← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)
เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980
ในที่สุด ก็ได้เวลา เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 กันเสียที ซึ่งตัวนี้ ผมตื่นเต้นมากกว่าตัวอื่นๆ เพราะว่า มันเชื่อมต่อ และ สั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่น บนมือถือได้ด้วย
ก่อนที่จะใช้งานมันจริงๆ เนื่องจาก หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 มีการป้องกันที่ รอบคอบ พิถีพิถัน ดังนั้นใต้เครื่อง คุณจะต้องทำการดึงแถบสลัก 2 ตัว ที่ปิดกั้นระหว่าง (1) แบตเตอรี่กับตัวเครื่อง และ (2) กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองจากตัวเครื่อง ออกตัวเครื่อง ทั้ง 2 ตัว ก่อนการเริ่มต้นใชงาน
และ ทุกครั้ง ถ้าหากสิ่งของที่ผมได้รีวิวนั้น มีแบตเตอรี่ ผมจะต้องเสียบชาร์จไฟล่วงหน้าให้เต็มก่อน สักประมาณ 3-4 ชั่วโมง สำหรับครั้งแรก ก่อนการเปิดใช้งาน
ถึงแม้ว่าสินค้าจำพวกนี้ ส่วนมากแล้ว จะมีปริมาณไฟสำรอง มาให้จากโรงงานอยู่บ้างแล้ว ส่วนนึง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความมั่นใจ ผมจึงเปิดชาร์จเครื่องนี้กับแท่นชาร์จ (Home Base™) เอาไว้ทั้งคืน เพื่อจะได้แบตเตอรี่เต็มเปี่ยม พร้อมสำหรับการเปิดใช้งานครั้งแรก
ติดตั้งแท่นชาร์จ (Home Base™ Installation)
ส่วนแรกที่จะต้องติดตั้งก่อนใครเพื่อนเลย นั่นก็คือส่วนของการติดตั้งแท่นชาร์จ หรือที่ทาง iRobot เขาเรียกว่า “Home Base™” นั่นเอง ซึ่งก็ให้มาพร้อมกับ สายไฟ (Line Cord) ขนาดความยาวประมาณ 1.4 เมตร มาให้
การติดตั้งนั้น ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย เพียงแค่หาพื้นที่ ติดผนังกำแพง และไม่มีสิ่งกีดขวาง สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ รอบๆ ในรัศมี 1.2 เมตร (4 ฟุต) หากมีสิ่งกีดขวางในรัศมีทำการ อาจจะทำให้ความแม่นยำของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในการวิ่งกลับเข้าหาแท่นชาร์จลดลง
เมื่อพร้อมแล้วให้เสียบสายไฟเข้าทางด้านขวาของแท่นชาร์จ Home Base™ และอีกฝั่งเสียบเข้าปลั๊กไฟบ้าน ได้เลยทันที เป็นอันพร้อมใช้งาน
คำแนะนำเพิ่มเติม
“การเริ่มใช้งานครั้งแรก ควรจะต้องชาร์จไฟ กับเครื่อง ข้ามคืน กันก่อน ประมาณ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้การ เปิดการใช้งาน ในครั้งแรก”
เชื่อมต่อ แอพพลิเคชั่น iRobot HOME กับ iRobot Roomba 980
ส่วนนี้คือส่วนของการติดตั้งแอพพลิเคชั่น iRobot HOME ซึ่งเป็น แอพพลิเคชั่น ที่ถูกพัฒนาโดย บริษัท iRobot Corporation (เจ้าของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เอง พัฒนาแอพฯ เองเลย)
โดยหากคุณใช้ ระบบปฏิบัติการ (OS) ของ มือถือจากเจ้าไหน ค่ายไหน (จริงๆ ก็มีอยู่ 2 ค่าย คือ iOS และ Android) ก็เลือก ดาวน์โหลด ตามอัธยาศัย
- ดาวน์โหลดแอพ iRobot HOME สำหรับ iOS ผ่าน App Store
- ดาวน์โหลดแอพ iRobot HOME สำหรับ Android ผ่าน Play Store
สำหรับผม แน่นอนครับ สาวกศาสดา สตีฟ จอบส์ ก็ต้อง ดาวน์โหลด เวอร์ชั่น iOS ผ่าน App Store โดยทันที
เมื่อดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น iRobot HOME ลงมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการ เชื่อมต่อ กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 เลยทันที โดย ก่อนอื่นคุณจะต้อง ทำความรู้จัก สร้างความสัมพันธ์ (ว่าไปนั่น) ระหว่าง แอพ iRobot HOME ที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน ของคุณ และ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 กันเสียก่อน และ เมื่อเปิดเข้ามาครั้งแรก ก็จะพบกับหน้าจอ ตามด้านล่างนี้เลย
สังเกตเห็นภาพที่ 2 ด้านบน มีข้อความแจ้งว่า “No robots found” นั่นหมายความว่า แอพฯ ของคุณ กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ยังไม่ได้เชื่อมต่อ หรือ รู้จักกันเลย สิ่งที่ ต้องทำต่อไปคือ …
- ขั้นตอนแรก : ติดตั้งแท่นชาร์จ Home Base™ ในพื้นที่ ที่มี Wi-Fi ครอบคลุม
- ขั้นตอนที่สอง : เปิด หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ขึ้นมาก่อน (ขณะจอดอยู่แท่นชาร์จ)
- ขั้นตอนที่สาม : เปิด แอพ iRobot HOME ขึ้นมา แล้วทำตามขั้นตอน ของแอพ ง่ายๆ 4 ขั้นตอน
- ขั้นตอนที่สี่ : ทำตามขั้นตอนง่ายๆ ของการติดตั้ง 5 ขั้นตอน ตามรูปประกอบด้านล่างเลย
สรุปความสามารถของ การใช้ แอพ iRobot HOME
หลังจากที่ทดสอบใช้ แอพพลิเคชั่น iRobot HOME และ ทำความคุ้นเคยกับมันมาได้สักระยะนึงแล้ว ผมก็ขอสรุปตรงนี้ เลยนะครับว่า ความสามารถ มันเป็นอย่างไร ประทับใจตรงไหน อย่างไรบ้าง
- สามารถเชื่อมต่อได้พร้อมกันกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และ อุปกรณ์อื่นๆ ของ iRobot ที่อาจมีมากขึ้นในอนาคตได้พร้อมๆ กัน หลายตัว เช่น คุณอาจจะมี iRobot Roomba อยู่ชั้นบน และ ชั้นล่าง ของบ้าน ก็ควบคุมผ่าน แอพฯ เดียวได้เลย (แต่ต้องอยู่ภายใต้เน็ตเวิร์ค เดียวกันนะ)
- สามารถตั้งชื่อให้แต่ละเครื่องได้ (จะได้ระบุเครื่องถูก ในกรณีมีหลายเครื่อง)
- สามารถกดสั่งงานเครื่อง แอพ iRobot HOME จากที่ไหน บนโลกก็ได้ แต่ มีข้อสังเกต เรื่องความเร็วขณะสั่งงาน คือ
- หาก อยู่ในเครือข่าย Wi-Fi เดียวกัน จะสั่งงานเครื่องเร็วมาก
- หาก อยู่คนละเครือข่าย จะต้องรอเวลาประมาณ 10 วินาที
- สามารถกด ปุ่ม CLEAN สีเขียว เพื่อสั่งทำความสะอาดได้ทันที
- สามารถแสดงสถานะ ความจุคงเหลือแบตเตอรี่ (Battery Capacity Status) ผ่าน แอพฯ ได้เลย ว่าแบตเตอรี่ ใกล้หมดหรือยัง
- สามารถปรับแต่งค่าต่างๆ ได้มากมาย ในส่วนของ Cleaning Preferences อาทิ
- Carpet Boost Setting (โหมดทำความสะอาดบนพรม)
- Automatic Mode : ปรับความแรงการดูดอัตโนมัติ
- Performance Mode : ปรับความแรงการดูด ในระดับสูงสุด (เปลืองแบตเตอรี่ ดูดแรง แต่ เสียงดัง)
- Eco-Mode : ปรับความแรงการดูด ในระดับต่ำ (ประหยัดพลังงาน และ เสียงเงียบ)
- Two Cleaning Passes (โหมดวิ่งดูดซ้ำที่เดิม 2 รอบ)
- When Bin is Full (โหมดหยุดทำงาน เมื่อ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เต็มความจุ)
- Edge Clean (โหมดทำความสะอาด ขอบกำแพง ขอบเฟอร์นิเจอร์)
- Carpet Boost Setting (โหมดทำความสะอาดบนพรม)
- สามารถตั้งเวลา การทำความสะอาดรายสัปดาห์ (Weekly Schedule) ได้ ผ่านแอพฯ นี้เลย
- สามารถดูประวัติ การทำความสะอาด (Job History) ในแต่ละครั้ง แต่ละวัน ได้เลย
- มีระบบแจ้งเตือน การทำความสะอาด กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ชุดแปรงกวาด ทำความสะอาด
- ไม่ต้องตั้งค่าเวลา ให้กับตัวเครื่อง เพราะมันจะดึงข้อมูลอัตโนมัติ จาก อินเทอร์เน็ต ทันที ที่เชื่อมต่อ Wi-Fi สำเร็จ
คำถามที่ต้องอยากรู้ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980
หลักจากที่ ได้บรรยายมายาวเหยียด เชื่อว่า มาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงจะมีคำถามในใจ โน้นนี่ ว่าการใช้งานเป็นอย่างไร ยังไงบ้าง ซึ่งผมก็จะพยายามคิดแทน และ คาดเดา ว่า ผู้อ่าน หรือ ผู้ที่สนใจจะมีคำถามอะไรบ้าง ก็มาเขียนตั้งคำถาม พร้อมตอบให้เลย (ถามเองตอบเอง 555) ลองมาดูกันเลย
1. มันจะวิ่งตกบันไดหรือไม่ ?
ผมกล้ารับปากได้เลยว่า การวิ่งตกบันได หรือ ตกจากที่สูงนั้น ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย สำหรับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ในยุคสมัยนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่จัดเต็ม ผนวกกับ เซ็นเซอร์อินฟราเรด ที่เขาเรียก ว่า “Cliff Sensor” รอบๆ ตัวเครื่อง อีก 6 ตัว การวิ่งตกจากที่สูง หรือ ตกบันได จึงเป็นเพียงแค่ความฝัน สำหรับ iRobot Roomba 980 ตัวนี้
2. ขณะเครื่องทำงาน เสียงดังมากมั้ย
จากการที่ทดสอบด้วย แอพ LINE Tools ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ของ LINE ในส่วนของฟังก์ชั่น วัดระดับเสียง “Sound Level Meter” ซึ่งเป็นส่วนที่เอาไว้วัดระดับความดังของเสียง หน่วยเป็นเดซิเบล (dB) บทสรุปคือ ผมทดสอบวัดมา 2 โหมด เพราะ เครื่องนี้มี 2 โหมดการทำงานคือ
- Performance Mode (โหมดดูดแรง) : ประมาณ 68 dB.
- ECO Mode (โหมดประหยัด) : ประมาณ 63 dB.
แต่ถ้า ไม่เห็นภาพว่า 68 dB. มันดังขนาด ไหน ก็ขอให้นึกถึง เครื่องเป่าผม อะครับ ขนาดสัก 2 พัน วัตต์ เสียงพัดลมมันดังประมาณนั้นเลย
หมายเหตุ : ทั้ง 2 โหมด นี้ วัดจากระดับเสียง จาก ความห่างประมาณ 1 เมตร ขณะกำลังทำงาน เพราะถ้าเอาที่วัด เข้าไปใกล้ๆ เสียงจะดังมาก ถึง 80 dB. เลยเห็นจะได้
3. สามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ ได้มากน้อยแค่ไหน ?
จากที่สังเกตดูคือ จะได้อยู่ประมาณ เกือบๆ 2 เซนติเมตร ครับ แต่ผมรู้สึกว่า มันมีอยู่จุดนึง ที่มันฉลาดกว่าตัวอื่นๆ ตรงที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นบางตัว บางยี่ห้อ แม้เขาจะเคลมว่า สามารถ วิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้ 2 เซนติเมตร แต่บางที ก็วิ่งไปแล้วไปค้างเติ่ง อยู่ตรงกลาง ไปต่อไม่ได้ ประมาณเพลงพี่เบิร์ด ที่บอกว่า “กลับตัวก็ไม่ได้ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง”
แต่ว่าสำหรับ iRobot Roomba 980 นี้ไม่ใช่ พื้นที่ตรงไหน ที่ระบบมัน ได้ประเมิน แล้วว่า วิ่งไปไม่พ้น หรือ อาจจะข้ามไม่ผ่าน มันก็จะไม่เสี่ยงวิ่งผ่านไป
ดังนั้น ผมทดลองเปิด ให้มันวิ่งทำงานมาเกือบ 20 รอบละ พบว่า ยังไม่เห็นมันขึ้นมาติดอยู่บนนี้สักครั้งเลย
4. วิ่งกลับแท่นชาร์จ ได้ทุกครั้งหรือไม่ มีหลงทางหรือเปล่า ?
บอกได้เลยว่า “ไม่มีหลงทาง” และ สามารถวิ่งกลับแท่นชาร์จ (Home Base® Charging Station) ได้ทุกครั้ง ด้วยความฉลาดของมันที่มีทั้งกล้องทำแผนที่จำลอง และ เซ็นเซอร์ ต่างๆ รอบตัว ไม่หลงทาง อย่างแน่นอน แต่อย่าลืม เปิดแท่นชาร์จทุกครั้งด้วยนะ
5. หาก ลืมเสียบปลั๊กแท่นชาร์จ ก่อนออกจากบ้าน แล้วจะสามารถสั่งเปิดเครื่องผ่าน แอพ iRobot HOME ได้หรือไม่ ?
ได้ครับ ตัวเครื่องสามารถวิ่งออกไปทำงาน ได้ตามปกติ
6. สภาพหลังการใช้งาน 1 ครั้ง ตัวเครื่อง เป็นอย่างไรบ้าง ?
สภาพที่เห็นจากรูปด้านล่างคือ มีแค่เศษละอองฝุ่นเล็กๆ เกาะอยู่ใต้เครื่อง ซึ่งหากใช้ผ้าเช็ดน้ำสะอาดหมาดๆ ก็ออกหมดแล้ว
และอีกจุดที่จัดว่าเป็นสิ่งที่ดีงามมากๆ ดั่งที่เขาโฆษณาเอาไว้ว่า “Tangle-Free Debris Extractors” คือ จะไม่มีเส้นผม มาพัน หรือ ติดค้างอยู่ ที่แปรงกวาด เลย ซึ่งก็ เป็นเรื่องจริง มากๆ สาเหตุเพราะว่า เขาใช้แปรงกวาดแบบคู่ (Combo Brush) แบบซี่ๆ หยักๆ แล้วหมุนเข้าหากัน ด้วยความเร็วสูง ดังนั้นจึงไม่มีทางเลย ที่เส้นผม ต่างๆ จะเข้ามาติดระหว่างแปรงได้
ส่วนสภาพด้านข้างของตัวเครื่อง (ดูรูปประกอบด้านบน) ซึ่งผม “ไม่ได้” ดึงพลาสติกตรงกันชนหน้า ที่ติดมากับเครื่อง ตั้งแต่ตอนแกะกล่องออกมา ก็ติดมันไว้อย่างนี้แหละ เพื่อลดการเกิดร่องรอยขณะใช้งาน ก็เลยเป็นเหตุทำให้ทุกอย่างยังคงดูเรียบร้อยดี
7. สภาพ หลังการใช้งาน 1 ครั้ง ภายใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นอย่างไรกันบ้าง ?
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dirtbin) สามารถเปิดฝาด้านหน้ากล่อง ออกมาได้ เพื่อนำเอาเศษฝุ่น เศษขยะ เศษเส้นผม ต่างๆ ไปเททิ้ง ถังขยะ ได้ง่ายๆ
จากรูปประกอบจะเห็นว่า เศษฝุ่นขนาดเล็กๆ จะเข้าไปติดหนึบ ! อยู่กับ แผ่นกรองอากาศ HEPA สาเหตุเพราะ แรงดูด จาก พัดลมดูดอากาศ ของระบบ AeroForce™ ที่มีพลังการดูดสูง จึงทำให้แยกเศษฝุ่นขนาดใหญ่ (อยู่ในพื้นที่ของ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) และ ฝุ่นขนาดเล็ก (ติดอยู่กับ แผ่นกรองอากาศ HEPA) ไปได้เลย ง่ายๆ
8. ติดต่อ และสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 นี้ได้ที่ไหน ?
คุณสามารถสั่งซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเครื่องนี้ ได้ผ่านทางหลายช่องทางทั้งช่อง หน้าร้าน (รายละเอียดสาขาที่จำหน่ายใกล้บ้านคุณ) และช่องทางออนไลน์ สำหรับช่องทางออนไลน์ กรุณาติดต่อสอบถามทาง iRobot ประเทศไทยเสียก่อน
- Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 0-2512-5888
- Website (เว็บไซต์) : https://www.irobotthailand.com/
- LINE ID (ไลน์ไอดี) : @irobotthailand
- Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : ไอโรบอทดอททีเฮช (ชื่อเพจทับศัพท์ irobot.th) ตามกรอบด้านล่าง
บทสรุปหลังการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980
ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับ บทสรุปปิดท้ายก่อนจากกันในแต่ละรีวิวบนเว็บไซต์ Thanop.com เราก็จะต้องมีการสรุป ข้อดี ข้อเสีย ที่เกิดขึ้น หลังการใช้งานจริงๆ จากประสบการณ์จริงๆ มาให้คุณผู้อ่านได้ทราบ เพื่อเอาไว้ใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ ซึ่งข้อมูลทั้งหมด ขอเรียนตามตรงว่าเป็นการเขียนที่เป็นกลาง อันไหนดีกว่าตัวอื่น ก็ว่าดี อันไหนแย่กว่าก็ว่าแย่ ว่ากันไปตามเนื้อผ้ากันจริงๆ
ข้อดี 🙂
- สามารถ สั่งงาน ตั้งค่าต่างๆ ผ่าน แอพพลิเคชั่น iRobot HOME ทั้งอยู่ในบ้าน หรือ นอกบ้าน ก็ได้ พร้อมบอก รายละเอียด เก็บประวัติ การทำความสะอาด ในแต่ละครั้ง ได้อย่างละเอียดมากๆ (ความสามารถ แอพ iRobot HOME เพิ่มเติม กดตรงนี้)
- สามารถ วิ่งกลับแท่นชาร์จ (กลับฐาน) ได้อย่างแม่นยำ ไม่หลง ไม่วิ่งมั่ว ไม่เสียเวลา
- เครื่องวิ่งทำงานเร็ว คล่องแคล่ว ว่องไว
- มีแปรงกวาดหลัก 2 แปรง ทำมาจากวัสดุยางเหนียว ทำให้ประสิทธิภาพการดูด มีมากขึ้นกว่าเดิม ดูดได้ละเอียดกว่าเดิม
- มีระบบสร้าง กำแพงจำลอง (Dual Mode Virtual Wall® Barrier) แบบ 2 โหมด ในตัวเดียว ใช้งานได้ตามจุดประสงค์ และ ความต้องการ
- แบตเตอรี่สามารถถอดไปเก็บรักษาได้ง่าย เพียงแค่ ไขน็อต 2 ตัว ด้วยไขควงธรรมดา ที่อยู่ใต้เครื่องออก 2 ตัว ก็สามารถดึงออกมาได้ง่ายๆ เลย ถ้าเทียบกับตัวอื่นๆ การถอดแบตเตอรี่ออกนั้น เป็นไปได้ยุ่งยาก และ บางรุ่นอาจต้องอาศัย ไขควงเฉพาะ หรือ ช่างผู้ชำนาญในการถอดประกอบแบตเตอรี่ออกจากเครื่อง
- มีหูหิ้ว (Carry Handle) ที่ให้สามารถยกเครื่องไปไหนมาไหนได้สะดวก และถนัด โดยไม่ต้องกลัวหล่นพื้น
- มีแปรงกวาดข้าง (Side Brush) ที่มีขนาดยาว หมุนเร็ว แรง ทำให้ ทะลุทะลวงตามซอกมุมได้ดี
- กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ถือว่ามีความแข็งแรงสูง เปิด ทำความสะอาดง่าย ไม่ซับซ้อน เช่นเดียวกับ แผ่นกรองอากาศ HEPA
- สามารถเอาตัวรอดจากสายไฟ ที่วางกองอยู่บนพื้นได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการติดชะงัก และ ดับอยู่กับที่ตรงนั้น
- ระบบ “Carpet Boost” ใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ เมื่อวิ่งทำงานบนพรม หรือ วิ่งผ่านพรมเช็ดเท้า ได้ยินเสียงว่า เครื่องทำงานแรงขึ้นอย่างชัดเจน มั่นใจได้ว่า สะอาดทุกพื้นผิว อย่างแน่นอน
- มีความพิถีพิถัน ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ ใส่กล่องมาจากโรงงานเป็นอย่างดี ส่วนไหนที่อาจกระทบกันได้ ก็จะมีวัสดุป้องกันความเสียหาย
ข้อเสีย 🙁
- มี แปรงกวาดข้าง (Side Brush) ให้มาแค่อันเดียว (ฝั่งขวา ฝั่งเดียว) ซึ่งก็เข้าใจอยู่ว่า ตัวเครื่องจะวิ่งเลาะขอบกำแพงฝั่งขวาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ฝั่งซ้ายจึงไม่จำเป็นจำต้องมี แต่ความรู้สึกส่วนตัวคือ หากมีฝั่งซ้ายด้วย ก็จะสมบูรณ์ มากๆ เลยนะ
- ไม่มีอุปกรณ์ รีโมทคอนโทรล (Remote Control) มาให้ เพราะ สั่งงานตั้งค่าทั้งหมดผ่านแอพพลิเคชั่น ทั้งหมด
- หากผู้ใช้งาน เป็น ผู้สูงอายุ ที่ใช้สมาร์ทโฟน ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น ไม่เป็น คงจะลำบาก
- ไม่สามารถสั่งงาน เครื่อง ในโหมดควบคุมทิศทาง ให้ไปดูด ในพื้นที่ ที่ต้องการได้ แม้แต่ใน แอพฯ ก็ไม่มีฟังก์ชั่นให้สั่งทำงานได้เช่นกัน
- ตัวเครื่องมีผิวสัมผัสที่มันวาว จับบ่อยๆ เป็นลายนิ้วมือ หากเป็นคนชอบให้เครื่องรูปลักษณ์ภายใน ใสใหม่กิ๊กอยู่ตลอดเวลา (เหมือนผม) ต้องทำความสะอาดกันบ่อยๆ ละ
สุดท้ายนี้ก็หวังว่า รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านอย่างคุณได้ไม่มากก็น้อยนะครับ หากใครที่มีคำถามอะไรเพิ่มเติม อยากจะถามผมละก็ สามารถทิ้งคำถาม ข้อเสนอแนะ แบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ได้ส่วนของ การแสดงความคิดเห็น (Comment) ด้านล่าง ได้เลยนะครับ และ สำหรับรีวิวฉบับนี้ ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ โอกาสหน้า สวัสดีครับ 🙂
ตอนนี้ผมใช้ รุ่นนี้มาประมาณ 2 ปี เครื่องเริ่มไม่ค่อยกลับฐาน ใช้เวลานานมาก บ้างครั้ง ดูดฝุ่น ซ้ำที่เดิม แล้วกลับฐาน และ ออกมาดูดใหม่ เกิดจากอะไรครับ หรือ ระบบมีปัญหา ต้อง รีเซต ใหม่มั๊ย
ขอบคุณครับ
รบกวนนะคะ
คือเวลาเครื่องทำงานเสร็จจะกลับมาที่แท่นชาร์ต ตัวแท่นชาร์ตขยับ เพราะน่าจะไม่มีน้ำหนักมากพอ ทำให้เครื่องเข้าแท่นชาร์ตไม่สนิท. ทำยังงัยดีคะ
ปัจจุบันแอปส์ฯ มีการพัฒนาขึ้นบ้าง สั่งให้ทำงาน/หยุดชั่วคราว/กลับฐานผ่านเครือข่ายการสื่อสารเดียวกันและต่างเครือข่าย ดาวน์โหลดภาษาไทยให้หุ่นพูดได้ครับ
ขอทราบข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ ดังนี้
1. iRobot รุ่นนี้เ ปรียบเทียบกับ Neato ตัว top ยี่ห้อใดเอาชนะการติดพันของเส้นผมสตรียาวประบ่า ได้ดีกว่ากัน
2. เปรียบเทียบหุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบบที่ใช้กล้องถ่ายภาพ เช่น iRobot กับที่ใช้อินฟาเรต (หากเรียกผิดต้องขออภัย) Neato ในการตรวจจับพื้นที่ทำความสะอาดในเวลากลางคืน (ปิดไฟ) หรือในห้องที่มืดมาก ยี่ห้อใดมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน
ขอขอบคุณครับ
เรียนคุณ Setharath นะครับ
1. ผมว่าพอกันครับ แต่ถ้าเป็น รุ่นก่อนถ้าเทียบระหว่าง (iRobot Roomba 880 กับ Neato Botvac Series 70e) ผมให้ Neato เหนือกว่าอยู่หน่อยๆ แต่ถ้าเป็นรุ่นใหม่ (iRobot Roomba 980 กับ Neato Botvac Connected) ผมให้สูสีพอกันทั้งคู่ครับ
2. ผมไม่รู้สึกว่าทั้ง 2 เครื่องจะทำงานแย่ลง หรือ ด้อยลง ในเวลากลางคืน (ตอนปิดไฟ) ทั้งคู่นะครับ แต่ในทางเทคนิค เชิงลึกจริงๆ ผมไม่ทราบนะครับ เพราะคงเป็นความลับทางธุรกิจครับ ต้องขออภัยครับ
มีอะไรสอบถามมาเพิ่มเติม แจ้งมาได้เลยนะครับ
สวัสดีค่ะ คุณ thanop ขอบคุณมากนะคะ สำหรับการ review robot vacuum cleaner ได้ติดตามอ่านหลายๆ รุ่นค่ะ และมีเรื่องรบกวนขอสอบถามค่ะ ว่าซื้อ irobot roomba จะมีวิธีป้องกันรอยขีดข่วนหรือไม่ อย่างไรคะ ขอบคุณมากค่ะ
โดยปกติแล้ว การป้องกันรอยขีดข่วน ของเครื่อง จะป้องกันโดยตัวเซ็นเซอร์ ที่มีอยู่รอบๆ ตัว ของตัวเครื่องเอง ที่มีความฉลาดมากอยู่แล้วครับ ปกติแล้วมันไม่ค่อยชนอะไรเท่าไหร่ ถึงจะชนก็เบาๆ และ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba 980 ตัวนี้ ก็ยังมี ตัวกันชนหน้า (Front Bumper) ที่สามารถให้ตัวได้มากพอสมควร อีกด้วยเช่นกัน ลดแรงกระแทกลงไปอีก ครับ
อีกวิธี ที่ผมแก้เลย แบบง่ายๆ ซิมเปิ้ลๆ เลยคือ ไม่เอาพลาสติก ที่เขาติดมาตรง กันชนหน้า ตอนซื้อเครื่องออกครับ ช่วยได้อีก ดูตามรูปด้านล่างได้เลยครับ
http://www.thanop.com/wp-content/uploads/2016/05/irobot-roomba-980-side-after-used.jpg
ขอรบกวนถามดังนี้ค่ะ
– เรื่อง Input ของเครื่องนี้แจ้งไว้ว่า AC 100-240 V นี่แสดงว่าใช้ไฟได้ทั้งที่เมกาและไทยใช่มั๊ยคะ เพราะที่เมกา 110V คือถ้าใช้ได้ก้อแสดงว่าซื้อที่เมกามาใช้ที่ไทยได้
– ถ้าบ้านที่เครื่องนี้ไปอยู่ไม่มี wifi แต่ดิฉันไปเมืองนอกและมี wifi จะสามารถสั่งงานได้มั๊ยคะ หรือว่าต้องมี wifi ทั้งสองที่
รบกวนตอบทาง email นะคะ เพราะจะ check email ทุกวันค่ะ
ขอตอบคุณ Fai เป็นข้อๆ ไปเลยนะครับ
1. เรื่องไฟสามารถใช้ได้ครับ ทั้ง 2 ประเทศครับ รองรับทั้ง 110V และ 220V ครับ
2. ต้องมีการเชื่อมต่อ Wi-Fi ทั้ง 2 ที่เลยครับผม