← กลับไปอ่านหน้า 1 (Previous Page)
สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus
- ส่วนประกอบด้านบนและด้านข้าง
- ส่วนประกอบด้านล่าง
- ส่วนประกอบภายใน
- ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง
- ส่วนประกอบแท่นชาร์จ หรือ แท่นกำจัดขยะอัตโนมัติ (Clean Base™)
Top and Side Components (ส่วนประกอบด้านบน และด้านข้าง)
- RCON Sensor (เซ็นเซอร์ตรวจจับอุปกรณ์เสริม) : คำว่า “RCON” ย่อมาจากคำว่า “Room Confinement” มันเป็นเซ็นเซอร์ที่เป็นจุดกลมๆ ที่อยู่ด้านบน ส่วนหน้าสุด ใช้ตรวจจับ และสื่อสารกับอุปกรณ์เสริมของตัวเครื่องมันเอง ไม่ว่าจะเป็น แท่นชาร์จ หรือแม้แต่กล่องสร้างกำแพงจำลอง
- Handle (หูหิ้ว) : ถูกซ่อนอยู่ด้านบน ส่วนหน้าของตัวเครื่อง สามารถใช้มือหยิบ โดยมันจะกระดกออกมาได้เล็กน้อย เพื่อให้เราสามารถสอดนิ้วมือเข้าไปภายใน เพื่อถือตัวเครื่องไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก แทนการอุ้มเครื่อง
- Front Bumper and Light Touch Sensor (กันชนหน้า และ เซ็นเซอร์ป้องกันการชน) : ป้องกันการชน และดูดซับแรงกระแทกระหว่างตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กับข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านของเรา จัดเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะไม่ว่าจะราคาถูก หรือแพงก็ต้องมีหมด นอกจากนี้แล้วภายในกันชนหน้ายังมีเซ็นเซอร์ป้องกันการชน ที่ถูกฝังอยู่ภายในกันชนหน้า เพื่อตรวจจับสิ่งกีดขวางที่อยู่ข้างหน้า อีกด้วย
- Control Panel (แผงควบคุมเครื่อง) : ด้านบนมีปุ่มกดหลักๆ อยู่ทั้งหมด 3 ปุ่มด้วยกัน ในขณะที่การควบคุมสั่งงานเครื่องอื่นๆ ก็จะไปอยู่ที่แอปพลิเคชันทั้งหมด โดยสำหรับปุ่มที่ว่านี้ก็มี
- Home Button (ปุ่มสั่งเครื่องกลับแท่นชาร์จ) : เครื่องจะมองหา และวิ่งกลับแท่นชาร์จทันที ที่ได้รับคำสั่ง
- CLEAN Button (ปุ่มสั่งเครื่องทำความสะอาดในโหมดอัตโนมัติ) : มี 4 ฟังก์ชั่นหลักๆ ด้วยกันคือ
- When Sleeping (เมื่อเครื่องหลับอยู่ – ไฟดับหมด) : กดปุ่ม 1 ครั้ง เพื่อเข้าสู่โหมดพร้อมใช้งาน
- When in Standby Mode (เมื่อเครื่องอยู่ในโหมดพร้อมใช้งาน) : กดปุ่มเพื่อเริ่มทำความสะอาดทันที หรือกดค้างเอาไว้ 3 วินาที เพื่อสิ้นสุดการทำงาน (ปิดเครื่อง)
- When Cleaning (เมื่อเครื่องกำลังทำความสะอาดอยู่) : กดปุ่มเพื่อหยุดการทำงานชั่วคราว
- When Pausing (เมื่อเครื่องกำลังหยุดชั่วคราว) : กดปุ่มเพื่อสั่งให้เครื่องทำงานต่อ (Resume)
- Spot Clean Button (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดเฉพาะจุด) : เครื่องจะวิ่งวนทำความสะอาดในลักษณะเป็นเกลียวออกไปด้านนอก ในรัศมี 1 เมตร
- Dustbin (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : ขนาดความจุประมาณ 0.5 ลิตร สามารถนำไปล้างน้ำทำความสะอาดได้ มีพร้อมแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง (แผ่นกรองฯ ล้างไม่ได้)
- iAdapt® Built-in Camera (กล้องสร้างแผนที่จำลอง) : ถูกฝังไว้ ด้านบนของตัวเครื่อง ปิดทับด้วยกระจกพลาสติกใส เพื่อป้องกันความเสียหาย และป้องกันฝุ่นเข้าไป มันถูกวางในตำแหน่งลักษณะทแยงมุมเฉียง ขึ้นไปบนเพดานห้อง เพื่อให้เห็นพื้นที่รอบๆ ได้อย่างชัดเจน
- Dustbin Release Button (ปุ่มปลดล็อคกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง) : กดเพื่อดึงตัวกล่องออกมาจากตัวเครื่อง
Underside Component (ส่วนประกอบด้านล่าง)
- Cliff Sensor (เซ็นเซอร์พื้นที่ต่างระดับ) : หรือเซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น ป้องกันการตกบันได หรือจากที่สูงนั่นเอง เครื่องนี้มีอยู่ทั้งหมด 6 จุดรอบๆ ใต้ตัวเครื่อง หายห่วง 100%
- Charging Contact (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : ขั้วโลหะที่อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่อง 2 ฝั่ง จะสัมผัสกับขั้วชาร์จไฟของแท่นชาร์จ เอาไว้ถ่ายทอดกระแสไฟฟ้าจากไฟบ้าน เพื่อเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่ฯ ที่อยู่ภายในตัวเครื่อง
- Front Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : หมุนได้อิสระ 360 องศา ไปยังทิศทางที่ต้องการได้
- Side Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดข้าง) : มีแค่ฝั่งขวาฝั่งเดียว ไขน๊อตเพื่อล็อคตัวแปรง
- Floor Tracking Sensor (เซ็นเซอร์จำแนกพื้นผิว) : ใช้จำแนกแยกประเภทของพื้นผิวในห้อง ว่าเป็นพื้นประเภทใดเช่น ถ้าเป็นพื้นพรม หรือพื้นที่มีแรงเสียดทานสูงๆ ก็จะสั่งให้เพิ่มพลังดูดให้สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ
- Main Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดหลัก) : ด้านนอกเป็นสลักปลดล็อคฝาครอบ (Brush Frame Release Tab) เมื่อเปิดออกมาแล้ว ภายในจะมีแปรงกวาดหลักแบบคู่ (สีเขียวเข้ม และสีเขียวอ่อน) มีสัญลักษณ์แยกประเภทของแปรงชัดเจนว่าแปรงไหนติดตรงไหนอย่างไร (ไม่ต้องกลัวติดตั้งผิดข้างอย่างแน่นอน)
- Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ล้อขนาดใหญ่ มีมอเตอร์ขับเคลื่อนแยกอิสระ 2 ล้อ มาพร้อมสปริงโช๊คอัพที่ให้ตัวได้พอสมควร สามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวาง หรือพื้นที่ต่างระดับอย่างเช่นธรณีประตู ได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร
- Dirt Disposal Port (ช่องกำจัดสิ่งสกปรก) : ฝายางสีเขียว ติดตั้งอยู่ที่ใต้กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง มันจะถูกเปิดออก ก็ต่อเมื่อมีแรงลมดูดพลังสูงจากมอเตอร์พัดลมดูดฝุ่น ที่ติดอยู่ภายในแท่นชาร์จ เพื่อดูดเอาฝุ่นจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ไปเก็บไว้ในถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้งนั่นเอง (ดู ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เพิ่มเติม)
- Main Brush Frame Release Tab (สลักปลดล็อคฝาครอบแปรงกวาดหลัก) : ถ้าต้องการนำแปรงกวาดหลักแบบคู่ออกมาทำความสะอาด จะต้องดึงสลักของฝาครอบแปรงฯ นี้ขึ้นมาเสียก่อน
- Rear Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหลัง) : ล้อพลาสติกขนาดเล็ก อยู่ติดกับกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง มีเอาไว้เพื่อป้องกันเครื่องครูดกับพื้น ซึ่งอาจเป็นรอย และเกิดความเสียหายได้ (ดู ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เพิ่มเติม)
Inside Component (ส่วนประกอบภายใน)
ส่วนนี้จะพามาดูส่วนประกอบที่อยู่ด้านในตัวเครื่อง ในกรณีถ้าเราถอดแปรงกวาดหลักแบบคู่ทั้ง 2 แปรง หรือแม้แต่กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองออกมา ว่าเราจะเจออะไรที่อยู่ด้านในกันบ้าง ลองมาดูกันเลย
1. Main Brush Removal (การถอดแปรงกวาดหลักออกมา)
วิธีการถอดแปรงกวาดหลักแบบคู่ออกมา ก็ไม่ยากเลิกเริ่มจากการดึงสลักปลดล็อคฝาครอบแปรงกวาดหลักขึ้นมา แล้วค่อยๆ หยิบแปรงกวาดหลักออกมาทีละแปรง แล้วนำเอาไปล้างน้ำทำความสะอาด ก่อนที่จะเช็ดให้แห้งสนิทแล้วนำกลับมาติดตั้งเหมือนเดิมได้เลยทันที
จุดสังเกตเมื่อนำเอาแปรงกวาดหลักออกมาแล้วเราจะเอาเซ็นเซอร์ตรวจจับฝุ่น (Dirt Detect™ Sensor) ลักษณะเหมือนถ่านกระดุม ที่ใช้ตามรีโมทรถยนต์ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ถ่านแบตเตอรี่ แต่มันเป็นเซ็นเซอร์ ที่เอาไว้ตรวจจับปริมาณฝุ่นละอองที่วิ่งเข้ากล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ว่ามีมากน้อยเพียงใด และถ้าพบว่าบริเวณนั้นมีฝุ่นมาก เครื่องจะวิ่งดูดทำความสะอาดตรงนั้นหลายครั้งหน่อย
2. Dustbin Removal (การถอดกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองออกมา)
วิธีการถอดเอากล่องใส่ขยะฝุ่นละอองออกมา ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่นกัน เพียงแค่กดที่ “ปุ่มปลดล็อคกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง” ที่อยู่ด้านหลังของตัวเครื่อง โดยไม่ต้องยกตัวเครื่องขึ้นมา แล้วก็ดึงตัวกล่องฯ ออกมาได้เลย
เมื่อถอดตัวกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองออกมาแล้ว เราก็ยังสามารถที่จะตะแกรงที่อยู่ฝั่งซ้ายมือของตัวเครื่อง (ถ้ามองจากด้านหลังเข้าไป) โดยถ้ามองทะลุเข้าไปภายในจะเห็นใบพัดของพัดลมดูดฝุ่นอยู่ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการดูดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อยู่บนพื้นเข้าไปข้างในอีกด้วย
Dustbin Component (ส่วนประกอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง)
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ของเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้แม้จะมี ระบบกำจัดสิ่งสกปรกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองได้เองอัตโนมัติ แต่ก็ยังมีขนาดความจุอยู่ที่ประมาณ 0.6 ลิตร ก็ถือว่าใหญ่พอสมควร
ลักษณะของตัวกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ก็เหมือนๆ กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ แต่มีจุดที่น่าสนใจอยู่จุดนึงก็คือ มันมีช่องกำจัดสิ่งสกปรก (Dirt Disposal Port) ที่อยู่ด้านล่าง เป็นฝายางสีเขียวเพิ่มเข้ามา
ในขณะที่ตัวกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองเองก็สามารถที่จะถอดนำฝุ่นไปทิ้งเอง หรือแม้แต่นำไปล้างด้วยน้ำ ได้เหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไปเลย
Clean Base™ or Charge Base Component (ส่วนประกอบแท่นชาร์จ หรือ แท่นกำจัดขยะอัตโนมัติ)
- Canister Lid (ฝาเปิดที่เก็บถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง) : เมื่อเปิดออกมาจะเจอที่เก็บถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง
- LED Indicator (ไฟแสดงสถานะของแท่นชาร์จ) : แสดงสถานะการชาร์จไฟ และปริมาณฝุ่นในถุงเก็บฝุ่นฯ เช่น
- Solid Red (ไฟแดงค้าง) : ไม่ได้ใส่ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง หรือภายในถุงเก็บฝุ่นฯ มีฝุ่นอยู่เต็มความจุ
- Blinking Red (ไฟแสดงกระพริบ) : ท่อขนถ่ายฝุ่นมีการรั่ว หรือมีการอุดตันเกิดขึ้น
- Exhaust Vent or Air Outlet (ช่องอากาศออก) : ระบายอากาศจากระบบดูดฝุ่นของแท่นชาร์จ สู่ภายนอก
- Charging Contacts (ขั้วชาร์จไฟ) : ขั้วโลหะสีเงิน ใช้จ่ายไฟจากไฟบ้าน เข้าแบตเตอรี่ฯ ที่อยู่ภายในตัวเครื่อง
- Wheel Wells (ช่องเก็บล้อ) : ล้อของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะถูกล็อคอยู่ในช่องนี้ เมื่อการเข้าแท่นชาร์จเสร็จสมบูรณ์
- Debris Evacuation Port and Tube (ช่องและท่อขนถ่ายฝุ่น) : ทางเดินของฝุ่นจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ไปเก็บภายในถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง
เตรียมเครื่อง และเปิดใช้งานจริง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus
การเตรียมเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus เพื่อใช้งานนั้น ก็ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมายเลย เหมือนกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ เป๊ะเลยทีเดียว
1. Charge Base Installation and First Time Charging (การติดตั้งแท่นชาร์จ และชาร์จไฟครั้งแรก)
วางแท่นชาร์จในพื้นที่โล่ง โดยฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ควรมีพื้นที่โล่งฝั่งละ 0.5 เมตร (1.6 ฟุต) ขณะที่ด้านหน้าเว้นไว้อีกประมาณ 1.2 เมตร (5 ฟุต) เพื่อให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ได้สามารถวิ่งเข้าออกได้อย่างสะดวกสบาย
ในขณะที่การชาร์จไฟเพื่อกระตุ้นแบตเตอรี่ สำหรับการเปิดใช้งานครั้งแรก ไม่จำเป็นแล้ว แต่ก็แนะนำให้ทิ้งเอาไว้นานๆ ข้ามคืนไปก่อนเช่นเคย เพื่อให้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนเต็มความจุ จะได้พร้อมสำหรับการใช้งานในครั้งแรกนั่นเอง
2. Application Connection via Wi-Fi (การเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ผ่าน Wi-Fi)
ในการควบคุมเครื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า สั่งงานต่างๆ จะต้องทำผ่านแอปพลิเคชัน iRobot HOME ที่พัฒนาโดย iRobot Corporation เท่านั้น โดยแอปฯ นี้จะเป็นแอปฯ เดียวที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมดของ iRobot เอง อาทิ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot ในรุ่นต่างๆ
เนื่องจากบนตัวเครื่อง มีปุ่มควบคุมหลักอยู่เพียงแค่ปุ่มเดียวเท่านั้น จึงให้ทำอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ โดยเครื่องนี้ มีให้เลือกใช้กันทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการเลยคือ iOS และ Android
- ดาวน์โหลดแอป iRobot HOME สำหรับ iOS ผ่าน App Store
- ดาวน์โหลดแอป iRobot HOME สำหรับ Android ผ่าน Play Store
เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านล่างนี้คือขั้นตอนการเชื่อมต่อ แอปพลิเคชัน iRobot HOME กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus ได้เลย โดยขั้นตอนก็มีอยู่ดังต่อไปนี้
วิธีการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน iRobot HOME
กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7+
คุณสมบัติ และความสามารถของตัวแอปพลิเคชัน iRobot HOME เมื่อใช้กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus
- การสั่งงานเครื่อง (Execute Cleaning Command)
- สั่งให้เครื่องเริ่มทำงานในโหมดอัตโนมัติ (Start AUTO Mode Cleaning)
- หยุดทำงานชั่วคราวหรือทำงานต่อ (Pause / Resume Cleaning) (แต่ละงานมีอายุ 1.30 ชั่วโมงเท่านั้น)
- สั่งให้เครื่องกลับแท่นชาร์จ (Return to Home Base)
- สั่งจบงาน (End Job) (เครื่องจะจอดอยู่ตรงนั้นเลย โดยไม่วิ่งกลับแท่นชาร์จ)
- สั่งให้เครื่องดูดฝุ่นจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Empty Bin) ไปใส่ในถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง (Dirt Disposal Bag)
- สั่งให้เครื่องสร้าง และเรียนรู้แผนที่ห้อง (Train Roomba) ทั้งหมดในชั้นของเรา ด้วยการวิ่งสำรวจ และทำความสะอาดไปด้วยในตัว เพื่อประโยชน์ในการสั่งให้เครื่องทำงานในโหมดอัตโนมัติ และการตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ
- การดูสถานะของตัวเครื่อง (Robot Status)
- ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Robot Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
- กำลังทำงาน (Cleaning in Progress)
- หยุดชั่วคราว (Robot is Paused)
- กำลังกลับแท่นชาร์จ (Returning to Home Base)
- กำลังชาร์จไฟ (Charging)
- กำลังนำฝุ่นออกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Emptying the Bin) ไปใส่ในถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง
- พร้อมใช้งาน (Read to Clean)
- ดูสถานะการดูแล และบำรุงรักษา (Care & Maintenance) ของตัวเครื่องพร้อมคำแนะนำอย่างละเอียด
- สถานะของกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Bin Status)
- สถานะของแปรงกวาดหลักแบบคู่ (Debris Extractor Status)
- สถานะของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Core Robot)
- ดูประวัติการทำความสะอาดย้อนหลัง (Cleaning History)
- ดูประวัติการทำความสะอาดย้อนหลังแบบรายครั้ง (Each Time Report)
- สรุปพื้นที่ทั้งหมดที่ทำความสะอาดมาแล้ว (Total Area Cleaned) (หน่วยเป็นตารางเมตร – m2)
- สรุปรายละเอียดการทำความสะอาดทั้งหมด (Lifetime Report)
- ดูปริมาณคงเหลือของแบตเตอรี่ (Battery Status)
- ตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันของตัวเครื่อง (Locate Roomba) (เครื่องจะส่งเสียงร้องออกมาให้เราเดินหาเอง)
- ดูสถานะปัจจุบันของตัวเครื่อง (Robot Status) ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาทิ
- การตั้งค่าทำความสะอาด (Cleaning Settings)
- สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ (Scheduled Cleaning) ได้แบบยืดหยุ่น ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ตั้งล่วงหน้าครั้งเดียวเท่านั้น (Once)
- ตั้งเวลาทำความสะอาดในแต่ละวันของสัปดาห์ (Weekly)
- สามารถเลือกพื้นที่ห้องได้ว่าจะให้ทำความสะอาดห้องไหนบ้าง (Choose Room) หรือเลือกทั่วทุกพื้นที่ (Clean All)
- ตั้งค่าการทำความสะอาดอัตโนมัติ (Cleaning Preferences)
-
- วิ่งผ่านพื้นที่แค่ครั้งเดียว (One Pass) (เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป)
- วิ่งผ่านพื้นที่สองครั้ง (Two Passes) (เหมาะสำหรับพื้นที่ที่สกปรกมากๆ)
- อัตโนมัติ (Automatic) (ให้ระบบตัดสินใจเองว่าจะวิ่งผ่านกี่ครั้ง ตามความเหมาะสมของพื้นที่)
-
- สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ (Scheduled Cleaning) ได้แบบยืดหยุ่น ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- การตั้งค่าทั่วไป (General Settings)
- สามารถตั้งชื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Name) ได้ตามต้องการ จะมีประโยชน์มากในกรณีที่เรามีหลายเครื่อง
- ดูข้อมูลของตัวเครื่อง (About Robot)
- วันเกิดของตัวเครื่อง (Robot Birthday)
- เวอร์ชั่นซอฟต์แวร์ของตัวเครื่องล่าสุด (Robot Software)
- การอัพเดทซอฟต์แวร์ของตัวเครื่องล่าสุด (Robot Software Updated)
- หมายเลขซีเรียล (Serial Number)
- ดูข้อมูลของแท่นชาร์จ (About Clean Base)
- สามารถเปลี่ยนการตั้งค่าการเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ (Wi-Fi Settings) พร้อมดูรายละเอียดการเชื่อมต่อ
- สามารถเปลี่ยนภาษาได้ (Robot Language) (มีมากกว่า 20 ภาษาทั่วโลก แต่ยังไม่มีภาษาไทย)
- สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของฝุ่นภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Bin Behavior) ได้
- หยุดดูดฝุ่นทันที เมื่อกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองมีฝุ่นเต็มแล้ว (Pause Cleaning When Full)
- ดูดฝุ่นต่อไป แม้กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองจะมีฝุ่นเต็มแล้ว (Keep Cleaning When Full)
- สามารถเปิด หรือปิด ความเป็นส่วนตัวของแผนที่ (Map Privacy) ได้ ถ้ากังวลเรื่องของแผนที่ห้องของเราจะถูกอัพโหลดขึ้นไปบนระบบคลาวด์ของทางผู้ผลิต
- การรีเซ็ต หรือล้างการตั้งค่าไปเป็นค่าของโรงงาน (Factory Reset Roomba)
- ลบหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba ออกจากการควบคุมของแอปฯ และบัญชีผู้ใช้นี้ (Remove Roomba)
- การช่วยเหลือทั่วไป (Help)
- รวมคำถามที่ถามบ่อย (Common Questions)
- ติดต่อไอโรบอทประเทศไทย (Contact iRobot Thailand)
- ดูรายละเอียดการรับประกัน (Warranty Document)
- ดูคู่มือการใช้งานเครื่อง (Owner’s Guide)
- ดูคู่มือเริ่มต้นใช้งานฉบับย่อ (Quick Start Guide)
- การจัดการเครื่อง และข้อมูลทั่วไป (Roomba Management and General Information)
- เพิ่มเครื่องหุ่นยนต์ทำความสะอาดของ iRobot (Add a Robot)
- การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮม (Smart Home Connection)
- การตั้งค่าบัญชี และความเป็นส่วนตัว (Account and Privacy)
- ร้านค้าของไอโรบอท (iRobot Store) (ดูร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย)
- ข้อมูลเกี่ยวกับแอปพลิเคชันตัวนี้ (About this App)
คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) เกี่ยวกับการใช้งาน หุ่นยนต์ดูด ฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus
1. ระบบกำจัดสิ่งสกปรกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองได้เองอัตโนมัติ นั้นจะทำงานต่อเมื่ออะไรบ้าง ?
การดูดฝุ่นจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เข้าไปเก็บเอาไว้ในถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้งนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ 2 กรณี ได้แก่
- เมื่อทำความสะอาดเสร็จในแต่ละครั้ง พอเครื่องเข้าจอดที่แท่นชาร์จ ระบบนี้จะเริ่มทำงานโดยทันที
- เมื่อกด “ปุ่ม Empty Bin” บนแอปพลิเคชัน iRobot HOME
2. ถ้าซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 (รุ่นธรรมดา) มาใช้ อยากจะเปลี่ยนมาเป็น รุ่น Roomba i7 Plus ทีหลังได้หรือไม่ ?
ในทางปฏิบัตินั้น “สามารถทำได้” แต่ว่าผู้ใช้งานจะต้องซื้ออะไหล่เพิ่มเติมคือตัว แท่นชาร์จ หรือ แท่นกำจัดขยะอัตโนมัติ (Clean Base™) และกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองมาเพิ่มอีก เพราะกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองของรุ่นธรรมดาจะไม่มีช่องกำจัดสิ่งสกปรก ที่อยู่ใต้กล่องฯ อีกด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางปฏิบัตินั้นจะสามารถทำได้ก็จริงอยู่ แต่ว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มนั้นถือว่า “ไม่คุ้มถ้าเทียบกับการที่ซื้อรุ่น Roomba i7 Plus มาตั้งแต่แรก” ดังนั้นควรตัดสินใจตั้งแต่แรกให้ดีๆ ว่าจะเอารุ่นไหน
3. กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง และถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง สภาพหลังการใช้งานในแต่ละครั้งเป็นอย่างไรบ้าง ?
ด้วยความที่เครื่องนี้มีระบบกำจัดสิ่งสกปรกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองได้เองอัตโนมัติ จึงทำให้ฝุ่นละอองที่อยู่ภายในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ที่อยู่ภายในตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนั้นจะ “สะอาดอยู่ตลอดเวลาหลังการใช้งาน” สาเหตุก็เพราะว่า ฝุ่นมันถูกดูดเข้าไปเก็บอยู่ภายในถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง แล้วนั่นเอง
ในขณะที่ ถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง ก็จะมีฝุ่นละอองเก็บอยู่ภายในมากมาย แต่เราก็ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเท่าไหร่นักเนื่องจากมันอยู่ในถุงแบบทึบ ถ้าไปตบๆ ที่ตัวถุงเก็บฝุ่นฯ ก็เกรงว่าอาจจะทำให้ฝุ่นคลุ้งกระจายออกมาข้างนอกได้ จึงขอไม่ทำดีกว่า
สุดท้ายแล้วก็ได้พยายามถ่ายรูปที่ปากถุง (ตรงรูกลมๆ) มาให้ดูว่าภายในเป็นอย่างไร (ขออภัยถ้าภาพไม่ชัดเท่าไหร่นัก) (สามารถกดที่รูปภาพเพื่อขยายใหญ่ได้)
4. ระดับเสียงในขณะที่เครื่องกำลังทำงาน และกำลังกำจัดสิ่งสกปรกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นอย่างไรบ้าง ?
ในขณะที่เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเครื่องนี้กำลังทำงานนั้น เสียงเครื่องก็ถือว่าไม่ได้ดังอะไรมากมาย ระดับเสียงอยู่ที่ประมาณ 55 เดซิเบล*
ในขณะที่ระดับเสียงของเครื่องในขณะที่กำลังทำความสะอาดกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (ระบบกำจัดสิ่งสกปรกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองได้เองอัตโนมัติ กำลังทำงาน) จะอยู่ที่ประมาณ 75 เดซิเบล* ถือว่าเทียบเท่าเครื่องดูดฝุ่นปกติ หรือเครื่องเป่าผม กำลังทำงานเลยก็ว่าได้ แต่มันก็เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 12-15 วินาที ต่อการทำงาน 1 ครั้งเท่านั้น
หมายเหตุ* : วัดค่าเองด้วย แอปพลิคชัน Sound Meter บนระบบฏิบัติการ iOS
5. ถ้าหากว่าใช้เครื่องทุกวัน วันละครั้ง ค่าไฟต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ?
ใช้เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) ในการวัดอัตราการกินไฟ ขณะกำลังชาร์จไฟ และชาร์จเสร็จแล้วแต่เสียบปลั๊กไฟค้างเอาไว้ เหมือนกับที่เคยทดสอบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ
สถานการณ์ (Situation) |
การกินไฟ (Power Consumption) |
การคำนวณค่าไฟ (Power Consumption Calculation) |
ค่าไฟ / เดือน (Electricity Charge / Month) |
1. ขณะดูดฝุ่นจากเครื่องไปเก็บในถุง (When Empyting the Bin) |
≈ 1,000 วัตต์ | (1,000 วัตต์* x 0.003 ชั่วโมง (12 นาที)** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | 0.45 บาท |
2. ขณะไฟยังไม่เต็มแบตเตอรี่ (When Charging) |
≈ 28.5 วัตต์ | (28.5 วัตต์ x 2 ชั่วโมง** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | 8.55 บาท |
3. ขณะไฟเต็มแบตเตอรี่แล้ว (Fully Charged) |
≈ 1.9 วัตต์ | (1.9 วัตต์ x 21 ชั่วโมง** x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต***) / 1,000 | 5.98 บาท |
รวมทั้งสิ้นค่าไฟของเครื่องนี้ประมาณ 15 บาท ต่อเดือน
หมายเหตุ* : ตัวเลข 1,000 วัตต์ นี้เกิดขึ้นจากการวัดค่าเองด้วยเครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล แม้ในความเป็นจริงแล้วตามสเปคระบุว่าแท่นชาร์จกินไฟสูงสุด 1,200 วัตต์ (ถือว่าต่ำกว่าที่ประเมินเอาไว้ เป็นสิ่งที่ดีงาม)
หมายเหตุ** : ประเมินจากสถานการณ์ ถ้าหากเครื่องทำงานจนแบตเตอรี่เกือบหมดเกลี้ยง จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ระยะเวลาการชาร์จไฟสูงสุดประมาณ์ : ≈ 2 ชั่วโมง (ต่อครั้ง ต่อวัน)
- ระยะเวลาที่เหลือขณะจอดที่แท่นชาร์จเฉยๆ : ≈ 21 ชั่วโมง (ต่อวัน)
- ระยะเวลาที่เครื่องออกไปทำงาน : ≈ 1 ชั่วโมง (ต่อวัน) (ไม่ถูกนำไปคำนวณ เพราะไม่ได้จอดอยู่ที่แท่นชาร์จ)
หมายเหตุ*** : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน
6. มีระยะเวลาการรับประกัน ยาวนานแค่ไหน?
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้มีการรับประกันในส่วนของอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากหมดช่วงระยะประกันแล้วสามารถ ติดต่อสั่งซื้ออุปกรณ์อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของผู้จัดจำหน่ายได้เลย
โดยลูกค้าที่สั่งซื้อไปใช้งานแล้ว ถ้าหากเครื่องมีปัญหา ก็สามารถติดต่อแผนกบริการหลังการขาย (After Service Support Team) ได้โดยตรงเลยที่
- Hotline (สายด่วน) : 0-2512-5888
- LINE ID (ไลน์ไอดี) : @irobotthailand
7. ติดต่อ และสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus ได้ที่ไหน ?
คุณสามารถสั่งซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเครื่องนี้ ได้ผ่านทางหลายช่องทางทั้งช่อง หน้าร้าน (รายละเอียดสาขาที่จำหน่ายใกล้บ้านคุณ) และช่องทางออนไลน์ สำหรับช่องทางออนไลน์ กรุณาติดต่อสอบถามทาง iRobot ประเทศไทยเสียก่อน
- Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 0-2512-5888
- Website (เว็บไซต์) : https://www.irobotthailand.com/
- LINE ID (ไลน์ไอดี) : @irobotthailand
- Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : ไอโรบอทดอททีเฮช (ชื่อเพจทับศัพท์ irobot.th) ตามกรอบด้านล่าง
บทสรุปหลังการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba i7 Plus
ข้อดีทั่วไป 🙂
- มีความสามารถของการกำจัดสิ่งสกปรกจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองได้เองอัตโนมัติ ทำให้ช่วยประหยัดเวลาในการดูแลรักษาเครื่อง ในชีวิตประจำวันไปได้อีกเลยทีเดียว
- เทคโนโลยีที่โดดเด่นจากหุ่นยนต์ดูดฝุ่น iRobot Roomba รุ่นก่อนๆ ก็ยังอยู่กันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น
- กล้องสร้างแผนที่จำลอง iAdapt© (แต่ตัวนี้มาในเวอร์ชั่น 3.0 ถูกพัฒนาให้มีแผนที่อัจฉริยะเพิ่มเข้ามาด้วย)
- ระบบทำความสะอาดทรงประสิทธิภาพ AeroForce™
- แปรงกวาดหลักยางแบบคู่ Dual Multi-Surface Rubber Brushes
- เทคโนโลยีช่วยตรวจจับฝุ่นบนพื้น Dirt Detect™
- และอื่นๆ อีกมากมาย
- เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเครื่องแรก และเครื่องเดียว ที่สามารถวิ่งเข้าไปดูดฝุ่นในซอกของผ้าม่านได้ (ถ้าเป็นตัวอื่นที่เคยรีวิวมาจะตีกลับออกมาหมด
- การวิ่งกลับแท่นชาร์จเอง สามารถทำได้อย่างแม่นยำมากๆ เรียกได้ว่า ถ้าไม่แอบยกเครื่องหนีไปไหนก่อน มันก็กลับบ้านของมันถูกแน่นอน
- เครื่องสามารถดูดน้ำได้ แต่ไม่เยอะ ที่รู้เพราะเนื่องจากขณะรีวิวเกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้เครื่องต้องดูดน้ำเข้าไประดับนึง แต่ต้องปิดเครื่อง และนำส่งศูนย์บริการทันที (แต่ไม่แนะนำให้ทดลองทำตาม !)
- วัสดุเครื่องคงทนแข็งแรง ในขณะที่น้ำหนักเครื่องก็ไม่ได้มากจนเกินไป
- กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองของรุ่นนี้ สามารถนำไปล้างน้ำได้แล้ว เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของ iRobot ในหลายๆ จะรุ่นไม่สามารถล้างน้ำได้ เนื่องจากมีพัดลมดูดอากาศติดอยู่ที่กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง แต่ตัวนี้ถูกย้ายไปติดกับที่ตัวเครื่องแล้ว
- คู่มือการใช้งานทั้งในส่วนของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเอง หรือแม้แต่ ตัวแท่นชาร์จเอง (แยกเล่มกัน) มีความละเอียดสูงมาก คำอธิบาย และรูปประกอบชัดเจนมากๆ ดูได้ทั้งจากในเล่มที่เขาให้มา หรือผ่านแอป iRobot HOME ก็สามารถดูได้เช่นกัน
ข้อเสีย 🙁
- เสียงตอนดูดฝุ่นจากกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองที่อยู่ในตัวเครื่อง ไปเก็บเอาไว้ในถุงเก็บฝุ่นแบบใช้แล้วทิ้ง ค่อนข้างดัง (เหมือนเครื่องดูดฝุ่นทั่วๆ ไปเลย) แต่จะดังอยู่ประมาณ 12-15 วินาทีเท่านั้นเอง อยากสบายก็ต้องอดทนกันสักนิดนึง
- ราคาค่อนข้างสูง
จุดสังเกตในส่วนของการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน
- ใช้ควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมดของ iRobot ได้ภายในแอปฯ เดียว (ถ้าซื้อเครื่องมาเพิ่ม ก็กดเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปในระบบได้เลย)
- การตอบสนองระหว่างตัวแอปพลิเคชัน iRobot HOME กับตัวเครื่อง iRobot Roomba i7 Plus สามารถทำได้ค่อนข้างเร็วมากๆ เรียกได้ว่ากดปุ๊บ เครื่องรับคำสั่งปั๊บ
- การเก็บประวัติการทำความสะอาดมีความละเอียดค่อนข้างสูง มีเก็บขนาดพื้นที่ และเวลาที่ใช้ในการทำความสะอาด พร้อมแสดงแผนที่ห้องด้วย
- การอัพเดทซอฟต์แวร์ของตัวเครื่อง สามารถทำผ่านแอปพลิเคชันได้เลย
- ไม่สามารถแสดงแผนที่การทำความสะอาดได้แบบสดๆ ในขณะที่กำลังทำความสะอาด จะมีแสดงแค่สถานะเท่านั้น
- มีเสียงพูดหลายภาษามากๆ แต่ยังไม่มีภาษาไทย (อาจจะมีเพิ่มมาในอนาคตก็เป็นได้)
น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรายังตามหลังรุ่นใหม่ S9 ที่เพิ่งเปิดตัวไปใหม่ๆ
https://youtu.be/pUxLtTi9P7k
ตอนนี้ 980 จำนวน 1 ตัว และรุ่นซีรีย์ 600 จำนวน 3 ตัว เดิมสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างยอดเยี่ยม
จู่ๆ ก็ไม่เชื่อมต่อไม่ได้
ติดต่อประสานงานกับฝ่ายบริการ และแอทมินเพจ ไอโรบอท ประเทเทศไทย ถือว่าดีเยี่ยม
พยายายามหาทางแก้ปัญหาทุกทาง ถืงกับส่งช่างมาดูถึงบ้าน
แต่แก้ปัญหาไมได้ โดยรับทราบว่า ปัญหาอาจมาจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ผมใช้ทั้ง 3BB และ AIS ไฟเบอร์ คนละสถานที่
ถือว่าเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้สนใจ