Mister Robot Hybrid Mapping
รีวิวนี้เป็น รีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Mapping มันเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นและถูพื้น ที่ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากความสำเร็จของรุ่นพี่ มันอย่าง Mister Robot Hybrid (ลองกดที่ชื่อ เพื่อเข้าไปดูรีวิวตัวก่อนได้) ที่ได้สร้างชื่อเสียงเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากถือเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น รุ่นหนึ่งที่จัดว่ามีคน ให้ความสนใจ และ สอบถามผม เข้ามามากมาย
โดยรุ่นใหม่นี้มีชื่อเหมือนกันเป๊ะคือ Mister Robot Hybrid Mapping สาเหตุที่ต้องต่อท้ายด้วยคำว่า “Mapping” เข้าไปข้างหลังอีก 1 คำนั่นเอง เรียกได้ว่าถ้าเทียบกับวงการ ซอฟต์แวร์ หรือ แอพพลิเคชั่น นั้นก็เหมือนการที่ทางผู้ผลิตได้ออกเวอร์ชั่นใหม่ มาอัพเดทแก้ไขข้อผิดพลาด และ เพิ่มความสามารถใหม่เข้าไปนั่นเอง ตัว “Mapping” นี้ก็เช่นกัน ที่ได้นำเอาความสามารถของรุ่นเก่า มาปรับปรุงให้ดีขึ้นนั่นเอง
ความสามารถโดยหลัก ของ Mister Robot Hybrid Mapping ยังคงเหมือนกับรุ่นพี่ของมัน นั่นคือการทำความสะอาด ที่เป็นได้ทั้ง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum Cleaner) และ หุ่นยนต์ถูพื้น (Floor Mopping Robot) แบบเปียก ได้ในตัวเดียวกัน แต่ทว่า มันได้ถูก ปรับปรุงเพิ่มขีดความสามารถ ในการประมวลผลการทำงานของเครื่อง เข้าไปให้ดีขึ้น อาทิ การมีรูปแบบการวิ่งทำความสะอาด (Cleaning Pattern) ที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เช่นการทำงานแบบเดินเป็นเส้นตรง สลับไป สลับมา ให้เครื่องวิ่งผ่านทำความสะอาดในทุกตารางนิ้วพร้อมหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ได้อย่างแม่นยำ แถมยังมีเสียงที่เบามากๆ อีกด้วย (ต่ำกว่า ระดับเสียงมาตรฐาน ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป 60 เดซิเบล)
ด้านล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอสรุปการทำงานของตัวเครื่อง คุณสามารถใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในการดูส่วนประกอบต่างๆ ของมันได้อย่างละเอียด และ หากมีข้อสงสัย อยากหารายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถเลื่อนลงมาดูรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ต่อด้านล่างนี้ได้เลย
(หมายเหตุ : อุปกรณ์ในคลิปวีดีโอรีวิว Mister Robot Hybrid Mapping อย่างเช่น แปรงกวาดหลัก ยังไม่มี แปรงยางทรงวี และ ถังน้ำยังใช้ ตัวกรองช่องระบายน้ำ (Wick Cap) ในการปล่อยน้ำลงพื้น ซึ่งตัวใหม่ (ถ้าซื้อหลังเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา) จะใช้ระบบการหยดน้ำแบบใหม่แล้ว ดังนั้นจึงอาจแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ในสาระสำคัญ มิได้เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอะไรไปมากกว่านี้)
และเช่นเคย ก่อนที่จะเริ่มรีวิว ผมก็ได้ทำเมนูลัดเอาไว้ให้ เพื่อใครที่ต้องการจะข้ามไปยังส่วนที่ต้องการ ก็สามารถกดจาก ลิ้งค์เมนูด้านล่างนี้ได้เลย
- รู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot กันก่อน
- แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น
- ข้อมูลจำเพาะ ข้อมูลทางเทคนิค ของเครื่อง
- คุณสมบัติ และ ความสามารถหลักๆ
- สำรวจส่วนประกอบรอบๆ ตัวเครื่อง
- เริ่มต้นการใช้งานเครื่องจริง
- คำถามที่คุณต้องอยากรู้ (FAQs) เกี่ยวกับการใช้งาน
- บทสรุปการใช้งาน
รู้จักกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แบรนด์ Mister Robot
คุณสามารถทำความรู้จักกับ ประวัติที่มาที่ไปของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot ให้มากกว่านี้ พร้อมรายละเอียดติดต่อ สถานที่สั่งซื้อ ฯลฯ ได้ที่ลิงค์เชื่อมต่อไปยังหน้ารายละเอียดด้านล่างนี้เลย
⇒ ทำความรู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot
รู้จักกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping
ในส่วนของฟังก์ชั่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในรุ่น “Mapping” นี้ ก็คือระบบการทำงานในรูปแบบของ “Mapping Program” ซึ่งเป็นรูปแบบเทคโนโลยีที่มีทันสมัยและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นนี้ สามารถทำความสะอาดบริเวณต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างชาญฉลาดและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเดิมนั่นเอง
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ใน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping นี้ ก็ยังคงเอกลักษณ์ของดีไซน์รูปแบบเดิม ในด้านรูปทรงของตัวเครื่อง ที่มีขนาดเล็ก และ มีความบาง (ความสูง) น้อยกว่ารุ่นอื่นๆ เพื่อเน้นความคล่องตัวในการเคลื่อนที่เข้าออกตามซอก ตามมุมห้อง และ มุดใต้ขาเก้าอี้สำนักงาน โซฟา ได้อย่างไม่มีติดขัด
นอกจากนั้นแล้วทางด้านคุณสมบัติและความสามารถที่โดดเด่นก็ไม่แพ้กับรุ่นตัวก่อนหน้านี้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น ระบบพลังดูดแรงสูง ที่มีความดันถึง 1,000 ปาสกาล (Pa) รวมไปถึง กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ที่มาพร้อมกับระบบตัวกรองอากาศ 3 ชั้น คุณภาพสูง (Triple Layer Filter) แท๊งค์น้ำ (Water Tank) ที่มีขนาดใหญ่จุน้ำได้เยอะ สำหรับถูพื้นแบบเปียกได้ยาวนานขึ้น รวมถึงตัวเซ็นเซอร์ป้องกันการชนกำแพง (Wall Detector Sensor) ที่ป้องกันการเกิดความเสียหาย ระหว่างตัวเครื่อง กับ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านนั่นเอง
แกะกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping
และก่อนที่จะเริ่มแกะกล่องผลิตภัณฑ์ ลองมาชมภาพรอบๆ ตัวกล่องด้านนอกกันดูก่อนว่า ในรุ่นนี้มีการออกแบบเป็นอย่างไร และมีข้อมูลรายละเอียดเด่นๆ ที่ผู้ผลิตอยากจะบอกกับเราบ้าง มาดูกันเลย
ด้านอกกล่อง
ด้านหน้ากล่อง : จะเน้นไปทางโทรสีขาวดูสะอาดตา และใช้ข้อความตัวหนังสือที่เป็นสีดำ เพื่อตัดกันอย่างชัดเจน ในส่วนของกล่องด้านหน้า บริเวณตรงกลางจะใช้เป็นรูปตัวเครื่องของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping หันหน้าไปทางขวามือ พร้อมติดตั้งแปรงกวาดข้าง เรียบร้อย พื้นหลังเป็นเส้นๆ ตรงๆ แบบขึ้นลงสลับกันไป เพื่อที่จะสื่อว่า รุ่น Hybrid Mapping นี้ “มีการทำงานที่เป็นระบบ เป็นเส้นตรง ไม่วิ่งมั่ว และ ดูดครบทั่วทุกตารางนิ้ว” นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ด้านมุมขวาบนของกล่องด้านหน้า มีโลโก้ของยี่ห้อ “มิสเตอร์โรบอท (Mister robot)” และชื่อรุ่น Hybrid Mapping ตัวใหญ่ๆ อยู่บริเวณมุมขวาล่าง นอกจากนี้ก็ยังมีตัว QR Code อยู่ทางมุมซ้ายล่าง ที่เมื่อสแกนเข้าไปแล้ว จะพาไปยังเว็บไซต์ ของผลิตภัณฑ์ (www.misterrobotcleaner.com) นั่นเอง
ด้านซ้ายกล่อง : จะมีข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและความสามารถที่ โดดเด่น รวมไปถึง รูปแบบการใช้งานต่างๆแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนพร้อมกับรูปไอคอนประกอบ ให้สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบโหมดทำความสะอาดที่มีระบบ แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนใช้งานได้ยาวนาน แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง (HEPA Filter) เทคโนโลยีของอุปกรณ์สำหรับถูพื้นแบบเปียก การวิ่งกลับไปชาร์จแบตเตอรี่ได้เองโดยอัตโนมัติ และ การทำงานในระดับเสียงที่เบา เป็นต้น ส่วนบริเวณขอบด้านล่างจะมีลิงค์ URL ของเฟสบุ๊คเพจ ปรากฎอยู่ด้วย หากต้องการเข้าไปติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม
ด้านขวากล่อง : จะเป็นข้อมูลที่เน้นกับเทคโนโลยีของ ถังเก็บน้ำ (Water Tank) เพื่อใช้ สำหรับกักเก็บน้ำในการถูพื้นแบบเปียก ที่มีความจุมากถึง 0.3 ลิตร (300 มิลลิลิตร) พร้อมกับข้อมูลเทคนิคของตัวเครื่องแบบย่อๆ อย่าง ขนาดและน้ำหนักของตัวเครื่อง ความจุแบตเตอรี่ ขนาดถังเก็บฝุ่น และรูปแบบตัวกรองอากาศ
ด้านหลังกล่อง : การออกแบบดีไซน์ จะคล้ายๆ กับด้านหน้าของกล่อง แต่เปลี่ยนองศาการจัดวางของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเล็กน้อย จากภาพของ ด้านหน้าของกล่อง ที่เป็นแนวนอน มาด้านหลังกล่อง จะเป็นแนวตั้งเฉียงๆ เพื่อให้ดูมีมิติมากยิ่งขึ้น และ ได้นำเส้น ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ เหมือนกันทั้งหมด
ด้านในกล่อง และ อุปกรณ์ที่ให้มา
เมื่อเปิดกล่องผลิตภัณฑ์ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ออกมาแล้วจะพบแผ่น กระดาษแข็งสีขาวเคลือบด้าน วางคั่นเอาไว้ พร้อมกับมีแผ่นฟองน้ำสีขาวรองอยู่ด้านใต้แผ่นกระดาษอีก 1 ชั้น เพื่อป้องกัน ความเสียหาย กระทบกระแทกของตัวเครื่อง ของตัวเครื่อง ระหว่างการเคลื่อนย้าย ขนส่ง (ถือว่าผู้ผลิตใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากๆ เลยทีเดียว)
เมื่อเอาแผ่นคั่นออกมาแล้ว ก็จะพบว่าด้านในมีการจัดวางของอุปกรณ์แต่ละชิ้นเป็นสัดส่วนและเรียบร้อย ภายในกล่องจะถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสทุกชิ้น เป็นอย่างดี
และคราวนี้มาลองชมอุปกรณ์ทีละชิ้น ที่อยู่ภายในกล่องกันต่อเลยดีกว่า ว่าจะมีอะไรมาให้บ้าง และเฉกเช่นเคย ดูรูปภาพ พร้อมกับหมายเลขกำกับอุปกรณ์แต่ละชิ้น จากด้านล่างนี้ พร้อมกับดูคำอธิบายต่อที่ด้านล่างได้เลย
1. Mister Robot Hybrid Mapping (ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น x 1 เครื่อง)
พระเอกของงาน นั่นคือ ตัวเครื่อง “หุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Vacuum)” ที่ทางผู้ผลิต ได้ดีไซน์ออกมาในรูปแบบทรงกลม ใช้สีเงินผสมขาวที่ดูเรียบๆ สะอาดตา แต่ก็แฝงความทันสมัยอยู่ในตัว มีแผ่นกระจกเคลือบอยู่บนพื้นผิวด้านบนของตัวเครื่อง ผสมผสานกับพลาสติกลายคล้ายเคฟล่าสีขาว (White Kevlar) บริเวณขอบด้านข้าง
ส่วนทางด้านขนาดของตัวเครื่องนั้น ออกแบบมาได้เล็กกะทัดรัดและมีน้ำหนักเบา โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 31 เซนติเมตร และ มีน้ำหนักเครื่อง รวมอยู่ที่ 2.5 กิโลกรัม พร้อมกับความหนาเพียง 7.6 เซนติเมตร เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีรูปทรงค่อนข้างบางมากตัวหนึ่งเลยทีเดียว (หุ่นยนต์ดูดฝุ่นส่วนมากจะมีความหนา เกิน 9 เซนติเมตร)
2. Charge Base (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)
อุปกรณ์นี้เรียกว่า “แท่นชาร์จ (Charge Base)” เปรียบเสมือนบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์บางยี่ห้อ เรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า “Home Base” มันใช้สำหรับเป็นที่พักพิง เพื่อชาร์จเติมพลังงานแบตเตอรี่ให้กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ มันสามารถรับส่งสัญญาณถึงตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถกลับมาชาร์จพลังงานได้เองโดยอัตโนมัติ โดยตัวแท่นชาร์จในรุ่นนี้จะไม่มีปลั๊กไฟมาให้ในตัว จะต้องใช้ตัว ชุดอะแดปเตอร์ไฟ เสียบสายไฟ เข้าไปที่ด้านหลังของแท่นชาร์จก่อน ถึงจะสามารถใช้งานได้
3. Remote Control (รีโมทคอนโทรล x 1 อัน)
อุปกรณ์สั่งงานส่งคำสั่งเครื่องระยะไกล หรือ “รีโมทคอนโทรล (Remote Control)” ได้ออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก ใช้โทนสีเทาอมเขียว ตัดกับสีดำ มีปุ่มกดฟังก์ชั่นต่างๆ ไม่มาก ใช้งานง่าย โดย ปุ่มเลือกฟังก์ชั่นจะเป็น “สีฟ้า” และ ปุ่มควบคุมทิศทางการทำงานของเครื่องจะเป็น “สีดำ” ด้านบนมี หน้าจอดิจิตอลขาวดำธรรมดา แสดงผลอยู่ และ มีปุ่มฟังก์ชั่น ให้ผู้ใช้งานได้สามารถกด ควบคุมการทำงานได้อย่างครอบคลุมและครบครัน โดยการใช้งานของตัวรีโมท จะต้องใส่แบตเตอรี่ขนาดเล็กแบบ AAA จำนวน 2 ก้อน (ในกล่องไม่มีแถมมาให้นะ)
4. Adapter Set (ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ x 1 ชุด)
อุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่สำคัญมากๆ เลยคือ “ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ (Adapter Set)” มันเป็นอุปกรณ์ที่ประกอบไปด้วย อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ และ สายชาร์จ ขนาดความยาว ประมาณ 1.5 เมตร (วัดเองโดยตลับเมตร) ที่เอาไว้ใช้งานร่วมกับ แท่นชาร์จ (Charge Base) ด้วยการเสียบเข้าที่ด้านหลังของตัวแท่นชาร์จ โดยอะแดปเตอร์นี้ มีค่า INPUT อยู่ที่ 100-240V และค่า Output 19V 0.6A ซึ่งก็ถือว่าปกติ เป็นค่ามาตรฐานของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทั่วๆ ไป
5. Water Tank (ถังเก็บน้ำ x 1 ถัง)
อุปกรณ์ชิ้นนี้เรียกว่า “ถังเก็บน้ำ หรือ แท๊งค์น้ำ (Water Tank) ที่มีความสามารในการเก็บกัก และ จุปริมาณน้ำได้มากถึง 300 มิลลิลิตร (0.3 ลิตร) ซึ่งจะใช้ติดตั้งเฉพาะในเวลาที่ต้องการจะถูพื้นแบบเปียก โดยจะมีช่องสำหรับเติมน้ำอยู่ที่บริเวณด้านบนซ้ายมือ (มีสัญลักษณ์ไอคอนรูปก๊อกน้ำสีฟ้ากำกับไว้อยู่) เพื่อที่จะทำให้ผ้าม็อบที่ถูกติดตั้งเข้ากับตัว ถังเก็บน้ำ เพื่อรักษาความเปียกชื้น ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงเวลา ในขณะทำการถูพื้น
6. Side Brush (แปรงกวาดข้าง x 2 ชุด = 4 แปรง)
อุปกรณ์ “แปรงกวาดข้าง (Side Brush)” มันเป็นตัวช่วยในการทำความสะอาด และ กวาดสิ่งสกปรกต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ในรัศมีทำการของ แปรงกวาดหลัก (Main Brush) ที่อยู่ข้างใต้ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นนั่นเอง
โดยแปรงกวาดข้างนี้ จะเป็นหัวแปรงแบบ 3 แฉก (3 ก้าน) มีขนแปรงสีดำเงา พร้อมพลาสแถบติกยึดที่ขั้วของแปรง เพื่อป้องกันขนแปรงหลุดออกมาขณะกำลังหมุนทำงาน ขนาดความยาวของขนแปรงในแต่ละแฉก จะอยู่ที่ 5 เซนติเมตร
ภายในกล่อง เขาจะให้แปรงกวาดข้าง มาทั้งหมด 2 ชุด (ชุดละ 2 แปรง รวมทั้งสิ้นเป็น 4 แปรง) โดยที่ ชุดนึงได้ถูกติดตั้ง อยู่ที่ตัวเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (บริเวณด้านหน้าใต้ตัวเครื่อง) และยังมี ที่เป็นอะไหล่สำรองแถมมาให้อีก 1 ชุด อยู่ในกล่องผลิตภัณฑ์ และบนตัว แปรงกวาดข้าง แต่ละอัน ก็จะมีตัวอักษรกำกับไว้ด้วย ว่าตัวไหนสำหรับติดตั้งไว้ที่ด้านซ้าย และตัวไหนสำหรับด้านขวา โดยใช้เป็นสัญลักษณ์เป็นตัว L (สำหรับ ด้านซ้าย) และ ตัว R (สำหรับ ด้านขวา) นั่นเอง
7. V-Shape Rubber Brush (แปรงยางทรงวี x 1 แปรง)
ออปชั่นใหม่ล่าสุด “แปรงยางทรงวี หรือ V-Shape Rubber Brush” อุปกรณ์ที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาสำหรับคนที่ซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) เป็นต้นมา ช่วยดูดฝุ่นประเภทเส้นผม ได้เป็นอย่างดี
8. Cleaning Brush (แปรงทำความสะอาดเครื่องอเนกประสงค์ x 1 แปรง)
อุปกรณ์ชิ้นนี้เรียกว่า “แปรงทำความสะอาดเครื่องอเนกประสงค์ (Cleaning Brush)” ใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเอง อาทิ แปรงกวาดหลัก กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง แผ่นกรองอากาศ HEPA หรือ ตามซอกหลืบ ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจากที่ กรําศึกทำความสะอาด และ ใช้งานมากอย่างหนัก ตัวแปรงนี้จะมี 2 หัว (2 ฝั่ง) โดยฝั่งนึง เป็นแปรงพลาสติกแบบแข็ง (คล้ายๆ กับไม้เกาหลัง) และ อีกฝั่งจะเป็นแปรงแบบขน แล้วแต่สถานการณ์ ได้เลย
9. HEPA Filter (แผ่นกรองอากาศ HEPA ชุดสำรอง x 1 แผ่น)
อุปกรณ์มาตรฐาน ที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทุกรุ่น ทุกยี่ห้อจะต้องมี นั่นก็คือ “แผ่นกรองอากาศ HEPA หรือ HEPA Filter” ที่ให้มาเป็นอะไหล่สำรอง (มีอีกตัวนึง ถูกติดตั้งอยู่ข้างใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว)
โดยคำว่า HPEA นั้น ย่กมาจากคำว่า “High Efficiency Particulate Air Filter” ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ที่มีความสามารถดักจับฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่างๆ ที่มีอนุภาคเล็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
10. Microfiber Cloth (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ x 2 ผืน)
นอกจากนี้แล้ว ในกล่องยังมี ผ้าถูพื้นชนิดพิเศษ หรือ “ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cloth)” เป็นผ้าที่มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติในการถูพื้น และ จับฝุ่นบนพื้นได้ดี เพื่อให้ได้ความสะอาดระดับสูงสุด หลังจากที่ผ่านการดูดของแปรงกวาดมาแล้วด้านหน้าของตัวเครื่อง มีหน้าที่ใช้ สำหรับใช้ในการถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) ซึ่งจะถูกติดตั้งมาให้เรียบร้อยแล้วที่ข้างใต้นอกจากนี้ยังมี ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ สำรองมาให้อีก 1 ผืนด้วย
11. User Manual (คู่มือการใช้งาน x 1 เล่ม)
ในกล่องผลิตภัณฑ์ ยังมี “คู่มือการใช้งาน (User Manual)” ที่เป็น เวอร์ชั่นภาษาไทย มาให้อยู่ 1 เล่ม (ไม่มีคู่มือเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาให้) มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีขนาดของกระดาษอยู่ที่ประมาณ A5 (ครึ่งหนึ่งของ A4) หน้าปกมีลักษณะเป็นกระดาษอาร์ตมันแบบบาง ส่วนภายในเล่มมีรูปภาพ และ คำอธิบายฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ อย่างชัดเจน ในรูปแบบการพิมพ์ของสีขาว-ดำ
รูปประกอบเฉพาะอุปกรณ์ ที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping
ข้อมูลจำเพาะ ของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Mapping
หลังจากที่ได้ดูข้อมูลของอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ลองมาดูข้อมูลจำเพาะ หรือ ข้อมูลเทคนิค (Technical Specifications) ของตัวเครื่องกันดูบ้าง ว่าจะมีรายละเอียดการใช้งานเป็นยังไงบ้าง แต่ดูรวมๆ แล้วมีข้อมูลจำเพาะ ที่ใกล้เคียงกับ รุ่นพี่ของมันอย่าง Mister Robot Hybrid
รายละเอียด (Specification) |
|
ขนาดมิติ (Dimension) |
310 x 310 x 76 มม. |
น้ำหนัก (Weight) |
2.5 กิโลกรัม |
ไฟเข้า (Input) |
AC 100-240V 50/60 Hz |
ไฟออก (Output) |
DC 24V 1.0A (กินไฟ 18~30W) |
ประเภทของแบตเตอรี่ (Battery Type) |
Li-Ion |
ปริมาณความจุแบตเตอรี่ (Battery Capacity) |
2,600 mAh |
ระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง (Noise Level) |
140-160 นาที (ขึ้นอยู่กับโหมดของการใช้งาน) |
ระดับเสียง (Noise Level) |
ประมาณ 48 dB. (เดซิเบล) – โหมดปกติ ประมาณ 60 dB. (เดซิเบล) – โหมด MAX (วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร) |
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร) (Dustbin Capacity – Litre) |
0.45 ลิตร (450 mL) |
ขนาดความจุถังน้ำ (ลิตร) (Water Tank Capacity – Litre) |
0.30 ลิตร (300 mL) |
คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Mapping
มาดูกันที่ คุณสมบัติ และ ความสามารถเด่นของ 10 ข้อหลักๆ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping กันดู ว่ามีอะไร ส่วนไหน ที่น่าสนใจกันบ้าง
1. Various Cleaning Modes (มีรูปแบบโหมดทำความสะอาดที่หลากหลาย)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid มีโหมดการทำงานหลักๆ ให้เลือกในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับ ความต้องการ ของการใช้งาน โดยขอแบ่งโหมดการทำความสะอาด ออกเป็น โหมดทำความสะอาดหลัก และ โหมดทำความสะอาดเสริม ตามรายละเอียดด้านล่างนี้เลย
1.1 โหมดทำความสะอาดหลัก
- AUTO Mode (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ) : ในโหมดนี้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะทำความสะอาดบ้านไปเรื่อยๆ จนกว่าแบตเตอรี่จะอ่อน แล้วจึงวิ่งกลับไปแท่นชาร์จเพื่อชาร์จพลังงานแบตเตอรี่โดยอัตโนมัติ สามารถกดใช้งานได้ผ่านทางตัวเครื่องที่ “ปุ่ม CLEAN” หรือจะกดที่บนรีโมทคอนโทรลก็ได้เช่นกัน
- SPOT Mode (โหมดทำความสะอาดเฉพาะจุด) : เป็นการทำความสะอาดแบบเฉพาะจุด (Spot) ในบริเวณพื้นที่ที่ต้องการให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำความสะอาดเป็นพิเศษ โดยรูปแบบการวิ่งของหุ่นยนต์จะวิ่งวนเป็นแบบวงกลม สามารถกดการใช้งานในโหมดนี้ได้ผ่านทาง “ปุ่ม SPOT” (สัญลักษณ์เส้นหมุนวนเป็นวงกลม) บนรีโมทคอนโทรล
- RANDOM Mode (โหมดทำความสะอาดแบบสุ่ม) : เป็นการทำความสะอาดแบบสุ่ม โดยหุ่นยนต์จะมีการประมวลผลการทำงานเองในรูปแบบที่ผสมผสานกันไป ทั้งวิ่งเป็นแนวตรง วิ่งชิดขอบ และวิ่งเป็นวงกลม สามารถกดการใช้งานในโหมดนี้ได้ผ่านทาง “ปุ่ม RANDOM” (สัญลักษณ์ลูกศรไขว้) บนรีโมทคอนโทรล
- MINI Mode (โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติแบบ 30 นาที) : โหมดทำความสะอาดแบบเดียวกับ โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ (AUTO Mode) แต่จะเน้นการทำงานแบบระยะเวลาสั้นๆ รวดเร็ว โดยระบบจะกำหนดเวลาเอาไว้ที่ 30 นาที และเมื่อครบ 30 นาทีเมื่อไหร่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ก็จะหยุดการทำงานเองโดยอัตโนมัติเช่นกัน เราสามารถกดใช้งานโหมดนี้ ด้วยการกดที่ “ปุ่ม CLEAN จำนวน 2 ครั้ง ติดกัน” ที่บนตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น และ รีโมทคอนโทรล
1.2 โหมดทำความสะอาดเสริม
และนอกจาก 4 โหมดหลักๆ ที่กล่าวมาด้านบน นี้แล้ว มันก็ยังมีโหมดทำความสะอาดเสริม ให้เลือกใช้งานกันอีก 2 โหมดย่อยๆ เพื่อช่วยให้การทำงานนั้นหลากหลาย มากยิ่งขึ้นไปอีก ช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้งานประจำวัน เป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- โหมดทำความสะอาดแบบเต็มกำลัง (MAX Mode) : หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นนี้สามารถกดใช้ฟังก์ชั่นเร่งระบบการทำงานของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้ ด้วยการกดที่ “ปุ่ม MAX” บน รีโมทคอนโทรล และเมื่อกดแล้วหุ่นยนต์จะเพิ่มพลังดูด และการหมุนของแปรงปัดข้างที่เร็วขึ้น ในการใช้งานฟังก์ชั่นแบบเต็มกำลังนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดได้มากขึ้น แต่ก็จะกินพลังงานแบตเตอรี่ไปมากกว่าเดิม พร้อมกับมีเสียงการทำงานของตัวเครื่องที่ดังกว่าแบบปกติ
- โหมดตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติ (PLAN Mode) : สามารถตั้งเวลาการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นให้ทำงานตามตารางเวลาที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าได้แบบอัตโนมัติ สามารถตั้งค่าการใช้งานของโหมดนี้ด้วยการกด “ปุ่ม PLAN” บนรีโมทคอนโทรล เพื่อกำหนดเวลาที่ต้องการให้หุ่นยนต์ทำความสะอาด ซึ่งขณะใช้งานในโหมดนี้เราจะต้องเปิดระบบการทำงาน (Power On) ของเครื่องหุ่นยนต์ให้สแตนด์บายเอาไว้ และที่สำคัญจะต้องตั้งค่านาฬิกา (CLOCK) ของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ให้ตรงกับเวลาในปัจจุบันก่อน เพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนกับตารางเวลาที่กำหนดไว้
2. Mapping Cleaning (รูปแบบการทำงานมีระบบชัดเจน)
ตัวเครื่องได้ถูกปรับปรุงอัพเกรดรูปแบบการทำงาน มาให้สามารถวิ่งดูดฝุ่น ได้ชาญฉลาดขึ้น จึงทำให้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping มีการทำงานอย่างเป็นระบบ วิ่งทำงานเป็นเส้นตรง ครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณ ทุกตารางนิ้ว (ที่ตัวมันสามารถเข้าถึงได้)
3. Li-Ion Battery (แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน)
แบตเตอรี่ ใช้เป็นแบบ ลิเธียมไอออน (Lithium-Ion ตัวย่อ “Li-Ion”) มีขนาด ความจุ 2,600 มิลลิแอมป์ (mAh) สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน และถ้าหาก แบตเตอรี่ใกล้จะหมด แต่ก็ยังมีการจ่ายไฟที่นิ่งคงที่ ทำให้เครื่องสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา
ภาพด้านบนเป็นภาพเปรียบเทียบกันระหว่าง แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Lithium-Ion หรือ Li-Ion) กับ แบตเตอรี่แบบนิเกิลเมทัลไฮไดรด์ (Nickel–Metal Hydride หรือ Ni-MH) ที่จะเห็นได้ว่ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าตัวอื่นๆ อีกด้วยเช่นกัน
4. Triple Layer Filters (แผ่นกรองอากาศ 3 ชั้น)
มี ระบบการกรองฝุ่น (Air Filter) ที่มาพร้อมกับ แผ่นกรองอากาศ ทั้งหมด 3 ชั้น (Triple Layer Filters) ให้อากาศที่ถูกดูดเข้ามาในเครื่องพร้อมกับฝุ่นละออง เส้นผม ต่างๆ ไหลกลับออกไปสู่บรรยากาศของห้อง อีกครั้งแบบสะอาดบริสุทธิ์จริงๆ (แต่ในขณะที่ฝุ่นละออง ก็จะถูกดักเก็บเอาไว้ใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง)
ทางผู้ผลิตเขาได้มี แผ่นกรองอากาศ HEPA ช่วยกรองฝุ่นเป็นขั้นสุดท้าย ก่อนปล่อยกลับออกมาสู่ห้อง เพื่อที่จะให้อากาศที่ถูกปล่อยออกมานั้นสะอาดบริสุทธิ์ จริงๆ ทางผู้ผลิต เขาเคลมว่า มันสามารถกรองฝุ่นละออง ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก ได้สูงสุดถึง 0.03 ไมครอน (µm) ได้มากถึง 99.97% โดยลำดับการกรองฝุ่นก่อนกลับออกไป ได้แก่
- ชั้นแรก : ตาข่ายกรองฝุ่น
- ชั้นที่สอง : ฟองน้ำกรองฝุ่น
- ชั้นที่สาม : แผ่นกรองอากาศ HEPA
5. Water Tank Technology (เทคโนโลยีถังน้ำ)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้มี เทคโนโลยีถังน้ำ ที่จัดเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี ที่สร้างความโดดเด่น ชื่อเสียง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot ตระกูล Hybrid เลยก็ว่าได้ เพราะถือเป็นรุ่นแรกๆ ที่มีการนำเอาถังน้ำ พ่วงห้อยท้ายเข้ามาให้กับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพราะปกติแล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่พบเห็นทั่วไปจะสามารถแค่ติดตั้งได้แค่ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ไว้ท้ายเครื่อง ซึ่งสามารถถูพื้นแบบแห้ง ได้อย่างเดียว แต่ตัวนี้จะสามารถถูพื้นแบบเปียกได้อีกด้วย
เพราะนอกจากที่จะดูดฝุ่นได้สะอาด ทำงานฉลาดด้วยระบบ “Mapping” แล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ ก็ยังสามารถเป็น หุ่นยนต์ถูพื้น ได้อีกด้วยเช่นกัน เพราะถังน้ำนี้ จะมีระบบการปล่อยน้ำหยด ลงมาจาก ถังน้ำ ขนาด 0.3 ลิตร ลงมาที่ผ้าเบาๆ ทีละนิด เพื่อให้ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cloth) ที่อยู่ด้านล่าง และ สัมผัสพื้นอยู่นั้น มีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการถูพื้นบ้านด้วยผ้าขี้ริ้ว จริงๆ นั่นเอง
6. Auto Charge (กลับแท่นชาร์จได้เองโดยอัตโนมัติ)
เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วๆ ไป Mister Robot Hybrid Mapping มีระบบวิ่งกลับแท่นชาร์จอัตโนมัติ มันได้ถูกตั้งค่า ล่วงหน้ามาไว้แล้วว่า ถ้าหากมันดูดฝุ่นเสร็จสิ้นภาคกิจ เมื่อไหร่ จะต้องวิ่งกลับเข้าแท่นชาร์จ ไม่ไปแถลไถล จอดตาย จอดดับ แบตเตอรี่หมด อยู่ที่ไหน แน่นอน
7. Silence Cleaning (เสียงเงียบขณะทำงาน)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ขณะทำงาน มีระดับเสียงที่เงียบมากๆ เพราะอีกปัญหายอดฮิตของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ประสบพบกันคือ ปัญหาเรื่องของเสียง บางตัวแม้จะดูดดี ดูดแรง แต่ขณะทำงานเสียงดังมากๆ จนต้อง ย้ายห้องหนี ขณะเครื่องดูดฝุ่นเข้ามาทำงานเลยทีเดียว แต่ตัวนี้เรื่องเสียงหายห่วงเลย
โดย หลังจากที่ใช้ แอพพลิเคชั่น ทำการ วัดระดับเสียง (Noise Level) ออกมาแล้ว ค่าจะอยู่ประมาณไม่เกิน 60 เดซิเบล (dB) เท่านั้น สำหรับใน โหมด MAX และ 48 เดซิเบล (dB) ในโหมดการทำงานปกติ ซึ่งอยู่ในมาตรฐานเดียวกับ บทสนทนาธรรมดา (Normal Conversation) เท่านั้นเอง ในขณะที่มาตรฐานระดับเสียงของ เครื่องดูดฝุ่น ทั่วๆ ไปคือ 70 เดซิเบล
8. Super Jumbo Microfiber Cloth (ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ขนาดใหญ่)
อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping คือ เขาได้ได้จัด ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ใหญ่ ขนาดซุปเปอร์จัมโบ้ มาให้เป็นผู้ช่วยในการถูพื้นชั้นดี ถือว่าเป็นผ้าที่มีขนาดใหญ่มากๆ มีหน้าสัมผัสกับพื้นที่มาก ทำให้ประสิทธิภาพการถูพื้นให้สะอาด มากขึ้นไปด้วยเช่นกันตามลำดับ
9. Floor Sensor หรือ Anti-Fall Sensor (เซอร์ป้องกันการตกหล่น)
ด้านใต้ตัวเครื่อง มีเซ็นเซอร์กันตกจากที่สูง เพื่อเอาไว้ใช้ในการ ป้องกันการตกหล่น เช่น การตกจากบันได และ พื้นที่ต่างระดับ โดยตำแหน่งจะของตัวเซ็นเซอร์จะอยู่ที่ใต้ตัวเครื่องบริเวณด้านหน้า 1 จุด และด้านข้างอีก 2 จุดด้วยกัน (รวมทั้งสิ้น 3 จุด)
หมายเหตุ : ควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดเซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่นเป็นประจำ เพื่อให้เซ็นเซอร์ได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
10. Wall Detector Sensor (เซ็นเซอร์ป้องกันการชนกำแพง)
นอกจากนี้ยังมีตัวเซ็นเซอร์ที่เรียกว่า “Wall Detector Sensor” ที่ช่วยหลบหลีกการชนกำแพง หรือสิ่งกีดขวางต่างๆ ติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าบริเวณหลังกันชนของตัวเครื่องอีกด้วย
สำรวจ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping
หากท่านได้มีโอกาสเคยอ่านตัว รีวิว Mister Robot Hybrid รุ่นธรรมดา ที่ไม่ใช่รุ่น “Mapping” กันมาแล้ว จะพบว่า รูปลักษณ์ภายนอกของ ตัว เครื่อง Mister Robot Hybrid Mapping นี่แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะมันเป็นเวอร์ชั่นที่ถูกพัฒนาต่อมานั่นเอง ถ้าภาษาวงการรถยนต์ เขาก็จะเรียกการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ว่า “ไมเนอร์เชนจ์ (Minor Change)” หากใครไม่เคยดู ก็มาดูไปพร้อมๆ กันเลย
ด้านบน ของตัวเครื่อง
ในส่วนของ ด้านบนตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนั้น เน้นความเรียบง่าย แต่คงไว้ซึ่งความหรูหรา ดูดีมีระดับ มันจะไม่มี หน้าจอแสดงผล (Display Screen) หรือ ปุ่มกดฟังก์ชั่น (Control Button) อะไรมากนัก จะมีก็แค่ “ปุ่ม CLEAN” ปุ่มเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นปุ่มเอาไว้ กดสั่งเปิดเครื่องในการกดครั้งแรก และ สั่งให้เครื่องทำความสะอาดใน โหมดทำความสะอาดอัตโนมัติ (AUTO Mode) ในการกดครั้งที่ 2 นั่นเอง
การออกแบบดีไซน์คล้ายของเดิม แต่ว่า “ปุ่ม PUSH” หรือ “ปุ่มกดเอากล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือ ถังน้ำ ออกมา” ที่เคยอยู่ด้านบนของรุ่น “Hybrid ธรรมดา” ตอนนี้ได้เอาออกไปแล้ว (กดจากด้านหลังเครื่องแทน – ดูภาพประกอบได้ในส่วนหัวข้อย่อย “ด้านหลัง ของตัวเครื่อง”) เพื่อความสวยงาม ดูเรียบๆ คลีนๆ
ด้านหน้า ของตัวเครื่อง
จะมีกันชนหน้า ที่ช่วยลดแรงกระแทกเวลาที่ชนกับกำแพงหรือสิ่งกีดขวางต่างๆ พร้อมกับมีขอบยางซิลีโคนที่ติดบริเวณขอบด้านนอกของกันชนอีกหนึ่งชั้น เพื่อลดการกระทบกระเทือนและลอยถลอกขีดข่วนของกันชนได้ นอกจากนี้ยังมีตัวเซ็นเซอร์อยู่ด้านหลังกันชน เพื่อช่วยให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นหลีกเลี่ยงการปะทะกับสิ่งกีดขวางโดยตรงได้อีกด้วย
ด้านข้าง ของตัวเครื่อง
บริเวณด้านข้างขวามือของตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping จะมี “ปุ่มสวิทซ์เปิดปิดเครื่องหลัก (Power Switch)” สำหรับเปิดปิดการทำงานของตัวเครื่อง ถ้าอยู่ในสัญลักษณ์ – หมายถึงเปิดระบบการทำงาน แต่ถ้าอยู่ในสัญลักษณ์ O ก็คือปิดระบบการทำงานนั่นเอง
นอกจากนี้แล้วถัดมาทางด้านขวามือ จะมี ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ (DC Jack) ที่เอาไว้ใช้ในการชาร์จไฟ จากไฟบ้าน ลง แบตเตอรี่ ที่อยู่ในเครื่องโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านแท่นชาร์จ ในกรณีที่ แท่นชาร์จเสีย หรือ ยกเครื่องไปใช้ที่อื่น แต่ขี้เกียจพกหรือลืมเอาแท่นชาร์จมาด้วย นั่นเอง
ด้านหลัง ของตัวเครื่อง
ในส่วนของด้านหลังเครื่อง จะเห็นเป็นที่เก็บ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือ ถังน้ำ และยังมี ปุ่มกดเอากล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือ ถังน้ำ ออกมา (ที่ย้ายลงมาจากในรุ่นก่อน) มาอยู่ตรงจุดนี้ด้วยเช่นกัน
ด้านล่าง หรือ ด้านใต้ ของตัวเครื่อง
ในส่วนของบริเวณด้านใต้ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping นั้น จะประกอบไปด้วยไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ ที่สำคัญ ของตัวเครื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส่วนของระบบล้อขับเคลื่อน ระบบดูดฝุ่น ระบบถูพื้น รวมไปถึงเซ็นเซอร์ต่างๆ ลองมาดูกันเลย
- Floor Sensor (เซ็นเซอร์กันตก) : บางที่ บางยี่ห้อ จะเรียกว่า “Anti-Fall Sensors” ซึ่งก็จะ มีอยู่ด้วยกันทั้ง 3 จุดด้วยกันคือบริเวณด้านหน้า 1 จุด (อยู่เหนือล้อหน้า) และบริเวณข้างซ้าย และขวา อีกอย่างละจุด (ตำแหน่งตัวเซ็นเซอร์จะอยู่ใกล้ๆ กับล้อขับเคลื่อน) เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องวิ่งตกบันได หรือ ตกหล่นจากที่สูง ป้องกันความเสียหายที่อาจะเกิดขึ้น
- Caster Wheel (ล้อเลื่อน) : หรือ ล้อรับน้ำหนักด้านหน้า เป็นล้อที่ใช้ควบคุมทิศทางสามารถหมุนได้รอบ 360 องศา ทำให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นสามารถเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และกลับหลังได้อย่างคล่องตัว
- Charge Pin (จุดสัมผัสแท่นชาร์จ) : จะมีลักษณะเป็นแผ่นเหล็กสีเงิน ใช้เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ระหว่างตัวเครื่องกับอุปกรณ์แท่นชาร์จ
- Side Brush (แปรงปัดข้าง) : อุปกรณ์แปรงปัดข้าง ขนาดของขนแปรงยาว 2 นิ้ว ใช้ในการช่วยปัดกวาดฝุ่นรอบๆ ตัวเครื่องหุ่นยนต์ ให้เข้ามาอยู่ในถังเก็บฝุ่น
- Battery Cover (ฝาครอบแบตเตอรี่) : ฝาครอบแบตเตอรี่ ที่ห่อหุ้ม ขนาดความจุ 2,600 mAh ด้านในเอาไว้ คุณสามารถถอดแบตเตอรี่ที่อยู่ด้านในเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ เพียง ขันน๊อต 2 ตัวที่ปิดอยู่ออก ก็สามารถเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเอาไปให้ช่าง หรือ ศูนย์บริการทำให้
- Main Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : ล้อยาง 2 ล้อ เพื่อควบคุมและพาเครื่องไปยังทิศทางที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น การเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา มันมาพร้อมกับดอกยาง เพื่อใช้ในการยึดเกาะพื้นให้ดี ป้องกันการลื่นไถล
- Main Brush Installation Area (พื้นที่ติดตั้งแปรงกวาดหลัก) : หลังจาก ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ลูกค้าที่ซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping จะได้รับแปรงกวาดหลัก ให้เลือก 2 ออปชั่นคือ
- Spiral Bristle Brush (แปรงแบบขนเกลียว) : แบบเดิม ที่ซื้อก่อนเดือน พ.ค. 2017
- V-Shape Rubber Brush (แปรงยางทรงวี) : แบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามา
- Dustbin or Water Tank Installation Area (พื้นที่ติดตั้งกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง หรือ ถังน้ำ) : พื้นที่ติดตั้งที่ให้เราเลือกได้ว่าจะติด กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เพื่อดูดฝุ่นธรรมดา หรือ ที่ติดที่ติดผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์พร้อมถังน้ำ หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “ถังน้ำ” (Mopping Device with Water Tank) เพื่อต้องการดูดฝุ่นและถูพื้นแบบเปียก ไปด้วย แล้วแต่คุณเลยว่าต้องการจะใช้งานประเภทไหน อย่างไร
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) และ ถังเก็บน้ำ (Water Tank)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ตัวนี้ มีออปชั่นให้เราได้เลือกอยู่ 2 อย่างคือ
- ดูดฝุ่นอย่างเดียว (Vacuum Only)
- ดูดฝุ่นและถูพื้น ไปด้วยพร้อมๆ กัน (Vacuum and Wet Mopping)
ถ้าในกรณีที่ต้องการให้มันดูดฝุ่นอย่างเดียว คุณสามารถใส่แค่ตัว กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) เข้าไปในเครื่องก็เรียบร้อย แต่ในขณะที่ถ้าต้องการให้มัน ดูดฝุ่นและถูพื้น ไปด้วย ก็จะต้องนำเอา ถังน้ำ (Water Tank) เปลี่ยนเข้าไปติดแทน ซึ่งตัวถังน้ำ ก็มีช่องเอาไว้เก็บฝุ่นได้เหมือนกัน
รีโมทคอนโทรล (Remote Control)
อุปกรณ์ชิ้นนี้ มีหน้าที่เอาไว้ใช้สั่งงาน และ ส่งคำสั่งระยะไกล ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีปุ่มกดไม่มาก แต่ครบถ้วนทุกฟังก์ชั่น พร้อมจอแสดงผลสถานะ การทำงานของตัวเครื่อง เพราะบนตัวเครื่องไม่มีหน้าจอ จึงต้องมาแสดงผลบนรีโมทคอนโทรล นี้แทน
- Display Screen : หน้าจอแสดงผล ขนาด 1.5 นิ้ว ใช้แสดงผลการตั้งค่าของตัวเครื่องหุ่นยนต์ อยู่ 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ
- PLAN Section : ส่วนของตารางเวลา แสดงผลอยู่ด้านบน
- CLOCK Section : ส่วนของนาฬิกา จะแสดงผลอยู่ด้านล่าง
- Direction Button : ปุ่มลูกศร 4 ปุ่ม ลักษณะเป็นวงกลม ตรงกลางของ รีโมทคอนโทรล มีเอาไว้ใช้เพื่อ ควบคุมทิศทางของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ได้ 3 ทิศทาง คือ
- Forward Button (ปุ่มสั่งเครื่อง เดินหน้า)
- Left Button (ปุ่มสั่งเครื่อง เลี้ยวซ้าย)
- Right Button (ปุ่มสั่งเครื่อง เลี้ยวขวา)
- Back Button (ปุ่มสั่งเครื่อง หันกลับหลัง) (ปุ่มเดียวกันกับ ปุ่ม MAX)
- CLEAN Button : ใช้สั่งให้หุ่นยนต์เริ่มทำการทำงาน แต่ถ้ากดอีกครั้ง จะเป็นการสั่งให้หยุดการทำงานแบบชั่วคราว
- MAX Button : ใช้เร่งระบบการความสะอาดของตัวเครื่องแบบเต็มกำลัง ด้วยพลังดูดสูงสุด เปลืองแบตเตอรี่ แต่สะอาดจริง อะไรจริง
- PLAN Button : ใช้ตั้งค่าการทำความสะอาดอัตโนมัติรายวัน (ตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้า) เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานเองโดยอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนด และ กลับ แท่นชาร์จ โดยอัตโนมัติเมื่อเสร็จ เช่นกัน
- CLOCK Button : ใช้สำหรับตั้งเวลา ให้กับตัวเครื่อง เพียงแค่ชั่วโมงกับนาที เท่านั้น
- SPOT Button : ปุ่มไอคอนรูปวงกลมก้นหอย คือ ไว้ใช้ใการเปิดโหมดทำความแบบเฉพาะจุด (SPOT Mode) เฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ต้องการเน้นให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดเป็นพิเศษ
- HOME Button : ปุ่มไอคอนรูปบ้านนี้ ตามความหมายของมันเลยคือ ใช้สั่งให้หุ่นยนต์วิ่งกลับบ้าน หรือ แท่นชาร์จทันที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ส่วนใดในห้อง หากได้รับคำสั่งนี้ต้องกลับแท่นชาร์จ โดยทันที
- RANDOM Button : ปุ่มลูกศรีวิ่งไปข้างหน้า ขึ้นลง สลับไขว้กันคือ โหมดทำความแบบสุ่ม (RANDOM Mode) หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะประมวลผลการทำงานเอง แล้วเปลี่ยนรูปแบบการทำความสะอาดไปเรื่อยๆ
ไฟสถานะแจ้งเตือน การทำงานของตัวเครื่องหุ่นยนต์
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping นี้จะสังเกตได้ชัดเจนว่า ไม่มีปุ่มกดอะไรมาก และ ไม่มีหน้าจอแสดงผล อะไร บนตัวเครื่องเลย ดังนั้นในการแสดงผล จะแสดงออกในรูปแบบของไฟ ที่อยู่บริเวณ “ปุ่ม CLEAN” ที่อยู่ด้านบนของตัวเครื่องของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนั่นเอง ซึ่งมีทั้ง 2 รูปแบบคือ สีของไฟ และ การกระพริบของไฟ นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแล้ว มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 6 สถานะด้วยกัน มาดูกันเลย
- ไฟสีเขียวกระพริบ : หุ่นยนต์อยู่ในโหมดที่พร้อมใช้งาน
- ไฟสีเขียวค้าง : หุ่นยนต์กำลังทำความสะอาด
- ไฟสีแดงค้าง : หุ่นยนต์มีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เช่น อาจจะมีอะไรติดล้อ หรือ ข้อผิดพลาดอื่นๆ ที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ
- ไฟสีส้มค้าง : พลังงานแบตเตอรี่ของหุ่นยนต์เหลือน้อย และกำลังวิ่งกลับไปชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ที่แท่นชาร์จ
- ไฟกระพริบสีส้ม : กำลังชาร์จพลังงานแบตเตอรี่อยู่
- ไฟสีเขียวค้างขณะที่ชาร์จไฟ : หุ่นยนต์ชาร์จพลังงานแบตเตอรี่เต็มเรียบร้อย
เปิดใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping
มาถึงช่วงเวลาของ การเปิดใช้งานจริงครั้งแรก (First Use) ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping แต่ก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริงนั้น ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมกันก่อน ซักเล็กน้อย เพื่อให้การเริ่มต้นใช้งานในครั้งแรก และ ต่อๆ ไปนั้น เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
1. ติดตั้งแท่นชาร์จ (Charging Base Installation)
ก่อนที่จะเริ่มเปิดใช้งานหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เราจะต้องทำการติดตั้งแท่นชาร์จให้เรียบร้อยก่อน โดยจะต้องทำการเสียบอแดปเตอร์สายชาร์จเข้ากับด้านหลังของแท่นชาร์จ จากนั้นจึงค่อยนำแท่นชาร์จไปติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นบริเวณขอบผนังห้องที่ค่อนข้างโล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวางในระยะบริเวณ 2 x 1 เมตร (ระยะด้านหน้า 2 เมตร และ ด้านข้าง 1 เมตร) เพื่อช่วยให้ตัวรับส่งสัญญาณระหว่างแท่นชาร์จและหุ่นยนต์ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่หุ่นยนต์จะได้หาทางกลับมาที่แท่นชาร์จได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น เมื่อติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงค่อยเสียบปลั๊กของแท่นชาร์จเพื่อเริ่มต้นการใช้งานในขั้นต่อไป
2. ชาร์จแบตเตอรี่ลงเครื่อง 6-8 ชั่วโมง (Battery Charging)
หลังจากที่ติดตั้งแท่นชาร์จเสร็จเรียบร้อยแล้วในขั้นตอนแรก ต่อไปก็จะต้องมาชาร์จไฟลงแบตเตอรี่ให้เต็มเสียก่อน ที่จะเริ่มการใช้งานในครั้งแรก เพราะเราไม่รู้ว่าปริมาณแบตเตอรี่คงเหลือ ที่มาจากโรงงานนั้น มีสำรองมาให้เราอยู่มากน้อยเพียงใด โดยหากเป็นการเริ่มต้นใช้งานในครั้งแรก ขอแนะนำว่าให้ชาร์จไฟข้ามคืนทิ้งเอาไว้สัก 6-8 ชั่วโมง เพื่ออัดประจุไฟฟ้า เข้าไปยังตัวแบตเตอรี่ ได้อย่างเต็มที่
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ต้องห่วงว่าหากแบตเตอรี่ไฟเต็มแล้ว จะเป็นเช่นไรต่อไป จริงๆ คือ ในเครื่องมันมีระบบตัดการชาร์จไฟอัตโนมัติ ในกรณีที่ไฟในแบตเตอรี่เต็ม เพื่อความปลอดภัย และ รักษาคุณภาพของแบตเตอรี่ ให้ยาวนาน
ในการชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ให้กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นนี้ สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ
- Charge via DC Jack : ชาร์จไฟตรง ช่องผ่านเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์
- Charge via Charge Base : ชาร์จไฟผ่าน แท่นชาร์จ
ในการชาร์จผ่านแท่นชาร์จนั้น เราจะสามารถสั่งให้ตัวเครื่อง วิ่งกลับมาชาร์จแบตเตอรี่ได้ด้วยการ กดที่ “ปุ่ม HOME” บนรีโมทคอนโทรล (สัญลักษณ์ไอคอนรูปบ้าน) หรือ เมื่อพลังงานแบตเตอรี่ใกล้จะหมด หุ่นยนต์ก็จะวิ่งกลับมาที่แท่นชาร์จเองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องกดปุ่มใดๆ ในขณะที่หุ่นยนต์กำลังชาร์จพลังงานอยู่ ไฟบน ปุ่ม CLEAN จะถูกกระพริบเป็นสีส้ม และเมื่อแบตเตอรี่เต็มแล้ว ไฟบนปุ่ม Clean จะสว่างค้างเป็นสีเขียว นั่นเอง
3. การตั้งเวลาเครื่อง (Time Setting)
อันดับต่อไป ที่ควรจะต้องทำก่อนเริ่มต้นใช้งาน คือ การตั้งเวลา ให้กับเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เพื่อให้มันสามารถตั้งเวลาทำความสะอาด (Schedule Setting) ได้ในลำดับต่อไป
ซึ่งการตั้งเวลานี้ จะเป็นการตั้งเวลาในส่วนของ ชั่วโมง (Hour – HH) และ นาที (Minute – MM) เท่านั้น (ไม่ต้องตั้งวันที่) โดยสามารถตั้งผ่าน รีโมทคอนโทรล ได้เลย (ตั้งผ่านหน้าตัวเครื่องไม่ได้) โดยการกดที่ “ปุ่ม CLOCK” หลังจากนั้น เครื่องจะส่งสัญญาณดัง “ตี๊ด” ครั้งนึง และคุณสามารถใช้ “ปุ่มบังคับทิศทางของเครื่อง” ในการปรับเลื่อนเวลาขึ้นลง เพื่อเลือก รายละเอียดชั่วโมง กดคอนเฟิร์มด้วยการกด “ปุ่ม CLEAN” ตรงกลาง
หลังจากนั้น ก็เลื่อนลูกศรไปทางซ้าย ตามด้วยลูกศรขึ้นลง เพื่อเลือกรายละเอียดของนาที ซึ่งตรงนาที ตรงนี้ก็ทำเช่นกันกับตอนตั้งค่าชั่วโมง กดปุ่มลูกศรเลื่อนขึ้นลง และ กด “ปุ่ม CLEAN” เมื่อเสร็จสิ้นได้เลยทันที
4. การเปิดใช้งานเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Turn On)
หลังจากที่ติดตั้งแท่นชาร์จเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาเริ่มเปิดใช้งานเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นกันต่อได้เลย ในการเปิดเครื่องนั้นสามารถกดที่ “ปุ่มสวิทซ์เปิดปิดเครื่องหลัก (Power Switch)” ที่อยู่บริเวณด้านข้างของตัวเครื่อง
โดยหลังจาก เครื่องเปิดแล้วจะมีเสียงดังตี้ดๆ พร้อมกับไฟสีเขียวกระพริบๆ ที่บริเวณ “ปุ่ม CLEAN” บนตัวเครื่องหุ่นยนต์ นั่นแสดงว่าอยู่ในสถานะพร้อมที่จะเริ่มใช้งานแล้ว ถ้าต้องการสั่งให้หุ่นยนต์เริ่มทำงาน สามารถกดได้ที่ “ปุ่ม CLEAN” บนตัวเครื่อง 1 ครั้ง หุ่นยนต์ก็เริ่มทำงานทันที แต่ถ้ากดซ้ำอีก 1 ครั้งจะเป็นการหยุดการทำงานแบบชั่วคราว หรือ ถ้าต้องการจะควบคุมระบบการทำงานของหุ่นยนต์ เช่น เปลี่ยนรูปแบบการทำความสะอาด ตั้งเวลา และอื่นๆ ก็สามารถทำได้ผ่านทางรีโมทคอนโทรลได้เลย ทันที
5. การใช้งานอุปกรณ์สำหรับถูพื้น (Mopping Device and Water Tank Usage)
สำหรับการถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) จะเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในส่วนด้านหลังของตัวเครื่อง โดยที่ต้องถอดอุปกรณ์ที่เป็น กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dustbin) ธรรมดา ที่ติดมากับเครื่อง ออกไปก่อน แล้วค่อยติดตั้งอุปกรณ์อุปกรณ์สำหรับถูพื้น หรือที่เรียกว่า ถังน้ำ (Water Tank) ที่มาพร้อมกับผ้าม็อบไมโครไฟเบอร์ (สีฟ้าๆ) เข้าไปแทน
และก่อนที่จะติดตั้งถังน้ำ เข้าไปนั้น เราจะต้องเติมน้ำให้เรียบร้อยก่อน (ให้เติมน้ำสะอาด ที่ไม่มีการผสมของผงซักฟอกหรือน้ำยาอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้ ช่องระบายน้ำอุดตันได้ง่ายๆ) โดยความจุของถังเก็บน้ำจะอยู่ที่ 0.3 ลิตร (300 มิลลิลิตร) เมื่อเติมน้ำพร้อมกับติดตั้งผ้าม็อบทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถกดใช้งานได้ทันที
การติดตั้งตั้งผ้าม็อบถูพื้นเข้ากับตัวแท๊งค์น้ำ : ใช้ตัวผ้าม็อบไมโครไฟเบอร์วางบนแถบตีนตุ๊กแก (Velcro Tape) หรือ แถบหนามเตย เพื่อยึดติดเข้าไว้ด้วยกัน
10 คำถามที่คุณอยากรู้ และ สงสัย ? (FAQs)
ส่วนนี้เป็นส่วนของการรวบรวม คำถาม และ คำตอบ เอาไว้ โดยคำถามเหล่านี้ ผมตั้งขึ้นมาเอง เพราะเชื่อว่า แม้แต่คนไม่เคยใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเลย หรือ คนที่เคยใช้มาแล้ว จะต้องสงสัย และ ตั้งคำถามคล้ายๆ ผมแน่นอน หลังจากใช้งาน 1 เดือน ก็มาให้คำตอบกันด้านล่างนี้ ไปอ่านกันเลย
1. หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ ดูดได้ทั่วทุกบริเวณห้อง ห้องเล็ก ห้องน้อย ได้หรือไม่ ?
ด้วยความสามารถของการประมวลผล ของเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ทำให้เครื่องสามารถวิ่งทำงานเป็นเส้นตรง ไม่ใช่วิ่งมั่วไปมั่วมา ในขณะที่ก็หาพื้นที่ใหม่ๆ ที่มันสามารถวิ่งเข้าไปถึงได้ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดจริงๆ
2. วิ่งกลับแท่นชาร์จได้เองจริงๆ หรือไม่ ?
จากที่ได้ทดลองให้หุ่นยนต์กลับแท่นชาร์จเอง ทั้งแบบกด “ปุ่ม HOME” ที่รีโมทคอนโทรล และตอนที่แบตเตอรี่อ่อนใกล้หมด พบว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Hybrid Mapping สามารถวิ่งกลับไปที่ฐานแท่นชาร์จได้เองทุกครั้ง แต่ระยะเวลาในการกลับอาจจะไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่าง ตำแหน่งปัจจุบันของตัวเครื่อง กับ แท่นชาร์จ โดยถ้าหุ่นยนต์อยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่ติดตั้งแท่นชาร์จ มันก็จะสามารถกลับมาที่แท่นชาร์จ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมาก แต่ถ้าในกรณีที่หุ่นยนต์วิ่งกลับแท่นชาร์จ ในขณะที่อยู่ค่อนข้างไกลๆ กับตัวแท่นชาร์จ ก็อาจจะใช้เวลาในการค้นหานิดหน่อย แต่สุดท้ายก็ยังคงสามารถกลับมาแท่นชาร์จเองได้ทุกครั้ง
3. สามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวาง ได้สูงสุดประมาณไหน ?
ถึงแม้จะมีขนาดของวงล้อที่ค่อนข้างเล็ก (ตามขนาดตัวเครื่องที่เล็ก) แต่ตัวมันเอง ก็ยังสามารถวิ่งข้ามผ่านสิ่งกีดขวาง หรือ พื้นต่างระดับ (Different Floor Levels) ได้เป็นอย่างดี ไม่มีอาการติดขัด แต่อย่างใด
โดยความสูงที่หุ่นยนต์ตัวนี้ไต่ข้ามได้จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ซึ่งอยู่ในระดับมาตรฐานที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั่วไปสามารถไต่ข้ามได้ ไม่ว่าจะเป็นผืนพรม ธรณีประตู รวมพื้นที่ต่างระดับที่ไม่สูงมาก หุ่นยนต์ดูดฝุ่นถูพื้นตัวนี้ ก็สามารถไต่ข้ามผ่านไปได้
4. ขณะเครื่อง Mister Robot Hybrid Mapping ทำงานอยู่ เสียงดังหรือไม่ ?
สำหรับระดับเสียง ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ในขณะที่กำลังทำความสะอาดอยู่นี้ ถือว่ามีเสียงในการทำงานที่ค่อนข้างเบามาก จากที่ได้ลองใช้แอพพลิเคชั่นวัดระดับเสียง ด้วย แอพพลิเคชั่น Sound Meter ที่วัดห่างจากตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นขณะที่กำลังทำงานในระยะประมาณ 1 เมตร มีระดับเสียงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 58 dB (เดซิเบล) โดยจากที่วัดของตัวอื่นๆ มา ระดับเสียงจะอยู่เกิน 60 dB เกือบทั้งนั้น
ซึ่งในระดับความดังของเสียงในช่วง 50-60 dB นั้น จะอยู่ในระดับเดียวกันกับ เสียงคนพูดคุยกันแบบปกติ ซึ่งถือว่าหุ่นยนต์สามารถทำความสะอาดได้โดยไม่สร้างความรบกวนให้กับคนในบ้าน
5. ขณะกำลังถูพื้น มีความชุ่มชื้น (เปียก) ในระดับใด ?
มีความเปียกชุ่มชื้น อยู่ในระดับนึง แต่ไม่ถึงกับเปียกจนแฉะพื้นไปหมด ซึ่งถ้าหากมันเปียกมากๆ ก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะเป็นรอยคราบน้ำแล้ว ยิ่งถ้าเป็น พื้นไม้ลามิเนต (Laminate Flooring) ก็อาจมีอาการบวมน้ำเอาได้ง่ายๆ เช่นกัน แต่การปล่อยน้ำของ Mister Robot Hybrid Mapping นี้ก็ถือว่าดีงามมากๆ เช่นกัน
6. ในแต่ละวัน สามารถดูดฝุ่นได้ในปริมาณเท่าไหร่ ?
ความจุของถังเก็บฝุ่นของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping นี้ มีขนาดของ กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง อยู่ที่ 450 มิลลิลิตร หรือ 0.45 ลิตร มันสามารถกักเก็บฝุ่นได้มากเพียงพอต่อการใช้งานทั้งวัน หรือ 2 วันได้โดยไม่ต้องถอดเอาไปเทฝุ่นทิ้ง และ ทำความสะอาดบ่อยๆ ซึ่งการใช้งานในแต่ละวัน หุ่นยนต์สามารถดูดฝุ่นได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชั่วโมงในการใช้ดูดฝุ่นในแต่ละวัน รวมถึงปริมาณฝุ่นภายในห้องแต่ละห้อง และ แต่ละวันด้วย
7. สรุปความแตกต่างระหว่าง รุ่น Hybrid และ รุ่น Hybrid Mapping ต่างกันตรงไหนบ้าง ?
ความแตกต่างหลักๆ ของ 2 รุ่นนี้ โดยรวมแล้วแทบจะไม่ต่างกันมาก ซึ่งจุดแตกต่างจะอยู่ในเรื่องของรูปแบบการทำความสะอาด ที่ Hybrid Mapping ตัวนี้ จะมีรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบระเบียบกว่า สามารถวิ่งทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านได้ครอบคลุมมากกว่า รุ่น Hybrid แบบธรรมดา ส่วนระยะเวลาการทำงานของรุ่น Hybrid Mapping จะสั้นกว่ารุ่น Hybrid อยู่เล็กน้อย (รุ่น Hybrid Mapping ใช้งานได้ประมาณ 140-160 นาที ส่วนรุ่น Hybrid ใช้งานได้ 160-180 นาที)
8. สำหรับผู้ที่ซื้อ Mister Robot Hybrid Mapping ก่อนที่จะอัพเกรดชุดแปรงกวาดหลักใหม่ สามารถอัพเกรดให้ใส่แปรงยางทรงวี (V-Shape Rubber Brush) ด้วยได้หรือไม่ ?
ลูกค้าที่ซื้อ Mister Robot Hybrid Mapping ก่อนเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 หรือ พ.ศ. 2560 ไปแล้ว อยากอัพเกรดให้มีความสามารถในการใส่แปรงยางทรงวี หรือ “V-Shape Rubber Brush” ได้ด้วยก็ “สามารถทำได้” สามารถอัพเกรดได้โดยการส่งศูนย์บริการ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการอัพเกรดทั้งสิ้น 850 บาทต่อเครื่อง
9. มีระยะเวลาการรับประกัน ยาวนานแค่ไหน?
หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านของ Mister Robot จะมีการรับประกันในส่วนของอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนของแบตเตอรี่จะรับประกัน 6 เดือน หลังจากหมดช่วงระยะประกันแล้วสามารถสั่งซื้ออุปกรณ์อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของผู้จัดจำหน่ายได้เลย
โดยลูกค้าที่สั่งซื้อไปใช้งานแล้ว ถ้าหากเครื่องมีปัญหา ก็สามารถติดต่อแผนกบริการหลังการขาย (After Service Support Team) ได้โดยตรงเลยที่
- Hotline (สายด่วน) : 06-3269-9500
- LINE ID (ไลน์ไอดี) : servicemisterrobot
10. ติดต่อสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ได้ที่ไหน ?
คุณสามารถสั่งซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Mapping นี้ได้ผ่านทางหลายช่องทาง ถ้าไปซื้อหน้าร้านก็ เช่นที่ ห้างโฮมโปร (HomePro) หรือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล (Central Department Store) ที่ร่วมรายการ หรือจะโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามทาง บริษัท เอ็ม เอ็ม โกลบอลเทรด จำกัด ผู้จัดจำหน่าย ก่อนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ ด้านล่างนี้เลย
- Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 08-7087-5352
- Website (เว็บไซต์) : http://www.misterrobotcleaner.com
- Line ID (ไลน์ไอดี) : @mister_robot
- Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : misterrobotcleaner (มิสเตอร์โรบอทคลีนเนอร์) ตามกรอบด้านล่าง
บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping
มาถึงช่วงสุดท้าย คือช่วงของการสรุป ข้อดีข้อเสีย การใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Mister Robot Hybrid Mapping กันดูบ้าง ว่าเป็นอย่างไร จากที่ได้ทดลองใช้งานมาสักระยะหนึ่ง
ข้อดี 🙂
- เครื่องมีขนาดเล็ก บาง เบา พกพาสะดวก เคลื่อนที่ได้คล่องตัว เข้าถึงได้ทุกส่วนพื้นที่ ทำความสะอาดได้ดีทั่วบริเวณบ้าน
- มีระดับเสียงในการทำงานของตัวเครื่องที่เบาค่อนข้างมาก (ต่ำกว่า 60 เดซิเบล) ไม่สร้างความรบกวนแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอพัก หรือ คอนโดมิเนียม ที่เหมาะมากๆ
- สามารถวิ่งกลับแท่นชาร์จเพื่อชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ได้เองอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ
- มี โหมดทำความสะอาดแบบเต็มกำลัง หรือ โหมด MAX เร่งการทำงานเครื่องให้แรงขึ้น เพื่อทำความสะอาดได้อย่างล้ำลึกและเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น (แต่ก็จะเปลืองแบตเตอรี่มากยิ่งขึ้น และ เวลาทำงานจะสั้นลง เช่นกัน)
- สามารถถูพื้นแบบเปียกได้ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ถังน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถจุน้ำได้ มากถึง 300 มิลลิลิตร เพื่อรักษาระดับความชุ่มชื้นของ ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ให้ยาวนานมากขึ้น สามารถถูพื้นได้สะอาดและทั่วถึงกว่าปกติ
- มีระบบตั้งตารางเวลาทำงานล่วงหน้าแบบอัตโนมัติ สำหรับสั่งการให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้านเองตามเวลาที่กำหนดไว้
- สามารถใช้ทำความสะอาดบ้านได้นานกว่า 2 ชั่วโมง ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
- มีตัวเซ็นเซอร์กันตกจากที่สูง และเซ็นเซอร์หลบหลีกการชนกำแพง สิ่งกีดขวาง
- ใต้แท่นชาร์จ มีแถบยางซิลิโคนติดตั้งไว้หลายจุด เพื่อให้ยึดติดกับพื้นได้มั่นคง และกันการเลื่อนในเวลาที่หุ่นยนต์วิ่งกลับมาชาร์จพลังงานที่แท่นชาร์จได้
ข้อเสีย 🙁
- ไม่มีหน้าจอบนตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น สำหรับดูสถานะของการทำงานในโหมดต่างๆ มีแต่การแสดงสถานะด้วยไฟแสดงสถานะ ซึ่งต้องอาศัยความจำ ว่าไฟสีไหน กระพริบไม่กระพริบ หมายความว่าอย่างไรกันบ้าง
- ไม่สามารถเปลี่ยนโหมด หรือฟังก์ชั่นการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้ที่ตัวเครื่อง เพราะบนตัวเครื่องมีปุ่มอยู่เพียงปุ่มเดียว คือ “ปุ่ม CLEAN” (ต้องใช้รีโมทคอนโทรลเท่านั้น)
- ตัวถังเก็บฝุ่นไม่มีฝาปิดด้านนอก ดังนั้นในการถอดหรือการทำความสะอาดถังเก็บฝุ่น หากถือไม่ระมัดระวัง อาจทำให้สิ่งสกปรกต่างๆ หล่นร่วงออกมาจากถังได้
- ถังน้ำ ที่ใช้สำหรับถูพื้นแบบเปียก ไม่ตัวแผ่นกรองฝุ่น
มาถึงช่วงสุดท้ายนี้ก็หวังว่า บทความรีวิว นี้จะมีส่วนช่วยให้คุณตัดสินใจในการซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mister Robot Hybrid Mapping ตัวนี้ได้มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่กับรีวิวฉบับหน้า สวัสดีครับ 🙂
มีอุปกรณ์ขายไหมครับ แปรงขัดข้าง(side brush)
ตอนชาร์จแบตเตอรี่ไฟแดงขึ้นค้างตลอดเกิดจากอะไระครับ
เครื่องชาร์ทไม่เข้าทำยังไงดีค่ะ
ติดต่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้ รบกวนติดต่อกลับหน่อยค่ะ 095-787-0091
pm
จะหา แบตเตอรรี่ ได้จากร้านไหน ค่ะ
ปัญหาแปรงปัดข้างทำงานข้างเดียว
น๊อตตรงแปลงปัดข้าง2ฝั่งหาย อยากรู้ว่าขนาดเท่าไหร่และหาซื้อได้ที่ไหนบ่างครับ
อะไหล่ หาได้จากที่ไหนครับหรือหาทางศูนย์อย่างเดียวครับ
จะหา แบตเตอรรี่ ได้จากร้านไหน ครับ?
ช่วยรีวิว mister robot hybrid camera map ให้หน่อยครับ
ขอสอบความสามารถระหว่าง iClebo omega กับเจ้าตัวนี้หน่อยครับ ปัจจุบันใช้ตัว Omega อยู่ การทำความสะอาดถือว่าพอใจมาก ยังขาดคุณสมบัติของเรื่องการถูกเปียก ถ้าเทียบระหว่าง omega กับเจ้าตัวนี้แล้ว การดูดฝุ่นถือว่าทำได้ดีพอกันหรือไม่ครับ แล้วส่วนของการถูกเปียกสามารถใช้งานได้จริง (ใกล้เคียงกับคนถูหรือไม่ครับ) มากกว่าตัว Omega (ใช้ผ้าชุบน้ำ)
ตอนนี้อยากได้คุณสมบัติถูเปียกครับ ซื้อเจ้าตัวนี้มาแทนตัว omega จะดีหรือไม่ครับ หรือว่ามีตัวอื่นแนะนำครับ ขอบคุณมากครับ
อยากสอบถาม 2 เรื่อง
1.การถูพร้อมกับดูดฝุ่น จะไม่ทำให้เป็นพื้นเป็นคราบสกปรกเหรอคะ
2.รับประกัน 1 ปี น้อยไป เกรงว่ามอเตอร์จะพังก่อน เปลี่ยนมอเตอร์มีค่าใช้จ่ายเท่าไรคะ
mapping ที่เครื่องคิดจำลองของตัวนี้ กับ แบบ mapping แบบใช้กล้องในรุ่นที่มี mapping จริงๆทั้งหลาน ทำงานแตกต่างกันมากไหมครับ ขอบคุณมากครับ
น่าสนใจมากค่ แต่ว่าสงสัยว่าถ้าหาก ชำรุด เสีย มีที่ไหนรับซ่อม บ้างค่ะ
และอะไหล่ มีให้เปลี่ยนมั้ยค่ะ ถ้าใช้นานๆ
ผมซื้อมาให้คุณแม่วัย 76 ปี ใช้เป็นหุ่นถูบ้านอย่างเดียว (โดยถอดกลไกดูดฝุ่นออกทั้งหมด) คุณแม่บอกว่าใช้ง่ายมาก ทำงานดี เมื่อกดปุ่มโฮมสามารถกลับเข้าที่ได้รวดเร็วแม่ยำ การถอดใส่อุปกรณ์ถังน้ำทำได้ง่าย ผ้าม๊อปมีสายยางรั้งไว้ที่ขอบถังน้ำทำให้ผ้าไม่ย่นหลุดเวลาเดินสะดุดกับอุปสรรค์ น่าเสียดายที่ไม่มีกำแพงเสมือนและไม่สามรถนำกำแพงเสมือนของรุ่นอื่่นมาใช้ได้ แต่แก้ไขได้ด้วยการกดหยุดชั่วคราวเพื่อเปลี่ยนผ้าม๊อปใหม่แล้วให้ทำงานต่อจากเดิมได้ครับ
เห็นด้วยครับ ที่ไม่มีกำแพงเสมือน หรือ กำแพงจำลอง มาให้ ถ้ามีมาด้วยเจอ Perfect มากๆ เลย