แอร์ฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Conditioner)

Cassette Type Air Conditioner Share
แอร์ฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Conditioner)

บทความนี้เป็นบทความที่ทาง Thanop.com จะขอพาทุกคนมารู้จักกับ “แอร์ฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Conditioner)” จัดเป็น เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ ที่มีความอเนกประสงค์ค่อนข้างมาก มีความสวยงาม ประหยัดพื้นที่ ดูกลมกลืนไปกับห้อง หรือฝ้าเพดาน และยังสามารถกระจายลมได้แบบหลายทิศทาง เหมาะสำหรับการนำไปติดตั้งใช้งานในสำนักงาน โชว์รูม หรือ ห้องขนาดใหญ่

บทความนี้พาจะมาทำความรู้จักกับลูกเล่น ฟังก์ชั่น ความยากง่าย และข้อจำกัด ข้อควรระวังต่างๆ ในการติดตั้ง รวมไปถึงคำแนะนำในการเลือกใช้ แอร์ฝังฝ้าเพดาน เพื่อจะได้เอาไว้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ โดยจะไม่ใช่เป็นการนำเสนอสินค้าระบุยี่ห้อ หรือรุ่นสินค้า ตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ แนะนำโดย คุณวิสิทธิ์ ชูบุญราษฎร์ ผู้จัดการทั่วไป และ คุณภัทราวุธ จึงชาญศาสตร์ ผู้จัดการฝ่ายขายโครงการ บริษัท เอส ซี คูลลิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม ร้านค้าแอร์ออนไลน์ TeddyAir นั่นเอง

ลิงค์ด้านล่างที่เห็นอยู่นี้ สามารถกดเพื่อข้ามไปอ่านยังหัวข้อที่ต้องการ หรือสนใจได้เลย เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว เนื่องจากบทความมีความยาวค่อนข้างมาก

  1. สาเหตุหลักที่ต้องเลือกใช้แอร์ฝังฝ้าเพดาน
  2. รูปแบบแอร์ที่นิยมในประเทศไทย
  3. พื้นที่แบบไหนควรใช้ และไม่ควรใช้ แอร์ฝังฝ้าเพดาน ?
  4. คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของแอร์ฝังฝ้าเพดาน
  5. การติดตั้ง แอร์ฝังผ้าเพดาน มีความยุ่งยากมากน้อยขนาดไหน ?
  6. เกร็ดน่ารู้ทั่วไปเกี่ยวกับ การติดตั้งแอร์ฝังฝ้าเพดาน
  7. เกร็ดน่ารู้ทั่วไปเกี่ยวกับ การติดตั้งท่อระบบแอร์ ของแอร์ฝังฝ้าเพดาน
  8. การบำรุงรักษาแอร์ฝังฝ้าเพดาน (Maintenance)
  9. บทสรุปเกี่ยวกับ แอร์ฝังฝ้าเพดาน
  10. คำขอบคุณ (Thank You Message)

และด้านล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้บริหารจากทาง TeddyAir ที่มาให้ความรู้ในเรื่องของแอร์ฝังฝ้าเพดาน ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำการติดตั้ง ลูกเล่นต่างๆ รูปแบบของแผงหน้ากากแอร์ ปัญหาที่พบ และวิธีการบำรุงรักษาเบื้องต้น

สาเหตุที่ต้องเลือกใช้แอร์ฝังฝ้าเพดาน ?

สาเหตุที่ต้องเลือกทำบทความเกี่ยวกับ แอร์แบบฝังฝ้าเพดาน เนื่องจากที่ บริษัท ไทยแวร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ของของผม ได้เปิดร้านค้าที่มีชื่อว่า habitech ซึ่งเป็นร้านที่ขายสินค้าประเภท Gadget สำหรับบ้านและที่อยู่อาศัย โดยหลังจากที่ประเมินพื้นที่รอบๆ ร้านแล้วพบว่า ด้านข้างนั้น ฝั่งนึงเป็นกระจก ส่วนอีกฝั่งนึงเป็นชั้นวางสินค้า และก็ยังเป็นผนังเบาอีกด้วย ซึ่งถ้าจะติดตั้งแอร์ติดผนังทั่วๆ ไปนั้น ก็เกรงว่าจะไม่ได้รับความแข็งแรงที่เพียงพอ ในขณะที่ด้านหลังก็เป็นแผ่นป้ายร้าน ซึ่งถ้าไปติดแอร์ตรงนั้นเวลาถ่ายรูปออกมาก็คงจะไม่สวย กล่าวโดยสรุปคือไม่มีที่ติดเลยนั่นเอง

Cassette Type Air Conditioner at habitech Store
แอร์ฝังฝ้าเพดาน ที่ร้านฮาบิเทค (habitech Store) สาทรซอย 10

สุดท้ายก็ได้เลือกใช้แอร์แบบฝังฝ้าเพดาน ด้วยเหตุผลในเรื่องของพื้นที่การติดตั้งที่ค่อนข้างจำกัดในหลายๆ อย่าง (อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น) รวมไปถึงยังมีเหตุผลในเรื่องของความสวยงาม ที่ทางร้าน TeddyAir เขาก็ยังมีแอร์ฝังฝ้าเพดาน ของ Daikin รุ่นที่มีหน้ากากแอร์แบบพรีเมี่ยมสีดำทำมาจากโรงงานเลย จึงทำให้ดูกลมกลืนไปกับธีมของร้านเป็นอย่างมาก และก็ยังสามารถกระจายลมได้แบบหลายทิศทาง ทำให้เย็นฉ่ำกันทั้งร้านอีกด้วย

รูปแบบแอร์ที่นิยมในประเทศไทย

ในส่วนนี้จะกล่าวถึงแอร์ ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นที่นิยม และมีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมบอกข้อดี ข้อเสีย ให้ทราบ เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจซื้อแอร์สักตัว โดยในปัจจุบันนี้มีอยู่ทั้งหมด 4 รูปแบบหลักๆ ด้วยกันอันได้แก่

  1. Wall Type Air Conditioner (แอร์ติดผนัง)
  2. Floor Type or Ceiling Type Air Conditioner (แอร์ตั้งพื้น หรือ แอร์แขวนใต้ฝ้า)
  3. Cassette Type Air Conditioner (แอร์ฝังฝ้าเพดาน)
  4. Duct Type Air Conditioner (แอร์ต่อท่อลม)

1. Wall Type Air Conditioner (แอร์ติดผนัง)

Wall Type Air Conditioner
แอร์ติดผนัง (Wall Type Air Conditioner)

แอร์ติดผนัง (Wall Type) เป็นรูปแบบของเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ที่พบเห็นได้บ่อยในบ้านพักอาศัย หอพัก หรือแม้ในออฟฟิศสำนักงานขนาดเล็ก โดยขนาดของแอร์ประเภทนี้จะเริ่มต้นที่ 9,000 BTU จนถึงประมาณ 24,000 BTU โดยมีข้อดีและข้อเสียคือ

ข้อดี 🙂

  • มีขนาดที่เล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา และขนย้ายสะดวก
  • กระแสลมเย็นเป่าลงศรีษะโดยตรง ทำให้เย็นสบาย
  • ทำงานเงียบ เหมาะกับห้องนอน หรือห้องที่ต้องการความเงียบ
  • ช่างแอร์ส่วนใหญ่มีความชำนาญกับแอร์ประเภทนี้ จึงหาช่างติดตั้งได้ง่าย

ข้อเสีย 🙁

  • ต้องเจาะรูที่ผนังเพื่อการติดตั้ง การย้ายเครื่องออก อาจทำให้ผนังไม่สวย (เพราะรู หรือรอยเจาะยังคงอยู่) อาจจะต้องมีการซ่อมแซม หรือตกแต่งพื้นผิวของผนังใหม่
  • ไม่เหมาะกับผนังไม้ หรือผนังเบาต่างๆ เพราะอาจจะรับน้ำหนักตัวเครื่องภายในอาคาร (คอยล์เย็น) ไม่ได้
  • ไม่เหมาะกับห้องโถงขนาดใหญ่ เนื่องจากการกระจายลมได้น้อยทิศทาง
  • การเป่ากระแสลมเย็นลงศรีษะโดยตรง อาจทำให้รู้สึกหนาวเกินไป

2. Floor Type or Ceiling Type Air Conditioner (แอร์ตั้งพื้น หรือ แอร์แขวนใต้ฝ้า)

แอร์ตั้งพื้น หรือ แอร์แขวนใต้ฝ้า (Floor Type or Ceiling Type Air Conditioner)
แอร์ตั้งพื้น หรือ แอร์แขวนใต้ฝ้า (Floor Type or Ceiling Type Air Conditioner)

แอร์ตั้งพื้น (Floor Type Air Conditioner) หรือ แอร์แขวนใต้ฝ้า (Ceiling Type Air Conditioner) สำหรับแอร์ทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกัน เพียงแต่ว่ารูปแบบการติดตั้งนั้นมีหลากหลาย ซึ่งส่วนมากแล้วทุกรุ่นจะสามารถแขวนใต้ฝ้า หรือใต้เพดานได้หมด แต่ก็มีบางรุ่นที่สามารถนำไปตั้งพื้น พร้อมแขวนใต้ฝ้าได้อีกด้วยเช่นกัน (แล้วแต่รุ่น และยี่ห้อ ต้องดูสเปคให้ละเอียดอีกที)

โดยตัวเครื่องภายในอาคาร นั้นจะมีขนาดที่ใหญ่ และสามารถส่งลมออกไปได้ไกลกว่า แอร์ติดผนังทั่วๆ ไป เหมาะสำหรับออฟฟิศสำนักงาน โดยขนาดแอร์เริ่มต้นที่ประมาณ 12,000 BTU จนถึงประมาณ 60,000 BTU กันเลยทีเดียว โดยมีข้อดี และข้อเสีย เมื่อเทียบกับแอร์แบบอื่นดังต่อไปนี้

ข้อดี 🙂

  • ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าแอร์แบบติดผนัง ทำให้เหมาะกับห้องในบ้าน หรือในสำนักงานที่มีขนาดใหญ่
  • กระแสลมเย็นไม่เป่าลงศรีษะโดยตรง
  • มีบำรุงรักษาง่าย (ในกรณีถ้าติดตั้งแบบแอร์ตั้งพื้น เพราะไม่ต้องปีนขึ้นไปบนพื้นที่สูงๆ)
  • ห้องเย็นเร็ว ส่งลมไกล (ในกรณีที่ติดตั้งแบบแอร์แขวนใต้ฝ้า)

ข้อเสีย 🙁

  • ขนาดตัวเครื่องใหญ่ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก
  • มีเสียงรบกวนจากการทำงานค่อนข้างดัง
  • มีความสั่นสะเทือนมากกว่าแอร์ติดผนัง
  • ห้องเย็นช้ากว่าแอร์แบบอื่น (ในกรณีถ้าติดตั้งแบบแอร์ตั้งพื้น)

3. Cassette Type Air Conditioner (แอร์ฝังฝ้าเพดาน)

Cassette Type Air Conditioner
แอร์ฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Conditioner)

นี่คือรูปแบบของเครื่องปรับอากาศ ที่เราจะมาเจาะลึกกันในบทความนี้ โดยลักษณะตัวเครื่องจะคล้ายๆ กับ แอร์แขวนใต้ฝ้า แต่จะติดตั้งอยู่กลางห้อง สามารถกระจายลมทั่วทั้งห้องได้ดีกว่า และด้วยรูปลักษณ์ของตัวเครื่องสวยงามกลมกลืนไปกับฝ้าเพดานห้อง ทำให้เข้ากับสไตล์การตกแต่งบ้าน หรือสำนักงานในยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี และมี BTU สูง เหมาะสำหรับการติดตั้งใช้งานในห้องหรือพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งขนาดของแอร์ประเภทนี้ จะเริ่มต้นที่ประมาณ 12,000 BTU จนถึงประมาณ 48,000 BTU โดยมีข้อดีและข้อเสียเมื่อเทียบกับแอร์แบบอื่นคือ

ข้อดี 🙂

  • มีความสวยงามกลมกลืนกับสถานที่ แถมหน้ากากแอร์สามารถเปลี่ยนสีได้ (ในบางรุ่น บางยี่ห้อ)
  • ไม่เปลืองพื้นที่ห้อง เหมาะสำหรับห้องที่ไม่มีพื้นที่บนพื้น หรือข้างฝาผนัง (เพราะอาจจะเป็นกระจกเยอะ)
  • เย็นเร็วกว่าเมื่อเทียบกับแอร์รูปแบบอื่นๆ
  • สามารถกระจายลมได้หลายทิศทางได้ตั้งแต่ 1/ 2/ 4 หรือ 8 ทิศทาง
  • มีขนาด BTU ที่สูง เหมาะสำหรับการติดตั้งในห้องขนาดใหญ่

ข้อเสีย 🙁

  • การติดตั้งทำได้ยาก เพราะตัวเครื่องติดตั้งซ่อนอยู่ใต้ฝ้า ถ้าสถานที่นั้นก่อสร้างเสร็จแล้ว อาจจะต้องมีการกรีดฝ้า เพื่อเปิดฝ้า และเก็บงานภายหลังอีก
  • ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญในการติดตั้ง และบำรุงรักษา (เช่น ล้างแอร์ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น)
  • มีอุปกรณ์ที่ซับซ้อนมากกว่าเครื่องแอร์รูปแบบอื่นๆ เช่นจะต้องมี ปั๊มระบายน้ำทิ้ง
  • ใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าแอร์รูปแบบอื่น

4. Duct Type Air Conditioner (แอร์ต่อท่อลม)

Duct Type Air Conditioner
แอร์ต่อท่อลม (Duct Type Air Conditioner)

แอร์ต่อท่อลม เป็นแอร์ที่นิยมใช้ตามสถานที่ใหญ่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ หอประชุม หรือตามตึกอาคารใหญ่ต่างๆ โดยจะมีเครื่องภายในอาคาร หรือ คอยล์เย็น ที่มีขนาดใหญ่ เพียงแค่จุดเดียว แล้วจะกระจายลมไปยังพื้นที่ต่างๆ ผ่านท่อลม (Duct) และหน้ากากแอร์ หรือหัวจ่ายแอร์ (Air Grille Diffuser) ซึ่งหน้ากากแอร์ก็จะมี 2 ประเภทหลักๆ ด้วยคือ

  1. Supply Air Grille (หน้ากากลมส่ง) : ส่งลมเย็นออกไปตามพื้นที่ หรือห้องต่างๆ
  2. Return Air Grille (หน้ากากลมกลับ) : รับลมในห้องกลับเข้ามาทำความเย็น ที่ตัวคอยล์เย็นต่อ

ข้อดี 🙂

  • มีความสวยงาม แทบจะไม่มีส่วนใดของแอร์โผล่ออกมาให้เห็นภายในอาคารเลย (ยกเว้นหน้ากากแอร์เท่านั้น)
  • สามารถเลือกติดตั้งหน้ากากแอร์ ให้ลมออกได้หลากหลายเช่น ข้างกำแพง บนฝ้าเพดาน บนพื้น และมีหลายทิศทางให้เลือกซื้อ ทั้งแบบกลม หรือแบบเหลี่ยม 2/ 4/ 8 ทิศทาง เป็นต้น
  • ทุกอย่างควบคุมจากจุดๆ เดียว ทำให้การแก้ไข และหาสาเหตุของปัญหาต่างๆ เป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ข้อเสีย 🙁

  • มีราคาที่ค่อนข้างสูงต่อระบบ เพราะตัวเครื่องภายในอาคาร (คอยล์เย็น) และ เครื่องภายนอกอาคาร (คอยล์ร้อน) จะมีขนาดใหญ่กว่าแอร์ทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังรวมไปถึงค่าติดตั้งต่างๆ เช่น การเดินท่อลม และหน้ากากแอร์
  • มีความยุ่งยากในการติดตั้งมากที่สุด เพราะจะต้องเดินท่อลมต่างๆ ไปตามพื้นที่ด้วย
  • ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละห้องได้ เนื่องจากการทำความเย็นมาจากศูนย์กลาง

สรุปคือ การที่เราจะเลือกว่าควรใช้แอร์ประเภทไหน ก็ให้พิจารณาว่าพื้นที่ของเรา ห้องของเรา เหมาะกับแอร์รูปแบบไหนมากกว่ากัน แต่ถ้าต้องการความสวยงามแนบเนียนสำหรับการติดตั้งแอร์ในห้องขนาดใหญ่ที่มีฝ้าเพดาน แอร์ฝังใต้ฝ้า ก็จัดว่าเป็นตัวเลือกที่ดี

พื้นที่แบบไหนควรใช้ และไม่ควรใช้ แอร์ฝังฝ้าเพดาน ?

Cassette Type Air Conditioner Featured Image
แอร์ฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Conditioner)

แอร์ฝังฝ้าเพดาน สามารถติดตั้งได้กับ ห้องทุกรูปแบบ เพราะว่าการใช้งานต่างๆ ก็เหมือนแอร์ในรูปแบบอื่นๆ แทบจะไม่มีความแตกต่างเลย

แต่การใช้งานแอร์ฝังฝ้าเพดาน ก็มีข้อยกเว้นว่า ถ้าพื้นที่นั้นเป็นห้องที่มีเพดานสูงเกินกว่า 3.5 เมตรขึ้นไปจะไม่แนะนำให้ติดตั้งแอร์ประเภทนี้ ยกตัวอย่างเช่นห้องโถงใหญ่ในบ้าน หรือคอนโดมิเนียมที่ห้องแบบลอฟท์ (Loft) (คอนโดมิเนียม 1 ชั้น และ ชั้นลอย) และแบบดูเพล็กซ์ (Duplex) (คอนโดมิเนียม 2 ชั้น) พื้นที่เหล่านี้อาจจะไม่เหมาะกับแอร์ฝังฝ้าเพดานเท่าไหร่นัก เพราะว่ามันสามารถส่งความเย็น และแรงลมได้จากพื้นถึงตัวแอร์ ไม่เกิน 3.5 เมตร ดั้นพื้นที่ที่มีเพดานสูงโปร่ง ความเย็นจากตัวแอร์อาจลงมาไม่ถึงพื้น ทำให้ความเย็นไม่เพียงพอ ทำให้คนในห้องอาจจะรู้สึกร้อนได้

คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของแอร์ฝังฝ้าเพดาน

แอร์ฝังฝ้าเพดาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Cassette Type Air Conditioner” หรือ “Ceiling-Mounted Air Conditioner” จะมีข้อโดดเด่นกว่าแอร์ชนิดอื่นๆ ในเรื่องของการกระจายลม ที่สามารถทำได้หลากหลายทิศทางมากกว่าแอร์ติดผนังทั่วๆ ไป ในขณะที่ความสามารถอื่นๆ ก็ยังคงมีเหมือนกับแอร์ทั่วๆ ไป ลองมาดูกันเลย

1. Wind Distribution Types (รูปแบบการกระจายลม)

Cassette Type Air Conditioner Eight Way
แอร์ฝังฝ้าเพดานแบบกระจายลม 8 ทิศทาง (8-Way Cassette Type Air Conditioner)

ในความเป็นจริงแล้ว แอร์ฝังฝ้าเพดาน จะมีรูปแบบการกระจายลมอยู่หลากหลายทิศทางเหมือนกัน (ไม่ได้มีแค่เฉพาะ 4 ทิศทาง อย่างที่เราเข้าใจ) โดยเริ่มจาก

  1. One-Way Cassette (การกระจายลม 1 ทิศทาง)
  2. Two-Way Cassette (การกระจายลม 2 ทิศทาง)
  3. Four-Way Cassette (การกระจายลม 4 ทิศทาง) (เป็นที่นิยมมากที่สุด)
  4. Eight-Way Cassette (การกระจายลม 8 ทิศทาง) (มีช่องลมออกที่ขอบมุมของตัวเครื่องด้วย)

2. Rated BTU (การทำความเย็น)

แอร์ฝังผ้ามีการทำความเย็นในหลากหลายขนาด โดยที่นิยมจะเริ่มต้นที่ขนาดเล็กสุดประมาณ 12,000 BTU จนไปถึงขนาดประมาณ 48,000 BTU (แต่ขนาดใหญ่สุดอย่าง 60,000 BTU ก็ยังมีให้เห็น แต่ว่าหาได้น้อยมากในตลาด)

3. Panel Cover (แผงหน้ากากแอร์)

โดยปกติแอร์ฝังฝ้าเพดาน ก็จะมีแผงหน้ากากแอร์ 4 แบบ ตามแต่ละจุดประสงค์การใช้งาน ดังนี้

Cassette Type Air Conditioner Human or Movement Sensor Panel
แผงหน้ากากแบบมีเซ็นเซอร์ตรวจจับคน หรือความเคลื่อนไหว (Human or Movement Sensor Panel)
Cassette Type Air Conditioner Automatic Drop Down Panel
แผงหน้ากากแบบเลื่อนลงได้ (Automatic Drop Down Panel)
  1. Standard Panel (แผงหน้ากากแบบปกติ) : เป็นหน้ากากแบบมาตรฐานโดยมากเป็นสีขาว มันจะอยู่ในรุ่นมาตรฐานของแอร์ฝังฝ้าเพดานทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่เป็นสีขาว โดยไม่มีออปชั่นพิเศษใดๆ
  2. Human or Movement Sensor Panel (แผงหน้ากากแบบมีเซ็นเซอร์ตรวจจับคน หรือความเคลื่อนไหว) : หน้ากากชนิดนี้ จะมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับคน หรือความเคลื่อนไหวต่างๆ ว่าอยู่ตรงไหน โดยมันจะสามารถส่งลมไปยังพื้นที่ตรงนั้นให้มากยิ่งขึ้น หรือหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ลมปะทะตัวคนมากเกินไป
  3. Automatic Drop Down Panel (แผงหน้ากากแบบเลื่อนลงได้) : อีกชื่อเรียกว่า หน้ากากแบบมีสลิง ซึ่งมันจะสามารถหย่อนสลิง เพื่อปล่อยแผงหน้ากากแอร์ ให้ลงมาอยู่ในระดับที่คนสามารถถอดแผ่นกรองอากาศ (ฟิลเตอร์) ไปทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ไม่ต้องให้ปีนบันใดเพื่อถอดแผ่นกรองอากาศออกมาล้าง ให้เสี่ยงอันตราย
  4. Premium Panel (แผงหน้ากากแบบพรีเมี่ยม) : หน้ากากชนิดนี้ ไม่ได้มีฟังก์ชั่นพิเศษอะไรเพิ่มเข้ามา แต่จะเป็นเรื่องของความสวยงามล้วนๆ โดยส่วนมากจะเป็นในเรื่องของลาย หรือสีต่างๆ ที่อาจจะไม่เหมือนกับสีของหน้ากากแบบปกติทั่วๆ ไป เพื่อตกแต่งให้เข้ากับ เพื่อสร้างบรรยากาศภายในห้องให้ดูกลมกลืนกับสถานที่นั่นเอง แบบนี้จะเป็นสีที่พ่น และทำมาจากโรงงาน จะมีความแข็งแรง และทนทานมากกว่าการนำหน้ากากแบบปกติ มาพ่นสีเอง
Cassette Type Air Conditioner Premium Special Design Panel
แผงหน้ากากแบบพรีเมี่ยมดีไซน์พิเศษ (Premium Special Design Panel) เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศห้อง (ภาพจาก : Samsung.com)

3. Inverter Feature (ความสามารถด้านอินเวอร์เตอร์)

ความสามารถด้านอินเวอร์เตอร์ (Inverter) นั้น ก็ที่เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า แอร์ที่มีความสามารถนี้จะมีอัตราการกินไฟน้อย (ประหยัดไฟ) มีความทนทานต่อไฟตก ไฟเกิน มากกว่าแอร์ธรรมดาที่ไม่มีระบบอินเวอร์เตอร์ เพราะมันมีการแปลงไฟฟ้าจากการแสสลับ (AC Power) ไปเป็นกระแสตรง (DC Power) ก่อนที่จะจ่ายเข้าระบบ ทำให้กระแสไฟฟ้านิ่งกว่า แถมยังมีเสียงที่เงียบกว่าแอร์ธรรมดาอีกด้วย และแน่นอนว่า ความสามารถอินเวอร์เตอร์นี้ ก็ได้ถูกนำมาใช้ใน แอร์ฝังฝ้าเพดาน เฉกเช่นเดียวกับแอร์ชนิดอื่นๆ อย่าง แอร์ติดผนัง อีกด้วยเช่นกัน

4. Control via Remote Control (การควบคุมเครื่องผ่านรีโมทคอนโทรล)

การควบคุมเครื่องผ่านรีโมทคอนโทรล ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน สามารถใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยรีโมทคอนโทรลก็จะมีหลักๆ อยู่ 2 รูปแบบคือ

  1. Wire Remote Control (รีโมทคอนโทรลแบบมีสาย) : เหมาะสำหรับใช้ตามห้องเรียน ร้านอาหาร หรือร้านค้าทั่วไป ติดตั้งอยู่หลังเค้าน์เตอร์ หรือที่ที่ควรอยู่ ไม่ต้องกลัวรีโมทคอนโทรลหาย ไม่ต้องคอยเปลี่ยนถ่าน
  2. Wireless Remote Control (รีโมทคอนโทรลแบบไร้สาย) : เหมาะสำหรับใช้ตามบ้าน หรือที่พักอาศัย เพราะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนใช้งาน ค่าใช้จ่ายสูงกว่า

อย่างไรก็ตามลูกค้าก็สามารถเลือกได้ทั้ง 2 ออปชั่น กับแอร์เครื่องเดียวกันก็ได้ด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับยี่ห้อแต่ละยี่ห้อด้วยเช่นกัน

5. Control via Smartphone (การควบคุม และสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน)

Cassette Type Air Conditioner Feature Smartphone Control

ในแอร์ฝังฝ้าเพดาน บางรุ่น บางยี่ห้อ นั้นก็ยังความสามารถในการควบคุม และสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน ของแอร์ฝังฝ้าเพดาน ก็จะเหมือนกับแอร์ แอร์ในประเภทอื่นๆ นั่นก็คือการควบคุมระดับความแรงของพัดลม (Fan Level Adjustment) การปรับเปลี่ยนโหมดการทำงาน (Mode Adjustment) ปรับแผ่นปรับทิศทางลมแอร์แนวตั้ง และแนวนอน (Air Deflector Adjustment) เป็นต้น

เกร็ดน่ารู้ทั่วไปเกี่ยวกับการติดตั้ง แอร์ฝังฝ้าเพดาน

ในส่วนนี้จะพูดถึงข้อควรรู้ของการติดตั้งแอร์ฝังฝ้าเพดาน ว่ามีความยุ่งยากซับซ้อน และแตกต่างจากแอร์ชนิดอื่นๆ อย่างไรตรงไหนบ้าง

1. ท่อระบบแอร์ ของ แอร์ฝังใต้ฝ้า จะต้องมีคุณภาพที่ดีพอ

Cassette Type Air Conditioner Liquid Line Insulation Installation
ฉนวนหุ้มท่อระบบแอร์ ของ แอร์ฝังฝ้าเพดาน ต้องมีคุณภาพ และหนาพอ เพื่อป้องกันการควบแน่น

โดยปกติแล้ว ถ้าติดตั้งแอร์ก่อนที่จะทำฝ้าเพดานได้ก็เหมาะสมมาก เพราะช่างติดฝ้าเพดาน จะสามารถเก็บงานได้ละเอียดกว่า และก็ในส่วนของท่อระบบแอร์ (Liquid Line Set) ที่จะประกอบไปด้วย ท่อน้ำยาแอร์ (Refrigerant Line) และ ท่อน้ำทิ้งแอร์ (Drain Line) ของแอร์ฝังผ้าเพดาน จะต้องมีขนาดที่หนากว่าแอร์ปกติทั่วไป

สาเหตุที่จะต้องหนากว่า ก็เพราะว่าท่อน้ำยาแอร์ก็มักจะมีการควบแน่น (Condensing) จึงทำให้มีไอน้ำออกมาเกาะอยู่รอบๆ ท่อ จึงทำให้มีโอกาสสูงที่น้ำจะหยดลงฝ้าเพดาน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวฝ้าได้ เพราะฉะนั้นท่อน้ำยาแอร์ก็จะมีตัวฉนวนหุ้มท่อระบบแอร์ ที่หนากว่าปกติทั่วไป ทำให้การเดินท่อน้ำยาแอร์ฝังฝ้าเพดานนั้น ก็จะมีความยุ่งยากที่มากกว่า (รายละเอียดเพิ่มเติมของ การติดตั้งท่อระบบแอร์)

2. ระยะห่างระหว่างฝ้ากับเพดานจะต้องเพียงพอ

โดยปกติแล้ว การติดตั้งแอร์แบบฝังฝ้าเพดาน จะมีความยุ่งยากในการติดตั้งมากกกว่า แอร์ติดผนัง หรือ แอร์แขวนใต้ฝ้า โดยการติดตั้ง แอร์ฝังฝ้าเพดาน จะต้องการพื้นที่ว่างระหว่างฝ้ากับเพดานห้องอยู่ที่ประมาณ 30 ถึง 45 เซนติเมตร เพราะจะต้องเผื่อพื้นที่เอาไว้สำหรับตัวเครื่องภายในอาคาร ถ้าพื้นที่ว่างไม่ถึง ก็จะไม่สามารถติดตั้งได้

3. ทางที่ดีควรติดตั้งแอร์ฝังฝ้าเพดาน ก่อนการปิดฝ้า

โดยปกติแล้ว ถ้าช่างแอร์จะทำการติดตั้งแอร์ฝังฝ้าเพดาน เขาจะกรีดฝ้าเฉพาะตรงจุดที่จะติดตั้งตัวเครื่องเท่านั้น แต่ถ้ามีการเดินท่อระบบแอร์ ในระยะทางที่ไกลๆ มีความยาวมากกว่าประมาณ 4 เมตรขึ้นไป ก็อาจต้องมีการกรีดเพื่อเปิดฝ้าเป็นระยะๆ เพื่อให้ช่างสามารถที่จะเดินท่อระบบแอร์ได้อย่างราบรื่น และสุดท้ายก็จะต้องมีการเก็บงานฝ้า เพื่อปิดฝ้าเพดานให้เรียบร้อยอีกครั้ง หลังจบงาน แต่ทางที่ดีแล้วควรติดตั้งแอร์ฝังฝ้าเพดานก่อนจะปิดฝ้าเพดาน เป็นการดีที่สุด

4. ติดแบบเปลือย สไตล์ลอฟท์ ไม่ต้องมีฝ้า ไปเลยก็เก๋ไปอีกแบบ

หลายสถานที่ ก็หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์ฝังผ้าเพดาน เอาไว้ในฝ้า เพราะจะต้องมาต้องคำนึงว่าพื้นที่ใต้ท้องฝ้านั้นสูงเพียงพอหรือเปล่า และหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำของท่อระบบแอร์ หยดลงมาบนฝ้า ทำให้เปื่อย หรือเป็นวงๆ ดวงๆ ไม่สวย ก็จะใช้วิธีการติดแบบเปลือยไปเลย

Cassette Type Air Conditioner Loft-Style Installation
ตัวอย่างการติดตั้งแอร์ฝังฝ้าเพดาน ในร้านค้าสไตล์ลอฟท์ (Loft Style Shop)

สำหรับในบางสถานที่อย่างเช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือ บ้านสไตล์ลอฟท์ (Loft Style Shop/ Restaurant/ House) รวมถึง ร้านขายแกดเจ็ตเพื่อบ้าน และสุขภาพ habitech (สาทรซอย 10) ที่เป็นเพดานแบบเปลือย คือไม่มีฝ้าเพดาน และตั้งใจจะโชว์ตัวเครื่องภายในอาคาร และการเดินท่อน้ำยาแอร์ ท่อสายไฟต่างๆ เพราะฉะนั้นการติดตั้งแบบเปลือยนี้จะไม่ต้องคิดถึงปัญหาเรื่องฝ้าเพดานเลย

5. คำนึงถึงระบบไฟฟ้าด้วย (ระบบไฟ 1 เฟส และ 3 เฟส)

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า แอร์ฝังผ้าเพดาน จะมีทั้งขนาดเล็ก BTU น้อยไปถึงขนาดใหญ่ BTU มาก ดังนั้น จึงมีระบบไฟ 2 ประเภทด้วยกัน อันได้แก่ ระบบไฟ 1 เฟส 220 โวลต์ (Volts) ก็คือระบบไฟที่ใช้ในบ้านทั่วไป และอีกแบบหนึ่งคือ ระบบไฟแบบ 3 เฟส 380 โวลต์ (Volts) ซึ่งเป็นระบบไฟสำหรับโรงงาน แต่ก็มีบางบ้าน หรือสำนักงานที่ ใช้ระบบไฟเป็นแบบ 3 เฟส เช่นกัน ทั้งนี้ก่อนเลือกซื้อแอร์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ก็ต้องดูระบบไฟของสถานที่นั้นๆ ด้วยว่ารองรับหรือไม่

โดยแอร์ที่มีขนาดเล็กที่มี BTU ต่ำ (ประมาณ 12,000 ถึง 24,000 BTU) ส่วนใหญ่จะมีระบบไฟแบบ 1 เฟสอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะที่แอร์ที่มี BTU สูง (ประมาณ 30,000 ถึง 48,000 BTU) บางยี่ห้อ ก็จะมีออปชั่นให้เลือกทั้ง 2 ระบบไฟ (ทั้งแบบ 1 เฟส และ 3 เฟส) เพื่อให้รองรับการใช้งานตามบ้าน หรือที่พักอาศัยได้อีกด้วย ช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายสินค้าไปได้ในทุกกลุ่มลูกค้า

ในขณะที่ถ้าเป็นแอร์ที่มี BTU สูงมากๆ (ประมาณ 50,000 ถึง 60,000 BTU) ก็จะมีแต่ระบบไฟแบบ 3 เฟสอย่างเดียว เพราะแอร์ในขนาดนี้จะใช้ตามพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านั้น

เกร็ดน่ารู้ทั่วไปเกี่ยวกับ การติดตั้งท่อระบบแอร์ ของแอร์ฝังฝ้าเพดาน

Cassette Type Air Conditioner Liquid Line Installation
การติดตั้งท่อระบบแอร์ ของแอร์ฝังฝ้าเพดาน (Liquid Line Installation)

ส่วนนี้จะพูดถึงการเดินท่อ หรือติดตั้งท่อระบบแอร์ ของแอร์ฝังฝ้าเพดาน ล้วนๆ เนื่องจาก มีส่วนสำคัญมากๆ ในการใช้งานแอร์ชนิดนี้ เพราะการเดินท่อจะต้องเดินเป็นแนวนอนเลาะอยู่ด้านบนฝ้าเพดานไปก่อน ที่จะเลาะลงมาบนพื้น (เครื่องภายนอกอาคารอยู่ชั้นล่าง หรือตำแหน่งอยู่ต่ำกว่าเครื่องภายในอาคาร) หรือเลาะขึ้นไปข้างบน (เครื่องภายนอกอาคารอยู่ชั้นบน)

1. ท่อน้ำยาแอร์ ยาวมากก็ไม่ดี สั้นมากก็ไม่ได้

โดยปกติแล้ว ตัวคอมเพรสเซอร์ (Compressor) ซึ่งมีคอยล์ร้อนอยู่ภายใน กับตัวคอยล์เย็นที่อยู่ในเครื่องแอร์ในบ้านของเรา ยิ่งสองสิ่งนี้อยู่ใกล้กันมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรจะอยู่ใกล้กันมากจนเกินไป เพื่อที่จะได้ให้ตัวคอมเพรสเซอร์ กับคอยล์เย็น ได้มีการแลกเปลี่ยนน้ำยาแอร์กัน โดยความห่างระหว่างตัวคอมเพรสเซอร์ที่อยู่ข้างนอก กับตัวแอร์ที่อยู่ในอาคาร ควรอยู่ห่างกัน 2-3 เมตรเป็นอย่างน้อย

คอมเพรสเซอร์ ที่ติดตั้งอยู่นอกอาคาร มีคอยล์ร้อนติดตั้งอยู่ภายใน

ส่วนความยาวสูงสุดของการเดินท่อน้ำยาแอร์ ก็ขึ้นอยู่กับรุ่นยี่ห้อของแต่ละแบรนด์ บางยี่ห้อก็เดินท่อน้ำยาแอร์ได้ไกลสุดถึง 50-60 เมตร ทั้งนี้ต้องดูสเปคแอร์ตามโบรชัวร์ผลิตภัณฑ์ ส่วนมากแอร์ที่สามารถเดินท่อได้ 50-60 เมตรจะเป็นแอร์ไซส์ใหญ่

2. น้ำยาแอร์ไม่ต้องเติมเพิ่ม ถ้าท่อน้ำยาแอร์ไม่ยาวเกิน 10 เมตร

อีกหนึ่งปัญหาที่เกี่ยวกับการเดินท่อน้ำยาแอร์ไกลๆ คือ ส่วนใหญ่แล้ว แอร์ทุกเครื่องจะมีน้ำยาแอร์มาในระบบแล้ว ถ้าการเดินท่อไม่เกิน 10 เมตร ก็อาจจะไม่ต้องเติมน้ำยาแอร์เพิ่ม แต่ถ้ายาวเกินกว่านั้น ก็อาจจะต้องเติมน้ำยาแอร์เพิ่ม เพื่อเพิ่มแรงดันในระบบให้มีน้ำยาเพียงพอในการไหลเวียน เพื่อให้เกิดความเย็นในระบบนั่นเอง

กล่าวโดยสรุปคือยิ่งเดินท่อสั้นยิ่งดี แต่บางบ้านบางสถานที่ อาจมีข้อจำกัดให้ไม่สามารถเดินท่อน้ำยาแอร์สั้นๆ ได้ เช่นอาจจะต้องการเอาคอมเพรสเซอร์ ไปหลบที่มุมบ้านเพื่อความสวยงาม หรือด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่ไม่มีที่ติดตั้งจริงๆ ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการเติมน้ำยาแอร์เข้าไปในระบบตามความเหมาะสม

3. การติดตั้งท่อน้ำยาแอร์แบบยูแทรฟ (U-Trap) ของมันต้องมี

Cassette Type Air Conditioner Liquid Line Set U-Trap
การติดตั้งท่อน้ำยาแอร์แบบยูแทรฟ (U-Trap)

ทั้งนี้การเดินท่อยาวๆ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความต่างระดับของตัวท่อระบบแอร์ด้วยซึ่งถือเป็นข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่น  แอร์ติดตั้งอยู่ชั้นหนึ่งของตัวอาคาร ส่วนตัวคอมเพรสเซอร์ ติดตั้งอยู่อีกชั้นหนึ่งของตัวอาคาร เช่นตัวเครื่องภายในอาคารอยู่ชั้นล่าง (คอยล์เย็น) ในขณะที่ตัวเครื่องภายนอกอาคาร (คอยล์ร้อน) อยู่ชั้นบน แน่นอนว่าระดับความสูงต่างกัน ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาการไหลย้อนกลับของของเหลวที่อยู่ภายในท่อได้ ซึ่งวิธีนี้สามารถแก้ปัญหาด้วยการเดินท่อระบบแอร์ในรูปแบบยูแทรฟ (U-Trap) นั่นก็คือ ท่อที่มีการดัดงอเป็นรูปทรงที่คล้ายตัวยู (U) นั่นเอง

ดังนั้นประโยชน์ของการเดินท่อระบบแอร์แบบ U-Trap จะก่อให้เกิดประโยชน์ในทั้ง ท่อน้ำยาแอร์ และ ท่อน้ำทิ้งแอร์ ด้วยประโยชน์ดังต่อไปนี้

3.1 ประโยชน์ของการเดินท่อน้ำยาแอร์แบบ U-Trap

เพื่อป้องกันน้ำมันคอมเพรสเซอร์แอร์ ไหลย้อนกลับมาที่ตัวแผงคอยล์เย็นที่อยู่ในตัวเครื่องภายในอาคาร ซึ่งถ้าตัวน้ำมันคอมเพรสเซอร์แอร์ไหลกลับมาที่แผงคอยล์เย็นเมื่อไหร่ ก็จะทำให้แผงเกิดอาการตันได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังทำให้แอร์ทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพอีกด้วยเช่นกัน

3.2 ประโยชน์ของการเดินท่อน้ำทิ้งแอร์แบบ U-Trap

การทำท่อ U-Trap ในส่วนของท่อน้ำทิ้งแอร์นั้นก็เพื่อเป็นการป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์จากข้างนอก หรือจากตัวน้ำทิ้งแอร์ที่ค้างอยู่ในท่อเข้ามาภายในห้อง หรือภายในอาคาร ซึ่งก็จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้

การบำรุงรักษาแอร์ฝังฝ้าเพดาน (Maintenance)

การบำรุงรักษาแอร์ฝังฝ้าเพดานนั้น ก็เหมือนกับแอร์ประเภทอื่นๆ ที่จะแนะนำว่าขั้นต่ำก็ควรจะทำความสะอาด หรือล้างแอร์ก็ ปีละ 1-2 ครั้ง ในกรณีใช้งานตามบ้าน หรือที่อยู่อาศัย

ในขณะที่ถ้าแอร์ถูกติดตั้งอยู่ในร้านอาหาร พื้นที่ที่มีคนเข้าออกพลุกพล่านใช้งานเยอะ และมีฝุ่นละออง หรือความสกปรกเยอะกว่าห้องทั่วๆ ไป อาจจะต้องล้างแอร์ 3-4 ครั้งในหนึ่งปี เพื่อความสะอาดของตัวแอร์ แล้วก็ให้อากาศบริสุทธิ์ แล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงเพราะแอร์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในส่วนล่างนี้จะพูดจะพูดถึงการบำรุงรักษาแอร์ฝังฝ้าเพดานแบบเบื้องต้น ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งช่างแอร์แต่อย่างใด

การบำรุงรักษาแอร์ฝังฝ้าเพดานแบบเบื้องต้นด้วยตัวเอง (ทำเองได้ทุกเดือน)

ส่วนนี้จะพูดถึงการบำรุงรักษาแอร์ฝังฝ้าเพดานแบบเบื้องต้น ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งช่างแอร์นั่นก็คือ การถอดเแผ่นกรองอากาศ หรือที่เรียกว่าฟิลเตอร์ ที่ติดอยู่หลังแผงหน้ากากแอร์ออกมาล้างทำความสะอาดนั่นเอง

ส่วนนี้เป็นการสาธิตการถอดแผ่นกรองอากาศของ แอร์ฝังฝ้าเพดาน Daikin ออกมาล้าง โดยแผงหน้ากากแอร์เป็นแบบพรีเมี่ยมสีดำมาจากโรงงาน มาดูขั้นตอนกันเลย

Cassette Type Air Conditioner Filter Cleaning
การถอดแผ่นกรองอากาศของ แอร์ฝังฝ้าเพดาน Daikin
  1. ปิดแอร์ให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นให้ใช้นิ้วบีบสลักล็อค เพื่อปลดล็อคแผงหน้ากากแอร์ ที่อยู่ด้านนอกสุดออกมาเสียก่อน
  2. ดึงแผ่นกรองอากาศที่ติดอยู่ด้านหลังของแผงหน้ากากด้านนอกออกมา
  3. นำแผ่นกรองอากาศไปล้างน้ำด้วยน้ำสะอาด เพื่อชำระล้างฝุ่นขนาดใหญ่ที่เกาะอยู่บนแผ่นกรองออกไปให้หมดเสียก่อน
  4. นำน้ำสบู่ล้างจาน ซันไลต์ หรือน้ำยาทำความสะอาดอื่นๆ ที่มีฤทธิ์อ่อนๆ มาล้างอีกรอบ เพื่อให้เศษฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่หลุดออกไปให้หมด ก่อนที่จะใช้น้ำสะอาดชำระล้างอีกครั้ง
  5. นำเครื่องเป่าลม หรือที่เรียกว่า Blower มาเป่าตัวแผ่นกรองอากาศให้น้ำแห้งเสียก่อน หรือถ้าไม่มีเครื่องเป่าลม ก็นำแผ่นกรองอากาศไปผึ่งไว้ให้แห้งเสียก่อน
  6. เมื่อแผ่นกรองอากาศแห้งเรียบร้อยแล้ว ก็ติดแผ่นกรองอากาศกลับเข้าไปยังแผงหน้ากากด้านนอก และปิดกลับให้เรียบร้อย

การบำรุงรักษาแอร์ฝังฝ้าเพดานโดยช่างแอร์ผู้ชำนาญ (ควรทำทุกๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณ และสภาพแวดล้อมในการใช้งาน)

แอร์ฝังฝ้าเพดาน ยังจำเป็นที่จะต้องมีการล้างใหญ่เหมือนกับแอร์ประเภทอื่นๆ อีกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การถอดใบพัดของพัดลมคอยล์เย็นออกมาล้าง พร้อมกับการฉีดน้ำล้างแผงคอยล์เย็นอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งแบบนี้ก็แนะนำให้ทำปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ติดตั้งแอร์ และปริมาณการใช้งานด้วยว่าเปิดบ่อยมากน้อยแค่ไหน และสถานที่ที่ติดตั้งนั้นมีปริมาณฝุ่นมากน้อยเพียงใดเช่นกัน

บทสรุปเกี่ยวกับ แอร์ฝังฝ้าเพดาน

การใช้งานแอร์ฝังฝ้าเพดานนั้น จะสังเกตเห็นว่ามีข้อดีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสวยงาม ที่จะดูกลมกลืนไปกับฝ้าเพดาน และยังช่วยให้ประหยัดพื้นที่ใช้สอยรอบๆ ด้านของห้องไปได้เยอะ แถมยังมีการกระจายลม ที่สามารถทำได้หลายทิศทางมากกว่าแอร์ชนิดอื่นๆ (เพราะว่ามันติดอยู่กลางห้องนั่นเอง)

ในส่วนการบำรุงรักษาก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมากมาย จะติดที่มีข้อเสียตรงที่ ค่าใช้จ่ายของตัวเครื่องค่อนข้างสูง และต้องคำนึงถึงระยะห่างระหว่างฝ้ากับเพดาน รวมไปถึงฉนวนหุ้มท่อระบบแอร์ (ยางหุ้มท่อแอร์) ที่ช่างแอร์จะต้องคัดตัวที่ได้คุณภาพ และหนาเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการควบแน่น และเกิดหยดน้ำลงไปบนฝ้า เป็นเรื่องใหญ่อีก เพราะต้องมาเสียเวลา และเสียเงิน ในการซ่อมฝ้าเพดาน

คำขอบคุณ (Thank you Message)

TeddyAir by SC Cooling Center Outside
บรรยากาศภายนอก TeddyAir ร้านค้าแอร์ออนไลน์ ภายใต้ บริษัท เอส ซี คูลลิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด

สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณ ร้านค้าแอร์ออนไลน์ Teddy Air ภายใต้ บริษัท เอส ซี คูลลิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับแอร์ฝังฝ้าเพดาน กันอย่างละเอียดยิบ สำหรับใครที่กำลังมองหาแอร์รุ่นใหม่ หรืออยากที่จะเปลี่ยนแอร์ตัวเก่าก็เข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ www.teddyaircond.com หรือทาง LINE ID : @TeddyAir ก็ได้อีกด้วยเช่นกัน

ทบทวนภาพรวม
ความจำเป็นที่ต้องมีเอาไว้ครอบครอง
6
การประหยัดไฟในภาพรวม
8
ความง่ายในการดูแลรักษา
8
แหล่งที่มาTeddy Air
บทความก่อนหน้านี้IQAir HealthPro 250 เครื่องฟอกอากาศเกรดการแพทย์ พื้นที่ 169 ตร.ม. ดักจับเชื้อไวรัสได้
บทความถัดไปIQAir Atem Desk and Atem Car เครื่องฟอกอากาศพกพา สร้างอากาศสะอาดในพื้นที่ส่วนตัวของคุณ
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
cassette-type-air-conditioner<strong>ความจำเป็นที่ต้องมีเอาไว้ครอบครอง (6.0)</strong> : เหตุผลที่คนจะเลือกใช้ แอร์ฝังฝ้าเพดาน ได้แก่ เรื่องของความสวยงาม การประหยัดพื้นที่ของผนังรอบๆ ห้อง และการกระจายลมทั่วทิศทาง แต่ก็แลกมาด้วยราคาค่าตัว และค่าติดตั้งที่สูงกว่าแอร์ติดผนังอยู่ประมาณ 20-30% ในขนาด BTU และความสามารถที่เท่ากัน เหมือนกัน เลยขอสรุปว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้จำเป็นมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตั้งแอร์ฝังฝ้าเพดาน ในบ้านพัก หรือที่อยู่อาศัย แต่ถ้าตามห้างร้าน หรือที่ที่มีคนเข้าออกพลุกพล่าน เช่นร้านอาหาร ร้านค้า โชว์รูม อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แอร์ชนิดนี้มากกว่า <br /><br /> <strong>การประหยัดไฟในภาพรวม (8.0)</strong> : แอร์ฝังฝ้าเพดาน ก็มีความสามารถของระบบอินเวอร์เตอร์เหมือนกับแอร์ประเภทอื่นๆ เช่นกัน ดังนั้นถ้าแอร์มีระบบอินเวอร์เตอร์ ก็จะประหยัดไฟกว่าแอร์ที่ไม่มีระบบนี้ ดังนั้นการประหยัดไฟจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของแอร์ แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของ BTU และระบบอินเวอร์เตอร์ ด้วยว่ามีหรือไม่มี <br /><br /> <strong>ความง่ายในการดูแลรักษา (8.0)</strong> : เรื่องนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับแอร์ประเภทอื่นๆ อีกเช่นกัน ถ้าเป็นการบำรุงรักษาด้วยตัวเอง ก็จะเป็นเรื่องของการถอดเอาแผ่นกรองอากาศออกมาล้างน้ำ ซึ่งก็จะต้องปีนบันไดสูงหน่อย (เนื่องจากตัวเครื่องติดอยู่ในระดับเพดาน) แต่ถ้าเป็นเครื่องที่มี แผงหน้ากากแบบเลื่อนลงได้ ก็ดีหน่อย ไม่ต้องปีนบันไดให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ส่วนการล้างใหญ่ ก็เหมือนๆ กันทั้งหมด สุดท้ายก็ต้องให้ช่างแอร์มาจัดการอยู่ดี

3 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้