ที่นอน (Mattress) และ เตียงนอน (Bed)

Mattress and Bed Article Featured Image (บทความ ที่นอน และ เตียงนอน)
เรื่องของเตียงนอน และ ที่นอน (รูปจากเพจ : แบกกล้องเที่ยว | สถานที่ : โรงแรมยู อินจันทรี กาญจนบุรี – U Inchantree Kanchanaburi Hotel)

บทความที่ทาง Thanop.com กำลังนำเสนออยู่ นี้จะมาพูดถึงเรื่องของ เตียงนอน (Bed) และ ที่นอน (Mattress) เพราะคนเรานั้น หลังจากที่ใช้พลังงานไปทั้งวันแล้ว เมื่อร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า ย่อมต้องการเวลาพักผ่อน ซึ่งการพักผ่อนที่ง่ายและได้ผลดีที่สุด ก็คือ “การนอนหลับ” แต่การจะพักผ่อนและนอนหลับได้อย่างเต็มที่นั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญมากๆ ที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “ที่นอน” เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่แนบติดกับตัวเรามากที่สุด มากกว่าคนที่นอนข้างๆ เสียงอีก และ แน่นอนว่า ที่นอน ก็ต้องถูกวางอยู่บน “เตียงนอน” จัดเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆ เลยทีเดียว เพราะขนาดของที่นอนที่ต้องการ ก็จะมีส่วนสำคัญต่อการเลือกซื้อเตียงนอนด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าสำคัญไปพร้อมๆ กันทั้งหมด เหมือน ไก่กับไข่ ฉันใดก็ฉันนั้น

และในบทความนี้จะพาคุณมาทำความรู้จัก ในเรื่องของ ที่นอน ให้มากยิ่งขึ้น ในการเลือกเตียงนอนที่มีคุณภาพและเหมาะกับตัวเราจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเตียงนอนที่ดีนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เรานอนหลับได้อย่างสบายแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย  อีกทั้งยังเติมเต็มพลังงานที่ใช้ไป ให้เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสดใส  เพื่อเริ่มวันใหม่ได้อย่างเต็มที่  ดังนั้น วันนี้เราจะมาพูดถึงปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อที่นอนแบบต่าง ๆ รวมทั้ง ข้อดี และ ข้อเสีย ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งหลักๆ ก็จะมีอยู่  3 ปัจจัยด้วยกัน คือ

  1. ขนาดของเตียงนอน (Bed Size)
  2. ความหนาของที่นอน (Mattress Thickness)
  3. ประเภทของที่นอน (Mattress Type)

ขนาดของเตียงนอน (Bed Size)

สำหรับการเลือกซื้อ ที่นอน (Mattress) และ เตียงนอน (Bed) นั้นมักจะเป็นของคู่กันเสมอ ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราควรจะคำนึงถึงเป็นสิ่งแรก คือเรื่องของขนาดและความเหมาะสมของเตียงนอน ว่าเหมาะกับพื้นที่ของห้องนั้นๆ หรือไม่ และ ความต้องการที่จะใช้กับห้องที่มีคนพักอยู่มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงขนาดตัวของผู้พักอาศัย เพื่อที่จะนำมาตัดสินใจในการเลือกขนาดของที่นอน ว่าควรจะใช้ขนาดเท่าไร หรือใช้เตียงแบบไหนถึงจะตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุดนั่นเอง

และก่อนที่จะไปพูดถึงเตียงนอนในแต่ละขนาดนั้น ขอบอกว่า ในแต่ละประเทศในโลก เขาก็มีการแบ่งขนาด และ มีชื่อเรียกของขนาดที่แตกต่างกันออกไปมากมาย (ขอไม่กล่าวถึงทั้งหมด) ซึ่งในประเทศไทย ทั่วไปแล้ว เราจะแบ่งขนาดของเตียงออกเป็น 2 ประเภท หลักๆ ดังต่อไปนี้

1. เตียงเดี่ยว (Single Bed)

เตียงประเภทแรกคือ เตียงเดี่ยว หรือ “Single Bed” ในประเทศไทย จะมีขนาดมาตรฐานความกว้าง จะอยู่ที่ประมาณ 3.5 ฟุต บวกลบได้นิดหน่อย (ภาษาชาวบ้าน ที่มักได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ “เตียงนอนสามฟุตครึ่ง“) เตียงนอนประเภทนี้ จัดเป็นเตียงที่มีขนาดเล็กๆ ไม่กินพื้นที่ห้องมากนัก เหมาะสำหรับใช้นอนคนเดียว และใช้กับห้องที่มีพื้นที่จำกัด

นอกจากนี้แล้ว ในห้องพักนั้นๆ อาจจะมีการวางเตียงเดี่ยวไว้มากกว่า 1 เตียงก็ได้ หากในห้องพักนั้นๆ มีการวางเตียงนอน เอาไว้ 2 เตียง โดยสากล ตามโรงแรม รีสอร์ท ที่พักอาศัยต่างๆ เขามักจะเรียกมันว่า “Twin Bed” นั่นเอง

ซึ่งพอหลายคนเห็นคำว่า Twin มักจะเข้าใจว่าเป็นเตียงคู่แบบที่เป็นเตียงขนาดใหญ่ๆ  แต่แท้จริงแล้ว มันคือเตียงเดี่ยว 2 เตียง ที่ถูกจัดวางไว้อยู่คู่ ในห้องเดียวกันต่างหาก และมักจะมีโต๊ะหัวเตียง หรือโต๊ะที่วางโคมไฟ ตั้งคั่นกลางไว้อยู่ระหว่างทั้ง 2 เตียง นั่นเอง

2. เตียงคู่ (Double Bed)

เตียงประเภท เตียงคู่ หรือ “Double Bed” หรือบางประเทศอาจจะเรียกว่า “Full Bed” นี้ จะเป็นเตียงแบบขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่ 4 ฟุต เป็นต้นไป คุณสมบัติจริงๆ ของมันคือ มันจะมีพื้นที่ให้สามารถนอนพลิกตัวไปมาได้สะดวกสบายมากขึ้น เหมาะกับห้องที่มีขนาดและพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง โดยความกว้างของที่นอนในรูปแบบเตียงคู่นี้ จะมีให้เลือกหลากหลายขนาดด้วยกัน ในประเทศไทย ก็จะมีแบ่งหลักๆ ออกเป็น 3 ชนนิดด้วยกัน คือ

  1. Double Size Bed (เตียงนอน 4 ฟุต)
  2. Queen Size Bed (เตียงนอน 5 ฟุต)
  3. King Size Bed (เตียงนอน 6 ฟุต)

สรุปขนาด คว้ามกว้าง ความยาว ของเตียงนอนที่น่าสนใจ

Mattress and Bed Article Dimension
การดูมิติของที่นอน ( Mattress Dimension) ความกว้าง x ความยาว x ความหนา

ส่วนนี้จะเป็นส่วนของการสรุป ขนาดของเตียงนอนมาตรฐานที่นิยมใช้กันในประเทศไทย (Thailand Standard Bed Size) โดยหลักๆ แล้ว ที่ขายอยู่ในท้องตลาด ก็จะมีอยู่ทั้งหมด 4 ขนาดด้วยกัน ตามรายละเอียดด้านล่างเลย

ชื่อเรียกที่นอน ขนาดของที่นอน
(หน่วยฟุต – ft.)
ขนาดของที่นอน
(หน่วยเซนติเมตร – cm.)
เตียงเดี่ยว (3.5 ฟุต)
Single Bed
กว้าง 3.5 x ยาว 6.5 กว้าง 107 x ยาว 198
เตียงคู่ (4 ฟุต)
Double Size Bed
กว้าง 4.0 x ยาว 6.5 กว้าง 122 x ยาว 198
เตียงคู่ (5 ฟุต)
Double or Full Size Bed
กว้าง 5.0 x ยาว 6.5 กว้าง 152 x ยาว 198
เตียงคู่ (6 ฟุต)
King Size Bed
กว้าง 6.0 x ยาง 6.5 กว้าง 183 x ยาว 198

(หมายเหตุ : ข้อมูลนำมาจากเว็บไซต์ https://en.wikipedia.org/wiki/Bed_size)

ความหนาของที่นอน (Mattress Thickness)

ในส่วนนี้จะมาดู ความหนาของที่นอน (Mattress Thickness) หรือบางแห่งอาจจะเรียกว่า ความสูงของที่นอน (Mattress Height) นั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะในส่วนของความหนานั้น มันสามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพ และประสิทธิภาพของที่นอน ในประเภทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

Mattress and Bed Article Thickness
ความหนาของที่นอน (Mattress Thickness)

โดยทั่วไปแล้ว ที่นอนที่ยิ่งมีความหนา (Thickness) มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีคุณภาพ และ ราคาที่สูงกว่าด้วย ซึ่งความหนาของที่นอนนั้นที่พบเห็นกันมากๆ ก็จะมีตั้งแต่ 6-12 นิ้ว หรืออาจจะเป็นการวางที่นอนแบบซ้อนกัน เพื่อให้เกิดความหนามากขึ้นกว่านั้นอีกก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งในการเลือกความหนาของที่นอน ก็ต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบของเตียงและประเภทของที่นอนด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  • เตียงที่มีพนักพิง บริเวณหัวนอน ที่สามารถใช้นั่งพิงหลังได้แบบโซฟา อาจจะเลือกใช้ที่นอนที่ไม่หนามากจนเกินไป เพื่อให้ระดับความสูงของศรีษะเวลาที่นั่งหลังพิงพนักอยู่ในระดับที่พอดี และเหมาะสม
  • ที่นอนแบบสปริง ควรจะเลือกที่มีความหนามากๆ เอาไว้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ที่นอนแบบสปริงที่มีความหนากว่า มักจะใช้วัสดุของสปริงที่มีคุณภาพสูงกว่า สามารถยืดหยุ่น ให้ตัว และ รองรับน้ำหนักได้ดีกว่า
  • ที่นอนยางพาราแท้ อาจจะไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องความหนามากนัก เพราะเป็นที่นอนที่ใช้วัสดุธรรมชาติที่ค่อนข้างมีน้ำหนักและความนุ่ม ยืดหยุ่นในตัวอยู่แล้ว อาจจะเลือกความหนาอยู่ที่ประมาณ 4-8 นิ้ว ยิ่งมีความหนามากขึ้น ก็จะมีความนุ่ม และยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
  • ที่นอนที่วางไว้ติดกับพื้น (แบบที่ไม่ใช้เตียง) ไม่ว่าจะเป็นที่นอนประเภทไหน ควรเลือกใช้ความหนาที่มากหน่อย ซึ่งไม่ควรน้อยกว่า 8 นิ้ว เพื่อช่วยให้การลุกยืนจากที่นอน สามารถทำได้สะดวกมากขึ้น

ประเภทของที่นอน (Mattress Type)

Mattress and Bed Article
ที่นอนและเตียงนอน อุปกรณ์ที่ต้องอยู่คู่กับเรา อย่างน้อย 1/4 ของชีวิต (รูปจากเพจ : แบกกล้องเที่ยว | สถานที่ : อีกที่นึงคือที่นี่ใช่ไหมเติ้ล โรงแรมธา ซิตี้ ลอฟท์ เชียงใหม่ – THA City Loft Hotel)

ประเภทของที่นอนนั้น สามารถแบ่งออกได้หลายประเภทมากๆ ซึ่งวัสดุหลักที่นำมาใช้ทำที่นอนนั้น จะมีทั้ง แบบที่ทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติ (Natural Materials) และ วัสดุสังเคราะห์ (Synthetic Materials) รวมทั้ง แบบวัสดุในแบบที่ผสมผสานกันระหว่าง วัสดุธรรมชาติ และ วัสดุสังเคราะห์ โดยเราสามารถแบ่งประเภทของที่นอนหลักๆ ออกเป็นหมวดต่างๆ ทั้งหมด 5 หมวด ดังต่อไปนี้

  1. ที่นอนยางพารา (Latex Mattress)
  2. ที่นอนนุ่น (Kapok Mattress)
  3. ที่นอนใยมะพร้าว (Coconut Fiber Mattress)
  4. ที่นอนฟองน้ำ (Sponge Mattress)
  5. ที่นอนสปริง (Spring Mattress)

1. ที่นอนยางพารา (Latex Mattress)

ประเภท ที่นอนยางพารา หรือ “Latex Mattress” (ภาษาไทยอ่านออกเสียงว่า “ลาเท็กซ์แมทเทรส“) จัดเป็นที่นอนที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ จริงๆ ใช้งานได้ยาวนาน คงทน มีความนุ่ม และ ยืดหยุ่นได้ดี แต่ก็มีน้ำหนักและราคาที่มากกว่า เมื่อเทียบกับที่นอนที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติตัวอื่นๆ อย่างเช่น นุ่น หรือ ใยมะพร้าวโดยที่นอนยางพารานั้น จะมีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ คือ ที่นอนยางพาราแท้ กับ ที่นอนยางพาราแบบอัดแน่น นั่นเอง

Mattress and Bed Article Latex Mattress
ด้านใน ที่นอนยางพารา (Latex Mattress) รูปภาพจาก Banteenon.com

1.1 ที่นอนยางพาราแท้ 100% (Natural Latex Mattress)

ที่นอนประเภท ที่นอนยางพาราแท้ ความหมายของมันก็ตามชื่อเลย คือเป็นที่นอนที่ทำมาจาก ยางพาราแท้จากธรรมชาติแบบ 100% จริงๆ โดยไม่มีการปะปนกับวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ ที่นอนยางพาราแท้ จะถูกขึ้นรูป และผ่านกระบวนการอบในระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม ให้ออกมาในลักษณะของแผ่นสีขาวขนาดใหญ่ และนำแผ่นมาวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ (Layer) เพื่อให้เกิดความหนาขึ้น

ข้อดี 🙂

  • มีผิวสัมผัสที่นุ่มละเอียด และยืดหยุ่นมาก
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถคงรูปทรงได้ดี ดูแลรักษาได้ง่าย
  • รองรับกับน้ำหนักมากๆ ได้
  • รองรับสรีระ ของร่างกายแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยลดแรงสั่นสะเทือน จากการนอนดิ้น การนอนพลิกตัวไปมา ได้เป็นอย่างดี
  • ไม่เก็บความชื้น รวมถึงฝุ่นละอองต่างๆ ทำให้ที่นอนไม่เกิดกลิ่นอับ
  • เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ไม่มีสารสังเคราะห์ที่อาจทำให้เกิดภูมิแพ้

ข้อเสีย 🙁

  • มีราคาค่อนข้างแพง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูง
  • อาจมีกลิ่นยาง ในช่วงแรกๆ ที่ใช้งาน
  • มีน้ำหนักมากกว่า เมื่อเทียบกับที่นอนที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆ อย่าง นุ่น หรือ ใยมะพร้าว อาจจะต้องใช้คนยกหลายคน ในขณะขนส่ง

1.2 ที่นอนยางพาราแบบอัดแน่น (Compressed Latex Mattress)

มาถึงที่นอนยางพาราประเภทที่ 2 คือ ที่นอนยางพาราแบบอัดแน่น เป็นที่นอนที่ทำมาจากวัสดุของ เศษยางพาราแท้ โดยนำมาสังเคราะห์และบีบอัดรวมกันเป็นก้อนใหญ่ๆ แล้วจึงนำมาขึ้นให้อยู่ในรูปทรงของเตียง (หลักการลักษณะคล้ายๆ กับ ไม้ปาติเกิ้ล และ ไม้ MDF ที่เอาไว้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์) โดยกลิ่นตอนซื้อมาใหม่ จะขึ้นอยู่กับวัสดุห่อหุ้มของที่นอนว่าเป็นอะไร

ข้อดีของที่นอนยางพารา 🙂

  • มีความแข็งกว่าที่นอนแบบยางพาราแท้ พอสมควร หากใครชอบนอนที่นอนแข็งๆ ต้องถูกใจ
  • สามารถรองรับกับน้ำหนักมากๆ ได้ค่อนข้างดีพอสมควร
  • ไม่ยุบง่าย
  • ช่วยลดแรงสั่นสะเทือน จากการนอนดิ้น หรือการพลิกตัวไปมาได้
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  • ราคาถูกกว่าที่นอนยางพาราแท้

ข้อเสียของที่นอนยางพารา 🙁

  • เมื่อใช้งานไปนานๆ อาจมีกลิ่นเหม็นอับของยาง เพราะระบายอากาศได้ไม่ดีพอ
  • มีน้ำหนักมากกว่า ที่นอนแบบยางพาราแท้จากธรรมชาติ
  • ราคาถูกกว่าที่นอนยางพาราแท้ พอสมควร

2. ที่นอนนุ่น (Kapok Mattress)

ที่นอนประเภทที่สอง คือ ที่นอนนุ่น หรือ “Kapok Mattress” (ภาษาไทยอ่านออกเสียงว่า “เคพ็อคแมทเทรส“) จัดเป็นที่นอนที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติอีกเช่นกัน คือเป็นผลผลิตที่มาจาก ต้นนุ่น (Kapok หรือ Ceiba Pentandra) ซึ่งเป็น พืชผลชนิดไม้ยืนต้น ให้ผลผลิตเป็นเส้นใย เหมาะแก่การเอาใยนุ่น ไปทำเบาะ ที่นอน หมอน ต่างๆ นั่นเอง

Mattredd and Bed Article Kapok Mattress
ด้านใน ที่นอนนุ่นใหม่ และ นุ่นแท้ 100% (Kapok Mattress) รูปภาพจาก ที่นอนนุ่น อยู่บนใจ (ubonjai.com)

โดยปกติในสมัยก่อนนั้น ที่นอนนุ่น จะถูกออกแบบในรูปทรงของที่นอนขนาดเล็ก แบบที่ใช้กับเตียงประเภท เตียงเดี่ยว (Single Bed) ขนาดประมาณ 3-4 ฟุต หรือแม้แต่ จะวางบนพื้นห้องเลยก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะที่นอนนุ่นขนาด 3-4 ฟุต มีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว คนเดียวก็ยกได้

แต่ถ้าต้องการใช้กับเตียงคู่ หรือ เตียงที่มีขนาดใหญ่ๆ จะนิยมใช้แบบวางต่อกันเป็นท่อนๆ 3 ท่อน ต่อกัน (ขึ้นอยู่กับขนาดของเตียง) ในสมัยก่อนมักนิยมหุ้มด้วยเนื้อผ้าอยู่ 2 แบบ ได้แก่

  1. ผ้าย่นหนังไก่
  2. ผ้าไหมญี่ปุ่น (มีความหนา และ คุณภาพ ที่ดีกว่าแบบผ้าย่นหนังไก่)

ในปัจจุบันเราจะสามารถหา ที่นอนนุ่นที่มีคุณภาพ ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากความต้องการนั้นลดลง ทำให้ต้องระวังเรื่องของ ที่นอนนุ่นเก่า และ ที่นอนนุ่นผสม ด้วย โดยวิธีการสังเกตง่ายๆ ที่สามารถทำเองได้คือ

  • ที่นอนนุ่นใหม่จะต้องมีกลิ่นนุ่น ซึ่งกลิ่นนี้จะเป็นกลิ่นที่ไม่เหม็นอับ เป็นกลิ่นนุ่นธรรมชาติ จะใช้เวลาจางหายไป หลังจากใช้งานไปได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • ที่นอนนุ่นใหม่จะมีน้ำหนักเบากว่าที่คิดไว้ เนื่องจากตัวใยนุ่น ยังคงมีความเป็นเส้นใย และที่สำคัญ ไม่เป็นฝุ่น
  • ที่นอนนุ่นใหม่ที่ดีต้องยัดแน่น ไม่นั่งลงไปแล้วรู้สึกยวบยาบ
Mattredd and Bed Article Kapok Mattress Production
การผลิต ที่นอนนุ่นใหม่ และ นุ่นแท้ 100% ของ ที่นอนนุ่น อยู่บนใจ (ubonjai.com) ต้องอาศัยความพิถีพิถัน เป็นอย่างมาก

ข้อดีของที่นอนนุ่น 🙂

  • มีน้ำหนักเบา สามารถยกวาง ขนย้ายได้ง่าย
    (ถึงแม้จะใช้กับเตียงขนาดใหญ่ๆ ถ้าเป็น ที่นอนนุ่น แบบฟูก 3 ท่อนต่อกัน ก็สามารถยกนำมาผึ่งแดดเองได้ไม่ยาก)
  • ให้ความรู้สึกที่เย็นสบาย ไม่อบความร้อน
  • ที่นอนนุ่นที่ดี ความยัดแน่น จะทำให้ไม่เป็นแอ่ง และ มีอายุการใช้งานได้นานหลายสิบปี
  • มีราคาค่อนข้างถูก
  • นุ่นยังคงมีความเป็นเส้นใย ไม่เป็นฝุ่น
    (สำหรับที่นอนนุ่นใหม่ เท่านั้น)
  • มีตัวไรฝุ่น (Mite) น้อยมากๆ เนื่องจากเป็นที่นอนที่ไม่ได้ผ่านการใช้งาน หรือถูกนำกลับมาใช้มาก่อน (Re-Use)
    (สำหรับที่นอนนุ่นใหม่ เท่านั้น)

ข้อเสียของที่นอนนุ่น 🙁

  • หาที่นอนที่จำหน่ายเป็นนุ่นใหม่ในปัจจุบันค่อนข้างยาก ต้องหาร้านดีๆ และ มีน่าเชื่อถือ
  • ที่นอนอาจจะไม่นุ่ม และ เด้งดึ๋ง แบบ ที่นอนสปริง หรือ ที่นอนยางพารา
    (แต่ตรงนี้จะเหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องนอนแล้วปวดหลังมากๆ)
  • หากไม่เคยใช้มาก่อน ช่วงแรกจะไม่ชินกับสัมผัสการนอนมาก แต่ใช้ไปสักพักประมาณ 2-3 สัปดาห์ นุ่นจะยุบลงมาปรับรองรับกับสรีระการนอนมากขึ้น
  • สะสมความร้อนได้ง่าย ไม่เหมาะสำหรับคนขี้ร้อน
  • ถ้าถูกหุ้มด้วยวัสดุผ้าย่นหนังไก่ ที่นอนจะมีขนาดที่บาง และมีความนุ่มที่น้อยลง
  • ตรวจสอบได้ยาก ว่าเป็นนุ่นใหม่แท้ 100% และ ไม่มีการผสมกับเศษผ้า หรือ วัสดุอื่นๆ เข้าไป
  • สะสมฝุ่นละอองได้ง่าย ไม่เหมาะกับคนที่เป็นภูมิแพ้
    (ข้อเสียสำหรับที่นอนนุ่นเก่า หรือ ที่นอนนุ่นผสม)
  • มีอายุการใช้งานได้ไม่ยาวนาน เสียการคงรูปทรงได้ง่าย
    (ข้อเสียสำหรับที่นอนนุ่นเก่า หรือ ที่นอนนุ่นผสม)
  • เมื่อที่นอนมีการยุบตัวลงแล้ว อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
    (ข้อเสียสำหรับที่นอนนุ่นเก่า หรือ ที่นอนนุ่นผสม)

3. ที่นอนใยมะพร้าว (Coconut Fiber Mattress)

ที่นอนประเภทที่สามคือ “ที่นอนใยมะพร้าว” หรือ “Coconut Fiber Mattress” (ภาษาไทยอ่านออกเสียงว่า “โคโคนัทไฟเบอร์แมทเทรส“) ประเภทนี้เป็นที่นอนที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ  วิธีการสร้างนั้นจะใช้วัตถุดิบของเส้นใยมะพร้าวมาแปรรูปให้เป็นแผ่น และผ่านกรรมวิธีการอัดแน่น จนกลายเป็นรูปทรงของที่นอน เป็นเตียงที่มีความแข็งกระด้างค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับคนที่ชอบนอนเตียงที่มีความแข็งในระดับหนึ่ง (ไม่นิ่มมาก มีความยืดหยุ่นน้อย) ส่วนน้ำหนักของที่นอนชนิดนี้ เมื่อเทียบกับที่นอนยางพาราที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติเหมือนกันแล้ว จะมีน้ำหนักที่เบากว่ามาก

Coconut Fiber Mattress
ด้านใน ที่นอนใยมะพร้าว (Coconut Fiber Mattress) รูปภาพจาก Banteenon.com

ข้อดีของที่นอนใยมะพร้าว 🙂

  • มีความแข็ง และกระด้างอยู่ในตัว
  • สามารถคงรูปทรงได้ดี และยุบตัวได้ยาก
  • มีน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา
  • ช่วยลดปัญหาการปวดหลัง จากการนอนบนที่นอนนิ่มๆ ยวบๆ ซึ่งไม่เหมาะกับสรีระร่างกายของผู้นอน
  • สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

ข้อเสียของที่นอนใยมะพร้าว 🙁

  • เมื่อหมดอายุการใช้งาน หรือเมื่อเสื่อมสภาพแล้ว จะเกิดการเปื่อยยุ่ย ก่อให้เกิดขุย และไรฝุ่น ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ
  • มีความนุ่ม และยืดหยุ่นน้อย ไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบนอนที่นอนแบบแข็งๆ

4. ที่นอนฟองน้ำ (Sponge Mattress)

ที่นอนในประเภทที่สี่คือ “ที่นอนฟองน้ำ” หรือ “Sponge Mattress” (ภาษาไทยอ่านออกเสียงว่า “สปองจ์แมทเทรส“) เป็นที่นอนที่ใช้วัสดุสังเคราะห์ ทางวิทยาศาสตร์ โดยการใช้เศษฟองน้ำชิ้นเล็กๆ นำมาบีบอัดด้วยเครื่องอัดแรงดันสูง (คล้ายๆ กับ ที่นอนยางพาราแบบอัดแน่น) ตามด้วยกระบวนการผสมทางเคมี แล้วจึงนำมาขึ้นรูปทรงและขนาดตามที่ต้องการ

Sponge Mattress
ด้านใน ที่นอนฟองน้ําอัด (Compress Sponge Mattress) รูปภาพจาก Banteenon.com

นอกจากนี้แล้ว ที่นอนฟองน้ำ มักจะนิยมนำไปผสมกับวัสดุใยมะพร้าว หรือ ที่เรียกกันว่า ที่นอนฟองน้ำใยมะพร้าว เพื่อให้มีความแข็งมากขึ้น และ เกิดการยุบตัวที่น้อยลง สามารถรองรับน้ำหนักและสรีระร่างกายได้ดี ในราคาที่ถูกกว่า (ลองนึกสภาพเหมือนกับเก้าอี้ฟองน้ำ เมื่อนั่งไปนานๆ ฟองน้ำก็จะยุบลงไปเรื่อยๆ จึงต้องมีการผสมใยมะพร้าว เข้าไปช่วยด้วย)

ข้อดีของที่นอนฟองน้ำ 🙂

  • ให้ความรู้สึกที่นุ่ม คล้ายกับที่นอนที่ทำจากวัสดุยางพารา
  • มีน้ำหนักเบา สามารถยก และเคลื่อนย้ายได้ง่าย
  • มีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี
    (แต่น้อยกว่า ที่นอนแบบยางพาราแท้)
  • มีราคาถูก นิยมใช้ตามหอพัก
    (เมื่อเทียบกับ ที่นอนยางพารา และ ที่นอนใยมะพร้าว)
  • มีความทนทาน ใช้งานได้นาน
    (แต่น้อยกว่า ที่นอนแบบยางพาราแท้)

ข้อเสียของที่นอนฟองน้ำ 🙁

  • วัสดุฟองน้ำสังเคราะห์ที่ไม่ได้คุณภาพ เมื่อใช้เป็นเวลานานจะเกิดการยุบตัวในลักษณะที่เป็นแอ่ง ทำให้มีอาการปวดหลังได้
  • มีระบบการระบายอากาศได้ไม่ดี ทำให้เกิดกลิ่นอับได้ง่าย
  • เกิดฝุ่นละอองสะสมบนที่นอนได้ง่าย

5. ที่นอนสปริง (Spring Mattress)

ที่ประเภทที่ห้าเป็น “ที่นอนสปริง” หรือ “Spring Mattress” (ภาษาไทยอ่านออกเสียงว่า “สปริงแมทเทรส“) จัดอยู่ในประเภทของที่นอน ที่มีการผสมผสานระหว่างวัสดุธรรมชาติ วัสดุสังเคราะห์ และ เทคโนโลยีรองรับน้ำหนัก กระจายน้ำหนัก รวมเข้าไว้ด้วยกัน จึงทำให้ ที่นอนสปริง เป็นที่นอนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหลายปี และมีความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะตามโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ

โดย ที่นอนสปริง จะมีความหนามากกว่าที่นอนประเภทอื่นๆ เนื่องจากต้องมีการใส่ตัวสปริงเข้าไปด้านใน เพื่อรับน้ำหนัก และ ดูดซับแรงกด แรงกระแทกต่างๆ นอกจากนี้แล้วที่นอนสปริง ยังมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบอีกด้วย ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีเทคโนโลยีการจัดวางของสปริงที่แตกต่างกันออกไปด้วย

ประเภทของที่นอนสปริง  (Types of  Spring Mattress)

5.1 ที่นอนบอนแนลล์สปริง (Bonnell Spring Mattress)

Bonnell Spring Mattress
ด้านใน ที่นอนบอนแนลล์สปริง (Bonnell Spring Mattress) รูปภาพจาก Banteenon.com

เป็นสปริงแบบดั้งเดิม ที่สร้างในลักษณะของการยึดสปริงแต่ละลูกเข้าไปในแผ่นของที่นอน ซึ่งยังไม่มีความคงทน แน่นหนามากนัก จึงมีโอกาสทำขดลวดของสปริงล้มและทำให้รูปทรงของที่นอนผิดรูปไปได้ และยังมีโอกาสก่อให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างสปริง ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น แต่จะมีราคาที่ถูกกว่าแบบอื่นๆ

5.2 ที่นอนออฟเซตสปริง (Offset Spring Mattress)

เป็นสปริงที่ทำงานแบบเชื่อมโยง ขมวดปมถึงกัน แต่จะมีความแข็งกระด้าง และไม่ยืดหยุ่นทำให้เวลาในเวลาที่ผู้นอนขยับ หรือ พลิกตัวไปมา จะส่งผลรบกวนกับคนที่นอนด้วย  ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาให้กลายเป็นแบบ Open Offset เพื่อลดแข็งกระด้างของสปริงให้น้อยลง ทำให้รองรับน้ำหนักร่างกายได้ดีมากขึ้น

5.3 ที่นอนพ็อกเก็ตสปริง (Pocket Spring Mattress)

พ็อกเก็ตสปริง (Pocket Spring) จะเป็นสปริงแบบแยกอิสระ วางเรียงกันเป็นแถวๆ เป็นร้อยๆ ลูก โดยด้านบนของสปริงอาจจะเป็นแผ่นฟองน้ำอัด เกรดต่างๆ อีกทีหนึ่ง

Pocket Spring Mattress
ด้านใน ที่นอนพ็อกเก็ตสปริง (Pocket Spring Mattress) รูปภาพจาก Banteenon.com

จากรูปประกอบด้านบน จะสังเกตเห็นว่า ชุดสปริงจะถูกสวมอยู่ในถุงผ้าอีกทีหนึ่ง เพื่อกันปัญหาการเสียดสีกัน หรือ ขบกันของสปริงแต่ละตัว และ ยังป้องกันไม่ให้เกิดเสียงดังรบกวน เวลาขยับหรือพลิกตัวขณะนอนนั่นเอง แถมคนข้างๆ ก็ยังไม่รู้สึกตัวขณะที่เราพลิกตัวเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว ที่นอนพ็อกเก็ตสปริง ก็ยังสามารถรองรับกับสรีระของร่างกายได้เป็นอย่างดี แต่จะมีราคาที่สูงกว่าที่นอนสปริงแบบอื่นๆ อยู่เหมือนกัน

ข้อดีและข้อเสียโดยรวมของที่นอนสปริง

ข้อดีของที่นอนปริง 🙂

  • มีความยืดหยุ่น และสามารถคืนตัวได้ดี
    (ในบางรุ่นอาจดีกว่าแบบ ที่นอนยางพาราแท้)
  • สามารถกระจายน้ำหนักของร่างกาย ไม่ให้เกิดแรงกดทับของสรีระส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป
    (โดยเฉพาะคนที่ชอบนอนตะแคง จะช่วยลดการกดทับของไหล่ และสะโพกได้เป็นอย่างดี)
  • ระบายอากาศได้ดี ให้ความรู้สึกที่เย็นสบายกว่าที่นอนแบบฟองน้ำและ ยางพารา
  • มีความแข็งแรงคงทน ใช้งานได้นาน
    (ต้องเป็นแบบสปริงแท้ คุณภาพดี ไม่ใช่แบบที่เป็นลักษณะของ ขดลวด)
  • มีให้เลือกหลากหลายราคา
    (โดยรวมแล้ว ถูกกว่า ที่นอนยางพาราแท้)

ข้อเสียของที่นอนสปริง 🙁

  • เมื่อใช้เป็นเวลานานๆ เมื่อเกิดการเสื่อมของตัวสปริง เวลานอนขยับ หรือ พลิกตัว จะเกิดการเสียดสีของตัวสปริง ทำให้มีเสียงดังรบกวนขณะนอนหลับ

ก่อนจากกัน ก็หวังว่า บทความทำความรู้จักกับที่นอน ในประเภทต่างๆ ที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ จะมีส่วนช่วยประกอบการตัดสินใจ ในการเลือกซื้อที่นอนได้พอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นการยากที่จะบอกได้ว่า ที่นอนนั้นทำมาจากวัสดุ ตามที่ผู้ขายเขาได้บอกไว้จริงๆ หรือไม่ ครั้นจะไปขอคนขายเขาผ่าเปิดดูไส้ หรือ วัสดุที่อยู่ในที่นอน ก็คงจะเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นอาศัยการสอบถาม และ ขึ้นไปทดลองนอนจริงๆ แล้วสังเกตอาการ จะดีที่สุด

สุดท้ายนี้ ทาง Thanop.com หวังว่าคุณจะได้รับที่นอน ที่พึงพอใจกับคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม มากที่สุด เพื่อให้มันเป็นอุปกรณ์ชิ้นสุดท้าย ที่จะอยู่กับคุณก่อนหลับตานอน และก้าวเข้าสู่วันใหม่ที่สดใสไปพร้อมกัน


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลใจดี ที่สำคัญ 3 แหล่ง ที่เอื้อเฟื้อรูปถ่าย และ ข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ประกอบบทความเรื่อง ที่นอน และ เตียงนอน นี้ ให้อ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น ได้แก่

บ้านที่นอน.คอม

ร้านอยู่บนใจที่นอนนุ่น

แบกกล้องเที่ยว.คอม

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้