วิธี ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ ขวดพลาสติก
บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับวิธีการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ หรือ ขวดพลาสติก (ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Hydroponic Vegetable Gardening in Bottle“) กันว่ามีกระบวนการ และ วิธีการปลูกอย่างไร มีความยุ่งยากซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน ต้องดูแลมันมากน้อยเพียงใด ? ในระหว่างกำลังเจริญเติบโต เพื่อที่จะได้ผักที่สมบูรณ์ และ มาจากน้ำพักน้ำแรง ฝีมือเราจริงๆ ไปรับประทานอย่างภาคภูมิใจ นอกจากนี้แล้วยังได้ความสะอาด และ ประหยัดเงินในกระเป๋าของเราอีกด้วย เนื่องจากมีการลงทุนไม่มากนัก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เกิดจากประสบการณ์ที่ทดลองปลูกเอง โดยภรรยาผม เรียกได้ว่า ภรรยาปลูก สามีจับมาเขียนรีวิวแบ่งปันกันต่อซะเลย
ก่อนหน้านี้ผมเคยได้ยิน เรื่องของการปลูกผักไว้กินเอง บนคอนโดมิเนียม กันมาอยู่พักใหญ่ๆ ตั้งแต่เข้ามาอยู่เมื่อ 3-4 ปีก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่นัก เพราะกลัวว่าปลูกแล้ว จะมีความยุ่งยากซับซ้อน เสียเวลาโน่นนี่ เลยล้มเลิกความตั้งใจออกไป
โดยในแต่ละวัน ปกติเมนูอาหารเช้า ของผมจะมี ขนมปังแซนวิชทูน่า ไข่ดาว กล้วยหอม และปิดท้ายด้วยผักสลัด เพื่อช่วยเรื่องของการขับถ่าย โดยในส่วนของผักสลัดนั้น ได้เลือก ผักกาดหอม (Lettuce) ด้วยเหตุผลที่หาซื้อง่ายตามซุปเปอร์มาร์เกต หรือ ตลาดสด ทั่วๆ ไป โดยกินแบบนี้มาทุกวัน 4 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีเบื่อ (เพราะภรรยาทำให้ 🙂 นั่นเอง)
แต่ด้วยความที่ บางวัน ตลาดปิดแล้ว ของหมด แม่ค้าไม่มาขาย หรือ กลับบ้านดึก ซุปเปอร์มาร์เกต ต่างๆ ปิดแล้วผลลัพธ์คือ ก็อดกินกันไปตามระเบียบ ด้วยเหตุนี้เอง จึงหันมาหาวิธีการปลูกผักเองดีกว่า ลองมาดูวิธีกันเลย
ก่อนที่จะอ่านบทความต่อไปผมต้อง ขอออกตัวไว้ก่อนว่า ตัวผมเอง และ ภรรยา ไม่ได้มีความรู้เชิงลึกในเรื่องของ การเกษตรใดๆ ทั้งหมดนี้อาศัยว่าทดลองปลูกเอง และ ได้ผลจริงๆ จึงนำมาบอกต่อ แบ่งปันกันเฉยๆ ดังนั้นในทางทฤษฎี อาจจะมีผิดบ้าง ถูกบ้าง ตรงจุดนี้ต้องขออภัยล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
อ๋อ ! และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ นี้มีข้อจำกัด อยู่เหมือนกัน ถ้าหากต้องการทราบ ลองเลื่อนลงไปอ่านด้านล่าง ในส่วนของ บทสรุปที่ควรรู้ ของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ กันก่อนได้เลยนะครับ
ผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponic Vegetable) นั้นมีดียังไง ?
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponic Vegetable Gardening) นั้นเป็น การปลูกผักสวนครัว โดยไม่ใช้ดิน แต่เป็นการให้สารอาหารผ่านน้ำ นี่คือที่มาของคำว่า “Hydroponic” นั่นเอง ซึ่งคำว่า “Hydro” แปลว่า “น้ำ” นั่นเอง ซึ่งข้อดีของการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ นั้นมีอยู่มากมาย เท่าที่รวบรวมได้ ก็มีประมาณนี้
- ไม่ใช้ดิน : เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า “ดิน” นั้นมีสารเจือปนอยู่มากมาย ไหนจะเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์เล็กๆ ต่างๆ อย่าง ตัวหนอน ฯลฯ
- ปลูกง่าย : ไม่ต้องขนย้ายดิน ขึ้นมาปลูกบนคอนโดมิเนียม สกปรก เลอะเทอะ เสียเวลาทำความสะอาดกันอีก
- ศัตรูพืชน้อย : แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ส่วนมากจะเป็น แมลงเพลี้ยตัวเล็กๆ ที่จะคอยมาระราน ผลผลิตของคุณ
- ราคาถูก : ลงทุนไม่มาก เพียงแค่ซื้อมล็ดพันธุ์เล็กๆ มาซองละไม่กี่สิบบาท ได้มาหลายเมล็ด รวมไปถึง สารละลายธาตุอาหาร A และ B ในส่วนอุปกรณ์ที่เหลือ ก็สามารถใช้วัสดุเหลือใช้ อย่าง ขวดน้ำพลาสติก ฟองน้ำ กระดาษ ได้เลย
- คาดการณ์ผลผลิตง่าย : การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ สามารถคาดเดา ระยะเวลาผลิดอกออกผล ได้ง่าย เนื่องจากเวลาค่อนข้างจะแน่นอน
วัสดุที่ใช้ในการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอแนะนำ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ ว่าจะต้องใช้อะไรบ้าง ถ้าลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่า สิ่งของเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งของหายาก แต่อย่างใดเลย สามารถหาได้ง่ายๆ ตามท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเดินเข้า ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ร้านเดียวนี่ แทบจะหาอุปกรณ์เหล่านี้ได้เกือบหมด
หมายเลข (Number) |
ชื่อเรียกอุปกรณ์ (Material Name) |
วัตถุประสงค์ (Purpose of Use) |
1 | ขวดน้ำพลาสติก (Plastic Bottle) |
จริงๆ เป็น ขวดพลาสติกอะไรก็ได้ เปรียบเสมือนกระถางปลูก ใช้ในกรณีที่ต้นกล้า มีความสมบูรณ์แข็งแรง พอแล้ว |
2 | กระบอกฉีดน้ำ ฟ็อกกี้ (Foggy Spray Bottle) |
ใช้พ่นน้ำลงในขณะเพาะเมล็ดพันธุ์ ให้เกิดความชุ่มชื้น ในระยะแรก |
3 | กระดาษทิชชู่ (Tissue Paper) |
เพื่อให้เมล็ดที่เพาะพันธุ์ เกิดความชุ่มชื้น อยู่ตลอดเวลา และ งอกรากออกมา |
4 | สารละลายธาตุอาหาร A และ B (หรือ ปุ๋ย A B) (Hydro A&B Nutrients) |
ช่วยป้อนอาหารที่สำคัญ ให้กับพืชตระกูลผักของเรา ให้เติบโต และ ยั่งยืน |
5 | ภาชนะเพาะเมล็ด (Seed Tray) |
วัสดุจำพวก กล่องพลาสติกขนาดเล็ก หรือ จานข้าว เพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ให้ เกิดรากแก้วสีขาว และผลิใบเลี้ยงออกมาเป็นต้นกล้า ในช่วงเริ่มต้น |
6 | เมล็ดพันธุ์* (Seed) |
เมล็ดพันธุ์ ตามลักษณะ และ ชนิดของพืชที่ต้องการปลูก หาซื้อได้ตาม ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร |
7 | แผ่นฟองน้ำ (Sponge Sheet) |
แผ่นฟองน้ำ นำมาตัด ให้ได้ขนาดประมาณ 1 x 1 นิ้ว เพื่อใช้ยึดรากแก้วที่งอกออกมา ในขั้นต้นกล้า ให้ยาวขึ้น และ กลายเป็นต้นกล้าในลำดับต่อไป เปรียบเสมือนดิน |
8 | กรรไกร (Scissor) |
ใช้ตัดแต่งฟองน้ำ ให้ได้ตามขนาดที่เหมาะสม รวมไปถึง ตัดกระดาษ เพื่อปิดคลุมขวดน้ำพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้แสงเข้าไปในขวด |
9 | ไซริงค์ฉีดยา หรือ กระบอกฉีดยา (Syringe) |
ใช้สำหรับดูดสารละลายธาตุอาหาร A และ B จากขวดที่ซื้อมา ลงไปผสมในขวดที่เราเตรียมเอาไว้ ให้ได้ตามอัตราส่วนที่ทางผลิตภัณฑ์ ได้ระบุไว้ |
10 | กระดาษ A4 (A4 Paper) |
เพื่อใช้ปิดคลุมขวดพลาสติกใส ป้องกันแสงแดดเข้าไปในขวด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดตะไคร่น้ํา |
11 | เทปใส (Transparent Tape) |
หรือที่รู้จักกันในนามคำว่า “สก๊อตเทป” ใช้ยึดติดกระดาษ A4 กับ ขวดน้ำพลาสติกใส |
*หมายเหตุ : เมล็ดพันธุ์พืชผัก ในแต่ละชนิดนั้น จะมีวิธีการดูแลรักษา และ ระยะเวลาเจริญเติบโต ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นกรุณาศึกษาหาข้อมูล สอบถามผู้ขาย หรือ อ่านฉลากคำแนะนำ ด้านหลังซองเมล็ดพันธุ์ และ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของ ปริมาณ และ คุณภาพ ของน้ำ และ ออกซิเจน
ขั้นตอนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มขั้นตอนของการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ กันเลยดีกว่า โดยผมสรุปออกมาให้ มีแค่ 6 ขั้นตอนง่ายๆ เท่านั้น มาดูกันเลย
1. เตรียมอุปกรณ์ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ให้พร้อม
จัดเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดให้พร้อม โดยอ้างอิง จากรายการ “วัสดุที่ใช้ในการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ” ในหัวข้อด้านบน ขาดเหลืออะไรไปซื้อมาก่อน
2. เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ พืชผัก ที่ต้องการจะปลูก
หลังจากนั้นก็ไป ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร หรือ ตามห้างสรรพสินค้า เพื่อไปซื้อเมล็ดพันธุ์ของพืชผัก ที่ต้องการจะปลูก แนะนำให้ปลูกผัก ที่โตง่ายๆ กันก่อน
3. นำเมล็ดพันธุ์ วางบนกระดาษทิชชู่ ใส่ภาชนะเพาะเมล็ด ให้เรียบร้อย
นำภาชนะเพาะเมล็ด ซึ่งอาจจะเป็น กล่องพลาสติกขนาดเล็ก หรือ จานข้าวใบเล็ก เพื่อที่จะใช้เป็น ภาชนะเพาะเมล็ด ให้เกิดรากสีขาว โดยเป็นการนำ เอา เมล็ดพันธุ์วางบนกระดาษทิชชู่ที่ชุ่มน้ำ และ ควรจะต้องหาวัสดุ มาปิดกัน ป้องกันแสงเข้ามาที่ตัวเมล็ดพันธุ์
ระหว่างขั้นตอนนี้ ผู้ปลูกควรจะต้องหมั่นสังเกต ปริมาณความชุ่มชื้นของน้ำ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้ลดลง เพราะมิเช่นนั้นรากอาจจะไม่งอกออกมาจากเมล็ดพันธุ์
ข้อความระวัง ! : น้ำที่ใช้ควรจะเป็นน้ำสะอาด ที่ปราศจากสารเคมีใดๆ อาทิ น้ำที่ผ่านการกรองจากเครื่องกรองน้ำ หากไม่มีเครื่องกรองน้ำ ก็สามารถใช้น้ำดื่ม ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดได้เช่นกัน ไม่ควรใช้น้ำประปา เนื่องจากมี สารคลอรีน หรือ สารเคมีอื่นๆ ในน้ำ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ให้ช้าลงได้ หรืออาจไม่โตเลยก็ได้
4. ย้ายเมล็ดพันธุ์ ไปวางบน แผ่นฟองน้ำขนาด 1 x 1 นิ้ว ที่ชุ่มน้ำ
หลังจากที่ ผ่านขั้นตอนที่ 3 ได้ประมาณ 1-3 วัน ถ้าหากเราสังเกตเห็นรากเล็กๆ ที่มีลักษณะจะเป็น รากสีขาว หรือ รากแก้ว (Taproot) งอกออกมาจากตัวของเมล็ดพันธุ์
เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ให้นำ เอา เมล็ดพันธุ์ ที่วางอยู่บนกระดาษทิชชู่ ในภาชนะเพาะเมล็ด และนำไป วางบน แผ่นฟองน้ำแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 1 x 1 นิ้ว ที่มีร่องกากบาทแทน แต่ยังคงวางอยู่ใน ภาชนะเพาะเมล็ด เหมือนเดิม (ในส่วนของ ร่องกากบาท สามารถทำได้โดยใช้ กรรไกรบาก หรือ ทำให้มันเป็นรอย นั่นเอง) และ ฟองน้ำนี้ ก็ควรจะต้องมีความชุ่มน้ำด้วยเช่นกัน
โดยการวางเมล็ดพันธุ์ที่มีรากแก้วงอกออกมาแล้วบนฟองน้ำนั้น จะต้องวางในลักษณะ เอารากมันจุ่มลงไปในฟองน้ำ เพื่อเป็นการกำหนดทิศทาง ให้รากแก้วจะต้องปักทิ่มทะลุฟองน้ำลงไป
ข้อความระวัง ! : ควรหมั่นดูปริมาณระดับน้ำในภาชนะเพาะเมล็ดพันธุ์ ให้อยู่ระดับเกินครึ่งหนึ่งของภาชนะ ระวังอย่าให้แห้ง หรือ ลดต่ำจนเกินไป ซึ่งการที่น้ำลด อาจจะเกิดได้จากทั้ง 2 กรณีคือ
- น้ำระเหยออกไปในอากาศ
- ดูดซึมน้ำไปหล่อเหลี้ยงต้นกล้านั่นเอง
5. ย้ายต้นกล้า (เมล็ดพันธุ์ที่โตแล้วในระดึบนึง) ไปใส่ในขวดน้ำพลาสติก
หลังจากที่เราได้วางเมล็ดพันธุ์ลงในฟองน้ำ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะสังเกตเห็นว่า รากแก้ว จะทะลุผ่านฟองน้ำ ลงไปสู่ด้านล่างเอง (แต่ก็มีรากแก้ว บางเส้น ที่อาจจะออกนอกลู่นอกทาง ออกมาข้างๆ ของฟองน้ำ บ้าง ก็ไม่เป็นไร) และนอกจากนี้แล้ว ในช่วงนี้เรายังจะสามารถเห็น ใบเลี้ยง (Cotyledon) ผลิออกมาจากเมล็ดพันธุ์ ด้วยเช่นกัน
(ต่อจากนี้ผมขอเรียกว่า “ต้นกล้า (Young Plant)” แทนคำว่า “เมล็ดพันธุ์ (Seed)” แล้วนะครับ เนื่องจากมันเจริญเติบโตจนเกินกว่าที่จะเรียกว่าเมล็ดพันธุ์แล้ว)
ขั้นตอนที่กล่าวมา ตั้งแต่ย้าย เมล็ดพันธุ์ลงในฟองน้ำ → ใบเลี้ยงผลิออกมา → รากแก้วผ่านทะลุฟองน้ำลงมาข้างล่าง ทั้งหมดนี้จะกินเวลาอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ (อาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่าเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับ ประเภทของพืชที่ปลูก และ สิ่งแวดล้อมภายนอก อาทิ อากาศ ความชื้นในอากาศ แสงแดด) นั่นก็แสดงว่า ต้นกล้า ของเราโตขึ้นมาในระดับนึงแล้ว ตรงกับสำนวนไทย ที่เรียกว่า “ปีกกล้าขาแข็ง” แล้วนั่นเอง
และเมื่อทุกอย่างพร้อม เราจะต้องย้ายบ้านให้กับต้นกล้า (ขั้นตอนที่เรียกแล้วเมล็ดพันธุ์ ขั้นตอนนี้เรียก “ต้นกล้า” ละ) กันอีกครั้ง โดยจะต้องมีการตระเตรียมบ้านใหม่ (ขวดน้ำพลาสติก) กันสักเล็กน้อย ดังต่อไปนี้
5.1 ผสม สารละลายธาตุอาหาร A และ B ใส่ขวดน้ำพลาสติกรอเอาไว้ก่อน
ก่อนที่จะย้ายต้นกล้าลงมาในขวดน้ำนั้น เราจะต้อง เอา สารละลายธาตุอาหาร A และ B มาเติมลงในน้ำ เพื่อให้สารอาหาร มาหล่อเลี้ยงต้นไม้ พืชผักของเรา ให้เจริญเติบโต และ มีชีวิตต่อไป คล้ายๆ กับเด็กทารก ที่จะสามารถเจริญเติบโตได้จากนมแม่ เช่นกัน
สำหรับการผสม สารละลายธาตุอาหาร A และ B นั้น จะมีอัตราส่วนการผสมที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ประเภทของผักที่ต้องการปลูก : แน่นอนว่าผักแต่ละชนิด มีความต้องการสารละลายธาตุอาหาร ที่แตกต่างกันออกไป ไม่เท่ากัน ดังนั้นควรอ่านคำแนะนำที่ขวดของสาร อย่างละเอียด และ ปฏิบัติตามอย่างเค่รงครัด
- ยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ สารละลายธาตุอาหาร A และ B : จุดนี้ผมไม่แน่ใจว่า ยี่ห้อของ สารละลายธาตุอาหาร A และ B แต่ละชนิด นั้นมีส่วนผสมของสารละลาย ที่แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด แต่คำแนะนำคือ ควรจะ ซื้อ สารละลายธาตุอาหาร A และ สารละลายธาตุอาหาร B ที่เป็นยี่ห้อเดียวกัน ไม่ควรซื้อคนละยี่ห้อ
ในส่วนนี้จะแนะนำ วิธีการผสม สารละลายธาตุอาหาร A และ B ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างจะสำคัญ ถ้าไม่อยากให้ผักตาย และ เสียเวลาเริ่มต้นปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ ใหม่อีกครั้ง ควรจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะมันจะมีส่วนต่อการเจริญเติบโต ของผัก หรือ ผลผลิต ของเราเป็นอย่างมาก และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูวิธีการผสมกันเลย
- ขั้นแรก : หาภาชนะใส่ สารละลายธาตุอาหาร A ผสมกับ สารละลายธาตุอาหาร B แนะนำเป็นขวดพลาสติกธรรมดาอีก 1 ขวด ซึ่ง (ภาชนะที่ใช้ของผมเป็นขวดนมโฟร์โมสต์ ขนาด 2 ลิตร)
- ขั้นสอง : เทน้ำสะอาดลงไปในขวดน้ำให้เต็มขวด โดย น้ำสะอาดในที่นี้ อาจจะเป็นน้ำดื่ม ถ้าใครมีเครื่องกรองน้ำ ก็สามารถใช้น้ำจากเครื่องกรองน้ำได้ แต่ถ้ากลัวเปลืองเงิน สามารถใช้น้ำประปา ได้เช่นกัน แต่ถ้าใช้น้ำประปา ควรจะต้องเทน้ำใส่ขวด เปิดฝาขวดทิ้งไว้ประมาณ 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ สารคลอรีน ที่อยู่ในน้ำประปาระเหย ออกไปเสียก่อน
- ขั้นสาม : นำไซริงค์ฉีดยา ดูดสารละลายธาตุอาหาร A จากขวดของมัน และ ฉีดใส่ขวดที่เตรียมไว้ ในปริมาณที่เหมาะสม แล้วทิ้งเอาไว้ 4 ชั่วโมง (หรือมากกว่านั้น) จากคำแนะนำยี่ห้อที่ผมซื้อมาคือ ใช้สารละลายธาตุอาหาร A จำนวน 5 มิลลิลิตร ต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร นั่นหมายความว่า ถ้าขวดภาชนะบรรจุ ของคุณมีขนาด 2 ลิตร จะต้องเติมใส่สารละลายธาตุอาหาร เป็น 2 เท่า นั่นก็คือ 10 มิลลิลิตร
- ขั้นสี่ : นำไซริงค์ฉีดยา ดูดสารละลายธาตุอาหาร B จากขวดของมัน และ ฉีดใส่ขวดที่ผสม สารละลายธาตุอาหาร A เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ในอัตราส่วนที่เท่ากัน (ทำเหมือนขั้นตอนที่ 3 คือ ใช้สารละลายธาตุอาหาร B จำนวน 5 มิลลิลิตร ต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร)
- ขั้นห้า : นำสารละลายธาตุอาหาร A และ B ที่ผสมกันเรียบร้อยแล้ว ไปเทใส่ลงในขวดน้ำพลาสติก ที่จะปลูก
และทั้งหมดนี้คือ 5 ขั้นตอนง่ายๆ ของการ ผสมสารละลายธาตุอาหาร A และ B โดย ขอให้อ่านซ้ำอีกสักรอบ เพื่อความแน่ใจ
รูปประกอบ วิธีการผสมสารละลายธาตุอาหาร A และ B
5.2 ย้ายต้นกล้า จาก ภาชนะเพาะเมล็ด ไปใส่ใน ขวดน้ำพลาสติก
เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้แล้วให้ เอา ต้นกล้าที่รากแก้วยังคงปักอยู่ในฟองน้ำ (อย่าดึงรากมัน ออกมานะ) ย้ายไปใส่ในขวดน้ำพลาสติก ที่ตัดฝาขวด พลิกด้านบนกลับมา และ เอาฟองน้ำยัดลงไปในช่องน้ำออกของขวด ทั้งนี้เพื่อขยายพื้นที่ให้รากแก้ว สามารถขยายได้ยาว และ เจริญเติบโตไปได้อีกนั่นเอง
ข้อควรระวัง ! # 1 : ระหว่างการย้ายต้นกล้า ที่อยู่ในฟองน้ำ ไปยังขวดน้ำ ระวังอย่าให้รากแก้วขาด มันจะทิ่มทะลุออกมาทางทิศทางไหนก็ช่างมัน อย่าไปสนใจ เพราะนั่นคือท่อลำเลียงอาหารของมันเลย
ข้อควรระวัง ! # 2 : รากแก้ว จะต้องจุ่มในน้ำที่ผสมสารละลายธาตุอาหาร A และ B แต่ควรมีช่องว่างระหว่างฟองน้ำที่อยู่บนฝาขวด กับ ระดับน้ำ ด้านล่างด้วย
6. หมั่นคอยดูแลและรักษาต้นกล้า เก็บเอาไว้จนวันที่ฉันได้กินเธอ
หลังจากที่เสร็จสิ้นขั้นตอนที่ 5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากแล้ว แค่ดูแลรักษาระดับน้ำ ไม่ให้น้อยจนเกินไป ควรแบ่งเวลามาดูระดับน้ำ ประมาณสัก 2-3 วันครั้ง ถ้ามันน้อยเกินไป ก็เติมให้ได้ระดับ และ รอจนถึงวันเก็บเกี่ยว (ไปรับประทาน)
ข้อควรระวัง ! : พืชผักแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน และ ก่อนที่จะเก็บผักไฮโดรโปนิกส์ มารับประทาน ควรจะต้องปล่อยให้ดื่มน้ำเปล่า แทนการป้อน สารละลายธาตุอาหาร A และ B เสียก่อน เพื่อเป็นการล้างสารตกค้าง ที่อาจจะเกิดขึ้นในพืชผักขณะปลูก
บทสรุปที่ควรรู้ ของ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ
และแล้วก็มาถึงช่วยสุดท้ายของบทความ การปลูกผักปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ ที่ถือว่าเป็นวิธีการ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ลงทุนน้อยที่สุด พูดง่ายๆ คือ “ถูกที่สุด” นั่นเอง นี่คือข้อดีของมัน เพราะวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้จะเป็นวัสดุเหลือใช้เสียส่วนใหญ่ อาทิ ขวดน้ำพาสติก ขวดนม กระดาษ ฟองน้ำ ฯลฯ ดังนั้นจึง เหมาะสำหรับมือใหม่ ที่อยากจะทดลองปลูกผักเอง ในขั้นแรก พูดง่ายๆ คือ อยู่ในขั้นระหว่างการศึกษา ลองผิดลองถูกนั่นเอง เพราะเอาเข้าจริงๆ ลงทุนไม่ถึง 100 บาท ก็สามารถปลูกได้แล้ว
แต่ในขณะที่ข้อเสียของ การปลูกผักปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดน้ำ หรือ ขวดพลาสติก ที่ ผมอยากจะบอกให้ทราบล่วงหน้าก่อนจะปลูก ก็จัดว่ามีอยู่พอสมควร มาดูกันเลย
- ผลผลิต หรือ ผัก ที่ได้จะมีขนาดใหญ่ไม่เท่ากับผัก ที่ขายตามท้องตลาด ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม อาทิ
- ออกซิเจนในน้ำทีมีน้อย : หากเปรียบเทียบ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ในภาชนะอื่น อาทิ กระถางราง หรือ กล่องโฟม จะพบว่าในขวดน้ำพลาสติก ถึงแม้ว่าจะเป็นขวดโปร่งแสงก็จริง แต่อากาศก็ไม่สามารถถ่ายเทได้ดี เท่าไหร่นัก เพราะมันสามารถเข้าได้จากด้านบนขวดด้านเดียวเท่านั้น
- ความร้อนสะสมภายในขวดน้ำพลาสติก : การควบคุมความร้อนภายในขวดน้ำพลาสติก จะระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในกระถางราง และ กล่องโฟม
- การเกิดตะไคร่น้ำ : ถึงแม้ว่าจะให้นำเอากระดาษ A4 หนาทึบกี่ชั้น มาปิดรอบๆ ขวดน้ำพลาสติก แต่ก็ยังมิอาจที่จะต้านทานแสงจากภายนอกได้ เพราะสุดท้ายแล้ว แสงมันก็ยังสามารถส่องเข้าได้จากปากขวดน้ำพลาสติก เข้ามาได้อยู่ดี และเมื่อมีแสงแดดเข้า ก็เป็นสาเหตุของการเกิดตะไคร่น้ำ ที่อยู่ในขวด และ เป็นปลิงเกาะรากของพืชผัก ของเราอยู่ ทำให้พืชผักของเราเจริญเติบโตช้าลง หรือ อาจจะตายลงในที่สุดก็เป็นได้เช่นกัน
- การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในขวดพลาสติก จึงเหมาะที่จะปลูกในฤดูหนาว เพราะผักไม่โดนความร้อนมาก
และถ้าหากคุณเกิดติดใจ หลงรัก ชอบวิถีการปลูกผัก เข้าแล้ว และ อยากเอาจริงเอาจังในด้านนี้ ในความเป็นจริง มันมีวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ อีกมากมาย อาทิ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในกระถางราง ซึ่งจะให้ผลผลิตที่ดีและสมบูรณ์กว่านี้ แต่อาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มอีกสักเล็กน้อย แต่ก็เป็นการลงทุนแค่ครั้งเดียวที่คุ้มค่าในระยะยาว เอาไว้ครั้งหน้าจะมานำเสนอวิธีการปลูกกันนะครับ สำหรับบทความนี้ต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ
ขอให้สนุกกับการปลูกผักนะครับ 🙂
ขออนุญาตนำข้อมูลไปใช้ศึกษาในการทำรายงานเรื่องการปลูกพืชไร้ดินนะคะ พร้อมใส่เครดิตในเอกสารอ้างอิงค่ะ
ขออนุญาตินำไปใช้ในการทำรายงานส่งอาจารย์นะครับป็นการศึกษาค้นคว้าในวิชาโครงงานวิทย์ครับเเล้วกลุ่มของผมเกิดสนใจเรื่องนี้ก็เลยตัดสินใจใช้ข้อมูลในเว็บของคุณเเต่ทางเผมจะใส่ชื่อเว็บเพื่อเป็นลิขสิทธ์ครับ
ได้ครับยินดีให้นำไปใช้ครับ
ขอชื่นชมเจ้าของข้อมูลนะคะ ถือว่าเป็นการนำขยะกับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง และยังได้ผักไฮโดรฯ มาทานอร่อยๆด้วยค่ะ
ขออนุญาตินำไปใช้ในการทำรายงานส่งอาจารนะคะเป็นการศึกษาค้นคว้าในวิชาISค่ะเเล้วกลุ่มของพวกเราเกิดสนใจเรื่องนี้ก็เลยตัดสินใจใช้ข้อมูลในเว็บของคุณเเต่ทางเราจะใส่ชื่อเว็บเพื่อเป็นลิขสิทให้ค่ะ
อนุญาตครับ ถ้าเป็นเพื่อการศึกษาผมยินดีครับ 🙂
ไม่ทรายว่าซื้อเมล็ดอะไร ของยี่ห้ออะไรคะ
ผมเพาะเมล็ดผักสลัดโดยใช้ฟองน้ำ ขั้นตอนคือเอาฟองน้ำมาตัด แล้วจุ่มน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาฟองน้ำที่ชุ่มน้ำมาวางบนกล่องไอติม แล้วหยอดเมล็ดผักสลัด
ไว้บนช่องที่ตัดไว้แล้ว ใช้ฟ็อกกี้ฉีดที่ข้างบน แล้วเอาผ้าขนหนูที่ชุ่มน้ำปิดไว้ แล้วใช้ฟ็อกกี้ฉีดน้ำอีกที แล้วนำไปแช่ตู้เย็น 12 ชั่วโมง แล้วเอาออกมา ตั้งไว้ในบ้านข้างหน้าต่าง ไม่โดนแดด รดน้ำ เช้า-เย็น ทุกวัน แต่ผ่านมา 7วัน แล้ว แต่เมล็ดผักไม่เห็นงอกเลยครับ ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุใดครับ และมีวิธีแก้อย่างไรครับ?
สวัสดีค่ะ ขอบคุณนะคะสำหรับความรู้ แต่มีข้อสงสัยค่ะ หลังจากปลูกไปแล้วถ้าระดับน้ำลดลง เราใช้น้ำเปล่าเติมหรือ ต้องผสมน้ำปุ๋ยเติมลงไปคะ
แล้วไซริงค์ที่ดูดสารละลาย A แล้วนำไปดูด สารละลาย B ได้มั้ยคะ หรือต้องใช้แยกกัน
ขอบคุณมากค่ะ