พัดลมไร้ใบพัด Windamp

Windamp Bladeless Fan Real
พัดลมไร้ใบพัด Windamp

รีวิวนี้เป็นรีวิวเกี่ยวกับพัดลม ถ้าหากนึกถึง “พัดลม (Fan)” เราคงจะนึกถึงพัดลมที่มีใบพัดใบใหญ่ๆ ที่เอาไว้ดูดลมจากข้างหลังเครื่องผ่านตะแกรงซี่ใหญ่ๆ มาปล่อยออกที่ข้างหน้าเครื่อง แต่แบบนั้นจะดูธรรมดาไปหน่อย โดยรีวิวบนเว็บไซต์ Thanop.com ฉบับนี้เป็นการรีวิว พัดลมไร้ใบพัด Windamp จากประเทศเกาหลี เห็นแบบนี้สะกดไม่ผิดแน่นอน (อันนี้คือ “Wind” ที่แปลว่าลม) อย่าไปสับสนกับ โปรแกรมฟังเพลง Winamp ชื่อดังบน PC ที่หยุดพัฒนาไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปี ค.ศ.2013 (เพราะอันนั้นไม่มีตัว “d” ตรงกลาง)

สินค้าตัวนี้ ยกเลิกจำหน่าย จากทางผู้นำเข้าแล้ว !

ด้วยความที่ Windamp มันเป็นพัดลมที่ไม่มีใบพัด (Bladeless) มันจึงมีคุณสมบัติเด่นคือ ช่วยป้องกันเด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยง ในการเอานิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายแหย่เข้าไปในใบพัด (ก็มันเพราะมันไม่มีใบพัดให้เห็นอยู่ด้านนอกนั่นเอง)

นอกจากนี้แล้ว พัดลมไร้ใบพัด Windamp ยังเป็นพัดลมที่มีดีไซน์สวย สามารถวางเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่งบ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถปรับความแรงของพัดลมได้มากถึง 8 ระดับ และยังปรับองศาหมุนซ้ายขวา หรือเงยขึ้นหรือก้มลงเหมือนกับพัดลมทั่วๆ ไปได้อีกด้วย

ด้านล่างนี้เป็นเมนูลัด ที่ให้คุณได้สามารถเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ของบทความรีวิวพัดลมไร้ใบพัด Windamp ฉบับนี้ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  1. พัดลมไร้ใบพัดคืออะไร ?
  2. รู้จักกับพัดลมไร้ใบพัด Windamp
  3. แกะกล่องผลิตภัณฑ์
  4. อุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องผลิตภัณฑ์
  5. ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของตัวเครื่อง
  6. คุณสมบัติ และ ความสามารถของตัวเครื่อง
  7. การประกอบเครื่องเพื่อใช้งาน
  8. สำรวจรอบๆ ตัวเครื่อง
  9. คำถามที่ต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน
  10. บทสรุปการใช้งาน

ด้านล่างนี้เป็นคลิปวีดีโอรีวิวพัดลมไร้ใบพัด Windamp อย่างละเอียดยิบ ทั้งอุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่องผลิตภัณฑ์ รายละเอียดส่วนประกอบตัวเครื่อง สาธิตวิธีการติดตั้งเพื่อใช้งาน ทดสอบความแรงของพัดลม และอัตราการกินไฟ รับชมกันก่อนได้เลย …

พัดลมไร้ใบพัดคืออะไร ? (What is Bladeless Fan ?)

พัดลมไร้ใบพัด (Bladeless Fan) ถือเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีหนึ่งของพัดลม ที่ทำให้ตัวเครื่องพัดลม สามารถปล่อยลมออกมาได้จากตัวเครื่องโดยที่เราไม่เห็นใบพัดใดๆ ปรากฏอยู่ข้างนอกเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวใบพัดมันอยู่ข้างในตัวเครื่องนั่นเอง นวัตกรรมนี้แรกเริ่มเดิมทีเป็นแนวคิดของ แบรนด์โตชิบา (Toshiba) จากประเทศญี่ปุ่น ภายหลังก็มีแบรนด์ดังอย่าง ไดสัน (Dyson) จากสหราชอาณาจักร ที่มาแรงแซงทางโค้ง ขึ้นแท่นเป็นผู้นำเทรนด์พัดลมไร้ใบพัดเลยก็ว่าได้

โดยหลักการการทำงานของพัดลมไร้ใบพัดคือ มันจะซ่อนมอเตอร์พัดลมพร้อมใบพัดขนาดเล็ก อยู่ภายในตัวเครื่อง ซึ่งก็มีดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็เป็นวงรี วงกลม สี่เหลี่ยม อะไรก็ตามแต่

Windamp Bladeless Fan
พัดลมไร้ใบพัด Windamp

ขณะที่จำนวนใบพัดที่อยู่ภายในก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบเช่นกัน อาจจะมี 1 ใบพัด ไปถึง 4 ใบพัดเลยก็เป็นได้แต่โดยหลักๆ แล้วก็จะมีช่องอากาศเข้า และก็ช่องอากาศออก หลักการจะคล้ายๆ กับหุุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่จะมีมอเตอร์พัดลมดูดฝุ่น ที่คอยดูดลมพร้อมกับฝุ่นเข้าไปในตัวเครื่อง และปล่อยกลับออกมาสู่ภายใน โดยจะมีแผ่นกรองอากาศคอยดักฝุ่นเอาไว้

ประโยชน์หลักๆ ที่เป็นรูปธรรมของการใช้พัดลมไร้ใบพัด ก็คือ ปลอดภัยกับเด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยง ในการเอานิ้วหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปแหย่ จนได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

ขณะที่ประโยชน์ด้านนามธรรมก็จะเป็นเรื่องของความสวยงาม เพราะพัดลมไร้ใบพัด จะมีดีไซน์ที่เป็นรูปทรงแปลกๆ ออกมามากมาย อย่าง ทรงกลม ทรงรี ทรงเหลี่ยม และอื่นๆ (แต่ตรงกลางไม่มีใบพัดใดๆ ดูโล่งโปร่ง) เพราะนวัตกรรมพัดลมไร้ใบพัดได้ลบข้อจำกัดทางกายภาพอย่างใบพัดที่ต้องเป็นทรงกลมออกไป จึงทำให้มีความแปลกใหม่ สวยงาม ดูล้ำสมัย เรียกคำถามจากผู้คนที่พบเห็นได้บ่อยครั้งว่า “อุปกรณ์ชิ้นนี้คืออะไร ?

ข้อเสียของพัดลมไร้ใบพัด หลักๆ เห็นจะเป็นเรื่องของความแรงของพัดลม ที่วัดกันปอนด์ต่อปอนด์อาจจะแรงสู้ พัดลมทั่วไปที่เห็นใบพัดอยู่ข้างนอกไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกายภาพ ที่จะต้องซ่อนใบพัดขนาดเล็กอยู่ภายในตัวเครื่อง

รู้จักกับพัดลมไร้ใบพัด Windamp

พัดลมไร้ใบพัด Windamp ย่อมาจากคำว่า “Wind Amplifier” ซึ่งคำว่า “Amplify (แอมพลิฟาย)” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ขยาย” ปกติคำนี้จะนิยมใช้กันในวงการเครื่องเสียงมากกว่า แต่ตัวนี้ทางผู้ผลิตเขาอาจจะมาเล่นคำใส่ในพัดลมไร้ใบพัด ถ้าจะแปลกันตรงๆ ก็แปลว่า “เครื่อขยายลม” นั่นเอง (จริงๆ มันก็คือพัดลมนะแหละ)

Windamp Bladeless Fan Logo
โลโก้ผลิตภัณฑ์ พัดลมไร้ใบพัด Windamp

พัดลมไร้ใบพัด Windamp สินค้าจดสิทธิบัตร (Patent) มากมาย เป็นหนึ่งในโปรเจคระดมทุนจากผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนทั่วไป (Crowdfunding) ผ่านทาง เว็บไซต์ระดมทุนออนไลน์ รายใหญ่ของโลก อย่าง Indiegogo.com โดยเขาเริ่มแนวคิดและพัฒนากันมาตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ.2012 จนมาเริ่มวางจำหน่ายกันจริงๆ จังๆ ในปลายปี ค.ศ.2015 (ใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่าๆ) ตัวเครื่องผลิตจากประเทศเกาหลีใต้ (Made in Korea)

นอกจากแล้วระหว่างการพัฒนาสินค้า ก็ยังมีการก่อตั้งบริษัทขึ้นอย่างถูกต้อง เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2014 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (Seoul, South Korea) ตัวสินค้ามีจำหน่ายอยู่มากมาย หลายประเทศทั่วโลก แม้แต่บนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ชื่อดังของโลกอย่าง Amazon.com ก็ยังมีจำหน่าย แถมเครื่อง Windamp นี้ก็ยังถูกนำไปแสดงและเข้าร่วมในงานแฟร์ต่างๆ มากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น

  1. งานแสดงเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลก (IFA) ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
  2. งานกวางโจวแฟร์ (Canton Fair) เมืองกวางโจว ประเทศจีน
  3. งานแสดงสินค้าในครัวเรือน (Houseware Fair) เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

และสำหรับในประเทศไทย บริษัทผู้ที่นำเข้าและจัดจำหน่ายพัดลมไร้ใบพัด Windamp ก็คือ บริษัท ไทยอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุ๊ป จำกัด แต่เพียงผู้เดียว

อ้างอิงจาก : ข้อมูลนำมาจากเว็บไซต์ http://windamp.co.kr/about/ และ https://www.indiegogo.com/projects/windamp-why-step-outside-to-feel-the-breeze#/

แกะกล่องกล่องผลิตภัณฑ์ พัดลมไร้ใบพัด Windamp

Windamp Bladeless Fan Box
กล่องผลิตภัณฑ์พัดลมไร้ใบพัด Windamp

กล่องผลิตภัณฑ์ พัดลมไร้ใบพัด Windamp มาด้วยขนาดมิติ ยาว (L) 415 x กว้าง (W) 260 x สูง (H) 463 มิลลิเมตร (วัดเองด้วยตลับเมตร) และมี น้ำหนักสินค้ารวมกล่อง (Gross Weight) อยู่ที่ประมาณ 5.8 กิโลกรัม (ชั่งเองด้วยที่ชั่งน้ําหนักดิจิตอล)

ด้านหน้ากล่อง : เป็นรูปเครื่อง Windamp วางอยู่ในห้องนอนบนโต๊ะข้างเตียงนอน พร้อมเขียนสโลกแกนสั้นๆ ว่า “Gentle Breeze, Sweet Dream” และ “Sleep well with Windamp at your own space” มีการชูจุดเด่นของเครื่องว่าเสียงเงียบ ZZzz …

ด้านหลังกล่อง : มีตัวเครื่องชัดเจนวางอยู่ด้านขวามือ ขณะที่ด้านซ้ายเขียนบอกว่า”Wind Amplifying System” และ “Fresh Breeze, Refresh your life

ด้านซ้ายกล่อง : มีข้อมูลรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ในส่วนของ ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค พร้อมด้วยโลโก้กำกับคำแนะนำผลิตภัณฑ์มากมาย ถัดลงมาเป็นรายละเอียดรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ ล่างสุดมีเขียน “Made in Korea, Designed by Windamp Korea” ถือเป็นการระบุชัดเจนว่าตัวเครื่องผลิตจากประเทศเกาหลีแน่นอน

ด้านขวากล่อง : บอก คุณสมบัติและความสามารถของตัวเครื่อง

Windamp Bladeless Fan Box Underside
ใต้กล่องผลิตภัณฑ์ พัดลมไร้ใบพัด Windamp

อุปกรณ์ในกล่องผลิตภัณฑ์ พัดลมไร้ใบพัด Windamp

Windamp Bladeless Fan Box Unpacked
เมื่อเปิดฝากล่องผลิตภัณฑ์ออก จะพบกับคำแนะนำให้คว่ำกล่องลง แล้วตามด้วยยกตัวกล่องขึ้น

เมื่อแกะกล่องผลิตภัณฑ์ออกมาแล้ว จะพบกับคำแนะนำว่า เราจะต้องคว่ำตัวกล่องลงพื้น แล้วค่อยดึงตัวกล่องขึ้นในแนวตั้งอีกทีหนึ่ง โดยเมื่อดึงขึ้นมาแล้ว เราจะเห็นส่วนของตัวเครื่อง Windamp พร้อมฐานของมันถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุที่ทำมาจากกระดาษแข็งรีไซเคิลขึ้นรูป ที่มีห่อพลาสติกหุ้มอยู่ชั้นในอีกทีหนึ่ง

ในขณะที่ ชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน และรีโมทคอนโทรล (พร้อมถ่านแบตเตอรี่) ก็ถูกจัดเก็บอยู่ในกล่องกระดาษแข็งขนาดเล็ก พร้อมห่อด้วยซองพลาสติกใสอีกชั้น

และภาพข้างล่างนี้คือคืออุปกรณ์ทั้งหมด ให้มาในกล่องผลิตภัณฑ์พัดลมไร้ใบพัด Windamp

Windamp Bladeless Fan Component
อุปกรณ์ทั้งหมดที่ให้มาภายในกล่องผลิตภัณฑ์ Windamp

1. Body of Unit (ส่วนของตัวเครื่อง)

ส่วนของตัวเครื่องถือเป็นหัวใจสำคัญของพัดลมไร้ใบพัด Windamp ตัวนี้เลยก็ว่าได้ เพราะระบบทุกอย่างจะอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มควบคุมเครื่อง รวมไปถึง ระบบประมวลผลต่างๆ ระบบพัดลมทั้ง 4 ชุด (4 มุม) ระบบมอเตอร์หมุนส่ายซ้ายขวา เป็นต้น

ลักษณะส่วนของตัวเครื่อง จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมขอบมน ตรงกลางเป็นช่องโหว่ ด้านนอกเป็นสีขาวมีช่องลมเข้าอยู่ทั้ง 4 มุม (บน ล่าง ซ้าย ขวา) ขณะที่ ขอบด้านในเป็นสีดำด้าน โดยประกอบไปด้วยพัดลมขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ทั้ง 4 มุม ถ้ามองเข้าไปดีๆ จะเห็น (ดูรายละเอียดส่วนประกอบของตัวเครื่อง)

2. Foot of Unit (ส่วนของฐานเครื่อง)

Windamp Bladeless Fan Foot
ส่วนของฐานเครื่อง (Foot of Unit)

เป็นส่วนที่วางติดกับพื้นอยู่กับที่ จะหมุนไม่ได้ โดยด้านบนของฐานเครื่องจะมีข้อต่อหมุนส่าย (Oscillated Swivel Joint) ที่จะอยู่ระหว่างส่วนของตัวเครื่อง และส่วนของฐานเครื่อง เพื่อให้ตัวเครื่องสามารถหมุนส่ายซ้ายขวา ได้อย่างอิสระ

และข้างใต้ส่วนของฐานเครื่อง จะมีเทปกันลื่น (Anti-Slip Tape) ทั้งหมด 4 ชิ้น แปะอยู่รอบๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลื่นไถลออกไปไหน

3. User Manual (คู่มือการใช้งาน)

Windamp Bladeless Fan User Manual
คู่มือการใช้งานภาษาเกาหลี (Korean User Manual)

เมื่อแกะกล่องออกมาครั้งแรกรู้สึกตกใจอยู่เหมือนกันเมื่อ คู่มือการใช้งานที่ได้มาเป็นภาษาเกาหลีล้วนๆ แต่เมื่อสอบถามไปยังตัวแทนจำหน่ายเขาได้ทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยออกมาแล้วในเวอร์ชั่นไฟล์ให้ดาวน์โหลดกัน

4. Remote Control (รีโมทคอนโทรล)

รีโมทคอนโทรล อุปกรณ์ควบคุมเครื่องระยะไกล มีขนาดมิติ 41.4 x 82.5 x 8.5 มิลลิเมตร ผลิตจากพลาสติก ABS (เหมือนกับตัวเครื่อง) ใช้ถ่านแบตเตอรี่แบบ CR2025 โดยมันมีปุ่มกดหลักๆ อยู่ทั้งหมด 4 ชุดด้วยกันคือ

  1. ON/OFF Button (ปุ่มเปิดปิดเครื่อง)
  2. Swing Button (ปุ่มควบคุมการหมุน)
  3. Timer Button (ปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่อง)
  4. Fan Speed Button (ปุ่มควบคุมความแรงของพัดลม – 8 ระดับ)

5. House Adapter Set (ชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน)

Windamp Bladeless Fan Adapter Set
ชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟ (Adapter Set) ของ พัดลมไร้ใบพัด Windamp

ชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้านสีขาว มาพร้อมกับสายไฟยาวประมาณ 2 เมตร สามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าได้ระหว่าง 100-240 โวลต์ (V) สามารถใช้งานได้กับทุกประเทศทั่วโลก เป็นหัวปลั๊กแบบกลม (อาจจะต้องมีหัวปลั๊กแปลงไฟด้วยในบางประเทศ) ผลิตโดยบริษัท Dogguan Guanjin Electronics Technology จากประเทศจีน

6. CR2025 Battery (ถ่านแบตเตอรี่แบบ CR2025) (ใส่อยู่ในรีโมทฯ แล้ว)

ถ่านแบตเตอรี่ทรงกลมแบนแบบ CR2025 หรือที่หลายๆ คนมักเรียกถ่ายประเภทนี้ว่า “ถ่านกระดุม” เป็นถ่านแบตเตอรี่แบบลิเธียม เอาไว้ใส่กับรีโมทคอนโทรล ซึ่งถ่านแบตเตอรี่ประเภทนี้หาซื้อได้ง่าย ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป

Windamp Bladeless Fan Remote Control Battery
ถ่านแบตเตอรี่ หรือถ่านกระดุมทรงกลมแบนแบบ CR2025 ที่แถมมาให้อยู่ภายในตัวรีโมทคอนโทรล แล้ว

สำหรับเครื่อง Windamp นี้ ถ่านแบตเตอรี่แบบ CR2025 ได้ถูกใส่อยู่ในตัวรีโมทคอนโทรลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีแผ่นพลาสติกใสคั่นตรงกลางระหว่างขั้วของรีโมทฯ กับตัวถ่านฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ถ่านหมดก่อนที่จะถึงมือผู้ใช้งานจริงๆ (อย่าลืมดึงแผ่นพลาสติกใสออกก่อน การเริ่มต้นใช้งาน)

ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของ พัดลมไร้ใบพัด Windamp

รายละเอียด
(Specification)
ขนาดมิติ
(Dimension)
กว้าง (W) 367 x ลึก (D) 308.5 x สูง (H) 419 มิลลิเมตร
น้ำหนักเครื่อง
(Net Weight)
ประมาณ 4.3 กิโลกรัม
ไฟเข้า
(Input)
AC 100-240V 50/60 Hz
ไฟออก
(Output)
24 วัตต์ (Watts)
12 โวลต์ (Volts) (DC)
2.0 แอมป์ (Amps)
อัตราการกินไฟ
(Power Consumption)
ความเร็วลม
(Wind Speed)
ระดับเสียงขณะนำงาน
(Noise Level)
ประมาณ 50 dB.

 

Windamp Bladeless Fan Foot Label
ฉลากข้อมูลจำเพาะของตัวเครื่อง (เป็นภาษาเกาหลี) ที่ส่วนของฐานเครื่อง บอกว่า เครื่องนี้กินไฟประมาณ 23 วัตต์ (Watts)

ความคิดเห็นส่วนตัว

“จากตารางการคำนวณค่าไฟที่อยู่ด้านบน แสดงให้เห็นว่าค่าไฟนั้นค่อนข้างที่จะเล็กน้อยกระจิริด เอามากๆ เพราะนี่คือค่าไฟต่อเดือนที่คุณต้องจ่าย สุดท้ายก็ไม่เกิน 5 บาท (ในกรณีที่เปิดไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง) เท่านั้น ดังนั้นไม่ต้องไปซีเรียสเลย”

คุณสมบัติ และ ความสามารถของพัดลมไร้ใบพัด Windamp

พัดลมไร้ใบพัด Windamp ไม่ได้แค่งามแต่รูปอย่างเดียว แต่มันยังมาพร้อมกับคุณสมบัติ และความสามารถ ต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

1. Baby and Pet Friendly (เป็นมิตรกับเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง)

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นคือ ด้วยความที่มันไม่มีใบพัด (เพราะว่าใบพัดถูกซ่อนเอาไว้อยู่ภายในตัวเครื่อง) มันจึงมีความปลอดภัยกับเด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยง ต่อการเอานิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายแหย่เข้าไปในใบพัด

Windamp Bladeless Fan Transparency Test
ทดสอบเอาแขนแหย่เข้าไปตรงกลาง ให้ดูว่า พัดลมไร้ใบพัด Windamp มันโล่งโปร่งจริงๆ

นอกจากนี้แล้วไฟฟ้าภายในเครื่องนั้นยังเป็นไฟฟ้าแรงดันต่ำอีกด้วย เพราะมันถูกแปลงไฟบ้าน จากกระแสสลับ (AC Power) เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC Power) ที่มีแรงดันไฟฟ้าภายในเครื่องเพียง 12 โวลต์ เท่านั้น ถือว่าต่ำมากๆ

2. ABS Plastic (ผลิตจากพลาสติก ABS)

ทั้งตัวเครื่องพัดลมไร้ใบพัด Windamp และรีโมทคอนโทรลของมัน ผลิตจากพลาสติกแบบ ABS (ย่อมาจากคำว่า “Acrylonitrile Butadiene Styrene”) พลาสติกชนิดนี้เป็นพลาสติกที่คุณสมบัติเหนียว ทนทาน แข็งแรง ทนต่อการกระแทก และความร้อนสูงได้ดี ที่สำคัญเปลี่ยนรูปร่างยาก (ถ้าไม่ไปทำมันตกแตกเสียก่อน)

นอกจากนี้แล้วเมื่อใช้ไปนานๆ สีก็ไม่เปลี่ยน ไม่ซีด ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงนำเอาพลาสติกประเภทนี้ มาทำ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หลายๆ ชนิดที่เรารู้จักกันดี นั่นเอง

3. Easy to Install and Care (ติดตั้งและดูแลง่าย)

การติดตั้งเพื่อใช้งาน มีอุปกรณ์หลักๆ ทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกัน ที่จะต้องนำมาประกอบเข้าด้วยกันได้แก่ ส่วนของตัวเครื่อง ส่วนของฐานเครื่อง และ ชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน เท่านั้น (ดูวิธีการประกอบและติดตั้งเครื่อง)

ในส่วนของการดูแลเครื่องก็แค่ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดรอบๆ ตัวเครื่องก็พอ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถอดใบพัดที่อยู่ข้างในตัวเครื่องออกมาทำความสะอาด ตัวใบพัดทำมาจากอลูมิเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติฝุ่นไม่เกาะอยู่แล้ว

4. Auto Timer (ตั้งเวลาปิดเครื่องล่วงหน้าได้)

ออปชั่นเสริม ที่ให้คุณได้สามารถตั้งเวลาปิดเครื่องล่วงหน้าอัตโนมัติได้ 1-8 ชั่วโมง ใช้ในกรณีที่เวลาเราต้องการที่จะปิดมันตอนเราหลับนอนไปแล้ว อะไรแบบนี้เป็นต้น

5. Remote Control (ควบคุมสั่งงานผ่านรีโมทคอนโทรล)

มีรีโมทคอนโทรล ให้มาเป็นออปชั่นเสริมด้วย ให้คุณได้ควบคุม และสั่งงาน คุณสามารถสั่งเปิดปิดเครื่อง หมุนส่ายซ้าย ส่ายขวา ตั้งเวลาปิดเครื่อง รวมไปถึงปรับความแรงของพัดลมทั้ง 8 ระดับ ได้ที่นี่

6. Seventy Degrees Oscillation and Thirty Degrees Tilt (หมุนส่ายซ้ายขวาได้สูงสุด 70 องศา และ แหงนขึ้นได้สูงสุด 30 องศา)

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นพัดลม ความสามารถหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การหมุนส่ายซ้ายขวา (Oscillation) และการแหงนขึ้น (Tilt) เพื่อกระจายลมให้เป็นวงกว้าง เพื่อไม่ให้ลมถูกเป่าออกไปยังจุดใดจุดหนึ่งเป็นเวลานานๆ เช่นเด็กเล็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองที่กำลังหลับนอน เพื่อลดความเสี่ยงต่อโอกาสการเป็นไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดศรีษะ (คำพูดยังกะโฆษณา)

ซึ่งพัดลมไร้ใบพัด Windamp ตัวนี้สามารถ หมุนส่ายไปทางซ้าย (←) หรือส่ายไปทางขวา (→) ได้สูงสุด 70 องศา และแหงนขึ้น (↑) ได้สูงสุด 30 องศา โดยจะต้องปรับเองด้วยมือ (ไม่สามารถปรับผ่านรีโมทคอนโทรลได้)

การประกอบเครื่องพัดลมไร้ใบพัด Windamp

การประกอบเครื่องเพื่อใช้งาน ก็ไม่ยากเลย เพราะอุปกรณ์หลักๆ ที่จะต้องนำมาประกอบเข้าด้วยกัน มีอยู่ทั้งหมด 3 อย่างคือ ส่วนของตัวเครื่อง ส่วนของฐานเครื่อง และ ชุดอะแดปเตอร์แปลงไฟบ้าน ขั้นตอนง่ายๆ ตามรูปภาพเลย

สำรวจรอบๆ ตัวเครื่องพัดลมไร้ใบพัด Windamp

มาดูส่วนประกอบของตัวเครื่องพัดลมไร้ใบพัดกันดูบ้าง จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย หลักๆ คือช่องอากาศเข้า และช่องอากาศออก พร้อมแผงควบคุมบนตัวเครืองด้านบน

  1. Control Panel and Indicator Light (แผงควบคุมบนตัวเครื่องแบบสัมผัส และ ไฟแสดงสถานะเครื่อง)
  2. Air Inlet (ช่องอากาศเข้า – มีทั้งหมด 4 ด้าน)
  3. Air Outlet (ช่องอากาศออก – มีทั้งหมด 4 ด้าน)
  4. Remote Control Infrared Sensor (เซ็นเซอร์รับสัญญาณอินฟราเรด จากรีโมทคอนโทรล)
  5. Foot of Unit (ส่วนของฐานเครื่อง)
  6. Tilt Swivel Joint (ข้อต่อหมุนเงย)
  7. Oscillated Swivel Joint (ข้อต่อหมุนส่าย)

การใช้งานพัดลมไร้ใบพัด Windamp

แผงควบคุมบนตัวเครื่อง จะมีปุ่มกดอยู่ทั้งหมด 4 ชุดหลักๆ ด้วยกัน โดยขอเรียงตามลำดับจาก ซ้ายสุด (ปุ่มที่ 1)ขวาสุด (ปุ่มที่ 4)

  • ปุ่มที่ 1 : ปุ่มเปิดปิดเครื่อง (ON/OFF Button)
  • ปุ่มที่ 2 : ปุ่มควบคุมการหมุน (Swing Button)
  • ปุ่มที่ 3 : ปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่อง (Timer Button) (“ปุ่ม +” และ “ปุ่ม –“)
  • ปุ่มที่ 4 : ปุ่มควบคุมความแรงของพัดลม (Fan Speed Button) (“ปุ่ม +” และ “ปุ่ม –“)
Windamp Bladeless Fan Control Panel
แผงควบคุมเครื่อง (Control Panel) มีทั้งหมด 4 ชุดหลักๆ

ความสามารถหลัก

  • กด “ปุ่มเปิดปิดเครื่อง (ปุ่มที่ 1)” ที่บริเวณส่วนของแผงควบคุมบนตัวเครื่อง จะได้ยินเสียงเช็คโน้ต “โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด” พร้อมกับพัดลมเปิดทำงานทันที (ความแรงของพัดลม ยังจะคงเป็นระดับเดียวกับที่เปิดไว้ครั้งล่าสุด)
  • ถ้าต้องการปิดเครื่องให้กดที่ “ปุ่มเปิดปิดเครื่อง (ปุ่มที่ 1)” อีกครั้งจะได้ยินเสียง “ที ลา ซอล ฟา มี เร โด” และพัดลมก็จะดับลงทันที
  • ถ้าต้องการปรับความแรงของพัดลม สามารถกดที่ “ปุ่มควบคุมความแรงของพัดลม (ปุ่มที่ 4)” โดยจะมีเครื่องหมาย + และ เพื่อปรับขึ้นหรือปรับลงได้ตามต้องการ
  • ถ้าต้องการตั้งเวลาปิดเครื่องล่วงหน้า สามารถกดที่ “ปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่อง (ปุ่มที่ 3)” ตรงตำแหน่งเครื่องหมาย + และ ขณะที่เครื่องกำลังทำงานอยู่ได้เลย
  • ถ้ากดที่ “ปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่อง (ปุ่มที่ 3)” หรือ “ปุ่มควบคุมความแรงของพัดลม (ปุ่มที่ 4)” (ไม่ว่าจะเป็น “ปุ่ม +” หรือ “ปุ่ม –“) ครั้งเดียว จะเป็นการแสดงค่าปัจจุบันที่ตั้งเอาไว้ แต่ถ้ากดครั้งที่ 2 ทันที (ภายในระยะเวลา 3 วินาทีหลังจากกดครั้งแรก) ก็จะเป็นการปรับค่าขึ้นหรือลงนั่นเอง (แต่ถ้าควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล ไม่ต้องกด 2 ครั้งแบบนี้)
  • ถ้าต้องการให้เครื่องส่ายไปทางซ้ายหรือขวาโดยอัตโนมัติ สามารถกดที่ “ปุ่มควบคุมการหมุน (ปุ่มที่ 2)” และถ้ากดซ้ำอีกครั้ง พัดลมจะหยุดหมุนที่ตำแหน่งปัจจุบันทันที ความแรงของพัดลมยังคงเป็นระดับเดียวกับที่เปิดไว้ล่าสุด

ความสามารถเสริม

  • สามารถปิดเสียงแจ้งเตือนของเครื่อง ด้วยการกด “ปุ่ม +” ของ “ปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่อง และปุ่มควบคุมความแรงของพัดลม” ค้างเอาไว้ 3 วินาทีพร้อมกัน และทำซ้ำเหมือนเดิมอีกครั้ง ถ้าต้องการกลับมาเปิดเสียงแจ้งเตือนอีกครั้ง
  • สามารถล็อคเครื่อง ได้ด้วยการกด “ปุ่ม –” ของ “ปุ่มตั้งเวลาปิดเครื่อง และปุ่มควบคุมความแรงของพัดลม” ค้างเอาไว้ 3 วินาทีพร้อมกัน เพื่อล็อคเครื่องไม่ให้สามารถกดใดๆ ได้เลย จนกว่าจะมากดซ้ำแบบเดิมอีกครั้งเพื่อปลดล็อค (มีประโยชน์สำหรับป้องกันเด็ก หรือมือไปโดนปุ่มโดยไม่ได้ตั้งใจ) (สามารถล็อคเฉพาะการใช้งานที่ ปุ่มแผงควบคุมบนตัวเครื่องเท่านั้น แต่การใช้งานบนรีโมทคอนโทรลยังสามารถใช้งานได้ตามปกติอยู่)

ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • การสั่งงานผ่านผ่านรีโมทคอนโทรลทุกอย่าง ทำเหมือนกับควบคุมผ่าน แผงควบคุมบนตัวเครื่องเลย (จำนวนปุ่มก็เท่ากัน)
  • การสั่งงานผ่านรีโมทคอนโทรลจะต้องหันหน้า (ส่วนหัว) ของรีโมทคอนโทรล ไปที่ตัวเครื่องเพื่อรับสัญญาณเท่านั้น จะไม่สามารถหันชี้ไปทางอื่นได้ (เพราะเป็นการส่งสัญญาณแบบอินฟราเรด ไม่ใช่ส่งแบบคลื่นวิทยุ)
  • เสียงแจ้งเตือนของเครื่อง จะใช้เสียงเดียวกับเสียงพื้นฐานโน้ตดนตรี คือ “โด (Do) เร (Re) มี (Mi) ฟา (Fa) ซอล (Sol) ลา (La) ที (Ti) โด (Do)” ซึ่งพอดีกับระดับของความแรงพัดลม และ ระยะเวลาตั้งปิดเครื่องพอดี
  • ระยะเวลาการส่ายของตัวพัดลมต่อ 1 รอบ (จากซ้ายสุดไปขวาสุดและขวาสุดไปซ้ายสุด) อยู่ที่ประมาณ 23 วินาที
  • ถ้าหากดึงปลั๊กออกสักระยะ หลังจากนั้นเสียบปลั๊ก แล้วเปิดพัดลมใหม่อีกครั้ง ความแรงของพัดลมจะกลับไปเริ่มที่ความแรงระดับ 1 (ระดับต่ำสุด) ใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าดึงปลั๊กออกแค่แป๊บเดียว 1-3 วินาที แล้วเสียบปลั๊กกลับเข้าไปใหม่
  • ถ้าเปิดความแรงของพัดลมระดับ 1 ถึง 4 เสียงจะค่อนข้างเงียบมาก (แทบจะไม่ได้ยินเสียงพัดลมเลย) แต่ถ้าเปิดเบอร์ 5 ขึ้นไปจนถึงเบอร์ 8 จะได้ยินเสียงดังขึ้น ดังขึ้นเรื่อยๆ

คำถามที่ต้องอยากรู้ เกี่ยวกับการใช้งาน พัดลมไร้ใบพัด Windamp

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่มาจากการวัดค่าเองจากเครื่องวัดต่างๆ รวมไปถึงการสอบถามกลับไปยังบริษัทฯ ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย

1. ความเร็วลมของเครื่องนี้เป็นอย่างไร อยู่ในระดับไหน ?

เชื่อว่าคำถามนี้ น่าจะเป็นคำถามที่ทุกคนต้องอยากรู้เป็นลำดับต้นๆ อย่างแน่นอนว่า พัดลมไร้ใบพัด Windamp เครื่องนี้จะสามารถส่งลมมาให้เราได้ไกลและแรงแค่ไหน

Windamp Bladeless Fan Wind Speed Test
ทดสอบความเร็วลม ระหว่างพัดลมตั้งโต๊ะ 16 นิ้ว (ซ้าย) ของ Mitsubishi กับ พัดลมไร้ใบพัด Windamp (ขวา)

และเพื่อให้รีวิวนี้เป็นรีวิวที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ผมจึงนำเอาเครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอล (Digital Anemometer) ที่เคยซื้อเก็บเอาไว้อยู่พักใหญ่ๆ ออกมาใช้งานเป็นครั้งแรกเสียที โดยเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง พัดลมตั้งโต๊ะ Mitsubishi ขนาด 16 นิ้ว และ พัดลมไร้ใบพัด Windamp

มีหน่วยวัดความเร็วลมในที่นี้ จะแสดงให้เห็น 2 หน่วยเลยคือ คือหน่วยเมตรต่อวินาที (m/s – Meter per Second) และ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h – Kilometer per Hour) นั่นเอง โดยปัจจัยแวดล้อมของการทดสอบครั้งนี้คือ

  1. ปิดหน้าต่าง ปิดเครื่องปรับอากาศ และพัดลมอื่นๆ ทุกชนิด ขณะกำลังทดสอบ
  2. ทำสอบด้วยการเปิดทีละเครื่อง (เปิดเครื่องนึง ปิดอีกเครื่องนึง)
  3. ระยะห่างระหว่างเครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอล และพัดลมทั้ง 2 เครื่อง คือ 1.50 เมตร เท่าๆ กัน
ความแรงของพัดลม
(Fan Speed)
พัดลมไร้ใบพัด Windamp
(Windamp Bladeless Fan)
พัดลมตั้งโต๊ะ 16 นิ้ว
(16″ Table or Portable Fan)
เมตรต่อวินาที (m/s) กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h) เมตรต่อวินาที (m/s) กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h)
ระดับ 1
(Level 1)
0.00 0.00 1.43 5.16
ระดับ 2
(Level 2)
0.40 1.44 2.18 7.84
ระดับ 3
(Level 3)
0.60 2.16 2.89 10.40
ระดับ 4
(Level 4)
0.80 2.88
ระดับ 5
(Level 5)
1.00 3.60
ระดับ 6
(Level 6)
1.15 4.14
ระดับ 7
(Level 7)
1.29 4.64
ระดับ 8
(Level 8)
1.43 5.16

 

Windamp Bladeless Fan Wind Speed Test Length
เครื่องวัดความเร็วลมดิจิตอล (Digital Anemometer) อยู่ห่างจากพัดลมทั้ง 2 ในระยะ 1.5 เมตรเท่ากัน

บทสรุปการทดสอบ

“หลังจากการทดสอบวัดความเร็วลมของพัดลมทั้ง 2 ตัวพบว่า ถ้าเราเปิดพัดลมตั้งโต๊ะ 16 นิ้ว ในความแรงระดับ 1 (ระดับต่ำสุด) ก็จะมีความแรงของพัดลมเท่ากับเปิด พัดลมไร้ใบพัด Windamp ในความแรงระดับ 8 (ระดับสูงสุด) ซึ่งส่วนตัวก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการใช้งาน เพราะโดยส่วนมากแล้ว ผมจะไม่ค่อยเปิดพัดลมตั้งโต๊ะแรงกว่าระดับ 1 อยู่แล้ว”

2. อัตราการกินไฟของเครื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

Windamp Bladeless Fan Power Consumption when Turning on to Highest Level
อัตราการกินไฟ ขณะเปิดเครื่องพัดลมไร้ใบพัด ในความแรงของพัดลมระดับ 8 (ระดับสูงสุด) เฉลี่ยประมาณ 17.2 – 17.4 วัตต์

และเช่นเคยผมได้ใช้ เครื่องทดสอบอัตราการกินไฟดิจิตอล (Digital Power Consumption Meter) ที่ซื้อ มาใช้ในการคำนวณค่าไฟของพัดลมไร้ใบพัดเครื่องนี้ เพื่อเป็นการประมาณการว่า ถ้าหากว่าเราเปิดเครื่องวันละ 8 ชั่วโมง ทุกวัน (ในกรณีที่คำนวณจากค่าไฟยูนิตละ 5 บาท) ว่าอัตราการกินไฟของเครื่องนี้จะเป็นอย่างไร

ความแรงของพัดลม
(Fan Speed)
จำนวนวัตต์ที่บริโภค
(Power Consumption)
การคำนวณ
(Calculation)
ค่าไฟ / เดือน
(Total Charge / Month)
ปิดเครื่องแต่เสียบปลั๊กทิ้งไว้
(Plugged , But Turned Off)
0.0 วัตต์ (0.0 วัตต์ x 16 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 0.00 บาท
ระดับ 1
(Level 1)
2.3 วัตต์ (2.3 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 2.76 บาท
ระดับ 2
(Level 2)
3.3 วัตต์ (3.3 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 3.96 บาท
ระดับ 3
(Level 3)
4.3 วัตต์ (4.3 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 5.16 บาท
ระดับ 4
(Level 4)
5.8 วัตต์ (5.8 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 6.96 บาท
ระดับ 5
(Level 5)
7.5 วัตต์ (7.5 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 9.00 บาท
ระดับ 6
(Level 6)
9.8 วัตต์ (9.8 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 11.76 บาท
ระดับ 7
(Level 7)
12.3 วัตต์ (12.3 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 14.76 บาท
ระดับ 8
(Level 8)
17.3 วัตต์ (17.3 วัตต์ x 8 ชั่วโมง x 30 วัน x 5 บาทต่อยูนิต) / 1,000 20.76 บาท

หมายเหตุ : คุณสามารถเปลี่ยน ค่าไฟต่อยูนิต (ในตัวอย่างนี้คิด 5 บาทต่อยูนิต – ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง) ให้เป็นไปตามที่จ่ายจริง เพราะที่พักอาศัยในแต่ละที่อาจจะคิดไม่เท่ากัน

3. ขณะที่เครื่องกำลังทำงาน มีเสียงดังมากน้อยแค่ไหน ?

Windamp Bladeless Fan Soundtest Highest Level
ระดับเสียงของพัดลมไร้ใบพัด Windamp กำลังทำงานใน ความแรงของพัดลมระดับ 8 (ระดับสูงสุด)

การวัดระดับของเสียงของพัดลมไร้ใบพัด Windamp นั้น ผมได้ใช้ แอพพลิเคชั่น Sound Meter ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ iOS มาใช้ทดสอบวัดระดับเสียงขณะที่เครื่องกำลังทำงานในความแรงของพัดลมระดับ 8 (ระดับสูงสุด) ระดับเดียว ว่าเป็นอย่างไร

สาเหตุที่วัดแค่เพียงระดับเดียวก็เพราะว่า ได้พยายามวัดในระดับอื่นๆ แล้วค่อนข้างจะลำบาก เพราะเสียงเครื่องขณะทำงานนั้น ค่อนข้างที่จะเงียบมากๆ และค่าก็ไม่นิ่งเท่าไหร่นัก (ไว้อนาคตจะซื้อเครื่องวัดความดังเสียงมาใช้)

สรุปผลลัพธ์คือ วัดระดับเสียงได้อยู่ประมาณ 50 เดซิเบล (dB) ซึ่งก็ไม่ถือว่าดังมาก ซึ่งทางแอพฯ เขาบอกว่าเสียงระดับนี้เทียบเท่า บทสนทนาทั่วไป (Conversation) เท่านั้นเอง

4. มีแสงมีรบกวนขณะกำลังนอนหลับ ในเวลากลางคืนมากน้อยแค่ไหน ?

Windamp Bladeless Fan Indicator Light Night View
มุมมองของ แผงควบคุมเครื่อง และไฟแสดงสถานะเครื่อง ในห้องที่ปิดไฟ (หรือตอนกลางคืน)

แม้ว่าเครื่องนี้จะมีไฟแสดงสถานะเครื่องแบบ LED อยู่ทั้งหมด 8 ดวงด้วยกัน แต่มันไม่ได้สว่างทั้ง 8 ดวงตลอดเวลา สมมุติว่าเราเปิดพัดลมในความแรงของพัดลมระดับ 8 (ระดับสูงสุด) ไฟทั้ง 8 ดวงก็จะสว่างอยู่ครู่หนึงและก็ดับไปเอง โดยจะเหลือไว้แค่ดวงซ้ายสุดดวงเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าสว่างจ้า หรือสว่างจนรบกวนการหลับนอนของเราแม้แต่น้อยเลย

5. ตัวเครื่องมีการรับประกันกี่ปี ?

รับประกันทุกอย่าง ทุกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ 1 ปี แต่ถ้าหากเครื่องมีปัญหาภายใน 7 วัน หลังซื้อเครื่องมาใช้ จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ทันที

6. ราคาอะไหล่ของเครื่องแพงหรือไม่ ?

ในส่วนของอะไหล่ของตัวเครื่องพัดลมไร้ใบพัด Windamp ที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยน หลักๆ เลย รายละเอียดตามตารางด้านล่างนี้เลย (ราคาจำง่ายมากๆ)

ชื่ออะไหล่ภาษาอังกฤษ
(English Part Name)
ชื่ออะไหล่ภาษาไทย
(Thai Part Name)
ราคาต่อหน่วย
(Unit Prices)
Fan Motor มอเตอร์พัดลม N/A

* ต้องให้ทีมช่างผู้ชำนาญเป็นผู้ถอดเปลี่ยนเท่านั้น หากทำเองตัวเครื่องจะหมดอายุประกันทันที

7. สามารถติดต่อสั่งซื้อพัดลมไร้ใบพัด Windamp ได้ที่ไหน ?

คุณสามารถซื้อพัดลมไร้ใบพัด Windamp ตัวนี้ได้ผ่านทางหลายช่องทางที่สามารถสั่งซื้อได้ โดยคุณสามารถติดต่อสอบถามได้ ผ่านทางรายละเอียดติดต่อ หรือ เบอร์โทรศัพท์ ด้านล่างนี้ก่อนเลย

  • Telephone No (เบอร์โทรศัพท์) : 09-7995-1536 หรือ 08-1832-4647
  • Website (เว็บไซต์) : ยังไม่มีเว็บไซต์
  • Line ID (ไลน์ไอดี) : @windampthailand
  • Facebook Page (เพจเฟสบุ๊ค) : windampthailand (วินแอมป์ไทยแลนด์) ตามกรอบด้านล่าง

บทสรุปการใช้งาน พัดลมไร้ใบพัด Windamp

ข้อดี 🙂

  • มีความปลอดภัยต่อเด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงสูง เพราะไม่มีส่วนที่เป็นใบพัดเลย (ถูกซ่อนอยู่ภายในทั้งหมด)
  • มีระบบล็อคเครื่อง ด้วยการล็อคปุ่มกดทั้งหมด ไม่ให้กดได้จนกว่าจะปลดล็อค
  • มีความสวยงาม รูปทรงดูทันสมัย เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้เลยทีเดียว
  • ใช้งานง่าย มีรีโมทคอนโทรล ที่สามารถสั่งงานได้จากระยะไกล หรือจะควบคุมจากแผงควบคุมบนตัวเครื่องก็ได้ มีปุ่มกดหลักๆ อยู่ 4 ชุดด้วยกัน
  • เสียงขณะที่เครื่องกำลังทำงานในความแรงของพัดลมระดับล่างๆ (ระดับ 1 ถึง 4) ค่อนข้างที่จะเงียบมากๆ จนแทบจะไม่ได้ยิน
  • ประหยัดไฟมากๆ เพียงแค่ชั่วโมงละประมาณ 0.1 บาท เท่านั้น (ไม่เกินจากนี้)
  • มีการดูแลรักษาง่าย ใช้ผ้าชุดน้ำหมาดๆ เช็ดที่ตัวเครื่องก็พอ

ข้อเสีย 🙁

  • ถ้าเกิดว่านอนๆ อยู่แล้วไฟเกิดดับ พอไฟมาแล้วพัดลมจะไม่เปิดอัตโนมัติโดยทันที ผู้ใช้งานต้องเปิดเอง (แต่ก็ยังดีที่มีรีโมทคอนโทรลมาให้)
  • ความเร็วลมอาจจะไม่แรงเท่าพัดลมทั่วไป ถ้าพูดง่ายๆ คือ ความแรงของพัดลม Windamp ระดับ 8 เทียบเท่ากับ ระดับ 1 ของพัดลมตั้งโต๊ะ 16 นิ้ว ทั่วไป
ทบทวนภาพรวม
ความแรงของพัดลม
8
การดูแลรักษา ทำความสะอาด
10
ความหลากหลายของลูกเล่นและฟังก์ชั่น
9
การออกแบบ และ ความสวยงาม
10
คุณภาพของวัสดุที่ใช้
9
ความสะดวก และ ง่ายต่อการใช้งาน
10
ความคุ้มค่าเทียบกับราคา
8
ความพึงพอใจโดยรวม
9
บทความก่อนหน้านี้AUTOBOT Lazer หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้นเปียก นำทางด้วยเลเซอร์ ไร้แปรงหมุน สั่งผ่าน App ได้ เห็นแผนที่สดๆ
บทความถัดไปหุ่นยนต์ตัดหญ้า เทคโนโลยีที่ทำให้เรื่องดูแลสวน ดูแลสนามหญ้า เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว
Thanop Somprasong
Thanop.com Founder + Thaiware.com Co-Founder + Business Director, Cloud Business Co.,Ltd. + Committee Thai Webmaster Association
windamp-bladeless-fan-reviewพัดลมไร้ใบพัด Windamp เป็นพัดลมที่มีจุดเด่นในเรื่องของ ความปลอดภัยสูง ไม่มีส่วนของใบพัดใดๆ ที่ยื่นออกมาภายนอก ช่วยป้องกันเด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยง ในการเอานิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ แหย่เข้าไปภายในได้ ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุลงได้มากเลยทีเดียว <br /><br /> ตัวเครื่องพัดลมไร้ใบพัด Windamp มีดีไซน์สวยงาม สามารถวางไว้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้อีกด้วย แถมยังมีน้ำหนักเบา เพียง 4.3 กิโลกรัมเท่านั้น เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้สะดวก และยังฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย สามารถปรับความแรงของพัดลมได้ถึง 8 ระดับ และก็ตั้งเวลาปิดเครื่องล่วงหน้าได้สูงสุด 8 ชั่วโมง <br /><br /> นอกจากนี้แล้วยังมีเสียงเงียบ ถ้าเปิดความแรงของพัดลมระดับ 1-4 เสียงจะค่อนข้างเงียบมาก แต่ถ้าเปิดระดับ 5 ขึ้นไปถึง 8 ก็จะได้ยินเสียงของพัดลมดังขึ้นมา <br /><br /> อีกหนึ่งจุดเด่นที่ประทับใจคือ การประหยัดไฟ เครื่องนี้ถ้าเปิดในความแรงของพัดลมระดับ 8 เปิดทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมง ค่าไฟจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 25 บาท ต่อเดือนเท่านั้น แถมความแรงของพัดลมยังเทียบเท่ากับ พัดลมตั้งโต๊ะ 16 นิ้ว ที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปอีกด้วย

1 ความคิดเห็น

  1. วิธีถอดล้างพัดลมทำอย่างไร​ ถอดฝาคอบไม่ได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็น
กรุณาใส่ชื่อของคุณตรงนี้