การแต่งงานแบบคริสต์ แต่งงานในโบสถ์

ช่วงนี้ เพื่อนผม (เพื่อนผู้ชาย) ทั้ง เพื่อนที่โรงเรียนเก่า หรือ เพื่อนมหาลัย ก็ถึงเวลาเข้าคิววิวาห์ กันเป็นแถว ก็อย่างว่าแหละครับ วัยผมมันก็อายุ 30 ต้นๆ กันหมดแล้ว หมดวัยกินดื่มเที่ยวกันแล้ว หันมามองเรื่องของอนาคตกันมากขึ้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ละครับ เรื่องปกติ

หากใครที่แฟน (ผู้หญิง) อายุต่ำกว่า 30 ก็อาจจะยังไม่รีบเท่าไหร่ เนื่องจากอาจรอได้อีกสักหน่อย แต่หากใครที่อายุเท่ากัน หรือ อายุมากกว่าละก็ต้องรีบกันหน่อยละครับ เดี๋ยวเปิดอู่มีทายาท มีลูกหลาน ไม่ทันให้ พ่อแม่ของเราได้เลี้ยงหลานกัน

แน่นอนพิธีของงานแต่งงานมีหลากหลายแบบ หลายสไตล์ และ หลายศาสนา ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายเจ้าบ่าว และ เจ้าสาว จะเลือกแบบไหน นำมาประกอบพิธีเท่านั้นเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นพิธีแบบไทย – จีน และ ศาสนาพุทธ หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (หรือทั้งสองฝ่าย) ที่นับถือศาสนาคริสต์ คราวนี้ก็จะต้องมี การจัดพิธีแต่งงานในโบสถ์ (แบบฝรั่ง) ที่เราเห็นๆ กันตามมิวสิควีดีโอ หรือ ภาพยนตร์ต่างประเทศ (ลองดูตัวอย่างมิวสิควีดีโอ วง Boy Band โปรดของผมยุค 90′ ปลายๆ อย่าง 98 Degrees เพลงนี้มีชื่อว่า I Do – Cherish You ครับ)

แน่นอนว่า การแต่งงานแบบคริสต์ หรือ จัดพิธีแต่งงานในโบสถ์ นั้นหลายคนใฝ่ฝันอยาก จัดพิธีแบบนี้ เพราะ จัดในโบสถ์ที่สวยๆ มีเพลงขับร้องที่ไพเราะ การจัดดอกไม้ตกแต่ง ประดับประดาอย่างสวยงาม เป็นใคร ใครก็อยากจัด หรือแม้แต่ผู้คนที่มาร่วมพิธี ก็อยากให้

แต่การจัดพิธีแต่งงานในโบสถ์ นั้นดูทุกอย่างเหมือนจะดูดีและง่ายไปหมด แต่หารู้ไม่ การจัดพิธีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหากง่าย ใครๆ ก็จัดกันได้หมด ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดมากมาย ผมขอเรียงลำดับไปเป็นข้อๆ เลยนะครับ (ทั้งหมดนี้ เล่าจะประสบการณ์ตรง ของผม ไม่ได้เป็นทฤษฎี จริงจังอะไรมาจากไหนนะครับ ผิดพลาด ตกหล่นส่วนใดไปต้องขออภัยด้วยนะครับ)

ขั้นตอนการ แต่งงานแบบคริสต์

ในส่วนนี้ผมขอเล่าขั้นตอนการเตรียมตัว การแต่งงานในโบสถ์ ตามแบบฉบับของผมเองเลยนะครับ ขาดตกบกพร่องอะไรไปตรงไหน ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

1. เลือกโบสถ์ที่จะใช้ประกอบพิธีรับศีลสมรส

ตรงจุดนี้เชื่อว่า คริสตชนหลายๆ ท่านคงจะเลือกเอา โบสถ์ หรือวัด ที่ตัวเองคุ้นเคย หรือเข้ามิซซาเป็นประจำ มาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ ผู้ใหญ่พามา จากที่ผมเห็น โบสถ์ (วัด) ในกรุงเทพ ส่วนใหญ่ที่นิยมจัดพิธีแต่งงานเห็นจะมีตั้งแต่

  • โบสถ์พระมหาไถ่ (ซอยร่วมฤดี)
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2651-5251-53 (เบอร์ตึกใหม่)
  • โบสถ์แม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์)
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2266-4849 และ 0-2236-2727
  • โบสถ์อัสสัมชัญ (อาสนวิหารอัสสัมชัญ)
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2234-4592 และ 0-2234-8556
  • โบสถ์เซนต์หลุยส์
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2211-0220 และ 0-2213-0199
  • โบสถ์เซนต์จอห์น
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2938-7783-4
  • โบสถ์พระกุมารเยซู กม.8
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2256-6578 และ 0-2256-6305
  • โบสถ์แม่พระฟาติมา (ดินแดง)
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2245-1039
  • โบสถ์ดอนบอสโก
    • เบอร์ติดต่อ : 0-2652-9625 -30 และ 0-2254-4600-04

2. การอบรมคู่แต่งงาน

และหลังจากที่เราได้ติดต่อไปที่โบสถ์ เพื่อทำการ แจ้งความประสงค์ขอแต่งงานในโบสถ์นั้นๆ แล้วโดยปกติทางโบสถ์จะให้เราไปทำการ “อบรมคู่แต่งงาน” ซึ่งการแต่งงานด้วยพิธีแบบคริสต์นั้น คริสต์ศาสนิกชนทุกท่านจะต้องผ่านการ อบรมคู่แต่งงาน จาก สำนักวินิจฉัยคดี อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยปกติในกรุงเทพฯ จะมีการจัดอบรม 2 ที่เป็นหลัก นั่นคือ

วัดอัสสัมชัญ (ตรอกโอเรียนเต็ล บางรัก กรุงเทพฯ)
โทร : 0-2233-8712, 0-2233-7441, 0-2234-1774

วัดพระมหาไถ่ (ซอยร่วมฤดี)
โทร : 0-2651-5251-53

ซึ่งตารางการอบรมของทั้ง 2 ที่นี่ สิ่งที่เหมือนกันคือ จะมีการ อบรมทุกวันอาทิตย์ ช่วงเช้าเวลา 8.00 – 12.00 น. และค่าลงทะเบียนอบรมคู่ละ 200 บาท เท่านั้น ซึ่งสามารถแจ้งชื่อสกุล ของคู่บ่าวสาว ให้กับเจ้าหน้าที่วัดได้เลย ส่วนการชำระเงิน สามารถนำมาจ่ายวันอบรม หรือ ชำระก่อนก็ได้เช่นกัน

ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันคือ วัดพระมหาไถ่ จะอบรมทุกสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ของเดือน ส่วน วัดอัสสัมชัญ จะทำการอบรมทุกสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือน เรียกได้ว่ามีอบรมคู่แต่งงานกันทุกอาทิตย์เลยก็ว่าได้ ส่วนสถานที่ก็ ไม่ห่างไกลกันมาก วัดพระมหาไถ่ อยู่แถวเพลินจิต (ซ.ร่วมฤดี – หลังสถานฑูตสหรัฐอเมริกา) ส่วน วัดอัสสัมชัญ (บางรัก ตรอกโอเรียนเต็ล) แต่หากเป็นต่างจังหวัด ผมไม่ทราบนะครับ

3. ไปอบรมคู่แต่งงาน ตามวันและเวลาที่กำหนด (ได้ลงทะเบียนไว้)

เมื่อถึงเวลาที่เรานัดกับทางวัด (สถานที่อบรมคู่แต่งงาน) เราก็ไปตามวันเวลาที่กำหนด โดยบรรยากาศการอบรมก็จะดูชื่นมื่น เพราะคนที่ไป (ไปเป็นคู่) ก็จะเข้าสู่พิธีวิวาห์ ซึ่งเป็นงานมงคลกันทั้งนั้น บรรยากาศการอบรม ในแต่ละคู่ก็จะดูสดใส ชื่นมื่น กระหนุงกระหนิง ผิดกับคู่ที่แต่งงานแล้วไปได้สักระยะ ฮาๆ (อันนี้ทางวิทยากรที่เข้ามาอบรมบอก ประสบการณ์ของเค้ามานะครับ)

บรรยากาศขณะการ อบรมคู่แต่งงาน ของคู่บ่าวสาว
บรรยากาศขณะการ อบรมคู่แต่งงาน ของคู่บ่าวสาว

สำหรับคู่ผมเลือกอบรมคู่แต่งงานที่ วัดพระมหาไถ่ (ซ.ร่วมฤดี) จำนวน 2 วัน เป็นวันอาทิตย์ช่วงเช้า โดยขอพูดคร่าวๆ เลยคือ การอบรมทางวัดก็จะมีเชิญวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และ ประสบการณ์ ของการใช้ชีวิตคู่หลังแต่งงาน ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง จะมีวีธีการแก้ไข และ รับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังแต่งงานได้อย่างไร สังเกตุวิทยากรแต่ละท่านก็มีอายุมากๆ แล้วทั้งนั้น ก็แหงหละ ประสบการณ์ ก็จะแปรผันตามอายุที่มากขึ้นไปด้วย

ซึ่งการอบรม จะถูกแบ่งออกเป็น เซสชั่น (Session) ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ เซสชั่นละประมาณ 45 นาที – 60 นาที (1 ชั่วโมง) พอจบในแต่ละเซสชั่นก็จะมีเบรค ให้ลงไปดื่มน้ำ ทานขนม กันประมาณ 5 – 10 นาที แล้วก็มาอบรมกันต่อ ไม่มีการสอบ เป็นการนั่งฟังเฉยๆ โดยเนื้อหาที่ผู้เข้ารับการอบรมสนใจ ที่สุดคือ เรื่องของเพศศึกษา โดยเขาได้เชิญคุณหมอ มาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มาพูดเรื่องของ การคุมกำเนิด โดยวิธีธรรมชาติ การนับวัน นับระยะปลอดภัย หน้า 7 หลัง 7 คืออะไร ซึ่งผมเองก็ได้ยินคำนี้มานาน แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็รู้กันวันนี้นะแหละ

ซึ่งจากที่บอกข้างต้นว่า การคุมกำเนิด โดยวิธีธรรมชาตินั้นจะไม่ใช่อุปกรณ์ใดๆ ช่วย อาทิเช่น ยาคุมกำเนิด หรือ ถุงยางอนามัย เพราะทางศาสนาคริสต์ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ห้ามมีการคุมกำเนิด ด้วยวิธีใดๆ เพราะถือเป็นการขัดขวางการเกิดของพระบุตรของพระเจ้า ให้คุมโดยธรรมชาติ นับวันเท่านั้น”

การอบรมเป็นการนั่งฟังวิทยากรพูด ฟังพระสงฆ์เทศน์ ให้ฟัง ไม่ได้มีการสอบ หรือวัดผล อะไรแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากจบการอบรม ตรงจุดนี้ก็ทำให้ผมได้เข้าใจการแต่งงาน ของศาสนาคริสต์มากขึ้น (เพราะยังไม่เคยแต่งมาก่อนนิ) ซึ่งเขาถือว่าการแต่งงานนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ และ สำคัญที่สุด ของคริสตชนเลยก็ว่าได้

ประกาศนียบัตร เมื่อจบการ อบรมคู่แต่งงาน
ประกาศนียบัตร เมื่อจบการ อบรมคู่แต่งงาน

4. พระสงฆ์เรียกสัมภาษณ์ หรือ การสอบถามสอบสวน

หลังจากเสร็จพิธีการอบรม เราจะได้รับใบ ประกาศนียบัตร จากทางโบสถ์ที่เราผ่านการอบรมมา เราก็นำใบประกาศนียบัตรไปยื่นให้กับพระสงฆ์ (บาทหลวง) ที่จะประกอบพิธีรับศีลสมรส ให้กับเรา หลังจากนั้นพระสงฆ์ ก็จะสัมภาษณ์ ชื่อเป็นทางการเรียกว่า การสอบถามสอบสวน (ชื่อดูน่ากลัวเนอะ แต่จริงๆ ไม่มีอะไรครับ มันก็คือการสัมภาษณ์นะแหละ) โดยจะมีการบันทึกประวัติของคู่แต่งงานทั้งสองฝ่าย ก่อนเข้าพิธีแต่งงาน

โดยวันที่ผมไป ทางพระสงฆ์ก็จะให้กรอกเอกสารในแบบฟอร์มที่เรียกว่า “แบบสอบถามก่อนการรับศีลสมรส” หากใครไม่เห็นภาพ ลองกดตรงนี้เพื่อดูตัวอย่างแบบฟอร์ม ได้เลยครับ ซึ่งคู่แต่งงานทั้งสอง (เจ้าบ่าว เจ้าสาว) จะต้องกรอก คนละ 1 ชุด ระหว่างกรอก พระสงฆ์ก็จะถามเพื่อตรวจสอบข้อขัดขวาง อาทเช่น เคยแต่งงานมาก่อนหรือไม่ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าการแต่งงานในครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฏของพระศาสนจักร

ตัวอย่างแบบฟอร์ม การสอบถามสอบสวน ก่อนการรับศีลสมรส ของคู่สมรส
ตัวอย่างแบบฟอร์ม การสอบถามสอบสวน ก่อนการรับศีลสมรส ของคู่สมรส

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงความเข้าใจในพระศาสนจักร การเป็นคริสตชนที่ดี เน้นย้ำถึงการใช้ชีวิตคู่ อยู่ด้วยกันที่ได้ การเข้าอกเข้าใจกัน การร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน และ ที่สำคัญคือ การให้อภัยซึ่งกันและกัน ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

เอกสารที่ต้องเตรียมไปวันสัมภาษณ์

1. ใบรับรองศีลล้างบาป (เป็นตัวคัดสำเนา ไม่ใช่ตัวจริงที่ได้รับมาตั้งแต่สมัยตอนเกิดนะ) ซึ่งสามารถออกได้ โดยวัดที่คู่แต่งงานที่เป็นคริสต์ รับศีลล้างบาป (ขณะยื่นต้องมี มีอายุไม่เกิน 6 เดือน)

หมายเหตุ : หากคู่แต่งงาน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ (คาทอลิก) นั้นจะต้องมีเอกสารเพิ่มเติมเพื่อ รับรองว่าท่านไม่เคยแต่งงานหรือมีคู่ครองใดๆ มาก่อน (มีอิสระที่จะแต่งงาน ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญมาจากฝ่ายใด) โดยผู้รับรอง ท่านได้คือ บิดาหรือมารดา หรือ ญาติผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้เท่านั้น (ซึ่งเอกสารเหล่านี้ สามารถขอได้จากวัดที่เราเข้าไปอบรมคู่แต่งงาน)

2. แบบสอบถามก่อนรับศีลสมรส (ทางพระสงฆ์ หรือ คุณพ่อเจ้าวัด จะเป็นผู้เตรียมมาให้)

3. รูปถ่ายสี 2 นิ้ว 2 ใบ ของคู่สมรสทั้งสองคน

4. สำเนาบัตรประชาชน ของคู่สมรสทั้งสองคน (ควรนำบัตรประชาชนตัวจริง ติดไปด้วยทั้งสองคน)

5. ประกาศนียบัตรการผ่านการอบรมคู่แต่งงาน เราจะได้เอกสารนี้มาในวันสุดท้ายของการอบรม (วันที่สองของการอบรม)

4. การเตรียมลำดับพิธีการ : ตรงจุดนี้ส่วนใหญ่แล้วทางวัดเขาจะเป็นฝ่ายดูแลจัดการให้ ซึ่งค่าดอกไม้ก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของดอกไม้ และ ประเภทของดอกไม้ หากเป็นประเภทพันธุ์ หรือสีที่หายากในช่วงนั้นๆ ก็แน่นอนว่าราคาต้องสูงขึ้นตามลำดับ รวมไปถึงเด็กช่วยมิซซาประมาณ 2 คน

นอกจากนี้แล้วยอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ เลยก็คือ นักขับร้องประสานเสียง ในพิธีมิซซา ซึ่งจะเป็นผู้ขับกล่อมเสียงเพลง ในโบสถ์ จุดนี้ก็ลองติดต่อผู้ประสานงานในโบสถ์ หรือ อาจจะหามาจากข้างนอกก็ได้เช่นกัน

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง งานแต่งงานในโบสถ์ :

– ค่านักขับร้อง (ประสานเสียง) : ในพิธีที่โบสถ์ ควรมีความรู้เรื่องการขับร้องประสานเสียงในโบสถ์มาก่อนด้วยเช่นกัน

– ค่าตกแต่งดอกไม้ ที่โบสถ์ ในวันพิธี : ส่วนมากทางโบสถ์จะมีบริการให้อยู่แล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายก็อยู่ที่ตกลง และความหายากง่าย ของดอกไม้ ในช่วงเวลานั้นๆ ด้วยเช่นกัน

– ค่าบำรุงวัด : อันนี้ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาของคู่บ่าวสาว

5. ท่องบทสวดก่อนพิธีจริง : จุดที่สำคัญที่สุดของพิธีมิซซารับศีลสมรสนั้นคือ คู่บ่าวสาว จะต้องอ่านประโยคๆ นึงให้แก่กันและกัน ซึ่งประโยคนี้ดูเหมือนสั้นๆ แต่ใจความนั้นลึกซึ้ง เกินคำบรรยายจริงๆ หลายคนเตือนว่าประโยคนี้จะต้องท่องให้ดีๆ และยังเน้นย้ำอีกว่า ไม่ควรอ่านแบบมีสคริป เพราะมันจะทำให้ดูไม่จริงใจ พูดภาษาชาวบ้านคือดูไม่ขลัง อะไรประมาณนั้น โดยประโยคดังกล่าวนี้ นี้มีใจความสั้นๆ แค่ 2-3 บรรทัด ดังต่อไปนี้

เจ้าบ่าวกล่าว : ข้าพเจ้า … (ออกชื่อตัวเอง) … ขอรับคุณ … (ออกชื่อเจ้าสาว) … เป็นภรรยา และขอสัญญาว่าจะถือซื่อสัตย์ต่อคุณทั้งในยามสุข และ ยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและเวลาสบาย เพื่อรักและยกย่องให้เกียรติคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่

เจ้าสาวกล่าว : ข้าพเจ้า … (ออกชื่อตัวเอง) … ขอรับคุณ … (ออกชื่อเจ้าบ่าว) … เป็นสามี และขอสัญญาว่าจะถือซื่อสัตย์ต่อคุณทั้งในยามสุข และ ยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและเวลาสบาย เพื่อรักและยกย่องให้เกียรติคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่

เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว กับการจัดเตรียมงานแต่งงานในโบสถ์ ซึงสุดท้ายแล้วนั้นขึ้นอยู่กับ ความสมัครใจของ คนสองคน (เจ้าบ่าว และ เจ้าสาว) และการที่ไม่มีข้อขัดขวาง (ไม่เคยสมรสมาก่อน และ ได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่าย) ในการที่จะมาใช้ชีวิตร่วมกันไปตลอดชีวิต นั่นเอง ขอพระผู้เป็นเจ้าอวยพรทุกคนครับ 🙂

1 ความคิดเห็น

  1. สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้รับรอง ว่าเราไม่แต่งงานมาก่อน และนับถือศาสนาพุทธ ใช้ของพ่อบุญธรรมได้ไหม เพราะ พ่อแม่ ตัวจริงแยกทางและติดต่อไม่ได้ มีแต่พ่อบุญธรรมที่คอยดูแลมาตลอด สามรถใช้เอกสารพ่อบุญธรรมได้ไหมค่ะ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้