webOS บน สมาร์ททีวี LG
ในบทความนี้จะมากล่าวแนะนำถึง เทคโนโลยี “webOS” ว่ามันคืออะไร และ มันมีดีอย่างไร เปลี่ยนการใช้งานสมาร์ททีวี ที่หลายคนว่าใช้งานยาก ให้กลับมาใช้ง่ายๆ ซิมเปิ้ลๆ ได้อย่างไร เชื่อว่าในปัจจุบัน มีหลายคนคงจะเคยใช้ โทรทัศน์รูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้แค่ใช้ดูได้แค่ทีวีอย่างเดียวแล้ว มันยังสามารถใช้โทรทัศน์ เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกมส์ โหลดแอพฯ ดูรูปภาพ เปิดคลิปวีดีโอ ได้ ซึ่งโทรทัศน์ประเภทนี้เขาจะเรียกว่า “สมาร์ททีวี (Smart TV)” แต่บางคนเรียกว่า คอนเนคทีวี (Conneted TV) หรือ ไฮบริดทีวี (Hybrid TV)
แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ยังมีคนอีกหลายคน ไม่รู้ว่าสมาร์ททีวี ที่ใช้อยู่มันเป็นอย่างไร และ หาประโยชน์ในการใช้สอยจากมันได้อย่างไร ซึ่งจากการทำแบบสำรวจสอบถามออกมาพบว่า มีผู้ใช้งานกว่า 53% ที่ไม่รู้จักความสามารถที่มีอยู่ของสมาร์ททีวี
ซึ่งหากย้อนหลังไปในอดีต สมาร์ททีวี ได้เริ่มมีการคิดค้น และ ริเริ่มพัฒนามาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 แต่ได้เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค และ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มาแรง อยู่ประมาณปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา แต่เมื่อนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนอีกกว่า 75% ที่คิดว่าการใช้งาน สมาร์ททีวี มีความยุ่งยากเกินไป และไม่ขอยุ่งกับมัน จึงทำให้เหมือนกับคนเหล่านั้นเสียเงินไปฟรีๆ โดยเปล่าประโยชน์
จะว่าไปตัวผมเองที่เป็นนักเล่นคอมพิวเตอร์ เปิดเว็บ รวมไปถึง โซเชียลเน็ตเวิร์คตัวพ่อ เหมือนกัน แถมก็ยังมี สมาร์ททีวีของ LG อยู่ที่คอนโดมิเนียม อีกหนึ่งเครื่อง แต่ขอสารภาพตามตรงแบบลูกผู้ชายเลยว่า ไม่ค่อยได้ใช้สมาร์ทฟังก์ชั่น ที่มีอยู่ในสมาร์ททีวี อาทิเช่น เล่นเฟสบุ๊ค หรือ เล่นอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บเบราว์เซอร์ บนสมาร์ททีวี สักเท่าไหร่เลย
สาเหตุเนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาจะ คิดในใจอยู่เสมอว่า ถ้าอยากเล่นเน็ต เล่นเฟสบุ๊ค ก็เปิดบนคอมพิวเตอร์พีซี หรือ เล่นบนมือถือ ดีกว่า ส่วนสมาร์ททีวี ที่มีอยู่นั้น ก็เอาไว้ใช้ดูทีวี อย่างช่อง 3 5 7 9 11 ThaiPBS หรือแม้แต่ ทีวีดิจิตอล และ เปิดแผ่นหนังดีวีดี บลูเรย์ เท่านั้น แต่เหตุผล ส่วนตัวของผม จริงๆ แล้วก็ ไม่ได้คิดว่าสมาร์ททีวี คิดว่ามันยุ่งยากหรืออะไร เพียงแต่รู้สึก “ไม่ชิน” กับการใช้งานมัน แค่นั้นเอง เพราะคิดอยู่ตลอดว่า คอมพิวเตอร์ เอาไว้เล่นเน็ต ทีวีก็เอาไว้ดูทีวี อย่างเดียว เท่านั้น และจากที่สอบถามคนรอบข้าง ก็พบว่ามีคนที่เป็นแบบผมไม่น้อยเลยทีเดียว
บทความนี้จึงขอนำเสนอเรื่องของ webOS ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มันเปลี่ยนสมาร์ททีวี ที่ว่าใช้งานยากๆ ให้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนได้อย่างไร ซึ่งรีวิวนี้เป็นรีวิวที่ยาวเหยียด จึงจัดเป็นเมนูสั้นๆ ให้ได้เลือกกันว่าอยากอ่านหัวข้อไหน จะได้ข้ามไปอ่านได้เลย
- ได้โทรทัศน์ LG Smart TV 32LB650T พร้อม WebOS มารีวิว
- เทคโนโลยี WebOS คืออะไร ?
- แกะกล่องทีวี LG Smart TV 32LB65 พร้อม webOS
- เปิดเครื่อง LG Smart TV 32LB65 ใช้งานจริง
- ทดสอบใช้ webOS จริงๆ
- LG Store แหล่งรวม webOS แอพพลิเคชั่น
- เล่นอินเตอร์เน็ตผ่าน webOS
- ดูทีวี 3 มิติ จาก โทรทัศน์ LG Smart TV รุ่น 32LB650T
- บทสรุปการใช้งาน webOS บน LG Smart TV
ทำไมถึงต้อง จอมอนิเตอร์ LG และ โทรทัศน์ LG ?
ที่บ้านของตัวเอง ได้ใช้สินค้าของ LG มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว (ไม่ได้อวยนะ รูปประกอบเป็นหลักฐานด้านบน) โดยเริ่มจากการซื้อจอคอมพิวเตอร์ LCD ขนาด 15 นิ้ว รุ่น L1520B มาใช้ก่อน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้ ค.ศ. 2014 (ผ่านมา 11 ปีแล้ว) มันยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่ และ ยังไม่ได้เคยเอาไปซ่อม หรือ เข้าศูนย์บริการ เลยแต่อย่างใด จึงติดใจแบรนด์นี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ เพราะความทนทาน อึด ของมันนี่เอง
และหลังจากนั้นมาปี ค.ศ. 2009 ก็ได้ซื้อจอ LCD ขนาด 21.5 นิ้ว ของ LG มาอีกตัวซึ่งเป็นรุ่น L227WTG ปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ แต่ยอมรับว่ารุ่นแรก (15 นิ้ว) ดีกว่า เพราะขณะนี้รุ่นนี้เวลากดปุ่มเปิดจอ อาการ มันจะกระพริบ กระพริบ อยู่นั่นแหละ แต่สัญญาณภาพไม่มาสักที ต้องรอหลายนาที กว่าสัญญาณภาพจะมา ซึ่งส่วนมากจะเป็นเฉพาะตอนเปิดครั้งแรกของวันใหม่ เท่านั้น
พอย้ายมาอยู่คอนโดมิเนียม ก็ได้ไปซื้อโทรทัศน์ แบบจอแบน ที่เป็นสมาร์ททีวี ในประเภท LCD LED ของ LG รุ่น 42LM7600 มาใช้ที่ห้องอีกเครื่อง ซึ่งตัวนี้เป็นขนาด 42 นิ้ว ก็ปรากฏว่าใช้งานได้ดี และก็ไม่มีปัญหาอะไร ด้วยความที่เป็นสมาร์ททีวี ดังนั้นเครื่องนี้จึงมีความสามารถในการต่ออินเตอร์เน็ตได้ มีแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดและติดตั้ง ลักษณะคล้ายกับโทรศัพท์มือถือ ที่มีการเรียกว่า สมาร์ทโฟน นั่นเอง แต่ว่า ก็ไม่ค่อยได้เล่นหรือใช้ความสามารถจากสมาร์ททีวี ที่มีอยู่สักเท่าไหร่นัก (สาเหตุที่ทำไมไม่ใช้นั้น ได้กล่าวมาแล้ว ในหัวข้อด้านบน) ซึ่งจากที่กล่าวมาทั้งหมด ซื้อเองทั้งนั้น ไม่ได้ได้ฟรีเลย
ได้โทรทัศน์ LG Smart TV 32LB650T พร้อม WebOS มารีวิว
อยู่มาวันหนึ่ง ผมก็มีโอกาสได้รับสินค้าจาก LG มารีวิว หลังจากที่ตอนแรก รีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น LG HOM-BOT รุ่น VR5906LM มาแล้ว เมื่อปีก่อน ที่คอนโดฯ ของตัวเอง อาจจะเป็นเพราะชะตาฟ้าดิน หรือ โชคช่วยอะไรก็สุดแท้แต่ ที่ผมได้ถูกคัดเลือกให้มีโอกาสรีวิวสินค้าจาก LG และ ด้วยความที่ตัวเอง มีความถนัด บวกกับ คุ้นเคยกับสินค้าจากแดนดิมจิ ประเทศเกาหลีใต้ อย่าง LG อยู่แล้ว จึงรู้สึกตื่นเต้น และดีใจมากๆ ที่ได้ของใหม่ๆ ของแบรนด์เขามารีวิว
ซึ่งสินค้าที่ได้มารีวิว ตัวนี้เป็น โทรทัศน์ LG Smart TV รุ่น 32LB650T ซึ่งแน่นอน เป็นสมาร์ททีวีอีกตัวนึง และที่สำคัญคือโทรทัศน์ตัวนี้ ได้พ่วงเอาเทคโนโลยี ระบบปฏิบัติการ (Operating System) ที่ใช้ชื่อเรียกว่า “WebOS” ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการบน LG สมาร์ททีวี ใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งถูกปล่อยออกมา เมื่อช่วงต้นปี ค.ศ. 2014 ซึ่งได้ข่าวว่ามันใช้งานง่ายมากๆ
แค่นั้นยังไม่พอ มันยังมีความสามารถในการดูทีวีดิจิตอล ของบ้านเราได้ แบบไม่ต้องซื้อกล่องทีวีดิจิตอล มาเพิ่มเติมอีกด้วย เรียกได้ว่า เสียบสายจากเสาอากาศเข้าตรงถึงทีวี พร้อมดูทีวีดิจิตอลได้เลยทันที
เทคโนโลยี WebOS คืออะไร
ในส่วนนี้จะขอแนะนำถึง เทคโนโลยี ของ ระบบปฏิบัติการ เว็บโอเอส (WebOS) ที่มันได้ถูกเข้ามาติดตั้ง เป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานหลักของ โทรทัศน์ LG ที่ผมได้มารีวิวตัวนี้ ซึ่งเจ้า WebOS นั้นถูกจัดเป็น ระบบปฏิบัติการ ชนิดหนึ่ง ที่ได้นำส่วนสำคัญหรือพื้นฐานหลักๆ มาจากระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux Kernel-Based) นั่นเอง
ก่อนจะมาเป็น WebOS
ซึ่งเจ้า WebOS นั้น มันเป็นระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างที่จะพเนจร สาเหตุเพราะได้เปลี่ยนเจ้าของมาอยู่หลายเจ้า อยู่เหมือนกัน แรกเริ่มเดิมทีคือ WebOS ได้ถูก พัฒนาขึ้นเริ่มต้นจาก บริษัท ปาล์ม (Palm Inc.) หลายคนหากเป็นเด็กยุคใหม่ๆ ที่เกิดหลังช่วงประมาณ ค.ศ. 1993 อาจจะอ่านแล้วงงๆ แต่ถ้าใครเป็นคนเกิดในยุคก่อนหน้านี้ บอกว่าเครื่อง ปาล์มวี (PalmV) อะไรพวกนี้จะร้องอ๋อ ขึ้นมาทันที
เอาเป็นว่าขอพูดถึงเจ้าเครื่องปาล์มกันสักเล็กน้อย ปาล์ม (Palm) เป็นบริษัทผู้ผลิต อุปกรณ์พกพาที่เป็นลักษณะของ พีดีเอ (PDA ย่อมาจาก Personal Digital Assistant) หากนึกไม่ออกก็ ลักษณะประมาณ เครื่องไอโฟน แอนดรอยด์โฟน ในปัจจุบันนี้แหละ แต่ความสามารถมันน้อยกว่ามาก เพราะมันทำได้แค่เป็นออแกไนเซอร์ (Organizer) ส่วนตัว ที่เอาไว้ใช้จดบันทึกส่วนตัว เก็บเบอร์โทรศัพท์ ปฏิทินนัดหมายต่างๆ มีเกมส์เล่นได้นิดหน่อย แต่ก็เป็นภาพขาวดำ และไม่หวือหวาอะไรมากมาย ซึ่งเจ้าเครื่องปาล์มนี้ จะใช้ระบบปฏิบัติการที่มีชื่อเรียกว่า ปาล์มโอเอส (Palm OS)
แต่ด้วยความที่ยุคประมาณ ปี ค.ศ. 2007 เป็นต้นมาเริ่มมี ระบบปฏิบัติการที่ใช้บนอุปกรณ์พกพา หรือ บนมือถือ หน้าใหม่ ที่ออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน บ้างก็ตายไป แต่บ้างก็โด่งดังแบบพลุแตก อาทิเช่น
- ไอโอเอส (iOS) เริ่มในปี ในปี ค.ศ. 2007
- แอนดรอยด์ (Android) เริ่มในปี ค.ศ. 2008
หลังจาก WebOS เกิดแล้ว
ด้วยเหตุนี้ สืบเนื่องจาก ระบบปฏิบัติการ Palm OS ที่พัฒนามาก่อนหน้านี้นานมาก (ก่อนปี ค.ศ. 2000) จึงเกิดความล้าหลัง และ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ มากมายจึงทำให้มันยากที่จะขยายตัว เพื่อพัฒนาต่อไปให้เทียบเท่ากับคู่แข่ง ที่เพิ่งเกิดใหม่ในตลาด ดังนั้นทางบริษัทปาล์ม จึงได้รื้อระบบ พร้อมพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ขึ้นมาเลย ชนิดที่เรียกว่า ยกเครื่องใหม่กันเลยทีเดียว โดยคลอดระบบที่มีชื่อว่า เว็บโอเอส (WebOS) นั่นเอง ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์ส (Open Source) ที่เปิดกว้าง และ เปิดโอกาส ให้ผู้พัฒนาคนอื่นๆ สามารถนำไปแกะซอสโค้ด พัฒนาต่อยอดไปได้อีกด้วยเช่นกัน
แต่หลังจากที่ บริษัทปาล์ม เปิดตัวระบบปฏิบัติการ WebOS ออกมาอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน เดชะบุญ ก็ดันมี บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard Company หรือตัวย่อเฮชพี “HP”) บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ และ ของโลก ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทปาล์ม ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2010 ซึ่งการซื้อขายนั้นมีมูลค่ามากกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 38,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว
หลังจากนั้น บริษัทปาล์ม จึงกลายเป็นส่วนนึงหรือหน่วยงานยูนิตนึงของบริษัท HP ไปโดยปริยาย และชื่อปาล์มก็ถูกกลืนหายไปทันที และแน่นอน WebOS ก็ถูกย้ายค่าย มาอยู่กับ บริษัท HP เป็นที่เรียบร้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งคราวนี้จะเรียกว่า “HP WebOS” ก็ได้ไม่ผิด โดยระบบปฏิบัติการตัวนี้ถือเป็นความหวังของ HP ที่จะถูกทำให้มันโด่งดังและทำให้เจ้าของบัลลังก์ อย่างไอโอส หรือแม้แต่ แอนดรอยด์ สั่นสะเทือน ซึ่งมันจะถูกนำเข้าไปติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ของ HP ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ของ HP ทั้งหมด อาทิเช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เน็ตบุ๊ค ต่างๆ
HP ประกาศหยุดพัฒนา WebOS และ อุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมด
แต่ด้วยไทม์มิ่ง หรือ ช่วงเวลา ที่มาช้าไป (หรือเปล่าไม่ทราบ) หลังจากที่ทาง HP ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทปาล์ม ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.2011 ทาง HP ได้ประกาศหยุดพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ ระบบปฏิบัติการ WebOS ทั้งหมดในสายการผลิต อาทิเช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือแม้แต่ แท็บเล็ต นับเป็นข่าวช็อค ที่เกิดขึ้นในวงการมือถือของโลก เลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน ทาง HP ก็ได้มีความพยายามโหมการโปรโมต ประชาสัมพันธ์ เพื่อเปิดตัวอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ อาทิเช่น มือถือ แท็บเล็ต ที่ใช้ WebOS แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ยอดขาย จำนวนผู้ใช้งานไม่ได้ทะลุไปตามเป้าที่ได้วางเอาไว้ ถึงขั้นมีการลดล้างสต๊อก เทกระจาด ขายของมือถือ แท็บเล็ต ราคาถูก ในห้างไอทีชื่อดังอย่าง เบสท์บาย (Best Buy) ในสหรัฐอเมริกา กันเลยทีเดียว
มีนักวิเคราะห์หลายคนให้ความคิดเห็นว่า เรามีมหาอำนาจของระบบปฏิบัติการสำหรับมือถืออยู่แล้วอย่าง ไอโอเอส (iOS) และ แอนดรอยด์ (Android) ซึ่งในขณะนั้นก็ได้มีจำนวนตัวเลขผู้ใช้งานที่สูงโด่งมากๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่คนจะเปลี่ยนมาใช้ระบบปฏิบัติการบนมือถือ หน้าใหม่ น้องใหม่อย่าง WebOS อีก ซึ่งไม่ใช่แค่ WebOS เท่านั้น แต่ BlackBerry OS ที่ตกอยู่ในชะตากำเดียวกัน ก็อยู่ในสถานะที่ย่ำแย่เช่นเดียวกันอีกด้วย
แล้ว WebOS จะไปในทิศทางไหนต่อ ?
หลังจากนั้นก็มีข่าวลือต่างๆ นานา ออกมามากมาย ว่ามีบริษัทไอที ผู้ผลิตมือถือ แท็บเล็ต ต่างๆ สนใจที่จะซื้อเจ้า WebOS นี้ไปพัฒนาต่อยอด ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมี ซัมซุง (Samsung) ผู้พัฒนาชื่อดังจากเกาหลีใต้ ที่กำลังขับเคี่ยวกับแอปเปิล อย่างเมามันส์ ก็ร่วมตกเป็นข่าวกับเขาด้วยเช่นกัน ว่าสนใจที่จะซื้อ WebOS เอาไปไว้ในครอบครอง แต่หลังจากนั้นไม่นานหลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็ออกมาประกาศชัด ว่าไม่มีการซื้อขายอย่างแน่นอน
LG ผู้ชุบชีวิตใหม่ webOS
และที่สุด WebOS ก็สามารถหาคู่ครองรายใหม่ได้สำเร็จ นั่นคือแบรนด์ สินค้าไอที และ เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างแอลจี (LG) นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ถือว่าไกลจาก Samsung เท่าไหร่นัก คราวนี้มาทาง LG ได้ปรับเปลี่ยนชื่อของมัน โดยทำการแก้ที่ชื่อตัวอักษรตัวแรก จากตัว “W” พิมพ์ใหญ่ ให้กลายเป็นตัว “w” แบบ ตัวอักษรพิมพ์เล็กแทน เลยเขียนเป็น “webOS” นั่นเอง
หลังจากที่ LG ได้ศึกษาข้อมูล และ เล็งเห็นถึงผลเสีย ที่เกิดขึ้นจากการนำเอาเจ้าระบบปฏิบัติการตัวนี้ไปใส่เอาไว้ใน มือถือ ที่มีการแข่งขันสูงและมีเจ้าตลาดหลายๆ เจ้าดักรออยู่แล้ว จึงเบนเข็มเอาเจ้า webOS ตัวนี้ไปใส่ไว้ใน เครื่องสมาร์ททีวี แทน สมาร์ทโฟน นั่นเอง พูดง่ายๆ คือยกเครื่องเจ้าระบบปฏิบัติการตัวนี้เอาไปใส่บนโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตัวเองถนัด มีชื่อเสียงดีอยู่เป็นทุนแล้ว ภายใต้แนวคิด “Make TV Simple Again” หรือการให้ การใช้งาน สมาร์ททีวี นั้นกลับมาเป็นเรื่องง่ายอีกครั้ง หลังจากที่หลายแบรนด์ หลายค่ายเปิดตัวมาแล้ว ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร
นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการเสริมจุดเด่น สร้างจุดแข็ง ให้กับแบรนด์ของตัวเองยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การตลาด ที่ใช้ได้เลยทีเดียว ซึ่งล่าสุดได้ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน CES2014 ที่เมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อตอนต้นปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา
สรุปคือ ระบบปฏิบัติการ WebOS นี้ถูกเปลี่ยนมือ ผ่านเจ้าของ มาแล้วทั้งหมด 3 เจ้าด้วยกันคือ ปาล์ม (Palm Inc.) เฮชพี (HP) และ แอลจี (LG) นั่นเอง และหวังว่า LG จะดูแลมัน และ ใช้ประโยชน์จากมันอย่างดีที่สุด ไม่ให้หลุดมือหรือเปลี่ยนเจ้าของไปไหนได้อีก