Philips SmartPro Compact FC8776
รีวิวนี้เป็น รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นฟิลิปส์ (Philips) ซึ่งเป็นตัวแรกของ แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า ชื่อดังจากแดนกังหันลม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherland) ทวีปยุโรป ที่ได้มีโอกาสได้รีวิวลงบนเว็บไซต์ Thanop.com แห่งนี้ นั่นก็คือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 นั่นเอง
ซึ่งจากที่ศึกษาข้อมูล และ ความสามารถของมันเบื้องต้นก่อนทำรีวิวนี้ ก็ไม่น่าเชื่อว่า แบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์ด้านไฟส่องสว่าง อย่าง หลอดไฟ โคมไฟ หรือแม้แต่ เตารีด เครื่องปั่นน้ำผลไม้ ฯลฯ จะออกแบบและผลิต หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ได้ดี และมีเอกลักษณ์ได้โดดเด่นขนาดนี้ กล่าวคือ มันไม่ได้ออกหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มาโดยมีคุณสมบัติและความสามารถ เหมือนกับยี่ห้ออื่นๆ ที่ขายตามท้องตลาด แต่ว่ามันพกเอาความสามารถเด่นๆ ที่รุ่นอื่นไม่มี เข้ามาผสมผสานในรุ่นนี้อีกด้วย เรียกได้ว่าใส่ใจในรายละเอียดการผลิตและออกมากๆ ชนิดที่เรียกว่า “คาดไม่ถึง !” กันเลยทีเดียว
เมนูลัดเพื่อสามารถข้ามไปยังรายละเอียดส่วนต่างๆ ของบทความรีวิว นี้ได้ตามต้องการ
- ที่มาที่ไปของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips
- แกะกล่องผลิตภัณฑ์ สำรวจด้านนอกกล่อง
- อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง
- ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค
- คุณสมบัติ และ ความสามารถหลักๆ
- สำรวจตัวเครื่อง และ อุปกรณ์หลัก
- เปิดเครื่องใช้งาน พร้อมประสบการณ์ใช้จริง
- คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน (FAQs)
- บทสรุปการใช้งาน พร้อมข้อดี ข้อเสีย
และด้านล่างนี้เป็น คลิปวีดีโอรีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 ให้ดูกันแบบยาวๆ ครบทุกซอกทุกมุม หลังจากดูจบแล้ว สามารถเป็นข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจในการซื้อหรือไม่ ได้ไม่ยากเลย
ที่มาที่ไปของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips
เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักและคุ้นเคยกับ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ ฟิลลิปส์ (Philips Electronics) กันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะบริษัท Philips นั้น เป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ระดับโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands) โดยบริษัท Philips ได้เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยมายาวนานหลายปี และมีสำนักงานสาขาย่อยๆ ครอบคลุมมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ด้วยกัน
สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ ฟิลลิปส์ นั้น ก็มีมากมายหลากหลายรูปแบบการใช้งานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ให้แสงสว่าง อย่าง หลอดไฟ หรือ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่าง โทรทัศน์ เครื่องเสียง เครื่องเล่นมัลติมีเดีย เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านอย่าง เครื่องดูดฝุ่น และหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robotic Vacuum Cleaner) ด้วยเช่นกัน
โดยทาง Philips ได้มีการริเริ่มสร้าง ออกแบบ และ พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน เครื่องดูดฝุ่น (Vacuum Cleaner) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 แล้ว ซึ่งเป็นเครื่องดูดฝุ่นแบบที่เป็นด้ามจับ ที่ต้องใช้แรงคนในการจับหรือลากเครื่องดูดฝุ่นไปตามจุดต่างๆ เพื่อทำความสะอาด
หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัจฉริยะในปัจจุบันที่ไม่ต้องใช้มือจับให้ยุ่งยากอีกต่อไป อย่างตัว Philips Smartpro Compact ที่สามารถทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ สามารถควบคุมการทำงานผ่านทางรีโมทคอนโทรล พร้อมกับความสามารถในการทำความสะอาดที่ล้ำลึก ด้วยระบบหัวดูดที่ทันสมัยอย่าง TriActive ขนาด XL (eXtra Large) พร้อมทั้งยังมีระบบขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (ยังกะรถออฟโรด)
แกะกล่อง สำรวจนอกกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776
รูปลักษณ์ของ กล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact มาพร้อมกับโทนสีน้ำเงินสัญลักษณ์ของ Philips อยู่แล้ว ผสมผสานกับตัวหนังสือสีขาว และตัวรูปของเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น รุ่น SmartPro Compact ที่เป็นตัวเครื่องสีดำ ผสมสีทอง ทำให้ดูหรูขึ้นมาได้อีกระดับ
ด้านนอกกล่องดูเหมือนจะมีตัวหนังสือและเนื้อหาเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าหากส่องดูกันจริงๆ แล้ว เนื้อหาไม่ได้เยอะอย่างที่คิด ซึ่จริงๆ แล้วมันคือ คำบรรยายอธิบายในภาษาต่างๆ นับได้ทั้งหมด 8 ภาษาด้วยกันคือ ภาษาอังกฤษ (English) ภาษาฝรั่งเศส (Français) ภาษาเยอรมัน (Deutschlernen) ภาษาดัตช์ (Nederlands) ภาษาอิตาลี (Italiano) ภาษาสเปน (Español) ภาษาโปรตุเกส (Português) และ ภาษาสวีเดน (Svenska) เรียกได้ว่า ทาง Philips แกกะกวาดลูกค้าตลาดยุโรปเรียบหมดเลยทีเดียว
ด้านหน้ากล่อง : มีบอกความสามารถเด่นของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบหัวดูดแบบ TriActive XL Nozzle ระบบการตรวจจับอัจฉริยะ (Smart Detection System) และ ตัวเครื่องขนาดบางเฉียบ (Slim Design) เพียง 6 เซนติเมตร เท่านั้น
ด้านซ้ายกล่อง : ข้อมูลที่เน้นย้ำ เรื่องของประสิทธิภาพการด้าน เซ็นเซอร์อินฟราเรด (Infrared Sensor) ใช้ในการนำทาง หลีกเลี่ยงการชนกับวัตถุต่างๆ รวมไปถึง ไจโรสโคป (Gyroscope) และ มิเตอร์ความเร่ง (Accelerometer) พร้อมกับ ชิปอัจฉริยะ (Smart Chip) ระบบประมวลผลสุดฉลาดของเขา ที่รับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตต่างๆ รอบตัวเครื่อง มาประมวลผล ผสมผสานได้อย่างลงตัว และมันยังมา พร้อมความสามารถด้านกายภาพคือ ความสูงตัวเครื่องที่ต่ำมาก และ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4 Wheel Drive)
ด้านขวากล่อง : บอกถึงรายละเอียดอุปกรณ์ ที่ให้มาภายในกล่อง 5 อย่าง ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมประโยค “Full Performance, Smart Cleaning. – Through Clean, Now 2 Times Faster” คือการทำความสะอาดสุดอัจฉริยะ พร้อมทำงานเร็วกว่า 2 เท่า
ด้านหลังกล่อง : ความสามารถหลักของตัวเครื่อง 8 อย่าง ด้านล่างของกล่อง ส่วนหลัง พร้อมอธิบาย ระบบหัวดูดแบบ TriActive XL Nozzle ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776
อุปกรณ์ในกล่องผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact นี้ถือว่าให้อุปกรณ์เสริม มาไม่มากเท่าไหร่ เรียกได้ว่าให้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น โดยมีทั้งหมด 7 อย่างด้วยกัน มาดูกันเลย ตามหมายเลขกำกับที่ปรากฏอยู่ในรูปด้านล่าง
1. Philips SmartPro Compact FC8776 (เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น x 1 เครื่อง)
ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 ขนาดมิติ 330 x 330 x 60 มิลลิเมตร น้ำหนักสุดเบาเพียงแค่ 1.73 กิโลกรัม เท่านั้น และนี่คือจุดเด่นของมันคือ มีความสูงแค่ 6 เซนติเมตร (หรือ 60.1 มิลลิเมตร) เท่านั้น และ น้ำหนักสุดเบา ไม่ถึง 2 กิโลกรัม
2. Docking Station (แท่นชาร์จ x 1 ชุด)
แท่นชาร์จ (Docking Station) หรือ บางยี่ห้ออาจเรียกว่า “Charge Base” จัดเป็น บ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น โดยตัวนี้ มีจุดสัมผัสแท่นชาร์จอยู่ด้านข้าง แทนการไว้ด้านล่าง ซึ่งข้อดีของแบบนี้คือ ป้องกันฝุ่นตกลงมาบนพื้น แล้วมาโดนขั้วจุดสัมผัสแท่นชาร์จ (Charging Contacts) ที่อยู่ด้านล่างอาจทำให้ไฟไม่จ่ายเข้าเครื่องได้ ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ (มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หลายๆ รุ่นประสบปัญหาแบบนี้) แต่ตัวนี้ไม่ต้องเพราะขั้วชาร์จไฟอยู่ด้านข้าง (กดดู รายละเอียดแท่นชาร์จเพิ่มเติม ได้ที่นี่)
3. Adapter Set (ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ x 1 ชุด)
ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ และ สายชาร์จ ขนาดความยาว ประมาณ 1.5 เมตร (วัดเองโดยตลับเมตร) ที่เอาไว้ใช้งานร่วมกับ แท่นชาร์จ (Charge Base) ด้วยการเสียบเข้าที่ด้านหลังของตัวแท่นชาร์จ โดยอะแดปเตอร์นี้ มีค่า INPUT อยู่ที่ 100-240V (สามารถใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลก) และค่า OUTPUT อยู่ที่ 24V 1.0A ถือว่าปกติ เป็นค่ามาตรฐานของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทั่วๆ ไป
4. Extra Long Brushes (แปรงกวาดข้าง x 1 ชุด = 2 แปรง)
แปรงกวาดข้างแบบ 6 แฉก (Six-Armed Side Brush) มีความยาวแฉกละ 6 เซนติเมตร ให้มา 1 ชุด (2 ฝั่ง ซ้าย-ขวา) มาพร้อมกับ สีฟ้าเข้ม สีประจำตัวของ Philips ช่วยตีฝุ่นที่อยู่ข้างๆ ตามขอบซอกมุมต่างๆ ของกำแพง หรือ เฟอร์นิเจอร์ ให้เข้ามาอยู่ใน ระบบหัวดูดแบบ TriActive XL Nozzle ที่อยู่ใต้เครื่อง เข้าไปอีกที
5. Remote Control (รีโมทคอนโทรล x 1 ชุด)
รีโมทคอนโทรลทรงเหลี่ยม พร้อมแถม ถ่านแบตเตอรี่ทรงกลมแบน แบบ CR2025 – 3V (โวลต์) เหมือนพวกถ่านในเมนเบอร์ดเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ รีโมทรถยนต์ มาให้ในตัวด้วย แต่ต้องดึงพลาสติกแผ่นพลาสติกใสเล็กๆ ออกมาก่อน เพื่อเริ่มต้นการใช้งาน (ให้ขั้วไฟโดนกัน)
6. Spare Filters (แผ่นกรองอากาศสำรอง x 1 แผ่น)
แผ่นกรองอากาศ มีไว้ดักเศษฝุ่นขนาดเล็กใหญ่ ไม่ให้กลับออกไปข้างนอกตัวเครื่องอีก ฝุ่นต่างๆ ทั้งหมด จะถูกดักอยู่ที่แผ่นกรองอากาศนี้ ให้อยู่ภายใน กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dust Container) โดยเขามีมาให้ 2 ชุด (อยู่ในเครื่องแล้ว 1 แผ่น และ อยู่ในซองพลาสติก อีก 1 แผ่น)
หมายเหตุ : แผ่นกรองอากาศ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 ตัวนี้ ไม่ใช่ แผ่นกรองอากาศ HEPA
7. User Manual and Important Safety Information (คู่มือการใช้งาน และ รายละเอียดความปลอดภัย x อย่างละ 1 เล่ม)
เอกสารประกอบตัวเครื่อง มีหลักๆ 2 เล่มคือ คู่มือการใช้งาน (User Manual) ที่จะบอกรายละเอียดส่วนประกอบ ของตัวเครื่อง วิธีการใช้งาน วิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และ รายละเอียดความปลอดภัย (Important Safety Information) ที่จะชี้แจง ข้อห้ามอันตราย (Danger) คำเตือน (Warning) และ ข้อความระวัง (Caution)
ซึ่งทั้ง 2 เล่มนี้ มีความหนาอยู่พอสมควร แต่อย่าเพิ่งตกใจ เนื้อหาไม่ได้มากอย่างที่คิด ที่เล่มมันหนาก็เพราะว่า มีทั้งหมด 8 ภาษา (ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น) นั่นเอง
ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776
รายละเอียด (Specification) |
|
ขนาดมิติ (Dimension) |
330 x 330 x 61 มม. |
น้ำหนัก (Weight) |
1.73 กิโลกรัม |
ไฟเข้า (Input) |
AC 100-240V 50/60 Hz (1.0A) |
ไฟออก (Output) |
DC 24V 1.0A |
ประเภทของแบตเตอรี่ (Battery Type) |
Li-Ion |
ปริมาณความจุแบตเตอรี่ (Battery Capacity) |
2,800 mAh |
ระดับเสียง (Noise Level) |
58 dB. (วัดจากที่ระยะห่าง 1 เมตร ขึ้นอยู่กับโหมด) |
ขนาดกล่องใส่ขยะ (ลิตร) Dustbin or Dust Container Capacity (Litre) |
0.30 ลิตร (300 mL) |
คุณสมบัติ และ ความสามารถ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776
จากที่เห็นอุปกรณ์ต่างๆ กันมาแล้ว คราวนี้จะเป็นส่วนของการสรุป ความสามารถ ของตัวเครื่องดูว่า สรุปมันทำอะไรได้บ้าง โดยข้อมูลที่ให้มานี้ เป็นข้อมูลที่อยู่ด้านหลังกล่องผลิตภัณฑ์ แต่ผมเอามาเขียนอธิบาย ให้เข้าใจกันง่ายๆ เป็นภาษาไทยกันอีกที
1. Cleaning Styles Adapts to Rooms with 4 Cleaning Modes
ภายในเครื่องนี้มี โหมดการทำความสะอาดทั้งหมด 4 โหมดหลักๆ (ยังไม่รวมอีก 1 โหมดควบคุมเครื่องเอง หรือ Manual Mode) ทั้งนี้ก็เพื่อการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนโหมดเหล่านี้ได้จากรีโมทคอนโทรล ได้เลย ซึ่งโหมดที่ว่านี้มีอยู่ดังต่อไปนี้
- Z-Pattern or Zigzag Pattern : โหมดทำความสะอาดแบบซิกแซก – วิ่งทำงานในรูปแบบตัวแซด “Z”
- Random Pattern : โหมดทำความสะอาดแบบสุ่ม – สุ่มรูปแบบการทำงาน แบบผสมไม่มีรูปแบบตายตัว
- Wall-Following Pattern : โหมดทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง – ดูดฝุ่นตามขอบกำแพงเท่านั้น
- Spot-Cleaning Pattern : โหมดทำความสะอาดแบบเฉพาะจุด – ใช้กรณีทำของหกหล่นบริเวณแคบๆ
2. Cleans Under Low Spaces
ตัวเครื่องมีขนาดสูงเพียงแค่ 6 เซนติเมตร ถือว่าเตี้ยที่สุด ตั้งแต่เคยรีวิวมา จึงทำให้มันเป็นตัวแรก และ ตัวเดียว ที่สามารถวิ่งลอดใต้โซฟานั่งเล่นของที่ห้องผมได้ (ตัวอื่นจะติด ลอดเข้าไปไม่ได้)
3. Easily Crosses over Thresholds with 4 Wheel Drives
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ ใช้ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4 Wheel Drives) ที่สามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้สูงสุด 1.7 เซนติเมตร (17 มิลลิเมตร)* เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรก ที่เพิ่งเคยเห็นเช่นกัน โดยมันจะมี ล้อขับเคลื่อน ฝั่งละ 2 ล้อ (ซ้าย-ขวา) และ หมุนพร้อมกัน เพื่อแก้ไขปัญหา การวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับไม่ได้ หรือ เข้าไปติดแหง็กในที่ต่างๆ และสุดท้ายก็จอดดับแบตฯ หมดอยู่ตรงนั้นเลย แต่ตัวนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
แม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อขับเคลื่อนของตัวนี้ จะมีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตัวอื่นๆ แต่การมี ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตรงนี้กลบข้อเสียตรงนี้ไปแบบมิดเลยทีเดียว
*หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่สามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับได้สูงสุด เท่าที่ทาง Thanop.com เคยรีวิวมา คือ 2.0 เซนติเมตร (20 มิลลิเมตร) แต่ส่วนมากที่เคลมไว้ ก็ขึ้นได้บ้างบางที ไม่ได้บ้างบางที ไม่ได้ได้ทุกครั้ง
4. Avoids Bumping into Obstacles
ระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง และ หลีกเลี่ยงการเข้าชน ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายระหว่างตัวเครื่อง กับ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน อย่าง เฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ ได้ มันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เซ็นเซอร์อินฟราเรด ทั้งหมด 6 ตัว รอบตัวเครื่อง ที่คอยตรวจจับสิ่งกีดขวาง ที่อยู่รอบๆ เครื่อง
5. Long Cleaning Time
แบตเตอรี่แบบลิเธียมไออน (Li-Ion) ความจุ 2,800 มิลลิแอมป์ (mAh) จ่ายไฟแรง และ คงที่อยู่ตลอดเวลาแม้แบตเตอรี่ใกล้จะหมด แถมยัง ทำงานต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 130 นาที (2 ชั่วโมง 10 นาที) แม้ว่าขนาดความจุของแบตเตอรี่จะน้อย
แต่ด้วยความที่มันไม่ต้องส่งพลังไฟฟ้า ไปยัง มอเตอร์ของแปรงกวาดหลัก (Main Brush Motor) เหมือนกับที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น รุ่นอื่นๆ เขามีกัน เพราะ Philips SmartPro Compact FC8776 ตัวนี้ใช้ ระบบลมดูดฝุ่น (Vacuum Power) อย่างเดียว จึงทำให้มีพลังไฟในแบตเตอรี่เหลือเฟือ ในการดูดฝุ่นเป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ
6. Schedule 24-Hours in Advance
สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้าได้ 24 ชั่วโมง นับจากเวลาที่เริ่มตั้ง เช่นวันนี้เรากดตั้งเวลาตอน 3 ทุ่ม (9.00 pm) โดย พรุ่งนี้ในเวลาเดียวกันคือ 3 ทุ่ม หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 ก็จะถอยหลังออกมาทำความสะอาดโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ต้องมีใครเดินไปกดสั่งบนตัวเครื่องให้ทำงานอีก (ถ้าอยากจะใช้ใหม่อีก ก็ต้องกดปุ่มตั้งเวลาใหม่ จากบนแท่นชาร์จ)
7. Auto-Return to Dock to Recharge
วิ่งกลับแท่นชาร์จได้เองโดยอัตโนมัติ ด้วยความแม่นยำ เพื่อชาร์จไฟให้เต็มความจุของแบตเตอรี่ ให้พร้อมสำหรับการใช้งานในครั้งต่อๆ ไป
8. Enhanced Cleaning with Gyroscope and Accelerometer
ภายในเครื่องยังมี เซ็นเซอร์ไจโรสโคป (Gyroscope) และ มิเตอร์ความเร่ง (Accelerometer) ที่ช่วยเสริมให้การทำงาน การดูดฝุ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นการหมุนพลิกกลับตัว จะช่วยให้ดูดได้ครบทุกพื้นที่ โดยที่ไม่มีจุดบอดใดๆ
9. Clap Response Function
มี ฟังก์ชั่นปรบมือหาตำแหน่งเครื่อง (Clap Response) ในกรณีที่เครื่องหยุดทำงานด้วยสาเหตุ เกิดข้อผิดพลาด หรือ หาแท่นชาร์จไม่เจอเกิน 20 นาที หรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเครื่อง “จอดตาย” อยู่ที่ใดสักแห่งนึงในห้องของเรา เมื่อเราหาเครื่องไม่เจอ หรือไม่รู้ว่าเครื่องจอดอยู่ตรงไหน เราสามารถ “ปรบมือหนึ่งครั้ง (Clap your hands once)” เพื่อหาเครื่องได้ โดยเครื่องจะตอบสนองด้วยการส่งเสียงบี๊บ (Beeping) รวมไปถึง ไฟแสดงผลการแจ้งเตือน บนตัวเครื่องจะสว่างขึ้นทั้งหมด เพื่อให้เป็นจุดสนใจในการหาเครื่องได้ง่ายขึ้น
10. TriActive XL Nozzle
มีระบบหัวดูดแบบ TriActive XL Nozzle เป็น เทคโนโลยีเฉพาะ ของ เป็นการผสมผสาน ความสามารถจากอุปกรณ์ 3 ส่วนของตัว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
- Extra wide nozzle covers twice as much floor area in one stroke.
(หัวดูด มีความกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่ารุ่นก่อนๆ ถึง 2 เท่า ในการดูด 1 ครั้ง) - Three suctions inlets collect dust from front and both sides.
(หัดูดฝุ่น สามารถดูดฝุ่นจากบนพื้นได้จากสามทาง ครบทั่วทุกมุม ทั้งด้านหน้า ฝั่งซ้าย และ ฝั่งขวา) - Flexible wiper collects any dust left behind.
(แถบยางกวาดฝุ่น ยืดหยุ่นได้ สีน้ำเงินความยาว จะปาดฝุ่นขนาดเล็ก ให้เข้าไปอยู่ในรัศมีทำการของหัวดูด)
สำรวจตัวเครื่อง และ อุปกรณ์หลัก ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776
ส่วนนี้จะพามาแนะนำส่วนประกอบต่างๆ ของ ตัวเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 กันดูว่า หน้าตาเป็นอย่างไร และมีอะไรน่าสนใจตรงไหนบ้าง ซึ่งขอบอกว่า แรกเริ่มเดิมที ที่มีโอกาสเห็นเจ้าและสัมผัสเจ้าเครื่องนี้แล้ว พานึกไปถึง “เตาไฟฟ้าพกพา” เพราะทั้งแบน กลม แถมมีแถบวงกลม สีทองๆ ตรงกลางเครื่องอีกต่างหาก
ด้านบนของตัวเครื่อง (Top View)
หากดูมิติ ความกว้าง (Width) x ความยาว (Length) ที่เป็น 360 x 360 มิลลิเมตร นั้นขนาดของมันก็ขนาดมาตรฐานปกติทั่วไป ไม่ได้เล็กเลย แถมมีขนาดค่อนไปทางใหญ่ด้วยซ้ำไป ซึ่งจุดนี้ก็ถือว่าธรรมดา แต่ถ้ามาดูขนาดความสูง (Height) อยู่ที่ 60 มิลลิเมตร (หรือ 6 เซนติเมตร) ถือว่าเตี้ยที่สุด ตั้งแต่เคยเห็นมาเลยทีเดียว เรามาดูส่วนประกอบอื่นๆ กันเลย
- Docking Station Sensor (เซ็นเซอร์แท่นชาร์จ) : ใช้ส่งข้อมูลสื่อสารกันระหว่างตัวเครื่อง กับ แท่นชาร์จ ในการกลับเข้ามาจอดชาร์จแบตเตอรี่ ได้อย่างแม่นยำ ตรงขั้ว และ ไม่หลงทาง
- Start/Stop Button (ปุ่มเริ่ม/หยุดการทำงาน) : ปุ่มสั่งเครื่อง เริ่มต้นหรือหยุดการทำงาน เป็นปุ่มแรกและปุ่มเดียว ที่อยู่ด้านบนตัวเครื่อง (นอกนั้นควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรลทั้งหมด)
- Display Panel (แผงจอแสดงผล) : ไฟแสดงผลการแจ้งเตือนต่างๆ มีไฟแค่ 2 ดวงเท่านั้น คือ ไฟแจ้งเตือนทั่วไป (Warning Indicator) และ ไฟแจ้งเตือนกล่องใส่ขยะฝุ่นละอองฝุ่นเต็ม (Dust Container Full Indicator)
- Top Cover (ฝาครอบด้านบน) : ฝาพลาสติกสีทอง ใช้ปิด กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dust Container) ที่เก็บอยู่ด้านในตัวเครื่อง การเปิดฝาก็ง่ายๆ ดึงฝาขึ้นมาจากตัวเครื่องดึงจากที่ดึงฝา ที่อยู่บนตัวฝาครอบได้เลย
- Front Bumper (กันชนหน้า) : ใช้ดูดซับแรงกระแทก ระหว่างตัวเครื่อง กับ เฟอร์นิเจอร์ และ ข้าวของเครื่องใช้ภายในห้อง ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
ด้านล่างของตัวเครื่อง (Bottom or Underside View)
แน่นอนว่า จุดเด่นไฮไลท์น่าสนใจของตัวเครื่อง อยู่ที่นี่ เพราะว่าทั้งตัว ระบบขับเคลื่อนหุ่นยนต์ดูดฝุ่น รวมไปถึง ระบบการดูดฝุ่น เข้าไปเก็บในตัวเครื่อง ก็อยู่ตรงนี้เช่นกัน
- Drop-Off Sensors (เซ็นเซอร์ป้องกันการตกหล่น) : บางยี่ห้อเรียกว่า “Cliff Sensors” หรือ “Floor Sensors” จริงๆ หลักการเหมือนกันคือมันเป็น เซ็นเซอร์ช่วยป้องกันเครื่องวิ่งตกบันได หรือ ตกจากที่สูง ป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเครื่อง โดยมีทั้งหมด 3 จุด รอบตัวเครื่อง
- Front Wheel หรือ Caster Wheel (ล้อเลื่อนรับน้ำหนักด้านหน้า) : ล้อพลาสติกขนาดเล็ก ที่เอาไว้ใช้ในการรับน้ำหนักตัวเครื่องด้านหน้า สามารถหมุนตัวได้ 360 องศา รอบทิศทาง ไม่มีระบบขับเคลื่อน ใดๆ
- Side Brush (แปรงกวาดข้าง) : แปรงกวาดข้างแบบขน 6 แฉก (Six-Armed Side Brush) ความยาวแฉกละ 6 เซนติเมตร พร้อมกับสีฟ้าเข้ม สีเดียวกับโลโก้ของ Philips สวยงาม
- TriActive XL Nozzle (ระบบหัวดูดแบบ TriActive XL) : แผ่นพลาสติกสีฟ้า พร้อมแถบยางกวาดฝุ่น มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร (1 ฟุต) ใช้กวาดฝุ่นขนาดเล็ก ที่ถูกตีเข้ามาโดยแปรงกวาดข้าง หรือ รอบๆ บริเวณใต้เครื่อง เข้าไปยัง ช่องดูดฝุ่น (Suction Opening) ที่อยู่ตรงกลางเครื่อง
- Suction Opening (ช่องดูดฝุ่น) : เนื่องจากหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ใช้ระบบลมดูดฝุ่น แทนการใช้แปรงกวาดหลัก จะเป็นแค่ช่องโบ๋ๆ เปล่าๆ ให้ลมและฝุ่นถูกดูดเข้าไปเท่านั้น หมดปัญหาเรื่องเส้นผมเข้าไปติดพันกับตัวแปรงกวาด
- Robot Vacuum Label (ฉลากรายละเอียดของเครื่อง) : ฉลากบอกรายละเอียด มีทั้งเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ต่างๆ ชื่อรุ่น รายละเอียดการบริโภคไฟฟ้า และก็ “Designed in Netherlands – ออกแบบในประเทศเนเธอร์แลนด์” และ “Made in China – ผลิตในประเทศจีน”
- Drive Wheel (ล้อขับเคลื่อนหลัก) : นี่คือหนึ่งในไฮไลท์สำคัญที่สุดของตัวเครื่องนี้ นั่นก็คือ ล้อขับเคลื่อนหลัก ของมันเป็นการขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยมีฝั่งละ 2 ล้อ (ตัวแรกที่เคยเจอ) พร้อมโช๊คอัพที่ให้ตัวได้นิดหน่อย (อาจจะให้ตัวได้ไม่มาก เหมือนตัวอื่นๆ เนื่องจากตัวเครื่องมีขนาดเตี้ย)
- Battery Compartment (ช่องใส่แบตเตอรี่) : ด้านบนเป็น ฝาครอบแบตเตอรี่ (Battery Cover) พลาสติก ข้างในมีแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ขนาด 2,800 มิลลิแอมป์ อยู่ด้านใน สามารถใช้ไขควง 4 แฉก ไขน๊อต 2 ตัวแล้วดึงออกมาเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เลย
ด้านข้างของตัวเครื่อง (Side View)
ด้านข้างส่วนหลัง : ของตัว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 ก็ยังมีส่วนของ จุดสัมผัสแท่นชาร์จ (Charging Contact) ลักษณะเป็นจุดวงกลมโลหะเล็กๆ 2 จุด ที่อยู่ด้านหลังของตัวเครื่อง (เวลาเครื่องจอดที่แท่นชาร์จ จะเอาส่วนท้ายเข้าจอด อารมณ์ประมาณจอดรถแบบ ถอยหลังเข้าซอง) ไว้สัมผัสกับ จุดสัมผัสแท่นชาร์จของแท่นชาร์จ นั่นเอง
ด้านข้างส่วนซ้าย : จะมี ปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่อง (Power Switch) ที่ใช้ตัดวงจรไฟฟ้าระหว่างตัวเครื่อง กับ แบตเตอรี่ ใช้ในกรณีที่ หากไม่ใช้เครื่องเป็นระยะเวลานานๆ แนะนำให้กดปิดสวิตซ์ตัวนี้เอาไว้ เพื่อความปลอดภัย และ เป็นการยืดอายุของแบตเตอรี่ ให้อยู่กับเรานานขึ้นอีกด้วย
และถัดมายังมี ช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ (Adapter Jack) เอาไว้ให้คุณได้สามารถชาร์จไฟจาก ชุดอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ลงไปที่ตัวเครื่องได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านแท่นชาร์จ ในกรณีที่แท่นชาร์จเสีย หรือ ไม่ได้พกติดมาด้วย เพิ่มความสะดวกสบายไปอีกระดับ
หมายเหตุ : การเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ จะทำให้ไม่สามารถใช้ฟังก์ชั่น ตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้า 24 ชั่วโมง (24h Advance Cleaning) และ ฟังก์ชั่นแบตเตอรี่เต็มแล้วทำงานทันที (Full and Go) ได้ เพราะทั้ง 2 ฟังก์ชั่น ต้องสั่งผ่านปุ่มที่อยู่บนแท่นชาร์จ
แท่นชาร์จ (Docking Station)
เปรียบเสมือนบ้านของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่พอเมื่อดูดฝุ่นทำความสะอาดเสร็จ มันจะวิ่งกลับมาที่แห่งนี้เองโดยอัตโนมัติ โดยขนาดเห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ แท่นชาร์จนี้มีจุดน่าสนใจอยู่ถึง 4 จุดใหญ่ๆ ด้วยคือ
- 24h Button (ปุ่มตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้า 24 ชั่วโมง) : ถ้ากดปุ่มนี้บนแท่นชาร์จเมื่อไหร่ จะมีไฟรูปนาฬิกาสีเขียว แสดงขึ้นมาค้างเอาไว้ตลอด โดยมันจะใช้เวลาขณะที่กดปุ่มนี้ บวกขึ้นไปอีก 24 ชั่วโมง และก็จะออกมาทำความสะอาดโดยอัตโนมัติทันที
- Battery Full and Go Button (ปุ่มแบตเตอรี่เต็มแล้วทำงานทันที) : ถ้ากดปุ่มนี้บนแท่นชาร์จเมื่อไหร่ จะมีไฟรูปแถบแบตเตอรี่สีแดง แสดงขึ้นมาค้างเอาไว้ตลอด และเมื่อแบตเตอรี่ถูกชาร์จเต็มความจุเมื่อไหร่ เครื่องก็จะออกมาดูดฝุ่นทำความสะอาดโดยอัตโนมัติทันที แต่ถ้าหากแบตเตอรี่เต็มความจุอยู่แล้ว ดันไปกดปุ่มนี้ เครื่องก็จะออกมาเดี๋ยวนั้นเลย
- Side Charge Pins (จุดสัมผัสแท่นชาร์จด้านข้าง) : ปกติจุดสัมผัสแท่นชาร์จ จะอยู่ด้านล่าง แต่ตัวนี้อยู่ด้านข้างแนบติดกับตัวแท่นชาร์จ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กลงมาติดกับขั้วชาร์จ อาจส่งผลให้ชาร์จไฟไม่เข้าได้ แต่ตัวนี้อยู่ด้านข้างซะ โอกาสที่มันจะมีเศษฝุ่นสกปรก ไปติดตรงขั้วก็จะน้อยลง
- Rear Sticky Tape (เทปกาวด้านหลัง) : มีแผ่นเทปกาว ที่ด้านหลังแท่นชาร์จ เอาไว้ยึดติดผนัง หรือ กำแพงด้านหลัง จะได้ไม่เคลื่อนที่ไปมาได้
รีโมทคอนโทรล (Remote Control)
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 ตัวนี้ได้ให้รีโมทคอนโทรลมาด้วย โดยเป็นรีโมทฯ ที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด มีปุ่มอยู่ไม่กี่ปุ่ม และ สัญลักษณ์บนปุ่ม เห็นแล้วก็สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ อีกด้วย แถมยังให้ ถ่านแบตเตอรี่แบบกลม ขนาด CR2025 3V ติดมาให้ในถาดใส่แบตเตอรี่ (Battery Holder) เป็นที่เรียบร้อย
และยังมี แผ่นพลาสติกใส ใส่คั่นกลางระหว่างตัว ถ่านแบตเตอรี่ และ รีโมทคอนโทรล เพื่อป้องกันถ่านหมด ก่อนส่งถึงมือลูกค้า (สังเกตที่รูปรีโมทฯ ด้านบนจะมี ลูกศรชี้ลงอยู่ ถ้าจะใช้งานจริงๆ ก็ดึงพลาสติกออกทิศทางตามลูกศรเลย) ในส่วนของ รายละเอียดของ ปุ่มกดบนรีโมทคอนโทรล ก็แบ่งออกเป็น
- Navigation Buttons (ปุ่มลูกศรขึ้น ลง ซ้าย ขวา) : ควบคุมทิศทางเครื่องเองตามต้องการ แบบ Manual
- Start/Stop Button (ปุ่มเริ่ม/หยุดการทำงาน) : สั่งเริ่มหรือหยุด การทำงาน(เหมือนปุ่มที่อยู่บนตัวเครื่อง)
- Docking Button (ปุ่มรูปบ้าน) : สั่งให้เครื่องวิ่งกลับแท่นชาร์จทันที
- Cleaning Time Button (ปุ่มรูปนาฬิกา) : สั่งให้เครื่องทำความสะอาดในเวลาแค่ 35 นาที เมื่อครบเวลาแล้ว จะวิ่งกลับแท่นชาร์จทันที
- Cleaning Mode Button (ชุดปุ่มปรับเปลี่ยนโหมดการทำความสะอาด) : มีไปด้วย 4 โหมดหลักๆ คือ
- Zigzag Mode Button (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดแบบซิกแซก)
- Spot Mode Button (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดแบบเฉพาะจุด)
- Wall-Following Mode Button (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดแบบเลาะขอบกำแพง)
- Random Mode Button (ปุ่มเปิดโหมดทำความสะอาดแบบสุ่ม)
กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dust Container)
อุปกรณ์ชิ้นนี้เรียกว่า กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (Dust Container) หรือบางที่เรียกมันว่า “Dust Bin” หรือ “Dirt Bin” ก็แล้วแต่ยี่ห้อ มันมีขนาดความจุ 0.3 ลิตร (300 มิลลิลิตร) เป็นพลาสติกแบบขุ่น แต่พอมองเห็นฝุ่นข้างในได้ ว่ามีมากน้อยเพียงได้ ด้านบนเป็นฝาครอบหูหิ้ว และยังมาพร้อมกับ แผ่นกรองอากาศ (Filter) ด้านใน
จากที่เห็นรูปด้านบน จะเห็นว่าฝาครอบกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (หมายเลข 2) สามารถถอดออกมาได้ทั้งฝา เพิ่มความสะดวกสบายในการทำความสะอาดให้ง่ายมากยิ่งขึ้นไปอีก
เปิดเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 ใช้งาน พร้อมประสบการณ์ใช้จริง
การใช้งานจริงๆ เครื่องนี้ก็มีข้อปฏิบัติอยู่ไม่มากอะไร เพียงแค่นำเอาตัวเครื่อง และ แท่นชาร์จมาติดตั้งให้เรียบร้อย ในตำแหน่งที่เหมาะสม รอชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม ก็สามารถเริ่มต้นใช้งานเครื่องนี้ได้เลยทันที
โดยเครื่องนี้มีข้อกำหนดการวางตำแหน่งแท่นชาร์จ ที่แปลกออกไปจากเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ นิดนึง ตรงที่รัศมีพื้นที่โล่ง รอบๆ ด้านของมัน ไม่เท่ากัน โดยด้านหน้าจะมีรัศมีที่โล่งควรจะอยู่ที่ 80 เซนติเมตร ขณะที่ด้านซ้าย 100 เซนติเมตร และ ด้านขวา แค่ 30 เซนติเมตร เท่านั้น (ตามภาพประกอบด้านล่าง)
และเมื่อชาร์จไฟจนแบตเตอรี่เต็มความจุแล้ว ก็สามารถกด “ปุ่มเริ่ม/หยุดการทำงาน (Start/Stop Button)” ปุ่มเดียวที่อยู่บนตัวเครื่องเพื่อสั่งเครื่องให้เริ่มต้นทำงานได้เลย การทำงานขอสรุปเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
- การทำงานวิ่งเป็นเส้นตรงเป็นระบบระเบียบ ไม่ได้วิ่งมั่วไปมา (คาดว่ามี ระบบ Mapping ในตัว แต่เขาไม่ได้บอกมาในสเปคเครื่อง)
- เครื่องเริ่มต้นทำงานจากจุดไหน มันจะกลับมาจุดนั้นเองอัตโนมัติ เช่น ถ้าเริ่มต้นจากแท่นชาร์จ มันก็จะกลับมาแท่นชาร์จ แต่ถ้าเริ่มต้นจากจุดอื่นที่ไม่ใช่แท่นชาร์จ มันก็จะกลับไปยังจุดนั้น โดยที่ไม่ได้กลับไปแท่นชาร์จ
- ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้ผลจริงๆ นี่คือการเอาตัวรอดจากอุปสรรคที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา จึงเป็นเหตุให้ไม่ต้องเก็บข้าวของอะไรมากมาย เช่น พรมเช็ดเท้า เครื่องชั่งน้ำหนัก ฯลฯ เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อนการดูดฝุ่น
- การใช้งานในโหมดควบคุมเครื่องเอง (Manual Mode) ผ่านรีโมทคอนโทรล สามารถกดทิศทาง (ปุ่มขึ้น ↑ ลง ↓ ซ้าย ← ขวา →) ขณะเครื่องกำลังทำงานอยู่ได้เลย
- แต่ขณะทำงานในโหมดควบคุมเครื่องเองนั้น ระบบดูดฝุ่นหรือ ระบบลมดูด พร้อม แปรงกวาดข้าง จะหยุดการทำงาน แค่วิ่งเคลื่อนที่อย่างเดียว พอถึงจุดหมาย จะต้องกที่ ปุ่มเริ่ม/หยุดการทำงาน เพื่อเริ่มการทำงานต่ออีกที (กดบนตัวเครื่องก็ได้ หรือ กดบนรีโมทคอนโทรล ก็ได้)
- สามารถปรับเปลี่ยนโหมดการดูดฝุ่นได้ขณะที่เครื่องกำลังทำงานอยู่ได้ด้วยเช่นกัน
- การดูดฝุ่นในห้องจัดว่านาน ประมาณ 70 นาที แต่สุดท้ายก็วิ่งกลับแท่นชาร์จได้ถูกต้อง (มาช้ายังดีกว่าไม่มา)
- วงเลี้ยว ของเครื่องนี้ดูมันแปลกๆ ไม่เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ ที่เคยใช้มา แต่อาจเป็นเพราะระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ทำให้วงเลี้ยวกว้างกว่าเดิม (แปลกยังไง ดูในคลิปวีดีโอ)
คำถามที่คุณต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน (FAQs)
เช่นเคยก่อนจะจากกัน ก็จะมีสรุปการใช้งาน ให้ทราบในรูปแบบของคำถามตอบเป็นข้อๆ (ถ้าใครมาคำถามอื่น นอกเหนือจากนี้ สามารถถามได้ตรงส่วนของ การแสดงความคิดเห็นด้านล่าง นี้ได้เลย)
1. สามารถดูฝุ่นได้สะอาดหรือไม่ ?
พอหลังจากใช้งาน พบว่ามันสามารถดูดฝุ่นได้ดีมาก ด้วยความที่มันมี ระบบหัวดูดแบบ TriActive XL Nozzle พร้อมกับ แถบยางกวาดฝุ่น ยาวประมาณ 1 ฟุต และ พัดลมดูดฝุ่น (Vacuum Fan) ขนาดใหญ่ ที่อยู่ด้านในของตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกเช่นกัน (ต้องดึงกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ขึ้นมาก่อนถึงจะเห็น) มันจะช่วยกันดูดและกวาดเศษฝุ่นขนาดเล็ก ให้เข้าไปที่หัวดูดของมัน เพื่อเข้าไปเก็บในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง อีกที
โดยสรุปคือ สามารถดูดได้อย่างสะอาดหมดจด เลยทีเดียว สรุปข้อดีของระบบลมดูดอย่างเดียว คือ
- ไม่ต้องกังวลว่า เส้นผมของสุภาพสตรียาวๆ จะเข้าไปติดพัวพัน กับตัวแปรงกวาดหลัก
- ประหยัดค่าบำรุงรักษา ในส่วนของ แปรงกวาดหลัก ลงไปได้
- ประหยัดแบตเตอรี่ เพราะไม่ต้องเปลืองแบตเตอรี่ไปกับ มอเตอร์ของแปรงกวาดหลัก ใช้แค่พัดลมดูดฝุ่น อย่างเดียว
2. ปริมาณฝุ่นที่สามารถดูได้ในแต่ละวันมีมากน้อยเท่าใด ?
ภาพด้านบน คือ ภาพของปริมาณฝุ่นที่ถูกดูดเข้ามาในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง ใน 1 วัน มีทั้งฝุ่นขนาดเล็กใหญ่ รวมถึง เส้นผมสั้นยาว ต่างๆ ก็สามารถดูดได้อย่างหมดจด เช่นกัน โดยฝุ่นละอองต่างๆ จะถูกดูดเข้ามาติดกับ แผ่นกรองอากาศในกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง เป็นเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากถูกดูดเข้ามาพร้อมกับพัดลมดูดอากาศ ด้วยความแรงสูงนั่นเอง
3. ขณะดูดฝุ่นมีเสียงดังมากหรือไม่ ?
เครื่องนี้มีระดับการดูดฝุ่นปกติ ประมาณ 63-65 เดซิเบล (dB.) จัดว่าค่อนข้างเงียบ ไม่หนวกหู สามารถใช้บนคอนโดมิเนียม หรือ หอพัก ได้เป็นอย่างดี ไม่รบกวนห้องข้างๆ เพราะ มันใช้ระบบดูดฝุ่น อย่างเดียว เสียงที่ดังก็มาจาก มอเตอร์พัดลมดูดฝุ่น แค่นั้นเอง
4. ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่โฆษณา เห็นผลลัพธ์การทำงาน ชัดเจนหรือไม่ ?
การวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ ธรณีประตู ในการวิ่งข้ามห้องต่างๆ สามารถทำได้ดี ไม่มีติดขัด (เหมือนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเกรดดีๆ ทั่วไปก็เป็นแบบนี้) แต่ว่ามีจุดนึงที่ประทับใจคือ เครื่องนี้สามารถปืนเครื่องชั่งน้ำหนัก (Weight Scale) และกลับลงมาได้ โดยที่ไม่ไปติดแหง็ก เกยตื้น แต่อย่างใด ขณะที่วิ่งผ่านพรมเช็ดเท้าต่างๆ ก็ไม่ติดเช่นกัน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น ช่วยได้มากจริงๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ปกติถ้าผมต้องเปิดหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวอื่นๆ ใช้งาน จะต้อง เก็บเครื่องชั่งน้ำหนัก ขึ้นชั้นวางของก่อนเสมอทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดแหง็ก ของมัน แต่ถ้าใช้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips ตัวนี้ก็ไม่ต้อง
5. สามารถวิ่งกลับแท่นชาร์จได้อย่างแม่นยำหรือไม่ ?
มีความแม่นยำในการวิ่งกลับแท่นชาร์จ ค่อนข้างสูงมากๆ เรียกได้ว่าแทบจะ 100% ถ้าไม่มีใครไปแกล้งปิดประตู ไม่ให้มันวิ่งออกจากห้องไปกลับแท่นชาร์จเสียก่อน
6. หุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะวิ่งกลับแท่นชาร์จในกรณีใดบ้าง ?
จะมี 2 กรณีที่เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776 จะมองหาแท่นชาร์จ เพื่อกลับบ้านไปชาร์จไฟ ได้แก่
- ทำความสะอาดเสร็จสิ้น ทั่วทั้งบริเวณ
- ความจุแบตเตอรี่เหลือ 15% มันจะวิ่งหาแท่นชาร์จ เพื่อกลับไปชาร์จไฟโดยอัตโนมัติทันที
7. ตัวเครื่องมีการรับประกันกี่ปี ?
ตัวเครื่องมีการ รับประกัน 2 ปี (ถือว่ามากกว่าตัวอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะประมาณ 1 ปีเท่านั้น ) แต่เป็นการรับประกันที่ตัวเครื่องอย่างเดียว ไม่รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ต้องเสื่อมสภาพตามการใช้งานอย่าง แปรงกวาดข้าง (Side Brush) หรือ แผ่นกรองอากาศ (Filter) ต่างๆ เนื่องจากเสื่อมสภาพตามการใช้งานอยู่แล้ว
8. สามารถติดต่อทางทีมงาน Philips Thailand ได้ผ่านช่องทางใด ?
คุณสามารถติดต่อทีมงาน Philips ประเทศไทย ได้ในหลายช่องทาง ขอคำแนะนำ ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่ เพื่อสอบถามปัญหา ต่างๆ ได้ผ่านช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้
- Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 0-2614-3340
- Website (เว็บไซต์) : https://www.philips.co.th/
- Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : PhilipsThailand (ฟิลิปส์ไทยแลนด์) ตามกรอบด้านล่าง
9. การส่งซ่อมเครื่องสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ?
คุณสามารถติอต่อศูนย์บริการทั่วประเทศ ส่วนระยะเวลาการซ่อมแล้วแต่เหตุผลของการเสีย ถ้ามีอะไหล่เลยก็ไม่เกิน 2 อาทิตย์ ก็สามารถได้สินค้าคืนกลับมาใช้ตามปกติแล้ว
บทสรุปการใช้งาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Philips SmartPro Compact FC8776
มาดูสรุปข้อดี และ ข้อเสีย ของการใช้งานเจ้าเครื่องนี้กันดู ซึ่งแม้ตอนแรกจะดูเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ดูธรรมดามากๆ ตัวนึง แต่หากดูในรายละเอียดปลีกย่อยของมันแล้วพบว่า มันมีความสามารถที่น่าทึ่งมากๆ หลายจุด และ หลังจากการใช้งานมาระยะหนึ่ง ก็พบว่ามันมีประสิทธิภาพมากๆ เลยทีเดียว มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
ข้อดี 🙂
- ตัวเครื่องมีขนาดเตี้ยมากๆ แค่ 6 เซนติเมตร ถือเป็นตัวแรกและตัวเดียวที่สามารถ ลอดเข้าไปดูดฝุ่นใต้โซฟาและที่คอนโดมิเนียมได้ ไม่ต้องคอยเข็นลากโซฟาออกมาทำความสะอาดพื้นที่ข้างใต้อีกแล้ว เมื่อมีตัวนี้
- ใช้ระบบล้อขับเคลื่อน 4 ล้อ ถือเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรกที่เคยเห็น เรียกได้ว่ากลบข้อด้อยของขนาดล้อขับเคลื่อนที่เล็กไปได้มิดเลย แต่กลับกลายเป็นข้อดีเสียอีกด้วยซ้ำไป ที่จะช่วยเอาตัวรอดจากอุปสรรคต่างๆ บนพื้นได้เป็นอย่างดี
- มีระบบหัวดูดแบบ TriActive XL Nozzle ช่วยให้ดูดฝุ่นได้อย่างหมดจด ด้วยแถบยาง ที่จะช่วยกวาดฝุ่นขนาดเล็กมากๆ บนพื้นให้สะอาดหมดจดอีกที
- หมดปัญหาเรื่องเส้นผมเข้าไปพันกับตัวแปรงกวาดหลัก เพราะไม่ได้ใช้ระบบแปรงดูด แต่ใช้ระบบลมดูดฝุ่นแทน
- ใช้งานง่ายมาก การใช้งานไม่มีอะไรซับซ้อน บนตัวเครื่องมี ปุ่มเริ่ม/หยุดการทำงาน แค่ปุ่มเดียว นอกนั้นควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล ที่ก็มีอยู่ไม่กี่ปุ่ม เข้าใจง่ายดี
- มีช่องเสียบไฟตรงกับอะแดปเตอร์ ที่ตัวเครื่อง สามารถชาร์จไฟเข้าเครื่องโดยตรง เผื่อกรณีแท่นชาร์จเสีย ชำรุด ลืมเอามาด้วย หรือ สูญหาย
- ค่าบำรุงรักษาถูกลง เพราะไม่ได้ใช้ระบบแปรงกวาดหลัก ไม่ต้องกลัวว่ามันจะชำรุดเสียหายแล้วต้องซื้อหรือเปลี่ยน ให้เสียเงินเพิ่ม
- มีระบบปรบมือหาตำแหน่งเครื่อง หรือ “Clap Response Function” ใช้การปรบมือครั้งเดียว เพื่อเรียกหาเครื่อง ในกรณีไปจอดดับ แบตเตอรี่หมด อยู่ที่ไหน โดยมันจะส่งเสียงตอบกลับทันที ที่ปรบมือ (สงสัยใช้หลักการเรียกสัตว์เลี้ยง แปลกแต่จริง แต่ดีงามมาก)
- เดินทางกลับแท่นชาร์แม่นยำ ไม่หลงทาง เกือบ 100% ที่กลับแท่นชาร์จได้อย่างถูกต้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการจัดข้าวของภายในห้อง เราให้เป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยเช่นกัน
ข้อเสีย 🙁
- สามารถดูดฝุ่นได้อย่างเดียว ไม่สามารถถูพื้นทั้งแบบแห้ง และ แบบเปียก ได้
- ไม่มีแปรงกวาดช่วยในการตีฝุ่นเข้าเครื่อง แต่ใช้ระบบลมในการดูดฝุ่นเข้าไปเก็บในตัวเครื่อง (แต่จากการทดสอบพบว่า ความสะอาดพอกันกับ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้แปรงกวาดตีฝุ่นเข้าเครื่องเลย)
- ไม่มีที่เก็บสายไฟหลังแท่นชาร์จ อาจทำให้ระเกะระกะรอบๆ ได้ ต้องพับม้วนเก็บสายไฟให้ดีๆ มิเช่นนั้นเครื่องอาจติดได้
- ไม่สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้าเป็นรายวัน (Daily Cleaning Schedule) ได้ สามารถตั้งได้แค่ 24 ชั่วโมงล่วงหน้า จากการส่งคำสั่งเท่านั้น (ถ้าต้องการความสามารถนี้ อาจจะต้องดูรุ่นที่สูงกว่าอย่าง Philips SmartPro Active FC8820)
- ไม่มีแปรงทำความสะอาดเครื่อง มาให้ ต้องหาแปรงปัด หรือ แปรงสีฟันเก่าๆ มาใช้ทำความสะอาดเครื่องเอง