← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)
สำรวจรอบๆ เครื่อง BISSELL Vac and Steam
ในส่วนของ เครื่องดูดฝุ่นและถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค BISSELL Vac and Steam จัดว่ามีมุมมองอยู่ด้านเดียว ไม่มีด้านล่าง เพราะด้านล่าง หรือที่เรียกว่า “ส่วนของฐานเครื่อง (Foot of Unit)” จะมีแค่ ส่วนของหัวดูดฝุ่น และ ส่วนของชุดถูไอน้ำ ที่มีแผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ เอาไว้สัมผัสกับพื้นห้องอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีด้านเดียวก็จริง แต่ส่วนประกอบค่อนข้างเยอะพอสมควร จากบนลงล่าง มาดูกันเลย (ตามหมายเลขที่กำกับในรูป)
- Handle (ด้ามจับ) : ส่วนบนสุดของตัวเครื่อง มีขนาดใหญ่ หยิบจับถนัดมือได้ทุกองศา ด้านหลังของด้ามจับจะมี ปุ่มควบคุมระบบไอน้ำ (ตำแหน่งหมายเลข 2) และ ด้านหน้าก็จะเป็น ปุ่มควบคุมเครื่องดิจิตอล (ตำแหน่งหมายเลข 3) ให้สามารถกดสั่งงานได้อย่างถนัดมือเช่นกัน
- Steam Trigger (ปุ่มควบคุมระบบไอน้ำ) : ปุ่มขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่ด้านหลังส่วนของด้ามจับ ใช้เปิด-ปิด ระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค สามารถบีบเพื่อเปิดระบบ หรือ คลายเพื่อปิดระบบ ได้ตามต้องการ
- Easy Touch Digital Controls (ปุ่มควบคุมเครื่องดิจิตอล) : โดยหลักๆ มีแค่ 3 ปุ่มเท่านั้น อยู่ด้านหน้าของด้ามจับ ได้แก่ (เรียงจากบนลงล่าง)
- VAC Button (ปุ่ม Vacuum) : เลือกเปิด-ปิดระบบดูดฝุ่น
- LO Button (ปุ่ม Low Steam) : เลือกปรับพลังไอน้ำระดับต่ำ
- HI Button (ปุ่ม High Steam) : เลือกปรับพลังไอน้ำระดับสูง
- Power Cord Clip (ด้ามพันสายไฟ) : แท่งพลาสติดยื่นออกมา มี 2 จุด คือ หลังด้ามจับ และ ส่วนของตัวเครื่อง ใช้พันสายไฟที่ยาวเหยียด ขนาด 7.6 เมตร ให้ม้วนพับอย่างเป็นระเบียบ ไม่ระเกะระกะ ขณะไม่ได้ใช้งาน
- Water Cup Clip On Area (พื้นที่ติดถ้วยใส่น้ำ) : ถ้วยใส่น้ำสามารถนำมาติดกับตัวเครื่อง ในส่วนก้านของด้ามจับได้เช่นกัน (ตำแหน่งหมายเลข 5) เพื่อที่เวลาเก็บรักษาจะได้ไม่ต้องกลัวหาย เพราะติดอยู่ด้วยกันกับตัวเครื่อง
- Power Cord (สายไฟ) : สายไฟความยาว 7.6 เมตร (หรือ 25 ฟุต) พอที่จะให้ลากเครื่องไปใช้งานได้ทั่วห้องมีขนาดใหญ่ และ มีความเหนียว หนา แถมมีน้ำหนักมากอีกด้ว
- Air Outlet (ช่องอากาศออก) : ช่องอากาศออก (Air Outlet) ปล่อยอากาศที่ถูกดูดเข้ามาพร้อมกับฝุ่นละอองจากบนพื้น ที่ผ่านการกรองอากาศแล้ว ด้วยแผ่นกรองฝุ่น กลับออกข้างนอกอีกครั้ง
- Water Tank with Easy Fill Opening (ถังน้ำขนาดความจุ 0.4 ลิตร พร้อมฝาเปิดเติมน้ำ) : ถังน้ำถูกติดตั้งอยู่ด้านหลังของตัวเครื่อง จะไม่สามารถถอดออกมาได้ เอาไว้ใช้บรรจุน้ำสะอาด เพื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตไอน้ำด้วยความร้อน ก่อนปล่อยสู่พื้น เพื่อใช้ทำความสะอาดพื้น และ ฆ่าเชื้อโรคบนพื้น เป็นลำดับต่อไป
- Drop-IT Dust Tank (ถังเก็บฝุ่นแบบปล่อยทิ้ง) : มีขนาดความจุ 0.9 ลิตร ใส่ฝุ่นได้เป็นจำนวนมาก พร้อมเทคโนโลยี “Drop-IT” ทิ้งฝุ่นลงถังขยะโดยไม่ต้องเอามือไปสัมผัสกับเศษฝุ่นสกปรก ที่อยู่ด้านใน
- Water Filter (ที่กรองน้ำ) : อุปกรณ์รูปทรงแปลกๆ (คล้ายๆ กับตัว U) ติดอยู่ข้างหลังเครื่อง ตำแหน่งใต้ถังน้ำคือ มีหน้าที่เอาไว้ใช้กรองน้ำในถังน้ำให้สะอาดจริงๆ ก่อนนำไปผลิตไอน้ำ เป็นลำดับต่อไป
- Foot of Unit (ส่วนของฐานเครื่อง) : เป็นขาตั้งเครื่อง ให้เครื่องสามารถวางตั้งได้โดยไม่ล้ม และยังเป็น อุปกรณ์ดูดฝุ่น พร้อมกับ อุปกรณ์ถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค (ดูรายละเอียด ส่วนของฐานเครื่อง เพิ่มเติมได้ที่นี่)
รู้จักกับ ส่วนของฐานเครื่อง เพิ่มเติม
ส่วนของฐานเครื่อง (ในคู่มือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Foot of Unit“) เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ของเครื่องนี้ก็ว่าได้ เพราะมันเป็นทั้งฐานที่ทำให้ตัวเครื่อง สามารถทรงตัวอยู่ได้ในแนวตั้ง (ไม่ต้องวางแนวนอนขณะจัดเก็บให้เปลืองพื้นที่) นอกจากนี้แล้วก็ยังมีส่วนสำคัญอีกมากมาย ในการทำความสะอาดพื้น มาดูกันว่ามีส่วนประกอบสำคัญอะไรบ้าง โดยขอแบ่งออกเป็นส่วนประกอบด้านบน และ ด้านล่าง
ส่วนประกอบด้านบน ส่วนของฐานเครื่อง
ด้านบนของ ส่วนของฐานเครื่อง มีส่วนประกอบไม่มาก หลักๆ จะอยู่ที่ส่วนท้าย ซึ่งจะสังเกตเห็นเป็นท่อกลมๆ 2 ท่อ ขนาดเล็กอันนึง (ตำแหน่งหมายเลข 2) ใหญ่อันนึง (ตำแหน่งหมายเลข 1) เอาไว้เชื่อมต่อกับ ส่วนของตัวเครื่อง ที่จะนำมาเสียบจากด้านบน
- Vacuum Hose (ท่อลมดูดฝุ่น) : ท่อลมขนาดใหญ่ ที่จะใช้พลังลมดูดจากมอเตอร์พัดลมดูดฝุ่นขนาดใหญ่ นำพาเอาเศษฝุ่นละออง เส้นผม ขนสัตว์ ต่างๆ ที่อยู่บนพื้น เข้าไปเก็บไว้ใน ถังเก็บฝุ่นที่อยู่ในส่วนของตัวเครื่องนั่นเอง
- Steam Hose (ท่อไอน้ำ) : ท่อไอน้ำขนาดเล็ก จะมีทิศทางสวนทางกับท่อลมดูดฝุ่นที่ดูดเข้า แต่ ท่อไอน้ำจะปล่อยไอน้ำออกมา โดยส่วนนี้จะเป็นไอน้ำความร้อนสูง (อุณหภูมิระหว่าง 90 ถึง 95 องศาเซลเซียส) ที่นำน้ำจากถังน้ำมาผ่านกระบวนการผลิตไอน้ำ และอัดลงมาบนพื้นด้านล่าง ผ่านแผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ พร้อมกับ แผ่นน้ำหอม (ถ้าติดตั้งเข้าไปด้วย)
ส่วนประกอบด้านล่าง ส่วนของฐานเครื่อง
- Vacuum Nozzle (ส่วนของหัวดูดฝุ่น) : อยู่ด้านหน้าสุดของ ส่วนของฐานเครื่อง ใช้ดูดฝุ่นเข้าไปเก็บในถังเก็บฝุ่น ด้วยพลังลมจากมอเตอร์พัดลมดูดฝุ่น (ไม่ได้มีแปรงกวาดหลัก หรือ แปรงหมุนใดๆ มาช่วย)
- Front Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : ล้อพลาสติกที่อยู่ด้านหน้าจำนวน 2 ล้อ ใช้รับน้ำหนักตัวเครื่อง และ ยังเพิ่มความสะดวกสบายให้สามารถเข็นขณะทำความสะอาดพื้นได้อีกด้วย
- STEAMBOOST Tray (ส่วนของชุดถูไอน้ำ) : พื้นที่ติดตั้ง แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ สามารถนำ แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์แบบธรรมดา หรือ แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์แบบขัด มาสวมครอบรอบๆ ได้เลย (การติดตั้งไม่ได้ใช้ตีนตุ๊กแก ในการยึดติดผ้า แต่จะใช้วิธีการสวมครอบผ้าไปทั้งผืนแทน)
- Rear Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหลัง) : ล้อพลาสติกที่อยู่ด้านหลังจำนวนจำนวน 2 ล้อ โดยขนาดล้อจะใหญ่กว่าด้านหน้าหน่อยนึง เพราะนอกจากจะใช้เข็นไปมาขณะทำความสะอาดพื้นแล้ว ยังเอาไว้รับน้ำหนักเครื่องขณะยกล้อหน้าขึ้น เพื่อใช้เข็นย้ายไปไหนมาไหน (ขณะไม่ได้ทำความสะอาด) ได้อย่างสะดวกอีกด้วย
รู้จักกับ ถังเก็บฝุ่นแบบปล่อยทิ้ง (Dust Tank with Drop-IT Technology)
อีกจุดนึงที่ไม่พูดไม่ได้ นั่นก็คือ ถังเก็บฝุ่นขนาดความจุ 0.9 ลิตร (ถือว่าใหญ่พอสมควร) มีความสามารถแบบปล่อยทิ้งฝุ่นได้เอง (Drop-IT) ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของมัน จะคล้ายๆ กับ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หลายๆ รุ่นแต่มันมีความสามารถพิเศษคือ มันสามารถปล่อยฝุ่นละอองที่อยู่ในถัง ทิ้งถังขยะได้โดยไม่ต้องใช้มือหรือนิ้วไปเขี่ยๆ มันออกมา แต่มันจะมี แท่งดันฝุ่น (Rod) ให้เราสามารถดึงขึ้น และ กดลง โดยกลไกของมันจะช่วยดันฝุ่นทั้งหมดที่เกาะติดอยู่ในถังเก็บฝุ่นออกเอง
นอกจากนี้แล้วยังมี แผ่นกรองฝุ่น (Vacuum Filter) ที่จะกรองฝุ่นละอองที่ปะปนมาอากาศให้ติดอยู่ข้างใน ก่อนจะปล่อยอากาศบริสุทธิ์ กลับออกไป
ความคิดเห็นส่วนตัว
“ทางเว็บไซต์ หรือ คู่มือผู้ใช้งาน ทาง BISSELL เขาไม่ได้บอกว่ามันเป็นแผ่นกรองอากาศ HEPA ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง แต่จากความคิดเห็นส่วนตัว ดูจากรูปทรงภายนอกแล้ว คิดว่าน่าจะใช่ (เพราะทางเว็บเมืองนอกหลายๆ เว็บ ก็เรียกว่า แผ่นกรองอากาศ HEPA เช่นกัน)”
เริ่มต้นใช้งาน เครื่อง BISSELL Vac and Steam
ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการ เริ่มต้นใช้งานเครื่อง โดยจะเป็นการบอกวิธีการประกอบเครื่อง และ การใช้งานในโหมดต่างๆ ซึ่งก็ไม่มีอะไรยุ่งยากมาก ไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ (เพราะไม่มีแบตเตอรี่ เสียบไฟตรง แล้ว เปิดใช้งานได้เลย) หลังจากที่เอาเครื่องออกจากกล่อง เราก็จะต้องประกอบเครื่องให้พร้อมใช้งานซึ่งก็มี 3 ส่วนหลักๆ ที่จะต้องประกอบ
- นำเอาส่วนของตัวเครื่อง (Body of Unit) และ ส่วนของด้ามจับ (Handle of Unit) ที่มันยึดติดกันด้วยสายไฟสีดำเส้นเดียวอยู่แล้ว มาต่อกัน โดยมันจะมีสลักล็อคสีขาวๆ อยู่ แค่ใส่ให้ลงร่องของมัน ก็เป็นอันเสร็จพิธี
- นำเอาแผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์แบบธรรมดา หรือ แบบขัด มาครอบที่ ส่วนของฐานเครื่อง ให้เรียบร้อย
- นำเอาส่วนของฐานเครื่อง (Foot of Unit) มาต่อกับ ส่วนของตัวเครื่อง (Body of Unit) อีกที
- เสียบปลั๊กเครื่อง แล้วดูว่าต้องการที่จะดูดฝุ่นอย่างเดียว หรือ ถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรคอย่างเดียว หรือ ทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปเลย
ต้องการดูดฝุ่นอย่างเดียว (Vacuum Only)
- กด “ปุ่ม Vacuum” เพื่อเปิดระบบการดูดฝุ่น
- เริ่มดูดฝุ่นไปมาได้เลย
ต้องการถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรคอย่างเดียว (Steam Only)
- เทน้ำสะอาด ใส่ถ้วยใส่น้ำ และ ตวงให้ได้ปริมาณ 0.4 ลิตร (400 มิลลิลิตร)
- เปิดฝาเปิดเติมน้ำ (Easy Fill Opening) ที่อยู่ด้านหลังเครื่อง (เหนือถังน้ำ) และเทน้ำจากถ้วยใส่น้ำลงไปบนฝาเปิดเติมน้ำ อย่างช้าๆ
- หลังเสียบปลั๊กแล้ว ให้รอประมาณ 30 วินาที หรือ รอจนกว่าไฟแสดงสถานะจะหยุดกระพริบ หรือ สว่างค้าง
- กดที่ “ปุ่มควบคุมระบบไอน้ำ” ค้างเอาไว้จะได้ยินเสียง “ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก …” ถี่ๆ สักพัก แล้วจะได้ยินเสียง ฟู่ ซึ่งเป็นเสียงไอน้ำ ที่ถูกพ่นลงพื้น
- เริ่มถูพื้นไปมาได้เลย
ต้องการดูดฝุ่นและถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค (Vacuum and Steam)
- เปิด 2 ระบบพร้อมกันเลย จะเปิดระบบใดระบบหนึ่งก่อนก็ได้
การถอดแยกชิ้นส่วนของตัวเครื่อง
หากเราจะต้องเก็บเครื่องเข้ากล่อง เพื่อขนย้ายไปใช้งานที่อื่น ก็จะต้องมีการถอดแยกชิ้นส่วนของตัวเครื่อง ให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม (ตั้งแต่ตอนซื้อมา) ซึ่งก็ไม่มีอะไรยากเลย ดูรูปประกอบด้านล่าง
ความรู้สึกหลังการใช้งาน เครื่อง BISSELL Vac and Steam
- สามารถเลือกเปิด ระบบดูดฝุ่นหรือถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ พร้อมๆ กันได้
- ต้องใช้แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ให้เหมาะสม ถ้าพื้นสกปรกมากๆ คราบต่างๆ จะถูไม่ออก ต้องใช้ แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์แบบขัด และ ถูหลายๆ ครั้ง
- ถ้าพื้นมีความสกปรกมากๆ มีคราบเยอะ ฝังแน่น แนะนำว่าให้ใช้ เครื่องขัดพื้น ไปเลยจะดีกว่า แล้วค่อยนำเอา BISSELL Vac and Steam มาใช้ประจำวัน
- แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ซักง่ายมากๆ แม้จะผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน ผ้าดําปี๋ ก็สามารถซักรอย คราบสกปรก ต่างๆ ที่อยู่บนผ้าออกได้ง่าย
- การเปิดระบบถูพื้นด้วยไอน้ำฆ่าเชื้อโรค มีอุณหภูมิสูงมากๆ ถ้ากดปุ่มควบคุมระบบไอน้ำ แล้วแช่อยู่กับที่ แม้จะเป็นพื้นกระเบื้องยังร้อนจี๋ แถมความร้อนยังฝังอยู่ในเนื้อกระเบื้องเป็นชั่วโมงอีกด้วย กว่าจะเย็นลง ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำแบบนี้ (ดูรายละเอียดการทดสอบวัดอุณหภูมิไอน้ำ ที่ถูกปล่อยออกมาจากตัวเครื่อง)
- หากไม่ได้ใช้เครื่องแล้ว ไม่ควรเสียบปลั๊กทิ้งไว้ เพราะยังมีการกินไฟอยู่ ประมาณ 1.1 วัตต์
คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน เครื่อง BISSELL Vac and Steam
1. สามารถทำความสะอาดได้ดีแค่ไหน ?
เครื่อง BISSEELL Vac and Steam มีพลังดูดฝุ่นที่แรงมากๆ สามารถดูดฝุ่นขนาดเล็ก กลาง เส้นผม ขนสัตว์ ต่างๆ ได้หายห่วง แต่ถ้าจะให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องเปิดการทำงานของ ระบบถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค ควบคู่กันไปด้วย
แต่ทั้งนี้ การเปิดระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรคเพื่อถูพื้นนั้น ควรจะต้องถูพื้นเนื้อแข็งเท่านั้น (Hard Floor Use Only !) ไม่ควรถูบนพื้นไม้ พรม และอื่นๆ เพราะความร้อนจากไอน้ำ อาจทำให้พื้นเกิดความเสียหายได้
2. เครื่องมีอัตราการกินไฟมากน้อยแค่ไหน ?
และเช่นเคย สำหรับสินค้าที่นำมารีวิวบนเว็บ Thanop.com หลังๆ มานี้ ผมจะใช้ เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟ (Power Consumption Meter) มาทดสอบ โดยหน่วยวัดที่ได้จะเป็นจำนวนวัตต์ (Watts) และตัวนี้ก็เช่นกัน มาดูข้อมูลจากตารางกันเลย
สถานการณ์ (Situation) |
การกินไฟ (Power Consumption) |
การคำนวณค่าไฟ (Power Consumption Calculation) |
ค่าไฟ / เดือน (Electricity Charge / Month) |
ขณะเปิดระบบดูดฝุ่น อย่างเดียว | 420 วัตต์ | (420 วัตต์ x 0.50 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต*) / 1,000 | 31.50 บาท |
ขณะเปิดระบบถูพื้นด้วยระบบไอน้ำ อย่างเดียว** | 1,100 วัตต์ | (1,100 วัตต์ x 0.25 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต*) / 1,000 | 41.25 บาท |
ขณะเสียบปลั๊กทิ้งไว้เฉยๆ | 1.1 วัตต์ | (0.1 วัตต์ x 23.5 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต*) / 1,000 | 0.35 บาท |
หากรวมเบ็ดเสร็จ จากข้อมูลในตารางด้านบน ถ้าใช้เครื่องดูดฝุ่นวันละครึ่งชั่วโมง (30 นาที หรือ 0.5 ชั่วโมง) และ เปิดระบบถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค วันละ 15 นาที (หรือ 0.25 ชั่วโมง) ก็จะรวมเป็นเงิิน ค่าไฟประมาณ 72.75 บาท ต่อเดือน
หมายเหตุ* : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นไปตามที่จ่ายจริงๆ ได้ เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน
หมายเหตุ** : การเลือก ปรับพลังไอน้ำระดับต่ำหรือระดับสูง (LO/HIGH Steam Power) ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของการกินไฟ อย่างมีนัยยะสำคัญ
3. มีวิธีการดูแลรักษาเครื่องเป็นอย่างไร ?
การดูแลรักษาเครื่องไม่มีอะไรยาก แค่เช็ดส่วนประกอบต่างๆ ของตัวเครื่องให้สะอาดเท่านั้นเอง
แต่สิ่งที่ต้องทำหลักๆ หลังการใช้งานคือ น้ำแผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ไปซักด้วยน้ำให้สะอาด และ นำขยะไปที่อยู่ในถังเก็บฝุ่น ไปเททิ้งอย่างสม่ำเสมอ (สัก 3-4 วัน/ครั้ง) ก็จะเป็นการดี
4. ราคาอะไหล่ของเครื่องมีอะไรบ้าง และ แพงหรือไม่ ?
ในส่วนของอะไหล่ของตัว เครื่องดูดฝุ่นและถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค BISSELL Vac and Steam ที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยน หลักๆ เลย รายละเอียดตามตารางด้านล่างนี้เลย
ชื่ออะไหล่ภาษาอังกฤษ (English Part Name) |
ชื่ออะไหล่ภาษาไทย (Thai Part Name) |
ราคาต่อหน่วย (Unit Prices) |
Microfiber Mop Pad Set (2 PCs)* | ชุดแผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (2 ชิ้น) | 990 บาท |
Scent Disk Set (8 PCs) | ชุดแผ่นน้ำหอม (8 ชิ้น) | 990 บาท |
Vacuum Filter (1 PC) | แผ่นกรองฝุ่น (1 ชิ้น) | 900 บาท |
Water Filter (1 PC) | ที่กรองน้ำ (1 ชุด) | N/A |
หมายเหตุ* : ภายใน ชุดแผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ จะประกอบไปด้วย แผ่นถูพื้น 2 ชิ้น ได้แก่ แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ธรรมดา และ แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์แบบขัด อย่างละ 1 ชิ้น
5. แผ่นน้ำหอม มีอายุการใช้งานนานแค่ไหน ?
เนื่องจากแผ่นน้ำหอม จัดว่าเป็น อุปกรณ์สิ้นเปลือง (จะใช้ก็ได้ หรือ ไม่ใช้ก็ได้) ที่ใช้แล้วความหอมในแผ่นก็จะหมดไปเรื่อยๆ ถ้าถามว่ามันจะใช้ได้นานแค่ไหน คำตอบคือ “ไม่สามารถตอบได้” ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา ไม่ว่าจะเป็น สภาพพื้นผิว ความถี่ในการใช้งาน หรือแม้แต่ อุณหภูมิ และ ความชื้นสัมพัทธ์ ขณะเก็บรักษา ดังนั้นแนะนำว่าให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ เมื่อกลิ่นจางหายไปจนหมด
6. เสียงเครื่องขณะทำงานดังมากไหม ?
เครื่องนี้จริงๆ แล้ว พื้นฐานของมันคือ เครื่องดูดฝุ่น ดังนั้นการทำงานของมันย่อมมีพลังดูดที่สูง และ แรงกว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น อยู่แล้ว และด้วยความที่พลังดูดสูง แน่นอนว่าก็จะต้องกินไฟมากกว่า และที่สำคัญ เสียงขณะทำงานก็จะดังเป็นเงาตามตัวแน่นอน
ครั้งนี้ ผมได้ทดลองใช้ แอพ Sound Level Meter – Noise Detector จาก CYS Creative บน iOS ในการทดสอบระดับเสียง พบว่า ขณะเปิดระบบดูดฝุ่น มีระดับเสียงอยู่ที่ ประมาณ 90 เดซิเบล (dB) +/- นิดหน่อย (วัดห่างจากเครื่องประมาณ 1 เมตร)
ถ้าหากเปิดระบบถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค เสียงจะไม่ค่อยดังเท่าไหร่ (เลยไม่ได้ทดสอบมา) จะได้ยินเสียงไอน้ำพ่นลงพื้น อย่างเดียว ดัง ฟี้ๆๆๆๆๆ
7. อุณหภูมิของไอน้ำ ขณะที่ออกมาสู่พื้นแล้ว อยู่ที่ระดับประมาณเท่าไหร่ ?
หลังจากที่ได้ทดสอบความร้อนของไอน้ำที่ลงพื้น ด้วยการนำเอา เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอล มาทดสอบวัดอุณหภูมิ ที่ใต้แผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ที่อยู่ใต้ส่วนของฐานเครื่อง แล้ว เปิดระบบถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค (กด “ปุ่มควบคุมระบบไอน้ำ” ควบคู่ไปด้วย) พบว่า อุณหภูมิของไอน้ำที่ถูกปล่อยลงพื้นสูงถึงระดับ 100 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว (รูปล่างขวา)
นอกจากนี้แล้วอุณหภูมิที่อยู่บนพื้นกระเบื้อง (รูปล่างซ้าย) ขณะที่ถูเสร็จแล้ว พบว่าแม้จะถูผ่านไปแล้ว อุณหภูมิก็ยังจัดว่าสูงอยู่ดี ไปอีกสักระยะหนึ่ง
8. ที่กรองน้ำ จะต้องทำความสะอาดอย่างไร ?
ที่กรองน้ำ (Water Filter) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กรองน้ำในถังน้ำก่อนมาผลิตไอน้ำ ภายในประกอบไปด้วยเม็ดเล็กๆ สีเขียว (Green Grains) มากมาย ถูกบรรจุอยู่ในวัสดุแบบปิด (เปิดออก แกะออกไม่ได้) ดังนั้นจึง ไม่ต้องทำความสะอาดใดๆ
หากต้องการบำรุงรักษาคือ ต้องเปลี่ยนใหม่สถานเดียว ซึ่งเราจะเปลี่ยนมันก็ต่อเมื่อ เม็ดสีเขียว เปลี่ยนสีเป็น เม็ดสีน้ำเงิน (Blue Grains) ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้มันมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นก็คือ ใช้น้ำสะอาด เช่น น้ำกลั่น (Distilled Water) น้ำกรอง เป็นต้น
9. เครื่องมีการรับประกัน ทั้งสิ้นกี่ปี ?
ระยะเวลารับประกันเครื่อง จะอยู่ที่ 2 ปี* โดยถ้าหากซื้อมาแล้วเสีย ใช้งานไม่ได้ภายใน 7 วัน ทางบริษัทฯ จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ฟรี และ ถ้าหากเกินกว่านั้นจะเป็นการซ่อมเครื่องให้ฟรีในระยะเวลา 2 ปี*
หมายเหตุ* : ทางบริษัทจะรับซ่อมเครื่องที่เสียจากการใช้งานเท่านั้น ไม่นับรวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เช่น เครื่องตกจากที่สูง แตก ชำรุด โดนน้ำ หรือเกิดจากการใช้งานที่ผิดวิธี
10. สามารถติดต่อสั่งซื้อ เครื่องดูดฝุ่นและถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค BISSELL Vac and Steam ได้ที่ไหน ?
คุณสามารถซื้อ เครื่องดูดฝุ่นและถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค BISSELL Vac and Steam ได้ในหลากหลายช่องทาง ดังต่อไปนี้
- Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 0-2066-3655 / 097-174-0216 และ 061-625-3559
- Website (เว็บไซต์) : http://www.vitainno.com/
- Line ID (ไลน์ไอดี) : @vitainno
- Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : bissellthailand (บิสเซลไทยแลนด์) ตามกรอบด้านล่าง
บทสรุปหลังการใช้งาน BISSELL Vac and Steam
ข้อดี 🙂
- สามารถดูดฝุ่น ถูพื้น พร้อม ฆ่าเชื้อโรคบนพื้น ไปในเวลาเดียวกันได้
- ไอน้ำที่ถูกฉีดพ่นลงมาผ่านแผ่นถูพื้นไมโครไฟเบอร์ มีความร้อนสูงจริงๆ ในระดับ 90 ถึง 95 องศาเซลเซียส (แต่ทดสอบเองได้ถึง 100 องศาเซลเซียส)
- และการที่ไอน้ำมีอุณหภูมิที่สูง ก็เพียงพอที่จะให้เชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่บนพื้นตายได้
- มีถ้วยใส่น้ำมาให้ เพื่อให้เราสามารถตวงน้ำสะอาดได้พอดิบพอดี ก่อนเทลงในถังน้ำ ไม่ต้องกลัวหก
- แม้เครื่องจะเอียงลงในมุมไหน องศาไหน น้ำที่อยู่ในถังน้ำก็ไม่หกออกมาเลอะเทอะข้างนอก (เว้นแต่จะคว่ำส่วนของตัวเครื่องลง อันนั้นน้ำก็ต้องหกเป็นธรรมดา)
- ถังเก็บฝุ่น เก็บกักฝุ่นในลักษณะที่แห้งจริงๆ แม้จะเปิดระบบถูพื้นด้วยไอน้ำฆ่าเชื้อโรคไปด้วย ทำให้เอาฝุ่นออกมาได้ง่าย สมกับเทคโนโลยี Dry-Tank
- หากใช้แค่ระบบดูดฝุ่นอย่างเดียว กินไฟอยู่ประมาณ 400 วัตต์ เท่านั้น ก็ถือว่าไม่มาก
- วัสดุเครื่องดูแข็งแรงดี จากประสบการณ์เครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่บ้านชนเครื่อง BISSELL Vac and Steam จนหงายล้มลงพื้น (เนื่องจากเครื่องสูง) แต่กลับไม่เป็นรอยใดๆ เลย
- ความยาวสายไฟ 7.6 เมตร ถือว่าพอดี พอลากได้ทั่วห้องโถงใหญ่ๆ ได้ จุดนี้ประทับใจ
ข้อเสีย 🙁
- มีน้ำหนักที่มาก แต่ก็แลกมาด้วยความแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายไฟที่มีขนาดยาว และ หนามาก
- ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า และ ด้านหลัง ของ ส่วนของฐานเครื่อง ไม่สามารถหมุนรอบตัว แบบ 360 องศาได้ สามารถทำได้แค่ เลื่อนขึ้นหน้า ↑ และ เลื่อนถอยหลัง ↓ ได้เท่านั้น
- ขณะเปิดระบบดูดฝุ่น เสียงเครื่องจะค่อนข้างดัง แต่ก็เป็นธรรมดาของการใช้งานเครื่องดูดฝุ่น ใครที่อยู่คอนโดมิเนียม หรือ หอพัก ควรใช้งานในเวลากลางวัน เพราะเสียงอาจรบกวนห้องข้างๆ ได้
การทดสอบจากห้องแลปของสถาบันทดสอบ (Laboratory Test Results)
เนื่องจากเป็นการยาก ที่จะมาทดสอบว่า เครื่องดูดฝุ่นและถูพื้นด้วยระบบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค BISSELL Vac and Steam ตัวนี้จะสามารถฆ่าเชื้อโรค ที่อยู่บนพื้นจริงๆ อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้จริงๆ ได้หรือไม่ ?
ซึ่งการทดสอบพวกนี้ จะต้องใช้เครื่องทดสอบ และจะต้องมีการเพาะเลี้ยงเชื้อต่างๆ ที่กระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนมากๆ ประกอบกับราคาของอุปกรณ์ทดสอบก็ไม่ถูกเลย ดังนั้นจึงขออ้างอิงผลการทดสอบในห้องแลปหรือห้องทดลอง จากสถาบันทดสอบ มาให้ดูกัน
ผลทดสอบการฆ่าเชื้อโรค จากห้องแลป Alliance Analytical Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา
สถาบัน Alliance Analytical Lab เป็นสถาบันทดสอบ ที่มีห้องแลปทดสอบอันทันสมัย ในด้านของ จุลชีววิทยา (Microbiology) และ การวิเคราะห์ทางเคมี (Chemical Analysis) ต่างๆ ตั้งอยู่ในรัฐมิชิแกน (Michigan) ทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถทำการทดสอบ อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล เครื่องสำอาง วิเคราะห์น้ำ และการทดสอบอื่นๆ อีกมากมาย
และแน่นอน สถาบันที่กล่าวมานี้ คือผู้ทดสอบการฆ่าเชื้อโรคของ BISSELL Vac and Steam นั่นเอง โดยการทดสอบแบ่งออกเป็น 3 การทดสอบหลักๆ ด้วยกันคือ
- Staphylococcus Aureus (สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส)1 : แบคทีเรียก่อโรคในอาหาร อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีคุณสมบัติทนความร้อนได้ดี
- Enterobacter Aerogenes (เอนเทอโรแบคเตอร์ แอโรจิเนส)1 : แบคทีเรียที่ทำให้เกิดการเน่าเสียของอาหาร ทั้งน้ำนม และ เนื้อสัตว์ ต่างๆ
- Aspergillus Niger (แอสเปอรจิลลัส ไนเจอร์)1 : เชื้อราที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นในอาหาร ที่มีทั้งคุณประโยชน์เช่น ใช้เพื่อการหมักอาหาร หรือ โทษเช่น ทำให้อาหารเน่าเสีย ได้เป็นต้น
1อ้างอิงจาก : ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร (Food Network Solution)
(เว็บไซต์ : http://www.foodnetworksolution.com/)
และสำหรับผลการทดสอบทั้ง 3 นั้น พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ในการลด (Percent Reduction) หรือ การกำจัด ทั้ง เชื้อแบคทีเรีย และ เชื้อรา ได้สูงสุดถึง
99.99%