น เทคโนโลยี VibraRise™ ซึ่งมันจะรับแรงสั่นสะเทือนมาจาก แท่งโลหะสีเงินๆ ที่ยื่นออกมาในส่วนของ พื้นที่ติดตั้งผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ที่อยู่ ด้านล่างของตัวเครื่อง นั่นเอง และที่สำคัญมันค่อนข้างแข็งแรงมาก (จับแล้วรู้สึกเลยว่าเป็นพลาสติกที่หนา) ลองชั่งน้ำหนักดูปรากฏว่าหนัก 0.238 กิโลกรัม กันเลยทีเดียว
5. VibraRise Mop Cloth (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ VibraRise x 1 ผืน)
ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ VibraRise ทรงครึ่งวงรี (Half Oval Shape) ที่เป็นทรงนี้ก็เพื่อให้มีส่วนโค้งรับกับท้ายเครื่อง โดยมันมีขนาดความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร (1 ฟุต) ถ้าดูผิวเผินก็เหมือนกับผ้าม็อบถูพื้นฯ ทั่วๆ ไป แต่ถ้าสังเกตดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพลิกผ้าม็อบถูพื้นฯ ไปได้ด้านจะเห็นชัดว่า ที่ตรงกลางของแผ่น จะถูกเย็บให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (กว้าง 3.8 x ยาว 17.5 เซนติเมตร) แยกเป็นอิสระจาก จากส่วนอื่นๆ อย่างชัดเจน สำหรับสาเหตุก็คือ มันจะไปรับกับตัวแผ่นติดผ้าม็อบถูพื้นฯ ที่ติดอยู่ด้านบน ให้สามารถสั่นได้นั่นเอง
6. Machine Documents (เอกสารประกอบเครื่อง x 1 ชุด)
เอกสารประกอบเครื่อง ถือเป็นอีกจุดที่น่าชื่นชมกับทาง Roborock เพราะว่าเขามาให้แบบเคลียร์ชัดเจนมากๆ มาเป็นเล่มหนาเตอะ ชนิดที่เรียกว่า ทุกอย่างครบจบในเล่มนี้เล่มเดียว โดยไม่ต้องไปอ่านออนไลน์ (แต่บนออนไลน์เขาก็มีให้ดาวน์โหลดนะ) เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่ถนัดอยากจะอ่านออนไลน์
-
- User Manual (หนังสือคู่มือการใช้งาน x 1 เล่ม) : หนังสือคู่มือการใช้งานพิมพ์ขาวดำ พร้อมรูปประกอบ รูปเล่มหนาเตอะ มีทั้งหมด 8 ภาษา (ไม่มีภาษาไทย) ทั้งหมด 369 หน้า
- App Connect to Network Guide (คู่มือการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน กับเครือข่าย x 1 เล่ม) : หนังสือแนะนำการเชื่อมต่อตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กับแอปพลิเคชัน Roborock บนสมาร์ทโฟน มีทั้งหมด 47 หน้า (มี 8 ภาษาเช่นเดียวกัน)
ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7
รายละเอียด (Specification) |
|
ขนาดมิติ (Dimension) |
353 x 350x 96.5 มิลลิเมตร |
น้ำหนัก (Weight) |
4.7 กิโลกรัม (ข้อมูลจากสเปก และชั่งเอง เท่ากัน) |
ไฟเข้า (Input) |
AC 100-240V 50/60 Hz |
ไฟออก (Input) |
DC 20V 50/60 Hz (1.2A) |
ประเภทของแบตเตอรี่ (Battery Type) |
Li-Ion |
ปริมาณความจุแบตเตอรี่ (Battery Capacity) |
5,200 mAh |
ระดับเสียง (Noise Level) |
ประมาณ 67 dB. (เดซิเบล) (ข้อมูลจากสเปกของผลิตภัณฑ์) |
ขนาดความจุกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (ลิตร) (Dustbin Capacity – Litre) |
|
ขนาดความจุของถังน้ำ (ลิตร) (Water Tank Capacity – Litre) |
|
คุณสมบัติ และ ความสามารถของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7
จริงๆ แล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 นี้ มีความสามารถเยอะมากๆ ถ้าจะให้บรรยายกันครบ คงจะเป็นรีวิวที่ยาวมากๆ เป็นแน่ ด้วยเหตุนี้เอง ในที่นี้จึงขอสรุป เฉพาะความสามารถที่เด่นๆ หรือถูกปรับปรุงเพิ่มขึ้นมาจาก ความสามารถของ Roborock S6 MaxV ที่เคยรีวิวมาดีกว่าครับ
1. VibraRise™ Technology (เทคโนโลยีการถูพื้นแบบสั่นสะเทือน)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 มีเพิ่มความสามารถของการถูพื้น ให้สูงขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี การถูพื้นโดยใช้แรงสั่นสะเทือนแบบโซนิค (Sonic Vibration Technology) ที่ทางแบรนด์ Roborock เรียกว่าเทคโนโลยี VibraRise™ เข้ามาใช้ มันสามารถเพิ่มแรงกดลงบนพื้นกว่า 600 กรัม พร้อมกับสร้างการสั่นสะเทือน ได้กว่า 3,000 ครั้งต่อนาที (ถือเป็นตัวแรกของผม ที่เคยรีวิวลงบน Thanop.com เลยก็ว่าได้) ส่งผลให้มันมีประสิทธิภาพของการถูพื้นดีขึ้น 4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S5 ซึ่งเป็นรุ่นก่อน
โดยประโยชน์ของระบบสั่นสะเทือนนี้ ก็เพื่อเป็นการขจัดคราบสิ่งสกปรก ที่ฝังแน่นอยู่บนพื้น อย่าง คราบรอยเท้าของคน หรือสัตว์เลี้ยงที่อยู่บนพื้นกระเบื้อง คราบกาแฟที่หกบนพื้น คราบเหงื่อที่หยดลงบนพื้นแล้วแห้ง ให้หลุดออกไปด้วย เพราะบางสถานการณ์ การดูดฝุ่นอย่างเดียว นั้นอาจจะไม่เพียงพอ ต่อการที่ทำให้พื้นสะอาดแบบหมดจด
2. Intelligent Mop Lifting with Ultrasonic Carpet Recognition (ระบบยกผ้าม็อบถูพื้นขึ้นอัจฉริยะ ด้วยเซนเซอร์อัลตร้าโซนิค)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 นี้มีระบบการตรวจจับว่าส่วนไหนคือพื้นเนื้อแข็ง (Hard Floor) หรือว่าพื้นพรม (Carpet) ด้วยการปล่อยคลื่นเสียงอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic Sound) ที่เป็นคลื่นเสียงความถี่สูง ออกมาจากเซนเซอร์ตรวจจับพรม (Carpet Detection Sensor) ที่ถูกติดตั้งอยู่ตรง ด้านล่าง (ข้างใต้) ของตัวเครื่อง เพื่อแยกแยะชนิดของพื้น แถมยังช่วยเพิ่มความแม่นยำ ในการทำงานให้สูงมากขึ้นไปอีก
โดยเครื่องนี้สามารถยก (Lift) เฉพาะส่วนของผ้าม็อบถูพื้นฯ (Mop Module) ให้สูงขึ้นจากพื้นพรม ประมาณ 5 มิลลิเมตร (0.5 เซนติเมตร) เพื่อหลีกเลี่ยงการถูพื้นด้วยผ้าม็อบฯ บนพื้นพรม (แนะนำให้เป็นพรมขนสั้น ที่มีความยาวของขนไม่เกิน 4 มิลลิเมตร) ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยป้องกันปัญหาพรมเปียกแฉะ จนเกิดการอับชื้น ได้โดยไม่ต้องถอดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ออก เหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในสมัยก่อนๆ
3. HyperForce Suction (พลังดูด HyperForce ดูดฝุ่นขนาดเล็ก-ใหญ่ ได้บนทุกสภาพพื้นผิว)
ระบบ HyperForce Suction คือเทคโนโลยี ของทาง Roborock ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง แปรงกวาดข้าง แปรงกวาดหลัก และ พัดลมดูดอากาศ ที่อยู่ภายในตัวเครื่อง ด้วยแรงดูด 2,500 ปาสคาล (Pa) จึงทำให้มันสามารถดูดฝุ่นขนาดเล็ก-ใหญ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเศษฝุ่นละเอียด เศษขี้ยางลบ เศษขนมขนมขบเคี้ยว รวมไปถึงเส้นผม หรือแม้แต่ขนสัตว์ ของสัตว์เลี้ยง ที่ยาวๆ ได้บนทุกสภาพพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็น พื้นเนื้อแข็ง หรือพื้นพรม เป็นต้น
4. All-New All-Rubber Brush (แปรงกวาดหลักปรับปรุงใหม่)
เครื่องนี้มีการปรับปรุงแปรงกวาดหลัก (Main Brush) ที่เป็นแปรงกวาดตัวสำคัญขนาดใหญ่ ที่ถูกติดตั้งอยู่ที่ ด้านล่างของตัวเครื่อง ให้เป็นแปรงยางใหม่ทั้งหมด* โดยทางแบรนด์ เขาใช้คำว่า “All-New All-Rubber Brush” นั่นหมายความว่า มันจะประกอบด้วยยางล้วนๆ 100% (ตัดส่วนของแปรงขน ออกไป) และด้วยความมันเป็นแปรงยางล้วนๆ นั้น เราก็จะได้ประโยชน์ในเรื่องของการปราศจากสิ่งสกปรก อย่างเช่น เส้นผม หรือ ขนสัตว์ ที่ยาวๆ มาติดพันอยู่ที่บริเวณขนแปรงจนกระทบการทำงานตัวเครื่องได้อีกด้วย
ในส่วนของการออกแบบนั้น ก็ยังคงเป็นลักษณะ “เกลียว (Spiral)” เหมือนเดิม และก็มีการใส่ครีบ (Fin) และปุ่ม (Stud) เสริมลงไปในเนื้อแปรง เพื่อช่วยในเรื่องของการดูดเศษสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในตัวเครื่องที่มีขนาดเล็ก-ใหญ่ สั้น-ยาว ให้เข้าไปภายในตัวเครื่องให้ง่ายขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับตัวแปรง ให้มากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ* : เดิมทีตัว Roborock S6 MaxV จะเป็น แปรงผสมระหว่างขน และยาง แบบเกลียว ซึ่งจะมีปัญหา (ที่ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องหนักอกหนักใจเท่าไหร่นัก ก็ถือเส้นผม หรือขนสัตว์ ชนไปพันติดที่ตัวแปรง (Hair Tangle) ต้องหมั่นดูแลด้วยการ นำเอาเส้นผมออกมาหลายครั้ง)
5. Upgraded Floating Brush (แปรงกวาดหลัก ถูกปรับปรุงให้แนบชิดพื้นมากขึ้น)
ในส่วนของพื้นที่ที่ติดตั้งแปรงกวาดหลัก (Main Brush Installation Area) ได้ถูกออกแบบ และอัปเกรดใหม่ ใน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roborock S7 ให้มันแนบชิดกับพื้น (Close to the Floor) ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมันจะสามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพสูง ในทุกสภาพของพื้นผิว ถึงแม้ว่าพื้นที่ตรงนั้นจะไม่เรียบก็ตาม
โดยมันจะสามารถเคลื่อนไหวยืดหยุ่น หรือให้ตัวได้ตามพื้นชนิดต่างๆ ได้อย่างอิสระ ทำให้มันสามารถทำความสะอาด ดูดเศษฝุ่น หรือสิ่งสกปรกตรง พื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นกระเบื้องแต่ละแผ่น (ตรงร่องยาแนว) รวมไปถึง พื้นไม้ชนิดต่างๆ หรือพื้นที่ไม่เรียบ ขรุขระ ได้อย่างหมดจด
6. Other Interesting Features (คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ)
- PreciSense™ LiDAR Navigation (นำทางด้วยเลเซอร์แบบ LiDAR เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงที่สุด)
- Washable E11 Rated Air Filter (แผ่นกรองอากาศที่สามารถนำไปล้างน้ำได้)
- Adaptive Route Algorithms (อัลกอริทึมที่สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางได้อยู่ตลอด ตามความเหมาะสม)
- Auto Top-Up (การชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มอัตโนมัติ และกลับออกไปทำความสะอาดต่อ ในพื้นที่ที่เหลือ)
- Child Lock (มีโหมดล็อกป้องกันเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง มากดปุ่มเล่น บนตัวเครื่อง)
- Status Indicator Lights (ไฟแสดงสถานะของตัวเครื่อง ที่สวยงาม แต่ก็สามารถสั่งปิดได้ผ่านแอปพลิเคชัน)
7. Auto-Empty Dock System (ระบบทำความสะอาดถังเก็บฝุ่นด้วยตัวเอง)
ออปชันเสริม ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มต่างหาก
หากคุณขี้เกียจที่จะนำกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ที่ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ออกมาเทฝุ่นทิ้งบ่อยๆ (เพราะปกติจะต้องนำมาเททิ้งสักประมาณ 2-3 วันครั้ง) เดี๋ยวนี้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นหลายๆ รุ่น หลายๆ ยี่ห้อ เขาได้มีออปชันให้สามารถทำความสะอาดถังเก็บฝุ่นได้ด้วยตัวเอง (Self-Emptying Dustbin) กันออกมาเยอะแล้ว เพราะเหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน หรือคอนโดมิเนียม เป็นเวลานานๆ ซึ่งเราสามารถทำให้เปิดเครื่องทิ้งเอาไว้ โดยไม่ตัวดูแลอะไรเลย ได้กันเป็นเดือนๆ
และแน่นอนว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 นี้ก็มี แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Auto-Empty Dock) ให้มาเป็นออปชันเสริม (ขายแยกต่างหาก) อีกด้วยเช่นกัน
อันที่จริงแล้ว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ นี้มันก็คือ แท่นชาร์จ (Charge Base) ดีๆ นี่เอง แต่ว่ามันมีความสามารถของการ ดูดเอาฝุ่นจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองที่เก็บเอาไว้อยู่ในตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ออกมาเก็บภายใน ถังเก็บฝุ่นขนาดใหญ่ ที่ติดตั้งอยู่ที่แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ นั่นเอง (อารมณ์เหมือนเป็นไซโลขนาดย่อมๆ เลย)
รีวิว แท่นเก็บฝุ่นอัตโนมัติ (Auto-Empty Dock) ของ Roborock S7 |
โดยหลักการการทำงานของมันก็คือ มันจะทำการดูดฝุ่นที่อยู่ในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง โดยอัตโนมัติ ทันทีที่ เครื่องวิ่งเข้าสู่แท่นชาร์จ (หรือเสร็จสิ้นภารกิจ การทำความสะอาด) ซึ่งถ้าดูจากสเปกเครื่องนี้แล้ว พบว่าเราจะไม่ต้องเอาขยะไปทิ้งได้เป็นเวลานานกว่า 2 เดือนกันเลยทีเดียว
สอบถามครับ อาจารย์
ควรซื้อ Roborock S6 หรือ S7 ดีครับ
ควรจะไปที่ Roborock S7 เลยดีกว่าครับ เป็นรุ่นที่ใหม่กว่า และเทคโนโลยีสูงกว่าครับ แต่ถ้าพอมีงบประมาณ ให้ไปที่ Roborock S7 MaxV ไปเลยครับ คุ้มกว่าเยอะครับ
รุ่น S6 max ใช้แท่นเก็บฝุ่นได้มั้ยครับ
เพื่อจะซื้อรุ่นเก่ามาใช้ร่วมกับแท่นเก็บฝุ่นครับ
อยากให้รีวิว mi essential vacuum mop ครับ